January 22, 2025

ท่ามกลางกระแสรักษ์โลก ที่ทุกภาคส่วนในสังคมกำลังมุ่งมั่นเดินหน้าไปสู่การสร้าง “สังคมคาร์บอนต่ำ” มีหลายธุรกิจชั้นนำระดับโลกที่พัฒนานวัตกรรมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นจริงแล้ว และนำมาแบ่งปันแนวคิด สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนมาร่วมก้าวไปพร้อมกัน ในงาน ESG Symposium 2023: ร่วม เร่ง เปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เมื่อไม่นานนี้

ขนส่งและเดินทางด้วย “รถประหยัดพลังงาน (Green Logistic)”

ปัจจุบัน เราอยู่ในยุคของความเป็นกลางทางคาร์บอน และมีความต้องการที่ต้องเปลี่ยนยานยนต์ทุกคันเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ BEV และพลังงานสะอาด ซึ่งในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของภาครัฐ 

มร.ฮิโรกิ นาคาจิม่า กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (CJPT) และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนไม่ใช่สิ่งที่บริษัทเดียวจะทำได้โดยลำพัง จึงได้มีการริเริ่มความร่วมมือกับระหว่างบริษัทรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศญี่ปุ่นและได้ก่อตั้งบริษัทภายใต้ชื่อ “Commercial Japan Partnership Technologies Corporation หรือ CJPT”  เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้รถที่มีเทคโนโลยีหลากหลาย รวมถึงรถจากพลังงานสะอาด และรถที่มีคาร์บอนต่ำ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการขนส่ง  โดยได้ขยายความร่วมมือดังกล่าวมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และระดับโลก “Detroit of Asia” สำหรับรถยนต์เชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ มร.นาคาจิม่ายังได้เปิดเผยถึงความร่วมมือที่บริษัท CJPT มีความร่วมมือกับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) และเอสซีจี เพื่อผลักดันให้ไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ด้วยการพัฒนานวัตกรรมรักษ์โลก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านพลังงาน ทั้งการผลิตพลังงานไฮโดรเจนจากชีวมวล และอาหารเหลือทิ้ง รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำ ด้านการใช้ข้อมูล (Big Data) และโครงสร้างพื้นฐานด้านการโทรคมนาคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ และด้านการเดินทาง โดยการนำเสนอยานยนต์ไฟฟ้าที่หลากหลาย ได้แก่ รถพลังงานไฟฟ้าแบบไฮบริด (HEVs) รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (BEVs) รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEVs) รวมถึงยานยนต์ที่ประหยัดน้ำมัน ซึ่งสอดคล้องกับด้านพลังงาน ลูกค้า รวมทั้งรูปแบบที่เหมาะสมในการใช้งาน

โดยในความร่วมมือกับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) บริษัท CJPT ได้ร่วมมือในการผลิตพลังงานไฮโดรเจนที่มาจากพลังงานไบโอก๊าซ หรือ “ก๊าซชีวภาพ” ซึ่งหมักโดยใช้มูลไก่จากฟาร์มของ CP และนำไปใช้ในภาคขนส่ง ซึ่งเป็นการนำของเสียจากการผลิตภาคการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า และใช้ประโยชน์ให้เป็นพลังงานสะอาดสำหรับรถพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (FCEVs) ซึ่งถือเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดโลกร้อนได้ด้วย

ส่วนกรณีศึกษาในประเทศญี่ปุ่น มร.นาคาจิม่าเล่าว่า กรณีแรกคือ CJPT ได้ริเริ่มให้มีการใช้ “ไฮโดรเจน” ในเมืองฟุกุชิมะ ในรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ซึ่งใช้เป็นร้านสะดวกซื้อและการขนส่ง สำหรับประชากรกว่า 300,000 คน โดยสามารถขยายไปสู่เมืองอื่น ๆ ได้ในอนาคต

กรณีที่สองคือ ในกรุงโตเกียว ที่ CJPT ร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ในการส่งเสริมการสร้างสถานีชาร์จสำหรับรถ BEV และไฮโดรเจนสำหรับรถ FCEVs เพื่อขยายการใช้รถยนต์พลังงานสะอาด ขณะเดียวกันกระจายการใช้พลังงาน

เร่งเครื่อง “พลังงานสะอาด”

จากการที่ภาคอุตสาหกรรม จำเป็นต้องใช้พลังงานความร้อนในการผลิต แต่ในยุคที่ทั่วโลกเริ่มปรับตัวมาใช้พลังงานสะอาดแทน จอห์น โอดอนเนลล์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Rondo Energy กล่าวว่า ถึงแม้การเปลี่ยนผ่านนี้ถือเป็น “โจทย์ยาก” แต่สามารถเป็นไปได้

โอดอนเนลล์ อธิบายว่า ไทยเป็นตลาดสำคัญของบริษัทในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานพลังงานใหญ่ระดับโลกเพื่อนำไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งบริษัทกำลังทำงานกับเอสซีจีเพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมในไทยใช้พลังงานสะอาดและต้นทุนต่ำ ที่สำคัญ “เมื่อรักษ์โลกแล้ว ต้องทำเงินได้ด้วย”

“การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานนั้นแม้เป็นเรื่องยาก แต่ก็เป็นโอกาสเช่นกัน เพราะปัจจัยพื้นฐานในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว” โอดอนเนลล์กล่าว “แหล่งพลังงานสะอาดทั้งจากแสงแดดและลมขณะนี้ถือว่าต้นทุนต่ำมาก ๆ อยู่ที่ใครจะกล้าลงทุนหรือไม่”

อีกทั้งยังเป็นโอกาสครั้งใหญ่สุดแห่งยุค “ขณะนี้พลังงานสะอาดกำลังขับเคลื่อนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม และจะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกใน 50 ปีข้างหน้า”

โอดอนเนลล์ เปิดเผยด้วยว่า บริษัทได้ร่วมกับเอสซีจีในการผลิตอิฐแบบพิเศษที่เก็บความร้อนได้กว่า 1,500 องศาเซลเซียส เพื่อใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ความร้อนซึ่งสามารถแปลงพลังงานสะอาดจาก “ลม” และ “แสงแดด” ให้เป็นพลังงานความร้อนที่สามารถใช้ได้ในภาคอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกัน เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลมและแสงแดดสูง และต้นทุนพลังงานสะอาดกำลังมีต้นทุนที่ถูกลงเรื่อย ๆ จนขณะนี้มีต้นทุนถูกกว่าพลังงานฟอสซิล ดังนั้น พลังงานเหล่านี้จึงสามารถตอบโจทย์การใช้พลังงานความร้อนในภาคอุตสาหกรรมได้

“นวัตกรรมแบตเตอรี่เก็บความร้อนจากพลังงานสะอาดสำหรับภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่” โอดอนเนลล์ระบุ

“ไบโอพลาสติก” ลดคาร์บอน

ในขณะนี้ จำนวนประชากรโลกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรโลกยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพระดับโลกจากบราซิล บริษัท Braskem จึงได้ริเริ่มนำประโยชน์ที่ได้จากการผลิตเอทานอลจากอ้อย มาผลิตเป็น “ไบโอพลาสติก” ที่ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ

โรเจอร์ มาร์คิโอนี ผู้อำนวยการเอเชีย ฝ่ายโอเลฟินส์และโพลีโอเลฟินส์ บริษัท Braskem กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทสามารถผลิตไบโอพลาสติกจากอ้อยซึ่งสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก สอดรับกับความต้องการพลาสติกชีวภาพในตลาด 

ล่าสุด จัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่กับ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ตั้งเป้าผลิตเอทิลีนชีวภาพ (Green-Ethylene) จากเอทานอลที่ใช้ผลิตผลจากภาคเกษตร แทนเอทิลีนจากฟอสซิล ซึ่งมีกำลังการผลิต 2 แสนตันต่อปี  ภายใต้แบรนด์ I’m green™ (แอมกรีน) และยังสามารถนำไปผลิตสินค้าได้หลากหลายประเภท ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ส่วนบุคคลและอุปกรณ์ดูแลบ้าน ของเล่น เครื่องใช้ในบ้าน ถุงพลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบ Mechanical recycling และ Advanced recycling เช่นเดียวกับพอลิเอทิลีนทั่วไป จึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดภาวะโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการผสมผสานความเชี่ยวชาญ ด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพของ Braskem เข้ากับความเชี่ยวชาญของ SCGC ในด้านการผลิตพอลิเอทิลีน รวมทั้งศักยภาพของ SCGC ที่เป็นผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในระดับภูมิภาคโดยโรงงานของบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ประเทศไทย และถือเป็นโรงงานผลิต   I’m green™  แห่งแรกนอกประเทศบราซิล

นายกฯ ชื่นชมข้อเสนอจากการระดมสมองภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เร่งเปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ชวนทุกภาคส่วนร่วมสร้างสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย พร้อมหนุนขยายผลเศรษฐกิจหมุนเวียน และการเปลี่ยนสู่พลังงานสะอาด โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รองรับการขยายตัวเศรษฐกิจ ดึงดูดนักลงทุน เชื่อมั่นพลังความร่วมมือจะพาไทยเติบโตแบบคาร์บอนต่ำได้สำเร็จในงาน ESG Symposium 2023

นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ร่วมงาน ESG Symposium 2023 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 11 ในหัวข้อ “ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ด้วยความร่วมมือจากหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเอสซีจี ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีผู้ร่วมงานจากทุกภาคส่วนกว่า 2,000 คน โดยนายกรัฐมนตรีได้รับฟังข้อเสนอ “ร่วม เร่ง เปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ที่มาจากการระดมสมอง ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมกว่า 500 คน ตลอดเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่

  • ร่วมสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว เกษตรยั่งยืน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เนื่องจากสระบุรีเป็นจังหวัดที่มีความซับซ้อนและท้าทายมาก เพราะมีระบบเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมหนัก การเกษตร การท่องเที่ยว และความเป็นเมืองที่ผสมผสาน
    จึงสามารถเป็นตัวแทนเสมือนของประเทศไทยได้ เพื่อศึกษาเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จและข้อจำกัดต่าง ๆ ในการเปลี่ยนสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ซึ่งร่วมบูรณาการโดยผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมจริง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง และภาคประชาสังคมที่ได้รับผลกระทบ หากประสบความสำเร็จจะเป็นแรงจูงใจให้จังหวัดอื่น ๆ ได้ ปัจจุบันมีความร่วมมือเกิดขึ้นแล้ว อาทิ การกำหนดใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำในทุกงานก่อสร้างในจังหวัดสระบุรีตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป การทำนาเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการใช้น้ำ การปลูกพืชพลังงาน หญ้าเนเปียร์ และนำของเหลือจากการเกษตรไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน สร้างรายได้ให้ชุมชน รวมทั้งร่วมปลูกป่าชุมชน 38 แห่งทั่วจังหวัด ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้ให้ชุมชน
  • เร่งผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบ
    คาร์บอนต่ำ ในประเทศไทยมี 3 อุตสาหกรรมที่ลงมือทำแล้ว คืออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง คือ กำหนดนโยบาย กฎหมาย มาตรฐาน การคัดแยกและจัดเก็บขยะเป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ กำหนดตัวชี้วัดในการติดตามผล ตลอดจนสร้าง Eco-system สนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งรณรงค์ใช้สินค้ากรีนที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุชีวภาพ ออกกฎหมายระบุปริมาณอย่างชัดเจน โดยหน่วยงานภาครัฐนำร่องจัดซื้อจัดหาสินค้ากรีน เพื่อให้เกิดการยอมรับอย่างแพร่หลาย
  • เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน ปลดล็อกข้อจำกัด โดยเปิดเสรีซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนใช้เครือข่ายไฟฟ้าร่วมกัน ให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสะอาดสะดวกยิ่งขึ้น สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาดและใช้พื้นที่ว่างเปล่า
    กักเก็บพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น พลังงานน้ำ พลังงานความร้อน พลังงานกล พลังงานเคมี รวมทั้งพัฒนาพลังงานทดแทนใหม่ ๆ และผลักดันให้อยู่ในแผนพลังงานชาติ เช่น พลังงานไฮโดรเจน พืชพลังงาน ขยะจากชุมชน ของเสียจากโรงงาน ตลอดจนปรับปรุงนโยบายและให้สิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อการใช้พลังงานสะอาด และส่งเสริมการใช้ข้อมูล Big Data เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง
  • ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้ เช่น SMEs แรงงาน เกษตรกร และชุมชน โดยแบ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบและจัดสรรความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เพื่อให้ตระหนักรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีลดคาร์บอนและแหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ซึ่งมีอยู่มากถึง 52 ล้านล้านบาท และขอเสนอให้ไทยควรร่วมเร่งเข้าถึงกองทุนดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กองทุนนวัตกรรมจัดการน้ำให้กลุ่มเกษตรกรรับมือสภาพภูมิอากาศแปรปรวน กองทุนฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าพร้อมสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต  นอกจากนี้ ยังควรพัฒนาทักษะแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านให้มีความพร้อมปรับตัวทันท่วงทีและพึ่งพาตัวเองได้

นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน กล่าวชื่นชมข้อเสนอดังกล่าว และเชื่อมั่นว่า หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันตามกลยุทธ์ ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่เน้นสร้างเศรษฐกิจควบคู่กับสมดุลทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะช่วยกู้โลกให้กลับมาดีขึ้น  สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของไทยต้องมีแนวทางที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ดังนี้  1) มุ่งมั่นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน  2) ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ สำหรับประชากรทุกคนในประเทศ และให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ  3) ผลักดันความร่วมมือทุกระดับ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือภายในปี ค.ศ 2030

“ผมรู้สึกประทับใจมาก ที่ได้เห็นคนไทยทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมกันหาแนวทางทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เพราะภาวะโลกเดือดส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทุกชีวิตบนโลก

ผมชื่นชมความตั้งใจสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย  เพราะเป็นจังหวัดที่มีความท้าทายสูง มีอุตสาหกรรมใหญ่อยู่มาก ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องอาศัยการดำเนินงานร่วมมือกันหลายส่วน ทั้งมาตรการและเงินทุน จึงขอเชิญชวนภาคส่วนอื่น ๆ มาร่วมกัน เพราะหากสำเร็จจะเป็นตัวอย่างให้เมืองและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป

การผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ ผมชื่นชมความมุ่งมั่นทั้ง 3 อุตสาหกรรมนำร่อง ทั้งบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง ซึ่งรัฐบาลจะขยายผลความสำเร็จนี้ โดยให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายจัดการขยะและเปิดให้จัดหาสินค้ากรีนเพื่อสร้าง Eco-system ที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน  สำหรับการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดให้เต็มประสิทธิภาพ และศึกษาการเปิดให้สามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมทั้งรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ดึงดูดนักลงทุนและบริษัทต่างชาติในอนาคต”

นายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมขอขอบคุณทุกคนที่มุ่งเปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะยังมีประชาชนอีกมากโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก เกษตรกร และชุมชน ที่ยังไม่ตระหนักถึงวิกฤตินี้ หรือยังไม่พบทางออกเพื่อรับมือ เราควรสนับสนุนการเข้าถึงความรู้ เทคโนโลยี และการเข้าถึงเงินทุน ให้ทุกคนสามารถปรับตัวอยู่รอดได้ สำหรับข้อเสนอในวันนี้ ผมจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

นายรุ่งโรจน์  รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “คณะจัดงานขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ให้เกียรติมาร่วมงาน และรับฟังข้อเสนอจากพวกเราทุกภาคส่วนในวันนี้  ผมเชื่อมั่นว่าภายใต้การบริหารงานของท่านที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมทั้งแนวนโยบายที่ชัดเจนของประเทศ จะทำให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันอย่างแข็งแกร่ง เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

นายธรรมศักดิ์  เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีพร้อมนำแนวทางจากท่านนายกรัฐมนตรีไปผลักดันอย่างต่อเนื่อง ทั้งเร่งพัฒนากระบวนการผลิตสีเขียว ควบคู่กับนวัตกรรมกรีน เช่น ปูนคาร์บอนต่ำ พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ อีกทั้งผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนแก้วิกฤติโลกเดือด ซึ่งเย็นวันนี้ 80 ซีอีโอ จากหลายอุตสาหกรรม เช่น ภาคพลังงาน การผลิต อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ สุขภาพ บริการ มาร่วมระดมสมองเพิ่มเติม ซึ่งมั่นใจว่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโต พร้อมโลว์คาร์บอน เป็นจริงได้แน่นอน”

X

Right Click

No right click