December 04, 2024

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) จัดงานเสวนาพิเศษ Exclusive Luncheon Roundtable : Climate Tipping Point, A Race Against Time เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงจุดเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศ โดยเชิญองค์กรชั้นนำของประเทศที่มีบทบาทสำคัญทั้งในภาคการเงินและตลาดทุน มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม  โดยเฉพาะประเด็นการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) ซึ่งมีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ขององค์กรให้เปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจโลกที่มีคาร์บอนต่ำ และมีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ โดยมี ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ (คนที่ 8 จากขวา) ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย และ ประธานกรรมการ บลจ.กสิกรไทย พร้อมด้วยนายวิน พรหมแพทย์ (คนที่ 7 จากซ้าย) ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย ร่วมให้การต้อนรับ ณ ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ พหลโยธิน เมื่อเร็วๆ นี้

นายวิน พรหมแพทย์, CFA, ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย เป็นหนึ่งในสมาชิกบริษัทจัดการลงทุน 16 แห่ง ที่เข้าร่วมงาน “แถลงความพร้อมของอุตสาหกรรมและเปิดตัวกองทุน ThaiESG ปี 2567” จัดโดยสมาคมบริษัทจัดการลงทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความพร้อมเสนอขายกองทุน ThaiESG ในช่วงเทศกาลลดหย่อนภาษีส่งท้ายปี และพร้อมให้การสนับสนุนธุรกิจที่มุ่งสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทย ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มกองทุน ThaiESG ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) รวมกว่า 2,694.34 ล้านบาท (ข้อมูล ณ ต.ค. 67) โดยกองทุน K-TNZ-ThaiESG เป็นกองทุนแรกของไทยที่มีเป้าหมายสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก การันตีได้จากขนาดกองทุนที่ใหญ่ที่สุด และเป็นกองทุน ThaiESG ที่สร้างผลตอบแทนได้สูงที่สุด ในขณะที่กองทุน K-ESGSI-ThaiESG ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ลงทุนเช่นกัน ด้วยขนาดกองทุนใหญ่เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มกองทุน ThaiESG ตราสารหนี้ นอกจากนี้ บลจ.กสิกรไทย เตรียมเปิดเสนอขายกองทุนผสม ThaiESG เร็วๆ นี้ ที่เน้นลงทุนทั้งในหุ้นและตราสารหนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง และสร้างโอกาสรับผลตอบแทนได้ในทุกสภาวะตลาดจากการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท

บลจ.กสิกรไทย มองเห็นโอกาสการลงทุนบนโปรเจกต์อสังหาริมทรัพย์ไทย โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและที่พักอาศัย จึงได้จัดตั้งกองทุน K-THRE24A-UI ขายเฉพาะผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ชูจุดเด่นลงทุนผ่านกองทุนหลัก CG Capital Real Estate Partners Fund I, L.P. เน้นลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ภาคการบริการ เช่น โรงแรม และ Branded Residence เป็นหลัก และเน้นพื้นที่ Key Tourist Destination ของไทย อาทิ ภูเก็ต กรุงเทพฯ กระบี่ และเกาะสมุย เป็นต้น เริ่มต้นลงทุน 500,000 บาท เปิดเสนอขายครั้งเดียว 11-25 พ.ย.นี้

นายวจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและที่พักอาศัยยังคงมีความน่าสนใจ โดยจากภาพรวมของธุรกิจท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19 สามารถพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว และมีโอกาสขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอีกในระยะยาว ประกอบกับทางภาครัฐได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของธุรกิจท่องเที่ยว จึงมีการปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เอื้อต่อนักท่องเที่ยวและการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ การขยายสนามบิน การขยายสายรถไฟฟ้า และการขยายเส้นทางด่วนใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย มองเห็นโอกาสการลงทุนบนโปรเจกต์อสังหาริมทรัพย์ไทย จึงได้จัดตั้ง กองทุนเปิดเค Thailand Real Estate 24A ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (K-THRE24A-UI) สำหรับผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษเท่านั้น เริ่มต้นลงทุน 500,000 บาท โดยเปิดเสนอขายครั้งเดียวในระหว่างวันที่ 11 - 25 พฤศจิกายน 2567

นายวจนะกล่าวต่อไปว่า กองทุน K-THRE24A-UI มีอายุโครงการประมาณ 9 ปี 5 เดือน เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด (Private Asset) ผ่านกองทุนหลัก CG Capital Real Estate Partners Fund I, L.P. ที่เน้นลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality Assets) ในไทย และอาจลงทุนในต่างประเทศได้ไม่เกิน 15% โดยตัวอย่างอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุนลงทุน ได้แก่ Sukhumvit 16 Branded Residence ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ CG Capital กับแบรนด์โรงแรมชั้นนำระดับ 5 ดาว และ The Standard Residences Phuket Bangtao ที่พักอาศัยบนพื้นที่บางเทา จังหวัดภูเก็ต จำนวน 188 ห้อง โดยโครงการมียอดจองและขายได้แล้ว 64% เป็นต้น (ที่มา : CG Capital ต.ค. 2567)

“ความน่าสนใจของกองทุน K-THRE24A-UI อยู่ที่ 1) ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง กระจายตัวอยู่ใน Key Tourist Destination ของไทย ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต กรุงเทพฯ กระบี่ และเกาะสมุย 2) ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ภาคการบริการ เช่น โรงแรม และที่พักอาศัย Branded Residence ที่ตอบสนองความต้องการการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ เช่น Workation, Second-Home Buyers และกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบครอบครัว ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีในระยะ 10 ปีข้างหน้า 3) สรรหาโอกาสการลงทุนในโปรเจกต์ทุกรูปแบบ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินทรัพย์และสร้างการเติบโตในระยะยาว และ 4) กองทุนหลักบริหารจัดการโดยทีมงานที่มีประสบการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาจากเครือเซ็นทรัล และผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่เคยพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เกาะสมุย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ทั้งนี้ CG Capital เป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ของ Central Group จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหาโอกาสการลงทุนนอกเหนือขอบเขตการดำเนินงานของบริษัทอื่นๆ ภายใต้ Central Group” นายวจนะกล่าว

นายวจนะกล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุน K-THRE24A-UI เหมาะสำหรับลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ที่มีประสบการณ์การลงทุนใน Private Asset และต้องการขยายพอร์ตการลงทุนมายังกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกระจายความเสี่ยงออกจากสินทรัพย์ทั่วไป และเพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่มีศักยภาพการเติบโตที่โดดเด่นในระยะยาว ทั้งนี้ ผู้ลงทุนที่สนใจสามารถลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท ผ่าน Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย และผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน โดยติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนได้ตามช่องทางดังกล่าว หรือ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ KAsset Contact Center 0 2673 3888

‘ทรัพย์สินกงสี’ ทรัพย์สินที่ได้รับการจัดสรรให้มาอยู่ในกองกลางของครอบครัวที่สั่งสมมาหลายชั่วอายุคนและต้องการส่งต่อให้ลูกหลานในรุ่นต่อๆ ไป อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน การรักษาความมั่งคั่งของทรัพย์สินกงสีให้ยั่งยืนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับกฎหมายและภาษีที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การเตรียมพร้อมและวางแผนภาษีสำหรับทรัพย์สินกงสีจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ทรัพย์สินกงสีเติบโตได้อย่างมั่นคงและส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้อย่างราบรื่น

ทำความรู้จัก ‘ทรัพย์สินกงสี’

ทรัพย์สินมีหลายรูปแบบ แตกต่างกันตามที่มาและแหล่งรายได้ ซึ่งทรัพย์สินของครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ทรัพย์สินกงสี นั้น หมายถึงทรัพย์สินส่วนกลางของครอบครัว ที่อาจถือครองโดยสมาชิกในตระกูลร่วมกัน หรือมอบหมายให้คนใดคนหนึ่งที่ครอบครัวไว้ใจถือครอง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สมาชิกครอบครัวได้รับผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน ทรัพย์สินกงสีมักประกอบด้วยทรัพย์สินหลายประเภท เช่น บัญชีเงินฝาก พอร์ตการลงทุน และอสังหาริมทรัพย์ (ทั้งที่ใช่และไม่ใช่ในธุรกิจครอบครัว) เป็นต้น ลักษณะการถือครองที่พบบ่อยคือ การถือครองทรัพย์สินร่วมกันของสมาชิกครอบครัว เช่น การใส่ชื่อร่วมกันระหว่างพ่อแม่กับลูก หรือพี่น้อง โดยมองว่าเป็นการเสริมความมั่นคงให้แก่ทรัพย์สินกงสี และทำให้สมาชิกครอบครัวมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินกงสีอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยรักษาความเป็นเจ้าของให้อยู่ภายในครอบครัว รวมถึงเป็นเครื่องมือส่งเสริมความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างรุ่นสู่รุ่นผ่านการตัดสินใจร่วมกัน โดยเฉพาะในกรณีที่มีการขายหรือโอนย้ายทรัพย์สินในอนาคต

แนวทางการจัดการภาษีของทรัพย์สินกงสี

ทรัพย์สินกงสี มักถูกถือครองในชื่อร่วม ซึ่งหมายถึงการถือครองโดยบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ทำให้การจัดการภาษีของทรัพย์สินกงสีมีความซับซ้อน เนื่องจากมีประเด็นทางภาษีที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนภาษีอย่างเป็นระบบและเหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ตามกฎหมายภาษี การถือทรัพย์สินร่วมกันถือเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่ไม่ใช่นิติบุคคล (หสม.) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยภาษีที่ต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา ในอดีต ส่วนแบ่งกำไรที่เจ้าของร่วม (หุ้นส่วน) แต่ละคนได้รับไม่ต้องนำไปรวมเสียภาษีระดับบุคคลอีก ทำให้การถือครองทรัพย์สินร่วมกันหรือการตั้งคณะบุคคลเป็นที่นิยมอย่างมาก อย่างไรก็ตาม นับแต่ปี 2558 กฎหมายภาษีได้มีการแก้ไขและยกเลิกการยกเว้นภาษีระดับบุคคลดังกล่าว ส่งผลให้ในปัจจุบัน เงินได้จากทรัพย์สินที่มีชื่อร่วมกัน นอกจากจะต้องเสียภาษีอัตราก้าวหน้าในระดับหสม. แล้ว ยังต้องเสียภาษีในระดับบุคคลอีกครั้งเมื่อมีการแบ่งกำไร โดยถือเป็นเงินได้ประเภทอื่น (ประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8)) ยกเว้น การถือครองทรัพย์สินร่วมกันของสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสที่ไม่ถือเป็นหสม. และในกรณีที่ทรัพย์สินกงสีถูกถือครองโดยบุคคลเดียว ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีก็คือบุคคลที่มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นนั่นเอง

จากที่กล่าวมา แต่ละครอบครัวสามารถวางแผนภาษีการถือครองทรัพย์สินกงสีแต่ละประเภทให้ถูกต้องได้ โดยมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันตามประเภทของทรัพย์สิน ดังนี้

· ทรัพย์สินกงสีประเภทเงินลงทุน: การเสียภาษีของเงินลงทุนที่ถือร่วมกันจะขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ที่เกิดขึ้น สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากนั้นไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน เนื่องจากกฎหมายได้ยกเว้นไว้ว่าหากหักภาษี ณ ที่จ่ายในนามของหสม. แล้ว การแบ่งส่วนแบ่งดอกเบี้ยไม่ต้องเสียภาษีในระดับบุคคลอีก ซึ่งแตกต่างจากเงินปันผลหรือกำไรจากการขาย ที่จะต้องเสียภาษีในระดับหสม. โดยมีอัตราและข้อยกเว้นเหมือนบุคคลธรรมดา กล่าวคือ เงินปันผลสามารถเลือกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้รับยกเว้นภาษีในระดับหสม. แต่เมื่อมีการแบ่งเงินปันผลหรือกำไรระหว่างกัน ต้องนำมารวมกับเงินได้อื่นของตนและเสียภาษีในอัตราภาษีก้าวหน้า

· ทรัพย์สินกงสีประเภทอสังหาริมทรัพย์: สำหรับเงินได้จากการขายหรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่ถือร่วมกันก็ถือเป็นหสม. เช่นกัน หากเป็นการซื้อมาร่วมกัน เงินได้จากการขาย/ให้เช่าต้องเสียภาษีในระดับหสม. ในลักษณะเดียวกับบุคคลธรรมดา และเสียภาษีในระดับบุคคลอีกครั้งเมื่อมีการแบ่งส่วนแบ่งจากการขาย/ค่าเช่า แตกต่างกับเงินได้จากอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการรับให้หรือรับมรดกร่วมกัน กฎหมายได้ยกเว้นในกรณีนี้ไว้ให้เสียภาษีเพียงระดับเดียว คือ กรณีค่าเช่าเสียภาษีระดับหสม. เท่านั้น และในกรณีขาย ให้เจ้าของแยกคำนวณภาษีตามส่วนของแต่ละคน

การถือครองทรัพย์สินกงสีร่วมกันอาจถูกมองว่าเป็นหนึ่งวิธีในการเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เพราะทำให้ทุกคนมีสิทธิ์อย่างเท่าเทียม แต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วจะพบว่าหลายครั้งผลลัพธ์อาจตรงกันข้าม เช่น ครอบครัวที่มีทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เจ้าของร่วมบางคนต้องการขายเพราะ

มีภาระภาษีและค่าใช้จ่ายระยะยาวสูง แต่เจ้าของร่วมที่เหลือไม่ต้องการขายเพราะมองว่าเป็นทรัพย์สินสำคัญของครอบครัว ทำให้ไม่สามารถขายได้ เนื่องจากการขายทรัพย์สินในชื่อร่วมต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของทุกราย (และอาจรวมถึงคู่สมรสด้วย) ยิ่งปล่อยเวลานานไปโดยไม่จัดการ เมื่อถึงเวลาส่งต่อให้ทายาท จำนวนเจ้าของร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ การตัดสินใจร่วมกันยิ่งยากและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งภายในครอบครัว อีกตัวอย่างที่พบบ่อยคือการใส่ชื่อบุคคลอื่นให้ถือทรัพย์สินแทน โดยทุกคนในครอบครัวไม่ได้รับทราบโดยทั่วกัน เมื่อผู้ถือแทนเสียชีวิต ทรัพย์สินนั้นก็จะส่งต่อไปยังทายาทของผู้ถือแทนตามกฎหมาย ทรัพย์สินจึงไม่ตกไปยังเจ้าของที่แท้จริง ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการถือทรัพย์สินแทนกันถ้าไม่จำเป็นหรือไม่มีข้อตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร KBank Private Banking แนะนำ 3 ขั้นตอน เพื่อให้การจัดการทรัพย์สินกงสีเป็นไปอย่างราบรื่น ได้แก่

1. พูดคุยตกลงกันภายในครอบครัว เพื่อแบ่งประเภททรัพย์สินเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มทรัพย์สินที่มีคุณค่าทางจิตใจ กลุ่มทรัพย์สินที่อาจขายในอนาคต และกลุ่มทรัพย์สินที่จะส่งต่อให้สมาชิกรายคน เป็นต้น

2. ปรับวิธีการถือครองทรัพย์สินกงสีที่มีอยู่ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการตามที่ตกลงกันไว้และป้องกันไม่ให้มีภาระภาษีซ้ำซ้อน

3. วางแผนการถือครองทรัพย์สินกงสีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

เพราะการวางแผนบริหารจัดการภาษีทรัพย์สินกงสีอย่างเหมาะสม มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ตามหลักเกณฑ์กฎหมายถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจกงสีดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและมั่นคง KBank Private Banking ส่งเสริมให้เตรียมความพร้อมในการส่งต่อความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่นต่อไปในอนาคต จึงมอบบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว(Family Wealth Planning Services) ที่ครอบคลุมทั้งบริการด้านการวางแผนที่หลากหลาย ทั้งการวางแผนความต่อเนื่อง และกติกาของครอบครัว, การบริหารความเสี่ยงของครอบครัว, โครงสร้างการถือครองทรัพย์สิน, การสืบทอดกิจการและทรัพย์สิน, การทำสาธารณกุศล และการจัดตั้งสำนักงานครอบครัว

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) ร่วมกับชมรมนักลงทุนเน้นคุณค่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn Value Investors Club : CUVI) จัดกิจกรรม CUVI x KAsset Investment Boot Camp เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลงทุน และการจัดพอร์ตการลงทุน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก บลจ.กสิกรไทย มาแบ่งปันความรู้ และแชร์ประสบการณ์ รวมถึงให้น้องๆ จัดทำและนำเสนอแผนการจัดพอร์ตกันอย่างเข้มข้น ตลอดหลักสูตร 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย และนายวิน พรหมแพทย์, CFA ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ณ อาคาร K+ Building เมื่อเร็วๆ นี้

Page 1 of 8
X

Right Click

No right click