November 24, 2024

กฟผ. เปิดโอกาสให้ นิสิต นักศึกษา หรือกลุ่ม First Jobber ทั่วประเทศ ที่ชื่นชอบการเล่าเรื่อง การสร้างContent ให้น่าสนใจ ได้มีเวทีแสดงความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ ในการผลิตวิดีโอผ่านแพลตฟอร์ม Social media อย่างสร้างสรรค์ เพื่อสรรหาคนรุ่นใหม่ที่ "กล้า" คิด - ทำ - สื่อสาร ในเรื่องราวด้านพลังงานที่เป็นประโยชน์ ครอบคลุมเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ การดำเนินงานของ กฟผ. การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม พลังงาน ตลอดจนเป็นองค์กรที่มุ่งสู่ความ เป็นกลางทางคาร์บอน ส่งเสริมพลังงานสะอาด ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 100,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร

คุณสมบัติ

- นิสิต นักศึกษา หรือกลุ่ม First Jobber ทั่วประเทศ ที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี

- รวมทีม โดย 1 ทีม ต้องมีสมาชิก อย่างน้อย 3 คน

การสมัครและส่งผลงาน

ส่งผลงานวิดีโอเข้าประกวด ความยาวไม่เกิน 3 นาที แนวตั้ง รอบคัดเลือก รอบที่ 1 แนะนำทีมให้เป็นที่รู้จัก ในหัวข้อ “Being with WE ” #กฟผ. สร้างความสุข เพื่อให้รู้จัก ตัวตนและคนในทีมและการเล่าถึงการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ว่าสามารถสร้างความสุขให้เกิดขึ้น กับเราและคนรอบข้างได้อย่างไร

ทีมที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับโอกาสเข้าศึกษาดูงาน ณ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จ.นนทบุรี และโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro-floating Solar Hybrid Power Plant) ณ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี   โอกาสดีๆมาแล้วไม่ควรพลาด

เปิดรับสมัครรอบแรก ตั้งแต่วันที่ 6 - 31 สิงหาคม 67  

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Page DIGIWAR

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ผลักดันหลักสูตรสะเต็มกำลังสอง (STEM²) “ถ้าพรุ่งนี้…ไม่มีไฟฟ้า” แก่นักเรียนชั้น ม.ต้น ในโรงเรียนหลายร้อยแห่ง หวังให้เด็กรุ่นใหม่ เข้าใจสถานการณ์ปัญหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย

ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัดการประกวดผลงานนักเรียน การพูดเชิงสร้างสรรค์ ElectricTalk ในหัวข้อ “เราจะมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร” ซึ่งกิจกรรมพูดเชิงสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในหลักสูตรสะเต็มกำลังสอง ถ้าพรุ่งนี้…ไม่มีไฟฟ้า มีนักเรียนส่งผลงานทั้งหมด 18 ผลงาน คณะกรรมการได้คัดเลือกผลงาน 6 ทีมเข้ารอบตัดสิน ได้แก่ทีมจากโรงเรียนน้ำพองศึกษา จ.ขอนแก่น / โรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์) จ.ชลบุรี / โรงเรียนพานพิทยาคม จ.เชียงราย / โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จ.ลำพูน / โรงเรียนทุ่งเทิงยิ่งวัฒนา จ.อุบลราชธานี และโรงเรียนปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ โดยโรงเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ ได้แก่ ทีม SMTE309 จาก โรงเรียนปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ สมาชิกในทีมประกอบด้วย ด.ญ.ธนพร บุดดา,ด.ญ.นิราภรณ์ บุตรดี,ด.ญ.ปาณิศา ระยับศรี และ นางสาวภาวินี สุระ เป็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยมีคุณครูนงเยาว์ หงส์โสภา คุณครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ในวิชาพลังงานทดแทน เป็นที่ปรึกษาของเด็ก ๆ ซึ่งคุณครูเผยความรู้สึกว่า เด็ก ๆ ทุกคนมีความตั้งใจมาก รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ความพยายามและความทุ่มเทของเด็ก ๆ ทำให้ชนะเลิศในวันนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรรยา ดาสา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา มศว กล่าวว่า “หลักสูตรสะเต็มกำลังสอง เรื่อง “ถ้าพรุ่งนี้…ไม่มีไฟฟ้า” เป็นการเรียนรู้บูรณาการมาตรฐานและตัวชี้วัดของ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ในระดับชั้นมัธยมตอนต้น มุ่งส่งเสริมสมรรถนะของผู้เรียนในการบูรณาการความรู้และข้อมูลที่ได้จากการเรียนรู้มาออกแบบแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศเพื่อให้มีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคง ราคาเหมาะสม ลดการปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมและสามารถสื่อสารได้อย่างสร้างสรรค์ภายใต้คำถามสำคัญ “เราจะมีพลังงานไฟฟ้าใช้ให้ยั่งยืนได้อย่างไร” โดยในปีที่ผ่านมามีโรงเรียนลงทะเบียนใช้หลักสูตรมากกว่า 200 โรงเรียน”

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นลินา ประไพรักษ์สิทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้กล่าวในการเปิดงานว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมทั้งด้านการเรียนรู้และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านการบริการวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตรศึกษาที่เป็นเลิศ ซึ่งโครงการพัฒนาหลักสูตรสะเต็มกำลังสอง เป็นหนึ่งในการนำเสนอความเชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้เชิงบูรณาการ สู่การเรียนรู้ที่ส่งเสริมทั้งด้านความรู้ ทักษะ ทัศนคติและเจตคติของผู้เรียน ผสานรวมกันจนเกิดเป็นสมรรถนะของผู้เรียน

นายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มศว ได้เริ่มพัฒนาหลักสูตรสะเต็มกำลังสอง เรื่อง “ถ้าพรุ่งนี้...ไม่มีไฟฟ้า” ตั้งแต่ 2559 และผลักดันมาอย่างต่อเนื่องเพราะเล็งเห็นว่าการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้ด้วยตนเองอย่างสร้างสรรค์ ผู้เรียนที่ได้เรียนในหลักสูตรนี้จะมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งกิจกรรมการประกวดผลงานนักเรียนที่ดำเนินมาต่อเนื่องทุกปีนี้ สะท้อนผลลัพธ์ หลักสูตร STEM² อย่างน่าพอใจ นักเรียนสามารถตัดสินใจ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับไฟฟ้าทั้งในชีวิตประจำวันและแนวทางการจัดหาไฟฟ้าในอนาคตอย่างเพียงพอและลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่ กฟผ. ผลักดันเพื่อแก้วิกฤติพลังงานอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งเป็นมาตรการที่ความจำเป็นเร่งด่วนในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ”

นอกจากนี้ในงาน นายศิริวัฒน์ เจ็ดสี ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมโรงไฟฟ้า ได้กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่า นอกจากหลักสูตรสะเต็มกำลังสองแล้ว กฟผ. ยังมีโครงการอื่นด้านการศึกษาที่ส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทางเลือกและการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิตไฟฟ้า เช่น ห้องเรียนสีเขียว ศูนย์การเรียนรู้ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เป็น 1 ใน 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศ ที่ทำบันทึกความเข้าใจในโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนด้านนวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และเพิ่มโอกาสในการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒต่อไป ซึ่งเป็นมาตรการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก

เอกอัครราชทูตโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความชื่นชมต่อความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน  ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในพิธีเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าบางปะกงชุดที่ 1 และ 2 ของ กฟผ. โดยมีนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และนายราเมช สิงการาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจพลังงานก๊าซประจำภูมิภาคเอเชีย จีอี เข้าร่วมในพิธี

โรงไฟฟ้าบางปะกงชุดที่ 1 และ 2 ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว หลังจากประกาศเดินเครื่องเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งการพัฒนาในครั้งนี้ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมใหม่สองชุด ที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง และขับเคลื่อนด้วยกังหันก๊าซ 9HA ของจีอี (NYSE: GE) โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน ทั้งนี้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้กังหันก๊าซรุ่น 9HA จะมีความสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าทั่วโลกที่ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินได้โดยเฉลี่ย 60% และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าทั่วโลกที่ใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 25%

เอกอัครราชทูตโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ผมขอแสดงความยินดีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่การเปิดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 1 และ 2 ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ การพัฒนาโรงไฟฟ้าบางปะกงไปสู่ความก้าวหน้าและทันสมัยในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือด้านวิศวกรรมระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดผลลัพธ์อันยอดเยี่ยมในหลายระดับ”

“เป้าหมายเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะส่งผลดีต่อโรงไฟฟ้าบางปะกง รวมทั้งประเทศไทยซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศให้เป็นกลางภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) ตามลำดับ โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง ซึ่งใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีของจีอีเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญนี้ ยังเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งโครงการความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อเร่งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”

“ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาเห็นพ้องกันในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เราได้เรียนเชิญประเทศไทยให้เข้าร่วมข้อเสนอข้อริเริ่ม “Net Zero World Initiative”  ซึ่งเป็นข้อเสนอความร่วมมือที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งความเชี่ยวชาญของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา องค์กรการกุศล และประเทศพันธมิตรต่างๆ จะเอื้อประโยชน์ต่อการเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้” เอกอัครราชทูตโกเดค กล่าวเสริม

การพัฒนาโรงไฟฟ้าบางปะกงในครั้งนี้ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม 5 ชุด ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเตา เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมใหม่สองชุดนี้ ขับเคลื่อนด้วยกังหันก๊าซ 9HA ของจีอี ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นกังหันก๊าซที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก ปัจจุบันมีการใช้งานทั่วโลกกว่า 75 เครื่อง รวมกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 42 กิกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าบางปะกงของ กฟผ. เป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้กังหันก๊าซและเทคโนโลยี 9HA ซึ่งได้รับการยอมรับและเคยได้รับรางวัลมาแล้ว

“โครงการนี้ ตอบสนองเป้าหมายการดำเนินงานของ กฟผ. ในการพัฒนาประสิทธิภาพและความมั่นคงของการผลิตไฟฟ้า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ และลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ด้วยการทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม ด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่มีประสิทธิภาพสูง อีกทั้งเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ปลดระวางโรงไฟฟ้าที่ปลดระวางจากการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน และมีประสิทธิภาพที่ต่ำกว่า และทดแทนด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อลดการปล่อยก๊าซ เสริมความมั่นคง และสร้างความยืดหยุ่นให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ ภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065” นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าว

นายราเมช สิงการาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจพลังงานก๊าซประจำภูมิภาคเอเชีย จีอี กล่าวว่า “เราภาคภูมิใจที่ได้ร่วมงานกับ กฟผ. มาอย่างยาวนานกว่า 40 ปีที่ผ่านมา และจะสานสัมพันธ์นี้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นบนรากฐานของความไว้วางใจและการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด การเฉลิมฉลองการเปิดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมบางปะกงในวันนี้ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้กังหันก๊าซ 9HA.02 แห่งแรก และใหญ่ที่สุดของจีอีในประเทศไทย นับเป็นอีกก้าวสำคัญในความสัมพันธ์ของเรา ผมเห็นคุณค่าในการมุ่งมั่นร่วมมือกับ กฟผ. ต่อไป เพื่อช่วยให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในเอเชีย

โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมใหม่สองชุดนี้ ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 1,400 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประมาณ 3 ล้านครัวเรือนในประเทศไทย นอกจากกังหันก๊าซรุ่น 9HA.02 แล้ว ยังมีการติดตั้งกังหันไอน้ำ STF-A650 ที่ล้ำหน้า 2 เครื่อง และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า W86 จำนวน 2 เครื่อง และจีอียังได้ลงนามสัญญาระยะยาวกับ กฟผ. ในการให้บริการด้านอะไหล่และซ่อมบำรุงให้กับโรงไฟฟ้าบางปะกงอีกด้วย

GE ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 ปัจจุบัน 30% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดในประเทศ มาจากอุปกรณ์ของจีอี ก๊าซ พาวเวอร์ โดยมีการใช้กังหันก๊าซของจีอีมากกว่า 100 เครื่อง และจีอียังเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ดำเนินธุรกิจด้านต่างๆ รวมถึงธุรกิจพลังงาน การบิน และการดูแลสุขภาพ

 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เผยผลสำเร็จการศึกษาและวิเคราะห์คุณสมบัติผ้าเพื่อประหยัดพลังงานในโครงการผ้าเบอร์ 5 พร้อมพัฒนาต้นแบบชุดนักเรียนเบอร์ 5 สวมใส่สบาย ยับยาก ลดการรีดผ้า ลดการใช้พลังงาน นำร่องส่งมอบให้นักเรียนในโครงการห้องเรียนสีเขียวของ กฟผ. 15 โรงเรียนในพื้นที่นนทบุรีทดลองใช้ เตรียมหนุนผู้ประกอบการเพื่อขอการรับรองฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 สู่เชิงพาณิชย์ มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจเพื่อสร้างมูลค่าและขับเคลื่อนนวัตกรรมทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ระหว่าง กฟผ. และไมโครซอฟท์ ประเทศไทย โดยมีหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทยและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และ ผู้บริหารระดับสูงจากทั้ง 2 หน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 19 อาคาร 50 ปี กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี โดยความร่วมมือดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบระยะเวลา 3 ปี ครอบคลุมการดำเนินงาน 3 ด้านหลัก ได้แก่

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click