February 06, 2025

กรุงเทพฯ, 28 มกราคม 2568 – Jobsdb by SEEK ประเทศไทย เผยข้อมูลคำค้นหางานยอดนิยมของผู้ค้นหางานในปี 2567 ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานและแนวโน้มที่สำคัญที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสนใจจากคำค้นหาที่ถูกใช้ในการค้นหางานมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำที่เกี่ยวข้องกับทักษะเฉพาะทางในตลาดงาน และแนวโน้มทิศทางของการค้นหางานที่เกี่ยวข้องกับทักษะภาษาที่สอง

จากข้อมูลการค้นหาของผู้สมัครงานผ่าน Jobsdb by SEEK พบว่า 5 คำค้นหางานที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในกลุ่มคนหางานปี 2567 ได้แก่:

1. วิศวกรรม (Engineering)

2. ธุรการ (Administration)

3. บัญชี (Accounting)

4. การตลาด (Marketing)

5. ทรัพยากรบุคคล (Human Resources)

คำค้นหาเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการได้รับความนิยมของสายงานทางวิศวกรรม ที่มีการค้นหาเป็นอันดับหนึ่งของสายงานที่มีคนสนใจค้นหามากที่สุดในปี 2567 ซึ่งวิศวกรรม นับเป็นสายงานที่เป็นทักษะอาชีพระดับต้น ๆ เพื่อรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่าง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

นอกจากนี้ จากประกาศวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในปี 2567 ที่ผ่านมา ได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมในอนาคต รัฐบาลไทยจึงมีเป้าหมายที่จะสร้างตำแหน่งงานจำนวน 280,000 ตำแหน่งในภาคส่วนเทคโนโลยีขั้นสูงในช่วงของห้าปีข้างหน้า โดยเน้นที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า (EVs) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ความพยายามของรัฐบาลในครั้งนี้อาจเป็นปัจจัยที่สนับสนุนจำนวนการค้นหาที่มีมากในอาชีพวิศวกรรมบนแพลตฟอร์ม ของ Jobsdb by SEEK ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและความเกี่ยวข้องของอาชีพดังกล่าวในตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ในกลุ่มสายงานสนับสนุน อย่างเช่น สายงานธุรการ บัญชี การตลาด และสายงานทรัพยากรบุคคลก็ยังคงได้รับความสนใจในการค้นหาคำ Top 5 ในปีที่ผ่านมาตามลำดับ

อีกหนึ่งแนวโน้มที่น่าสนใจในปี 2567 คือการค้นหางานที่พูดถึงทักษะภาษาที่สอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สมัครงานที่พร้อมและยินดีที่จะมองหางานที่ต้องการทักษะด้านภาษาโดยเฉพาะ โดยภาษาอังกฤษยังคงเป็นภาษาที่ได้รับการค้นหามากที่สุดถึง 47% ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เนื่องจากภาษาอังกฤษถือเป็นภาษากลางที่มีความสำคัญในหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก และเป็นปัจจัยสำคัญในตลาดแรงงานที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างไร้พรมแดน

อย่างไรก็ตาม ภาษาจีน/แมนดาริน ได้รับการค้นหามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมีสัดส่วนถึง 33% ของคำค้นหาทั้งหมดในปี 2567 ความต้องการทักษะภาษาจีนจึงไม่เพียงแค่ในระดับธุรกิจเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงภาคการศึกษา เรียนรู้ภาษาเพิ่มเติม รวมไปถึงการเป็นส่วนสำคัญของการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย

ภาษาญี่ปุ่นตามมาในอันดับที่ 19% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้สมัครยังคงให้ความสำคัญกับภาษาญี่ปุ่น เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการผลิตจากประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ภาษาต่าง ๆ เช่น เกาหลี รัสเซีย พม่า ฮินดี เวียดนาม ฝรั่งเศส เยอรมัน และอาหรับ มีสัดส่วนรวมกันที่ 1% ซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายของความพร้อมของทักษะภาษาในผู้สมัครงานในแต่ละอุตสาหกรรม

แนวโน้มนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้ค้นหางานจำนวนมากกำลังให้ความสำคัญกับการใช้ ทักษะภาษาที่สองเป็นตัวช่วยในการเพิ่มโอกาสในตลาดแรงงาน และเปิดโอกาสการทำงานที่เกี่ยวข้องกับความสามารถทางภาษาโดยเฉพาะ สำหรับผู้ประกอบการ การเข้าใจและตอบสนองต่อความต้องการนี้สามารถช่วยดึงดูดผู้สมัครที่มีคุณภาพ และเพิ่มศักยภาพขององค์กรที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลคำค้นหานี้ไม่เพียงแค่เป็นข้อมูลที่สะท้อนความต้องการของตลาด แต่ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการในการสร้างประกาศรับสมัครงานที่สามารถดึงดูดผู้สมัครที่มีคุณภาพได้อย่างตรงจุด การระบุทักษะเฉพาะทางในประกาศรับสมัคร เช่น การเน้นทักษะด้านสายอาชีพ หรือการกำหนดทักษะด้านภาษาที่สองที่เป็นที่ต้องการ สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับใบสมัครงานที่ตรงกับทักษะที่ต้องการได้ดีขึ้น

รวมไปถึงผู้หางานที่สามารถนำมาปรับข้อมูลในเรซูเม่ของตนเอง ในการเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่างๆ รวมทั้งทักษะทางภาษาให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการค้นหางานอีกด้วย

คุณดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท Jobsdb by SEEK ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “Jobsdb by SEEK ภูมิใจในบทบาทของการเป็นผู้นำทางความคิดในอุตสาหกรรมงาน โดยมุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่า และสามารถเปลี่ยนเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้จริง

เพื่อสร้างประกาศงานที่ตรงใจผู้สมัครมากขึ้น ในขณะเดียวกันยังเป็นแนวทางให้ผู้สมัครงานสามารถเตรียมตัวได้อย่างเหมาะสมและเพิ่มโอกาสสู่ความสำเร็จในสายอาชีพของพวกเขา”

ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ความรู้และทักษะใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง  ในมิติของการศึกษา การเรียนรู้การปรับตัวจึงกลายเป็นทักษะจำเป็น ถือเป็นยุคที่ท้าทาย แต่ก็สร้างโอกาสให้กับคนที่พร้อมปรับตัว และปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเทคโนโลยีมีความสำคัญ ตลาดแรงงานมีความต้องการบัณฑิตวิศวกรรมที่มีทักษะและความรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) หนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ปรับหลักสูตรคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีตอบโจทย์ความต้องการอุตสาหกรรม ได้แก่ หลักสูตรเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ, หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์,  หลักสูตรวิศวกรรมการผลิตยานยนต์, หลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการและการผลิตอัจฉริยะ, หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ  และหลักสูตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (โครงการจัดตั้ง)

ชูจุดแข็งรูปแบบการเรียนการสอนผ่าน Work-based Education (WBE) หรือการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง มุ่งเน้นการผลิตวิศวกรผู้เชี่ยวชาญปฏิบัติงานได้จริงและตอบโจทย์เทคโนโลยี อุตสาหกรรมสมัยใหม่ ทั้งด้าน IT, AI, ยานยนต์, หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ผ่านการฝึกงานทั้งในและต่างประเทศด้วยเครือข่ายที่แข็งแกร่ง เรียนจบพร้อมทำงานอย่างมืออาชีพทันที (Ready to Work) ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ทั้ง First S-Curve และ New S-Curve  ขยายโอกาสในการสร้างรายได้และการจ้างงานใหม่ๆ เพราะกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้เปรียบเสมือนกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth)

วิศวกรรมฯ ปัญญาภิวัฒน์ หลักสูตรเจ๋ง ทุนแจ๋ว

ไทเกอร์- วสลักษณ์ พงโศธร  บัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมการผลิตยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ปัจจุบันก้าวสู่ วิศวกรเทคนิค บริษัท ICS Sakabe Co.,Ltd. ประเทศญี่ปุ่น เล่าจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในสายวิชาชีพนี้ว่า  ช่วงใกล้จบม.6 ทีมแนะแนว PIM ได้เข้าไปให้ข้อมูลที่โรงเรียนสายปัญญา รังสิต จึงเกิดความสนใจในสาขาวิชาวิศวกรรมการผลิตยานยนต์ เพราะพ่อแม่ทำงานด้านยานยนต์และสนใจรูปแบบการสอนของที่นี่ ซึ่งตนเองก็สนใจเรื่องเครื่องยนต์และมองเห็นโอกาสจากรูปแบบการเรียนคือฝึกงานไปด้วย เรียนไปด้วย หรือ Work-based Education  มีเครือข่ายภาคธุรกิจที่เป็นองค์กรชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ จึงเกิดความตั้งใจที่จะเรียนที่นี่ พร้อมตั้งเป้าหมายการไปฝึกงานและทำงานที่ต่างประเทศ ที่สำคัญคือได้รับทุนการศึกษา 50%   

สำหรับการเรียนตลอด 4 ปีของสาขาวิชาวิศวกรรมการผลิตยานยนต์ จะได้เรียนรู้พื้นฐานทางวิศวกรรม 3 ศาสตร์สำคัญๆ “วิศวกรรมเครื่องกล + วิศวกรรมยานยนต์ + วิศวกรรมการผลิต”  โดย 1.วิศวกรรมเครื่องกล เกี่ยวข้องกับการออกแบบ การผลิต และการดูแลรักษาเครื่องจักร รวมถึงการควบคุมและการจัดการการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย  2.วิศวกรรมยานยนต์ เกี่ยวข้องกับการออกแบบ การพัฒนา และการผลิตยานพาหนะทั้งรถยนต์ รถบัส รถไฟ รถจักรยานยนต์ และยานอวกาศ เฉพาะเรื่องของระบบการเคลื่อนที่และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง และ 3.วิศวกรรมการผลิต เกี่ยวข้องกับการออกแบบและการจัดการกระบวนการผลิต เมื่อมีความรู้พื้นฐานที่สำคัญแล้ว จึงต่อยอดไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ โดยมีการเรียนรู้ในเรื่องของอีโค่คาร์ รถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฮบริด รถยนต์ไร้คนขับ ตลอดจนเครื่องยนต์สำหรับยานยนต์สมัยใหม่  นำเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจยานยนต์ ด้วยการนำหุ่นยนต์ ระบบออโตเมชั่น และระบบการผลิตอัจฉริยะ มาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมยานยนต์ ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ

เรียนแล้วเวิร์ค ทำงานแล้วเวิร์ค

ไทเกอร์เล่าต่อว่า ปี 1 ได้ฝึกงานที่ 7-Eleven เป็นแคชเชียร์ เติมของ สั่งของ จัดสต๊อก สิ่งที่ได้คือฝึกความอดทน มนุษยสัมพันธ์ที่ดี และการเข้าใจงานบริการ  ปี 2 ฝึกงานที่ บจก.เค้งหงษ์ทอง เป็นการฝึกงานซ่อมบำรุงรถ Mercedes-Benz ทำให้ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจวิชาที่เรียนมาใช้ลงมือปฏิบัติจริง ปี 3 – ปี 4 มีโอกาสได้ไปฝึกงานที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ MTEC ศึกษาเกี่ยวกับถ่านกัมมันตภาพรังสีที่กักเก็บประจุไฟฟ้าในระบบรถยนต์ 3 เดือน แล้วกลับมาทำโปรเจ็คต์ ก่อนจะเดินทางไปฝึกงานที่คิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น 4 เดือน ที่บริษัท ICS Sakabe Co.,Ltd.ในตำแหน่งวิศวกรฝ่ายผลิต เพราะสนใจเรื่องการผลิต ระบบไฟฟ้า ระบบอัตโนมัติในโรงงาน ที่เลือกโรงงานนี้เพราะทำเกี่ยวกับหุ่นยนต์และมีรุ่นพี่ไปทำงานที่นี่ อีกทั้งบริษัทมีแพลนมาเปิดสาขาที่เมืองไทย ก่อนฝึกงานจบบริษัทก็รับเข้าทำงานในตำแหน่งวิศวกรเทคนิค ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยไทเกอร์วางแผนทำงานที่ญี่ปุ่นยาว 5 ปี แล้วกลับเมืองไทยตามที่บริษัทแพลนไว้ ถึงตอนนั้นอาจจะทำธุรกิจของครอบครัวควบคู่ไปด้วย

“มาถึงวันนี้ผมคิดว่าเกินเป้าหมายครับ ตั้งแต่เข้ามาเรียนที่ PIM ก็ได้รับโอกาสในการพัฒนาตัวเองผ่านกิจกรรม ผ่านการฝึกงาน เมื่อได้งานที่ ICS Sakabe ประเทศญี่ปุ่น ทั้งครอบครัวก็ดีใจกันมากๆ ขอบคุณซีพี ออลล์ ที่เข้ามาสร้างโอกาสผ่านการศึกษา สนับสนุนความฝันเยาวชน ผมเชื่อว่าบัณฑิตที่จบจาก PIM เป็นคนเก่ง มีความสามารถ พร้อมทำงานได้ทันที” ไทเกอร์บอกเล่าอย่างภูมิใจ

นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า ซีพี ออลล์ ให้ความสำคัญกับนโยบาย “สร้างคน” โดยส่งเสริมการศึกษาพัฒนาเยาวชน เพื่อ  “สร้างคนเก่ง คนดี มีความสามารถผ่านการศึกษา”  ซึ่งเป็นฐานรากที่สำคัญของประเทศ การสร้างคนเป็นเรื่องหนึ่งที่ซีพี ออลล์ มุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่องผ่านสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และอีกหลากหลายช่องทาง ในแต่ละปีจึงมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนนักศึกษาจำนวนมาก รวมถึงจับมือพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในสาขาที่เกี่ยวข้อง มาร่วมขับเคลื่อนการสร้างคนอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2568 ซีพี ออลล์ ตั้งเป้ามอบทุนการศึกษามากกว่า 37,000 ทุน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,181 ล้านบาทเพื่อช่วยให้สังคมและเศรษฐกิจของไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็ง ตามปณิธานองค์กร Giving and Sharing

X

Right Click

No right click