สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จับมือ มูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation: TAF) และ หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand: JFCCT) ร่วมกันจัดงานภายใต้ชื่อ “สัมมนาพัฒนาธุรกิจ SME สู่ความยั่งยืนในตลาดโลกด้วย ESG และการเปิดตัว ESG Toolkit สำหรับ SMEs” โดยงานสัมมนานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ SMEs Go Global – Go Green ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย (Department of Foreign Affairs and Trade: DFAT) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตัวคู่มือปฏิบัติ ESG (Environmental, Social, and Governance) พร้อมให้คำแนะนำเชิงปฏิบัติและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและบริการของภาครัฐที่สนับสนุนการปฏิบัติตาม ESG รวมถึงการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการเติบโตของ SMEs ที่ยั่งยืน ตั้งเป้าเสริมแกร่งให้กับ SMEs ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกและสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยงานดังกล่าว มี ดร.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยผู้แทนจาก สสว. DFAT และ TAF ร่วมในพิธีเปิด ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอมารี ประตูน้ำ กรุงเทพฯ
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยผลสำรวจโอกาสและความท้าทายของธุรกิจเอสเอ็มอีสู่เทรนด์ธุรกิจ ESG (Environment, Social และ Governance) หรือแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน ซึ่ง สสว. ได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 2,675 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 21 – 31 ตุลาคม 2567 พบว่า เอสเอ็มอีไทย ร้อยละ 65.3 มีความรู้เกี่ยวกับแนวคิด ESG โดยพิจารณาสัดส่วนการรับรู้เอสเอ็มอี ร้อยละ 96.2 มีความรู้อยู่ในระดับพื้นฐาน เช่น รูปแบบการดำเนินธุรกิจแนว ESG จะช่วยลดการสร้างมลพิษ และรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มีความเข้าใจเชิงลึกและผลลัพธ์ที่สามารถจับต้องได้ ขณะที่ร้อยละ 3.8 มีความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานและมีการเชื่อมโยงนำไปสู่ผลลัพธ์ได้
เมื่อพิจารณาสัดส่วนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ พบว่า เอสเอ็มอีร้อยละ 74.9 รับทราบเกี่ยวกับแนวคิด ESG แต่ยังไม่มีการนำไปใช้ และมีเอสเอ็มอีเพียงร้อยละ 25.1 เริ่มมีความตระหนักรู้ เนื่องจากเอสเอ็มอีให้ความสำคัญกับการนำมาปรับใช้กับธุรกิจในขั้นพื้นฐาน และบางขั้นตอนสามารถเริ่มทำได้ง่าย เช่น การลดการใช้พลาสติกและการแยกขยะ
ในการสำรวจยังพบว่า เอสเอ็มอีมีการประเมินถึงผลที่จะเกิดขึ้นหากนำแนวคิด ESG มาปรับใช้ในธุรกิจ พบว่า เอสเอ็มอีร้อยละ 29.4 มองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจโดยจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า/บริการเพิ่มขึ้น รองลงมาคือ ขั้นตอนการทำงาน การจดรับรองมาตรฐาน ต้นทุนในการจ้างผู้ตรวจสอบตามมาตรฐานต่าง ๆ เป็นต้น
ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ ที่ปรึกษามูลนิธิเอเชีย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยกำลังเผชิญแรงกดดันมากขึ้นในการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) ในตลาดโลก และ ธุรกิจ SMEs ของไทยหลายแห่งประสบปัญหาในการปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านี้ เนื่องจากขาดความรู้และทรัพยากร ทำให้จำกัดโอกาสในการเข้าถึงตลาดโลก เหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดสัมมนา ภายใต้หัวข้อ “การเปิดตัวคู่มือปฏิบัติ ESG สำหรับ SMEs ไทย”
งานสัมมนาดังกล่าว มุ่งเน้นที่จะลดช่องว่างระหว่างมาตรฐาน ESG ระดับสากลและความเป็นจริงในการดำเนินธุรกิจของ SMEs ไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยนอกจากจะเปิดตัวคู่มือปฏิบัติ ESG พร้อมให้คำแนะนำเชิงปฏิบัติและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและบริการของภาครัฐที่สนับสนุนการปฏิบัติตาม ESG แล้ว ยังดำเนินการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการเติบโตของ SMEs รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SMEs ไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วยกันทั้งหมด 3 ช่วง โดย ช่วงที่หนึ่ง เป็นการแนะนำคู่มือปฏิบัติ ESG ซึ่งออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับ SMEs ไทย โดยเน้นการใช้งานที่เป็นรูปธรรมและผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง การนำเสนอจะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีที่คู่มือปฏิบัติ ESG ช่วยแก้ไขความท้าทายเฉพาะที่ SMEs ต้องเผชิญในการปฏิบัติตามมาตรฐาน ESG พร้อมแนะแนวทางทีละขั้นตอนสำหรับการผสานหลักการ ESG เข้ากับการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในห่วงโซ่การผลิตโลก ซึ่งช่วงที่หนึ่งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าใจถึงประโยชน์ที่แท้จริงของการนำ ESG มาประยุกต์ใช้ในองค์กร นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญจากภาคการผลิต ได้แก่ บริษัทเดอะ คลาสสิก แชร์ส จำกัด บริษัทจุลไหมไทย จำกัด และบริษัทเอชแอลเอ็ม คอร์ปอเรท จำกัด มาให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีที่คู่มือปฏิบัติ ESG จะช่วยแก้ไขปัญหาที่ SMEs ไทยต้องเผชิญในเรื่อง ESG พร้อมแนะแนวทางที่มีประสิทธิภาพสำหรับการนำไปใช้จริง
ช่วงที่สอง นำเสนอภาพรวมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับบริการและโครงการปัจจุบันของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่สนับสนุนการปฏิบัติตามมาตรฐาน ESG โดยวิทยากรจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะอธิบายถึงวิธีการที่บริการและการรับรองจากภาครัฐเหล่านี้สอดคล้องกับคู่มือปฏิบัติ ESG และช่วยในการนำไปใช้ในธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
ช่วงที่สาม เน้นมุมมองและข้อมูลจากภาครัฐในฐานะผู้กำหนดนโยบายและวางกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ ESG ทั้งยังช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่แนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับ ESG โดยเป็นการอภิปรายร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาร่วมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางที่ SMEs ไทยสามารถนำ ESG มาใช้และประสบความสำเร็จได้ตามมาตรฐานสากล โดยมุ่งเน้นให้ข้อมูลผู้ประกอบการเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนโครงการมาตรการสนับสนุนที่ภาครัฐให้แก่ผู้ประกอบการ มีการถอดบทเรียนให้ผู้ประกอบการจากมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐ และเน้นการสร้างความเข้าใจในประโยชน์จากการปฏิบัติตามมาตรฐาน ESG เช่น เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว