×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7636

“เอสซีจี” โดยบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาวัสดุ Advanced Materials ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ (3D Printing Technology) สำหรับเป็นฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการังและการปลูกปะการังธรรมชาติ สร้างต้นแบบปะการังเทียมรุ่นใหม่ที่มีความเสมือนจริง และใกล้เคียงธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีขึ้นรูปจาก Advanced Materials ที่เอสซีจี ซิเมนต์ พัฒนาขึ้น สามารถใช้เศษคอนกรีตรีไซเคิลเป็นส่วนผสมทดแทนหินปูนถึง 40% โดยความร่วมมือครั้งนี้ครอบคลุมการศึกษา วิจัย และพัฒนาออกแบบรูปแบบวัสดุให้มีความเหมาะสมตามแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขยายภาพโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา…สู่มหานที” คืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศทางทะเลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับทะเลไทยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมส่วนรวม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เตรียมนำร่องทดลองจัดวางจริงในทะเล 3 พื้นที่ ได้แก่ เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ภายในเดือนพฤษภาคม 2563

 

นายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า “ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งนั้นมีความสำคัญต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างยิ่ง เพราะระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งที่สมบูรณ์ส่งผลโดยตรงต่อการขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจ และยังเป็นหลักประกันความยั่งยืนในอนาคตของมนุษย์ และระบบนิเวศของโลกอีกด้วย สำหรับแนวปะการังถือเป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อน และเป็นบริเวณที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในทะเล ประกอบกับมีการใช้ประโยชน์จากแนวปะการังมากขึ้นทั้งในด้านการประมง และการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นการดูแล อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรปะการังของประเทศไทยให้เกิดความสมบูรณ์ และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจึงถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยวางแนวทางการดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นการทำงานเชิงรุกและบูรณาการแบบมีส่วนร่วมกับหลายภาคส่วน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเอสซีจีในการพัฒนารูปแบบวัสดุสำหรับนำไปใช้ในงานด้านการฟื้นฟูปะการังและปะการังเทียม ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายด้านการฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการัง และทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งของรัฐบาล ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะดำเนินการสำรวจพื้นที่และจัดทำแผนการฟื้นฟูปะการัง และจุดท่องเที่ยวดำน้ำ เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมาย สำหรับขยายผลการนำวัสดุหรือปะการังเทียมไปดำเนินการในระยะยาวต่อไปในอนาคต”

 

ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งนั้นเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้องค์ความรู้ด้านวิชาการเพื่อรองรับการดำเนินงานในด้านของการบริหารจัดการที่เหมาะสม สำหรับการฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการัง สามารถดำเนินการได้หลายวิธี และหนึ่งในนั้น คือ การฟื้นฟูปะการังที่ดำเนินการกับแนวปะการังโดยตรงด้วยการฟื้นฟูทางกายภาพ (Physical Restoration) เช่น การสร้างฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง หรือการสร้างปะการังเทียมซึ่งเป็นการปรับปรุงสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการฟื้นตัวของปะการัง ทำให้แนวปะการังกลับมามีสภาพความอุดมสมบูรณ์และสามารถเอื้อประโยชน์ในแง่ต่างๆ ให้กับสิ่งมีชีวิตในทะเลรวมไปถึงมนุษย์ ซึ่งการคิดค้นและพัฒนารูปแบบวัสดุเพื่อใช้ในการฟื้นฟูแนวปะการัง ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 3D Printing จึงเป็นอีกวิธีที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานด้านการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับปะการัง พร้อมทั้งติดตามและรวบรวมข้อมูลผลการทดลองเพื่อศึกษา วิจัย และนำข้อมูลไปใช้สนับสนุนการพัฒนารูปแบบวัสดุให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้นในอนาคต”

นายชนะ ภูมี Vice-President Cement and Construction Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กล่าวว่า “เอสซีจี มุ่งสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องภายใต้แนวคิด Passion for Better Green Society เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมให้ดี ควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมือกับทุกฝ่ายในการดำเนินธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ที่เน้นการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดการใช้ทรัพยากรใหม่ให้น้อยที่สุด ซึ่งถือเป็นการสร้างคุณค่าและความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ชุมชน และธุรกิจ การร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เอสซีจีจะดำเนินการผลิตและจัดทำวัสดุสำหรับใช้เป็นฐานลงเกาะสำหรับปะการังธรรมชาติ พร้อมทั้งร่วมวิจัยและพัฒนารูปแบบวัสดุเพื่อนำไปใช้ในการฟื้นฟูปะการัง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

“ซึ่งการผลิตปะการังเทียมนี้ เอสซีจี ซิเมนต์ ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ (3D Printing Technology) และ Advanced Materials ด้วยนวัตกรรมการขึ้นรูปวัสดุที่พัฒนาขึ้นสามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานได้โดยไม่จำกัดรูปแบบ มาสร้างสรรค์ต้นแบบปะการังเทียมรุ่นใหม่ที่ได้รับการออกแบบให้มีรูปทรงใกล้เคียงกับปะการังธรรมชาติ มีความเสมือนจริงมากขึ้น โดยใช้ระบบ Extrusion Printing ซึ่งเป็นระบบการผลิตแบบขึ้นรูปด้วยการฉีดเลเยอร์เป็นชั้นๆ เหมาะกับงานโครงสร้างที่ต้องการความแข็งแรง และ Advanced Materials นำมาใช้ออกแบบและจำลองโครงสร้างได้เหมือนปะการังจริง โดยสามารถใช้เศษคอนกรีตจากการรื้อถอนอาคารเป็นส่วนผสมทดแทนหินปูนได้มากถึง 40% โดยการพัฒนาวัสดุคอนกรีตดังกล่าว เมื่อแล้วเสร็จจะขยายผลนำไปทดลองจัดวางจริงในท้องทะเลไทย พื้นที่ ได้แก่ 1.) เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต 2.) เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ 3.) เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ภายในเดือนพฤษภาคม 2563 ก่อนต่อยอดไปยังพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยต่อไป และเพื่อรองรับการต่อยอดทางธุรกิจในอนาคต เอสซีจี ยังมีบริการ SCG 3D Printing Service Solution ที่ให้บริการ Co Design & Develop ตลอดจนการหาซัพพลายเชนให้กับลูกค้า เพื่อ Scale Up งานที่อยู่อาศัยเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น”

X

Right Click

No right click