พนมเปญ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตอกย้ำบทบาทผู้นำด้านการศึกษาระดับภูมิภาคด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับกัมพูชา ในวันที่ 17 มกราคม 2568 คณะผู้บริหารจุฬาฯ นำโดย ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ ดร.ฮัง ชวน นารอนรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งเป็นศิษย์เก่าหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ เข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ ดร.ฮัง ชวน นารอน
การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นขยายความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นทั้งในด้านการศึกษา และการวิจัย ไม่เพียงแต่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในภาคการศึกษาระหว่างสองประเทศ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต อีกทั้งยังร่วมหารือการยกระดับการศึกษาของกัมพูชาผ่านการบูรณาการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย โดยจะมีนำ AI มาช่วยเสริมสร้างรูปแบบการเรียนการสอน เพิ่มการเข้าถึงการศึกษาแก่เยาวชนทั่วภูมิภาคอย่างยั่งยืน ซึ่งการหารือเชิงกลยุทธ์ครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของจุฬาฯ ในการส่งเสริมนวัตกรรมด้านการศึกษาและความร่วมมือที่เปิดกว้างในอาเซียน
นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมการประยุกต์ใช้วิศวกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม การสร้างพลังสะอาดจากแสงอาทิตย์ และการสร้างหุ่นยนต์อำนวยความสะดวก ณ สถาบันเทคโนโลยีกัมพูชา (Institute of Technology of Cambodia – ITC) ภายใต้การบริหารของ ศ.ดร.โพ คิมโถ ศิษย์เก่าหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ และ ดร.โพ คิมโถ ผู้บริหารสถาบันเทคโนโลยีกัมพูชา (ITC)
เจ้าหญิงนีน่า นโรดม ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ก็เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่สะท้อนถึงบทบาทของจุฬาฯ ในการสร้างผู้นำและขับเคลื่อนวัฒนธรรมของกัมพูชา โดยในโอกาสนี้ เจ้าหญิงนีน่า มีกำหนดการพบปะกับคณะผู้บริหารจุฬาฯ เพื่อพูดคุยถึงความประทับใจในช่วงที่ทรงศึกษา ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ รวมถึงร่วมหารือถึงแนวทางความร่วมมือทางวิชาการและวัฒนธรรมระหว่างสองสถาบันในอนาคต
เจ้าหญิงนีน่า นโรดม ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และ คณะผู้บริหารจุฬาฯ
ฯพณฯ ดร.ฮัง ชวน นารอน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปการศึกษาของกัมพูชา โดยนำความรู้และทักษะความเป็นผู้นำที่ได้รับจากการศึกษาในจุฬาฯ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ สะท้อนถึงความร่วมมือด้านการศึกษาที่ยาวนานระหว่างสองประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีศิษย์เก่าจุฬาฯ ชาวกัมพูชา จำนวน 10 คน เข้าร่วมพบปะกับรัฐมนตรีในครั้งนี้ ซึ่งสะท้อนถึงความนิยมของจุฬาฯ ในหมู่นักศึกษาชาวกัมพูชา ซึ่งศิษย์เก่าหลายคนได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญในแวดวงการศึกษา รัฐบาล และอุตสาหกรรมของราชอาณาจักรกัมพูชา
ดร.ฮง คิมเชือง ศิษย์เก่าสาขาการสอนภาษาอังกฤษ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยี Kampong Speu Institute of Technology (KSIT) และผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการฯ มีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือครั้งนี้
ปัจจุบัน มีชาวกัมพูชาที่กำลังศึกษาและทำวิจัยที่จุฬาฯ จำนวน 11 คน ประกอบด้วยนิสิตระดับปริญญาตรี คณะทันตแพทยศาสตร์จำนวน 7 คน นิสิตระดับปริญญาตรี คณะวิทยศาสตร์ จำนวน 1 คน นักวิจัยจำนวน 2 คนในคณะพยาบาลศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคมศาสตร์ รวมถึงบุคลากรจำนวน 1 คน ในคณะแพทยศาสตร์