January 15, 2025

เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ผู้นำธุรกิจพอลิเมอร์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน พลิกเกมช่วงธุรกิจปิโตรเคมีขาลง เชื่อมั่นในการเติบโตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในภูมิภาค เดินหน้าเสริมแกร่งธุรกิจด้วยการลงทุนโครงการเพิ่มวัตถุดิบก๊าซอีเทนในบริษัท ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) ด้วยงบประมาณลงทุนรวมประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 23,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้โรงงาน LSP สามารถรับวัตถุดิบก๊าซอีเทนจากสหรัฐอเมริกาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำลง และเพิ่มความยืดหยุ่นในการรับวัตถุดิบในการผลิตได้มากขึ้น พร้อมทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จ ปลายปี 2570

นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGC เผยว่า “กระบวนการผลิตโอเลฟินส์ของโรงงาน LSP ได้รับการออกแบบให้มีความยืดหยุ่นในการใช้วัตถุดิบตั้งต้นประเภทก๊าซมากขึ้น งบประมาณลงทุนส่วนใหญ่จะนำไปใช้สำหรับการสร้างระบบการจัดการและถังจัดเก็บวัตถุดิบก๊าซอีเทน ซึ่งต้องอยู่ภายใต้อุณหภูมิต่ำประมาณ -90 องศาเซลเซียส รวมทั้งสาธารณูปโภคการรับวัตถุดิบ (supporting facilities) เมื่อโครงการแล้วเสร็จ โรงงาน LSP จะสามารถรับก๊าซอีเทนได้มากถึงสองในสามของปริมาณวัตถุดิบทั้งหมด โดยส่วนที่เหลือจะเป็นก๊าซโพรเพนและแนฟทา”

ทั้งนี้ โรงงาน LSP ได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 สามารถผลิตและจำหน่ายพอลิเมอร์คุณภาพสูงเพื่อป้อนตลาดในประเทศเวียดนามและส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยผลิตภัณฑ์จากโรงงาน LSP ได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล

“อย่างไรก็ตาม ในช่วงธุรกิจปิโตรเคมีขาลง SCGC มีแนวทางบริหารจัดการการผลิตของโรงงานทั้ง 3 แห่ง ได้แก่  โรงงานระยองโอเลฟินส์ (ROC) โรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ (MOC) และโรงงาน LSP ให้เหมาะสมกับราคาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เพื่อให้มีศักยภาพการแข่งขันสูงสุด ซึ่งขณะนี้ โรงงาน LSP ได้หยุดการเดินเครื่องชั่วคราว เพื่อบริหารต้นทุนธุรกิจโดยภาพรวม ทั้งนี้ SCGC จะประเมินการกลับมาเดินเครื่องอีกครั้งเมื่อสถานการณ์เหมาะสม โดยระหว่างนี้ โรงงาน LSP จะมุ่งเน้นการยกระดับประสิทธิภาพ (Operational Excellence) และการบำรุงรักษาเครื่องจักรต่าง ๆ เพื่อให้พร้อมผลิตในทันทีที่สภาวะตลาดโลกฟื้นตัว” นายศักดิ์ชัย กล่าวทิ้งท้าย

เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ผู้นำธุรกิจพอลิเมอร์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน ร่วมกับ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและเคมีภัณฑ์ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์สินค้า อาทิ แอทแทค บิโอเร ไฮเตอร์ มาจิคลีน ลอรีเอะ แฟซ่า ฯลฯ พัฒนาบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลรักษ์โลกสำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม “แฟซ่า” (Feather) ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง SCGC GREEN POLYMERTM ด้วยเทคโนโลยีรีไซเคิลจาก SCGC เพื่อผลิตเป็น บรรจุภัณฑ์ที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำ และสามารถรีไซเคิลได้ 100% มุ่งใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่วิถีสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม โดยยังคงรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายในและให้ความสะดวกกับผู้บริโภคได้เช่นเดิม  

นายยูจิ ชิมิซึ ประธานกรรมการ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “หากพูดถึงคาโอ หนึ่งในสินค้าที่ทุกคนต้องรู้จักคือ แชมพูแบรนด์ “แฟซ่า” ที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 60 ปี ซึ่งแฟซ่าเป็นสินค้าแรกที่คาโอจำหน่ายในประเทศไทย โดยมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่แฟซ่าแบบซองซึ่งอยู่ในรูปแบบผง และได้พัฒนามาตามยุคสมัยจนกลายมาเป็นรูปแบบปัจจุบัน ซึ่งนอกจากการพัฒนาสูตรเองแล้ว คาโอยังไม่หยุดยั้งในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2024 นี้ คาโอได้ปรับโฉมบรรจุภัณฑ์ใหม่โดยร่วมมือกับ SCGC ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลาสติกรีไซเคิลครบวงจร เพื่อพัฒนาขวดบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกสำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม “แฟซ่า” โดยเลือกใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลประเภทพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (High Quality PCR HDPE Resin) นับเป็นการชุบชีวิตพลาสติกใช้แล้วให้กลับมามีคุณค่าใหม่อีกครั้ง”  

นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGC กล่าวว่า “SCGC มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีรีไซเคิล และมีโซลูชันด้าน Green Polymer ที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น บรรจุภัณฑ์  เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดย SCGC จะพัฒนาสูตรการผลิตและเทคโนโลยีให้เหมาะกับความต้องการโดยคำนึงถึงคุณภาพและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน สำหรับความร่วมมือกับคาโอนั้น SCGC ได้พัฒนาสูตรเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงประเภทพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (High Quality PCR HDPE Resin) จาก SCGC GREEN POLYMERTM ให้กับขวดแชมพูแฟซ่า เพื่อผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำ สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% และมีความปลอดภัย สามารถสัมผัสกับเนื้อผลิตภัณฑ์ภายในได้โดยไม่ส่งผลต่อคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์”  

ทั้งนี้ “ขวดแชมพูรักษ์โลกของแฟซ่า” เป็นดีไซน์ซึ่งสอดคล้องกับวิถีสังคมคาร์บอนต่ำ สามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ทุกชิ้นส่วน 100% เนื่องจากไม่มีการเติมแต่งสีในเนื้อพลาสติก นอกจากนี้ ในส่วนของฉลากยังออกแบบให้สามารถฉีกแยกออกได้ง่ายตามรอยประ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายยิ่งขึ้น ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ยกระดับโรงงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ให้อุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมพอลิเมอร์เพื่อความยั่งยืน ร่วมกับ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันยานยนต์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย สู่การเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์คาร์บอนต่ำ” เพื่อยกระดับศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกเพื่อยานยนต์ของไทย เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำดิจิทัลโซลูชันสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อย่างครบวงจร เน้นการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขานรับนโยบายของภาครัฐที่ผลักดันให้ใช้วัสดุและชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อเป็นยานยนต์ที่ “สะอาด ประหยัด และปลอดภัย” สร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม

  • ความร่วมมือระหว่าง SCGC และสถาบันยานยนต์ ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และการพัฒนาวัสดุสำหรับแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า รองรับความนิยมใช้รถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
  • การเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยี Industrial and Digital Solutions เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในกระบวนการผลิตอย่างครบวงจร

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ และประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม SCGC เผยว่า “ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ ถือเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์คาร์บอนต่ำ จะช่วยยกระดับศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป  ทั้งนี้ SCGC มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Polymers) ตามแนวทาง Low Waste, Low Carbon  โดยได้พัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์เพื่อความยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งช่วยตอบโจทย์การใช้งาน พร้อมทั้งแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน สำหรับความร่วมมือกับสถาบันยานยนต์ในครั้งนี้  ได้แก่ 1) การพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ครอบคลุมทั้งการออกแบบ การขึ้นรูป และการคำนวณคาร์บอน  2) พัฒนาวัสดุสำหรับแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า และ 3) นำความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลโซลูชันสำหรับภาคอุตสาหกรรม (Industrial & Digital Solutions) จาก REPCO NEX ในกลุ่มธุรกิจ SCGC มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในกระบวนการผลิตอย่างครบวงจร พร้อมทั้งช่วยผลักดันสู่ยานยนต์เพื่อความยั่งยืน เน้นการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”

ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการ สถาบันยานยนต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สถาบันยานยนต์มีความตั้งใจที่จะผลักดันวงการยานยนต์สู่การเป็น Future Mobility ไปพร้อมกับการพัฒนาวัสดุในการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบัน อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตแบบดั้งเดิม เป็นการผลิตแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ผลักดันให้ใช้วัสดุและชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อเป็นยานยนต์ที่ “สะอาด ประหยัด และปลอดภัย” สร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ควบคู่ไปกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน  การร่วมมือกับ SCGC ในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการใช้องค์ความรู้ทางนวัตกรรมพอลิเมอร์และดิจิทัลโซลูชันมาช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย ให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์คาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม”

Page 1 of 11
X

Right Click

No right click