December 22, 2024

สมาคมสถาปนิกสยามฯ พร้อมด้วย ทีทีเอฟ ประกาศเดินหน้าจัดงานสถาปนิก’68 งานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมและผลิตภัณฑ์ก่อสร้างยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 37 ภายใต้แนวคิด “ทบทวน ทิศทาง: Past Present Perfect” ตอกย้ำสถาปัตยกรรมมีความสำคัญในทุกเรื่องราวจากอดีตจนถึงปัจจุบันและนำไปสู่อนาคต ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมเสวนามากมาย รวมถึงจัดแสดงนวัตกรรมเพื่อการออกแบบ-ก่อสร้างครบวงจร จากผู้ประกอบการแบรนด์ชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 1,000 ราย ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2568 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี คาดผู้ร่วมชมงานมากถึง 325,000 คน

นายอเส สุขยางค์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการจัดงานสถาปนิก ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 37 ปัจจุบันถือเป็นงานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยงานสถาปนิก’68 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลงานทางวิชาชีพสถาปัตยกรรมและกิจกรรมของสมาคมฯ รวมถึงเป็นสื่อกลางในการจัดแสดงการออกแบบ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับงานสถาปัตยกรรม ตลอดจนส่งเสริมวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมแก่สมาชิก นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป

“งานสถาปนิก’68 ในปีนี้เป็นการต่อยอดการจัดงานสถาปนิกครั้งที่ผ่านมา ที่นำเสนอนิทรรศการเนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี สมาคมฯ โดยในปีนี้มาพร้อมกับแนวคิด “ทบทวน ทิศทาง: Past Present Perfect” จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ใช้ช่วงเวลานี้ในการระลึกถึงการเดินทางของสถาปัตยกรรมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่ามีการเดินทางผ่านเรื่องราวและส่งต่อมายังปัจจุบันได้อย่างไร และที่ผ่านมาสถาปนิกได้ร่วมงานกับหลากหลายวิชาชีพ จากทั่วทุกภูมิภาค เราจะได้สำรวจและทบทวนถึงทิศทางที่สถาปัตยกรรมไทยได้ก้าวเดินผ่านมาหลายยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นการผสมผสานเทคนิคและวัฒนธรรมจากอดีต การปรับตัวตามสภาพแวดล้อมและความต้องการของสังคมในแต่ละยุค รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เคยเป็นและสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าเรามีเส้นทางและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผู้คนและตัวตนของสถาปนิกอย่างไรเพื่อมองอนาคตไปด้วยกัน”

อย่างไรก็ตาม การจัดงานสถาปนิก’68 นอกจากวัตถุประสงค์ของการเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกในแวดวงสถาปัตยกรรม ผ่านงานแสดงนิทรรศการ การประชุมสัมมนา การเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ที่มีบทบาทส่งเสริมวิชาชีพสถาปัตยกรรม การพัฒนาองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรม มีส่วนสำคัญต่อคุณภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม รวมถึงยังสามารถสะท้อนศิลปวัฒนธรรม และมีส่วนผลักดันเศรษฐกิจของประเทศได้ ทั้งยังเป็นสื่อกลางในการจัดแสดงงานออกแบบ วัสดุก่อสร้าง การให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เทคโนโลยี นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับวงการสถาปัตยกรรมระดับนานาชาติ รวบรวมผู้ประกอบการแบรนด์ชั้นนำของไทยและต่างประเทศ มาจัดแสดงบนพื้นที่เดียวกันที่ใหญ่มากถึง 75,000 ตร.ม.แล้ว ทั้งนี้ จากความน่าสนใจของการจัดแสดงนิทรรศการ กิจกรรมเสวนาให้ความรู้ และสินค้าบริการที่ครบวงจร คาดว่างานสถาปนิก’68 จะได้ผลตอบรับที่ดีมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 325,000 คน

นายธันว์ ศรีจันทร์ ประธานจัดงานสถาปนิก’68 กล่าวถึงภาพรวมกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในงานสถาปนิก’68 แบ่งเป็น 5 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ส่วนนิทรรศการหลัก ส่วนนิทรรศการวิชาการ ส่วนนิทรรศการวิชาชีพ ส่วนพื้นที่กิจกรรมและบริการ และส่วนงานสัมมนาวิชาการ โดยส่วนนิทรรศการหลัก จะประกอบไปด้วย 7 โซนจัดแสดงเริ่มจากโซนแรก นิทรรศการ “ทบทวน ทิศทาง” การนำเสนอแนวคิดการทบทวนคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมในอดีต หาข้อมูล วิเคราะห์ และนำมาออกแบบใหม่อีกครั้ง โดยผ่านการตีความของสถาปนิก อาจารย์ นักศึกษาจากโรงเรียนออกแบบรุ่นใหม่ เพื่อเป็นการเชื่อมช่วงเวลาจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นตัวอย่างการตีความจากอดีตสู่อนาคต ต่อด้วยโซนที่สอง "ชิ้นแรก ชิ้นล่า : From the First Piece to the Latest" พื้นที่นำเสนอผลงาน 2 ชิ้นประกอบไปด้วย ผลงานการออกแบบชิ้นแรก ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง และผลงานการออกแบบชิ้นล่าสุดที่แสดงถึงการพัฒนาและความก้าวหน้าของผลงานในปัจจุบัน และโซนที่สาม ภาพเก่าเล่าเรื่อง - The Documentary เป็นการนำเสนอภาพถ่ายเก่าของสมาคมฯ ที่บันทึกกิจกรรมและเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ จากอดีตมาถ่ายทอดใหม่ในรูปแบบของนิทรรศการ

โซนที่สี่ เรื่องเล่า 3 รุ่น ความสัมพันธ์ของคน 3 วัย ที่จะมาสะท้อนแนวทาง ต่อยอด ส่งต่อ ผ่านการทำงานร่วมกัน “บทสนทนา พร้อมภาพประกอบของคน 3 วัย หลากหลายสายงาน” มาถึงโซนที่ห้า นิทรรศการสมาคมมัณฑนากร  แห่งประเทศไทย : TIDA และโซนที่หก นิทรรศการและพื้นที่สัมมนาวิชาการ “TALA : ไทยไท” ปิดท้ายกับโซนที่เจ็ด นิทรรศการ สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย : TUDA ซึ่งในแต่ละโซนมีกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลาย อาทิ การเปิดให้คำแนะนำ คำปรึกษาด้านงานสถาปัตยกรรม การเปิดรับสมาชิก การให้ร่วมสนุกลุ้นรับรางวัล และจุดจำหน่ายสินค้าของสมาคมฯ เป็นต้น

ประธานจัดงานสถาปนิก’68 กล่าวอีกว่า นอกจากนิทรรศการหลักจากทาง 4 องค์กรวิชาชีพสถาปนิก ได้แก่ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย, สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย, สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ยังมีนิทรรศการวิชาการ ซึ่งเป็นนิทรรศการประกวดแบบเชิงแนวความคิด (ASA Experimental Design Competition) การแสดงผลงานการประกวดแบบในระดับนานาชาติที่เปิดให้สมาชิกสมาคมฯ สถาปนิก นิสิต นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมส่งผลงานแสดงแนวคิดในการออกแบบภายใต้ธีมงาน “FUTURE NOSTALGIA IN ARCHITECTURE”

ส่วนของนิทรรศการวิชาชีพ ประกอบด้วย นิทรรศการอาษาอนุรักษ์ นำเสนอผลงานที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2568 นิทรรศการผลงานนักศึกษาโดยสถาบันการศึกษา โครงการประกวดวิทยานิพนธ์ทางสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2568 (TOY ARCH) นิทรรศการงานประกวดแบบภาครัฐและองค์กรอื่นๆ นำเสนอผลงานออกแบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมและเมือง เป็นต้น

ในส่วนงานพื้นที่กิจกรรมและบริการ จะประกอบด้วย ACT+ASA Shop พื้นที่จำหน่ายหนังสือและของที่ระลึกสมาคม ACT+ASA Club พื้นที่พบปะ จุดพักผ่อนประจำของชาวอาษา มุมสถาปนิกอาสา พื้นที่บริการให้คำปรึกษา เรื่อง แบบบ้าน จากสถาปนิกอาสา และ ASA Night ในรูปแบบใหม่ กิจกรรมสังสรรค์พบปะตามประเพณีของเหล่าสมาชิกอาษาทุกรุ่น ทุกสมัย ทุกสถาบัน

สุดท้ายในส่วนของงานสัมมนา วิชาการ ประกอบด้วย ASA Forum & Professional Seminar ซึ่งในครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนความรู้จากรุ่นสู่รุ่น โดยแบ่งเป็นส่วน International Forum 3 Gen ซึ่งจะเป็นงานบรรยายของสถาปนิกต่างชาติที่มีภูมิหลังและผลงานที่แสดงลักษณะของแต่ละยุคอย่างชัดเจน ขณะที่งานสัมมนา Professional Seminar จะเป็นงานที่เชิญผู้เชี่ยวชาญในไทยของแต่ละสาขาวิชาที่มีประโยชน์แก่การประกอบวิชาชีพของสถาปนิกในปัจจุบัน โดยงานครั้งนี้จะมีความพิเศษ สำหรับกิจกรรมสัมมนาที่มาในรูปแบบการทำ Workshop หรือสอนการใช้งานโปรแกรม Computer สำหรับงานออกแบบต่างๆ ทางด้านสถาปัตยกรรม โดยเน้นให้ผู้เข้าฟังได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมและสามารถนำไปใช้ได้จริงด้วย

นายศุภแมน มรรคา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวถึงผลการจัดงาน “สถาปนิก’67” และเป้าหมายการจัดงาน “สถาปนิก’68” ว่าการจัดงานมีการเติบโตขึ้นจากงานที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีความท้าทายที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน

งาน “สถาปนิก’68” มีเป้าหมายที่จะยกระดับการจัดงานให้มีศักยภาพมากกว่าเดิมในทุกมิติ โดยการจัดงานครั้งที่ผ่านมา (งานสถาปนิก’67) มีพื้นที่จัดแสดงนวัตกรรมผลิตภัณฑ์รวมทั้งหมด 27,968.37 ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 4.58% จากงานสถาปนิก’66 และหากประเมิณสถานการณ์การขาย ณ ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567) มียอดจองพื้นที่จัดแสดงสินค้าเเล้วกว่า 16,236.67 ตารางเมตร ซึ่งสูงกว่าปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน 11.39% สะท้อนถึงการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมด้านก่อสร้างที่มีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางบวก

ในส่วนของจำนวนผู้แสดงสินค้า ณ ปัจจุบัน มีจำนวนผู้ประกอบการไทย เพิ่มขึ้น 6.35% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการไทยที่มีต่องานสถาปนิก ขณะที่จำนวนผู้แสดงสินค้าจากต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก และนโยบายการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยของผู้จัดงาน

สำหรับผู้แสดงสินค้าชั้นนำที่ยืนยันเข้าร่วมงานแล้ว อาทิ SCG, MAKITA, JORAKAY, TOSTEM, VG, TOA, กลุ่ม PANTAMITR, กลุ่ม CONNEXT, S-ONE, BOONTHAVORN, BLACK & DECKER, DOS, CRISTINA, EDL, TAK+WG เป็นต้น และมีผู้แสดงสินค้ารายใหม่ที่เข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นหลายราย อาทิ NIPPON PAINT, FAMELINE, MELATONE, SAINT-GOBAIN, FELTECH, TOPMIX, M KUCHE, INOL GROUP เป็นต้น

ไฮไลท์ภายในงานนอกจากพื้นที่ของสมาคมฯ แล้ว ยังมีผู้แสดงสินค้าที่ใช้พื้นที่ Thematic Pavilion มากที่สุดตั้งแต่เคยจัดแสดงมา ถึง 6 พื้นที่ ได้แก่ 1. S-ONE ร่วมกับสถาปนิกจาก Looklen Architect 2. NIPPON PAINT ร่วมกับสถาปนิกจาก pbm 3. VANACHAI ร่วมกับสถาปนิกจาก FLAT12X 4. VG ร่วมกับสถาปนิกจาก ativich / studio 5. WOODDEN ร่วมกับสถาปนิกจาก POAR 6. FAMELINE ร่วมกับสถาปนิกจาก Architects & Associates และทางด้านผู้จัดงานยังมีการเปิดพื้นที่โซนใหม่ “Lobby Zone” เป็นครั้งเเรก เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้แสดงสินค้ามากขึ้น

ในด้านผู้ชมงาน ทางบริษัทฯ จะมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนของผู้ชมงานที่อยู่ในกลุ่ม Professional ให้มากยิ่งขึ้น โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก (Professional) อาทิ สถาปนิก นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วิศวกร และผู้รับเหมาก่อสร้าง ในงานสถาปนิกที่ผ่านมา มีสัดส่วนอยู่ที่ 55% ขณะที่กลุ่ม Home Owners-End Users อยู่ที่ 45% โดยประมาณการสัดส่วนในกลุ่มผู้ชมงาน Professional จะเติบโตขึ้นเป็น 60% ในงานสถาปนิก’68

“เรายังคงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะนำเสนองานที่มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม โดยจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการได้เจอกลุ่มเป้าหมายหลักให้มากที่สุด เพื่อเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนเครือข่ายทางธุรกิจ พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างในภูมิภาคนี้”นายศุภแมน กล่าว

งาน “สถาปนิก’68” มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2568 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ArchitectExpo.com และ Facebook Page: ASA Expo

สมาคมสถาปนิกสยามฯ ร่วมกับ ทีทีเอฟ ประกาศเดินหน้าจัดงานสถาปนิก’67 ภายใต้ธีม Collective Language: สัมผัส สถาปัตย์ นำเสนออัตลักษณ์ของการสื่อสารด้วยภาษาที่ไร้ขอบเขตของสถาปนิก และนักออกแบบ พร้อมผนึกกำลัง 4 องค์กรวิชาชีพสถาปนิกร่วมขับเคลื่อนงานให้สมบูรณ์แบบ ทั้งจัดแสดงนิทรรศการ จัดกิจกรรมสถาปนิก เปิดเวทีเสวนาให้ความรู้โดยกูรูทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงแสดงนวัตกรรมด้านการออกแบบ-ก่อสร้างครบวงจร บนพื้นที่รวมกว่า 75,000 ตร.ม. ให้ผู้สนใจเข้าร่วมงานตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี คาดมีผู้แสดงสินค้าทั้งจากไทยและต่างประเทศกว่า 1,000 ราย และผู้เข้าชมงานกว่า 3.25 แสนคน

นายชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการจัดงานสถาปนิกว่า ปัจจุบันถือเป็นงานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่อง โดยงานสถาปนิก’67 นับเป็นครั้งที่ 36 มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงศักยภาพและนำเสนอผลงานความก้าวหน้าทางด้านสถาปัตยกรรมในทุกสาขาวิชาชีพ รวมถึงการจัดแสดงนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับงานสถาปัตยกรรม การออกแบบตกแต่งภายใน ภูมิสถาปัตยกรรม อีกทั้งนิทรรศการและกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การอบรมสัมมนาระดับนานาชาติ ตลอดจนบริการต่างๆ ที่เตรียมไว้ให้กับสมาชิกและประชาชนที่สนใจได้เข้าร่วมชมงานระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ทั้งนี้ ในปี 2567 สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะครบรอบ 90 ปี การจัดงานสถาปนิก’67 จึงจะเป็นโอกาสอันดี นอกจากวัตถุประสงค์ของการเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกในแวดวงสถาปัตยกรรม และเป็นสื่อกลางในการจัดแสดงนิทรรศการวัสดุก่อสร้างและให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เทคโนโลยี นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับวงการสถาปัตยกรรมบนพื้นที่เดียวกันที่ใหญ่มากถึง 75,000 ตร.ม. แล้ว งานนี้ยังเป็นพื้นที่รวบรวมเรื่องราวการสื่อสารทางสถาปัตยกรรมตลอดระยะเวลา 90 ปี นับแต่ก่อตั้งสมาคมฯ ให้ผู้คนได้ร่วมเฉลิมฉลองและตระหนักถึงบทบาทการส่งเสริมวิชาชีพสถาปัตยกรรม การพัฒนาองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรม มีส่วนสำคัญต่อคุณภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม รวมถึงยังสามารถสะท้อนศิลปวัฒนธรรม และมีส่วนผลักดันด้านเศรษฐกิจของประเทศได้ด้วย

นางสาวกุลธิดา ทรงกิตติภักดี ประธานจัดงานสถาปนิก’67 กล่าวถึงที่มาของ ‘Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์’ แนวคิดหลักในการจัดงานว่า มนุษย์ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อติดต่อกัน โดยปัจจุบันพบว่ามีภาษามากกว่า 7,000 ภาษาทั่วโลกที่ถูกใช้ในการสื่อสาร ขณะที่ศิลปวัฒนธรรมของแต่ละชาตินั้นถือเป็นเครื่องมือสื่อสารทรงพลังอีกเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความเข้าใจเรื่องราวระหว่างผู้คนต่างชาติต่างภาษา งานสถาปนิก’67 ในปีนี้ เป็นการนำเสนอถึงอัตลักษณ์ของการสื่อสารด้วยภาษาที่ไร้ขอบเขตของสถาปนิกและนักออกแบบ เน้นย้ำถึงความสำคัญของงานสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่สัมผัสได้โดยผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก โดยสถาปนิกสามารถสร้างความรู้สึกทางรูปธรรมอันหลากหลายผ่านการใช้วัสดุและกระตุ้นความรู้สึกของผู้คนผ่านองค์ประกอบต่างๆ แบบนามธรรมในการรับรู้ถึงสถาปัตยกรรม ซึ่งการรับรู้ด้วยภาษาทางการออกแบบที่มีอยู่ร่วมกัน ก็เพื่อให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสและเข้าถึงผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่นจากทั่วโลกที่เชื่อมโยงถึงกันด้วยภาษาสถาปัตยกรรมนั่นเอง

นายชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ประธานจัดงานสถาปนิก’67 กล่าวถึงความพิเศษของงานในปีนี้ ต่อยอดจากความร่วมมือระหว่าง 5 องค์กรวิชาชีพสถาปนิก ได้แก่ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมมัณฑนากร แห่งประเทศไทย, สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย, สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย และสภาสถาปนิก อีกทั้งยังมีการร่วมมือในระดับนานาชาติผ่านองค์กรวิชาชีพระหว่างประเทศ The Architects Regional Council Asia (ARCASIA)  ที่มีประเทศสมาชิก 22 ประเทศทั่วเอเชียอีกด้วย นับเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญในการร่วมจัดแสดงผลงานทางวิชาชีพสถาปัตยกรรม รวมถึงกิจกรรมสำคัญซึ่งจะเกิดขึ้นในงานครั้งนี้

ดร.พร้อม อุดมเดช ประธานจัดงานสถาปนิก’67 กล่าวในส่วนของนิทรรศการและกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย 1.) นิทรรศการหลัก 2.) นิทรรศการวิชาการ 3.) นิทรรศการ สมาคม วิชาชีพ วิชาการ 4.) ส่วนพื้นที่กิจกรรมและบริการ 5.) งานสัมมนาวิชาการ โดยในส่วนของนิทรรศการหลัก ประกอบด้วย นิทรรศการธีมงาน Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ ที่จัดแสดงผลงานสถาปัตยกรรมจาก 12 สถาปนิกในเอเชีย ร่วมกับการจัดแสดงผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมพันธมิตรใน ARCASIA, นิทรรศการ All Member จัดแสดงผลงานของสมาชิกสมาคมสถาปนิกสยามฯ, สมาคมมัณฑนากรฯ, สมาคมภูมิสถาปนิกฯ และ สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ภายใต้ธีม All Member : The Collective Practices, กิจกรรม Collective Experience, นิทรรศการ สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย : TIDA, นิทรรศการ สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย : TALA และนิทรรศการ สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย : TUDA

ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์ ประธานจัดงานสถาปนิก’67 กล่าวเสริมถึงนิทรรศการอื่นๆ ในงาน ทั้ง นิทรรศการประกวดแบบเชิงแนวความคิด (ASA Experimental Design Competition), นิทรรศการสมาคมวิชาชีพ วิชาการ อาทิ นิทรรศการสถาปัตยกรรมดีเด่น, นิทรรศการรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม ประจำปี 2567, นิทรรศการ VERNADOC, นิทรรศการผลงานนักศึกษา / สถาบันการศึกษา ส่วนงานพื้นที่กิจกรรมและบริการในงานที่ประกอบด้วย ASA Club พื้นที่พบปะ จุดพักผ่อนประจำของชาวอาษา, ASA Night 2024 กิจกรรมสังสรรค์พบปะตามประเพณีของเหล่าสมาชิกอาษา และมีส่วนบริการที่ร่วมมือกับสภาสถาปนิก (ACT) จัดพื้นที่สถาปนิกอาสา บริการให้คำปรึกษาเรื่องต่างๆ ในงานสถาปัตยกรรม และ ACT Shop พื้นที่จำหน่ายหนังสือและของที่ระลึก และส่วนงานสัมมนาวิชาการ ASA Forum 2024 และ ASA Seminar 2024 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในงานออกแบบและข้อมูลทางเทคนิคในการประกอบวิชาชีพ โดยนักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมจากต่างประเทศ ซึ่งมีประเด็นหัวข้อในการเสวนาที่น่าสนใจ ภายใต้ธีมงาน Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ ซึ่งจะจัดในรูปแบบ Hybrid Forum ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมฟังการสัมมนา แบบ on site และแบบ online ได้ในทุกพื้นที่ของประเทศ

ด้านนายศุภแมน มรรคา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ในฐานะออแกไนเซอร์จัดงานสถาปนิก'67 เราตั้งเป้าจะขยายการจัดงานให้ยิ่งใหญ่กว่างานที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้แสดงสินค้ากว่า 1,000 ราย เพิ่มขึ้น 9.4% โดยคาดว่าจะเป็นผู้แสดงสินค้าจากต่างประเทศ ประมาณ 30% ในด้านผู้เข้าชมงานคาดว่าจะมีจำนวนกว่า 325,000 คน เพิ่มขึ้น 6.25% โดยในขณะนี้มียอดจองพื้นที่ขายไปแล้วกว่า 15,838 ตารางเมตร คิดเป็น 52.79% จากพื้นที่ขายทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน 33.8 %

สำหรับผู้แสดงสินค้าชั้นนำที่ยืนยันเข้าร่วมงานแล้ว อาทิ SCG, MAKITA, JORAKAY, TOSTEM, VG, TOA, PANTAMITR, CONNEXT, DOS, CRISTINA, TAK เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้แสดงสินค้าที่มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นจากงานที่ผ่านมา อาทิ BLACK+DECKER, WILSONART, Q LIGHTING, ARITCO, LAMPTITUDE, PANEL PLUS, GLASTEN, FORMICA เป็นต้น และมีผู้แสดงสินค้ารายใหม่ที่เข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นหลายราย อาทิ BOONTHAVORN, ROCOCO, NOVATI & CO, ROBERT BOSCH, BATHIC, DELTA, BLUE INTERNATIONAL, YUASA TRADING, LIGMAN, TRUE CONNECTION

นอกจากนี้ ไฮไลท์ภายในงานนอกจากพื้นที่ของสมาคมฯ แล้ว ยังมีพื้นที่ Thematic Pavilion ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงศักยภาพร่วมกันของแบรนด์ซัพพลายเออร์วัสดุก่อสร้างและสถาปนิก ซึ่งเป็นการผสานความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมเข้ากับการตีความนวัตกรรมเหล่านั้นตามสไตล์ต่าง ๆ ออกมาเป็นแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ การจัดประกวด Best Innovation Award 2024 สำหรับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่จะมาเปิดตัวครั้งแรกภายในงาน เพื่อตอกย้ำว่างานสถาปนิกเป็นเวทีรวบรวมนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างจากแบรนด์ทั่วทุกมุมโลกที่จะให้ทุกท่านได้มาสัมผัสก่อนใคร และสุดท้ายทางผู้จัดงานยังได้ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่ดีในการเดินทางมาชมงาน จึงได้มีการทำแคมเปญพิเศษร่วมกับพันธมิตร อาทิ Grab และ การบินไทย เพื่อมอบโปรโมชั่นส่วนลดสำหรับผู้ที่เดินทางมางานสถาปนิก’67 อีกด้วย

สำหรับงานสถาปนิก’67 ภายใต้ธีม Collective Language: สัมผัส สถาปัตย์ มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวและข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง www.ArchitectExpo.com และ Facebook Page : งานสถาปนิก : ASA EXPO

X

Right Click

No right click