December 24, 2024

การสืบทอดธุรกิจครอบครัว ถือเป็นประเด็นที่มีความท้าทายและเป็นบททดสอบที่ทุกครอบครัวต้องข้ามผ่านไปให้ได้ อีกทั้งเป็นการพิสูจน์ว่า ธุรกิจของครอบครัวนั้นๆ จะดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้หรือไม่ เนื่องจากการสืบทอดธุรกิจครอบครัวนั้นเกี่ยวข้องกับกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อนทั้งการถ่ายโอนอำนาจในครอบครัว และในธุรกิจ อีกทั้งมีธุรกิจครอบครัวจำนวนมากที่ยังไม่ได้วางแผนสืบทอดไว้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลาค่อนข้างมาก อีกทั้งมีปัญหายุ่งเหยิงพอสมควร จนทำให้ธุรกิจครอบครัวไม่สามารถถ่ายโอนธุรกิจไปสู่ทายาทรุ่นต่อไปได้

ทั้งนี้ รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ผู้ก่อตั้ง FAMZ บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวชั้นนำของประเทศไทย ได้ให้แนวทางเพื่อการสืบทอดธุรกิจครอบครัวได้ประสบความสำเร็จว่า “การก้าวข้ามความล้มเหลวของการสืบทอดธุรกิจครอบครัวนั้นมีทั้งแนวทางต่างๆ ทั้งที่ควรทำและไม่ควรทำ หรือ Do & Don’t ของกระบวนการสืบทอดธุรกิจครอบครัว ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อการส่งต่อธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้หรือไม่ ทั้งในส่วนของผู้นำธุรกิจครอบครัว หรือในส่วนของทายาทผู้สืบทอด ซึ่งทั้งสองควรกลับมาพิจารณาและถอยมาคนละก้าว เพื่อให้กระบวนการต่างๆ ลุล่วงด้วยดี”

Do & Don’t

รศ.ดร.เอกชัย กล่าวถึง “สิ่งที่ไม่ควรทำ” หรือ Don’t สำหรับการสืบทอดธุรกิจครอบครัวว่า ประกอบด้วย พฤติกรรมดังต่อไปนี้

  • ไม่เชื่อมือ เนื่องจากคนรุ่นพ่อแม่ยังมีอาการไม่วางใจ หรือไม่เชื่อมือทายาทผู้สืบทอดตำแหน่งมากนัก ทำให้ไม่ยอมวางมือและพนักงานเกิดความสับสนว่าอจะเชื่อฟังใครกันแน่
  • ร้อนวิชา ผู้สืบทอดตำแหน่งร้อนวิชาเกินไป อยากดำเนินธุรกิจในแบบของตน โดยไม่ประเมินจุดแข็ง จุดอ่อน จนทำให้เกิดความผิดพลาดได้
  • มองข้ามค่านิยม ผู้สืบทอดตำแหน่งมองข้ามหรือไม่ให้ความสำคัญกับค่านิยมองค์กร จนทำให้ค่านิยมองค์กรผิดเพี้ยนไป
  • มองข้ามพนักงาน ผู้สืบทอดตำแหน่งไม่ค่อยให้ความสำคัญกับพนักงานจึงไม่สามารถรักษาพนักงานเก่า หรือพนักงานที่มีความสามารถไว้กับองค์กรได้ รวมถึงไม่สามารถดึงคนเก่งเข้ามาทำงานในองค์กรได้

ขณะที่ “สิ่งที่ควรทำ” หรือ Do เพื่อให้การถ่ายโอนธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จ  นั่นคือ

  • วางแผนอย่างรอบคอบ ผู้ส่งมอบต้องเตรียมการโดยวางแผนและการจัดการธุรกิจอย่างรอบคอบ ทั้งในเรื่องธุรกิจ กลยุทธ์ เงินทุน หุ้นส่วนและการขยายสินค้าในระยะยาว เนื่องจากมีอิทธิพลโดยตรงต่อความสำเร็จในการสืบทอดธุรกิจครอบครัว
  • บ่มเพาะอย่างดี ผู้ส่งมอบต้องบ่มเพาะให้ผู้สืบทอดมีความรู้และประสบการณ์ในธุรกิจ รวมถึงสร้างความเป็นภาวะผู้นำให้ได้ โดยให้เข้าสู่ธุรกิจในวัยเยาว์และได้รับประสบการณ์ตรงทางด้านธุรกิจจากระดับล่างขึ้นมา ให้ผู้สืบทอดได้รับการศึกษาที่มีประโยชน์ต่อธุรกิจ ซึ่งผู้นำธุรกิจครอบครัวมักใช้การสอนแบบภายในและสอนแบบรายบุคคล ทั้งนี้ ทายาทต้องมีความรู้ในธุรกิจของตนเอง หมั่นหาองค์ความรู้ให้ตนเองเสมอ อาทิ การเข้าอบรมหรือฟังสัมมนา และควรหาผู้มีความรู้และประสบการณ์ อาทิ ผู้บริหารที่มีประสบการณ์และมีองค์ความรู้เข้ามาช่วยเสมือนเป็นพี่เลี้ยงสอนงานได้
  • คลุกวงใน ผู้ส่งมอบควรให้ทายาทเข้าสู่ธุรกิจครอบครัวตั้งแต่เยาว์วัย ก่อนที่จะเข้าสู่ธุรกิจเต็มตัว เพื่อให้มีความสนใจในธุรกิจ และสั่งสมความรู้ ประสบการณ์ก่อนการรับมอบตำแหน่งและได้เห็นบทบาทภาวะผู้นำของผู้ส่งมอบ
  • เลือกคนเก่ง เล็งให้ถูก หากมีทายาทหลายคน ผู้นำธุรกิจครอบครัวต้องพิจารณาให้ได้ว่า คนไหนเก่งด้านใดและวางตัวให้เหมาะสมกับตำแหน่งนั้นๆ และควรให้ทายาทประเมินตนเอง เพื่อให้ตระหนักถึงจุดอ่อน/จุดแข็งของตนเอง และต้องยอมรับความจริงว่า ตนเองถนัดและชอบในธุรกิจนี้หรือไม่ อีกทั้งต้องมั่นใจในความรู้ความสามารถของตนเองและมั่นใจว่า ตนเองสามารถดูแลธุรกิจได้ พร้อมทั้งต้องแสดงความสามารถให้ทุกคนเห็น
  • ทะลายกำแพง ผู้ส่งมอบไม่ควรพยายามทำให้พนักงานมีความเกรงใจในตัวผู้สืบทอด แต่ควรทำให้พนักงานมองผู้สืบทอดเป็นเหมือนลูกหลานที่พร้อมจะช่วยเหลือในการพัฒนาธุรกิจต่อไป อีกทั้ง้ควรให้ความสำคัญกับพนักงาน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์และความผาสุกของพนักงาน พยายามรักษาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถให้อยู่กับองค์กร และแสวงหาคนดี คนเก่งมาอยู่กับองค์กร
  • ต่อยอด ทายาทควรนำเครือข่ายทางสังคมของคนรุ่นพ่อแม่ที่สร้างไว้มาเชื่อมต่อให้ยืนยาวต่อไป เพราะมักเป็นความสัมพันธ์ที่ดีและเป็นสายสัมพันธ์ในเชิงลึกซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจต่อไป

แผนการสืบทอดธุรกิจ

รศ.ดร.เอกชัย กล่าวถึงองค์ประกอบการสืบทอดกิจการที่ควรโฟกัสเพิ่มเติมว่า เนื่องจากกระบวนการสืบทอดกิจการ บางครั้งก็อาจไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวเสมอไป การดึงดูดคนที่มีศักยภาพสูงและพัฒนาคนเหล่านี้ให้เป็นผู้นำ จะทำให้ธุรกิจครอบครัวมีทางเลือกมากขึ้น เพราะคนเหล่านี้จะสามารถสร้างความได้เปรียบที่ชัดเจนให้กับธุรกิจ อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่า ธุรกิจครอบครัวก็มีข้อได้เปรียบในการดึงดูดคนที่มีศักยภาพสูงเข้ามาทำงานได้ง่ายกว่าธุรกิจทั่วไป นอกจากนี้ การที่จะผู้ส่งมอบจะถ่ายโอนธุรกิจให้ผู้สืบทอดธุรกิจอย่างยั่งยืนจึงจำเป็นต้องสร้างแผนการสืบทอดธุรกิจสำหรับการต่อยอดธุรกิจ 3 ประการคือ “ทัศนคติ ทักษะความรู้ความสามารถ องค์ความรู้” พร้อมกับการวางแผนการถ่ายโอนธุรกิจให้เกิดผลสำเร็จ 3 ประการ คือ

  • ต้องยอมรับความแตกต่าง ผู้สืบทอดธุรกิจจะต้องยอมรับว่า เรื่องไหนที่ยังไม่รู้ลึก หรือยังไม่มีความพร้อม
  • หามุมมองที่หลากหลายจากผู้รู้ ผู้สืบทอดธุรกิจจะต้องมองหามุมมองที่หลากหลายจากผู้มีความรู้ ประสบการณ์ จนทำให้มีมุมมองที่แตกต่าง อีกทั้งยังจะต้องมีความพร้อมที่จะรับฟังพนักงานทุกคน
  • เป้าภาพรวมต้องชัดและสื่อสาร สำหรับการเดินหน้าธุรกิจครอบครัว นอกจากบทบาทหน้าที่แล้วยังต้องมีแผนงาน เป้าหมาย และทิศทางที่ชัดเจน อีกทั้ทั้งยังจะต้องมีการสื่อสารกับพนักงานอย่างเข้าใจ เพื่อให้ทุกคนทราบว่าองค์กรจะเดินต่อไปอย่างไร

นอกจากนี้ รศ.ดร.เอกชัย ยังให้คำแนะนำต่อไปในฐานะที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวว่า เมื่อผู้นำธุรกิจครอบครัวตัดสินใจแล้วว่า จะส่งทอดธุรกิจครอบครัวไปยังรุ่นต่อไปก็ควรต้องจัดเตรียมแผนหรือตารางเวลาที่ชัดเจน และการเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายที่รออยู่สำหรับทายาท ดังนี้

1) ความคาดหวังในองค์กร เนื่องจากทายาทต้องเป็นเจ้าของกิจการในอนาคต ดังนั้น จึงต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถด้านการจัดการธุรกิจแล้ว ยังต้องสร้างความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนในองค์กร ทายาทจึงต้องสามารถถ่ายทอดค่านิยม ตลอดจนความเชี่ยวชาญต่างๆ ในธุรกิจจากรุ่นก่อตั้ง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ดังเช่น ทายาทของหลุยต์ วิคตอง ต้องสามารถเย็บกระเป๋าทุกรุ่นด้วยมือ เพื่อเป็นการพิสูจน์ถึงความสามารถและจิตวิญญาณจากบรรพบุรุษ

2) การเผชิญหน้า ทายาทต้องเผชิญหน้ากับความแตกต่างด้านค่านิยม ทักษะ และเจตคติส่วนบุคคล ความแตกต่างระหว่างรุ่น เช่น ความคิดเรื่องการเติบโต หรือความมั่นคงของธุรกิจ หากทายาทแสดงออกโดยไม่ยั้งคิดก็ย่อมจะเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ในสมาชิกครอบครัว หรือบุคลากรในองค์กร ฉะนั้น ทายาทต้องเรียนรู้ถึงการบริหารจัดการบริษัท ศึกษาข้อขัดแย้งต่างๆระหว่างกลุ่ม สำรวจค่านิยมร่วมที่คนในองค์กรยึดถือ อุปนิสัย/ความคุ้นเคยในการทำงาน เพื่อให้กำหนดบทบาทและการแสดงออกอย่างเหมาะสม

3) การเปลี่ยนแปลงและการได้มาซึ่งตำแหน่ง (Change & Acquisition) ทายาทที่เข้ามารับช่วงต่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เรื่องภาวะผู้นำเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะการรักษา ค่านิยม วัฒนธรรม หรือบรรทัดฐานเดิม แต่ต้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น การต่อยอดให้ธุรกิจเติบโตโดยอยู่บนคุณค่าที่ส่งทอดมาจากรุ่นผู้ก่อตั้งย่อมเป็นแรงกดดันที่ท้าทาย หากทายาทสามารถผ่านไปได้ย่อมก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในธุรกิจ

หากมีความจำเป็นที่จะต้องยก “ความเป็นเจ้าของ” ให้กับสมาชิกในครอบครัว หรือทายาทเท่านั้น แต่ต้องแยกส่วนของการบริหารจัดการให้กับทีมบริหารมืออาชีพ เพื่อดูแลองค์กรธุรกิจครอบครัว เรื่องนี้อาจยากทำใจ หรืออาจต้องมาประเมินว่า “จะได้หรือเสีย” มากกว่ากัน

ทั้งนี้ รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดี คณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และผู้ก่อตั้ง FAMZ บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวชั้นนำของประเทศไทย ได้ให้ความเห็นกับการเปิดทางให้ทีมบริหารมืออาชีพเข้ามาบริหารองค์กรของธุรกิจครอบครัวว่า

“การที่ทีมบริหารมืออาชีพเข้ามาบริหารธุรกิจกลับจะยิ่งช่วยให้ธุรกิจครอบครัวมีความสามารถทางการแข่งขัน และมีศักยภาพได้ดี มีความเป็นมืออาชีพมากกว่า ทั้งนี้ เมื่ออ้างอิงจากผลการศึกษากรณีดังกล่าวจากทั่วโลกก็บ่งชี้ในทิศทางเดียวกันว่า ธุรกิจครอบครัวอาจมีผลประกอบการต่ำ หรือขาดความทะเยอทะยานได้ ทว่า หากบริหารโดยสมาชิกในครอบครัคนที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวจะสามารถผลักดันธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วกว่า รวมถึงการสร้างนวัตกรรม การขยายตัวไปต่างประเทศ การกระจายธุรกิจก็จะทำได้ดีกว่า เนื่องจากมืออาชีพจะให้ความสำคัญกับความสามารถทางการแข่งขัน และการทำธุรกิจเป็นภารกิจอันดับต้นๆ ต่างจากสมาชิกในครอบครัว ซึ่งมักจะมุ่งโฟกัสที่ครอบครัว ชุมชนและการสร้างตำนานของธุรกิจครอบครัวกับโลกมากกว่า”

การบริหารธุรกิจอย่างมืออาชีพเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่เพียงพอที่จะอยู่รอดได้ในระยะยาว สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องตระหนักคือต้องทำให้เป็นมืออาชีพทั้งธุรกิจและครอบครัวด้วยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ถ้าต้องการให้ธุรกิจมีความเป็นมืออาชีพจริงๆ ก็ควรต้องมีมืออาชีพมากๆ  ที่สำคัญ หากมองในระยะยาว การที่ธุรกิจครอบครัวดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามา ตลอดจนการให้ขอบเขตและให้เวลาในการพิสูจน์ตนเองของผู้บริหาร โดยเฉพาะช่วงระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งซีอีโอนั้นจะต้องใช้เวลาหลายปี อย่างกรณีอ้างอิงจาก Fortune 500 ก็ใช้เวลาประมาณ 5 ปี ขณะที่ Harvard Business Review ระบุว่า ช่วงระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งที่เหมาะสมของซีอีโอคือ 4.8 ปี หลังจากนั้น การทำงานจะเริ่มมีบางอย่างลดลง ซึ่งธุรกิจครอบครัวจะต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ให้ดี อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังสำหรับมืออาชีพที่ได้รับการสรรหาเข้ามาก็คือ จะต้องแสดงบทบาทของตนเองอย่างระมัดระวังในธุรกิจครอบครัว เนื่องจากอาจจะต้องเผชิญกับประเด็นความซับซ้อน หรืออ่อนไหวที่อาจต้องขับเคี่ยวกับสมาชิกในครอบครัว ทั้งที่อยู่ในและนอกบอร์ดบริหาร”

อย่างไรก็ตาม การที่มีมืออาชีพเข้ามาในธุรกิจเพิ่มขึ้น เจ้าของธุรกิจครอบครัวก็ยังสามารถกำกับ หรือดูแลธุรกิจในภาพรวมได้ นอกจากนี้  ยังมีผลงานวิจัยสนับสนุนอีกด้วยว่า ถ้าเจ้าของธุรกิจเข้ามาเป็นคณะกรรมการ เข้ามาร่วมตัดสินใจ ร่วมรับความเสี่ยง/รับภาระ ฯลฯ บริษัทก็จะมีอัตราการเติบโตที่ดีกว่าการปล่อยให้ผู้อื่นเข้ามามีส่วนตัดสินใจและบริหาร เนื่องจากมืออาชีพนั้นไม่ได้อยู่กับธุรกิจถาวรเหมือนเจ้าของธุรกิจ ดังนั้น หนึ่งในคำมั่นสัญญาที่สำคัญ คือ การที่เจ้าของธุรกิจเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา และกำหนดทิศทางของธุรกิจ”

ทั้งนี้ ความเป็นธุรกิจครอบครัวก่อนจะตัดสินใจเรื่องสำคัญทางธุรกิจ ครอบครัวมักจะหารือกันก่อนในที่ประชุมครอบครัว เช่น สภาครอบครัวหรือสภาธุรกิจ แล้วจึงจะนำเสนอคณะกรรมการบริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งปกติเสียงของครอบครัวมักจะดังเสมอในทุกๆ ประชุมของบริษัท

รศ.ดร.เอกชัยกล่าวในตอนท้ายว่า ในฐานะที่ FAMZ เป็นบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว ผมมองว่า การบริหารธุรกิจอย่างมืออาชีพเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่เพียงพอที่จะอยู่รอดได้ในระยะยาว สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องตระหนัก คือ ต้องทำให้ธุรกิจครอบครัวเป็นมืออาชีพทั้งในส่วนของ “ธุรกิจ” และ “ครอบครัว” ด้วย”

ข้อมูลเพิ่มเติม www.famz.co.th 

X

Right Click

No right click