November 23, 2024

บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป และยูนิเซฟ จับมือส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศไทยเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและการพัฒนาทักษะได้มากขึ้น ความร่วมมือครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระดับโลกที่เริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ภายใต้สโลแกน 'Bridge. Educating young people for tomorrow, today.' โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM education) ให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต

ภายใต้ความร่วมมือระยะยาวระดับโลกครั้งนี้ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป จะมีส่วนสนับสนุนเป้าหมายระดับโลกของยูนิเซฟเพื่อเข้าถึงเด็กและเยาวชนจำนวน 10 ล้านคนทั่วโลกผ่านการศึกษาในแต่ละปี โดยมุ่งเน้นไปที่การจัดอบรมด้านสะเต็มศึกษา และพัฒนาทักษะให้กับเด็กและเยาวชนในภูมิภาคแอฟริกา เอเชีย และอเมริกากลางและใต้

ในประเทศไทย ความร่วมมือนี้เริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาด้านสะเต็มในโรงเรียนมัธยมศึกษากว่า 100 แห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท เป้าหมายคือการเข้าถึงนักเรียน 25,000 คนและครู 500 คนในช่วงสามปีแรกของความร่วมมือ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการอบรมครูในวิชาด้านสะเต็มศึกษา และจัดกิจกรรมนอกเวลาเรียน ค่ายฝึกทักษะด้านสะเต็มศึกษา งานนิทรรศการวิทยาศาสตร์ และการแนะแนวให้คำปรึกษาแก่เยาวชน โครงการนี้ยังครอบคลุมกลุ่มเยาวชนกลุ่มเปราะบาง และเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรม (NEET) เพื่อให้พวกเขามีโอกาสพัฒนาทักษะที่จำเป็น

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเรเน่ แกร์ฮาร์ด ประธานและซีอีโอของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย และนางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้เดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนอ่างศิลาพิทยาคม จังหวัดชลบุรี โดยได้เข้าร่วมกิจกรรมด้านสะเต็มศึกษากับนักเรียนที่กำลังสำรวจหัวข้อต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศแบบต่าง ๆ และผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งกิจกรรมเชิงปฏิบัติและการเรียนรู้นอกห้องเรียนเหล่านี้ ช่วยให้นักเรียนเห็นว่าสะเต็มศึกษาสามารถนำไปปรับใช้เพื่อรับมือกับความท้าทายในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ทุกวันนี้ งานที่เกี่ยวข้องกับสะเต็มถือเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นสะเต็มศึกษาที่มีคุณภาพจึงเป็นสิ่งที่ความสำคัญยิ่งกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม เราพบว่านักเรียนจำนวนมากในประเทศไทยยังคงขาดทักษะที่จำเป็นสำหรับการศึกษาต่อและการทำงาน ดังนั้น ความร่วมมือกับบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยเติมเต็มช่องว่างนี้ โดยจะช่วยให้เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่มักขาดโอกาส ได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

ด้านนายเรเน่ แกร์ฮาร์ด ประธานและซีอีโอของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า “บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ตระหนักถึงบทบาทของเราในสังคม โดยเราได้พัฒนาโครงการด้านการศึกษาที่ตอบโจทย์เพื่อมอบโอกาสทางอาชีพในอุตสาหกรรมยานยนต์ให้กับเยาวชน และส่งเสริมทักษะที่จำเป็นให้แก่พวกเขาสำหรับงานในอนาคต เราทราบดีว่าการศึกษาเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนสังคมและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตเศรษฐกิจไทย ตอนนี้เรามียูนิเซฟเป็นพันธมิตรระยะยาวที่จะสนับสนุนความร่วมมือระดับโลกด้านสะเต็มศึกษาสำหรับเยาวชนทั่วประเทศไทย เราจะร่วมกันเติมเต็มช่องว่างระหว่างการศึกษาและชีวิตการทำงานสำหรับเยาวชน และเตรียมพวกเขาเพื่อการเติบโตทางอาชีพในอนาคต”

แม้ว่าเด็กส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะได้เข้าเรียนในโรงเรียน แต่เด็กจำนวนมากยังขาดทักษะสำคัญที่จำเป็นสำหรับการศึกษาต่อหรือเข้าสู่ตลาดแรงงาน จากรายงาน PISA 2018 พบว่า มีเพียง 1 ใน 5 ของเด็กผู้ชายและ 1 ใน 7 ของเด็กผู้หญิงในประเทศไทยที่มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่วางแผนจะประกอบอาชีพในด้านวิศวกรรมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ก่อนอายุ 30 ปี นอกจากนี้ ยังพบว่า เยาวชนไทยกว่า 1.4 ล้านคนไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรม (NEET) โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางทักษะมากขึ้น

เด็กหญิงนิพิษฐา จิระธรรมวรวุฒิ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนอ่างศิลาพิทยาคม กล่าวว่า เธอชอบการทดลองและหาคำตอบที่คนหลายคนไม่ค่อยรู้ แต่เป็นคำตอบในหลักการวิทยาศาสตร์ “วันนี้ที่ได้ร่วมกิจกรรมก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความชื้นของพื้นดิน เรียนรู้เกี่ยวกับก้อนเมฆว่าสังเกตยังไง มีลักษณะแบบไหนบ้าง…ทำอะไรมันก็ดูสนุกไปหมดเลยค่ะ แล้วก็มีหลักการทางวิทยาศาสตร์มารองรับ…วิชาวิทย์คณิตสำคัญเพราะพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านสมอง เพราะเมื่อเราโตขึ้น เราก็สามารถนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ในการทำงานอนาคตอีกเยอะเลย แล้วก็สามารถไปประกอบได้อีกหลายอาชีพอีกค่ะ”

ปัจจุบันพ่อแม่ยุคใหม่มักต้องทำงานนอกบ้านทั้งคู่ ส่งผลให้ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้อย่างเต็มที่เนื่องจากมีเวลาจำกัด โดยเฉพาะเด็กในช่วงวัย 0-6 ปี ที่จำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลานาทีทองที่จะส่งผลต่ออนาคตของเด็กไปตลอดชีวิต และจากความสำคัญดังกล่าว ทำให้ พรูเด็นเชียล ประเทศไทย พรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชัน และ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จับมือกันเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลเด็กในช่วงปฐมวัย เพื่อสร้างรากฐานชีวิตที่ดีให้แก่คนในสังคม ผ่านกิจกรรม “เลี้ยงถูก ลูกดี” ที่เปิดโอกาสให้พ่อแม่ยุคใหม่ได้เติมเต็มความรู้ในการเลี้ยงลูกและได้ใช้เวลาที่มีคุณภาพร่วมกันในครอบครัว

ความสำคัญของ “นาทีทอง” ที่มีต่อพ่อแม่และเด็ก

.ดร.นุชนาฏ รักษี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงความสำคัญของเด็กในวัย 0-6 ปี ว่า เป็นช่วงเวลาที่สมองพัฒนาสูงสุด โดยเด็กในวัยนี้จะเหมือนกับฟองน้ำที่พร้อมดูดซับความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้จากการอบรมเลี้ยงดู ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและสมอง อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่ต่อยอดไปถึงทักษะการเรียนรู้ การควบคุมอารมณ์ และการเข้าสังคมของเด็ก รวมทั้งยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อทัศนคติ บุคลิกภาพ และพฤติกรรมในอนาคตเมื่อเป็นผู้ใหญ่

เลี้ยงลูกให้ “เก่ง ดี มีสุข” ด้วยการสร้างประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมที่ดี

เป้าหมายสูงสุดของพ่อแม่ทุกคน คือการเห็นภาพลูกเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ สามารถเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ได้ แก้ปัญหาเป็น รวมทั้งรู้จักแยกแยะถูกผิด มีคุณธรรม และระเบียบวินัย ในขณะที่มีสุขภาพจิตใจมั่นคงแข็งแรง และมีความสุข ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) พันธุกรรม 2) สุขภาพ โภชนาการ และ 3) ประสบการณ์การเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม แม้พันธุกรรมจะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่องค์ประกอบอื่นอย่างอาหารการกินเป็นสิ่งที่พ่อแม่สามารถคัดสรรให้เพียงพอและถูกต้องตามหลักโภชนาการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องประสบการณ์การเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมที่พ่อแม่เป็นส่วนสำคัญในการกำหนดคุณภาพและรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับลูกในแต่ละช่วงวัย ซึ่งองค์ประกอบข้อนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการของสมอง ซึ่งถือเป็นกระดุมเม็ดแรกที่จะส่งผลต่อเด็กในด้านอื่น ๆ 

5 หลักการดูแลเด็กอย่างมีคุณภาพ (Nurturing Care Framework)

Nurturing Care Framework (NCF) เป็นหลักการดูแลเอาใจใส่เด็กทั้ง 5 ด้าน ที่องค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟได้จัดการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก เพื่อวางกรอบการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยให้สามารถเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ ซึ่งประกอบไปด้วย

  1. สุขภาพที่ดี หมายถึงสุขภาพที่ดีทั้งของเด็กและของผู้ดูแล ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เช่น การตรวจสุขภาพเด็กเป็นประจำ การฉีดวัคซีน และการส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อเป็นการออกกำลังกาย รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย จะช่วยให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรง พร้อมเรียนรู้และใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่
  2. โภชนาการที่เพียงพอ ทั้งร่างกายและสมองต่างต้องการสารอาหารที่ครบถ้วนและพอเหมาะ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานในการเติบโต หากเด็กได้รับสารอาหารน้อยหรือมากเกินไป อาจมีภาวะทุพโภชนาการได้ เช่น โรคขาดสารอาหาร หรือ โรคอ้วน ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในระยะยาว รวมทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอื่น ๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจ
  3. คุ้มครองให้ความปลอดภัยและมั่นคง หมายถึงสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและครอบครัว เพราะเด็กเล็กไม่สามารถป้องกันตนเองได้และมีความเปราะบางต่ออันตรายต่างๆ นอกจากนี้ยังรวมถึงการเลี้ยงดูเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งจะช่วยให้เด็กรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย เพราะการปกป้องให้ลูกรู้สึกปลอดภัยเพียงพอ รับรู้ถึงความรัก ความผูกพันมั่นคง เน้นการให้กำลังใจ จะสร้างความพร้อมให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดีในอนาคต
  4. ให้โอกาสในการเรียนรู้ ในขวบปีแรกๆ เด็กจะเรียนรู้และได้รับทักษะและความสามารถจากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นผ่านรอยยิ้ม การสบตา การพูดคุย ร้องเพลง การเลียนแบบ และการละเล่นง่าย ๆ เช่น โบกมือบ้ายบายหรือจ๊ะเอ๋ เมื่อเด็กโตขึ้น ควรมีกิจกรรมและการเล่นกับลูก อย่างการอ่านนิทาน การปั้นดินน้ำมัน หรือการวิ่งเล่น ที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ กระตุ้นพัฒนาการ และจุดประกายความใคร่รู้ รวมทั้งยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นเฟ้นยิ่งขึ้น
  5. มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก การที่พ่อแม่คอยตอบสนองลูกอย่างเอาใจใส่ และรับฟังความต้องการของลูกอย่างใกล้ชิด เปรียบเสมือนการวางรากฐานชีวิตที่มั่นคงแข็งแรงให้กับลูก ทำให้พัฒนาการด้านต่าง ๆ ตามวัยสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ไม่อาจหาได้จากที่ไหนคือ ความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจที่จะหลอมรวมกันจนกลายเป็นตัวตนของเด็ก และติดตัวจนโตเป็นผู้ใหญ่ไปตลอดชีวิต
X

Right Click

No right click