November 22, 2024

 

ดีลอยท์ ประเทศไทย

การที่ยักษ์ใหญ่ในวงการยานยนต์มุ่งนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) และเครื่องยนต์สันดาปภายในเชื้อเพลิงไฮโดรเจน (HICEV) อาจดูเป็นศึกครั้งสำคัญในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่การแข่งขันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ในสนามที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบดั้งเดิมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เรากำลังพูดถึงปัญหาที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบดั้งเดิม และรถยนต์ไฟฟ้า BEV และ HICEV อาจเป็นทางออกที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตการคมนาคมที่ยั่งยืน

ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกได้ให้พันธสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 90% ภายในปี 2593 เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซที่ปล่อยในปี 2563 โดยมีเป้าหมายไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero emissions) แต่การที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ได้นั้น การพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์ที่ช่วยลดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)

จากรายงานของดีลอยท์เรื่อง "Pathway to net-zero: Mastering the twofold goal of Decarbonization and Profitability" เน้นย้ำถึงประเด็นข้างต้นเช่นกัน โดยกล่าวถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตยานยนต์ที่มีเทคโนโลยีที่สะอาดยิ่งขึ้น จำเป็นต้องอาศัยการลงทุนอย่างมากในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการสร้างศักยภาพการผลิตที่แข็งแกร่งสำหรับแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว

สำหรับทิศทางของการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) การสร้างความมั่นคงด้านห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด สถาบันเฟราน์โฮเฟอร์ ด้านระบบและวิจัยนวัตกรรม (Fraunhofer Institute for Systems and Innovation Research ISI) รายงานว่า ประเทศจีนเกือบจะผูกขาดกำลังการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม ไอออน ฟอสเฟต (LFP) โดยครองส่วนแบ่งตลาดถึง 99% ทั่วโลกในปี 2565 แม้จะมีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนที่จีนครองตลาดจะ

ลดลงเหลือ 69% ในปี 2573 แต่จีนก็ยังคงเป็นผู้นำในตลาดเช่นเดิม ประเด็นการผูกขาดตลาดนี้ทำให้เกิดความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแบตเตอรี่ คิดเป็นประมาณ 40% ของต้นทุนรวมรถยนต์ไฟฟ้า BEV

ทั้งนี้จากการศึกษาของดีลอยท์ พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดจนอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมดังกล่าวต้องปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินงานอย่างยั่งยืนในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตแบตเตอรี่ ตั้งแต่การสกัด การแปรรูป การผลิต การรีไซเคิล จนถึงการกำจัดแบตเตอรี่

ในทางตรงกันข้าม การส่งเสริมรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์สันดาปภายในเชื้อเพลิงไฮโดรเจน (HICEV) และรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ก็จำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสถานีเติมไฮโดรเจน แต่ประเด็นนี้กลับเต็มไปด้วยความท้าทาย เนื่องจากการสร้างสถานีไฮโดรเจนแต่ละแห่งล้วนมีต้นทุนที่สูงกว่าสถานีบริการน้ำมันแบบดั้งเดิมอย่างมาก

นอกจากนี้ กรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen) จะต้องอาศัยไฟฟ้าในกระบวนการผลิตที่เรียกว่า กระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) ผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง(FCV) ยังมีความท้าทายในการเข้าถึงเครือข่ายการจำหน่ายและสถานีบริการสำหรับเติมก๊าซไฮโดรเจนที่ไม่สามารถให้บริการได้อย่างแพร่หลาย

นอกเหนือจากเทคโนโลยีเฉพาะทางแล้ว อีกปัจจัยหลักที่สำคัญคือ การบูรณาการแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนในทุกด้านของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งการลดการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต ส่งเสริมการรีไซเคิลวัสดุอย่างมีความรับผิดชอบ และการใช้วิธีการแยกชิ้นส่วนรถยนต์เมื่อหมดอายุการใช้งานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การเปิดรับเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนมีความท้าทาย เช่น ข้อกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการทำกำไรระยะสั้นจากการลงทุนล่วงหน้าในเทคโนโลยีที่สะอาดและโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ผลประโยชน์ในระยะยาวมีความสำคัญมกว่าอุปสรรคในช่วงเริ่มต้น เมื่อองค์กรในอุตสาหกรรมกำหนดความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน ก็จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่สะอาดขึ้น คุณภาพอากาศที่ดีขึ้น และรวมไปถึงการประหยัดต้นทุนผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน

อย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่ความยั่งยืนล้วนมีแนวทางอื่นนอกเหนือจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การลงทุนเพื่อยกระดับฝีมือแรงงานก็มีความสำคัญเช่นกัน การยกระดับและเสริมทักษะให้กับพนักงานเป็นสิ่งสำคัญเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าพนักงานมีทักษะและความรู้ที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง การส่งเสริมความหลากหลายและการมีส่วนร่วมในกลุ่มพนักงานจะนำมาซึ่งมุมมองและประสบการณ์ที่กว้างขึ้น และเปิดทางไปสู่นวัตกรรมที่ยั่งยืนมากขึ้นในที่สุด

สำหรับประเทศไทย มีการออกมาตรการอุดหนุนผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ที่ให้การสนับสนุนด้านราคาเพื่อเร่งให้นำรถไฟฟ้ามาใช้งาน และดึงดูดการลงุทนจากต่างชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็น

ศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในระดับภูมิภาค ในขณะเดียวกันประเทศไทยยังทำการศึกษาการใช้ไฮโดรเจนเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมการคมนาคม

ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ไฮโดรเจนถือเป็นส่วนหนึ่งของ“เชื้อเพลิงทางเลือก” โดยมีเป้าหมายในการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานเทียบเท่ากับน้ำมัน (KTOE) 10 กิโลตัน ภายในปี 2579 เป้าหมายดังกล่าวได้รับการส่งเสริมให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นจากการโครงการนำร่อง ด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการสร้างสถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแห่งแรกของประเทศไทยด้วย โครงการต่างๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีแนวทางที่หลากหลายเพื่อบรรลุเป้าหมายสู่ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการคมนาคมในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงนี้จำเป็นต้องมีแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ การสร้างความเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนผ่านจะราบรื่นสำหรับทุกภาคส่วน เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินการตามเป้าหมายสู่อนาคตที่ยั่งยืนประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

ท้ายที่สุด อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมดต้องปรับเปลี่ยนกุลยุทธ์นอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะ และดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางแบบองค์รวม โดยบูรณาการส่งเสริมจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในกิจการทั้งห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้แม้จะเผชิญกับความท้าทาย แต่จะสร้างคุณค่ามหาศาลในอนาคต ทั้งสภาพแวดล้อมที่สะอาดขึ้น คุณภาพอากาศที่ดีขึ้น และการประหยัดต้นทุนในระยะยาว ด้วยเลือกแนวทางปฏิบัติที่ส่งเสริมความยั่งยืนในทุกๆ ด้าน อุตสาหกรรมสามารถมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางสู่อนาคตที่ยั่งยืนสำหรับพวกเราทุกคน

 

บทความ :  มงคล  สมผล  Aotomotive Sector Leader

                ดร  โชดก ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการ  clients& Market

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ได้ลงนามสัญญาเงินกู้ มูลค่า 2.4 พันล้านบาท กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ซึ่งรวมถึงเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน จำนวน 10.7 ล้านเหรียญสหรัฐ จากกองทุนเพื่อเทคโนโลยีสะอาด (ADB-Administered Clean Technology) เพื่อเป็นทุนสนับสนุนธุรกิจบริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า 6 ที่นั่ง จำนวน 1,500 คัน และการสนับสนุนธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถานีชาร์จแบตเตอรี่สำหรับการคมนาคมขนส่งขนาดเล็กในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงการขยายฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 1.3 กิกะวัตต์ชั่วโมง ในมณฑลเจียงซู สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเงินทุนนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานของบ้านปู และสนับสนุนการเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจพลังงานที่สะอาดและฉลาดขึ้น (Greener & Smarter)

 

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บ้านปูอยู่ในช่วงของการขยายพอร์ตฟอลิโอธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้นรวมถึงธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ผ่านบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด เพื่อรองรับเทรนด์พลังงานโลก เราขอขอบคุณ ADB ที่สนับสนุนความมุ่งมั่นของเรา ทั้งสององค์กรมีปณิธานตรงกันในการสร้างพลังงานที่ยั่งยืน ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ความพยายามของเราสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนไปพร้อมกัน”

“ADB ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงพลังงานที่มีเสถียรภาพ ราคาสมเหตุสมผล และมีปริมาณคาร์บอนต่ำ ทั่วทั้งเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งตรงกับกลยุทธ์ Greener & Smarter ของบ้านปู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาธุรกิจอีโมบิลิตี้ และธุรกิจแบตเตอรี่ เราหวังว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคการขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะเป็นปัจจัยการ

เปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)” นางซูซานน์ กาบูรี่ ผู้อำนวยการ สำนักปฏิบัติการภาคเอกชน ธนาคารพัฒนาเอเชีย กล่าว

ปัจจุบัน ธุรกิจอีโมบิลิตี้ ของบ้านปู เน็กซ์ ให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าผ่านมูฟมี (MuvMi) ในลักษณะ Ride Sharing ครอบคลุม 12 พื้นที่ในเขตใจกลางกรุงเทพฯ และมีจุดให้บริการกว่า 3,000 จุด สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน บริษัทฯ มีธุรกิจที่ครอบคลุมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงบริการโซลูชันด้านแบตเตอรี่ที่เต็มศักยภาพแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต จัดจำหน่ายแบตเตอรี่ การนำแบตเตอรี่มาใช้ซ้ำและการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่สำรองไฟ สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย ประกาศเปิดโรงงานแบตเตอรี่อีวีแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนบนพื้นที่ NEW ENERGY INDUSTRIAL PARK ด้วยกำลังการผลิตกว่า 50,000 ก้อนต่อปี พร้อมเข้าสู่บทบาทการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และปักหมุดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอีวีแห่งภูมิภาคอาเซียน

บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ได้เปิดโรงงานแบตเตอรี่อีวีแห่งใหม่ ภายใต้ชื่อ HASCO-CP BATTERY SHOP ในภูมิภาคอาเซียนบนพื้นที่ NEW ENERGY INDUSTRIAL PARK ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 75 ไร่ หลังทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ ส่วนการประกอบแบตเตอรี่ ประกอบด้วยสายการผลิตอัตโนมัติที่ทันสมัยอย่างการนำหุ่นยนต์ (Robotic) เข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานที่แม่นยำ การเชื่อมโดยเลเซอร์ (Laser Welding) เพื่อให้ได้คุณภาพของการเชื่อมที่ดี การตรวจสอบด้วย CCD (Charge Coupled Device) เพื่อความแม่นยำในการตรวจสอบเทียบกับต้นแบบในทุกขั้นตอนก่อนนำไปใส่ในตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% และส่วนการทดสอบมาตรฐานของแบตเตอรี่ กว่า 60 ขั้นตอน อาทิ การตรวจสอบค่าการเก็บการคายประจุ (Charge & Discharge) การตรวจสอบน้ำรั่วซึมเข้าสู่แบตเตอรี่ (Air Leak test) ทดสอบความเป็นฉนวน (Insulation Test) ทดสอบการควบคุมพลังงาน (Static Test) เป็นต้น โดยในสายการผลิตแห่งนี้สามารถประกอบแบตเตอรี่ Cell-To-Pack ได้สูงสุดมากกว่า 50,000 ก้อนต่อปี ซึ่งแบตเตอรี่ที่ประกอบในประเทศไทยจะเป็นมาตรฐานเดียวกับสายการผลิตระดับโลก สำหรับแบตเตอรี่ที่ออกจากสายการผลิตนี้จะถูกนำไปติดตั้งในรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น MG4 ELECTRIC เป็นรุ่นแรก รวมถึงรถไฟฟ้ารุ่นอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมของสายการผลิตเพื่อเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2567”

 

นายจ้าว เฟิง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด เปิดเผยว่า “โรงงานแบตเตอรี่อีวี เป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาพื้นที่ NEW ENERGY INDUSTRIAL PARK ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE 2) จังหวัดชลบุรี เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ เพิ่มงบลงทุนอีกกว่า 500 ล้านบาท โดยจะใช้เป็นโรงงานประกอบแบตเตอรี่อีวีในรูปแบบ Cell-To-Pack (CTP) ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง RUBIK's CUBE BATTERY ด้วยข้อได้เปรียบในเรื่องของศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมถึงการที่บริษัทแม่อย่าง SAIC MOTOR CORPORATION และ HASCO-CP เล็งเห็นถึงความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน

 

“โดยนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 ที่ เอ็มจี ได้บุกเบิกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย สู่ปัจจุบันที่รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็น ที่นิยม และมีการเติบโตในตลาดแบบก้าวกระโดด ตอกย้ำความเชื่อมั่น ด้วยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสะสมรวมกว่า 18,000 คัน ด้วยผลิตภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้าที่หลากหลายตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้า อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ คือการให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Ecosystem ที่มีความแข็งแกร่งและครอบคลุมในทุกมิติของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จไฟแบบเร็ว หรือ MG SUPER CHARGE รองรับการเดินทางที่สะดวกสบาย ทั่วประเทศ ล่าสุด เอ็มจี เดินหน้าแผนงานอีวี มุ่งยกระดับอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าด้วยการเปิดตัวโรงงานประกอบแบตเตอรี่อีวี และถือเป็นเครื่องสะท้อนความตั้งใจของ เอ็มจี หลังจากนี้ยังคงเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ NEW ENERGY INDUSTRIAL PARK ในแผนงานระยะถัดไป เพื่อเติมเต็มระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าให้สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำ สู่ปลายน้ำ โดยมีกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567”

X

Right Click

No right click