มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สานต่อภารกิจแห่ง ‘การให้’ ที่มอบความสุขได้อย่างไม่สิ้นสุด จับมือ ‘Bacon Time’ สโมสรอีสปอร์ตแถวหน้าของประเทศไทย ส่งทีมนักกีฬาอีสปอร์ตแบบจัดเต็มมาโชว์ฟอร์มรูปแบบใหม่กับการสตรีมการกุศล ร่วมกับ คุณหมอจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมชวนสาวกเกมเมอร์ ร่วมบริจาคเงินให้โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี เพื่อเพิ่มพื้นที่ บวกความหวังให้ประชาชนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม
สำหรับคนไทยการเล่นเกมเป็นหนึ่งในรูปแบบของความบันเทิงที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะในกลุ่มคนเจเนอเรชั่นใหม่ ด้านอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตมีแนวโน้มเติบโตและพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง นอกจากเกมจะสร้าง ความสนุกสนานและประสบการณใหม่บนโลกออนไลน์ เกมยังกลายมาเป็นโอกาสในการก้าวสู่อาชีพทางเลือกบนโลก ความเป็นจริง ตั้งแต่อาชีพเกมสตรีมเมอร์ (Game Streamer) ไปจนถึงนักกีฬาอีสปอร์ต (E-sports Player) และอาจกล่าวได้ว่าเกมเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจไทย ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของประชากร เจเนอเรชั่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่กำลังก้าวเข้ามาเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญของการพัฒนาและสร้าง การเปลี่ยนแปลงในอนาคต มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงมองหาโอกาสในการสร้างสรรค์โครงการรูปแบบใหม่เพื่อเข้าถึงกลุ่มคน เจเนอเรชั่นใหม่อยู่เสมอ
ในปีที่ผ่านมา มูลนิธิรามาธิบดีฯ ประสบความสำเร็จจากการเปิดมิติใหม่ของ ‘การให้’ ผ่านโครงการพิเศษ Rama X Gamers “Fun For Fund” การสตรีมเกมเพื่อการกุศลร่วมกับกลุ่มเกมเมอร์ชื่อดังของไทย และในปีนี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงขยายความร่วมมือกับสโมสรอีสปอร์ตขวัญใจแฟนเกมชาวไทย ‘Bacon Time’ เพื่อต่อยอดโครงการในซีซั่น 2 ด้วยกิจกรรม ‘BAC Clinic #เบคคลินิก’ สตรีมการกุศลที่จะเปลี่ยนนักกีฬาอีสปอร์ต ‘สายบวก’ มาส่ง ‘พลัง +1’ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีร่วมกันกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ โดยการเล่นเกมโชว์พร้อมเปิดช่วงให้แฟนเกมเข้ามารับคำปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับการเล่นเกม โดยมีบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี รับหน้าที่ ‘หมอ (กาย)’ และ ‘หมอ (ใจ)’ ร่วมให้คำปรึกษาด้านผลกระทบทางกายและจิตใจที่เกิดจากการเล่นเกม พร้อมให้แนวทางการรับมือเพื่อไขทุกปัญหาควบคู่ไปกับการเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตใจที่ดี เพราะมูลนิธิรามาธิบดีฯ ตระหนักถึงปัญหาความเปราะบางของสภาวะทางจิตใจที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ
คุณพรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวว่า “มูลนิธิรามาธิบดีฯ ยึดมั่นในบทบาท ‘สะพานแห่งการให้’ มาตลอดระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษเพื่อเป็นที่พึ่งให้คนไทยเสมอมา ในปีนี้ มูลนิธิฯ สานต่อโครงการ Rama X Gamers “Fun For Fund”+1 ซีซั่น 2 #RamaFunforFund ผ่านความร่วมมือกับสโมสรอีสปอร์ต ‘Bacon Time’ #RamaxBaconTime ตั้งเป้าหมายประชาสัมพันธ์การระดมทุนโครงการก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ไปยังกลุ่มคนเจเนอเรชั่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มแฟนเกมที่ชื่นชอบในกีฬาอีสปอร์ต พร้อมส่งเสริมให้ผู้เล่นได้สนุกสนานและเพลิดเพลินไปพร้อมกับนักกีฬา ควบคู่ไปกับการสร้างเสริมความรอบรู้เรื่องสุขภาพ (Health Literacy) และสุขภาวะที่ดีทางจิตใจ ซึ่งสอดคล้องไปกับพันธกิจหลักของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ในการสร้างสุขภาพที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืน โดย การระดมทุนโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่ เพิ่มโอกาสให้ประชาชนไทยทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพได้อย่างทัดเทียมและทั่วถึง”
คุณสุรศักดิ์ วินิจ Co-Founder และ Vice Present of Talents บริษัท Ampverse Digital กล่าวว่า “ทีมเบคอนไทม์ สโมสรกีฬาอีสปอร์ตชั้นนำของประเทศไทย ภายใต้สังกัดแอมป์เวิร์ส (Ampverse) บริษัทผู้ให้บริการด้านธุรกิจเกมมิงและอีสปอร์ตครบวงจรระดับโลก เบคอนไทม์ #ทีมBaconTime มีความยินดีที่จะร่วมเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมเกมที่ขับเคลื่อนโครงการ Rama X Gamers “Fun For Fund”+1 ซีซั่น 2 #RamaxBaconTime เพื่อระดมทุนสร้างโรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่ โดยส่งนักกีฬาอีสปอร์ตแบบฟลูทีมมาจัดสตรีมการกุศล ‘BAC Clinic #เบคคลินิก’ ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อมอบความสุขและความสนุกให้แฟนคลับได้อิ่มอกอิ่มใจและอิ่มบุญไปพร้อมกัน ตอกย้ำจุดยืนของเบคอนไทม์กับการเป็นแบรนด์อีสปอร์ต-เอนเตอร์เทนเมนต์ ที่ไม่เพียงนำเสนอเนื้อหา การแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตเท่านั้น แต่นำเสนอเนื้อหาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสนุกสนานและสร้างสรรค์ พร้อมเปิดโอกาสให้แฟนคลับเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งที่ดีสู่สังคมร่วมกัน เบคอนไทม์จะยังคงมุ่งมั่นในการส่งเสริมคอมมูนิตี้เกมให้เป็นพื้นที่ของการเล่นเกมที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ความสร้างสรรค์ และเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน”
ภายในงานแถลงข่าวมีการสาธิตรูปแบบกิจกรรมการระดมทุนในปีนี้ นำโดยนักกีฬาอีสปอร์ต หมูหวาน-เมธาสิทธิ์,
กายหงิด-วิรัชสัณห์, เต๋าเอ็ก-วรสิทธิ์, คิมเซนเซย์-ศิชฌนะ, เต้-พสุ และ มาร์คกี้-เจษฏาพันธ์ พร้อมด้วย ‘หมอ (กาย)’ ที่จะมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาทางร่างกาย นพ. ณัฐภัทร ศรีสุวัฒน์ แพทย์ด้านเวชศาสตร์การกีฬา ภาควิชาศัลยกรรมผ่าตัดกระดูกและข้อ และ ‘หมอ (ใจ)’ ที่จะมาให้คำปรึกษาด้านจิตใจ อ.พญ. พิชชาภัสร์ ชินณะราศรี อาจารย์จิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมชวนแคสต์เกมติดตามกิจกรรม ‘BAC Clinic #เบคคลินิก’ ในวันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 ติดจอรอชมไลฟ์ได้ตั้งแต่เวลา 16.00 น. และร่วมบริจาคให้กับโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีสู่สังคมร่วมกัน สามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ยูทูป www.youtube.com/@RamaFoundationTH และ https://www.youtube.com/@BaconTime
โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี จะทำหน้าที่ครอบคลุมใน 3 มิติ ได้แก่ 1) โรงพยาบาลเพื่อให้บริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ 2) โรงเรียนแพทย์เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเข้าสู่ระบบสาธารณสุขไทย และ 3) ศูนย์ศึกษาวิจัยเพื่อต่อยอดแนวทางในการรักษารูปแบบใหม่รวมถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ โดยคาดการณ์ว่าจะเริ่มก่อสร้างในช่วงต้นปี พ.ศ. 2567 และคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการประชาชนภายในปี พ.ศ. 2573 โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ยังคงขาดงบประมาณสำหรับการก่อสร้างประมาณ 6,000 ล้านบาท และงบประมาณสำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยอีกกว่า 3,000 ล้านบาท ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินสมทบทุนให้กับโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ได้ที่ มูลนิธิรามาธิบดีฯ www.ramafoundation.or.th
มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตอกย้ำบทบาทของการเป็นสะพานบุญแห่ง ‘การให้’ สานต่อภารกิจเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลรามาธิบดี เดินหน้าโครงการใหม่ “รามา+1 เพิ่มพื้นที่ บวกความหวัง” ชวนคนไทยร่วมส่งพลังบวก 1 เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับผู้ป่วยและขยายศักยภาพการรักษา พร้อมเปิดตัวภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ชุดใหม่จากเรื่องราวของ “ความหวัง” เดินหน้าระดมทุนให้แก่โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี เพื่อเพิ่มพื้นที่และยกระดับศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนชาวไทย พร้อมผลักดันระบบสาธารณสุขไทยให้เท่าทันสภาวการณ์แห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล
ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์’ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวว่า “เกือบ 60 ปีที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเปิดให้บริการในฐานะโรงพยาบาลที่เปรียบเสมือน ‘ที่พึ่ง’ ของคนไทย พร้อมบทบาทด้านการผลิตบุคลากรทางการแพทย์เข้าสู่ระบบสาธารณสุข และด้านการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์เพื่อการรักษา โดยครอบคลุมทั้งงานวิจัยขั้นพื้นฐานด้านการหาตัวยาใหม่เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและเพิ่มการเข้าถึงตัวยาได้มากขึ้น ไปจนถึงการคิดค้นแนวทางการรักษารูปแบบใหม่สู่การเป็นต้นแบบของการรักษาโดยเฉพาะการรักษาโรคที่มีความซับซ้อน โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ถือเป็นโครงการที่ไม่เพียงเพิ่มพื้นที่ในการรักษาที่รองรับนวัตกรรมทางการแพทย์ล้ำสมัยเท่านั้น แต่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและสนับสนุนพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีอย่างครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อผลักดันระบบการแพทย์ไทยให้ก้าวหน้าต่อไป”
รศ.นพ.ชูศักดิ์ กิจคุณาเสถียร รองคณบดีฝ่ายนโยบายและแผน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวเสริมว่า “โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี จะเอื้อประโยชน์ต่อการบูรณาการและสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อผลักดันการสร้างสรรค์และต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถเพิ่มศักยภาพทางการรักษาต่อไปในอนาคต โดยจะมีการนำนวัตกรรมทางการแพทย์หลากหลายประเภทเข้ามาให้บริการทางการแพทย์รวมถึงพัฒนาด้านระบบภายในโรงพยาบาลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์ที่ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลในการบันทึกข้อมูลของผู้ป่วยและการจัดการข้อมูลทางการแพทย์ เครื่องมือช่วยในการรักษาทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial intelligence) เช่น การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเพื่อช่วยลดระยะเวลาการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ลงและลดระยะเวลาของการพักฟื้นของผู้ป่วย รวมถึงลดอาการบาดเจ็บและลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด นอกจากนี้ โรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่ยังให้ความสำคัญกับการลดระยะเวลาในการรอรับบริการของผู้ป่วย เช่น การใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการจ่ายยา”
คุณพรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวว่า “มูลนิธิรามาธิบดีฯ เดินหน้าผลักดันความก้าวหน้าทางการแพทย์ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง พร้อมเปิดตัวโครงการ “รามา+1 เพิ่มพื้นที่ บวกความหวัง” และภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ชุดใหม่จากเรื่องราวของ “ความหวัง” เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการช่วยระดมทุนให้แก่โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญในปีนี้และอย่างน้อยอีก 7 ปีข้างหน้า การสื่อสารภายใต้โครงการ “รามา+1 เพิ่ม
พื้นที่ บวกความหวัง” สะท้อนให้เห็นว่า มูลนิธิรามาธิบดีฯ นั้นตระหนักถึงพลังของการให้ และขอบคุณทุกน้ำใจที่ส่งต่อความช่วยเหลือและสร้างความหวังร่วมกันมาโดยตลอด จึงขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมเป็นพลังบวกหนึ่งในการสร้างโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ซึ่งอาคารแห่งนี้จะดูแลผู้ป่วยที่ใช้สิทธิรักษาเบิกจ่ายประกันสังคม และสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ”
ภายในงานแถลงข่าว ฐิสา-วริฏฐิสา ลิ้มธรรมมหิศร ตัวแทนนักแสดงจิตอาสาร่วมแบ่งปันมุมมองในเรื่อง “ความหวัง” พร้อมเชิญชวนแฟนคลับร่วมซื้อเสื้อยืดสุขใจ เพื่อระดมทุนเข้าโครงการฯ และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคตร่วมกัน พร้อมด้วยการเปิดตัวกิจกรรม “#A4SpaceChallenge” ชวนทำคอนเทนต์ที่สะท้อนถึงพื้นที่ที่มีอยู่จำกัดในอาคารเก่าและแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นการก่อสร้างอาคารใหม่ของโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยวิธีการเล่นคือ จับกลุ่ม 4 คนมายืนด้วยกันบนกระดาษ A4 ให้ครบ 10 วินาที และร่วมกันท้าต่อเพื่อน ๆ ให้เล่นชาเลนจ์นี้ต่อ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เชิญชวนบริจาคเงินให้โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี โดยทุกคนสามารถร่วมทำชาเลนจ์แล้วโพสต์รูปหรือคลิปลงในโซเชียลมีเดียพร้อมแทค #A4SpaceChallenge ได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ออกแบบภายใต้แนวคิด “เข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจทุก(ข์)คน” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการแก้ไขปัญหาด้านความแออัดของพื้นที่อาคารเดิม โดยตั้งเป้าหมายการระดมทุนเพิ่มเติมจากการสนับสนุนของภาครัฐบาลรวมจำนวน 9,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ดำเนินการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลและการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2573
มูลนิธิรามาธิบดีฯ ขอเชิญชวนประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นพลังบวกหนึ่งกับโครงการ “รามา+1 เพิ่มพื้นที่ บวกความหวัง” ด้วยการบริจาคเงินสมทบทุนก่อสร้างโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี
มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดตัวโครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มุ่งมั่นสนับสนุนการศึกษาแก่คนพิการเพื่อผลิตบัณฑิตกลุ่มวิชาชีพครู หวังยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการในสังคมไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดี สร้างอาชีพ และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมร่วมกับ บริษัท ซีเนริโอ จำกัด ชวนผู้ใจบุญ ชมละครเวทีรอบการกุศล “แฟนฉัน เดอะมิวสิคัล” ในวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 จัดแสดง ณ เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ รายได้ร่วมสมทบทุนเข้าโครงการทุนสถาบันราชสุดา
สถาบันราชสุดา หรือเดิมทีมีชื่อว่า วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำแห่งแรกในประเทศไทย เป็นสถาบันที่ให้การสนับสนุนทางด้านการศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการ และศูนย์กลางเครือข่าย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในประชาคมอาเซียน โดยเปิดทำการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 นับเป็นเวลากว่า 32 ปีแล้วที่สถาบันแห่งนี้ให้การศึกษาและยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการไทยกว่าหลายพันคน และในปี พ.ศ. 2566 นี้ วิทยาลัยราชสุดาและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ทำการควบรวมกัน เพื่อร่วมกันทำภารกิจส่งเสริมการศึกษาและสร้างพื้นที่สำหรับคนพิการให้เกิดสังคมแห่งการให้ที่ไม่ทอดทิ้งกัน
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “เหตุผลสำคัญของการควบรวมวิทยาลัยราชสุดาและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นโครงการสถาบันราชสุดาแห่งนี้ เพื่อร่วมกันทำภารกิจสำหรับคนพิการให้เกิดสังคมแห่งการให้ที่ไม่ทอดทิ้งกัน สนับสนุนให้เป็นสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาบุคลากรกลุ่มวิชาชีพครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการสอนคนพิการที่มีคุณภาพให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย และ หวังกระจายครูสอนคนพิการไปยังสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดความรู้ ส่งเสริมศักยภาพให้คนพิการมีอาชีพที่มั่นคง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สืบเนื่องจากการควบรวมกันนี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงได้มีโอกาสเป็นสะพานบุญแห่งการให้เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายจำเป็นต่าง ๆ ของสถาบันราชสุดา เพื่อให้สถาบันนำไปสานต่อภารกิจต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”
สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดสอนทั้งหมด 6 หลักสูตร แบ่งเป็น
ระดับปริญญาตรี เปิดสำหรับนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และนักศึกษาที่มีการได้ยิน
1. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาหูหนวกศึกษา วิชาเอกการออกแบบเชิงพาณิชย์
2. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาหูหนวกศึกษา วิชาเอกล่ามภาษามือไทย
3. หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาของคนหูหนวก
ระดับปริญญาโท และเอก เปิดสำหรับนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเห็น นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว นักศึกษาทั่วไป
4. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
5. หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ
6. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ด้าน อ.นพ.สมเกียรติ ลีละศิธร ผู้อำนวยการ สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า “กลุ่มนักศึกษาหลักของสถาบันราชสุดาคือกลุ่มคนพิการทางการได้ยิน รวมถึงคนทั่วไปที่สนใจเข้ามาเรียนร่วมในหลักสูตร ศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ที่เมื่อจบไปแล้วสามารถเป็นครูสอนคนพิการ หรือประกอบอาชีพอื่น ๆ ได้ตามศักยภาพ
นับตั้งแต่เปิดสถาบันราชสุดาแห่งนี้ได้ผลิตบัณฑิตไปแล้วกว่า 692 ราย ปัจจุบันมีจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 และ 3 ทั้งสิ้น 153 ราย แบ่งเป็น นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จำนวน 84 ราย นักศึกษาที่มีการได้ยิน 69 ราย และคาดว่าจะมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 2567 จำนวน 54 ราย
ในส่วนของระดับบัณฑิตศึกษา แบ่งเป็นระดับปริญญาโท 49 คน คาดว่าจะเสร็จการศึกษาปี 2566 จำนวน 7 ราย และระดับปริญญาเอก 24 ราย จะสำเร็จการศึกษาปี 2566 จำนวน 8 ราย โดยระดับนี้มีนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเห็น นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว รวมถึงนักศึกษาทั่วไป
ปัจจุบันมีคนพิการจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งสาเหตุเหล่านั้นมีทั้งความไม่พร้อมของสถานศึกษาในการรองรับคนพิการ, สภาพแวดล้อมในครอบครัว, ปัจจัยด้านการเดินทาง รวมถึงสถานะทางการเงิน ปัญหาเหล่านี้จึงยิ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นในสังคมไทย การมีอยู่ของสถาบันราชสุดาจึงถือเป็นเรื่องสำคัญในฐานะสถาบันการศึกษาที่จะช่วยสร้างโอกาสให้คนพิการได้เข้าถึงการศึกษา ผ่านการผลิตบัณฑิต และบัณฑิตเหล่านั้นไปส่งต่อความรู้ให้แก่คนพิการทางการได้ยินต่อไป”
นางสาวพรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวเสริมว่า “การระดมทุนในครั้งนี้ นับเป็นการให้ที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างแน่นอน เพราะการศึกษานั้นเป็นรากฐานสำคัญของทุกคน ไม่แบ่งแยกด้วยสภาพร่างกาย เพศ อายุ ดังนั้น มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงมีความภูมิใจและดีใจเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอด พันธกิจของสถาบันราชสุดาไปยังสังคมวงกว้าง และเป็นสะพานแห่งการให้ที่รับน้ำใจของผู้ที่อยากช่วยให้คนพิการได้มีโอกาสทางการศึกษา อันจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการต่อไปในอนาคต และสร้างสรรค์สังคมที่พวกเราทุกคนสามารถได้ใช้ศักยภาพและความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มที่”
“ในการเปิดตัว โครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ครั้งนี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท ซีเนริโอ จำกัด ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการ “ให้” โอกาสทางการศึกษาแก่คนพิการในสังคมไทยจัดรอบการแสดงละครเวทีการกุศล “แฟนฉัน เดอะมิวสิคัล” ขึ้นในวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2566 เวลา 19:30 น. โดยรายได้จากการจำหน่ายบัตรของรอบนี้จะถูกสมทบทุนให้แก่โครงการทุนสถาบันราชสุดา เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการต่อไป อีกทั้งยังได้เชิญชวนตัวแทนนักศึกษาของสถาบันราชสุดามาร่วมชมการแสดงในรอบนี้อีกด้วย” นางสาวพรรณสิรี กล่าว ทิ้งท้าย
โครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นับเป็นภารกิจครั้งใหม่ของมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อช่วยสร้างพื้นที่แห่งโอกาสทางการศึกษาให้คนพิการ รวมถึงพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านคนพิการ และการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาศักยภาพของคนพิการนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการในประเทศไทย เพราะการมอบการศึกษาคือหนทางที่จะช่วยสร้างสังคมที่ทุกคนมีคุณค่า ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวนประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินสมทบทุนให้กับโครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ที่ มูลนิธิรามาธิบดีฯwww.ramafoundation.or.th
ตลอดระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีก่อตั้งขึ้นในฐานะโรงเรียนแพทย์ ควบคู่ไปกับการเปิดให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ป่วยนอกที่เข้าใช้บริการซึ่งมีจำนวนกว่า 2.4 ล้านครั้งต่อปี ด้วยโครงสร้างอาคารหลักที่มีอายุ 58 ปี นี้มีข้อจำกัดไม่เอื้อต่อการปรับปรุงหรือพัฒนางานระบบต่าง ๆ ที่รองรับเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย อีกทั้งยังมีพื้นที่จำกัดในการขยับขยายพื้นที่เพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยในสถานการณ์ที่ ไม่แน่นอนเช่นในปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและมูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมสานต่อภารกิจแห่งการให้ผ่านโครงการก่อสร้างอาคาร โรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับการรักษาผู้ป่วย พร้อมยกระดับวงการแพทย์และสาธารณสุขไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “เป็นระยะเวลา 58 ปี อาคารหลักของโรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งนี้เปิดให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนทั่วประเทศ จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่องค์ความรู้และนวัตกรรมทางการแพทย์พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดและเพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วย รวมถึงการเตรียมความพร้อมรองรับโรคที่อุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นเหตุผลให้เพิ่มพื้นที่โรงพยาบาล ให้มีความพร้อมด้านการรองรับเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อรองรับผู้ป่วยให้เพียงพอต่อความต้องการ โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี มิเพียงแต่เป็นสถานที่ให้การบริการทางการแพทย์เท่านั้น เนื่องจากโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นห้องเรียนและแหล่งค้นคว้าวิจัยที่ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะแพทย์ในระดับหลังปริญญา (Post-graduation)
เพื่อสร้างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคที่มีความซับซ้อน และเป็นย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) ศูนย์รวมนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจากการผนึกกำลังกับเครือข่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (MIND CENTER) พื้นที่ Co- Working Space และ Clinical Research Center เป็นต้น เพื่อ ร่วมพัฒนาต่อยอดในด้านสาธารณสุขของประเทศให้มีศักยภาพในระดับสากล สามารถแข่งขันได้ และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community)”
อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่นี้ จะมีความสูง 25 ชั้นและมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ส่วนหนึ่งของด้านหน้าองค์การเภสัชกรรม มีขนาด 15 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา และมีพื้นที่ใช้สอยกว่า 278,000 ตารางเมตร ซึ่งมากกว่าพื้นที่ใช้สอยของอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์เกือบ 3 เท่า อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่นี้สามารถรองรับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานได้อย่างเต็มศักยภาพเทียบเท่าอาคารเดิม แต่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรักษา โดยเฉพาะโรคที่มีความซับซ้อนซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อเป็นต้นแบบทางการรักษาให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ ต่อไป
ศ.ดร.พญ.อติพร อิงค์สาธิต รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “ในด้านศักยภาพของการบริการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นนั้นผ่านการออกแบบโดยคำนึงถึงแนวคิด “เข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจทุก(ข์)คน” เพื่อให้บริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุด อาทิ หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก (OPD) จำนวน 4 ชั้น ห้องตรวจจำนวน 325 ห้อง ที่คำนึงถึง การส่งเสริมประสบการณ์ที่ดีของผู้ป่วยให้มีความสะดวกสบายใน การเข้ารับบริการ พร้อมศูนย์ “Imagine Center” ที่บริการตรวจด้วยเครื่อง X-ray, เครื่อง Ultrasound เครื่อง CT Scan และเครื่อง MRI ให้บริการแบบ 24 ชั่วโมง เพื่อลดระยะเวลารอคอยการตรวจผู้ป่วย ในจำนวน 826 เตียง ถูกออกแบบเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัว ลดความแออัด และควบคุมหรือลดการแพร่เชื้อได้ดียิ่งขึ้น ห้อง ICU จำนวน 240 เตียง จากเดิม 100 เตียง ซึ่งออกแบบตามแนวคิด “Healing Environment” ให้ผู้ป่วยมองเห็นสภาพแวดล้อมภายนอก ช่วยเสริมสร้างกำลังใจและกระตุ้นให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเจ็บป่วยในสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุ ห้องผ่าตัด (OR) 52 ห้อง รองรับการผ่าตัดโรคซับซ้อนพร้อมนวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด และห้องสวนหลอดเลือดหัวใจ (Cath Lab) รองรับผู้ป่วยวิกฤตที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะ เป็นต้น สามารถให้บริการ ผู้ป่วยนอกได้ถึง 2.5 ล้านครั้งต่อปี และให้บริการผู้ป่วยในได้ถึง 55,000 คนต่อปี”
โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธีให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพและยกระดับคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ให้มีมาตรฐานพร้อมรองรับสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงและ ความไม่แน่นอนของโรค ทั้งในปัจจุบันและอนาคต อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จและ เปิดให้บริการภายในปี พ.ศ 2571 แม้จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐแต่ยังคงขาดงบประมาณด้านการก่อสร้างอาคารประมาณ 3,000 ล้านบาท และการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ทันสมัยที่มีมูลค่าสูงประมาณ 6,000 ล้านบาท
มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงขอเชิญชวนประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นผู้ให้ด้วยการบริจาคเงินสมทบทุน การให้ครั้งนี้จะช่วยเพิ่มพื้นที่ และเพิ่มโอกาสในการรักษาทุกชีวิต เพราะการให้ชีวิตเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ รับชมวิดีโอแนะนำโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ได้ที่ (คลิก) เฟซบุ๊ก และ ยูทูป มูลนิธิรามาธิบดีฯ