November 21, 2024

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานในการลงนามความร่วมมือระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กับบริษัท  ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มการแพทย์ฉุกเฉิน iDEMS ยกระดับระบบบริการสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลด้วยดิจิทัล ที่มีระบบปฏิบัติการอัจฉริยะ หรือ SAVER ช่วยให้ทีมแพทย์เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันทีที่มีการแจ้งเหตุ และผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินผ่านการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สพฉ. ศิริราชวิทยวิจัย และสวทช. ในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล iDEMS โดยเชื่อมั่นว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ครอบคลุม มีคุณภาพสูง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และผู้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินต่อไปได้ในวงกว้าง

ด้านเรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะยกระดับการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินของไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล เมื่อมีประชาชนขอความช่วยเหลือผ่านโทรศัพท์ เบอร์ 1669 ผู้ปฏิบัติการในศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการสามารถทราบเบอร์โทร และตำแหน่งของผู้แจ้งเหตุ และตอบสนองได้ทันที อีกทั้งสามารถมองเห็นผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุผ่านการโทร VDO call เพื่อให้คำแนะนำการปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องก่อนรถพยาบาลไปถึง ส่งผลให้สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินได้

ด้าน ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานกรรมการ บริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด ได้กล่าวถึงภารกิจที่สำคัญของศิริราชวิทยวิจัย คือ ทำให้นวัตกรรมในศิริราชเกิดประโยชน์กับสังคมให้มากที่สุด ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของสถาบันการศึกษา นอกเหนือจากเรื่องการเรียนการสอน การสร้างบุคลากรจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ การทำความร่วมมือกับ สพฉ. นี้ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และนำจุดแข็งของแต่ละองค์กรมาสร้างประโยชน์กับระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในประเทศต่อไป

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด กล่าวว่า บริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด หรือ ศิวิทย์ เป็นวิสาหกิจศิริราช ที่กำเนิดจากศิริราชมูลนิธิ มีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อสังคม การทำความร่วมมือนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล SAVER: Smart Approach Vital Emergency Responses ซึ่งเป็นแหล่งเก็บรักษาข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อการวิจัย และเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวถึง ภารกิจของ สวทช. ในการร่วมพัฒนา iDEMS ให้สามารถลดความซ้ำซ้อนในนำเข้าข้อมูล และติดตามการปฏิบัติงานเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาลได้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ผ่านระบบโทรศัพท์ Total Conversation ที่สามารถแจ้งเหตุได้ทั้งเสียง ข้อความ ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว พร้อมทั้งมีเทคโนโลยี AI ช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ด้วยระบบ Emergency Telemedical Direction สำหรับผู้ป่วยในรถพยาบาล รองรับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัลของรัฐบาลได้

ทั้งนี้ ความร่วมมือกันระหว่าง สพฉ. ศิริราชวิทยวิจัย และ สวทช. ที่จะร่วมกันจัดทำ ติดตามและประเมินผลการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล iDEMS อย่างต่อเนื่องภายใต้ความร่วมมือนี้ จะทำให้เกิดการบูรณาการการพัฒนาระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการจากเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ในระยะยาว และตอบสนองความต้องการของประชาชนไทยได้ในอนาคต

หนุนความรู้เกษตรกรปลูกเห็ดป่ากินได้ ช่วยรักษ์ป่า พร้อมสร้างรายได้เสริมอาชีพ

นักวิจัยด้านพืชสมุนไพร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำงานวิจัยการพัฒนาการผลิตพืชสมุนไพร 5 ชนิด (บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร และกะเพรา) เชื่อมโยงสู่ผู้ประกอบการสมุนไพรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ ภายใต้งานสัมมนา “การเชื่อมโยงและสร้างพันธมิตรในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่”

จัดโดยเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เมื่อเร็ว ๆ นี้ (19 ก.ค. 66) โดยมี ดร.วุฒิ ด่านกิตติกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงาน EECi และ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงานอุตสาหกรรมและชุมชน ดร.ประพัฒน์ พันปี ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม EECi ตลอดจนผู้ประกอบการ นักวิจัยไบโอเทค และผู้แทนกลไกสนับสนุนภาคเอกชนของ สวทช. เข้าร่วมในงาน

 

ดร.วุฒิ ด่านกิตติกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงาน EECi กล่าวว่า สวทช. โดย EECi ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดงานสัมมนาการเชื่อมโยงและสร้างพันธมิตรในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตร เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างนักวิจัยด้านพืชและผู้ประกอบการ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือที่ยั่งยืนและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ตลาดสมุนไพรไทย พร้อมกันนี้ ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า ในการสร้างให้เกิดความยั่งยืนของผู้ประกอบการ สวทช. ได้มีกลไกสนับสนุนภาคเอกชนในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นบัญชีนวัตกรรมไทย / AGRITEC (สท.) หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น EECi / อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย / ซอฟต์แวร์พาร์ค / Food Innopolis เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นบริการสนับสนุนผู้ประกอบการในการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ผ่านเขตนวัตกรรม EECi ต่อไป

 

ด้าน ดร.ประพัฒน์ พันปี ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม EECi สวทช. ระบุว่า ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ สวทช. โดยนักวิจัยไบโอเทคได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสมุนไพร 5 ชนิดพืช ได้แก่ บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร และกะเพรา ซึ่งล้วนเป็นพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ให้มีเสถียรภาพทางการผลิต คุณภาพการผลิต นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food security) รวมถึงส่งเสริมให้เกิดเกษตร

แม่นยำ (Precision Farming) ที่มีการนำเทคโนโลยีผสมผสานการเกษตรยุคดิจิทัล มาใช้กับการเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตได้เท่าทวีคูณ

 

โดยพืชชนิดแรกคือ บัวบก โดย ดร.กนกวรรณ รมยานนท์ นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาต้นแบบการผลิตบัวบกในระบบปลูกแนวตั้ง ที่เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่สูงขึ้น บัวบกสายพันธุ์ดี ได้แก่ ไบโอบก-143 และ ไบโอบก-296 ทั้งสองสายพันธุ์ ที่คัดเลือกมาจากการรวบรวมสายพันธุ์บัวบกกว่า 200 สายพันธุ์ ซึ่งให้ผลผลิตและปริมาณสารสำคัญสูง พืชชนิดที่สอง ขมิ้นชัน โดย ดร.รุจิรา ทิศารัมย์ นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมด้านพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาพืช มีการศึกษากระบวนการผลิตต้นพันธุ์ การคัดเลือกสายพันธุ์ และระบบการปลูกในโรงเรือนและแปลงปลูก พืชชนิดที่สาม กระชายดำ โดย ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาสายพันธุ์ที่มีสารออกฤทธิ์ทางยาสูง กรรมวิธีการผลิต และระบบการปลูกที่ลดการเกิดโรคในแปลงปลูก พืชชนิดที่สี่ ฟ้าทะลายโจร โดย ดร.ประเดิม วณิชชนานันท์ นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาสายพันธุ์ที่มีศักยภาพ ระบบการผลิตที่ให้สารสำคัญสูง และต้นแบบระบบการผลิตแบบปิด แบบเปิด และกึ่งปิด และพืชชนิดที่ห้า กะเพรา โดย ดร.พนิตา ชุติมานุกูล นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาข้อมูลสายพันธุ์ที่มีมากถึง 90 สายพันธุ์ และกระบวนการปลูกในโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ทั้งในด้านข้อมูลตอบสนองต่อปัจจัยสภาพแวดล้อมและต้นแบบการผลิตที่เหมาะสม ซึ่งงานสัมมนาครั้งนี้นอกจากสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของงานวิจัยพืชสมุนไพรแล้ว ยังได้ฉายภาพและนำเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานวิจัยขยายผล ณ โรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ (Smart Greenhouse) และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ของเมืองนวัตกรรมชีวภาพ หรือ BIOPOLIS ที่ตั้งอยู่ใน EECi เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพไทยที่จะเติบโตต่อไปในอนาคตอันใกล้ด้วย

 

หนึ่งในนักวิจัยพืช ‘กระชายดำ’ ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร ไบโอเทค เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันทีมวิจัยกำลังจะได้พันธุ์กระชายดำดีเด่นที่มีสารออกฤทธิ์สูง และสามารถนำไปปรับใช้เฉพาะทางได้ เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม และยา นอกจากนี้ได้พัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การสร้างต้นพันธุ์ปลอดโรคที่จะนำไปให้เกษตรกร เพื่อลดต้นทุน แรงงาน และระยะเวลาการปลูก รวมถึงยังได้ความรู้ไปใช้กับการผลิตต้นพันธุ์ได้ทั้งปี ซึ่งแตกต่างจากเหง้าที่ผลิตไม่ได้ทั้งปี ซึ่งในการศึกษาที่ EECi จะมีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขนาดใหญ่ มีระบบ Bioreactor (เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในอาหารเหลว) ที่จะขยายต้นพันธุ์ในระดับเชิงพาณิชย์ และใช้กับพืชอื่น ๆ ได้ เช่น ไม้ดอกไม้ประดับ พืชหายากที่ต้องการอนุรักษ์ เป็นต้น ซึ่งทีมวิจัยพร้อมจะทำงานเชื่อมโยงร่วมกับผู้ประกอบการทั้งในส่วนกลางน้ำและปลายน้ำ

 

และอีกหนึ่งพืชสมุนไพรที่มีความท้าทายในการแก้ปัญหา Pain Point มาอย่างยาวนานคือ กะเพรา ดร.พนิตา ชุติมานุกูล นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร ไบโอเทค

เล่าให้ฟังว่า รัฐบาลกำหนดให้ ‘กะเพรา’ เป็นพืชสมุนไพรชนิดใหม่ในวงการของสมุนไพร แต่จุดอ่อนทางธุรกิจคือ การส่งออก ที่ถูกห้ามส่งออกมาตั้งแต่ปี 2554 เพราะกะเพรามีการใช้ยาฆ่าแมลงเป็นจำนวนมากและยังพบแมลงติดมากับพืชที่ส่งออกสูง สร้างความสูญเสียมูลค่ามหาศาล ฉะนั้น เพื่อการแก้ไขจึงได้พัฒนาการปลูกให้เป็นเกรดพรีเมียม ทดลองปลูกและศึกษาใน Plant factory เพราะไม่มีการใช้ยาปราบศัตรูพืชใด ๆ โดยทีมวิจัยได้ศึกษาตั้งแต่การรวบรวมสายพันธุ์ซึ่งมีมากถึง 90 สายพันธุ์ และยังไม่มีการศึกษาถึงสรรพคุณในแต่ละสายพันธุ์มาก่อน เช่น สายพันธุ์ที่ต้านอักเสบ ต้านจุลชีพ ป้องกันการเกิดอัลไซเมอร์ หรือสรรพคุณในด้านกลิ่น ที่ช่วยขับลม ลดคอเลสเตอรอล เป็นต้น รวมถึงศึกษาสภาวะ (condition) การปลูกที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารสำคัญของกะเพราได้มากที่สุด ซึ่งในการเชื่อมโยงกับ EECi ทางทีมวิจัยมีแผนในอนาคตอันใกล้ว่า จะนำส่วนที่คัดสายพันธุ์ที่ดีและสำเร็จมาแล้วใน condition ต่าง ๆ ทั้งการปลูกใน Plant Factory ใน Greenhouse และแปลงทดลองของเกษตรกร เช่น พันธุ์ A ที่หอมมากและหอมทั้ง 3 ที่ที่ปลูกซึ่งให้ผลคงที่ ทีมจะนำพันธุ์เหล่านั้นมาปลูกทดสอบและขยายการผลิตในโรงเรือนที่ EECi เพื่อตอบโจทย์กับภาคเอกชนต่อไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสมุนไพรและที่เกี่ยวข้องที่สนใจการพัฒนาสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ โทร. 0 2564 6700 ต่อ 3305 (จิราวรรณ)

ทีมเด็กไทย สร้างชื่อให้ประเทศไทย คว้า รางวัลสุดยอดนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ Regeneron Young Scientist Awards รางวัลใหญ่เวทีโลก รับเงินรางวัลมูลค่ารวมมากกว่า 1.7 ล้านบาท พร้อมคว้าอันดับ 1 รางวัล Grand Award สาขาสัตวศาสตร์ ในเวทีการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมสำหรับเยาวชน ระดับโลก REGENERON ISEF 2023 เฉือนคู่แข่งจาก 63 ประเทศ แถมทีมเยาวชนไทยคว้าอีก 8 รางวัลบนเวทีระดับโลก รวม 10 รางวัล มูลค่ารางวัลรวมทั้งสิ้น $ 66,500 ที่จัดขึ้นโดย Society for Science & the Public ณ เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำทีมเยาวชนไทยสร้างชื่อในเวทีโลกคว้าชัยจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมสำหรับเยาวชน ระดับโลก REGENERON ISEF 2023 ณ เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดโดย Society for Science & the Public ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2566 โดยในปีนี้มีนักเรียนกว่า 1,600 คน จาก 63 ประเทศจากทั่วโลก และมลรัฐต่างๆ ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง กระทรวง อว. ได้ส่งเยาวชนเข้าร่วมทั้งหมด 14 ทีม มาจาก 2 เวที ได้แก่ ค่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ประจำปี 2566 (Thai Young Scientist Festival, TYSF 2023) ภายใต้การสนับสนุนโดย NSM และสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ และการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 25 (Young Scientist Competition, YSC 2023) โดย สวทช. และมหาวิทยาลัยพันธมิตร ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ผลปรากฏว่า ทีมเยาวชนไทยจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ สมาชิกทีมประกอบด้วย นายปูรณ์ ตระกูลตั้งมั่น นายทีปกร แก้วอำดี และนายปัณณธร ศิริ และมีนายชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา สามารถคว้ารางวัลใหญ่ที่สุดของการประกวด คือ “รางวัลสุดยอดนักวิทยาสตร์รุ่นเยาว์” Regeneron Young Scientist Awards สนับสนุนโดย Regeneron and Society for Science ซึ่งถือเป็นรางวัลโครงงานนวัตกรรมการวิจัยที่สะท้อนถึงการทำงานอย่างจริงจังของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ในการหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายของโลกในอนาคต โดยใช้แนวที่สร้างสรรค์และแตกต่าง พร้อมทั้งได้รับเงินรางวัล $50,000 (มูลค่ามากกว่า 1.7 ล้านบาท) พร้อมคว้ารางวัล Grand Awards อันดับ 1 สาขาสัตวศาสตร์ พร้อมเงินรางวัล $5000 (มูลค่ามากกว่า 170,000 บาท) กับ โครงงาน “การเพิ่มอัตราการรอดของแมลงช้างปีกใส (Mallada basalis) จากพฤติกรรมการฟักและการเลือกกินอาหาร (Innovation for Optimizing Lacewing Survivability)” โดยการศึกษานี้สืบเนื่องมาจากแมลงช้างปีกใสเป็นแมลงตัวห้ำที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดศัตรูพืชสูง แต่ปัญหาสำคัญที่ประสบคืออัตราการรอดต่ำอันเกิดจากอัตราการฟักไข่

ต่ำและพฤติกรรมการกินเอง จึงได้ทำการศึกษาพฤติกรรมการฟักไข่และพฤติกรรมการเลือกกินอาหารเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างนวัตกรรมการฟักไข่แมลงช้างปีกใสซึ่งสามารถเพิ่มอัตราการรอดของแมลงช้างปีกใสได้ถึง 5.8 เท่า โดยตัวแทนทีมอธิบายถึงเบื้องหลังโครงงานฯ ดังกล่าวว่า “การพัฒนาโครงงานเมลงช้างปีกใสนี้ ต้องขอขอบคุณเกษตรกรในไร่มันสำปะหลังที่ได้ให้การตอบรับอย่างดียิ่งในการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีผ่านการใช้บรรจุภัณฑ์การเพิ่มอัตรารอดของแมลงช้างปีกใสของพวกผม นอกจากนี้พวกผมมีความยินดียิ่งที่ได้ช่วยเหลือผู้ผลิตใบไม้อัดในการทำบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และลดโอกาสการเกิดไฟป่าด้วยการนำเชื้อเพลิงที่เป็นเศษใบไม้มาสร้างบรรจุภัณฑ์ที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ที่สำคัญขอขอบพระคุณอาจารย์ รวมถึงบุคลากรของสมาคมวิทย์ฯ และ NSM เป็นอย่างยิ่งที่ได้มอบโอกาสสำหรับการแข่งขันในครั้งนี้” ซึ่งโครงงานนี้ได้รับคัดเลือกจากการประกวดในเวทีค่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ประจำปี 2565 (Thai Young Scientist Festival (TYSF)) ครั้งที่ 18

ทั้งนี้ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กล่าวว่า “ปีนี้ NSM ร่วมกับ สมาคมวิทย์ฯ ได้ส่งตัวแทนทีมเยาวชนไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 8 ทีม จากเวทีค่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ประจำปี 2566 (Thai Young Scientist Festival, TYSF 2023) เข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ ซึ่งปีนี้ผลงานของทีมเยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองได้สำเร็จด้วยผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่นจนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้ในครั้งนี้ ต้องขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับเยาวชนทุกคน ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กไทยเก่งไม่แพ้ชาติใด ขอขอบคุณทุกคนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ คว้ารางวัลอันทรงเกียรติมาให้คนได้ชื่นชม และหวังว่าทุกผลงานจะนำไปต่อยอดในการพัฒนาและสร้างประโยชน์ในวงกว้างให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต”

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช. ตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่อง สร้างขุมกำลังด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างขุมกำลังในด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้มีความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่งเสริมและกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจและเพิ่มพูนทักษะทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ในระดับนักเรียน เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามนโยบายของกระทรวง อว. โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ผ่านการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition, YSC) ที่ สวทช. สนับสนุนตั้งแต่ปี 2542 โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 6 มหาวิทยาลัยเครือข่ายที่ร่วมเป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาคของโครงการฯ จัดประกวดโครงงานในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั่วประเทศรวม 9 สาขา ให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 – 6 ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นนวัตกรรม ให้สังคมไทยเป็นสังคมฐานความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

“การเข้าร่วมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ หรือ Regeneron ISEF 2023 ถือเป็นเวทีที่มีความสำคัญด้านการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก เพื่อส่งเสริมความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นอีกหนึ่งเวทีการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้และสนุกไปกับการทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน ซึ่งเด็กและเยาวชนของชาติเป็นบุคคลที่มีบทบาทและส่วนสำคัญอย่างยิ่ง การสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นรากฐานและกำลังสำคัญในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการส่งเสริมให้เยาวชนมีประสบการณ์จากการแข่งขันบนเวทีโลกจะเป็นกุญแจสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนของประเทศ”

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ธนัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวแสดงความยินดี “ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนไทยทั้ง 14 ทีม ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมในการแข่งขันโครงงานวิทย์ฯ ระดับโลกในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์อันมีค่าที่หาไม่ได้ง่าย ๆ ในการแข่งขันในเวทีระดับโลก หวังว่าเยาวชนทุกคนจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้จากการประกวดในครั้งนี้ มาพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ต่อไป”

นอกจากนี้ ยังมีทีมเยาวชนไทยที่สามารถคว้ารางวัล Grand Awards และSpecial Awards มาครอบครองอีกหลากหลายสาขา ได้แก่

1.โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 2 สาขาสัตวศาสตร์ พร้อมเงินรางวัล $2000 กับ โครงการวิธีการใหม่ในการตรวจสอบการติดเชื้อโรคเพบริน (Pebrine Disease Detection Using Silkworm Phototaxis) โดยมีสมาชิก คือ นายธนวิชญ์ น้ำใจดี, นายพณทรรศน์ ชัยประการ, นางสาวกัญญาริณทร์ ศรีวิชัย และนายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

2.โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ 2 สาขาวิทยาศาสตร์โลกและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม พร้อมเงินรางวัล $2,000 กับ การพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมป่าหลังเกิดไฟป่าเลียนแบบโครงสร้างของผลน้อยหน่าเครือ (Kadsura coccinea) (A Novel Seed Delivery System for Effective Reforestation) โดยมีสมาชิก คือนายจิรพนธ์ เส็งหนองแบน, นายนฤพัฒน์ ยาใจ, นายพรหมพิริยะ ขัตติยวงษ์ และนายขุนทอง คล้ายทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

3.โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 3 สาขาสัตวศาสตร์ พร้อมเงินรางวัล $1000 กับ โครงงาน “วิธีการยั่งยืนในการควบคุมปัญหาการเป็นศัตรูพืชของหนอนด้วงสาคู” (Approach to Control Red Palm Weevil Pests) นอกจากนี้โครงการนี้ยังได้รับรางวัล Special Award อันดับที่ 2 จากหน่วยงาน : U.S. Agency for International Development (USAID) ในสาขา Agriculture and Food Security ได้รับเงินรางวัล $3000 อีกด้วย โดยมีสมาชิก คือ นายสัญพัชญ์ อัครจีราวัฒน์, นายธนัตถ์กรณ์ เชาวนสมิทธิ์ และนางสาววนิดา ภู่เอี่ยม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

4.โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ 3 สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ พร้อมเงินรางวัล $1000 กับ โครงงานการศึกษาแบบจาลองผลของสนามแม่เหล็กต่อพายุทรงหลายเหลี่ยมบน

ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์โดยหลักความไม่เสถียรเชิงอุทกพลศาสตร์ (Study of Polygonal Cyclones on Jupiter and Saturn) โดยมีสมาชิก คือ นางสาวจินต์จุฑา ปริปุรณะ, นายปวริศ พานิชกุล, นางสาวอมาดา ภานุมนต์วาที และดร.ปริญญา ศิริมาจันทร์ และนายศรัณย์ นวลจีน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

5.โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ 4 สาขาชีววิทยาเชิงคำนวณและชีวสารสนเทศศาสตร์ พร้อมเงินรางวัล $500 กับ โครงการ PROSynMOGN: การปรับปรุง Graph Neural Networks สำหรับโมเลกุลเพื่อทำนายการเสริมฤทธิ์ของยาคู่ผสมสำหรับรักษาโรคมะเร็งที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลการแสดงออกของโปรตีน โดยมีสมาชิก คือ นายติสรณ์ ณ พัทลุง, นายเมธิน โฆษิตชุติมา, นายกิตติพัศ พงศ์อรุโณทัย และดร.ธนศานต์ นิลสุ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และนายบัณฑิต บุญยฤทธิ์ สถาบันวิทยสิริเมธี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

6.โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ 4 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ปริวรรต พร้อมเงินรางวัล $500 กับ โครงงาน ออร่า “ผู้ช่วยป้องกัน ชะลอ และฟื้นฟูข้อเสื่อม” (O-RA: Osteoarthritis Rehabilitation Assistant) นอกจากนี้โครงการนี้ยังได้รับรางวัล Special Award อันดับที่ 1 จากหน่วยงาน : Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society ในสาขา: Life Sciences Discipline ได้รับเงินรางวัล $1,500 อีกด้วย โดยมีสมาชิก คือ นางสาวนภัสชล อินทะพันธุ์, นายแก้วกล้า สร้อยกาบแก้ว, นายกฤตภาส ตระกูลพัว และนายกฤติพงศ์ วชิรางกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) จตุจักร กรุงเทพฯ: ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่องความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาวิทยาการระบบและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ เกษตร และพลังงานของประเทศ โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน ที่ปรึกษา สสน. ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ รองผู้อำนวยการ สสน. พร้อมด้วย ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. และ ดร.ปิยวุฒิ ศรีชัยกุล รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. เข้าร่วมงาน

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. พร้อมสนับสนุนความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาวิทยาการระบบและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ เกษตร และพลังงานของประเทศ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มีการพัฒนาขึ้นมากในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา โดย สวทช. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัยดังกล่าว ทำให้ประเทศสามารถสร้างเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการน้ำ เกษตรและพลังงานโดยสามารถขยายเครือข่ายงานวิจัยได้อย่างกว้างขวางและยั่งยืน

ทั้งนี้ความร่วมมือล่าสุดของสองหน่วยงาน จะร่วมมือภายใต้โครงการแพลตฟอร์ม Thailand Agricultural Data Collaboration Platform (THAGRI) เพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ภาคการเกษตร ซึ่ง สสน.ได้อนุเคราะห์ข้อมูลคาดการณ์น้ำระยะกลาง (1 - 3 เดือน) มาแบ่งปันให้กับนักพัฒนาบนระบบ THAGRI เพื่อให้นักพัฒนาหรือผู้สนใจนำข้อมูลการคาดการณ์น้ำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ขณะที่ สวทช. มีผู้เชี่ยวชาญและเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA อันดับหนึ่งในอาเซียน ด้วยประสิทธิภาพในการคำนวณที่สูงถึง 8.1 พันล้านล้านคำสั่งต่อวินาที ที่สามารถรองรับการใช้งานได้กับหัวข้อวิจัยที่สำคัญและหลากหลาย เพื่อสนับสนุนนักวิจัยในการสร้างนวัตกรรมให้กับภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม อาทิ การจำลองสภาพภูมิอากาศตามเวลาจริงโดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม และความหลากหลายทางระบบนิเวศวิทยาของไทย เป็นต้น

“ที่ผ่านมา สสน.และ สวทช. มีความร่วมมือในโครงการวิจัยและพัฒนาระบบการคัดเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่และฤดูกาลปลูกด้วยข้อมูลทางพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม (RiceFit) โดย สวทช. ได้ใช้ข้อมูลด้านปริมาณน้ำจาก สสน. มาประกอบในการคัดเลือกพันธุ์ปลูกที่เหมาะสมต่อสถานที่และฤดูกาล เพื่อลดความเสี่ยงในการผลิต นอกจากนี้ในโครงการบูรณาการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการ

ใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร (What2Grow) ซึ่งได้จัดทำแผนที่เกษตรเชิงรุก หรือ ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (AgriMap) ยังได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบโทรมาตรของ สสน. มาแสดงผลในชั้นแผนที่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบให้เกษตรกรสามารถเลือกพืชที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ที่ต้องการปลูกได้สะดวกขึ้น” ผู้อำนวยการ สวทช. ระบุ

ด้าน ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการ สสน. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ สสน. มีแนวทางดำเนินงานให้เกิดความร่วมมือ ด้วยการเพิ่มศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย งานพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้านการบริหารจัดการน้ำ เกษตร และพลังงานในทุกภาคส่วน พร้อมส่งเสริม สนับสนุน แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจะขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ เกษตร และพลังงาน ร่วมกับ สวทช. ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดกลไกการดำเนินงานที่เชื่อมโยง สอดรับแนวนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ ให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อย่างมั่นคงและยั่งยืน

Page 1 of 7
X

Right Click

No right click