November 23, 2024

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า บริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s Investors Service : Moody’s) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาว และอันดับเครดิตตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิสกุลเงินต่างประเทศของ EXIM BANK ที่ ‘Baa1’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เทียบเท่าอันดับเครดิตของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 ตอกย้ำความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานะทางการเงินของ EXIM BANK รวมถึงสะท้อนบทบาท Green Development Bank และภารกิจของ EXIM BANK ในการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ดำเนินภารกิจส่งเสริมและสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

“EXIM BANK เดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง โดยสานพลังกับเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งดูแลธุรกิจกลุ่มเปราะบางซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ ESG ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม” ดร.รักษ์ กล่าว

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) พร้อมด้วยผู้บริหาร EXIM BANK พบปะหารือทวิภาคีกับองค์กรพันธมิตร ประกอบด้วยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งมองโกเลีย (DBM) ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (NDB) ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และ UK Export Finance (UKEF) ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมประจำปีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าในเอเชีย ครั้งที่ 29 (Asian EXIM Banks Forum: AEBF) จัดโดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Eximbank) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเงิน การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของเอเชียและโลกโดยรวม ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 12-14 พฤศจิกายน 2567

  • ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งมองโกเลีย (DBM)

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK นำคณะผู้บริหาร EXIM BANK พบปะหารือกับนายอัมกาลัน บัตตุลกา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งมองโกเลีย (DBM) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและเสริมสร้างโอกาสในการขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะในธุรกิจที่มองโกเลียมีศักยภาพ อาทิ พลังงานหมุนเวียนและอสังหาริมทรัพย์ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567

  • ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (NDB)

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK นำคณะผู้บริหาร EXIM BANK พบปะหารือกับนายวลาดิเมียร์ คาซเบคอฟ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (NDB) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มประเทศ BRICS ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ เกี่ยวกับแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ภายใต้บทบาท วิสัยทัศน์ และพันธกิจของธนาคาร รวมทั้งตอกย้ำจุดยืนของ EXIM BANK ในฐานะ Green Development Bank ที่พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567

  • ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC)

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK นำคณะผู้บริหาร EXIM BANK พบปะหารือกับนายโนบุมิตสึ ฮายาชิ ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และผู้บริหาร JBIC เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและเสริมสร้างโอกาสในการขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน การสนับสนุนธุรกิจสีเขียว โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG)  เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567

 

  • UK Export Finance (UKEF) 

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK นำคณะผู้บริหาร EXIM BANK พบปะหารือกับนายทิม รีด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร UK Export Finance (UKEF) หน่วยงานของรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่ดำเนินงานภายใต้กรมการค้ำประกันสินเชื่อ กระทรวงธุรกิจและการค้า สหราชอาณาจักร เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลง (MOU) และหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน โครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร รวมถึงการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567

ทั้งนี้ ปัจจุบัน AEBF มีสมาชิกจำนวน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ตุรกี และไทย รวมทั้ง JBIC องค์กรการส่งออกแห่งประเทศออสเตรเลีย (EFA) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเวียดนาม (VDB) โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เป็นผู้สังเกตการณ์ถาวร และมีหน่วยงานเข้าร่วมสังเกตการณ์ 5 องค์กร ได้แก่ ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งมองโกเลีย (DBM) ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (NDB) UK Export Finance (UKEF) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าซาอุดีอาระเบีย (Saudi EXIM Bank)

นายบัณฑิต สะเพียรชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK พบปะหารือกับนายอดัม บอยตัน หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ออสเตรเลีย ธนาคารออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป ลิมิเต็ด (ANZ Bank) พร้อมด้วยผู้บริหาร ANZ Bank เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคของประเทศออสเตรเลีย และแนวทางความร่วมมือด้านการเงิน รวมทั้งการให้สินเชื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและออสเตรเลีย ณ นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567

นายบัณฑิต สะเพียรชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เยี่ยมชมโครงการ JW Marriott Gold Coast Resort and Spa โรงแรมระดับ 5 ดาว ในกลุ่มบริษัท KS Group โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ KS Group และคณะผู้บริหารโรงแรม ให้การต้อนรับ ณ รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ทั้งนี้ EXIM BANK ให้การสนับสนุนเงินกู้ระยะยาวให้แก่กลุ่มบริษัท KS Group เพื่อปรับปรุงและยกระดับธุรกิจเป็น JW Marriott แห่งแรกในออสเตรเลีย เป็นไปตามยุทธศาสตร์และเป้าหมายของ EXIM BANK ในการสนับสนุนธุรกิจบริการของไทยสู่ตลาดโลก

EXIM BANK แถลงผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3 ปี 2567 เดินหน้าส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance: ESG) มีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันในการสนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึง ESG 62,543 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 36.65% จากสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันทั้งหมด 170,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีวงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่ 34,290 ล้านบาท

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 EXIM BANK มุ่งสนับสนุนการส่งออก-นำเข้า และการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ยกระดับและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนโดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2567 EXIM BANK มีวงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่ 34,290 ล้านบาท และมีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพัน 170,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันเพื่อการลงทุน 124,720 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 73.09% ของยอดทั้งหมด โดยเป็นสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันในโครงการระหว่างประเทศ 44,850 ล้านบาท เมื่อจำแนกเป็นรายตลาดที่สำคัญ EXIM BANK สนับสนุนธุรกิจไทยให้ขยายไปกลุ่มประเทศ CLMV และ New Frontiers ที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันในกลุ่ม CLMV และ New Frontiers 39,593 ล้านบาท

EXIM BANK ภายใต้บทบาท Green Development Bank ได้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินสีเขียว (Greenovation) อาทิ สินเชื่อ EXIM Green Start สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อสร้างระบบนิเวศการค้าและการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ สนับสนุนให้ธุรกิจไทยสามารถปรับตัวรับมือและปฏิบัติตามมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างครบวงจรตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ส่งผลให้ EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันเพื่อความยั่งยืน (ESG) 62,543 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 36.65% ของยอดทั้งหมด

ในมิติสังคม EXIM BANK มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs ที่ประสงค์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน (มาตรการ Pre-emptive) เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารอย่างตรงจุดและทันท่วงที สินเชื่อ EXIM Happy Export Credit เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจส่งออกและที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนภาคการส่งออกที่เป็นเสมือนเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งและทั่วถึง และบริการสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าในอัตราแลกเปลี่ยนพิเศษ (Happy Foreign Exchange Forward Contract) เพื่อเสริมสภาพคล่องและบริหารความเสี่ยงให้แก่ผู้ทำธุรกิจระหว่างประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยมีระยะเวลาอนุมัติถึงเดือนธันวาคม 2567

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนและสถานการณ์ความไม่มั่นคงในภูมิภาคต่าง ๆ EXIM BANK เร่งเสริมสร้างความมั่นใจและภูมิคุ้มกันความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยผ่านบริการประกันการส่งออกและการลงทุน โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจสะสมบริการประกัน เท่ากับ 161,285 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

การขยายบทบาทมุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งด้านสินเชื่อและประกันของ EXIM BANK เพื่อเป็นเสาหลักสนับสนุนธุรกิจทุกขนาด ทุกอุตสาหกรรม ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2567 EXIM BANK มีจำนวนลูกค้า 5,634 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการ SMEs กว่า 80% นอกจากนี้ EXIM BANK สนับสนุนผู้ประกอบการอย่างครบวงจร ผ่านการบ่มเพาะ ให้ความรู้ จับคู่ธุรกิจ และให้คำปรึกษาทางการเงิน ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2567 EXIM BANK ได้ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการสะสมกว่า 21,500 ราย สะท้อนถึงการอยู่เคียงข้างผู้ประกอบการไทยที่เป็นคนตัวเล็กและกลุ่มเปราะบางให้เติบโตและแข่งขันได้ในเวทีโลก รวมทั้งสามารถปรับตัวรับมือกับมาตรฐานการค้าโลกและกฏระเบียบต่าง ๆ ที่เข้มงวดขึ้นได้

มิติการกำกับดูแลกิจการที่ดี EXIM BANK ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทางการเงินเพื่อความยั่งยืน ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 EXIM BANK มีกำไรก่อนสำรอง 2,426 ล้านบาท มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 8,603 ล้านบาท และมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 17,708 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 205.83% เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจสูงขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่กระทบการค้าการลงทุน

“EXIM BANK เดินหน้าบทบาท Green Development Bank สนับสนุนผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง โดยสานพลังกับเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมสนับสนุนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจที่คำนึงถึง ESG ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม” ดร.รักษ์ กล่าว

Page 1 of 41
X

Right Click

No right click