January 23, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7636

จากปัญหา “ลุ่มน้ำมูล” เส้นเลือดสำคัญชาวอีสาน ประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ที่ส่งผลกระทบไปยังพื้นที่เกษตรกรรม เป็นนาข้าว 75% ซึ่งในปี พ.ศ. 2540 ถือเป็นปีที่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่กระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรจนสร้างความเสียหายเป็นเงินกว่า 9,300 ล้านบาท ปัจจุบันมีความพยายามของนักวิจัยที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมีทั้งนักวิจัยไทยและต่างประเทศที่ร่วมกันศึกษาค้นคว้า ภายใต้โครงการความร่วมมือของ สกสว. กับหน่วยงานวิจัยต่างประเทศที่มีชื่อเสียง อาทิ NERC (UK’s Natural Environment  Research Council) และ ESRC (Economic and social research council) ฯลฯ 

โดยในเวทีประชุมรายความก้าวหน้าโครงการวิจัยด้านการแก้ปัญหาภัยแล้งที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่จัดขึ้น ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ศ.ดร.ธวัชชัย ติงสัญชลี นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) หัวหน้าโครงการ “การเพิ่มสมรรถภาพการฟื้นตัวจากภัยพิบัติทางอุตุอุทกวิทยาในลุ่มน้ำมูลภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย” หรือ “Enrich”  ได้ให้ข้อมูลถึงงานวิจัยที่ทำการศึกษาปัญหาภัยแล้งในบริเวณลุ่มน้ำมูล โดยเฉพาะส่วนของลุ่มน้ำมูลตอนบน บริเวณที่แม่น้ำมูลและแม่น้ำชีมาบรรจบกัน เนื่องจากประสบภัยแล้งกินพื้นที่ภาคอีสานหลายจังหวัดประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ (บางส่วน) ว่า เป็นงานวิจัยที่ประเมินผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงของการใช้ที่ดิน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาวะสูงสุดและต่ำสุดทางอุตุ – อุทกวิทยา  ที่ทำให้พื้นที่ดังกล่าวประสบภัยแล้ง  โดยข้อมูลที่มีการสังเคราะห์แล้วเสร็จ จะถูกส่งไม้ต่อไปยังหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฯลฯ ทั้งนี้พื้นที่ภาคอีสานบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน ประสบภาวะภัยแล้งเนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนน้อย  มีพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ และมีระบบชลประทานเพียง 20% ของพื้นที่ เกษตรกรต้องแก้ไขปัญหาเองโดยใช้ภูมิปัญญาคือการขุดสระขนาดเล็กที่เรียกว่า “สระขนมครก” ไว้กักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในพื้นที่ตัวเอง แต่ถ้าปีนั้นพื้นที่ขาดฝนก็จะประสบภัยแล้งอย่างหนัก จึงมีความจำเป็นต้องหาแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ดังกล่าวให้กับเกษตรอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าไปกว่า 40% ทั้งนี้งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้เป็นการค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งของประเทศเฉพาะในปัจจุบัน แต่ยังเป็นการนำเสนอภาพฉายในอนาคต ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะประสบปัญหาภัยแล้งในรูปแบบใดบ้าง ประเทศไทยควรเตรียมรับมืออย่างไร ตลอดจนจะหนุนเสริมการพัฒนาเรื่องระบบชลประทานในพื้นที่ให้เข้าถึงเกษตรกรมากขึ้นได้อย่างไร     

ในขณะที่ อ.ดร.สุภัทรา วิเศษศรี นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงงานวิจัยการแก้ปัญหาภัยแล้งภายใต้ชื่อโครงการ “การพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยต่อการรับรู้ ปรับตัว และฟื้นคืนกลับจากภัยแล้งด้านการเกษตร” หรือ “STAR”  ว่างานวิจัยชิ้นนี้ ทำการศึกษาข้อมูลในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงในภาคเหนือ แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะยังไม่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้ง แต่ก็ถือเป็นพื้นที่ที่มี “น้ำต้นทุน” น้อยกว่า 30% จนทำให้มีโอกาสเกิดวิกฤตภัยแล้งได้เหมือนในปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ปัจจุบันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอาทิ กรมชลประทาน ได้ทำงานเชิงรุกอย่างมีศักยภาพ โดยมีการวางแผนการจัดสรรน้ำที่เป็นระบบ ตลอดจนมีเครือข่ายด้านการสื่อสารการให้ข้อมูลของคนในลุ่มน้ำที่เข้มแข็งอยู่แล้ว แต่ทีมวิจัยมุ่งหวังว่าโครงการนี้จะเข้าไปช่วยหนุนเสริมให้การทำงานของทุกภาคส่วนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ในเฟสแรกทีมวิจัยได้จัดทำ “ตัวบ่งชี้ภัยแล้ง”  เครื่องมือที่เป็นมาตรวัดว่าพื้นที่ดังกล่าวกำลังประสบภาวะวิกฤตภัยแล้ง ผ่านการศึกษาข้อมูลทางอุทกศาสตร์และด้านอื่นๆ ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวสามารถนำไปใช้ได้กับทุกลุ่มน้ำของประเทศ ปัจจุบันทีมวิจัยกำลังดำเนินงานในขั้นตอนของการรวบรวมผลกระทบจากภัยแล้งในพื้นที่ โดยการลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลจากเกษตรกรและชุมชน แผนการทำงานต่อจากนี้จะเป็นการจัดทำแพลตฟอร์มการสื่อสารข้อมูลด้านภัยแล้งในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในส่วนของหน่วยงานด้านน้ำและเกษตรกร อันเป็นการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ 

X

Right Click

No right click