ธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ ตอกย้ำผู้นำด้านการวางแผนแบบองค์รวม (Holistic Advisory) กางแผนขับเคลื่อนธุรกิจปี 2567 เดินหน้ายกระดับให้ลูกค้ามีชีวิตที่ดีและมั่นคงทั้งด้านการเงิน สุขภาพ และที่อยู่อาศัย ชูโปรแกรม TISCO My Goal ตัวช่วยออกแบบแผนการเงินให้ถึงเป้าหมายของลูกค้าเฉพาะราย ลุยปรับโฉมสาขา TISCO Advisory Branch ให้คำแนะนำด้วยเจ้าหน้าที่มีคุณวุฒิที่ปรึกษาการเงิน (AFPT™) พร้อมเสริมแกร่งให้ครบเครื่องด้วย ‘Friends for Well-being' จับมือพันธมิตรหลากหลายธุรกิจ ทั้งกลุ่มการเงิน โรงพยาบาล และอสังหาริมทรัพย์ ตอบทุกความต้องการของลูกค้

 

นายพิชา รัตนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่ธุรกิจธนบดี และบริการธนาคาร ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นวัตกรรมการแพทย์ก้าวหน้าทำให้อายุเฉลี่ยของคนทั่วโลกมีแนวโน้มยืนยาวขึ้น โดยจากการสำรวจและคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ (United Nationals) และเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรั่ม (World Economic Forum) คาดว่าในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) อายุเฉลี่ยคนทั่วโลกจะอยู่ที่ 77.3 ปี และที่น่าสนใจคือ คนไทยมีอายุเฉลี่ยเกินค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 82.3 ปี ซึ่งปัจจุบันไทยติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศที่ผู้สูงวัยเติบโตเร็วที่สุดในโลก และก้าวสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (aged society) ไปแล้ว

จากเทรนด์ดังกล่าว ธนาคารทิสโก้ ในฐานะผู้นำการวางแผนแบบองค์รวม หรือ Holistic Advisory ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของคำแนะนำ (Good Advice) คุณภาพของบทวิเคราะห์เชิงลึก (Good Research) และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ (Good Product) จึงต้องการเข้ามาช่วยคนไทยวางแผนให้ครอบคลุมในทุกมิติรับกับสังคมสูงวัย พลิกโฉมไปจากการวางแผนการเงินรูปแบบเดิม ได้แก่ 1. เพิ่มความพร้อมด้านการเงิน ผ่านการลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่น และหลักประกันของชีวิตควรครอบคลุมทั้งประกันสุขภาพ โรคร้ายแรง และประกันบำนาญ 2. สนับสนุนเรื่องการดูแลสุขภาพ และ 3.เพิ่มความพร้อมด้านที่อยู่อาศัยวัยเกษียณ ผ่านบริการที่ผสมผสานระหว่างจุดแข็งของบุคลากรที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยี พร้อมจับมือกับพันธมิตรทั้งด้านการเงิน (Financial) และพันธมิตรในธุรกิจอื่น (Non-financial) เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุด

ชู TISCO My Goal โปรแกรมออกแบบแผนการเงินให้ถึงเป้าหมาย

ธนาคารทิสโก้หวังให้คนไทยมีเงินใช้แบบสุขสบายในสังคมอายุยืน พัฒนา TISCO My Goal โปรแกรมวางแผนการเงินที่ครอบคลุมทั้งกองทุน ประกัน เงินฝาก รวมถึงวางแผนมรดกให้แก่ทายาท ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยให้เจ้าหน้าที่ธนกิจส่วนบุคคล (RM) นำไปใช้ออกแบบแผนการเงินเพื่อการเกษียณให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย โดยจะใช้ข้อมูลจาก 3 ส่วนเข้ามาช่วยในการวางแผน ได้แก่ 1. เป้าหมายค่าใช้จ่ายทั่วไปหลังเกษียณของแต่ละคน 2. ค่าใช้จ่ายสำคัญหลังเกษียณ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ กรณีเกิดโรคร้ายแรง โดยคำนวณค่าใช้จ่ายทั้งกรณีการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ให้ลูกค้าเลือกได้ว่าเมื่อเกษียณแล้วต้องการรักษาที่โรงพยาบาลประเภทใด 3. การส่งต่อทรัพย์สินให้ทายาท ให้คำแนะนำว่าจะวางแผนอย่างไรหากเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น พร้อมเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้การวางแผนการเงินประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย สำหรับลูกค้าที่ไม่สะดวกเดินทางไปสาขา หรือต้องการวางแผนการเงินเบื้องต้นสามารถใช้งานโปรแกรม TISCO My Goal ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น แอปพลิเคชัน TISCO My Wealth เว็บไซต์ TISCO Wealth และ LINE OA: TISCO Advisory

“ธนาคารทิสโก้พบว่าโปรแกรมวางแผนการเงินในปัจจุบัน เน้นแต่เรื่องการออมเงินและลงทุนอย่างไรให้มีเงินก้อนก่อนเกษียณที่เพียงพอ แต่ยังมีช่องว่างเรื่องการวางแผนด้านค่าใช้จ่ายสุขภาพ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่มักจะเกิดขึ้นในชีวิตหลังเกษียณ รวมทั้งอาจจะลืมคำนึกถึงกระแสเงินสดหลังเกษียณที่สามารถสร้างได้ด้วยประกันบำนาญ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้วางแผนเกษียณมักจะยอมลดคุณภาพชีวิตหลังเกษียณของตัวเองลงเพื่อลดจำนวนเงินที่ตัวเองต้องเก็บออมก่อนเกษียณ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วชีวิตหลังเกษียณเราอาจยังต้องการใช้ชีวิตที่เทียบเท่ากับช่วงชีวิตที่ทำงานมีรายได้อยู่ ดังนั้น โปรแกรมนี้จะเข้ามาช่วยออกแบบแผนการเงินให้เป็นไปตามความเป็นจริงและเป็นไปตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้ามากที่สุด และสำหรับลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูงต้องการส่งต่อมรดกให้แก่ทายาท โปรแกรมนี้ก็จะช่วยแนะนำให้ท่านวางแผนส่งต่อมรดกแบบไร้รอยต่อและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ช่วยบริหารจัดการภาษีมรดกอีกด้วย” นายพิชากล่าว

ยกระดับบริการ ลุยเปิด TISCO Advisory Branch

นายพิชากล่าวอีกว่า การให้บริการลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealth) จำเป็นต้องให้บริการโดยเจ้าหน้าที่ธนกิจส่วนบุคคล (RM) ที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นมืออาชีพ ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความแม่นยำของคำแนะนำ ดังนั้น ธนาคารทิสโก้จึงเดินหน้าให้บริการลูกค้าแบบ “Hybrid Advisory” ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการให้ “คำแนะนำที่ดี” ควบคู่กับการมี “ผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม” ให้แก่ลูกค้า รวมถึงการนำ “เทคโนโลยี” เข้ามาช่วยยกระดับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเจ้าหน้าที่ RM ของธนาคารทิสโก้ทุกรายได้รับใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน (IC License) และธนาคารทิสโก้ยังส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ RM ทุกสาขาได้รับคุณวุฒิที่ปรึกษาการเงิน (AFPT®) และนักวางแผนการเงิน (CFP®) อีกด้วย

เพื่อให้ลูกค้าได้รับการบริการที่มีคุณภาพ ธนาคารทิสโก้สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ RM ของเราได้รับคุณวุฒินักวางแผนการเงิน (CFP®) และที่ปรึกษาการเงิน (AFPT™) และมีเป้าหมายให้ทุกสาขามีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคุณวุฒิ AFPT™ ให้บริการวางแผนการเงิน เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าแผนการเงินที่ธนาคารทิสโก้ออกแบบให้นั้นดี ครบถ้วน ได้มาตรฐานระดับโลก” นายพิชากล่าว

นอกจากนี้ ยังยกระดับบริการด้วยสาขารูปแบบใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Advisory Branch โดดเด่นด้วยบริการปรึกษาแผนการเงินด้วยเจ้าหน้าที่ที่มีคุณวุฒิ AFPT™ ซึ่งเป็นสาขาที่จะช่วยลูกค้าออกแบบแผนการเงินเฉพาะบุคคล สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจอยากต่อยอดเงินล้าน มีกิจกรรมให้ความรู้ด้านการเงิน รวมถึงกิจกรรมให้ความรู้ด้านสุขภาพ และกิจกรรมด้านไลฟ์สไตล์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อตอบโจทย์ความเป็น Holistic Advisory หรือแบบองค์รวม และยกระดับการบริการด้านการวางแผนเกษียณ โดยมีเป้าหมายให้บริการที่สาขาสำนักงานใหญ่เป็นสาขานำร่องซึ่งจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2567 นี้ และหลังจากนี้จะขยาย Advisory Branch ไปยังสาขาต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้ากลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง ซึ่งต้องการทางเลือกการออม การลงทุนที่มีความหลากหลาย รวมทั้งต้องการวางแผนชีวิตในด้านอื่นๆ มากขึ้น

จับมือพันธมิตรหลากหลายธุรกิจ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

นายพิชากล่าวอีกว่า ในด้านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดี (Good Product) ซึ่งเป็นหัวใจหลักสำคัญที่จะช่วยให้แผนการเงินของลูกค้าประสบความสำเร็จนั้น ธนาคารทิสโก้มีโมเดลธุรกิจ Open Architecture สามารถคัดเลือกและเสนอขายผลิตภัณฑ์การเงินจากหลากหลายบริษัท โดยปัจจุบันเสนอขายผลิตภัณฑ์กองทุนจาก 14 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และ 8 บริษัทประกันชั้นนำ ทำให้สามารถเลือกผลิตภัณฑ์การเงินที่เป็นจุดแข็งของแต่ละบริษัทมานำเสนอลูกค้าได้

การจะเป็น Advisory Bank ที่ดีให้กับลูกค้าได้นั้นต้องไม่จำกัดเรื่องการนำเสนอผลิตภัณฑ์จากบริษัทใดบริษัทหนึ่งเท่านั้น เพราะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแต่ละแห่ง และบริษัทประกันแต่ละรายล้วนแต่มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน และไม่มีที่ไหนทำได้ดีที่สุดหรือเก่งที่สุดได้ตลอดเวลา ธนาคารทิสโก้มั่นใจว่าด้วยโมเดลธุรกิจ Open Architecture ที่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินแบบไม่จำกัดค่าย ผสานกับบทวิเคราะห์ จากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)และบทวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ประกัน ผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นจากทีม Wealth Advisory รวมทั้งการให้คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ RM ที่แนะนำโดยใช้ความต้องการของลููกค้า (Customer Focus) เป็นตัวตั้งจะทำให้แผนการเงินของลูกค้ามีประสิทธิภาพสูงสุด” นายพิชากล่าว

 

ทั้งนี้ สำหรับวิธีการคัดเลือกผลิตภัณฑ์กองทุนนั้น ธนาคารทิสโก้มีกระบวนการศึกษากลยุทธ์การลงทุนอย่างรอบด้าน ทั้งด้านผลตอบแทน ความเสี่ยง ขนาดของกองทุน สภาพคล่อง ฯลฯ และนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการการลงทุนที่มีผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนเพื่อคัดสรรกองทุนที่คิดว่าดีที่สุดก่อนจะนำเสนอให้กับลูกค้า สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันนั้นพันธมิตรบริษัทประกันแต่ละแห่งก็มีความเชี่ยวชาญและมีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นแตกต่างกัน ธนาคารทิสโก้จะคัดสรรประกันที่คุ้มค่ามาให้ลูกค้า รวมถึงเข้าไปหารือร่วมกับบริษัทประกันช่วยกันออกแบบความคุ้มครองเพื่อให้ลูกค้าของธนาคารทิสโก้ได้ประโยชน์สูงสุด

นายพิชากล่าวอีกว่า นอกจากการสร้างความมั่งคั่ง และการปกป้องความมั่งคั่งแล้ว ธนาคารทิสโก้มองว่าการที่ลูกค้าจะมี Well being เพื่อให้มีความสุขได้อย่างสมบูรณ์ ก็ควรจะต้องมีสุขภาพที่ดี และความเป็นอยู่ที่ดีร่วมด้วย จึงก้าวไปอีกขั้นด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรด้าน Non - financial ซึ่งครอบคลุมในเรื่องสุขภาพ และไลฟ์สไตล์ โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลรัฐฯ และเอกชน 7 แห่งในการให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ อัปเดตนวัตกรรมการแพทย์ และให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ลูกค้า และสร้างความพร้อมด้านที่อยู่อาศัยหลังเกษียณโดยร่วมมือกับบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในการจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้ลูกค้าวางแผนการเกษียณที่ครบถ้วน

“ธนาคารทิสโก้และพันธมิตรทุกองค์กรจะเดินหน้าร่วมกันเป็น “Friends for Well-being" เพื่อให้ลูกค้าธนาคารทิสโก้ได้ทั้งคำแนะนำทางการเงินที่เสริมสร้างและปกป้องความมั่งคั่งให้กับลูกค้า และคำแนะนำสุขภาพ รวมถึงด้านที่อยู่อาศัย ที่ตอบโจทย์การให้คำแนะนำลูกค้าแบบองค์รวม หรือ Holistic Advisory ที่ครอบคลุมทั้ง Financial และ Non-Financial และเพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะสามารถมีความสุขกับ Lifestyle ที่เลือกไปตลอดทุกช่วงชีวิตและเชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจธนบดีของธนาคารทิสโก้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมายการเป็น “Your Trusted Financial Advisor” ของกลุ่มทิสโก้ได้” นายพิชา กล่าว

กรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 27 มิถุนายน 2566 — การ์ทเนอร์ อิงค์ คาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีของบริการธนาคารและการลงทุนทั่วโลกจะสูงถึง 652.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 8.1% จากปี 2565 โดยในหมวดซอฟต์แวร์จะมีอัตราการเติบโตมากที่สุด เพิ่มขึ้น 13.5% ในปีนี้

เดบบี้ บัคแลนด์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า "ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันเปลี่ยนบริบทการลงทุนในเทคโนโลยีของภาคการธนาคารและการลงทุนในปีนี้ แทนที่จะปรับลดงบประมาณไอที องค์กรกำลังใช้จ่ายมากขึ้นกับประเภทเทคโนโลยีที่สร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น การใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ที่กำลังเปลี่ยนจากการพัฒนาซอฟต์แวร์ใช้เองไปเป็นการซื้อโซลูชันที่สร้างมูลค่าจากการลงทุนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”

การลงทุนในคลาวด์ยังคงสำคัญเหมือนเดิม จากการสำรวจ CIO and Technology Executive Survey ประจำปี 2566 ของการ์ทเนอร์ พบว่าในปี 2566 CIO ในกลุ่มบริการธนาคารและการลงทุนจะใช้เงินก้อนใหม่หรือเพิ่มการลงทุนจำนวนมากที่สุดไปกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ ข้อมูลและการวิเคราะห์ เทคโนโลยีที่ใช้ร่วมกัน และคลาวด์

ผู้บริหารไอทีมากกว่าครึ่งวางแผนเพิ่มการลงทุนในคลาวด์และลดการใช้จ่ายด้านไอทีในดาต้าเซ็นเตอร์ของตนเอง สะท้อนให้เห็นจากยอดการเติบโตที่ช้าลงของการใช้จ่ายด้านระบบดาต้าเซ็นเตอร์ลดลงจาก 13.2% ในปี 2565 เป็น 5.7% ในปี 2566 (ดูตารางที่ 1) โดยธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ กำลังยกเลิกการลงทุนไปกับสินทรัพย์มีตัวตน (Tangible Assets) และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขององค์กร (CAPEX) เพื่อหันมาใช้บริการและลงทุนกับสินทรัพย์ในรูปแบบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (OPEX) เพื่อตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าและตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

พีท เรดชอว์ รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ ระบุว่า "เพื่อรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน CIO ขององค์กรที่ให้บริการธนาคารและการลงทุนกำลังจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายอย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน เช่น การมอบประสบการณ์ลูกค้าที่ดีขึ้น (CX) และการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขอบเขตพื้นที่ใหม่ ๆ กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ และสายงานธุรกิจใหม่ ๆ ที่ซึ่งเปลี่ยนไปจากเมื่อปีก่อนที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและเคยเป็นเป้าหมายหลักของ CEO ของธุรกิจการเงินการธนาคาร”

บริการไอทียังเป็นกลุ่มที่มียอดการใช้จ่ายมากที่สุด

เนื่องจากการใช้บริการให้คำปรึกษาและการบริการ Infrastructure As A Service (IaaS) ที่เพิ่มขึ้น บริการไอทีจะเป็นกลุ่มที่มียอดการใช้จ่ายสูงที่สุด โดยคาดว่าจะสูงถึงเกือบ 270 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 9.3% จากปี 2565 สะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญของผู้ให้บริการด้านไอทีที่มากขึ้นและมีส่วนช่วยเหลือองค์กรในกลุ่มบริการธนาคารและการลงทุนเพื่อรับมือกับโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น

“ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทำให้องค์กรต่าง ๆ ต้องแบ่งสัญญาระยะยาวออกเป็นโปรเจกต์สั้น ๆ หลาย ๆ โปรเจกต์” บัคแลนด์ กล่าวเพิ่ม “นอกจากนั้นยังลังเลที่จะเซ็นสัญญาใหม่ ยึดอยู่กับการริเริ่มระยะยาว หรือรับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเป็นการผลักดันให้มีการใช้บริการที่ปรึกษาด้านไอทีเพิ่มขึ้น”

ปัญหา Talent Shortage ก่อให้เกิดต้นทุนใช้จ่ายภายในองค์กร

การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถทั่วโลกส่งผลกระทบต่อองค์กรในกลุ่มบริการธนาคารและการลงทุน โดยทำให้มูลค่าการใช้จ่ายบริการภายในเพิ่มขึ้น 4.2% ในปี 2566 เนื่องจากมีต้นทุนการจ้างงานและการรักษาทีมงานที่มีทักษะความสามารถเพิ่มขึ้น

"แม้เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการปลดพนักงานของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่หลายแห่งแต่บุคลากรที่มีทักษะความสามารถระดับสูงกลับไม่ได้มองว่าธนาคารเป็นจุดหมายปลายทางที่อยากมาทำงานด้วย หรือมอบรายได้ที่คุ้มค่า หรือน่าตื่นเต้นที่สุดที่ได้ทำงาน ดังนั้นองค์กรจำเป็นต้องมีโซลูชันที่เน้นนวัตกรรมเพื่อคัดสรรบุคลากรมากขึ้น อาทิ การลดข้อกำหนดของการศึกษาในมหาวิทยาลัย และเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆ มากขึ้น เช่น การฝึกอบรมเพื่อสร้างทักษะใหม่ ๆ ตลอดชีวิต การสร้างทีมไฮบริด การเพิ่มวิธีการที่เน้นความคล่องตัว และการร่วมมือด้านฟินเทค” เรดชอว์ กล่าวเพิ่ม

ติดตามข่าวสารและข้อมูลอัปเดตจาก Gartner for High Tech ได้ทาง Twitter และ LinkedIn หรือเยี่ยมชม IT Newsroom สำหรับข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม

 

ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ขอเชิญร่วมบริจาคโลหิต ภายใต้โครงการ “ไทยพาณิชย์รวมใจไทยให้โลหิต” ในวันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม 2566 เวลา 9.00-15.00 น. ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ (รัชโยธิน) เพื่อแบ่งปันต่อเพื่อนมนุษย์ และเติมเต็มปริมาณโลหิตให้มีเพียงพอต่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทั่วประเทศ ผู้ที่ร่วมบริจาคโลหิต รับผ้ายันต์พระนารายณ์ทรงครุฑประทับบนพระราหู โดยสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (สมเด็จธงชัย) วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร รุ่น Limited Edition เสริมพลังมงคลชีวิต และกระบอกน้ำลายกระต่าย จำนวนจำกัด

การบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่องทุก 3 เดือนจะช่วยให้ผู้บริจาคมีร่างกายแข็งแรง เม็ดเลือดแดง และ ไขกระดูกทำงานได้ดี การเตรียมตัวสำหรับผู้ที่จะบริจาคโลหิต ได้แก่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง และควรดื่มน้ำ 3-4 แก้วก่อนบริจาคโลหิต 30 นาที เป็นต้น

 

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประชาสัมพันธ์แนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ที่คาดว่าจะเริ่มให้บริการในปี 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของลูกค้าบุคคลและธุรกิจรายย่อย หลายๆ ท่านอาจสงสัยว่า ลูกค้ารายย่อยที่ธนาคารแบบดั้งเดิมยังไม่ให้กู้ แล้วธนาคารไร้สาขาที่ไม่รู้จักลูกค้าเลยจะให้กู้ได้อย่างไร

เงื่อนไขหนึ่งในหลักเกณฑ์การขอจัดตั้ง Virtual Bank คือ ความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย โดยวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าวต้องชัดเจนและเป็นไปได้ เราจะเห็นผู้ที่มีข้อมูลลูกค้าจำนวนมาก มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี จับมือกับสถาบันการเงิน ลงมาเล่นในสนามนี้ เพื่อให้บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ทุกฝ่าย โดยทำการพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ขอกู้เงินผ่านปัจจัยแวดล้อมที่สะท้อนแบบแผนการดำเนินชีวิต หรือเรียกว่าข้อมูลทางเลือก (Alternative data) เช่นความสม่ำเสมอในการชำระค่าโทรศัพท์ พฤติกรรมและประเภทของสินค้าที่ซื้อบ่อย หรือการใช้แบบสอบถามด้านจิตวิทยา (Psychometrics)

แบบสอบถามด้านทางจิตวิทยา เป็นชุดคำถามที่ค้นหาพฤติกรรมทางการเงินจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การตัดสินใจด้านการเงิน ความยับยั้งช่างใจในการจำกัดรายจ่าย คำถามเกี่ยวกับวินัยในการใช้ชีวิตและการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความวิตกกังวล โดยแบบสอบถามดังกล่าวจะต้องพิจารณาปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อเฟ้นหาลักษณะนิสัยที่บ่งชี้พฤติกรรมการชำระหนี้ได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด

มีการศึกษาในประเทศมองโกเลียที่ให้ผู้เข้าร่วมการศึกษาพิจารณาภาพโต๊ะทำงานต่างๆ ตั้งแต่โต๊ะทำงานที่มีข้าวของรกมาก จนถึงโต๊ะทำงานที่เป็นระเบียบ ผู้เข้าร่วมการทดลองต้องตอบคำถามว่า ท่านสามารถปล่อยให้โต๊ะทำงานของท่านรกถึงระดับใด ก่อนทำการลุกขึ้นมาจัดระเบียบ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่ชอบความเป็นระเบียบของโต๊ะ มักจะมีวินัยทางการเงินที่ดีกว่าผู้ที่ตอบว่าสามารถปล่อยให้โต๊ะทำงานรกได้มากกว่า หรืออีกการศึกษาหนึ่ง

ในรัฐอุตตรประเทศและรัฐมหาราษฏระของประเทศอินเดียพบว่า ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีพฤติกรรมวัตถุนิยมมักจะมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงกว่าปกติอย่างมีนัยสำคัญ

จุดอ่อนที่ธนาคารควรระวังในการอาศัยแบบสอบถามด้านทางจิตวิทยาเพียงอย่างเดียวคือผู้ตอบแบบสอบถามอาจจะเลือกตอบแบบสอบถามเข้าข้างตัวเอง โดยประเมินวินัยของตนเองดีกว่าความเป็นจริง ซึ่งธนาคารมีแนวโน้มที่จะชื่นชอบคุณสมบัติดังกล่าวและพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น หรือผู้ตอบแบบสอบถามอาจจะตอบตามสิ่งที่คิดว่าเป็นคำตอบที่ดูดี ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองเป็นจริงๆ

วิธีหนึ่งในการปิดจุดอ่อนนี้คือการทำการทดสอบซ้ำเพื่อค้นหาความคงเส้นคงวาและอาจจะพิจารณานำข้อมูลทางเลือก มาใช้ประกอบกับข้อมูลทางด้านจิตวิทยา เพื่อให้ผลการประเมินที่ได้ครอบคลุมในหลายมิติและสะท้อนพฤติกรรมตัวบุคคลออกมาดียิ่งขึ้น เช่น สถาบันการเงินแห่งหนี่งในประเทศแคนาดาพบว่าลูกค้าที่นำบัตรเครดิตไปซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด พรมกันลื่น หรืออุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในบ้านในสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีการซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง มักจะมีพฤติกรรมการชำระเงินที่ดีกว่าลูกค้าที่มักนำบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยในสัดส่วนที่สูง

อีกการศึกษาหนึ่งในประเทศจีนพบว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของเบอร์โทรศัพท์มือถือที่เปิดมานานและมีการโทรหาครอบครัวอย่างสม่ำเสมอมีความสัมพันธ์กับการจ่ายชำระหนี้ที่ดีกว่าบุคคลทั่วไป นอกจากนั้นอาจจะมีการพิจารณาจากประวัติการชำระค่าบริการและสาธารณูปโภคประกอบด้วย

นักวิจัยในเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย พบว่าการนำข้อมูลโซเชียลมีเดียมาใช้พยากรณ์ความน่าเชื่อถือของลูกหนี้ สามารถเพิ่มความแม่นยำของแบบจำลองได้ถึงร้อยละ 7 ปัจจัยที่น่าสนใจจากการศึกษานี้คือ ผู้ที่โพสโซเชียลมีเดียบ่อยมักมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงกว่าปกติ แต่ผู้ที่เปิดบัญชีโซเชียลมีเดียมานาน จะมีโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำกว่าปกติปัจจุบันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้สถาบันการเงินบางรายให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลทางเลือก มาใช้ในการให้บริการสินเชื่อในขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาสินเชื่อแล้ว ดังนั้น Virtual Bank ซึ่งถือเป็น “ธนาคารดิจิทัลพันธุ์แท้” ที่มีข้อมูลพร้อมในมือทั้งจากตัวธนาคารเองและพันธมิตรต่างๆ ย่อมที่จะหันมาใช้ทั้งข้อมูลทางเลือกและข้อมูลทางด้านจิตวิทยาควบคู่กันเป็นหัวใจหลักในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่ออย่างแน่นอน

ธนาคารจึงควรสื่อสารถึงความโปร่งใสในการจัดเก็บและนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อให้ผู้ใช้งานเกิดความสบายใจว่าการพิจารณาสินเชื่อยังเป็นไปอย่างยุติธรรมตามกรอบการบริหารความเสี่ยงที่ดี อีกทั้งข้อมูลที่นำมาใช้จะต้องเป็นข้อมูลที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลเท่านั้น ในขณะที่สำหรับผู้กู้รายย่อย การมีเครดิตที่ดีอาจไม่ได้หมายถึงการมีรายได้หรือหลักประกันจำนวนมากอีกต่อไป แต่อาจเป็นเพียงการปรับพฤติกรรมเล็กน้อยในชีวิตประจำวันของท่านอยู่แล้วเท่านั้นเอง

ศรัณย์  บุญชลากุลโกศล

ผู้อำนวยการ ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางกาารเงิน / ดีลอยท์  ประเทศไทย

 

 

สมาคมธนาคารไทย เผยข้อมูลกลโกงมิจฉาชีพใช้แอปฯ ดูดเงินสร้างความเสียหายต่อประชาชนเป็นมูลค่าราว 500 ล้านบาท แนะนำวิธีสังเกตและวิธีการตรวจสอบความผิดปกติ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับมาตรการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ ทั้งการพัฒนาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อให้สามารถปิดกั้นหรือลดผลกระทบได้อย่างทันท่วงที

นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพหลอกลวงเอาเงินจากประชาชนแนบเนียนขึ้น และมีเทคนิคที่หลากหลาย ส่งผลให้มีผู้เสียหายจากการตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 500 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สมาคมธนาคารไทยจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ยกระดับมาตรการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพเพื่อช่วยประชาชน โดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ True AIS DTAC และ NT ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่าง LINE ได้ร่วมกันดำเนินการดังนี้

· ตรวจสอบปิดไลน์ปลอมของธนาคาร

· ควบคุมและจัดการ ชื่อผู้ส่ง SMS (SMS Sender) ปลอม

· ปิดกั้น URL ที่เป็นอันตราย

· หารือธนาคารสมาชิกพัฒนาระบบความปลอดภัยแชร์เทคนิคและแนวทางป้องกันภัยร่วมกัน เช่น พัฒนาการป้องกันและควบคุม Mobile Banking Application กรณีมือถือมีการเปิดใช้งาน Accessibility Service เพิ่มระบบการพิสูจน์ตัวตน (Authentication) ด้วย Biometrics Comparison

นอกจากนี้ หากร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีผลบังคับใช้ จะช่วยให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพทำได้รวดเร็วขึ้น ระงับความเสียหายได้อย่างทันท่วงที สามารถบล็อกบัญชีต้องสงสัยได้ โดยไม่ต้องรอแจ้งความ

นายชัชวัฒน์ อัศวรักวงศ์ ประธานกรรมการ ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัย เทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) กล่าวเพิ่มเติมว่า การหลอกลวงประชาชนให้ได้รับความเสียหายจากแอปฯ ดูดเงิน ส่วนใหญ่ดำเนินการใน 3 รูปแบบ ดังนี้

1. หลอกล่อด้วยรางวัลและความผิดปกติของบัญชีและภาษี โดย Call Center โทรมาหลอกด้วยสถานการณ์ที่ทำให้กังวล SMS เป็นการใช้ชื่อเหมือนหรือคล้ายหน่วยงานต่างๆ และ Social Media หลอกให้เงินรางวัลและเงินกู้ หรือโน้มน้าวชวนคุยหาคู่ และให้เพิ่ม (Add) บัญชีไลน์ปลอมของมิจฉาชีพ

2. หลอกให้ติดตั้งโปรแกรม หลอกขอข้อมูล และให้ทำตามขั้นตอนเพื่อติดตั้งแอปฯปลอม (ไฟล์ติดตั้งนามสกุล .apk) โดยใช้ความสามารถของ Accessibility Service ของระบบปฏิบัติการ Android ที่เมื่อแอปพลิเคชันใด ๆ ได้รับอนุญาตให้ทำงานภายใต้ Accessibility Service แล้ว จะสามารถเข้าถึงและควบคุมการสั่งงานมือถือแทนผู้ใช้งานได้ ฟังก์ชันนี้จึงเป็นกลไกหลักของมิจฉาชีพในการควบคุมมือถือของเหยื่อ

3. ควบคุมมือถือของเหยื่อและใช้ประโยชน์ ด้วยการใช้แอปฯปลอมเชื่อมต่อไปยังเครื่องของมิจฉาชีพ เพื่อเข้าควบคุมและสั่งการมือถือของเหยื่อ เพื่อโอนเงิน และขโมยข้อมูลต่าง ๆ โดยรูปแบบของแอปฯดูดเงินที่มิจฉาชีพใช้หลอกประชาชนมี 3 รูปแบบ คือ

1. หลอกให้เหยื่อติดตั้งแอปพลิเคชันจำพวกรีโมทจาก Play Store เช่น TeamViewer, AnyDesk เป็นต้น จากนั้นมิจฉาชีพจะรีโมทเข้ามาดูและควบคุมมือถือของเหยื่อเพื่อโอนเงินออกทันที (เกิดขึ้นมากในช่วงกลางปี 2565)

2. แอปพลิเคชันอันตราย (.apk) เมื่อติดตั้งแล้วจอมือถือของเหยื่อจะค้าง โจรจะรีโมทมาควบคุมมือถือของเหยื่อ และโอนเงินออกทันที เช่น แอปพลิเคชัน DSI, สรรพากร, Lion-Air, ไทยประกันชีวิต, กระทรวงพาณิชย์ (ยังคงเป็นรูปแบบที่มิจฉาชีพใช้มากที่สุด)

3. แอปพลิเคชันอันตราย (.apk) ที่ควบคุมมือถือของเหยื่อ รอประชาชนเผลอแล้วค่อยแอบโอนเงินออกภายหลัง เช่น แอปพลิเคชัน หาคู่ Bumble, Snapchat (ยังคงเป็นรูปแบบที่มิจฉาชีพใช้)”

 

นายกิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัย เทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) แนะแนวทางการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพว่า มีจุดสังเกตที่ต้องระวัง คือ

1. มิจฉาชีพจะแนะนำให้เหยื่อ Copy link ไปเปิดใน Chrome Browser เพื่อเข้าเว็บปลอม

2. ขณะทำการติดตั้งแอปพลิเคชันของมิจฉาชีพ มือถือจะขอสิทธิ์ในการติดตั้งแอปฯที่ไม่รู้จัก

3. มิจฉาชีพพยายามให้ตั้ง PIN หลายครั้ง หวังให้เหยื่อเผลอตั้ง PIN ซ้ำกับ PIN ที่ใช้เข้า Mobile Banking Application ของธนาคาร

4. หลอกให้เหยื่อเปิดสิทธิ์ การช่วยเหลือพิเศษ (Accessibility) โดยชวนคุยจนไม่ทันอ่านเนื้อหาที่ขึ้นมาเตือน

ทั้งนี้ ควรดาวน์โหลดแอปพลิเคชันผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น และไม่ควร Add LINE หรือช่องทาง Chat อื่น ๆ คุยกับคนแปลกหน้า

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันภัยจากแอปฯดูดเงิน แนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้

1. ตรวจสอบมือถือว่าเปิดแอปพลิเคชันที่ทำงานภายใต้ Accessibility Service หรือไม่ โดยตรวจดูให้แน่ใจว่าเรารู้จักและทราบเหตุผลของการเปิดใช้งานทุกโปรแกรม หากไม่ทราบให้รีบปิด

2. เปิดใช้งาน Google Play Protect เพื่อตรวจสอบการติดตั้งแอปพลิเคชันอันตราย หากเจอให้ Uninstall ทันที

3. ติดตั้งแอปพลิเคชัน Endpoint Protection หรือ Antivirus บนมือถือเพื่อดักจับ และป้องกันแอปพลิเคชันอันตราย หรือมัลแวร์ต่างๆ

สำหรับผู้ที่หลงกลตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ให้รีบดำเนินการปิดเครื่องทันที ด้วยวิธีกด Force-Reset คือ

การกดปุ่ม Power และปุ่มลดเสียง พร้อมกันค้างไว้ 10-20 วินาที แต่ถ้าทำวิธีนี้ไม่สำเร็จ ให้ตัดการเชื่อมต่อของโทรศัพท์ด้วยการถอดซิมการ์ด ปิด Wi-Fi หลังจากนั้น ให้ติดต่อธนาคาร แจ้งความทันที

ทั้งนี้ รูปแบบกลโกงของมิจฉาชีพมีหลากหลายและมีวิธีการใหม่ๆ เสมอ ดังนั้น เพื่อให้ปลอดภัยจากกลโกงประชาชนควรพึงระลึกเสมอถึง 8 พฤติกรรมปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกมิจฉาชีพหลอกดังนี้

1. อุปกรณ์ปลอดภัย-ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือที่ไม่ปลอดภัยมาทำธุรกรรมทางการเงิน อาทิ เครื่องที่ถูกปลดล็อก (root/jailbreak) หรือใช้เครื่องที่มีระบบปฏิบัติการล้าสมัย และตั้งล็อกหน้าจอ

2. ตัวตนปลอดภัย-ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวในสื่อสาธารณะเกินความจำเป็น

3. รหัสปลอดภัย-ตั้งค่ารหัส (Password) ที่ไม่ง่ายเกินไป ไม่ซ้ำกับรหัสการใช้ทั่วไป และไม่บอกผู้อื่น

4. สื่อสารปลอดภัย-ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับคนแปลกหน้า และไม่แสดงตัวก่อน หากถูกถามให้ตรวจสอบคู่สนทนาให้แน่ชัด

5. เชื่อมต่อปลอดภัย-ไม่ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสัญญาณ Wi-Fi สาธารณะ หรือฟรี

6. ดาวน์โหลดหรือติดตั้งโปรแกรมจากแหล่งที่ได้รับรองโดยผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการ (Official Store) เช่น Play Store หรือ App Store เท่านั้น โดยไม่คลิกจากลิงก์ และตรวจเช็กการอนุญาต หรือ Permission ของแอพปลิเคชันและสังเกตการขออนุญาตเข้าใช้งานอุปกรณ์หรือข้อมูลที่ไม่สัมพันธ์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้งานและกับประเภทการทำงานของแอปพลิเคชัน

7. มีสติรอบคอบก่อนการทำธุรกรรมทุกครั้ง อ่านข้อความที่ขึ้นเตือนบนเครื่องโทรศัพท์มือถือให้ถี่ถ้วน ไม่คลิกลิงก์จาก SMS, Chat หรืออีเมลที่ถูกส่งมาจากแหล่งที่ไม่รู้จักหรือไม่น่าเชื่อถือ

8. ศึกษาและติดตามข่าวสารการใช้งานเทคโนโลยีเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยหมั่นตรวจเช็กการตั้งค่า ไม่ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก (Install Unknown Apps) และใช้งาน Antivirus Software

ติดตามข่าวสาร โดยสามารถศึกษาข้อมูลและแนวทางป้องกันกลโกงมิจฉาชีพได้ที่ Facebook: TB-CERT

Page 1 of 7
X

Right Click

No right click