นายชูเกียรติ ยั่งยืนบางชัน ผู้ช่วยผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง เป็นประธานพิธีเปิดงานแข่งขันทักษะช่างสายอากาศ และช่างสายใต้ดิน ประจำปี 2567 จัดโดยฝ่ายความปลอดภัย พร้อมคณะผู้บริหาร และพนักงาน MEA เข้าร่วมงาน แบ่งประเภทการแข่งขันเป็น การแข่งขันงานฮอทไลน์ การแข่งขันดับ/จ่ายไฟ การแข่งขันตรวจสอบสายใต้ดิน และการแข่งขันติดตั้งเครื่องวัดแรงกลาง ณ ศูนย์ฝึกอบรมและทดสอบทักษะการไฟฟ้านครหลวง (บางพลี) จ.สมุทรปราการ
ผู้ช่วยผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า การแข่งขันทักษะช่างสายอากาศ และช่างสายใต้ดิน ประจำปี 2567 จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาคน (Smart People) การพัฒนาระบบงาน (Smart System) และการพัฒนาความสามารถทางดิจิทัล (Smart Digital) เพื่อยกระดับคุณภาพงานบริการและความปลอดภัย สร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชน
นอกจากนี้ MEA ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในการปฏิบัติงานตลอดมา จึงได้กำหนดนโยบายด้านความปลอดภัยเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงาน และจัดฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง มีการทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะประสบการณ์ของการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี การทำงานร่วมกันเป็นทีม มีความพร้อมในการให้บริการ อีกทั้งเพื่อฝึกฝนพัฒนาให้พนักงานภาคสนามให้มีความรู้ความสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ร่วมเสวนาแนวทางการสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานในเมืองหลวงแห่งอนาคต ในหัวข้อเรื่อง “MEA's Sustainable Actions for a Smarter, Sustainable Future” โดยมี คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักกิจกรรมรณรงค์และสื่อสารเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ร่วมเสวนาฯ ในเวทีระดับนานาชาติ Sustainability Expo 2024 พร้อมร่วมจัดแสดงนิทรรศการของ MEA การดำเนินการเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของการไฟฟ้านครหลวง ณ เวที SX Talk Stage ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
MEA ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่จำหน่ายดูแลระบบไฟฟ้าสังกัดกระทรวงมหาดไทย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ MEA ได้ดำเนินกิจการด้วยความตระหนักต่อประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) ผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการ MEA GO (Green Organization) สร้างความตระหนักให้แก่พนักงานในการใส่ใจด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) ผ่านกิจกรรม Zero waste การนำขยะที่สามารถนำไปแปลงเป็นพลังงาน (Waste to energy) การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) การจัดประชุมที่มีการคำนึงถึงการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Green Meeting) การเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่ใช้ในอาคารของ MEA เพื่อให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ในด้านระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าของ MEA ยังคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาด้านสิ่งแวดล้อม จากการรื้อถอนอุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพจำนวนมาก โดย MEA ได้ริเริ่มกระบวนการ upcycle ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า (Insulators) ที่หมดอายุการใช้งาน ให้นำไปใช้งานในหลายรูปแบบ อาทิ การนำไปบดหยาบเพื่อทำวัสดุกันลื่นบนถนน (Anti-skid road ceramic particles) สำหรับลูกถ้วยที่บดละเอียด สามารถนำไปผลิตเป็นแผ่นรองดูดซึมน้ำประสิทธิภาพสูง ซึ่งได้นำมาทดสอบนำร่องการใช้งานภายในองค์กร ก่อนขยายพื้นที่การใช้งานไปยังเครือข่ายพันธมิตรและชุมชนอื่น ๆ ส่วนเสาไฟฟ้าที่ถูกรื้อถอนจากโครงการสายไฟฟ้าใต้ดิน ได้มาปักเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า และชายฝั่งย่านบางขุนเทียน รวมระยะทางกว่า 2,500 เมตร พร้อมสนับสนุนการดำเนินการปลูกป่าชายเลนและดูแลบำรุงรักษามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2547 – ปัจจุบัน จนสัมฤทธิ์ผลเกิดเป็นพื้นที่ป่าชายเลนหลังแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งกว่า 380 ไร่
สำหรับด้านระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า MEA เป็นรัฐวิสาหกิจหน่วยงานแรกที่นำรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาใช้ในกิจการ และได้นำเทคโนโลยีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในองค์กรกว่า 10 ปี มีการต่อยอดสร้างนวัตกรรม PLUG ME EV ระบบอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะกับพื้นที่อาคารสำนักงาน หรืออาคารชุดที่ต้องการรองรับผู้ใช้งานรถ EV จำนวนมาก ช่วยลดต้นทุนกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับเครื่องอัดประจุไฟฟ้า AC ทั่วไปในท้องตลาด รวมถึงการจัดทำตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานเครื่องอัดประจุไฟฟ้าที่มีความปลอดภัย และเที่ยงตรง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค หรือ Charge Sure by MEA รวมถึงดำเนินโครงการที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่การใช้พลังงานจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน MEA รับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จำนวน 13,735 ราย คิดเป็นกำลังผลิตกว่า 238 เมกะวัตต์ และมีการติดตั้งระบบ Solar Cell ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ รวมเป็นจำนวนกว่า 84 เมกะวัตต์ ทั้งหมดนี้ ช่วยส่งผลลดคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 190,000 tonCo2/ปี เพื่อมุ่งสู่การใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าสูงสุด MEA ยังมีโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชน ภายใต้โครงการ MEA Energy Mind Award ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อปลูกฝังให้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกลุ่มบุคลากร และเยาวชนในสถานศึกษาต่าง ๆ สร้างเยาวชนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว (Green Youth) ส่งมอบสู่สังคมไทย
ในส่วนของผู้ประกอบการ โครงการ MEA Energy Award เป็นโครงการที่มอบรางวัลให้กับอาคารในประเภทต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด “ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และคุณภาพอากาศได้มาตรฐาน” ซึ่งได้ดำเนินโครงการปีที่ 7 มีอาคาร ผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงานของ MEA ไปแล้วทั้งสิ้น 313 แห่ง ช่วยให้เกิดผลประหยัด 46.33 ล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นมูลค่า 180.93 ล้านบาทต่อปี ลดคาร์บอนไดออกไซด์ 26,589 tonCo2 ต่อปี ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการที่ MEA กำหนดเป้าหมาย Carbon Neutrality ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2593 และ กำหนดเป้าหมาย Net Zero Emission การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี พ.ศ. 2608 ดำเนินการขับเคลื่อนจากภายในองค์กรขยายไปสู่ภายนอก และเดินหน้าผลักดันให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ตามนโยบายของรัฐบาลในอนาคตต่อไป
พลตำรวจโท กรไชย คล้ายคลึง กรรมการการไฟฟ้านครหลวง และประธานกรรมการกิจการสัมพันธ์การไฟฟ้านครหลวง พร้อมด้วยนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง และคณะผู้บริหาร จัดพิธีปล่อยขบวนรถในกิจกรรม "MEA ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบอุทกภัย" ณ การไฟฟ้านครหลวง สำนักใหญ่คลองเตย เพื่อสร้างความมั่นใจด้วยการปรับปรุงระบบไฟฟ้า เปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าให้ประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยจังหวัดเชียงรายระหว่างวันที่ 4-7 ตุลาคม 2567
ผู้ว่าการ กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีความห่วงใยประชาชนในเรื่องระบบไฟฟ้าหลังช่วงอุทกภัยจากสถานการณ์น้ำเหนือหลากได้ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ภาคเหนือ และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสังคมแห่งการให้พร้อมบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการระดมพนักงานอาสา MEA ลงพื้นที่เพื่อไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากอุทกภัย พร้อมมอบเงินบริจาค อุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ให้แก่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานในการช่วยเหลือประชาชนเพื่อความปลอดภัย
นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง เป็นประธานเปิดงานสัมมนาธุรกิจโซลาร์เซลล์ “Healing the Future with MEA” สำหรับลูกค้ากลุ่มโรงพยาบาลภาครัฐ จากกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี และหน่วยงานต้นสังกัด ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาในวันนี้ จำนวนกว่า 130 คน มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพลังงาน และพลังงานทดแทน ตลอดจนความสำคัญของงานบริการต่าง ๆ ของ MEA ที่พร้อมดูแลระบบไฟฟ้าให้เพียงพอ มั่นคง และมีเสถียรภาพ ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 5 โรงแรม ไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพมหานคร
รองผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้า มุ่งขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร โดยให้ความสำคัญกับการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคง และปลอดภัย ตลอดจนมีความพร้อมในการขับเคลื่อนองค์กรตามแผนงานด้านพลังงานของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดงานสัมมนา Healing the Future with MEA โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลสนับสนุน แนวทางการติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก เพื่อการบริหารจัดการพลังงาน การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตลอดจนเพื่อให้ความรู้ในด้านการพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนติดตั้ง Solar System ในรูปแบบ Solar Rooftop Solar Carport และ Floating Solar แนวทางการเชื่อมต่อ Solar System เข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ MEA รวมถึงความรู้ด้านความปลอดภัย และการดูแลบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าภายในโรงพยาบาล ซึ่งมีการให้บริการครอบคลุมดูแลเรื่องการตรวจสอบและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าตามหลักวิชาการ ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตั้งแต่เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าจนถึงระบบไฟฟ้าภายใน โดยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ พร้อมบริการให้คำปรึกษา หรือแก้ไขระบบไฟฟ้าขัดข้องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งยังเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา เพื่อยกระดับความพึงพอใจ และมาตรฐานการให้บริการด้านระบบไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นของ MEA
ทั้งนี้ลูกค้ากลุ่มโรงพยาบาล หรือหน่วยงานราชการอื่นที่สนใจบริการ MEA อาทิ บริการติดตั้ง Solar System บริการดูแลตรวจสอบระบบไฟฟ้า และธุรกิจ EV Charger พร้อมให้คำปรึกษาเบื้องต้น โดยสามารถติดต่อขอใช้บริการได้ที่ ฝ่ายธุรกิจบริการและคุณภาพไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง ผ่านทาง MEA Call Center 1130 หรือสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ช่องทางโซเชียลมีเดียทางการต่าง ๆ ของ MEA ได้ที่ Line: MEA Connect (@MEAthailand) สัญลักษณ์โล่สีเขียวนำหน้าชื่อบัญชีทางการ เลือกเมนู ติดต่อ MEA Call Center Online 1130 ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ได้รับผลคะแนนการประเมินความเสี่ยงการทุจริตตามเกณฑ์เชิงคุณภาพ "ระบบบริหารจัดการความเสี่ยงการทุจริต"(Corruption Risk Management Systems : CRMS) ในระดับดีเยี่ยม (Excellent) จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงานงาน ป.ป.ท.) เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 โดยคณะทำงานพิจารณาเกณฑ์การประเมินและผลการประเมินความเสี่ยงการทุจริตตามเกณฑ์ประเมินเชิงคุณภาพ "ระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงการทุจริต" (Corruption Risk Management Systems : CRMS) ประจำปี 2566 MEA ได้รับผลคะแนนการประเมินในระดับ Excellent : E (ดีเยี่ยม) จากการประเมินดังกล่าวได้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนและให้ความสำคัญในการปฏิบัติเพื่อป้องกัน สกัดกั้น ลด และปิดโอกาสการทุจริตให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล โปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป