บมจ.ธนชาตประกันภัย ปลื้ม “พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย” คว้ารางวัล Prime Minister Road Safety 2 ปีซ้อน เดินหน้าปลุกคนในชุมชนตื่นตัวปัญหาอุบัติเหตุทางถนน หลังพบแต่ละปีเคลมอุบัติเหตุรถยนต์กว่า 28,000 เคส/เดือน จ่ายสินไหมรวมกว่า 5,800 ล้านบาท
คุณวิชินี โอรพันธ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ธนชาตประกันภัย เผยว่า จากสถิติยอดเคลมจำนวนอุบัติเหตุรถยนต์ และอัตราการจ่ายสินไหม ที่แต่ละปีมีการเคลมอุบัติเหตุรถยนต์กว่า 28,000 เคส/เดือน หรือเฉลี่ย 900 เคส/วัน โดยในปี พ.ศ. 2566 มีมูลค่าการจ่ายสินไหมรวมกว่า 5,800 ล้านบาท เป็นความสูญเสียด้านตัวเงินที่แม้ว่าลูกค้าจะได้รับการช่วยเหลือชดเชยจากบริษัท แต่ยังมีความสูญเสียอีกไม่น้อยที่ประชาชนรายย่อยยังต้องรับมือกับปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งบางอย่างมีผลทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงสภาพจิตใจที่ไม่สามารถทำให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก
ดังนั้น บมจ. ธนชาตประกันภัย จึงเกิดแนวความคิดในการเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนถนน ด้วยการจัดตั้งโครงการ ‘พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย’ เพื่อมุ่งหวังลดอัตราความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนถนนในทุกเส้นทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนสายรองในท้องถิ่น ชุมชน และหมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งจากสถิติในแต่ละปีพบว่าเป็นถนนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุจากการจราจร สร้างสุขภาพชุมชนที่ดี และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับสังคมอย่างยั่งยืน เป็นโครงการที่สอดคล้องกับแผน ‘ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนของรัฐบาล ที่มีนโยบายให้หน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมรณรงค์ด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนร่วมกันทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งธนชาตประกันภัยหวังเป็นอีกแรงขับเคลื่อนหนึ่งที่มีส่วนสร้างความปลอดภัยทางถนน
สำหรับโครงการ ‘พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย’ ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) และภาคีเครือข่าย ในการสร้างกลไกบริหารด้านความปลอดภัยทางถนนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน มีการปรับปรุงจุดเสี่ยงอุบัติเหตุให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้ว 30 พื้นที่ทั่วประเทศ ใช้งบประมาณรวม 6 ล้านบาท และในปี พ.ศ.2567 อยู่ระหว่างการดำเนินงานโครงการฯ ปีที่ 4 ซึ่งจะทำให้เรามีชุมชนที่จะร่วมสร้างถนนปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีก 10 ชุมชน
ทั้งนี้ โครงการ ‘พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย’ มีเป้าหมายลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนถนน ลดความสูญเสียทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน โดยวางกลยุทธ์ไว้ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. การสร้างการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชนเอง สร้างการตระหนักรู้และความตื่นตัวของชุมชนในการริเริ่มดำเนินการลดอุบัติเหตุ (collaboration) 2. การสร้างองค์ความรู้ ในการวิเคราะห์จัดการเพื่อการลดอุบัติเหตุถนนในชุมชน 3. การสร้างให้เกิดกระบวนการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องเป็นรูปธรรม และ 4. การสร้างกระบวนการการคิดแก้ปัญหาให้เกิดความยั่งยืน (Sustainable of Road Safety) กำหนดเป้าหมายดำเนินงาน ปีละ 10 ชุมชนทั่วประเทศ โดยมีงบประมาณสนับสนุนชุมชนละไม่เกิน 200,000 บาท
ทั้งนี้ โครงการ ‘พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย’ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี พร้อมกันนี้ยังได้รับรางวัล Prime Minister Road Safety ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 16 อีกทั้ง โครงการฯ ได้ถูกบันทึกลงในหนังสือศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนฯ เพื่อเป็นองค์ความรู้ให้กับหน่วยงาน ชุมชนต่างๆ ได้ศึกษาเป็นแนวทางการสร้างความปลอดภัยทางถนนต่อไป
คุณวิชินี กล่าวต่อว่า สำหรับการตอบรับโครงการพลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัยนั้น เริ่มดำเนินโครงการฯ 3 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งการสำรวจความคิดเห็นของคณะทำงาน/บุคลากรในพื้นที่ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนโครงการฯ พบว่าพฤติกรรมการใช้ความเร็วรถของคนในชุมชน มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี เช่นเดียวกับคนในชุมชนส่วนใหญ่ร้อยละ 91.6 รู้จักหรือได้ยินโครงการฯ โดยมีทัศนคติและความพึงพอใจต่อโครงการฯ ในระดับ ‘มาก’ โดยเฉพาะการตระหนักรู้ความความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนน การมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหาและการจัดการปัญหาพื้นที่เสี่ยงในชุมชน และช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ที่สำคัญคนในชุมชนพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนให้ดีขึ้น
“ธนชาตประกันภัย มีความตั้งใจในการสนับสนุนให้เกิดการช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ที่สำคัญคนในชุมชนพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนให้ดีขึ้น นำไปสู่การลดจำนวนอุบัติเหตุ ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน และส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจ และสังคมไทย”คุณวิชินี กล่าว
เอสซีจี เปิดต้อนรับครอบครัวพลังชุมชนจากทั่วประเทศ กับงาน “พลังชุมชน สร้างคนด้วยปัญญา” ในโครงการ “พลังชุมชน”
เอสซีจี มุ่งแก้จน ลดความเหลื่อมล้ำสังคม ตามแนวทาง ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเชื่อมั่น โปร่งใส) ผ่านโครงการพลังชุมชน อบรมให้ความรู้คู่คุณธรรม น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต มุ่งให้ชุมชนเห็นคุณค่าและพัฒนาศักยภาพตนเอง สร้างอาชีพด้วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้โดนใจลูกค้า ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้น่าซื้อ ดึงดูดใจผู้บริโภค นำหลักการตลาดไปใช้ในการจัดจำหน่ายทั้งออนไลน์ (Online) และออฟไลน์ (Offline) ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ขณะเดียวกันต้องบริหารจัดการความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง หากทำผิดพลาด ต้องไม่ย่อท้อ ล้มแล้วต้องรีบลุก นำจุดบกพร่องมาเป็นบทเรียนพัฒนาตนเอง
ตั้งแต่ปี 2561 มีผู้ร่วมอบรมในโครงการพลังชุมชน 650 คน จาก 14 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง สระบุรี กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช เชียงราย แพร่ อุดรธานี อุบลราชธานีลำพูน อุตรดิตถ์ บุรีรัมย์ พิษณุโลก ตาก และระยอง มีสินค้าแปรรูปกว่า 1,150 รายการ ชุมชนมีรายได้เพิ่ม 5 เท่า เกิดการจ้างงาน 3,410 คน ส่งต่อความรู้ 26,130 คน ช่วยปลดหนี้ มีอาชีพมั่นคง ต่อยอดความรู้ พัฒนาเป็นการตลาดรอดจนซึ่งมีรูปแบบเฉพาะตัว ขณะเดียวกันยังแบ่งปันความรู้และเป็นต้นแบบส่งต่อแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่นๆ เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง
เอสซีจีได้จัดงาน “พลังชุมชน สร้างคนด้วยปัญญา” โดยเชิญ 6 ตัวแทนบุคคลต้นแบบมาร่วมแบ่งปันความรู้ แนวคิดการพัฒนาอาชีพ หัวข้อ “เปลี่ยนอย่างไรให้ปัง” และเปิดเวทีให้น้อง ๆ โรงเรียนน้ำโสมพิทยาคม จ.อุดรธานี มาแชร์สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการสร้างมูลค่าจากวัตถุดิบรอบตัวและนำไปทำโครงการวิชาการประกวด ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับประเทศ นอกจากนั้น ยังเปิด “ตลาดพลังชุมชนชวนช้อป” นำสินค้ากว่า 200 รายการมาจำหน่าย เช่น ผงกล้วยหอมทองพร้อมชง จ.แพร่ ก๋วยจั๋บรสต้นตำรับเส้นญวน จ.อุบลราชธานี กระบกเคลือบคาราเมล จ.อุบลราชธานี เกล็ดปลานิลอินทรีย์ทอดกรุบกรอบ จ.เชียงราย ขนมกุ๊กไก่ไส้สับปะรด จ.ลำปาง ผ้าย้อมดินถิ่นครูบา จ.ลำพูน แผ่นแปะสมุนไพรแก้ปวด จ.เชียงราย น้ำพริกปลาส้ม 4 ภาค จ.อุดรธานี และกระเป๋าทำจากผ้าขาวม้า จ.สระบุรี
ผู้สนใจสามารถสนับสนุนชุมชน โดยเลือกซื้อสินค้าขึ้นชื่อของแต่ละจังหวัด และแหล่งท่องเที่ยวทั่วไทย ได้ที่ E-CATALOG https://my.eboox.cc/shop9/1/2566/
เอสซีจี โดย นางจันทนิดา สาริกะภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงาน Enterprise Brand Management
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อ ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือน นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำในสังคมที่นับวันมีแนวโน้มสูงขึ้น “เอสซีจี” จึงเดินหน้าลดปัญหานี้อย่างยั่งยืน ตามแนวทาง ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero 2050 – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเชื่อมั่น โปร่งใส) เพื่อสร้างโอกาสให้ชุมชนมีอาชีพและรายได้ด้วยการอบรมให้ความรู้ ผ่านโครงการ “พลังชุมชน” หลักสูตร Mini MBA สำหรับชุมชน ปัจจุบันมีผู้คนที่สามารถสร้างอาชีพแล้วกว่า 450 คน 850 ผลิตภัณฑ์ เกิดการจ้างงานกว่า 1,800 คน และส่งต่อความรู้มากกว่า 10,200 คน เป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง ล่าสุดจัดงาน “พลังชุมชน คนบันดาลใจ” ชวน 4 ชุมชนต้นแบบ มาร่วมกันส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ นำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต
ปาฐกถาพิเศษฝากข้อคิดและคาถาแก้จน
ภายในงานได้จัดปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “อยู่รอด เติบโต ด้วยคุณธรรม” โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี ที่ให้ข้อคิดว่า ทุกปัญหา อุปสรรคเอาชนะได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อยู่อย่างแบ่งปัน และมีน้ำใจต่อกัน ซึ่งโครงการพลังชุมชนประสบความสำเร็จในมิติทางสังคมและเศรษฐกิจแล้ว จึงอยากเพิ่มอีกมิติ คือ มิติจิตวิญญาณของความเป็นไทย นั่นคือ เราเป็นพี่น้องกัน ต้องมีน้ำใจและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน
“ขอชื่นชมโครงการพลังชุมชน อยากให้เดินหน้าต่อไป เพราะประเทศไทยมีคนจนและคนเปราะบางอีกมากที่ต้องการให้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ สิ่งที่ช่วยแก้จนมีสองเรื่องคือ หนึ่ง ต้องรู้จริง ไม่ว่าทำอาชีพอะไร ก็ต้องเอาเทคโนโลยีและความรู้เกี่ยวกับอาชีพนั้นที่ทันสมัยที่สุดไปให้กับผู้ประกอบการ สอง เรื่องการบริหารจัดการ การสร้างเครือข่าย การประสบความสำเร็จต้องพัฒนาตลอดเวลา เราจะนำหน้าคู่แข่งเสมอ และผลิตภัณฑ์ต้องไม่ทำเหมือนเดิม ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์เรื่อย ๆ และเมื่อผลิตได้แล้ว ต้องถามตัวเองว่าเอาไปขายใคร ตลาดอยู่ที่ไหน” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม กล่าว
“แรงบันดาลใจ” สร้างจากสิ่งเล็ก ๆ ใกล้ตัว
เปิดเวทีส่งต่อแรงบันดาลใจ โดย “เกศรินทร์ กลิ่นฟุ้ง” หรือ หนิง คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว แม่ค้าขนมภายใต้แบรนด์ แม่หนิงภูดอย จาก จ.ลำปาง ที่เริ่มต้นจากความตั้งใจทำขนมให้ลูกชายกิน เล่าว่า โครงการพลังชุมชน เป็น
อีกจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต โดยนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้มาปรับปรุง พัฒนาต่อยอดแปรรูปขนมคุกกี้ไส้สับปะรดให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างเป็นรูปไก่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของลำปาง ทั้งยังปรับมาตรฐานสินค้าให้ได้รับ อย. และเลือกเป็นเมนูในเวทีประชุม APEC Thailand ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง
“พลังชุมชนได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งให้ก้าวเดินอย่างมั่นคงและงดงาม หนิงมุ่งมั่นและพยายามพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นทุกวัน พร้อมเปิดรับทุกโอกาสดี ๆ ที่เข้ามา เป้าหมายหรือแรงบันดาลของเราอาจเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ แล้วตั้งใจ พัฒนาฝึกฝน และทำสม่ำเสมอในทุกวัน อาจลำบากหรือเจออุปสรรคบ้าง แต่การทำในสิ่งที่รัก เราจะมีความสุข พร้อมพุ่งชนและแก้ไขปัญหา หนิงเชื่อว่าดอกผลของพยายามสวยงามเสมอ”
“ความรู้” คือกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ
ตามมาด้วย “ยศวัจน์ ผาติพนมรัตน์” สมาชิกโครงการพลังชุมชน จ.อุดรธานี ข้าราชการบำนาญ ที่แบกหนี้หลักล้านกลับบ้านเกิด นำปลามาแปรรูปเป็นปลาส้ม จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เล่าว่า แม้จะลำบาก แต่ไม่เคยท้อ เพราะในความมืดย่อมมีแสงสว่าง ที่สำคัญมีความรู้เป็นกุญแจสำคัญ โครงการพลังชุมชนสอนให้ตัวเองทำในสิ่งที่ถนัด เมื่อลงมือทำโดยใช้เวลาเพียง 1 ปี ก็กลับมามีรายได้อย่างมั่นคง จากแปรูปปลาเป็นปลาส้ม ซึ่งขายได้ 28,800 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 180 บาท จากต้นทุนกิโลกรัมละ 50 บาท อีกทั้งยังขยายเครือข่าย สร้างระบบ สร้างงาน สร้างคน ส่งต่อไปความรู้ ความเชี่ยวชาญไปอีกหลายตำบล
“เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เปิดใจ ยอมรับ พร้อมปรับเปลี่ยน ค้นหาคุณค่าของสิ่งรอบข้างมาสร้างมูลค่า และเป้าหมายต้องชัด ทำตามลำดับขั้นตอน ซึ่งสำคัญที่สุดคือ การลงมือทำ ผมเรียนรู้รายละเอียดของปลาจนนำมาแปรรูปได้ 9 หมวด 50 ผลิตภัณฑ์ มีพันธมิตรอย่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 4 มาให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย จนตกผลึก จากเดิมที่มี 1 ไลน์การผลิต ตอนนี้เพิ่มเป็น 3 ไลน์ พร้อมเป็นสถานที่พัฒนา ระดับอำเภอ และส่งต่อแบ่งปันความรู้ไปให้กับเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดกลางในหลายตำบล”
นำสิ่งรอบตัวมาทดลองคิดค้นเพิ่มมูลค่า
มัจฉา สุดเต้” จาก จ. อุบลราชธานี ผู้พัฒนาก๋วยจั๊บอุบล ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นให้มี 20 รสชาติ เล่าว่า ในช่วงที่ชีวิตเหมือนจะไปต่อไม่ได้ แต่ต้องฮึดสู้เพื่อครอบครัว โครงการพลังชุมชนแนะให้นำสิ่งรอบตัวมาเพิ่มมูลค่า รักในสิ่งที่ทำและทำในสิ่งที่รัก สุดท้ายปิ๊งไอเดียทำก๋วยจั๊บสำเร็จรูป เนื่องจากลูกชายชอบทาน แม้ว่าในอุบล
ฯ จะมีสินค้าอยู่แล้วนับพันแบรนด์ แต่ก็ยังคงทดลองคิดค้นสูตรเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์และมีความแตกต่าง ซึ่งลูกชายการันตีว่าอร่อยมาก จึงเป็นที่มาของก๋วยจั๊บอุบล สูตรมาดามโซ่ รสต้นตำรับ เปิดตลาดในอำเภอน้ำยืน ก่อนบุกทำตลาดออนไลน์ จ้างทำเพจ ยิงโฆษณา จนประสบความสำเร็จ
“เราคิดค้นรสชาติแปลกใหม่ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า พร้อมปรับปรุงโรงเรือนตามมาตรฐาน อย. พัฒนาเป็นผู้รับจ้างผลิต มีการเชื่อมโยงเครือข่ายและกระจายรายได้ไปพร้อมกัน จนเกิดผลิตภัณฑ์มาดามโซ่ 20 รสชาติ ได้จับเงินหลักล้านภายใน 6 เดือน ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน แบ่งปันองค์ความรู้ให้ผู้สนใจที่มาเยี่ยมชมโรงงาน อยากให้เอสซีจีสานต่อโครงการพลังชุมชนต่อไป เพราะยังมีหลายชีวิตรอแสงตรงนี้ส่องไปยังพวกเขา”
ค้นหาคุณค่าของตัวเองและความชอบให้เจอ
“อำพร วงค์ษา” หรือ ครูอ้อ ประธานศูนย์หัตถกรรมบ้านงานฝีมือผาหนาม จ. ลำพูน และเจ้าของก๋วยเตี๋ยวลำไยแปรรูป แบรนด์ ไร่วงค์ษา” ที่ลาออกจากการเป็นครูพี่เลี้ยงในโรงเรียนอนุบาลมาดูแลแม่ที่เจ็บป่วย ทำให้ขาดรายได้ประจำและมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งยังแบกภาระหนักเมื่อสามีล้มป่วย และยังรับหน้าที่ดูแลลูก ตนจึงฝึกฝนพัฒนางานฝีมือหัตถกรรมสร้างรายได้เสริม ได้กำลังใจจากพ่อและครอบครัวทำให้ครูอ้อเข้มแข็ง ลุกขึ้นมาค้นหาคุณค่าของตัวเองจนพบว่าชอบอาชีพหัตถกรรม จึงสร้างงานฝีมือและพัฒนาเป็นกลุ่มหัตถกรรมงานฝีมือ เป็นฐานการผลิตส่งต่อออเดอร์ของลูกค้า
“โครงการพลังชุมชนสอนให้พึ่งตนเอง เรานำความรู้มาพัฒนาต่อยอดในหลายเรื่อง เมื่อลำไยราคาตกก็แปรรูปเป็นก๋วยเตี๋ยวลำไย ฝึกฝนทำงานหัตถกรรมไปพร้อมกับดูแลครอบครัว นำความรู้เรื่องการจัดการ มาบริหารงานภายในกลุ่ม เชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างเพื่อขยายฐานการผลิต ทั้งยังเปิดศูนย์เรียนรู้ ให้ชุมชนมีอาชีพ มีงานทำ รู้สึกภูมิใจมากที่ได้มายืนในจุดนี้”
เหล่านี้คือเสียงสะท้อนจาก “คนบันดาลใจ” ที่เป็นเพชรเม็ดงามจากโครงการ “พลังชุมชน” หลักสูตร Mini MBA สนับสนุนโดยเอสซีจี ซึ่งเป็นหลักสูตรอบรมวิสาหกิจชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมพัฒนาศักยภาพให้ชุมชน ด้วยการให้ความรู้คู่คุณธรรม เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิด ให้พึ่งพาตนเอง เช่น สอนหลักการตลาดให้รู้จักลูกค้า แปรรูปผลิตภัณฑ์ให้โดนใจผู้บริโภค สร้างแบรนด์สินค้า และขยายช่องทางจำหน่ายให้หลากหลายอย่างออนไลน์ ช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากของไทยให้เข้มแข็ง เติบโตอย่างยั่งยืน