สร้างศูนย์ต้นแบบคัดแยกและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลคุณภาพสูงแห่งแรกของไทย

 กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow)  และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) อำเภอบ้านฉาง เทศบาลตำบลบ้านฉาง และสถาบันพลาสติก ร่วมลงนามพัฒนาต้นแบบการจัดการขยะชุมชนอย่างมีส่วนร่วมในโครงการ “ต้นแบบศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร ส่งเสริมการคัดแยกและยกระดับคุณภาพขยะเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้ชุมชน ด้วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ด้วยงบสนับสนุนกว่า 20 ล้านบาท ตั้งเป้านำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้ประมาณปีละ 1,000 – 1,200 ตัน เตรียมเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่น ๆ

โครงการดังกล่าวเป็นการขยายผลความร่วมมือที่ Dow และ วว. ได้ร่วมกันดำเนินงานโครงการ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม นำสู่การพัฒนาคุณภาพขยะพลาสติกในชุมชนอย่างยั่งยืน” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะบูรณาการองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของ 4 องค์กรพันธมิตร และส่งเสริมความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ เพื่อจัดตั้งศูนย์ต้นแบบคัดแยกและแปรรูปวัสดุรีไซเคิล (Material Recovery Facility: MRF) คุณภาพสูงแห่งแรกของประเทศไทยที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เพื่อบริหารจัดการขยะชุมชน บรรจุภัณฑ์พลาสติก และของเหลือทิ้งในชุมชนแบบครบวงจรและยั่งยืน สร้างมูลค่าเพิ่มต่อการจัดการขยะ ยกระดับคุณภาพของวัตถุดิบรอบสองตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน พัฒนาผลิตภัณฑ์จากขยะชุมชนและของเหลือทิ้งในพื้นที่อำเภอบ้านฉาง รวมถึงจัดการน้ำเสียและการผลิตพลังงานทดแทนชีวภาพ เมื่อดำเนินการสำเร็จจะนำรายได้เสริมมาสู่ชุมชนในขณะเดียวกับที่ช่วยลดปริมาณขยะในสิ่งแวดล้อม

นายกิติพงศ์ อุระวัตร นายอำเภอบ้านฉาง กล่าวว่า “ในนามของชาวบ้านฉางและในฐานะคณะทำงาน เรายินดีให้การสนับสนุนโครงการฯ เพื่อผนึกกำลังสร้างชุมชนต้นแบบจัดการขยะยั่งยืน เพื่อให้เกิดระบบการบริหารจัดการขยะภายในอำเภอ เสริมความรู้ สร้างความตระหนักและความร่วมมือในการเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะของคนในชุมชน ส่งเสริมให้มีระบบการจัดการขยะและคัดแยกที่ดี เพื่อเพิ่มอัตราการรีไซเคิลให้สูงขึ้นสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการแก้ไขปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงการสนับสนุนการจัดกิจกรรมว่า “ในสถานการณ์ที่โลกมีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด แต่มีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนจะต้องนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ รวมทั้งต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้เราสามารถใช้ทรัพยากรที่มีค่าได้เกิดประโยชน์สูงสุด และใช้ซ้ำได้เป็นวงจรไม่รู้จบ โดยเฉพาะพลาสติกใช้แล้ว โครงการนี้สอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับหนึ่งในเป้าหมายด้านความยั่งยืนของ Dow ที่จะ ‘หยุดขยะพลาสติก’ โดยเราตั้งเป้าจะผลักดันให้พลาสติกใช้แล้วจำนวน 1 ล้านตันจากทั่วโลกถูกเก็บกลับมาใช้ประโยชน์หรือรีไซเคิล ทั้งผ่านกิจกรรมที่ Dow ดำเนินการเอง และโครงการความร่วมมือ

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “งานวิจัยในด้านการจัดการขยะที่สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของ วว. มุ่งเน้นการจัดการวัสดุรีไซเคิลที่ต้นทางเพื่อสร้างโอกาสในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างอาชีพ ขยายผลความสำเร็จสู่ภาคเอกชน ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สอดคล้องกับนโยบาย BCG Economy เชื่อมั่นว่าความร่วมมือเชิงบูรณาการของทั้ง 4 หน่วยงานในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในการนำผลงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นต้นแบบศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร ขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่การประยุกต์ใช้งานจริงในพื้นที่ เพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืน”

นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า “พลาสติกถือเป็นวัสดุที่มีคุณประโยชน์และความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงมีการนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมที่หลากหลาย พร้อมทั้งสามารถปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย หากใช้งานอย่างคุ้มค่าและจัดการอย่างมีประสิทธิภาพหลังใช้งาน ก็จะเป็นวัสดุหนึ่งที่สามารถดูแลสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ต้องอาศัยการให้ความรู้ ความเข้าใจ ความร่วมมือของชุมชนตลอดจนผู้อุปโภคบริโภคในการคัดแยกและจัดการกับขยะชนิดต่าง ๆ รวมไปถึงพลาสติกใช้แล้วภายในชุมชน เกิดเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการสร้างอาชีพและธุรกิจของชุมชน จนสามารถเป็นแผนต้นแบบขยายสู่ระดับประเทศได้ ถือเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีความลงตัวในทั้ง 3 มิติ คือ ชุมชนที่แข็งแรง ภาคธุรกิจที่เติบโต และเศรษฐกิจของประเทศก้าวหน้าและยั่งยืนได้นั่นเอง”

นายสุพจน์ ต่ออาจหาญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า “การที่จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริงและยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ผลิต ห้างร้าน ผู้บริโภค และสิ่งสำคัญที่สุดในฐานะผู้บริโภค คือ การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่ครัวเรือนในชุมชน เพื่อให้ขยะแต่ละชนิดสามารถนำไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ขอขอบคุณ Dow วว. สถาบันพลาสติก และอำเภอบ้านฉาง รวมถึงทุกคนที่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในครั้งนี้ ผมมั่นใจว่าจังหวัดระยองของเรามีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะผนึกกำลังสร้างและยกระดับให้บ้านของพวกเราเป็นต้นแบบการจัดการขยะที่ยั่งยืน”

โครงการต้นแบบศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานกว่า 20 ล้านบาท จากสองหน่วยงานคือ กองทุน Dow Business Impact Fund จากบริษัท Dow และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

ผลักดันธุรกิจและประเทศสู่เป้าเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero 

แนะผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ Net Zero

สมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) และ The Asia Pacific Roundtable for Sustainable Consumption and Production (APRSCP) ได้จัดงานประชุมการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งเอเซียแปซิฟิกครั้งที่ 16 เรื่อง Bridging Net Zero Transition by SCP and Circular Economy ณ โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส กรุงเทพมหานคร

เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ของภาคต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

ในการนี้ได้รับเกียรติจาก มร. เอ็ดวิน ซี. แซเกอตัน จูเนียร์, ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ, สถานฑูตอเมริกา ขึ้นกล่าวปาถกฐาในหัวข้อ “Leveraging the Power of the Private Sector: How the U.S. is Engaging Companies to Fight Climate Change” รวมทั้งภาคเอกชนหลายหน่วยงานร่วมแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับบทบาทภาคเอกชนและภาครัฐในการจัดการขยะพลาสติกและการจัดการเพื่อการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในงานนี้

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ได้ร่วมแชร์ความสำเร็จและนวัตกรรมของ Dow ที่ช่วยจัดการให้โรงงานสามารถลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ได้ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและภาคธุรกิจ

โดยนายวิชาญ ตั้งเคียงศิริสิน ผู้อำนวยการฝ่ายขายภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้ร่วมสัมมนาในหัวข้อ “Enabling the net zero carbon dioxide emission through Innovation & Private and Government sector Collaboration” กล่าวถึงกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จของ Dow จากโรงงานไฟฟ้าโอซากิ คูลเจน ที่ร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น โดยใช้เทคโนโลยีของ Dow ที่มีประสิทธิภาพสูงในการจับคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออไซต์ได 150,000 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับปลูกต้นไม้ 15 ล้านต้น และล่าสุดได้ร่วมมือกับรัฐบาลแคนาดา ในการนำนวัตกรรมของ Dow ไปใช้ในโรงงานผลิตเอทิลีนในรัฐอัลเบอร์ตา ซึ่งเป็นโรงงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์แห่งแรกของโลก

Page 5 of 7
X

Right Click

No right click