มูลนิธิรามาธิบดี ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มอบโอกาสทางการศึกษาให้แก่คนพิการเพื่อผลิตบัณฑิตกลุ่มวิชาชีพครู หวังเพิ่มจำนวนบุคลากรครูที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการสอนคนพิการไปยังสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดความรู้ ส่งเสริมศักยภาพให้คนพิการมีอาชีพที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ผ่านการระดมทุนในโครงการทุนสถาบันราชสุดา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการในสังคมไทย
คนพิการคือกลุ่มคนที่ต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านการศึกษา แม้ว่าในทางกฎหมาย ภาครัฐจะให้ความสำคัญต่อการศึกษาโดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องได้รับและสามารถเข้าถึงได้ แต่ในทางปฏิบัติ การจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มคนพิการนั้นยังคงเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยากและอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากปัญหาทั้งด้านหลักสูตร โครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาสำหรับคนพิการ และความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
อาจารย์นายแพทย์สมเกียรติ ลีละศิธร ผู้อำนวยการสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “การขาดโอกาสทางการศึกษาส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี จนนำมาสู่ปัญหาการขาดโอกาสในการประกอบอาชีพของกลุ่มคนพิการ จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2567 พบว่า มีจำนวนคนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมายในประเทศไทยทั้งสิ้น 423,936 คน คิดเป็น 19.19% ของคนพิการทั้งหมด โดยในจำนวนคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายทั้ง 423,936 คนเหล่านี้ มีผู้ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษาสูงที่สุด 282,410 คน รองลงมาคือระดับมัธยมศึกษาที่ 35,899 คน ในขณะที่ผู้ที่ได้รับ
การศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามีเพียง 9,227 คนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมุ่งมั่นเป็นสถาบันที่เปิดพื้นที่ทางการศึกษาสำหรับนักศึกษาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ตั้งแต่ระดับชั้นปริญญาตรี โท และเอก เพื่อผลิตบุคลากรครูสำหรับคนพิการทางการได้ยินโดยเฉพาะ รวมทั้งเป็นที่พึ่งพิงให้กับคนพิการที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพกายและจิตใจผ่านงานบริการและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับทุกคนในสังคมได้อย่างมีความสุข”
อาจารย์ ดร.ปรเมศวร์ บุญยืน ประธานหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาของคนหูหนวก กล่าวว่า “ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การขาดแคลนล่ามภาษามือ จากสถิติกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2567 พบว่า ล่ามภาษามือที่จดแจ้งมีจำนวนทั้งหมด 178 คน โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลมากที่สุด และ 36 จังหวัดในประเทศไทยไม่พบล่ามภาษามือที่จดแจ้ง สถาบันราชสุดา ในฐานะสถาบันการศึกษาแห่งเดียวที่ผลิตล่ามภาษามือในระดับปริญญาตรี จึงให้มุ่งมั่นในการผลิตบัณฑิตเพื่อส่งต่อความรู้ให้แก่คนพิการทางการได้ยินให้มีทักษะในการประกอบอาชีพ ตลอดจนสามารถหาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนพิการในสังคมไทย”
คุณพรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวเสริมว่า “มูลนิธิรามาธิบดีฯ มุ่งมั่นในการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ผ่านการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความเท่าเทียมและไม่แบ่งแยก โดยเฉพาะความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาตนเอง โครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงก่อตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนสนับสนุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมจัดสรรเงินทุนเพื่อพัฒนาด้านการเรียนการสอนในสถาบันราชสุดา รวมถึงส่งเสริมด้านงานวิจัยนวัตกรรมด้านคนพิการและการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาศักยภาพของคนพิการ เพื่อให้คนพิการในสังคมไทยมีอาชีพที่มั่นคงในระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มวิชาชีพครูที่สร้างรายได้ให้แก่ตนเองและสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ในอนาคต นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนของคนพิการในประเทศไทย”
สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้คนพิการสามารถเรียนรวมกับคนทั่วไปได้อย่างเท่าเทียม โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในห้องเรียนเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ระหว่างคนพิการและบุคคลทั่วไป พร้อมจัดบริการสนับสนุนการศึกษาอย่างเหมาะสมเพื่อลดอุปสรรคการเรียนรู้ที่เกิดจากข้อจำกัดด้านความพิการ สถาบันราชสุดา เปิดสอนทั้งหมด 5 หลักสูตร ดังนี้ ระดับปริญญาตรี ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาหูหนวกศึกษา วิชาเอกการออกแบบเชิงพาณิชย์ และวิชาเอกล่ามภาษามือไทย และ หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาของคนหูหนวก ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หลักสูตรศึกษา
ศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ และ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
โครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อสร้างพื้นที่แห่งโอกาสทางการศึกษาให้คนพิการ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้คนพิการสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างคนพิการและคนทั่วไป พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมที่ปราศจากการแบ่งแยก ขอเชิญชวนประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินสมทบทุนให้กับโครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ที่ มูลนิธิรามาธิบดีฯ www.ramafoundation.or.th
ปูนซีเมนต์นครหลวง ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล ภายใต้โครงการโรงเรียนสีเขียว เป็นปีที่ 14 ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน มาแล้วกว่า 33 แห่ง ด้วยวิสัยทัศน์ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2573” ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ของคนไทย ล่าสุดได้รับเข็มเชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องในโอกาสวันสถาปนาตำรวจตระเวนชายแดน ประจำปี 2566
ดร.สุนีย์ ศรไชยธนะสุข กรรมการอิสระและประธานคณะกรรมการตรวจสอบ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปูนซีเมนต์นครหลวงมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา โดยปัจจุบันได้ร่วมมือ กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆที่ด้อยโอกาส ในพื้นที่ห่างไกล ภายใต้โครงการโรงเรียนสีเขียว มาเป็นปีที่ 14 ด้วยวิสัยทัศน์ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2573” ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย มากว่า 20 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเยาวชนที่ด้อยโอกาสให้เข้าถึงโอกาส ในการศึกษาอย่างเท่าเทียม
ทั้งนี้ โรงเรียนสีเขียวได้ดำเนินการก่อสร้างล่าสุดคือ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนปูนอินทรี-มูลนิธิกรุงศรี อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งที่ 33 ของโครงการ โดยมีมูลนิธิกรุงศรีได้ร่วมสนับสนุนการก่อสร้างโรงเรียนดังกล่าวอีกด้วย
“รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ถือเป็นกำลังใจและแรงผลักดันให้ปูนซีเมนต์นครหลวง ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา สร้างขวัญและกำลังใจต่อการศึกษาของเยาวชน เพื่อต่อยอดและพัฒนาสู่การเป็นบุคลากรที่ดีของประเทศในอนาคต และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น โดยโครงการยังมุ่งเน้นการอนุรักษ์พลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม” ดร.สุนีย์ กล่าว