December 22, 2024

 Jobsdb by SEEK ได้เปิดเผยข้อมูลตลาดแรงงานทั่วโลกและในประเทศไทยจากบทสรุปข้อมูลเชิงสำรวจเกี่ยวกับการทํางานและความสมัครใจในการโยกย้าย ซึ่งนําเสนอข้อมูลระดับโลกพร้อมข้อมูลเชิงลึกในระดับประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในผลสํารวจ ชุด Global Talent Survey 2024 จัดทำโดย JobStreet และ Jobsdb ภายใต้กลุ่มบริษัท SEEK ร่วมกับ Boston Consulting Group (BCG) (บริษัท เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด) และ The Network (เดอะ เน็ตเวิร์ค) พันธมิตรระดับโลก จัดทำร่วมกัน

ซึ่งการสำรวจนี้ได้สํารวจความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของสถานที่ทํางานและวิธีการทํางานที่ผู้หางานทั่วโลกต้องการจากผู้ทำแบบสำรวจกว่า 150,000 คน จากกว่า 180 ประเทศ โดยผลการสํารวจระดับโลกนี้อ้างอิงตามกลุ่มตัวอย่างจํานวนมากที่มีความหลากหลายและครอบคลุมถึงตลาดผู้หางานหลักที่สําคัญ  

บทสรุปสำคัญ 

  • แนวโน้มการโยกย้าย: 63% ของผู้หางานทั่วโลกเปิดรับการย้ายถิ่นฐานเพื่อทำงาน โดยมีสัดส่วนลดลงเมื่อเทียบกับก่อนโควิดที่มีอัตราเปิดรับการย้ายถิ่นฐานที่ 71%   
  • ความกระตือรือร้นในการหางาน: 25% ของผู้หางาน กำลังมองหางานในต่างประเทศเพราะมีความคาดหวังโอกาสในการทำงาน คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และรายได้ที่มากขึ้น  
  • แนวโน้มการทำงานทางไกลระหว่างประเทศ: ภาพรวมผู้หางานจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กว่า 66% สนใจที่จะทำงานในต่างประเทศโดยที่ไม่ต้องมีการย้ายถิ่นฐาน แสดงให้เห็นถึงการโยกย้ายแบบเสมือน หรือ Virtual Mobility ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามคนไทย ตอบรับการทำงานทางไกลระหว่างประเทศสูงถึง 76% เทียบกับปี 2563 ที่มีสัดส่วนเพียง 50%  
  • ผู้หางานชาวไทยสนใจในการทำงานต่างประเทศมากขึ้น: ผู้ตอบแบบสอบถามคนไทยกว่า 66% มีความสนใจในการโยกย้ายไปทำงานต่างประเทศ และ 79% ของกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มคนที่มีอายุน้อย ที่แสดงความสนใจในการไปทำงานต่างประเทศ ปัจจัยของความสนใจโยกย้ายถิ่นฐานนี้มาจาก ความมุ่งมั่นเกี่ยวกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ตลอดจนโอกาสที่จะได้รับประสบการณ์ในระดับนานาชาติ และถึงแม้ตัวเลขจะยังไม่ถึงจุดสูงสุดก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2561 แต่ความสนใจถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2566 ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนถึง ปรากฏการณ์สมองไหล โดยเฉพาะคนทำงานในกลุ่มการศึกษาและการฝึกอบรม กฎหมาย การจัดการธุรกิจ และไอที 
  • การพัฒนากลยุทธ์สำหรับบริษัทจ้างงาน เพื่อดึงดูดผู้หางานระดับโลก: การสร้างมาตรฐานองค์กรสากลเพื่อดึงดูดผู้หางานระดับโลกด้วยข้อเสนอที่ตอบสนองกับความต้องการของชาวต่างชาติอย่างการสนับสนุนในการย้ายถิ่นฐานพร้อมกับการจัดการเรื่องวีซ่าเเละที่อยู่อาศัย และการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เปิดกว้าง ไม่แบ่งแยก เพื่อดึงดูดและรักษาพนักงานคุณภาพระดับโลก 

ประเทศไทยได้กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายยอดนิยมของผู้หางาน 

ประเทศไทยยังได้ถูกยกให้เป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นที่ต้องการของผู้หางานจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้ขยับขึ้นมาลำดับที่ 31 จากลำดับที่ 39 ในการจัดอันดับโลกนับจากปี 2561 ประเทศไทยดึงดูดผู้ที่มีความสามารถหลากหลายจากทั่วโลกถึง 62% ให้เข้ามาทำงาน เนื่องจากชื่นชอบในคุณภาพชีวิต วัฒนธรรมที่เป็นมิตรและการไม่แบ่งแยก ควบคู่ไปกับการพิจารณาเรื่องค่าครองชีพที่เอื้อต่อการอยู่อาศัย โดยผลสำรวจในเดือนมีนาคมปี 2566 ได้เปิดเผยว่าในประเทศไทยมีพนักงานต่างชาติกว่า 2.7 ล้านคน ซึ่งนับเป็น 7% ของแรงงานในประเทศ  

จุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาวไทย 

79% ของผู้หางานชาวไทยเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่มีความสนใจในการทำงานในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงความมุ่งมั่นในความก้าวหน้าในอาชีพ โดยเฉพาะในกลุ่มการศึกษาและการฝึกอบรม ขณะที่สาขาเช่นการบริการทางการเงินและธุรการมีความสนใจที่น้อยกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะมีโอกาสในประเทศมากกว่า  

จุดหมายปลายทางที่แรงงานไทยให้ความนิยมได้แก่ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ประเทศจีน ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่างๆ เช่นความสัมพันธ์ระดับภูมิภาค ศักยภาพทางการตลาด และการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม 60% ของผู้ที่ได้ไปทำงานในต่างประเทศมีความตั้งใจที่จะกลับมายังประเทศไทยในท้ายที่สุด เเละอีก 18% ที่ต้องการอยู่ต่ออย่างไม่มีกำหนด 

ตัวอย่างสาขาอาชีพที่มีความพร้อมในการโยกย้าย: 

การศึกษาและการฝึกอบรม: 85% ของอาจารย์เเละผู้สอนในประเทศไทยนั่นเชื่อว่าจะได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายเเละเติบโตในหน้าที่จากการสอนระหว่างประเทศ 

กฏหมาย: 73% ของนักกฎหมายชาวไทยกำลังมองหาบทบาทระดับนานาชาติเพื่อขยายความเชี่ยวชาญทางกฎหมายและสร้างเครือข่ายระดับโลก 

การจัดการธุรกิจ: นักบริหารธุรกิจมีความต้องการที่จะมองหาโอกาสการทำงานในต่างประเทศอย่างสิงคโปร์และฮ่องกงเพื่อการเติบโตด้านการตลาด สื่อดิจิทัล และอุตสาหกรรม AI 

ไอที: ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีมีความมุ่งมั่นที่จะไปทำงานในประเทศที่มีการพัฒนาในด้านเทค อย่าง สหรัฐอเมริกา เพื่อที่จะเสริมสร้างความรู้ในแง่ของการพัฒนาซอฟต์แวร์ วิทยาศาสตร์ข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการพัฒนาและปฏิบัติการร่วมกัน 

วิศวกรรมและเทคนิค: วิศวกรมีความต้องการที่จะทำงานในองค์กรขนาดใหญ่เเละครบวงจรโดย 69% ของวิศวกรมีความยินดีที่จะย้ายสถานที่ทำงาน 

แนวโน้มการทำงานทางไกลระหว่างประเทศ 

แนวโน้มการทำงานระยะไกลเพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยตั้งแต่ปี 2563 ผู้หางานชาวไทยมีความต้องการในการทำงานระยะไกลหรือการทำงานแบบไม่ต้องย้ายถิ่นฐานเพิ่มขึ้นถึง 26% จาก 50%ในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 76% ในปี 2566 แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นนี้สอดคล้องกับความสนใจในการย้ายถิ่นฐานไปทำงานต่างประเทศที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะผู้หางานมองว่าตนเองสามารถทำงานทางไกลได้จากประเทศไทยโดยไม่จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานได้เช่นกัน 

 

ข้อเสนอแนะสําหรับผู้ประกอบการชาวไทย 

การพัฒนากลยุทธ์เพื่อดึงดูดผู้หางานระดับโลก: 

  1. การวางแผนเกี่ยวกับความต้องการบุคลากรระดับโลก: เพื่อรับมือกับปัญหาขาดแคลนบุคลากรในอนาคต ผู้ประกอบการไทยควรวางแผนจำนวนบุคลากรล่วงหน้าโดยเฉพาะในสาขาที่มีทักษะสูง เนื่องจากประชากรสูงวัยและภาคดิจิทัลมีช่องว่างด้านบุคลากรจึงอาจพิจารณาดึงคนจากประเทศใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย ที่สนใจย้ายมาทำงานในไทย 
  2. การดึงดูดเเละสรรหาบุคลากรจากทั่วโลก: เพื่อดึงดูดผู้หางานคุณภาพจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการในประเทศไทยควรปรับข้อเสนอขององค์กรให้เหมาะสมกับความต้องการของแรงงานทั่วโลกโดยการมุ่งเน้นไปที่คุณภาพชีวิต วัฒนธรรมองค์กร รายได้ ภาษี และค่าครองชีพ นอกจากนี้ การเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มสรรหาบุคลากรที่มีเครือข่ายทั่วภูมิภาค เช่น SEEK ก็ช่วยเปิดโอกาสในการค้นหาผู้หางานได้มากขึ้นเช่นกัน 
  3. การย้ายถิ่นฐานเเละการต้อนรับดูแลบุคลากรจากทั่วโลก: ผู้ประกอบการไทยควรให้การสนับสนุนดูแลบุคลากรจากทั่วโลกที่ย้ายมาทำงานในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการช่วยเหลือด้านวีซ่า ที่อยู่อาศัย และการย้ายถิ่นฐาน รวมถึงการปฐมนิเทศและโปรแกรมเพื่อนร่วมงานในช่วงแรก 
  4. การรักษาพนักงานคุณภาพระดับโลก: เพื่อปลดล็อกศักยภาพของวัฒนธรรมองค์กรควรที่จะสร้างบรรยากาศการทำงานที่เปิดกว้างเเละไม่แบ่งแยกโดยการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการทำงานเเละยังมุ่งเน้นในการสร้างวัฒนธรรมที่ยอมรับความหลากหลายเช่น การจัดทีมงานระหว่างวัฒนธรรม การฝึกอบรมหัวหน้างานเกี่ยวกับการไม่ลำเอียง และการเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรม 

การสำรวจแรงงานทั่วโลก หรือ Global Talent Survey 2024 โดย Jobsdb by SEEK แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับบุคลากรระดับมืออาชีพทั้งจากโอกาสทางอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในขณะเดียวกันความสนใจของชาวไทยในการทำงานต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน การปรับกลยุทธ์ในการดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถจึงเป็นสิ่งสำคัญในการตอบรับกับแนวโน้มการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้

หลายปีที่ผ่านมาอาจสังเกตได้ว่า มีพี่น้องแรงงานเมียนมาและกัมพูชาเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในหลากหลายกิจการทั้งเล็กและใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน เผยสถิติล่าสุดในเดือนเมษายน 2567 ว่ามีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 3,326,034 คน โดยเป็นแรงงานชาวเมียนมา 2,302,459 คน และแรงงานกัมพูชา 448,967 คน เห็นตัวเลขแล้วก็ไม่น่าแปลกใจ ที่เราต่างได้เห็นความหลากหลายในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น

จากการดูแลกลุ่มลูกค้าแรงงานเมียนมาและกัมพูชากว่า 88 เปอร์เซ็นต์ในตลาด ทีมทำงานของทรูและดีแทคเดินตลาดสำรวจความต้องการของกลุ่มลูกค้า เพื่อนำมาพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์อย่างต่อเนื่อง และมี Insights ที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตไกลบ้านของพี่น้องแรงงานต่างชาติทั้งเมียนมาและกัมพูชา ที่ทำให้เราเข้าใจพวกเขาได้มากกว่าเดิม

ทำงานสู้ชีวิต หาเงินเพื่อครอบครัว และเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

พวกเขามีความเชื่อในเรื่องการสู้ชีวิต เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงให้คุณค่ากับการทำงานหนัก ขยันและอดทน โดยมีเป้าหมายที่จะหาเงินให้ได้มาก ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาทำงานอย่างน้อย 6 วันต่อสัปดาห์ จากการเก็บข้อมูลพบว่า แรงงานข้ามชาติมากกว่าครึ่งหนึ่งได้รับค่าจ้างเป็นแบบรายวัน แต่โดยรวมแล้วมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ประมาณ 12,424 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการทำงานในประเทศของพวกเขาเอง

โอนเงินกลับบ้านให้ครอบครัวเป็นประจำ

รายได้จากการทำงานพวกเขาจะเก็บออมและส่งเงินกลับไปให้ครอบครัว ซึ่งอาจเป็นพ่อแม่ หรือลูกที่อยู่ในประเทศของตัวเอง เพื่อให้นำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือเก็บไว้ซื้อรถ สร้างบ้าน รวมถึงนำไปลงทุนในกิจการส่วนตัว เพราะพวกเขามักเป็นเสาหลักของครอบครัว รายงานจาก UNDP เผยว่า เงินที่ส่งกลับมาจากต่างประเทศเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของครัวเรือนในเมียนมาเสมอมา เนื่องจากโอกาสในการทำอาชีพต่างๆ ลดลง และมีแรงงานออกจากประเทศมากขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจคือ การโอนเงินกลับบ้าน พวกเขายังเลือกใช้ช่องทางไม่เป็นทางการที่รู้จักกันในชื่อ “โพยก๊วน” หรือการโอนส่งเงินระหว่างกันโดยอาศัยนายหน้า การศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า แรงงานเมียนมาเลือกใช้ระบบนี้ เพราะคนรับเงินปลายทางสะดวกกว่า จากการที่นายหน้านำเงินส่งให้ถึงบ้าน ไม่เหมือนกับการโอนผ่านธนาคาร ที่ผู้รับเงินต้องเดินทางไปรับเงินเอง รวมถึงระบบนี้ไม่ต้องใช้เอกสารยืนยันใดๆ เช่นเดียวกับการศึกษาของ Regional Center for Social Science and Sustainable Development (RCSD) ที่เผยว่า แรงงานกัมพูชาเลือกส่งเงินจากไทยผ่านช่องทางไม่เป็นทางการ เพื่อให้นายหน้าหรือญาติถอนเงินสดไปให้ครอบครัว ระบบนี้ยังคงได้รับความนิยมเนื่องจากส่วนใหญ่รู้จักนายหน้าจากการแนะนำต่อกัน และจากประสบการณ์ที่ได้รับเงินเต็มจำนวนตามที่ตกลงกันไว้

มีวันหยุด 1 วันต่อสัปดาห์คือ วันอาทิตย์ กิจกรรมยอดฮิตคือ เล่นอินเทอร์เน็ต

วันหยุดประจำสัปดาห์มีเพียงวันเดียวคือ วันอาทิตย์ เนื่องจากพวกเขามักทำงานในกิจการที่เปิดทำการทุกวัน เช่น พนักงานร้านค้า พนักงานร้านอาหาร คนงานก่อสร้าง พนักงานโรงงาน รวมถึงงานรับจ้างต่างๆ

สำหรับกิจกรรมในวันหยุดเป็นไปอย่างเรียบง่าย เน้นการพักผ่อน อยู่กับครอบครัว นัดเที่ยวกับกลุ่มเพื่อน และเล่นอินเทอร์เน็ต จากการเก็บข้อมูลพบว่า ประเภทของแอปพลิเคชันที่มีการใช้งานสูงสุด 6 อันดับ คือ 1. โซเชียลมีเดีย 2. สตรีมมิง 3. การเงิน 4. ออนไลน์ช้อปปิ้ง 5. เกม 6. การท่องเที่ยว เมื่ออินเทอร์เน็ตมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตและการพักผ่อนของพวกเขา ค่าใช้จ่ายสำหรับการโทรและใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่พวกเขายินดีจ่ายอยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อเดือน โดยเลือกใช้เป็นแพ็กเกจแบบเติมเงิน ทรูและดีแทคจึงได้มอบสิทธิพิเศษในการเล่นโซเชียลมีเดีย และสตรีมมิงแอปได้ฟรีทุกเดือน เพียงมียอดการเติมเงินหรือใช้จ่ายต่อเนื่อง

จุดน่าสังเกตคือ แต่เดิมนั้นลูกค้ากลุ่มนี้จะมีความเชื่อว่า การซื้อซิมใหม่ทุกเดือนจะทำให้ได้เล่นอินเทอร์เน็ตที่มีความแรงมากกว่าการใช้ซิมเดิมต่อในเดือนที่ 2 จึงมียอดการทิ้งซิมเดิม และซื้อซิมใหม่ในอัตราที่สูงมาก อย่างไรก็ตามเมื่อลูกค้ากลุ่มนี้ได้ใช้ชีวิตในประเทศไทยนานขึ้น ก็จะมีเริ่มเข้าใจการใช้งานและมียอดการทิ้งซิมเดือนต่อเดือนลดลง

ชอบทำบุญเป็นชีวิตจิตใจ

แรงงานชาวเมียนมาและกัมพูชาส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา การไปวัดถือทำบุญจึงถือเป็นประเพณีสำคัญ แม้ย้ายมาทำงานในประเทศไทย พวกเขายังคงนัดกันไปทำบุญตามวัดที่ศรัทธา ซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจยามไกลบ้านเกิด โดยอาจเป็นวัดที่มีพระชาวเมียนมาหรือกัมพูชาจำวัดอยู่ หรือวัดที่มีสถาปัตยกรรมหรือสิ่งปลูกสร้างที่พวกเขาคุ้นเคย ชาวเมียนมาหลายคนยังคงการแต่งตัวด้วยชุดประจำชาติไปวัดอีกด้วย

ในเพจเฟซบุ๊ก of dtac Myanmar, True Myanmar, dtac Cambodia, and True Cambodia ที่ถือเป็นคอมมูนิตี้ของพี่น้องแรงงานจะมีปฏิทินบอกวันสำคัญทางศาสนาทั้งในไทย เมียนมา และกัมพูชา ให้กับกลุ่มลูกค้าเป็นประจำทุกเดือน

 

อยากพูดไทยได้ และเขินอายที่ออกเสียงภาษาไทยได้ไม่ชัด

พี่น้องแรงงานเมียนมาและกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในไทยนานแล้วหรืออยู่ในเขตเมือง จะเข้าใจและสื่อสารภาษาไทยได้คล่องแคล่ว แต่ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่ยังออกเสียงภาษาไทยไม่ชัด ซึ่งก็ทำให้พวกเขารู้สึกเขินอายและไม่มั่นใจที่จะพูดกับคนไทย พวกเขาจึงพยายามที่จะฝึกพูดภาษาไทยกับเพื่อน รวมถึงการเรียนรู้จากคนไทยและสื่อบันเทิงของไทย อย่างไรก็ดี พวกเขาก็อาจยังขาดทักษะในการอ่านหรือเขียนภาษาไทย ซึ่งอาจมีผลทำให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างจำกัด รวมไปถึงความก้าวหน้าทางอาชีพอีกด้วย

มีงานวิจัยพบว่า การรู้ภาษาไทยจะเป็นประโยชน์ต่อแรงงานเมียนมาโดยเฉพาะในเขตเมือง เพราะทำให้พวกเขามีโอกาสได้งานทำมากขึ้นเมื่อเข้าใจสิ่งที่นายจ้างต้องการ รวมถึงการได้ทำงานที่ใช้แรงงานน้อยกว่าเมื่อเทียบกับแรงงานที่พูดภาษาไทยไม่ได้ และหากมีทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยได้ พวกเขาจะได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีกว่า

จากความเข้าใจลูกค้ากลุ่มนี้ ทรูจึงได้ร่วมมือกับ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network) หรือ LPN เปิดสอนภาษาไทยพื้นฐานให้กับชาวเมียนมาที่สนใจเรียนรู้ ผ่านช่องทาง Live online ที่เพจเฟซบุ๊ก dtac Myanmar ซึ่งมีผู้ติดตามจำนวน 3 ล้านบัญชี และ True Myanmar ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 6 แสนบัญชี ถือได้ว่าเป็น Community ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตและทำงานในประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น

 

รักพวกพ้อง ไว้ใจเพื่อน และชอบความคุ้นเคย

พวกเขาชอบใช้ชีวิตเรียบง่าย มีใจรักบ้านเกิดและพวกพ้อง การที่ต้องมาทำงานไกลบ้านทำให้รวมตัวติดต่อสื่อสารกันในกลุ่ม คำแนะนำจากเพื่อนที่มาอยู่ไทยก่อนเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ เรียกได้ว่า เพื่อนหรือคนใกล้ชิด เป็นผู้มีอิทธิพลต่อพวกเขาอย่างมาก เช่น การเลือกแพ็กเกจใช้งาน พวกเขาจะไม่ได้เปรียบเทียบข้อเสนอเป็นหลัก แต่มักเลือกใช้ตามกัน และเลือกตามงบที่จ่ายได้ต่อเดือน

นอกจากนี้ กลุ่มแรงงานต่างชาติชอบที่จะเลือกใช้สินค้าต่างๆ ที่เคยมีในประเทศของตัวเอง เพราะมีความคุ้นเคย และไว้วางใจในสิ่งที่เคยใช้มาแล้ว Insight ที่น่าสนใจในประเด็นนี้ คือ กลุ่มลูกค้าแรงงานเมียนมาคุ้นเคยและวางใจแบรนด์ Telenor ตั้งแต่อยู่ในเมียนมา เมื่อย้ายมาทำงานในไทยจึงเลือกค่ายที่คุ้นเคยก่อนเป็นอันดับแรก

ด้วยความเข้าใจ ใส่ใจ และให้ความสำคัญของพี่น้องแรงงานชาวเมียนมาและกัมพูชา ที่มาทำงานต่างบ้านต่างเมือง ทรู และดีแทค จึงให้บริการพร้อมดูแลเคียงข้างอย่างรู้ใจ ผ่านการพูดภาษาเดียวกันกับคอลเซ็นเตอร์ภาษาเมียนมาและกัมพูชา สร้างคอมมูนิตี้ในเพจ Facebook และ TikTok ในภาษาเมียนมาและกัมพูชา เพื่อเป็นสื่อกลางการติดต่อสื่อสาร สร้างแรงบันดาลใจ และมีคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์อย่างแท้จริง

พร้อมไปกับการมอบประสบการณ์การใช้งานที่คุ้มและตรงใจที่สุดกับแพ็กเกจที่คัดสรรให้ตรงความต้องการ โดยตั้งใจมอบให้ลูกค้าชาวเมียนมาและกัมพูชาได้มีความสุขในทุกวันที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองภาคเกษตรไทยติดหล่มการพัฒนาจากข้อจำกัดในการสร้างมูลค่าเพิ่มทำให้มีรายได้และกำไรไม่เพียงพอในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยภาคเกษตรต่ำกว่านอกภาคการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ มีสิ่งชักจูงให้คนรุ่นใหม่ละทิ้งภาคเกษตรในขณะที่แรงงานเกษตรในปัจจุบันมีอายุเฉลี่ยสูงที่ใกล้ออกจากตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น แนะรัฐและเอกชนร่วมมือยกระดับเศรษฐกิจเกษตรไทยให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้ยังมีความต้องการในการทำงานในภาคเกษตรก่อนจะสายเกินไป

เศรษฐกิจภาคการเกษตรนับเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจภูมิภาคและเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับประชาชนที่มีถิ่นอาศัยในภูมิภาคโดยมีข้อจำกัดในตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรที่มักกระจุกตัวในเขต กรุงเทพ-ปริมณฑล ภาคตะวันออก และในพื้นที่เขตเมืองของจังหวัดในแต่ละภูมิภาคเท่านั้น โดยตามข้อมูลของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้เศรษฐกิจภาคการเกษตรของไทยในปี 2565 มีมูลค่าราว 1.53 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 8.8% ของ GDP โดยในปี 2566 ttb analytics ประมาณการว่ามูลค่าเศรษฐกิจภาคการเกษตรคาดว่าจะลดลงเหลือเพียงสัดส่วน 8.6%

สัญญาณของสัดส่วนเศรษฐกิจภาคการเกษตรที่ปรับลดลงเล็กน้อยอาจดูไม่สะท้อนภาพ แต่ถ้ามองลึกลงไปพบว่า บทบาทเศรษฐกิจภาคการเกษตรมีทิศทางลดลงต่อเนื่อง หากเมื่อเทียบกับปี 2555 เศรษฐกิจภาคเกษตรไทยเคยมีสัดส่วน 11.5% ของ GDP ที่มูลค่า 1.42 ล้านล้านบาท โดยเมื่อพิจารณาเพียงผิวเผินอาจมองเป็นเรื่องปกติเนื่องจากสินค้าอุตสาหกรรมและภาคบริการจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าสินค้าเกษตร แต่หากเมื่อมองถึงอัตราการขยายตัวพบว่าภาคเศรษฐกิจการเกษตรไทยยังติดกับดักการสร้างมูลค่าเพิ่ม ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจภาคเกษตรไทยขยายตัวเพียง 7.7% ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ มีการขยายตัวในอัตราที่สูง เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย และเวียดนาม ขยายตัวอยู่ที่ 51.5% 82.7% และ 53.2% ตามลำดับ และรวมถึงประเทศที่เน้นบทบาทของการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น จีน และเยอรมัน ที่ขยายตัว 68.6% และ 51.0% ตามลำดับ

 

สัญญาณการเติบโตที่ต่ำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาของภาคการเกษตรไทย แสดงถึงข้อจำกัดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรที่สามารถเพิ่มรายได้สร้างกำไรที่สูงขึ้นย้อนกลับไปหาเกษตรกรเพื่อใช้ยังชีพและเลี้ยงดูครอบครัว รวมถึงกำไรยังถือเป็นส่วนสำคัญของเกษตรกรที่จะนำมาใช้เพื่อลงทุนพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจในมิติต่าง ๆ เช่น การซื้อที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซื้อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลงทุนสร้างแหล่งกักเก็บน้ำในช่วงน้ำเยอะสำรองไว้ในช่วงน้ำน้อย หรือการลงทุนในเทคโนโลยีการเพาะปลูกทางการเกษตรที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการเพาะปลูกในระยะยาว ซึ่งตามข้อเท็จจริงสะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรไม่สามารถลงทุนต่อยอดพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตใด ๆ ได้เลยจากรายได้ที่ดูเหมือนจะไม่เติบโตในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทาง ttb analytics ได้สรุปสาเหตุที่ภาคการเกษตรของไทยไม่สามารถขยายตัวได้ ตามเหตุผลหลัก ๆ ต่อไปนี้

1) เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงยึดติดกับการขายสินค้าเกษตรโดยไม่ผ่านการแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากสินค้าเกษตรเมื่อผ่านการแปรรูปย่อมมีมูลค่าเพิ่มจากกรรมวิธีการผลิตที่แปรรูปจากสินค้าเกษตรที่ไม่มีเอกลักษณ์ให้กลายเป็นสินค้าบริโภคที่มีความเฉพาะตัว รวมถึงสามารถเพิ่มมูลค่าผ่านรูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่สามารถสร้างให้ตอบโจทย์กับผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มที่มีพฤติกรรมซื้อสินค้าต่างกันออกไป รวมถึงการแปรรูปยังสามารถช่วยลดการพึ่งพิงพ่อค้าคนกลางเพื่อให้ช่วยรับซื้อสินค้าจากข้อจำกัดเรื่องที่สินค้าเกษตรจัดอยู่ในกลุ่มที่เน่าเสียได้ง่าย

2) เกษตรกรไทยเผชิญกับปัญหาการกระจายรายได้จากผลผลิตที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่สามารถก้าวผ่านการเป็นผู้ผลิตเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการได้ จึงยังมีฐานะเป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าขั้นกลางให้กับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย เช่น ในกรณีศึกษาข้าวขาวพบว่า ปี 2566 ข้าวขาวราคาเฉลี่ย 20.7 บาท/กิโลกรัม กำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการก่อนหักต้นทุนการขายและการบริหารที่ราว 4.05 – 5.8 บาทต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นการกระจายรายได้จากผลผลิตขั้นสุดท้ายถึงมือผู้ประกอบการที่ 19.6% -24.5% ในขณะที่เกษตรกรไทยได้รับกำไรจากการเพาะปลูกข้าวเพียงราว 0.22 บาทต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นการกระจายรายได้ที่ย้อนกลับมาในมือของเกษตรกรคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.1% ของราคาข้าวขาวที่เป็นสินค้าบริโภคขั้นสุดท้าย

ดังนั้น บนสถานการณ์ที่ภาคการเกษตรไทยไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มที่จะทำให้รายได้ย้อนกลับสู่เกษตรกรได้เหมาะสม ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของแรงงานภาคการเกษตรในปี 2565 อยู่ที่เพียง 128,000 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่กลุ่มแรงงานนอกภาคการเกษตรมีรายได้เฉลี่ยถึง 580,000 บาทต่อคนต่อปี ย่อมส่งผลต่อให้คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มละทิ้งภาคการเกษตรและหันเข้าทำงานในกลุ่มนอกภาคการเกษตรจากผลตอบแทนที่สูงกว่า สอดคล้องกับสถิติที่ชี้ชัดว่าในปี 2555 แรงงานในภาคการเกษตรมีจำนวนมากถึง 15.4 ล้านคน ในขณะที่ปี 2565 แรงงานภาคการเกษตรลดลงเหลือเพียง 11.9 ล้านคน และแรงงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 23.6 ล้านคนเป็น 27.3 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากในเชิงโครงสร้างยังพบว่าเกษตรกรไทยที่เป็นกลุ่มแรงงานในภาคการเกษตรมีอายุเฉลี่ยสูงถึง 62 ปี จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลต่อเนื่องว่าระยะถัดไปที่กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ออกจากตลาดแรงงานบนเงื่อนไขของแรงงานรุ่นใหม่เลือกไม่ทำงานในภาคการเกษตรจากผลตอบแทนที่ต่ำกว่า รวมถึงกลุ่มที่อยู่ในครอบครัวเกษตรและมีประสบการณ์ที่ครอบครัวทำการเกษตรมาตลอดชีวิตแต่ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ก็คงไม่อยากจะเดินตามรอยครอบครัวที่ทำมาในอดีต ด้วยเหตุนี้ทาง ttb analytics จึงมองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องช่วยกันยกระดับพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรไทยเพื่อให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพียงพอเพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่มีความสนใจที่ยังทำงานในภาคการเกษตร ก่อนที่ต่อไปประเทศไทยจะไม่มีเกษตรกร คงเกิดคำถามว่าใครจะปลูกข้าวให้เรากิน

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อตรวจประเมินสภาพการทำงานบนเรือถ่ายลำรวมถึงสวัสดิภาพของแรงงานบนเรือเบ็ดราว ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562

 

บนความมุ่งหวังว่าการตรวจประเมินนี้จะช่วยยกระดับการประเมินที่บริษัทได้ดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบผ่านทางดาวเทียมและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ รวมถึงการตรวจสอบที่ท่าเรือ ให้สอดคล้องกับโครงการพัฒนาการทำงานและสวัสดิการแรงงานประมง (Fisher Work and Welfare program) และแนวทางการปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง ซึ่งไทยยูเนี่ยนได้ใช้เป็นแนวทางในการตรวจประเมินเรือประมงทั่วโลกที่จัดหาปลาและอาหารทะเลอื่น ๆ ให้กับบริษัท

สำหรับการดำเนินงานในครั้งนี้ที่ปรึกษาได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในท้องทะเลเป็นเวลา 34 วัน เพื่อทำการประเมินเรือเบ็ดราว จำนวน 19 ลำ ที่ปรึกษากล่าวถึงการปฏิบัติงานในครั้งนี้ว่า “นับเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากในการใช้เวลาอยู่บนเรือเบ็ดราวภายใต้โครงการนี้ที่มุ่งพัฒนา ดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยและสภาพความเป็นอยู่ของคนงานบนเรือประมง จากประสบการณ์การทำงานด้านนี้มา 13 ปี นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นว่าคนงานบนเรือประมงรู้สึกว่ามีคนเป็นห่วง ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และมีคนรับฟังเสียงของพวกเขา โครงการประเมินสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานบนเรือในท้องทะเลนี้เป็นวิธีการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและสามารถทำได้ทั่วโลก เป็นจุดเชื่อมโยงแรงงานประมงกับสิทธิมนุษยชนเข้าด้วยกันและสามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอมากขึ้น”

งานที่เสี่ยงอันตราย - ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่า

บริษัทฯ ให้ความสำคัญและดำเนินโครงการนี้อย่างจริงจัง เพราะการทำงานตรวจประเมินเรือประมงที่ลอยอยู่กลางทะเลนั้นมีความเสี่ยง ผู้สังเกตุการณ์แรงงานประมงที่ทำงานอยู่กลางทะเลนั้นอาจตกเป็นเป้าโดนทำร้าย ข่มขู่ หรือในกรณีร้ายแรงอาจถึงแก่ชีวิต ตามข้อมูลจาก สมาคมผู้สังเกตุการณ์อาชีพ หรือ Association of Professional Observers (APO) พบว่าในช่วงปี 2558-2563 แต่ละปีมีผู้สังเกตุการณ์เสียชีวิตปีละ 1-2 คน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ไทยยูเนี่ยนจะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่มีความสามารถในการให้คำแนะนำแก่บริษัทและรับรองความปลอดภัยให้กับผู้สังเกตการณ์ได้

ที่ปรึกษาที่ทำการตรวจสอบในครั้งนี้คือ MRAG ซึ่งมีประสบการณ์ในการส่งผู้สังเกตการณ์และผู้ประเมินเข้าทำงานบนเรือประมงและเรือลำเลียงต่างๆ ที่ปรึกษาที่ได้รับการคัดเลือกให้ออกเดินทางไปกับเรือเพื่อสังเกตการณ์นั้น เป็นผู้ที่ได้ทำงานและตรวจประเมินเรือลำนั้นๆ บนฝั่งมาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นเรือที่อยู่ในโครงการพัฒนาเรือประมงของไทยยูเนี่ยน

ระหว่างการประเมิน โครงการนี้ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลเชิงลึกอันเป็นประโยชน์ เมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจประเมินเฉพาะที่ท่าเรือ ท่านสามารถอ่านผลการรายงานได้ที่ เว็บไซต์ความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยนหรือ SeaChange®

การตรวจประเมินเรือประมงในท้องทะเลในอนาคต

หลังโครงการนี้เสร็จสิ้น ไทยยูเนี่ยนสามารถต่อยอดผลการตรวจประเมินรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาการทำงานและสวัสดิการแรงงานประมง (Fisher Work and Welfare program) โดยไทยยูเนี่ยนมีความมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนามาตรการต่างๆ เกี่ยวกับการตรวจประเมินเรือประมงกลางทะเล และการประเมินที่ท่าเรือ ซึ่งไม่เพียงแต่กระบวนการตรวจสอบในโครงการนี้เท่านั้น แต่เป็นการยกระดับและผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมประมงให้ดีขึ้น ไทยยูเนี่ยนยังมีแผนที่จะทำการประเมินเรือประมงในท้องทะเลในโครงการพัฒนาอื่น ๆ อีกด้วย

ไทยยูเนี่ยนมุ่งมั่นผลักดันให้มีการทำประมงที่โปร่งใสมากขึ้น ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับบริษัทคู่ค้า แสดงถึงความรับผิดชอบและการสนับสนุนให้บริษัทคู่ค้าร่วมพัฒนาไปด้วยกัน ท่านสามารถอ่านบล็อกเกี่ยวกับการประเมินเรือประมงในท้องทะเลของไทยยูเนี่ยนฉบับเต็มได้ ที่นี่

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงแรงงาน รับมอบไข่ไก่สดจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เพื่อมอบให้แก่ชาวชุมชนคลองเตยล็อค 4-5-6 ที่ร่วมโครงการ "คลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ เพื่อคนไทยมีงานทำ" จัดโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร โดยมี นางจินตนา วัลยเสวี ผู้จัดการ สำนักประสานงานประกันสังคม ซีพีเอฟ เป็นผู้มอบ

X

Right Click

No right click