ปัญหาอมตะในธุรกิจครอบครัวเรื่องหนึ่ง คือ
การที่ทายาทคิดว่า ผู้ใหญ่ไม่รับฟังความเห็นต่างของตนเอง
เรื่องนี้เป็นปัญหาที่พบกันบ่อย และวิธีแก้ไขก็ต่างกันไป
เพราะแต่ละบ้านก็มีปัจจัยในการเกิดสถานการณ์นี้ที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดี คณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้ก่อตั้ง FAMZ บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว ให้ความเห็นว่า กับปัญหานี้ผมคิดว่า ข้อคิดจากบทความเรื่อง “เทคนิคการแสดงความไม่เห็นด้วยกับคนที่มีอำนาจเหนือกว่าเรา” เขียนโดย Amy Gallo และเผยแพร่ใน Harvard Business Review ดูจะเป็นกลยุทธ์ที่ทำได้ง่าย และเหมาะกับปัญหานี้ นั่นคือ
ประการแรก ยอมรับความเสี่ยงว่า พูดไปแล้วอาจจะไม่เข้าหูผู้ใหญ่ ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะเงียบ แต่ถ้าเรื่องที่ต้องการพูดนั้นเป็นประโยชน์และเป็นข้อเท็จจริง แล้วเราไม่กล้าพูด
ครอบครัวหรือธุรกิจของเราก็จะมีความเสี่ยงอีกด้านหนึ่งที่เรียกว่า “ความเสี่ยงของการไม่พูด” ทั้งนี้ จากประสบการณ์ทำงานให้ธุรกิจครอบครัวมานาน ผมพบว่า มีคนที่เสียใจกับเรื่องที่เคยพูดไปโดยไม่คิดบ้าง แต่คนส่วนใหญ่กลับเสียใจในเรื่องที่สมควรพูดแล้วไม่ได้พูดออกไปมากกว่า
ประการต่อมา คือ ก่อนแสดงความเห็นขัดแย้งให้สร้าง “ความรู้สึกที่ปลอดภัยและ (ผู้ฟัง) สามารถควบคุมได้” (Psychological Safety and Control) ให้กับพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ก่อน เพราะคนที่มีอำนาจเหนือกว่า ปกติไม่ชอบการถูกท้าทาย โดยเฉพาะการท้าทายในที่สาธารณะ และจากคนที่เป็นทายาท ซึ่งเด็กๆ หรือทายาทเหล่านี้ครั้งหนึ่งเคยมองตนเองเป็น “ฮีโร่” ดังนั้น หากเลือกได้ควรเลือกพูดกันเป็นการส่วนตัว
ส่วนการเริ่มต้นสร้างความรู้สึกปลอดภัยและควบคุมได้ให้กับผู้ใหญ่ เทคนิคคือทำการขออนุญาตก่อน เช่น เราอยากแสดงความคิดเห็นขัดแย้งกับที่พ่อพูด อาจจะเริ่มต้นด้วยการพูดว่า “พ่อครับ ผมอยากขออนุญาตแสดงความเห็นในเรื่องนี้ได้มั้ยครับ” แล้วรอการตอบรับ
ทั้งนี้ การได้รับคำขออนุญาตจากเด็กหรือทายาทจะเป็นการสร้างความรู้สึกปลอดภัยและควบคุมได้ให้กับผู้ใหญ่ ซึ่งจะช่วยลดความรู้สึกเสมือนการถูกท้าทาย ซึ่งจะส่งผลให้ปฏิกิริยาการต่อต้านลดลงไปด้วย
ส่วนความเห็นของพวกเราที่เป็นทายาทจะถูกต้อง มีเหตุมีผลเหมาะสมหรือไม่ก็ต้องเปิดใจกว้างยอมรับเช่นกัน สุดท้ายให้ระวังทั้งภาษาพูดและภาษากาย เพราะผู้ใหญ่ที่กำลังฟังเราอยู่มักจะเลือกฟังอย่างใดอย่างหนึ่ง
ข้อมูลเพิ่มเติม www.famz.co.th