องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ขอแสดงความกังวลต่อผลการประชุม COP29 (หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29) ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังตัวแทนจากทุกประเทศได้ร่วมตกลง “เป้าหมายทางการเงินใหม่” (New Collective Quantified Goal on Climate Finance: NCQG) โดยมุ่งจัดสรรงบประมาณในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ตัวเลขเงินสนับสนุนที่ตั้งไว้กลับต่ำเกินกว่าที่จะใช้รับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
แม้จะเป็นเรื่องดีที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มทุนข้ามชาติ ได้ให้คำสัญญาว่าจะสนับสนุนเงิน จำนวน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ตัวเลขนี้ดูห่างไกลจาก 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจำเป็นต่อการบรรเทาผลกระทบที่รุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อปกป้องชุมชนที่เปราะบาง สัตว์ป่า และหยุดยั้งความทุกข์ทรมานของสัตว์ที่อยู่ในระบบอุตสาหกรรมอาหาร
เคลลี่ เดนต์ ผู้อำนวยการฝ่ายเครือข่ายความร่วมมือ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ซึ่งเข้าร่วมการประชุม COP29 กล่าวว่า "COP29 จะถูกจดจำว่าเป็น ‘การเลี่ยงจากความรับผิดชอบทางการเงินครั้งใหญ่’ หลังการเจรจาอย่างดุเดือดตลอดสองสัปดาห์ บรรยากาศเต็มไปด้วยความพยายามที่จะประวิงเวลา และลดทอนความตั้งใจจริงของการแก้ไขปัญหา ในที่สุดประเทศที่ร่ำรวยได้เลี่ยงความรับผิดชอบอีกครั้ง โดยเสนองบประมาณเพียงเล็กน้อย ในขณะที่โลกกำลังลุกเป็นไฟ พลเมืองโลกและสัตว์นับล้านกำลังทนทุกข์"
"นี่ไม่ใช่แค่เรื่องการรักษาเป้าหมายเพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา แต่ยังเป็นเรื่องของความยุติธรรมต่อผู้ผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงประชากรโลก แต่พวกเขากลับถูกทอดทิ้งให้แบกรับกับผลกระทบตามลำพัง นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของระบบนิเวศที่ใกล้ล่มสลาย และสัตว์นับพันล้านที่ต้องทนทุกข์ในระบบอุตสาหกรรมอาหารที่ขับเคลื่อนด้วยกำไร และทำลายสภาพภูมิอากาศไปพร้อมๆ กัน"
"แทนที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แต่เรากลับได้เพียงการแสดงเชิงสัญลักษณ์ที่แสร้งทำว่าเป็นทางออก ในขณะที่วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพทวีความรุนแรงขึ้น ที่อยู่อาศัยถูกทำลาย สัตว์จำนวนมากต้องทุกข์ทรมาน และชุมชนทั้งหมดถูกทิ้งไว้ให้เผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ"
ความล้มเหลวของการจัดการแก้ปัญหาที่ต้นตอ – การเกษตรเชิงอุตสาหกรรม
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบการผลิตอาหารโลกยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ COP29 กลับไม่ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาในส่วนนี้ เกษตรเชิงอุตสาหกรรม—โดยเฉพาะฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรม—เป็นต้นตอของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำลายที่อยู่อาศัย ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร และทำให้สัตว์ฟาร์มได้รับความทุกข์ทรมาน
เคลลี่ เดนต์ เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังว่า "เราไม่สามารถสนับสนุนระบบที่ทำลายสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และความทุกข์ยากของประชากรโลกได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นแนวทางด้านการเกษตรที่ยั่งยืน มีมนุษยธรรม และเท่าเทียมต้องเข้ามาแทนที่เกษตรเชิงอุตสาหกรรม ทางออกนี้ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ยังช่วยยุติความทุกข์ทรมานของสัตว์นับพันล้านตัวที่อยู่ในฟาร์มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่"
‘บรรษัทเกษตร’ เข้าครอบงำการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศ
แม้ว่าแนวคิด Harmoniya Climate (โครงการที่มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับเกษตรกรและชุมชนชนบท โดยส่งเสริมระบบการเกษตรที่ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ) ที่เปิดตัวใน COP29 จะดูเป็นแนวคิดที่ดี แต่ในทางปฏิบัติ อาจได้รับอิทธิพลจากกลุ่มธุรกิจการเกษตร
"เสียงจากผู้ผลิตรายย่อย—หรือกลุ่มคนที่มีส่วนสำคัญต่อระบบอาหารที่ยั่งยืน—เวลานี้ ถูกกลบด้วยบรรดาล็อบบี้ยิสต์ของระบบอุตสาหกรรมที่ปกป้องผลกำไรเหนือผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อม UNFCCC ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพื่อลดอิทธิพลของกลุ่มธุรกิจการเกษตร หากต้องการกู้ความน่าเชื่อถือก่อนการประชุมครั้งถัดไปของ COP30 ที่เมืองเบเล็ง ประเทศบราซิล" เคลลี่ เดนต์ กล่าวถึงบทบาทของล็อบบี้ยิสต์ในอุตสาหกรรมนี้
ผลกระทบต่อประเทศไทยและก้าวสำคัญต่อการปฏิรูประบบอาหาร
ประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลกสูงถึงอันดับ 9 จากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก ดังนั้นเราจึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐของไทยให้ความสำคัญกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรม
ผลกระทบจากการขยายตัวของฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย ปรากฏการณ์น้ำท่วมฉับพลันที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ และปัญหาหมอกควัน PM2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นในหน้าแล้ง และทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ล้วนมีสาเหตุสำคัญมาจากธุรกิจอาหารสัตว์ที่ขยายตัวในประเทศและภูมิภาคนี้ ส่งผลต่อการสูญเสียพื้นที่ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งผลให้ภัยพิบัติที่เกิดถี่และรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (ประเทศไทย) กล่าวว่า“ไทยจะไม่สามารถเป็นครัวของโลกได้ และอาจไม่สามารถเป็นครัวให้กับคนไทยเองได้ด้วยซ้ำ หากเราปล่อยให้ระบบอาหารที่พึ่งพิงความเป็นอุตสาหกรรมขยายตัวต่อไปเช่นนี้ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการเกษตรของเรา มีรายงานและหลักฐานต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ที่พิสูจน์ให้เราเห็นชัดแล้วว่า เราจำเป็นต้องเริ่มปรับเปลี่ยนระบบอาหารโดยด่วน”
องค์กรพิทักษ์สัตว์โลกจะยังคงผลักดันการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมไป สู่ระบบอาหารที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของคน ปกป้องสัตว์ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกชีวิตบนโลก
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection) นำโดย นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรฯ มอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 10,000 เข็ม ให้แก่กรมปศุสัตว์ โดยมี น.สพ.ดร.วีรพงษ์ ธนพงศ์ธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน(โรคพิษสุนัขบ้า) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ เป็นผู้แทนกรมปศุสัตว์รับมอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 องค์กรฯ ได้บริจาควัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่กรมปศุสัตว์อย่างต่อเนื่องรวมทั้งสิ้นประมาณ 80,000 เข็ม โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการช่วยเหลือให้สัตว์ในชุมชนปลอดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องสู่ประชาชนโดยตรงในวงกว้าง นอกจากนี้เราให้การช่วยเหลือตลอดจนทำงานร่วมกับภาครัฐ เครือข่ายและชุมชนเพื่อช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงจากภัยน้ำท่วมที่ได้เกิดขึ้นในปีนี้ โดยเจ้าหน้าที่องค์กรฯ ได้ร่วมลงพื้นที่พร้อมด้วยเครือข่ายเพื่อร่วมนำอาหารสุนัขและอาหารแมวมอบให้กับเจ้าของสัตว์เลี้ยงและชุมชน กว่า 1,400 ชีวิต เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ที่ประสบเหตุจากอุทกภัยในพื้นที่ จังหวัดน่าน และจังหวัดสุโขทัย ด้วยการร่วมมอบอาหารสัตว์กว่า 4 ตัน และยารักษาโรค ฯลฯ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่องค์กรฯ ยังได้ลงพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเร่งกระจายอาหารสำหรับสุนัขและแมวจำนวนรวม 2.1 ตัน แจกจ่ายไปยังบ้านเรือน ผู้ใหญ่บ้าน วัด ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติในเขตอำเภอสารภี รวมถึงได้ส่งมอบอาหารสำหรับสุนัขและแมวส่วนหนึ่งให้แก่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ทำงานอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อนสังคม นโยบาย เพื่อปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์เพื่อให้สัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีบทบาทที่สำคัญในการทำงานด้านสัตว์เลี้ยงในชุมชน เช่น สุนัขและแมว ภายใต้โครงการ Better Lives with Dogs ซึ่งได้เริ่มการทำงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 พร้อมทั้งได้มอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่กรมปศุสัตว์อย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทยอย่างถาวร
Tripadvisor แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวออนไลน์ชั้นนำของโลกได้ประกาศมอบรางวัล Travelers' Choice Awards 2024 ให้แก่ปางช้างที่เป็นมิตรในประเทศไทยที่ทำงานร่วมกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) 4 แห่ง ซึ่งโดดเด่นในด้านการให้ความสำคัญยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ ไม่มีกิจกรรมขี่ช้าง โชว์ช้าง หรือสัมผัสช้างใกล้ชิด เน้นศึกษาพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้าง เดินดูช้างในระยะปลอดภัย ปางช้างที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ได้แก่ Boon Lott's Elephant Sanctuary จ.สุโขทัย, ChangChill จ.เชียงใหม่, Following Giants จ.กระบี่ และ Somboon Legacy Foundation จ.กาญจนบุรี โดยทั้ง 4 แห่งได้รับการคัดเลือกภายใต้หมวดกิจกรรมน่าสนใจที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ
รางวัล ‘Travelers' Choice - ที่สุดของที่สุด’ เป็นรางวัลพิเศษที่ตัดสินจากประสบการณ์จริงของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่แบ่งปันรีวิวบน Tripadvisor สะท้อนถึงประสบการณ์ที่แปลกใหม่ คุณภาพการให้บริการ และความประทับใจของนักท่องเที่ยว
ความสำเร็จครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการยกย่องปางช้างทั้ง 4 แห่งที่เป็นมิตรต่อช้างและยึดมั่นในแนวทางการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ แต่ยังตอกย้ำถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ยกระดับสู่การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ โดยผสานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้ากับการสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าแก่นักท่องเที่ยว รางวัลนี้จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ป่าในประเทศไทย
หทัย ลิ้มประยูรยงค์ ผู้จัดการฝ่ายแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “แนวโน้มการท่องเที่ยวโลกในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปควบคู่กับบริบทของสังคมที่ให้ความสำคัญกับความเป็นพลเมืองโลกที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการท่องเที่ยวที่ใส่ใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสวัสดิภาพของสัตว์ สำหรับการท่องเที่ยวช้างก็เช่นเดียวกัน นักท่องเที่ยวในยุคนี้มองหาประสบการณ์ที่สามารถเชื่อมโยงกับช้างในรูปแบบที่ไม่ก่อให้เกิดการรบกวนหรือทำลายความเป็นอยู่ของช้าง โมเดลการจัดการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับช้างจึงเป็นทางเลือกที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว และยังเป็นแนวทางที่ส่งเสริมให้ทั้งผู้ประกอบการและช้างได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน”
Tripadvisor ในฐานะผู้นำแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวออนไลน์ชั้นนำของโลกที่มีผู้ใช้งานหลายล้านคน
ทั่วโลก ได้ขับเคลื่อนนโยบายที่ปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ป่า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เคารพชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ นโยบายนี้ยังห้ามกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ เช่น การสัมผัสสัตว์ป่าโดยไม่จำเป็น และการจัดแสดงสัตว์น้ำที่ถูกคุมขัง ยกเว้นกรณีเพื่อการศึกษาหรืออนุรักษ์ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ นโยบายนี้มุ่งเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
การเยี่ยมชมช้างในปางช้างเป็นมิตรกับช้าง ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่อยากเรียนรู้พฤติกรรมตามธรรมชาติของช้างและนอกจากนั้นยังเป็นการสนับสนุน การทำงานของปางช้างเป็นมิตรให้สามารถเลี้ยงช้างที่เคยถูกใช้งานอย่างหนัก และดูแลช้างให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีไปจนตลอดชีวิตของพวกเขา
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกให้การสนับสนุนปางช้างที่เป็นมิตรหลายแห่ง ตั้งแต่การให้คำปรึกษา พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โปรโมทด้านการตลาดผ่านการทำงานกับบริษัทท่องเที่ยว ให้ทุนสนับสนุนเพื่อปรับรูปแบบปางช้างให้เป็นมิตรต่อช้างอย่างแท้จริง ตลอดจนให้งบช่วยเหลือฉุกเฉินในช่วงโควิด 19 ที่การท่องเที่ยวซบเซา ท่านสามารถติดตามเรื่องราวและที่มาของปางช้างแต่ละแห่งได้ที่นี่ https://www.worldanimalprotection.or.th/our-work/Wildlife-work/Elephant-Friendly-Venue/
“ไม่มีสัตว์ป่าตัวไหนที่ควรได้รับความทรมาน เจ็บปวด และถูกบังคับให้สร้างความบันเทิงแก่นักท่องเที่ยว” องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection Thailand) ชูการท่องเที่ยวแบบใหม่ สอดรับกระแสเทรนด์โลกที่นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวอย่างมีความสุขพร้อมร่วมรับผิดชอบต่อโลกไปด้วยกัน
โอกาสนี้ องค์กรฯ ชวน 2 หนุ่มจากเวที Mister International Thailand คิม- ธิติสรรค์ กู๊ดเบิร์น" หนุ่มหล่อลูกครึ่งไทยอังกฤษ ผู้ครองตำแหน่ง Mister International 2023 และ ต๋อง-ชัยธวัช ไพศาลศิริ" รองอันดับ 2 Mister International Thailand 2023 มาร่วมเดินทางในทริปสุดเอ็กซ์คลูซีฟที่ BEES (Burm & Emily's Elephant Sanctuary) อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง เป็นผู้นำการท่องเที่ยวที่เน้นให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของช้างตามแนวทางเป็นมิตรต่อช้างขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ซึ่งเปิดโอกาสให้คุณได้สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ไม่เหมือนใคร
ที่นี่คุณจะได้เรียนรู้และเข้าใจชีวิตของช้างอย่างแท้จริง ซึ่งแนวคิดของปางช้าง BEES คือการเป็นบ้านหลังสุดท้ายและที่พักพิงที่ปลอดภัยให้กับช้างชราที่ทำงานหนักมาทั้งชีวิต ให้ช้างได้มีโอกาสใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข ปลอดภัย สามารถแสดงพฤติกรรมและใช้ชีวิตในสภาพใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
คิม- ธิติสรรค์ กู๊ดเบิร์น เปิดเผยความรู้สึกที่ได้มาร่วมท่องเที่ยวในครั้งนี้ว่า “ทัศนคติของผมเปลี่ยนไปเลย เพราะที่นี่ ปางช้าง BEES ผมเห็นจริงๆ ว่าช้างใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากๆ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ผมมีหน้าที่แค่เดินตามช้างเข้าไปในป่าลึกกว่า 10 กิโล เพื่อสังเกตวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของช้างจริง ๆ ว่าเป็นอย่างไร ผมรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ แถมยังสนุกกับสิ่งที่ได้เห็นคือช้างมีความสุขกับการได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ไม่ต้องถูกบังคับให้ต้องแสดงโชว์ ถูกนักท่องเที่ยวอาบน้ำวันละหลาย ๆ ครั้ง หรืออยู่ในพื้นที่ที่คับแคบ ไม่มีบริเวณให้เดินเล่น”
ด้าน ต๋อง-ชัยธวัช ไพศาลศิริ เผยว่า “จากเดิมผมเป็นคนที่ชอบท่องเที่ยวแบบพักผ่อน เช่น ทะเล น้ำตก เนื่องจากเป็นคนทำงานหนัก ดังนั้นเวลามีโอกาสได้เที่ยว ก็อยากไปท่องเที่ยวที่ ๆ ปล่อยใจได้สบาย ๆ ส่วนการไปเที่ยวเชิงผจญภัยก็จะมีบ้าง แต่หลังจากไปท่องเที่ยวปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง อย่าง BEES ทำให้ผมรักการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัยแบบนี้มากขึ้น มันให้ความรู้สึกตื่นเต้นและมีคุณค่ามากกว่าที่คิด"
ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมสัมผัสการท่องเที่ยวกับช้างรูปแบบใหม่แบบสองหนุ่ม เพื่อสนับสนุนปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ สนับสนุนการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่ดีที่เป็นมิตรต่อทั้งคนและช้างอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถติดตามข้อมูลปางช้างแบบเป็นมิตรทั่วประเทศไทยที่ทำงานร่วมกับองค์กรฯ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/