มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์, SCG พร้อมด้วย PMAT และ SCB เปิดนิทรรศการ “สติ Space” ในบรรยากาศ Art Space นิทรรศการที่รวบรวมกิจกรรม การชมภาพยนตร์ เสวนา และ มุมพักผ่อนหย่อนใจ ให้กลับมารู้ตัว รู้ใจ ด้วยการสื่อสารผ่านจุดเริ่มต้นวิธีพักใจ เพื่อให้คนทํางาน ได้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ด้วยการสร้างการมีสติ (mindfulness) ให้กับกลุ่มคนออฟฟิศ โดยไม่ต้องอิงกับศาสนาเป็นหลัก เริ่มจากการสร้างการรับรู้การมีสติในมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิมให้มีความสุขได้บนโต๊ะทำงาน ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้อํานวยการหอจดหมายเหตุพุทธธาตุอินทปัญโญ เล่าถึงที่มา บทบาท การดำเนินงาน และวัตถุประสงค์ โดยใจความว่า “จากก้าวแรกที่ท่านอาจารย์พุทธทาสสร้างสวนโมกข์ สร้างโรงหนัง (โรงมหรสพทางจิตวิญญาณ, Holly Land) ที่ไชยา กระทั่งมีหอจดหมายเหตุพุทธทาส (สวนโมกข์กรุงเทพ) ที่สวนรถไฟ ซึ่งเปิดให้คนเข้าไปใช้พื้นที่นั้น เรามองว่าการจัดพื้นที่เพื่อให้คนเดินทางไปยังพื้นที่อาจไม่เพียงพอสำหรับยุคนี้ ถึงเวลาที่จะต้องนำองค์ความรู้ออกมาเสิร์ฟให้ถึงที่ที่เขาอยู่ด้วย และมองว่ากลุ่มคนทำงานออฟฟิศเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของสังคม สติ space จึงเลือกสื่อสารแก่กลุ่มนี้เป็นเบื้องต้น”
นายอนุวัฒน์ จงยินดี ที่ปรึกษา คณะกรรมการมูลนิธิเอสซีจี ตัวแทนมูลนิธิ SCG ผู้สนับสนุนห้อง New Gen Space สำหรับจัดนิทรรศการในครั้งนี้ กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการว่า “มูลนิธิเอสซีจีและมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส มีความร่วมมือช่วยเหลือกันมาโดยตลอด นับตั้งแต่แรกก่อตั้ง สำหรับพื้นที่แสดงนิทรรศการนี้ มูลนิธิเอสซีจีเช่าไว้เพื่อให้ ศิลปิน บุคคล ฯลฯ ใช้แสดงงานอยู่แล้ว ซึ่ง “สติ space” เป็นนิทรรศการที่สอดคล้องกับแนวทางของห้อง New Gen Space, การสร้างสติใช้ได้กับทุกเรื่อง มีสติ พอเพียง คิด พูด ทำ ถูกต้อง ฯลฯ มูลนิธิเอสซีจีเห็นประโยชน์ ความสำคัญ และสนับสนุน หวังว่าคนออฟฟิศและผู้สนใจจะเข้ามาใช้และได้รับประโยชน์”
นายปราโมทย์ บุญนำสุข ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย และยุทธศาสตร์ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า “ในแต่ละปีกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะให้ทุนแก่องค์กรพัฒนาสื่อ เพื่อประชาชนจะได้รับข่าวสารที่ถูกต้องและอยู่ในระบบนิเวศสื่อที่ดี ซึ่งหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ เป็นองค์กรหนึ่งที่ได้รับทุนประเภท Collaborative Grant โดยปีแรก ทำรายการ “ทำอะไรก็ธรรม” และปีนี้เป็นครั้งที่สองในการจัดนิทรรศการ “สติ space” ซึ่งสามารถสร้างสรรค์ ปรุงแต่งให้เข้ากับรสนิยมคนรุ่นใหม่ ให้กล้ามาชิมลองโดยไม่เคอะเขิน”
นายธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Country CEO บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศ) จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสามย่านมิตรทาวน์ กล่าวว่า “ตอนแรกที่ทีมเข้ามาพูดคุย มองในมุมธุรกิจก็ได้ตั้งคำถามไปหลายข้อ ซึ่งวันนี้ดีใจที่ได้เห็นนิทรรศการ พร้อมตอบรับให้ใช้พื้นที่ เช่น สามย่านมิตรทาวน์ เป็นพื้นที่นำร่อง หากนึกถึงวัยรุ่นก็ต้องนึกถึงสามย่านมิตรทาวน์ พื้นที่แห่งการเรียนรู้ 24 ชม, สำนักงาน, คอนโดมิเนียม บริษัทเฟรเซอร์ฯ มีความมุ่งหมายที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดี เพื่อความรู้สึกที่ดี และคิดว่า “สติ space” จะเป็นนิทรรศการที่ช่วยทำให้ใจของทุกคนได้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน”
นายวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล ผู้บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ธุรกิจธนาคารมีการแข่งขันสูงมาก ทำอย่างไรให้พนักงานมีความสุขขึ้นได้บ้าง จากเดิมเราเคยมีชมรมจริยธรรม มีจัดคอร์สภาวนา มีนิมนต์พระมา ฯลฯ สิบปีผ่านไปก็ยังเหมือนๆ เดิม พอได้ฟังเรื่ององค์กรรมณีย์ก็สนใจ เรื่อง สติ Mindfulness ก่อนอื่นหัวหน้าต้องมีสติก่อน จึงจะทำองค์กรให้มีสติได้, ฉันทะสำคัญมาก อีกอันคือวิริยะ และต้องมีสภาพแวดล้อมที่สามารถดึงให้กลับมามีสติ ความสำเร็จไม่ต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวด”
“สติ space” interactive exhibition ที่นำ “สติ” มาเป็นเครื่องมือดูแลกลุ่มคนวัยทำงาน นิทรรศการจำลองบรรยากาศสำนักงาน ชวนกลับมารู้ตัว ดูใจ ด้วยภาษา สัญลักษณ์ ถ้อยคำ ฮาวทู ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลอย่างไรอยากให้มาชิมลองกัน มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ และได้รับความเอื้อเฟื้อพื้นที่จัดแสดง ห้อง new gen จาก SCG เปิดให้ชิมลอง ที่ชั้น 3 ห้อง New Gen หอศิลป์กรุงเทพ เข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ - 27 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00-20.00 น.
สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล และ สยามจุลละมณฑล ผู้จัดงาน “45 ปี ซีไรต์มาไกลมาก” เปิด 3 กิจกรรมใหม่ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนักอ่านและผู้สนใจในวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ พร้อมเป็นกิจกรรมเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสที่รางวัลซีไรต์เดินทางมาครบ 45 ปี ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการจัดงาน “45 ปีซีไรต์มาไกลมาก” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27 สิงหาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยทั้ง 3 กิจกรรม ประกอบด้วย
1. การแข่งขัน The S.E.A. Write Quiz การแข่งขันตอบคำถามเพื่อค้นหากูรูตัวจริงรางวัลวรรณกรรม ซีไรต์ออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันสอบติดจูเนียร์ โดยการแข่งขันจะจัดขึ้นพร้อมกันในวันที่ 27 สิงหาคม 2566 เวลา 13.20 - 14.20 น. ผู้สนใจสามารถสมัครได้ที่ https://forms.gle/sQ2e4ZD1HqxPxUtt8
2. การประกวดสุนทรพจน์ ภาษาอังกฤษ หัวข้อ Moving Forward : 45 Year of the S.E.A. Write Awardเพื่อส่งเสริมให้นักอ่านและผู้สนใจในวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ แสดงความรู้และทรรศนะเกี่ยวกับรางวัลซีไรต์ ทั้งความประทับใจที่มีต่อวรรณกรรมซีไรต์และการก้าวต่อไปของรางวัลซีไรต์ จากความคิดและมุมมองของนักอ่าน โดยหัวข้อการประกวดรอบที่ 1 คือ "ความประทับใจในหนังสือซีไรต์" ผู้เข้าประกวดต้องส่งเป็นคลิปวีดีโอความยาว 3-4 นาที ผ่านทาง E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. พร้อมระบุหัวเรื่อง "ส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรม 45 ปีซีไรต์ (สุนทรพจน์)" ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ส่วนหัวข้อการประกวดรอบที่ 2 คือ "45 Years of S.E.A. Write Award and Still Moving Forward" ผู้เข้าประกวดต้องกล่าวสุนทรพจน์ความยาว 3 - 4 นาที ผ่านระบบออนไลน์
Zoom Meeting ในวันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม 2566 และแข่งขันรอบตัดสิน 10 คนสุดท้าย ผู้เข้าประกวดต้องกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีการจัดงานฯ ในวันที่ 27 สิงหาคม 2566 ผู้เข้าร่วมการประกวดสามารถค้นหารายละเอียดและติดตามผลการประกวดได้ที่เว็บไซต์ www.siamclmt.com ผู้สนใจสามารถสมัครได้ที่ https://forms.gle/rM3e64Gjh8cVbpJy6
3. การประกวดคอสเพลย์ "ใครเป็นใครในวรรณกรรมซีไรต์" ผู้เข้าประกวดสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการตีความตัวละครจากวรรณกรรมซีไรต์เล่มใดก็ได้ โดยอธิบายแนวคิดของการตกแต่ง เสื้อผ้า และนำเสนอบุคลิกของตัวละครให้ออกมาได้อย่างน่าสนใจ ผู้สมัครต้องส่งคลิปวีดีโอสั้นประกวดในชุดคอสเพลย์ 15 - 30 วินาที พร้อมอธิบายแนวความคิดของการตกแต่งเสื้อผ้าและบุคลิกลักษณะของตัวละคร ส่งมาที่ E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. พร้อมระบุหัวเรื่อง “ส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรม 45 ปีซีไรต์ (คอสเพลย์)” ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ผู้สนใจสามารถสมัครได้ที่ https://forms.gle/aJrSoDKYXDGjYWYz9
ทั้ง 3 กิจกรรม เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมประกวดและแข่งขันได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยสมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ - 31 กรกฎาคม 2566
งาน “45 ปีซีไรต์มาไกลมาก” เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ สมาคม สถาบันการศึกษา และบริษัทเอกชนที่ต้องการสนับสนุนการอ่าน วรรณกรรมรางวัลซีไรต์ และแวดวงวรรณกรรมของไทยให้มีการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปลุกกระแสแวดวงวรรณกรรมซีไรต์ไทยและอาเซียนให้ได้รับความสนใจอีกครั้ง พร้อมทั้งดึงเยาวชนและนักอ่านรุ่นใหม่ให้สร้างงานเขียนและการอ่านอย่างมีคุณค่า เพื่อพัฒนาศักยภาพ ความคิดและการเติบโตทางสังคม
โดยงาน “45 ปีซีไรต์มาไกลมาก” มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 27 สิงหาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ธนาคารออมสิน และแอปพลิเคชันสอบติดจูเนียร์