December 23, 2024

ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่บริษัทฯได้เข้ารับการย้ายโอนความคุ้มครองลูกค้าเอเชียประกันภัยที่ซื้อประกันโควิด ได้มีหลายฝ่ายทั้งลูกค้าทิพยประกันภัย และผู้ถือหุ้นจำนวนหนึ่งเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการย้ายกรมธรรม์ประกันเอเชียประกันภัยมาทำประกันกับทิพยประกันภัยนั้น จะมีปัญหาตามมาหรือไม่ เรื่องนี้ตนขอเรียนว่า กรมธรรม์ที่เปลี่ยนหรือย้ายมาทำนั้นเป็นกรมธรรม์ที่เหมือนกับที่ทิพยประกันภัยขายในปัจจุบัน

โดยปัจจุบันทิพยประกันภัย เรามีกรมธรรม์ประกันโควิดโคม่าขายอยู่เพียง 2 แผน ได้แก่แบบแผนเบี้ยประกัน 300 คุ้มครอง 300,000 บาท กับอีกแผนที่คุ้มครอง 500,000 บาท เบี้ยประกัน 480 บาท เพราะฉะนั้นการแปลงกรมธรรม์นี้ไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระให้กับบริษัททิพยประกันภัย ในการรับประกันแต่อย่างใด หากเพียงแต่เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าเอเชียประกันภัยที่ต้องการหาซื้อประกันโควิดคุ้มครองการเสียชีวิตจากอาการโคม่าไว้เท่านั้นเอง และคงจะไม่มีผลกระทบต่อความแข็งแกร่งทิพยประกันภัยแต่ประการใด

โดยเฉพาะทิพยประกันภัยถือว่าโชคดีที่เราเป็นบริษัทประกันเพียงไม่กี่บริษัท ที่มีบริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศ (รีอินชัวเรอร์ตปท.) ที่มารับประกันภัยต่อประกันโควิดของเรา ซึ่งรับประกันต่องานประกันโควิดของทิพยประกันภัยไว้ถึงสัดส่วน 50% ของพอร์ต ซึ่งค่อนข้างจะมากทีเดียว ทั้งนี้ก็เพราะรีอินชัวเรอร์มองเห็นว่า เราค่อนข้างระมัดระวัง และทิพยประกันภัย มีการคำนวณความเสี่ยงในการรับประกัน ดังนั้นรีอินชัวเรอร์ต่างประเทศจึงมีความมั่นใจพร้อมจะสนับสนุนทิพยประกันภัย

ดร.สมพร ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันทิพยประกันภัยได้รับประกันโควิดปีนี้กับปีที่แล้วรวมๆกันแล้วเกือบ 5 ล้านกรมธรรม์  คิดเป็นเบี้ย 2,500 กว่าล้านบาท โดยเรามีผู้ใช้สิทธิเรียกร้องสินไหมรวมแล้ว 5หมื่นราย คิดเป็นสินไหมประมาณ 2,000ล้านบาท โดยทิพยประกันภัย เราไม่มีการขายประกันเจอจ่ายจบ จึงทำให้เราสามารถยังให้ความคุ้มครองรองรับลูกค้าเราได้อย่างไม่มีปัญหา

และอยากให้ผู้ถือหุ้นทิพยประกันภัยและลูกค้าของเราสบายใจได้ว่า บริษัทฯมีความมั่นคงแข็งแกร่ง โดยลูกค้าเอเชียประกันภัยหากย้ายมาประกันโควิดในรูปแบบประกันการเสียชีวิตจากอาการโคม่าทั้งหมด 770,000 หมื่นคน เราก็ยังสามารถรองรับได้ เนื่องจากความคุ้มครองจะดูแลเฉพาะการเสียชีวิตจากอาการโคม่า ซึ่งคำว่า ”โคม่า” ในนิยามคงไม่ใช่หมายถึง ติดเชื้อแล้วไปอยู่ไอซียูแล้วได้รับความคุ้มครอง ซึ่งส่วนใหญ่ ”โคม่า” ในที่นี้จะเป็น "ภาวะก่อนการเสียชีวิตตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์" เพราะฉะนั้นความเสี่ยงที่รองรับประชาชนจุดนี้จึงไม่กระทบต่อบริษัทฯ

ทั้งนี้ดร.สมพร ยังกล่าวถึงเงินกองทุน (คาร์เรโช) ณ ปัจจุบันของทิพยประกันภัย อยู่ที่ 263% ว่า เรายังคงมีสถานะอย่างนี้ไปได้จนถึงสิ้นปี และถ้าสถานการณ์โควิดเกิดมีรอบ 4 ขึ้นมา ก็คิดว่ามันจะไม่กระทบ เพราะเชื่อว่าคงจะมีความรุนแรงไม่มาก เพราะรัฐบาลมีประสบการณ์รับมือการระบาดที่ผ่านมาแล้ว​ รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ต่างได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก และเข็มสองไปแล้วจำนวนมาก รวมถึงการเริ่มฉีดเข็มสาม ประกอบกับทิพยประกันภัยเองก็ไม่มีการขายประกันภัยแบบเจอจ่ายจบในพอร์ต หากมีแต่ขายคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลหรืออาการโคม่า หรือกรณีไม่เข้ารักษาพยาบาล เราก็มีการจ่ายค่าชดเชยให้ เพราะฉะนั้นถ้าอนาคตเกิดติดเชื้ออีกระลอกใหม่ ก็ยังอยู่ภาวะรองรับได้

ทั้งนี้บริษัทฯอยากจะประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อว่า สำหรับลูกค้าเอเชียประกันภัยขณะนี้ค่อนข้างสับสน และเข้าใจว่า “ทิพยประกันภัย” รับโอนความคุ้มครองประกันโควิดเจอจ่ายจบแบบที่ทำไว้กับเอเชียประกันภัยเลยนั้นขอเรียนชี้แจงว่า จริงๆแล้วไม่ใช่ครับ ทิพยประกันภัยคงเป็นทางเลือก สำหรับผู้ที่ต้องการจะมีความคุ้มครองโควิด ซึ่งขณะนี้บริษัทฯจะเหลือความคุ้มครองอาการโคม่าเท่านั้น ซึ่งบริษัทฯได้มีจุดยืนขายผลิตภัณฑ์ประกันโควิดมาตลอด ดังนั้นจึงอยากจะขอฝากสื่อมวลชนได้สื่อสารทำความเข้าใจให้พี่น้องประชาชนรับทราบจุดนี้ เพราะการที่โทรมาถามรายบุคคล อาจจะทำให้เราตอบได้ไม่ทั่วถึง สำหรับกรมธรรม์ที่ย้ายมาทำกับเราคงจะออกเป็น Digital Policy ทั้งหมดเลย ซึ่งคงไม่เหมือนการออกกรมธรรม์ในภาวะปกติ ซึ่งอาจใช้เวลายาวนาน จึงจำเป็นต้องทำเป็นดิจิทัล ส่งกลับไปยังมือถือ หรือ Email Address เพื่อผู้เอาประกันจะได้นำไปใช้เป็นหลักฐานคุ้มครองเวลาซื้อประกันหรือเรียกร้องค่าสินไหม

X

Right Click

No right click