December 12, 2024

‘โลกเดือด’ ในระดับที่มีผู้ได้รับผลกระทบมากขึ้น กินวงกว้างขึ้น และส่งผลให้เกิดความสูญเสียหลากหลายด้าน ‘ความยั่งยืน’ จึงยิ่งประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกเร่งขับเคลื่อนเพื่อลดผลกระทบโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นการออกนโยบายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาครัฐและเอกชน การตั้งเป้าหมายความเพื่อสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) การทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG: Environment - Social - Governance) เพื่อร่วมสนับสนุน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs: Sustainable Development Goals) ฯลฯ

สำหรับภาคเอกชน องค์กรน้อยใหญ่ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมใด ต่างก็ต้องผลักดันเรื่องความยั่งยืน ผ่านสินค้าบริการ กิจกรรมการตลาด รวมถึงวัฒนธรรมและแนวทางการทำธุรกิจขององค์กร และหากดำเนินการเป็นกลุ่มธุรกิจ บริษัททั้งหมดในเครือก็ต้องดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนร่วมกัน อาทิ ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น ยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมการพิมพ์และการฉายภาพที่ดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่แรกเริ่มธุรกิจ จนเป็นบริษัทแรกของโลกที่กำจัด สารซีเอฟซี (CFC: (Chlorofluorocarbons) ซึ่งทำลายชั้นโอโซนออกจากกระบวนการผลิตได้ทั้งหมด และยังเป็นบริษัทแรกในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศญี่ปุ่นที่สามารถเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566

ดีเอ็นเอแห่งความยั่งยืน ผนวกกับการเข้าสนับสนุนเป้าหมายระดับโลก SDGs ส่งผ่านไปยังธุรกิจ ‘เอปสัน’ ที่กระจายอยู่ทั่วโลก รวมถึง เอปสัน ประเทศไทย ที่เล็งเห็นถึงสภาพแวดล้อมของโลกและประเทศไทยที่กำลังเผชิญผลกระทบเชิงลบมากมายและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าจะนิ่งนอนใจได้ ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด

กล่าวถึง เอปสัน ประเทศไทยว่า ได้ขานรับ ‘Environmental Vision 2050’ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมระยะยาวขององค์กร และมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะ ข้อที่ 13 ว่าด้วยการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) ผ่านการนำเสนอนวัตกรรมและโซลูชันการพิมพ์ที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน และประหยัดการใช้พลังงานมากขึ้น นอกจากนี้ ยังดำเนินกิจกรรม CSR อย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อกระตุ้นการรับรู้และปลูกจิตสำนึกให้กับทั้งทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องตลอดซัพพลายเชนของการดำเนินธุรกิจ

“เราอยู่ในทศวรรษที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์และเห็นผลกระทบที่รุนแรงเกิดบ่อยขึ้นกับชีวิตผู้คนจำนวนมากขึ้น บริษัทจึงพยายามมาโดยตลอดที่จะสื่อสารกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริโภค องค์กรลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ สื่อมวลชน รวมถึงชาวเอปสันเอง ถึงสิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยกันทำได้ เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กิจกรรมการปลูกปะการังเทียมและการทำซั้งในทะเล เพื่อใช้เป็นแหล่งอาศัย แหล่งอาหาร และแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำ หรืองานสัมมนาให้ความรู้นักศึกษาและผู้ประกอบการรุ่นใหม่เกี่ยวกับการสร้างธุรกิจบนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงกิจกรรมรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก การรีไซเคิลขยะพลาสติก”

“นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดกับประเทศไทยทุกๆ ปี ก็คือ ไฟป่า ซึ่งทำลายทรัพยากรป่าไม้ปีละเป็นหมื่นๆ ไร่ สร้างปัญหาฝุ่นควันและอากาศที่ร้อนขึ้นในหลายจังหวัด เอปสัน ประเทศไทย จึงช่วยขยายเสียงเพื่อร่วมสะท้อนถึงปัญหาที่ทำลายทั้งสุขภาพของคนไทย เศรษฐกิจและธรรมชาติของประเทศ โดยจัดแคมเปญ CSR ในปีที่ผ่านมาภายใต้ชื่อ ‘33 x Trees’ เพื่อสื่อถึงปีที่ 33 ของเอปสัน ประเทศไทย และความตั้งใจที่จะช่วยรักษาผืนป่าของประเทศไทย โดยชูประเด็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่สูญเสียไปจากไฟป่า”

แคมเปญดังกล่าวเน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานเอปสันและครอบครัว รวมถึงสื่อมวลชน ในกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากสถานีควบคุมไฟป่าเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา โดยเริ่มด้วย ‘เรื่องจริงของคนตีไฟ’ ด้วยวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดไฟป่า ปัญหาและผลกระทบ วิธีการป้องกันไฟป่า ทั้งยังได้รับประสบการณ์ ‘ฝึกดับไฟจริง’ โดยมีเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าเป็นพี่เลี้ยง นอกจากนี้ เอปสัน ประเทศไทยยังบริจาคอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการทำภารกิจการควบคุมไฟป่าภายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น กระเป๋าเดินป่า หม้อสนาม หัวแก๊สหุงต้มสนาม พร้อมแก๊สกระป๋อง ถุงเท้าข้อยาว และพาวเวอร์แบงก์

“กิจกรรมนี้ทำให้เราสัมผัสถึงความยากลำบากและความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าที่ต้องลาดตระเวนและดับไฟป่าที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อตลอดระยะเวลา 7-8 เดือน กล่าวคือ ตั้งแต่ตุลาคมยาวไปถึงพฤษภาคมอีกปีจะเป็นช่วงระวังไฟป่า และในแต่ละปีก็มีผืนป่าทั่วประเทศเสียหายจากไฟป่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุให้เกิดไฟป่าเกือบทั้งหมดมาจากฝีมือมนุษย์ และกว่าจะฟื้นฟูผืนป่าเหล่านี้ได้ต้องใช้เวลานานกว่าที่ป่าถูกเผาไปหลายสิบเท่า การป้องกันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การป้องกันคน”

ต่อจาก ‘เรื่องจริงของคนตีไฟ’ คือ ‘พิธีบวชป่าลับแล’ ที่คณะพนักงานและสื่อมวลชนร่วมเป็นเจ้าภาพพิธีบวชป่าครั้งแรกของป่าชุมชนเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ทั้งยังได้ปลูกต้นสักเพิ่มให้กับเขาลูกนี้ด้วย และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ใหญ่และชาวหมู่บ้านสระสี่มุม

ส่วนเหตุผลที่เอปสันเลือกทำกิจกรรมที่ป่าแห่งนี้ เพราะเป็นตัวอย่างของป่าที่ครั้งหนึ่งเคยถูกทำให้เสื่อมโทรม เนื่องจากในอดีต ชาวบ้านขึ้นมาตัดไม้ ล่าสัตว์ เผาป่า และจับจองพื้นที่ทำไร่ ทำให้ผืนป่าลดลง เขาขลุงจึงเปลี่ยนสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น จนในปี 2530 ที่เริ่มมีการฟื้นฟู ชาวบ้านทำข้อตกลงร่วมกันในการหยุดตัดไม้และปล่อยให้ป่าฟื้นตัวตามธรรมชาติ ทั้งยังช่วยกันปลูกต้นไม้พันธุ์ต่างๆ มาตลอด จนป่าฟื้นคืนสภาพและได้ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนในปี 2562

ปัจจุบัน ป่าเขาขลุงเป็นทั้งถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่า เป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ของชุมชน ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพที่หลายสถาบันมาศึกษากันไม่ขาด จึงเรียกได้ว่าเป็นป่าที่ได้รับการฟื้นฟูจนกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง...ด้วยฝีมือมนุษย์

“เอปสันยังเลือกจัดกิจกรรมที่ป่าเขาขลุง โดยอ้างอิงจากผู้ใหญ่บ้านว่า ป่าแห่งนี้ยังไม่เคยมีพิธีบวชป่า อย่างน้อยก็ในช่วงสามถึงสี่ชั่วอายุคน ซึ่งพิธีบวชป่าเป็นพิธีกรรมทางศาสนาพุทธที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อเป็นกุศโลบายให้ผู้คนรู้จักคุณค่าและความสำคัญของป่า ด้วยการสร้างความเชื่อที่ว่า ผืนป่าที่ผ่านพิธีบวชเช่นเดียวกับการบวชพระและต้นไม้ที่ถูกห่มด้วยจีวรจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษา จะถูกผู้ใดมาบุกรุกทำลายไม่ได้ เมื่อคนไม่กล้าตัด ต้นไม้ก็จะเติบโตเป็นป่าต่อไป กิจกรรมนี้จึงช่วยเพิ่มความสำคัญให้กับป่าเขาขลุงและเพิ่มโอกาสที่ป่านี้จะอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น”

ตามมาด้วยกิจกรรมสุดท้ายคือ ‘คาราวานสังฆทานต้นไม้’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงศรัทธา ที่จังหวัดลำปาง โดยเอปสัน ประเทศไทยจัดขบวนรถม้าพาพนักงานและคณะสื่อมวลชนออกจากสถานีรถไฟนครลำปาง ซึ่งเป็นจุดที่รถม้าคันแรกเดินทางมาถึงและเริ่มออกวิ่งที่เมืองลำปางเมื่อ 108 ปีที่แล้ว มุ่งหน้าไปยังวัดเก่าแก่ 3 วัด ได้แก่ วัดศรีรองเมือง วัดไชยมงคล และวัดศรีชุม เพื่อร่วมกันถวายต้นกล้าพะยูงจำนวน 333 ต้น เป็นพุทธบูชาให้วัดนำไปปลูกและแจกจ่ายญาติโยมต่อไป ทั้งยังประกอบพิธีและประเพณีสำคัญประจำแต่ละวัด เช่น พิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีที่วัดไชยมงคล การห่มพระธาตุที่วัดศรีชุม โดยความเชื่อมโยงของวัดทั้งสามอยู่ที่การเป็นวัดซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยคหบดีชาวพม่าที่เข้ามาทำป่าไม้ทั้งสิ้น จึงต้องการสร้างวัดเพื่อเป็นพุทธบูชาและขอขมาที่ทำลายบ้านของรุกขเทวดาลง

นอกจากกิจกรรมลงพื้นที่แล้ว เอปสัน ประเทศไทยยังเชิญ วัธนา บุญยัง นักเขียนสารคดี นิยาย และเรื่องสั้นแนวพงไพรที่ดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย ผู้แต่งนวนิยายเรื่อง ‘ใบไม้ร่วงในป่าใหญ่’ ซึ่งได้รับรางวัลชมเชย จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2531 และรางวัลชมเชย เซเว่นบุ๊คส์อะวอร์ด ปี 2546 มาแบ่งปันเรื่องราวจากพงไพร ประสบการณ์การท่องป่า ความเชื่อและสิ่งลี้ลับ ในสารคดีชุด ‘Tale from the Wild’

“แคมเปญ ‘33 x Trees’ เป็นชุดความพยายามของเอปสัน ประเทศไทยในปีที่ผ่านมา หลังจากนี้บริษัทจะยังคงสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของไซโก้ เอปสัน ในการเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนเป็นลบ และยุติการใช้ทรัพยากรใต้ดินให้ได้ภายในปี 2050 พร้อมลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต ตัวผลิตภัณฑ์ การให้บริการ และตลอดซัพพลายเชน โดยบริษัทจะทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีประสิทธิภาพและมีจุดยืนเดียวกัน เพื่อกระตุ้นความตระหนักรู้เรื่องความยั่งยืนและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของเอปสันให้ได้มากที่สุด” ยรรยงกล่าว

X

Right Click

No right click