สององค์กรผู้ให้บริการด้านการเงินชั้นนำ ธนาคาร CIMB THAI ผู้นำหุ้นกู้ตลาดรอง เจ้าของรางวัล Best Bond Dealer และ บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ผู้นำด้านการให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัล ร่วมเปิดช่องทางลงทุนหุ้นกู้ตลาดรอง (Secondary Bond) ผ่านแอปทรูมันนี่ เพื่อมอบโอกาสให้คนไทยและผู้ใช้กว่า 34 ล้านคน เข้าถึงการลงทุนในหุ้นกู้คุณภาพดีเพื่อสร้างการเติบโตทางการเงินได้ง่ายกว่าที่เคย เพราะไม่ต้องรอ ไม่ต้องจองล่วงหน้าเหมือนหุ้นกู้ตลาดแรก และเป็นอีกทางเลือกของการออมเพื่อรับผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากประจำ
พอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า “เราต้องการให้เกิด Digital Ecosystem ตามวิสัยทัศน์ของการเป็น ‘a Digital – led Bank with ASEAN Reach: ธนาคารอาเซียนขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล’ เพื่อส่งมอบบริการอันเป็นเลิศให้ลูกค้า พัฒนาธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โดยนำเอาจุดแข็งด้านความเชี่ยวชาญธุรกิจ Wealth Management ของธนาคาร เดินหน้าผนึกกำลังกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่าง บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำด้านการให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัล ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการใช้เทคโนโลยี เปิดช่องทางใหม่ให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงการลงทุนหุ้นกู้คุณภาพดีที่ CIMB THAI คัดสรรมาแล้ว ได้ 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน ผ่านแอปทรูมันนี่ จากทุกที่ ทุกเวลา ทั่วโลก”
นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด
ธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันทรูมันนี่ เปิดเผยว่า “แอสเซนด์ มันนี่ และ ทรูมันนี่ มีพันธกิจในการมอบการเข้าถึงบริการทางการเงินและยกระดับชีวิตให้กับผู้คนผ่านการสร้างนวัตกรรมทางการเงิน โดยการจับมือกับ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เพื่อเปิดให้ผู้ใช้สามารถซื้อ ‘หุ้นกู้ตลาดรอง’ (Secondary Bond) ผ่านแอปทรูมันนี่ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการมอบความสะดวกสบายและช่วยขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงการลงทุน เนื่องจากปกติแล้ว ‘หุ้นกู้ตลาดแรก’ หรือที่เรียกว่า ‘หุ้นกู้มือหนึ่ง’ นั้นมีจำนวนไม่มากและมีขั้นตอนในการติดต่อขอจองซื้อที่ยุ่งยาก ทำให้ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้ ทาง ทรูมันนี่ จึงร่วมกับ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ทำให้การลงทุนในหุ้นกู้เป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้นผ่านแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีของเรา พร้อมส่งเสริมให้นักลงทุนรายย่อยที่อาจยังไม่คุ้นเคยกับการลงทุนในหุ้นกู้ตลาดรองได้เข้ามาศึกษาและเลือกลงทุน เพราะเป็นทางเลือกที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำ โดยหุ้นกู้ตลาดรองสามารถสร้างผลตอบแทนสูงถึง 5% ต่อปี และในครั้งนี้ ทรูมันนี่ จับมือกับธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องของหุ้นกู้ตลาดรอง มีหุ้นกู้ตลาดรองให้เลือกหลากหลาย อัปเดตใหม่ทุกสัปดาห์ และซื้อได้ทุกวันผ่านแอปทรูมันนี่ นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังมั่นใจอุ่นใจได้ในความปลอดภัยเพราะเป็นการร่วมมือกับสถาบันการเงินชั้นนำอย่าง ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย เพื่อคัดสรรหุ้นกู้ Investment Grade คุณภาพดี เหมาะสำหรับนักลงทุนมืออาชีพ และนักลงทุนหน้าใหม่ และธนาคารมีเกณฑ์ในพิจารณาเลือกซื้อหุ้นกู้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ต้องเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานธุรกิจแข็งแกร่ง และแพลตฟอร์มทรูมันนี่ของเราที่มีระบบความปลอดภัยที่ใช้เอไอในการ ตรวจ จับ หยุด ทุกความเสี่ยงและปกป้องบัญชีลูกค้า”
เพา จาตกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบริหารเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “การบริหารเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ลูกค้า คือเป้าหมายสำคัญของเรา เรามุ่งมั่นผลักดันให้ ‘ตราสารหนี้ตลาดรอง (Secondary Bond)’ เติบโตขึ้น สร้างสภาพคล่องให้สามารถซื้อ – ขายเปลี่ยนมือได้ตลอด เพื่อตอบโจทย์ของนักลงทุนทุกกลุ่ม ทั้งสถาบัน นิติบุคคล รวมถึงนักลงทุนรายย่อย
การร่วมมือครั้งนี้กับบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด สอดรับกับกลยุทธ์ของเรา ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ ‘ตราสารหนี้ตลาดรอง (Secondary Bond)’ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราเป็นผู้นำตลาดในปัจจุบัน สะท้อนจากรางวัลใหญ่ ‘Best Bond Dealer: ธนาคารที่เป็นที่ยอมรับในความสามารถในการให้บริการกับคู่ค้าในตลาดรองที่ยอดเยี่ยม’ และรางวัล ‘Most Active Bank in Corporate Bond Secondary Market: ธนาคารที่มีมูลค่าซื้อ – ขายหุ้นกู้เอกชนตลาดรองสูงที่สุด’ จาก ThaiBMA ติดต่อกัน 5 ปีซ้อน (2019 – 2023) ซึ่งทั้ง 2 รางวัลเป็นเครื่องการันตีว่า เรามี “พันธบัตรและหุ้นกู้ตลาดรองคุณภาพดี” พร้อมรองรับความต้องการของนักลงทุนตลอดปี การทำงานร่วมกันกับพันธมิตรที่แข็งแกร่ง จะช่วยเสริมให้คนไทยและผู้ใช้งานทรูมันนี่ที่มีไลฟ์สไตล์ดิจิทัล 34 ล้านคน สามารถเข้าถึงโอกาสบริการทางการเงิน ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว สามารถจัดสรรเงินออม มาลงทุนพันธบัตรและหุ้นกู้คุณภาพดีได้ทุกวัน สร้างโอกาสให้กับนักลงทุนได้เติบโตอย่างมั่งคั่ง และมั่นคง”
ภูดินันท์ เศรษฐนันท์ ผู้บริหารพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงิน ธุรกิจผลิตภัณฑ์การเงินและที่ปรึกษา Equity Derivatives และผู้บริหารการขายลูกค้าบุคคลธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เสริมว่า “ ตลาดตราสารหนี้ปัจจุบันมีมูลค่าการซื้อ – ขายอยู่ที่ 5,921,913 ล้านบาท (ข้อมูล: มูลค่าธุรกรรมซื้อขายตราสารหนี้ทุกประเภทที่มีอายุมากกว่า 1 ปี มกราคม – กันยายน 2567 จากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ) ซึ่งแม้ว่าจะมีลูกค้าบุคคลเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดรองเพิ่มขึ้น และมีมูลค่าซื้อขายมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนแตะระดับ 37,089 ล้านบาท ในปัจจุบัน แต่ก็คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อ – ขายทั้งตลาด ในขณะที่หันกลับมาที่ตลาดหุ้น กลับพบว่า ลูกค้าบุคคลมีสัดส่วนสูงถึง 30% นั่นหมายถึง ‘โอกาส’ และเราเองในฐานะผู้นำ รวมถึงเป็นผู้บุกเบิกตราสารหนี้ตลาดรองของลูกค้าบุคคล เรามุ่งมั่นผลักดันให้ลูกค้าบุคคลเข้าถึงโอกาสของการลงทุนในตราสารหนี้ตลาดรอง เพื่อเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญที่ทำให้ตลาดตราสารหนี้นี้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และมีสภาพคล่องทัดเทียมตลาดหุ้น เพื่อให้เป็นอีกแหล่งระดมทุนที่สำคัญของประเทศ
ซึ่งการร่วมมือกับบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ที่มีบริการหลากหลายครอบคลุมไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของลูกค้าในครั้งนี้ คือหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ ที่ทำให้เราเข้าถึงลูกค้าได้ในวงกว้าง ในขณะเดียวกันก็สามารถพาลูกค้าผู้ใช้งานทรูมันนี่ เข้าถึงการลงทุนตราสารหนี้ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้หลังเฟดลดดอกเบี้ย ซึ่งเปิดโอกาสให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดดอกเบี้ยลงเช่นกัน จึงเป็นจังหวะของการลงทุนพันธบัตรและหุ้นกู้คุณภาพดีเข้าพอร์ต เพื่อล็อคผลตอบแทน สร้าง passive income โดยนักออมเงินหรือนักลงทุนที่สนใจสามารถลงทุนหุ้นกู้ตลาดรองได้ทั้งแอปพลิเคชันทรูมันนี่และแอปพลิเคชั่น CIMB THAI
นอกจากนี้ CIMB THAI ยังเตรียมจัดกิจกรรมดี ๆ ร่วมกับพันธมิตร ที่จะให้ความรู้กับนักลงทุน พร้อมกับการสร้างความสุขและสนุกสนาน เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่และส่งเสริมการสร้างความมั่งคั่งผ่านผลิตภัณฑ์หุ้นกู้คุณภาพดี”
หลังหุ้นกู้ WEH ครั้งที่ 1/2567 เสนอขายวันแรก ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นจำนวนมาก จากความเชื่อมั่นในการเป็นผู้นำธุรกิจพลังงานลมที่มีกำลังการผลิตติดตั้งมากที่สุดในประเทศไทย โดยหุ้นกู้ครั้งนี้มีอายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.75% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ มูลค่าเสนอขายไม่เกิน 400 ล้านบาท และ มีหุ้นกู้สำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มเติมมูลค่ารวมไม่เกิน 100 ล้านบาท มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 500 ล้านบาท เพื่อนำเงินที่ได้ไปลงทุนเตรียมขยายกิจการ และลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตจาก 717 เมกะวัตต์ เป็น 1,500 เมกะวัตต์ ภายใน 5ปี สามารถจองซื้อได้ถึงวันที่ 15 ก.ค. 67 ผ่านบล. BYD, DAOL, GBS, MST, PST, PI, TRINITY และ UOBKH
KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) ชี้ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2567 ยังเผชิญกับความ ไม่แน่นอนต่อเนื่อง ตลาดลงทุนยังอยู่กับความผันผวน ในขณะเดียวกันสินทรัพย์การลงทุนดั้งเดิมไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามที่นักลงทุนคาดหวัง
จึงเปิดกลยุทธ์สำคัญผ่านการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดที่ช่วยกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวน สร้างเสถียรภาพ เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน และโอกาสการลงทุนในธุรกิจชั้นนำแห่งอนาคต จากสถิติผลตอบแทนย้อนหลัง 3-10 ปี พบว่าหุ้นนอกตลาด (Private Equity) ให้ผลตอบแทนเหนือกว่าหุ้นในตลาด (Public Market) ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา KBank Private Banking ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์สินทรัพย์นอกตลาดไปแล้ว 10 กองทุน จากการจับมือกับพันธมิตรชั้นนำระดับโลก และในปีนี้ได้วาง 3 กลยุทธ์หลักสำหรับพอร์ตสินทรัพย์นอกตลาดเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้กับลูกค้าสินทรัพย์สูงของธนาคาร
ดร.ตรีพล ภูมิวสนะ Senior Managing Director, Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “ภาพรวมตลาดการลงทุนทั่วโลกในปี 2567 ยังคงผันผวน จากความไม่แน่นอนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก การเลือกตั้งในหลายประเทศทั่วโลก เช่น รัสเซีย อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ต่างๆ ไปจนถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในฝั่งยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ดั้งเดิมต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น เห็นได้จากในปี 2566 ที่ผ่านมา ผลตอบแทนในเกือบทุกสินทรัพย์หลักลดลงแรง เช่น ดัชนี MSCI World ที่ปรับตัวลดลงกว่า 20% แม้หลายฝ่ายมองแนวโน้มว่าตลาดทุนมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นในปีนี้ แต่ KBank Private Banking มองว่าความผันผวนยังคงอยู่จากปัจจัยความเสี่ยงที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นในฐานะผู้ให้บริการบริหารความมั่งคั่งและผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนมองว่านักลงทุนจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การลงทุน เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงและลดความผันผวนโดยรวม สร้างเสถียรภาพและเพิ่มความมั่นคงให้กับพอร์ต เพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทน และโอกาสลงทุนในบริษัทที่อาจพลิกโฉมธุรกิจและเป็น เมกะเทรนด์ในอนาคต ผ่านการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด”
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา KBank Private Banking ได้พัฒนาและนำเสนอโอกาสการลงทุนใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการที่แตกต่างของลูกค้า ตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้และระยะเวลาการลงทุนเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด โดยได้นำเสนอไปแล้ว 10 กองทุน ประกอบด้วย 6 กองทุนหุ้นนอกตลาด (Private Equity Fund) ทั่วโลก จีน และไทย 3 กองทุนอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด (Private Real Estate Fund) ทั่วโลก และไทย และ 1 กองทุนหนี้นอกตลาด (Private Credit Fund) ซึ่งผลการดำเนินงานของกองทุนที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดั้งเดิม เช่น กองทุนหุ้นนอกตลาดทั่วโลก (K-GPE19A-UI) ให้ผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุนที่ 58.67%1 ในขณะที่ กองทุนหุ้นนอกตลาดไทย (LH-THAIPE1UI) ที่ลงทุนกับนารา ไทย คูซีน (NARA Thai Cuisine) เครือร้านอาหารไทยชั้นนำก็สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุนได้ถึงกว่า 20% 2(ตั้งแต่จัดตั้งกองทุน) ซึ่งเมื่อเทียบกับเครือร้านอาหารไทยที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่ขาดทุนกว่า 25% 3 ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ จากสถิติ ย้อนหลัง 10 ปี 5 ปี และ 3 ปี พบว่าการลงทุนในหุ้นนอกตลาดสามารถให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นในตลาดได้ถึง +5% +7% และ +9% ตามลำดับ4
ในปี 2567 KBank Private Banking วางแผนนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำเสนอ 3 กลยุทธ์สำคัญในการบริหารจัดการพอร์ตลงทุนในส่วนที่เป็นสินทรัพย์นอกตลาดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนให้ดีขึ้น มีตัวเลือกดีขึ้น และยังช่วยลดข้อจำกัดเรื่องสภาพคล่องจากการลงทุนในกองทุนสินทรัพย์นอกตลาดแบบดั้งเดิม ได้แก่
1) กลยุทธ์การจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite ที่จะจัดแบ่งส่วนหลักและส่วนเสริมเพื่อกระจายความเสี่ยง และลดความผันผวนผ่านการลงทุนระยะยาว ขณะเดียวกันยังสามารถเพิ่มโอกาสการสร้างผลตอบแทนจากการจับจังหวะลงทุนตามธีมและเมกะเทรนด์ที่กำลังเติบโตขึ้น โดยสัดส่วนหลักหรือ Core จะคิดเป็น 60-80% ของพอร์ตสินทรัพย์นอกตลาดจะเป็นกองทุนสินทรัพย์นอกตลาดกึ่งสภาพคล่อง ที่ลงทุนเพิ่มได้ทุกเดือน ขายหน่วยลงทุนได้เป็นรายไตรมาส และมีล็อกเงินลงทุนเพียง 12-18 เดือน ซึ่งการได้พาร์ทเนอร์กับผู้จัดการกองทุนระดับโลก อย่าง EQT และ Apollo5 เป็นอีกพัฒนาการสำคัญที่เราได้นำเสนอให้กับลูกค้าส่วนบุคคลลงทุนได้ และผลิตภัณฑ์อย่างกองทุนสินทรัพย์นอกตลาดกึ่งสภาพคล่องก็ถือเป็นวิวัฒนาการสำคัญที่ช่วยให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่สัดส่วนเสริมหรือ Satellite คิดเป็น 20-40% ของพอร์ตสินทรัพย์นอกตลาด จะเป็นกองทุนหุ้นนอกตลาดตามธีมต่างๆ เช่น หุ้นนอกตลาดทั่วโลก หุ้นนอกตลาดจีน หุ้นนอกตลาดไทย หุ้นเทคนอกตลาด หุ้นอสังหาฯ นอกตลาดทั่วโลก หุ้นอสังหานอกตลาดไทย รวมถึงหนี้นอกตลาด เป็นต้น
2) ออกแบบพอร์ตการลงทุนที่สร้างให้เฉพาะคุณ (Tailor-made Portfolio Management) โดยสามารถบริหารสัดส่วนพอร์ตลงทุนตามเป้าหมายของแต่ละบุคคลได้อย่างยืดหยุ่น เช่น เมื่อนักลงทุนต้องการสภาพคล่องสูง สามารถเลือกลงทุนในกองทุนสินทรัพย์นอกตลาดกึ่งสภาพคล่องได้ทั้ง 100%
3) การเดินหน้าผนึกกำลังกับพันธมิตรระดับโลกที่ดีที่สุดอย่างไม่หยุดยั้ง (Partner with the Best) เพื่อพัฒนาการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการมาตรฐานระดับโลกให้แก่นักลงทุนไทย ล่าสุดได้ร่วมมือกับบริษัทบริหารสินทรัพย์นอกตลาด ชั้นนำอย่าง EQT ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สามารถระดมทุนการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด ได้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก จากยอดระดมทุนมูลค่าหนึ่งแสนสองพันล้านเหรียญสหรัฐฯ6 ในขณะที่ Apollo ที่เป็นบริษัทชั้นนำด้านการจัดการสินทรัพย์ทางเลือกที่มียอดการปล่อยสินเชื่อนอกตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งมีมูลค่ารวมสี่แสนหกหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ7 นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะร่วมมือกับ Goldman Sachs เพื่อร่วมสร้าง Ecosystem การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
“ท่ามกลางความผันผวนสูงที่เกิดขึ้นในตลาดทุนทั่วโลก ทำให้โอกาสการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก อย่าง สินทรัพย์นอกตลาดน่าสนใจยิ่งขึ้น เพราะไม่ว่าจะกองทุนหุ้นนอกตลาด กองทุนอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด และกองทุนอื่นๆ KBank Private Banking ได้ร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกในการคัดสรรบริษัทที่มีศักยภาพ และธุรกิจมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุน และช่วยให้นักลงทุนสามารถจัดพอร์ตการลงทุนที่เพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนได้ในทุกภาวะเศรษฐกิจ” ดร.ตรีพล กล่าวปิดท้าย
ปีใหม่เป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับนักลงทุนในการประเมินกลยุทธ์การลงทุนของตนเองใหม่ โดยพิจารณาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เหตุผลหลักสามประการที่ทำให้นักลงทุนรู้สึกถึงปัจจัยบวก ประการแรกคืออัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ประการที่สองสืบเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่จะลดลง ธนาคารกลางอาจลดอัตราดอกเบี้ยประมาณกลางปี สุดท้ายนี้คือความเป็นไปได้ที่จะไม่มีภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนต้องระมัดระวัง อาทิ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอัตราเงินเฟ้อ ข้อกังวลอีกประการหนึ่งคือธนาคารกลางอาจยังคงอัตราดอกเบี้ยที่สูงเอาไว้ เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ ปัจจัยเหล่านี้อาจนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง
สำหรับประเทศไทย เศรษฐกิจไทยคาดว่าน่าจะเติบโตร้อยละ 2.8 ในปีนี้ โดยมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการท่องเที่ยว รัฐบาลตั้งเป้าที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 40 ล้านคน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ 3.5 ล้านล้านบาทภายในปี 2567 แม้จะมีความท้าทายจากปัจจัยภายนอกอย่างต่อเนื่อง เช่น อัตราเงินเฟ้อที่สูง และความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงจากต่างประเทศซึ่งนักลงทุนจะต้องจับตาดูอย่างระมัดระวัง
นายกิดอน เจอโรม เคสเซล ได้แบ่งปันกลยุทธ์การลงทุนเพื่อให้นักลงทุนรับมือกับปีที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอีกครั้ง “ปี 2567 เป็นปีที่มีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยเสี่ยง สิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุนคือต้องคำนึงถึงวงจรของตลาด เหตุการณ์การเมืองและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ยูโอบีแนะนำให้กระจายพอร์ตการลงทุนเพื่อลดความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นและมองหารายได้ที่มั่นคงด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย” เขากล่าว
หลักการลงทุนโดยคำนึงถึงความเสี่ยงของธนาคารยูโอบี (Risk-First Approach) เน้นการลงทุนพื้นฐานเป็นรากฐานสำหรับการวางแผนความมั่งคั่ง (Core Allocation) กลยุทธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องความมั่งคั่งของนักลงทุนด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่มีความผันผวนต่ำ และสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความต้องการทางการเงินในระยะยาว ก่อนที่จะเพิ่มพูนความมั่งคั่งผ่าน Tactical Allocation ลงทุนโดยดูภาวะตลาดเพื่อคว้าโอกาสทางการตลาดที่เกิดขึ้น
กลยุทธ์การลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ (Multi-asset) และตราสารหนี้ระดับลงทุน (Investment grade) เป็นองค์ประกอบสำคัญของ Core Allocation เพราะมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ช่วยลดความเสี่ยง และมีศักยภาพในการจ่ายเงินปันผลเป็นประจำทุกเดือน การลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายช่วยให้นักลงทุนมั่นใจถึงผลตอบแทนที่สม่ำเสมอตลอดระยะเวลาโดยมีความผันผวนน้อยที่สุด เราแนะนำการลงทุน (tactical call) ในตราสารหนี้ที่มีระยะเวลายาวขึ้น (duration plays) ซึ่งเป็นโอกาสและมีแนวโน้มที่จะทำผลตอบแทนได้ดีเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของทิศทางดอกเบี้ย
ตราสารหนี้ระดับลงทุนมีแนวโน้มว่าจะมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในปีนี้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อชะลอตัว และคาดว่าธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ยูโอบีคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในกลางปี 2567 นอกจากได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่น่าสนใจในปัจจุบัน ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (capital gain) จากการลงทุนในตราสารหนี้ได้ นักลงทุนควรลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นถึงระยะกลางในช่วงต้นปี ก่อนที่จะเปลี่ยนไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวเมื่อตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับการออกตราสารหนี้ลง
สำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ การลงทุนใน Tactical Allocation ตามอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มสุขภาพทั่วโลกและภูมิภาคต่างๆ เช่น เอเชียไม่รวมญี่ปุ่น และอาเซียน, หุ้นกลุ่มสุขภาพทั่วโลก (Global Healthcare) ที่มีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจต่ำ และโอกาสในการเติบโต บวกกับแรงหนุนจากการเติบโตของรายได้จากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ในระยะยาว ผลประกอบการทางเศรษฐกิจของเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะโดดเด่นกว่าของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ด้วยการจ่ายเงินปันผลและการประเมินมูลค่าหุ้นในอัตราที่น่าดึงดูด
ฟีเจอร์ Wealth ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวใน UOB TMRW จะช่วยให้นักลงทุนสามารถซื้อ-ขาย-สับเปลี่ยนกองทุนรวมได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถจัดการความมั่งคั่งผ่านโทรศัพท์มือถือได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว และตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป นักลงทุนจะสามารถเข้าถึงกองทุนต่างประเทศได้โดยตรง ทำให้สามารถลงทุนโดยตรงในกองทุนรวมที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศจากบริษัทจัดการกองทุนที่มีชื่อเสียงถึง 14 แห่ง อาทิ Blackrock, PIMCO, JPMorgan และ Fidelity สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการซื้อ-ขาย-สับเปลี่ยนกองทุนรวมผ่านแอป UOB TMRW ได้ที่นี่
บทความ นายกิดอน เจอโรม เคสเซล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณธ์ เงินฝากและบริหารการลงทุนบุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี
บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) โบรกเกอร์สัญชาติไทยแห่งแรกที่ออก HSI DW หรือ DW อ้างอิงดัชนีฮั่งเส็ง จัดงานสัมมนาหัวข้อ “เปิดโลกการลงทุนในตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงกับ HSI DW06” ให้กับนักลงทุนที่สนใจ โดยมีนายพงศธร ลีลาประชากุล นักวิเคราะห์การลงทุนตราสารทุนต่างประเทศ ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจจีนและฮ่องกง ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดหุ้น กลยุทธ์การลงทุน และโอกาสในการลงทุนในหุ้นกลุ่มต่างๆ และนายปวริศวร์ ภูริเวทย์คุณากร ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ ฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แนะนำการเริ่มต้นลงทุนใน HSI DW06 อาทิ กลไกการทำงาน ความเสี่ยง วิธีการซื้อขาย และกลยุทธ์การลงทุน นอกจากนั้นยังมี Boy DW Trader หรือนายธนภัทร ดวงจิตร จากเพจ DW Trader หุ้นใหญ่ กราฟสวย กูรูด้านการลงทุน DW มาร่วมให้มุมมองเกี่ยวกับเทคนิคการวิเคราะห์ กลยุทธ์การเข้าซื้อ-ขาย และการบริหารความเสี่ยง ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา