February 22, 2025

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านการสร้างประโยชน์ให้สังคม (Thailand Quality Class Plus : Societal Contribution) ประจำปี 2567 และรางวัล Leadership Excellence Award จากนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) ครั้งที่ 23 ประจำปี 2567 จัดโดยสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม ณ โรงละครอักษรา คิง พาวเวอร์ เมื่อเร็วๆ นี้

ทั้ง 2 รางวัลอันทรงเกียรติ นับเป็นความภาคภูมิใจและสะท้อนการดำเนินงานของ EXIM BANK ที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนภารกิจภายใต้บทบาท Green Development Bank และยกระดับการบริหารจัดการองค์กรที่เป็นเลิศทัดเทียมมาตรฐานโลก นำมาสู่ผลลัพธ์ในการดำเนินงานที่เป็นเลิศอย่างเป็นที่ประจักษ์และโดดเด่น ขับเคลื่อนการพัฒนาองค์กร ประเทศชาติ และโลก โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

EXIM BANK แต่งตั้งนายรชตพงศ สุขสงวน เป็นผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร มีผลตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงนโยบายและบทบาทของ EXIM BANK ในโอกาสเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการครบรอบ 31 ปี ในหัวข้อ EXIM Greenovation : เปิดเกมรุกนำผู้ประกอบการไทยฝ่ามรสุม Trump 2.0 ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 โดยคาดการณ์ว่า ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือยุคทรัมป์ 2.0 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะยังไปต่อได้ ปัจจัยส่งเสริมให้การส่งออกไทยปี 2568 ยังขยายตัวต่อได้ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกและนโยบายทรัมป์ 2.0 ประกอบด้วย การเร่งนำเข้าของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โอกาสส่งออกของไทยทดแทนสินค้าจีน การย้ายฐานการผลิตจากต่างชาติเข้ามาในไทย การขยายตัวของตลาดใหม่ และการบังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกที่ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อมนุษย์ ทำให้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มจำนวนขึ้นถึงกว่า 18,000 ฉบับในปัจจุบัน

ในปี 2568 EXIM BANK มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจไทยผ่านความเชี่ยวชาญและพันธมิตรสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Bank) โดยจะเร่งขยายฐานลูกค้าผ่านบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งด้านการสนับสนุนการส่งออกและการลงทุน เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานส่งออกสีเขียว (Green Export Supply Chain) โดยให้สิทธิประโยชน์และดอกเบี้ยพิเศษแก่ผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG ทั้งนี้ บริการใหม่ของ EXIM BANK อาทิ บริการค้ำประกันหุ้นกู้ และบริการที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่ลูกค้าที่มีความต้องการระดมทุน ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้หรือตราสารทุน เป็นต้น

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี 2567 ประเภท “รางวัลความร่วมมือด้านกระบวนการจัดการของรัฐวิสาหกิจ (เชิดชูเกียรติ)” ให้แก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) โดย ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เป็นผู้รับมอบ ร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ภายใต้โครงการความร่วมมือในการยกระดับผลการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์การประเมินกระบวนการปฏิบัติงานและการจัดการของรัฐวิสาหกิจ (Core Business Enablers) เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกันในฐานะรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินที่มีภารกิจสอดคล้องกันในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยให้มีแนวทางการบริหารจัดการองค์กรที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศและแนวปฏิบัติที่ดีตาม Core Business Enablers ในงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี 2567 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง ภายใต้แนวคิด “รัฐวิสาหกิจไทย มากกว่าความภูมิใจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568

รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ EXIM BANK โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อพัฒนาและยกระดับการบริหารจัดการองค์กรร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาองค์กร ประเทศชาติ และโลก โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

หลังรับตำแหน่งเพียงไม่ถึงเดือน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ดำเนินมาตรการตามนโยบาย America First ซึ่งคำนึงถึงผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มาก่อน และสร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการเข้มงวดผู้อพยพ การหันหลังให้นโยบายสีเขียวและถอนตัวออกจากข้อตกลง Paris Agreement ล่าสุดยังเปิดฉากสงครามการค้ารอบใหม่ (Trade War 2.0) ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น 10% และอยู่ระหว่างเจรจากับเม็กซิโกและแคนาดา ภายใต้เงื่อนไขการพิจารณาเพิ่มภาษีนำเข้าจากทั้ง 2 ประเทศ 25% ในเดือนหน้า ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้า 15% สำหรับถ่านหินและ LNG และ 10% สำหรับน้ำมันดิบ เครื่องจักรทางการเกษตร และรถยนต์บางประเภท รวมถึงจำกัดการส่งออกแร่หายาก โดยสงครามการค้ารอบใหม่จะส่งผลกระทบและมีข้อพึงระวังที่ธุรกิจไทยต้องปรับกลยุทธ์เพื่อเตรียมรับมือ ดังนี้

  • ก่อนอื่นมีข้อสังเกตว่า การดำเนินมาตรการภายใต้ Trump 2.0 เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีความเข้มข้นมากขึ้นกว่าสมัยแรก โดยเฉพาะ Trade War 2.0 ที่เริ่มต้นในไม่ถึงเดือนหลังรับตำแหน่งและมาตรการต่าง ๆ ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะกับจีน แต่พุ่งเป้าไปที่ประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ที่เกินดุลกับสหรัฐฯ และที่สำคัญการดำเนินมาตรการส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อกดดันให้เกิดการเจรจาต่อรองที่จะเอื้อประโยชน์สูงสุดให้แก่สหรัฐฯ ดังเช่นที่กำลังต่อรองกับแคนาดาและเม็กซิโก
  • สำหรับ Trade War 2.0 ระยะแรก ซึ่งสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 10% คาดว่าจะยังส่งผลกระทบต่อไทยไม่มากนัก เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าและโลจิสติกส์ของจีนที่อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะไทย ทำให้แม้จีนถูกเก็บภาษีอีก 10% ไทยก็อาจยังได้ประโยชน์ไม่มากนักจากการส่งสินค้าไปตลาดสหรัฐฯ แทนจีน อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจีนเพิ่มขึ้นอีกในระยะถัดไป ไทยก็มีโอกาสได้อานิสงส์เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องระวังสถานการณ์ที่จีนนำสินค้าที่ไม่สามารถส่งไปตลาดสหรัฐฯ มาทุ่มตลาดประเทศอื่น รวมถึงไทย แทน
  • นอกจากนี้ ไทยยังต้องพึงระวังความเสี่ยงจากการถูกดำเนินมาตรการจากสหรัฐฯ จากที่กล่าวไปแล้วว่า Trump 2.0 มีการดำเนินมาตรการที่รวดเร็วและเข้มข้น ทำให้การที่ไทยเป็นคู่ค้าที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ อันดับที่ 12 มูลค่าราว 40,720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 อาจกลายเป็นเป้าของสหรัฐฯ ในการใช้มาตรการการค้ามากดดันไทยเพื่อให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น สหรัฐฯ อาจขู่ขึ้นภาษีกับไทยเพื่อเจรจาให้ไทยนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตร นอกจากนี้ ยังต้องติดตามมาตรการไต่สวน AD/CVD จากสหรัฐฯ ที่อาจมีมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นการย้ายฐานมาจากจีน เช่นที่เกิดขึ้นแล้วกับสินค้าแผงโซลาร์
  • สำหรับแนวทางรับมือความเสี่ยงต่าง ๆ ในปี 2568 ภาคธุรกิจต้องเน้นกลยุทธ์ในการแสวงหาตลาดศักยภาพใหม่ ๆ เพื่อเป็น Buffer ลดความผันผวนของการพึ่งตลาดสหรัฐฯ และจีนที่เป็นคู่ขัดแย้งหลักในสงครามการค้าครั้งนี้ เช่น ตลาดอินเดีย ที่เป็นประเทศวางตัวเป็นกลาง (Conflict-free Country) และเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มเติบโตดี รวมถึงตลาดฮาลาล ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงจากจำนวนชาวมุสลิมทั่วโลกที่มีอยู่ราว 2 พันล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประชากรโลก ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนทางการค้าจากนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ มีแนวโน้มทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ส่งออกจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนตามมา ทำให้การลดความเสี่ยงด้วยเครื่องมือทางการเงิน เช่น การทำ Forward Contract เพื่อป้องกันความผันผวนของค่าเงิน ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ส่งออกไทยในปีนี้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรทำ Scenario Planning เพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและวิเคราะห์ผลกระทบต่อธุรกิจ ช่วยให้เตรียมตัวรับมือโดยไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาแล้วจึงแก้ไข

การค้าโลกในปีนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งแม้ว่าอาจมีบางประเทศหรือบางอุตสาหกรรมได้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว แต่ภาพรวมของผลกระทบมีแต่จะบั่นทอนสถานการณ์การค้าโลก และทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่อง


โดย ฝ่ายวิจัยธุรกิจ

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

Page 1 of 47
X

Right Click

No right click