ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองภาคเกษตรไทยติดหล่มการพัฒนาจากข้อจำกัดในการสร้างมูลค่าเพิ่มทำให้มีรายได้และกำไรไม่เพียงพอในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยภาคเกษตรต่ำกว่านอกภาคการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ มีสิ่งชักจูงให้คนรุ่นใหม่ละทิ้งภาคเกษตรในขณะที่แรงงานเกษตรในปัจจุบันมีอายุเฉลี่ยสูงที่ใกล้ออกจากตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น แนะรัฐและเอกชนร่วมมือยกระดับเศรษฐกิจเกษตรไทยให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้ยังมีความต้องการในการทำงานในภาคเกษตรก่อนจะสายเกินไป

เศรษฐกิจภาคการเกษตรนับเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจภูมิภาคและเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับประชาชนที่มีถิ่นอาศัยในภูมิภาคโดยมีข้อจำกัดในตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรที่มักกระจุกตัวในเขต กรุงเทพ-ปริมณฑล ภาคตะวันออก และในพื้นที่เขตเมืองของจังหวัดในแต่ละภูมิภาคเท่านั้น โดยตามข้อมูลของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้เศรษฐกิจภาคการเกษตรของไทยในปี 2565 มีมูลค่าราว 1.53 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 8.8% ของ GDP โดยในปี 2566 ttb analytics ประมาณการว่ามูลค่าเศรษฐกิจภาคการเกษตรคาดว่าจะลดลงเหลือเพียงสัดส่วน 8.6%

สัญญาณของสัดส่วนเศรษฐกิจภาคการเกษตรที่ปรับลดลงเล็กน้อยอาจดูไม่สะท้อนภาพ แต่ถ้ามองลึกลงไปพบว่า บทบาทเศรษฐกิจภาคการเกษตรมีทิศทางลดลงต่อเนื่อง หากเมื่อเทียบกับปี 2555 เศรษฐกิจภาคเกษตรไทยเคยมีสัดส่วน 11.5% ของ GDP ที่มูลค่า 1.42 ล้านล้านบาท โดยเมื่อพิจารณาเพียงผิวเผินอาจมองเป็นเรื่องปกติเนื่องจากสินค้าอุตสาหกรรมและภาคบริการจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าสินค้าเกษตร แต่หากเมื่อมองถึงอัตราการขยายตัวพบว่าภาคเศรษฐกิจการเกษตรไทยยังติดกับดักการสร้างมูลค่าเพิ่ม ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจภาคเกษตรไทยขยายตัวเพียง 7.7% ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ มีการขยายตัวในอัตราที่สูง เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย และเวียดนาม ขยายตัวอยู่ที่ 51.5% 82.7% และ 53.2% ตามลำดับ และรวมถึงประเทศที่เน้นบทบาทของการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น จีน และเยอรมัน ที่ขยายตัว 68.6% และ 51.0% ตามลำดับ

 

สัญญาณการเติบโตที่ต่ำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาของภาคการเกษตรไทย แสดงถึงข้อจำกัดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรที่สามารถเพิ่มรายได้สร้างกำไรที่สูงขึ้นย้อนกลับไปหาเกษตรกรเพื่อใช้ยังชีพและเลี้ยงดูครอบครัว รวมถึงกำไรยังถือเป็นส่วนสำคัญของเกษตรกรที่จะนำมาใช้เพื่อลงทุนพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจในมิติต่าง ๆ เช่น การซื้อที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซื้อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลงทุนสร้างแหล่งกักเก็บน้ำในช่วงน้ำเยอะสำรองไว้ในช่วงน้ำน้อย หรือการลงทุนในเทคโนโลยีการเพาะปลูกทางการเกษตรที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการเพาะปลูกในระยะยาว ซึ่งตามข้อเท็จจริงสะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรไม่สามารถลงทุนต่อยอดพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตใด ๆ ได้เลยจากรายได้ที่ดูเหมือนจะไม่เติบโตในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทาง ttb analytics ได้สรุปสาเหตุที่ภาคการเกษตรของไทยไม่สามารถขยายตัวได้ ตามเหตุผลหลัก ๆ ต่อไปนี้

1) เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงยึดติดกับการขายสินค้าเกษตรโดยไม่ผ่านการแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากสินค้าเกษตรเมื่อผ่านการแปรรูปย่อมมีมูลค่าเพิ่มจากกรรมวิธีการผลิตที่แปรรูปจากสินค้าเกษตรที่ไม่มีเอกลักษณ์ให้กลายเป็นสินค้าบริโภคที่มีความเฉพาะตัว รวมถึงสามารถเพิ่มมูลค่าผ่านรูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่สามารถสร้างให้ตอบโจทย์กับผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มที่มีพฤติกรรมซื้อสินค้าต่างกันออกไป รวมถึงการแปรรูปยังสามารถช่วยลดการพึ่งพิงพ่อค้าคนกลางเพื่อให้ช่วยรับซื้อสินค้าจากข้อจำกัดเรื่องที่สินค้าเกษตรจัดอยู่ในกลุ่มที่เน่าเสียได้ง่าย

2) เกษตรกรไทยเผชิญกับปัญหาการกระจายรายได้จากผลผลิตที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่สามารถก้าวผ่านการเป็นผู้ผลิตเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการได้ จึงยังมีฐานะเป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าขั้นกลางให้กับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย เช่น ในกรณีศึกษาข้าวขาวพบว่า ปี 2566 ข้าวขาวราคาเฉลี่ย 20.7 บาท/กิโลกรัม กำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการก่อนหักต้นทุนการขายและการบริหารที่ราว 4.05 – 5.8 บาทต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นการกระจายรายได้จากผลผลิตขั้นสุดท้ายถึงมือผู้ประกอบการที่ 19.6% -24.5% ในขณะที่เกษตรกรไทยได้รับกำไรจากการเพาะปลูกข้าวเพียงราว 0.22 บาทต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นการกระจายรายได้ที่ย้อนกลับมาในมือของเกษตรกรคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.1% ของราคาข้าวขาวที่เป็นสินค้าบริโภคขั้นสุดท้าย

ดังนั้น บนสถานการณ์ที่ภาคการเกษตรไทยไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มที่จะทำให้รายได้ย้อนกลับสู่เกษตรกรได้เหมาะสม ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของแรงงานภาคการเกษตรในปี 2565 อยู่ที่เพียง 128,000 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่กลุ่มแรงงานนอกภาคการเกษตรมีรายได้เฉลี่ยถึง 580,000 บาทต่อคนต่อปี ย่อมส่งผลต่อให้คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มละทิ้งภาคการเกษตรและหันเข้าทำงานในกลุ่มนอกภาคการเกษตรจากผลตอบแทนที่สูงกว่า สอดคล้องกับสถิติที่ชี้ชัดว่าในปี 2555 แรงงานในภาคการเกษตรมีจำนวนมากถึง 15.4 ล้านคน ในขณะที่ปี 2565 แรงงานภาคการเกษตรลดลงเหลือเพียง 11.9 ล้านคน และแรงงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 23.6 ล้านคนเป็น 27.3 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากในเชิงโครงสร้างยังพบว่าเกษตรกรไทยที่เป็นกลุ่มแรงงานในภาคการเกษตรมีอายุเฉลี่ยสูงถึง 62 ปี จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลต่อเนื่องว่าระยะถัดไปที่กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ออกจากตลาดแรงงานบนเงื่อนไขของแรงงานรุ่นใหม่เลือกไม่ทำงานในภาคการเกษตรจากผลตอบแทนที่ต่ำกว่า รวมถึงกลุ่มที่อยู่ในครอบครัวเกษตรและมีประสบการณ์ที่ครอบครัวทำการเกษตรมาตลอดชีวิตแต่ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ก็คงไม่อยากจะเดินตามรอยครอบครัวที่ทำมาในอดีต ด้วยเหตุนี้ทาง ttb analytics จึงมองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องช่วยกันยกระดับพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรไทยเพื่อให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพียงพอเพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่มีความสนใจที่ยังทำงานในภาคการเกษตร ก่อนที่ต่อไปประเทศไทยจะไม่มีเกษตรกร คงเกิดคำถามว่าใครจะปลูกข้าวให้เรากิน

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อตรวจประเมินสภาพการทำงานบนเรือถ่ายลำรวมถึงสวัสดิภาพของแรงงานบนเรือเบ็ดราว ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562

 

บนความมุ่งหวังว่าการตรวจประเมินนี้จะช่วยยกระดับการประเมินที่บริษัทได้ดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบผ่านทางดาวเทียมและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ รวมถึงการตรวจสอบที่ท่าเรือ ให้สอดคล้องกับโครงการพัฒนาการทำงานและสวัสดิการแรงงานประมง (Fisher Work and Welfare program) และแนวทางการปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง ซึ่งไทยยูเนี่ยนได้ใช้เป็นแนวทางในการตรวจประเมินเรือประมงทั่วโลกที่จัดหาปลาและอาหารทะเลอื่น ๆ ให้กับบริษัท

สำหรับการดำเนินงานในครั้งนี้ที่ปรึกษาได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในท้องทะเลเป็นเวลา 34 วัน เพื่อทำการประเมินเรือเบ็ดราว จำนวน 19 ลำ ที่ปรึกษากล่าวถึงการปฏิบัติงานในครั้งนี้ว่า “นับเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากในการใช้เวลาอยู่บนเรือเบ็ดราวภายใต้โครงการนี้ที่มุ่งพัฒนา ดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยและสภาพความเป็นอยู่ของคนงานบนเรือประมง จากประสบการณ์การทำงานด้านนี้มา 13 ปี นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นว่าคนงานบนเรือประมงรู้สึกว่ามีคนเป็นห่วง ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และมีคนรับฟังเสียงของพวกเขา โครงการประเมินสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานบนเรือในท้องทะเลนี้เป็นวิธีการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและสามารถทำได้ทั่วโลก เป็นจุดเชื่อมโยงแรงงานประมงกับสิทธิมนุษยชนเข้าด้วยกันและสามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอมากขึ้น”

งานที่เสี่ยงอันตราย - ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่า

บริษัทฯ ให้ความสำคัญและดำเนินโครงการนี้อย่างจริงจัง เพราะการทำงานตรวจประเมินเรือประมงที่ลอยอยู่กลางทะเลนั้นมีความเสี่ยง ผู้สังเกตุการณ์แรงงานประมงที่ทำงานอยู่กลางทะเลนั้นอาจตกเป็นเป้าโดนทำร้าย ข่มขู่ หรือในกรณีร้ายแรงอาจถึงแก่ชีวิต ตามข้อมูลจาก สมาคมผู้สังเกตุการณ์อาชีพ หรือ Association of Professional Observers (APO) พบว่าในช่วงปี 2558-2563 แต่ละปีมีผู้สังเกตุการณ์เสียชีวิตปีละ 1-2 คน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ไทยยูเนี่ยนจะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่มีความสามารถในการให้คำแนะนำแก่บริษัทและรับรองความปลอดภัยให้กับผู้สังเกตการณ์ได้

ที่ปรึกษาที่ทำการตรวจสอบในครั้งนี้คือ MRAG ซึ่งมีประสบการณ์ในการส่งผู้สังเกตการณ์และผู้ประเมินเข้าทำงานบนเรือประมงและเรือลำเลียงต่างๆ ที่ปรึกษาที่ได้รับการคัดเลือกให้ออกเดินทางไปกับเรือเพื่อสังเกตการณ์นั้น เป็นผู้ที่ได้ทำงานและตรวจประเมินเรือลำนั้นๆ บนฝั่งมาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นเรือที่อยู่ในโครงการพัฒนาเรือประมงของไทยยูเนี่ยน

ระหว่างการประเมิน โครงการนี้ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลเชิงลึกอันเป็นประโยชน์ เมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจประเมินเฉพาะที่ท่าเรือ ท่านสามารถอ่านผลการรายงานได้ที่ เว็บไซต์ความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยนหรือ SeaChange®

การตรวจประเมินเรือประมงในท้องทะเลในอนาคต

หลังโครงการนี้เสร็จสิ้น ไทยยูเนี่ยนสามารถต่อยอดผลการตรวจประเมินรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาการทำงานและสวัสดิการแรงงานประมง (Fisher Work and Welfare program) โดยไทยยูเนี่ยนมีความมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนามาตรการต่างๆ เกี่ยวกับการตรวจประเมินเรือประมงกลางทะเล และการประเมินที่ท่าเรือ ซึ่งไม่เพียงแต่กระบวนการตรวจสอบในโครงการนี้เท่านั้น แต่เป็นการยกระดับและผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมประมงให้ดีขึ้น ไทยยูเนี่ยนยังมีแผนที่จะทำการประเมินเรือประมงในท้องทะเลในโครงการพัฒนาอื่น ๆ อีกด้วย

ไทยยูเนี่ยนมุ่งมั่นผลักดันให้มีการทำประมงที่โปร่งใสมากขึ้น ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับบริษัทคู่ค้า แสดงถึงความรับผิดชอบและการสนับสนุนให้บริษัทคู่ค้าร่วมพัฒนาไปด้วยกัน ท่านสามารถอ่านบล็อกเกี่ยวกับการประเมินเรือประมงในท้องทะเลของไทยยูเนี่ยนฉบับเต็มได้ ที่นี่

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงแรงงาน รับมอบไข่ไก่สดจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เพื่อมอบให้แก่ชาวชุมชนคลองเตยล็อค 4-5-6 ที่ร่วมโครงการ "คลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ เพื่อคนไทยมีงานทำ" จัดโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร โดยมี นางจินตนา วัลยเสวี ผู้จัดการ สำนักประสานงานประกันสังคม ซีพีเอฟ เป็นผู้มอบ

X

Right Click

No right click