สสว. ประกาศความสำเร็จ กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2567 เพื่อช่วยยกระดับนวัตกรรมในธุรกิจ พร้อมเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ มีเอสเอ็มอีรับการพัฒนายกระดับศักยภาพการดำเนินธุรกิจผ่านกิจกรรมต่างๆ ระหว่าง เดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2567 กว่า 150 ราย สร้างมูลค่าทางธุรกิจ 126 ล้านบาท
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ได้จัดให้มี กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC (Eastern Economic Corridor) และพื้นที่ต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2567 ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี เป็นการส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อยกระดับนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดการลงทุนหรือสามารถก่อตั้งธุรกิจได้ พร้อมช่วยเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการที่ยกระดับนวัตกรรมในธุรกิจได้ และยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ โดยมีการจัดกิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ ที่เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่เดือนกันยายน จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2567 โดยมุ่งเน้นผู้เข้าร่วมโครงการกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนแล้วไม่เกิน 3 ปี มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ข้างต้น ที่มีการดำเนินกิจการ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมที่ต่อยอดอัตลักษณ์เชิงพื้นที่สร้าง Value creation 2. อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยี/แปรรูปอาหาร และ 3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ต่างได้รับประโยชน์หลายมิติ ทั้งความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้ประกอบการใหม่ เพื่อเปิดประตูสู่ธุรกิจและนวัตกรรม ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเชิงลึกเพิ่มคุณค่าผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในประเทศ มีโอกาสนำสินค้าเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน จากสถาบันการเงินของภาครัฐ และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกลุ่มธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ” รักษาการ ผอ.สสว. ระบุ
สำหรับกิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการตลอดโครงการ ตั้งแต่เดือนกันยายน ถึง เดือนธันวาคม 2567 ประกอบไปด้วย
กิจกรรมที่ 1 : ฝึกอบรมหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ Entrepreneurship เปิดประตูสู่ความ เป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรม (เดือนกันยายน 2567)
กิจกรรมที่ 2 : กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจเชิงลึกโดยรับการพัฒนารายละ 6 ครั้ง (เดือนกันยายน – ตุลาคม 2567)
กิจกรรมที่ 3 : สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดในประเทศและต่างประเทศ
กิจกรรมที่ 3.1 : สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดต่างประเทศ 24 ราย (เดือนพฤศจิกายน 2567)
กิจกรรมที่ 3.2 : สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดในประเทศ 20 ราย (เดือนธันวาคม 2567)
และกิจกรรมที่ 4 : เชื่อมโยงแหล่งเงินทุน SME D Bank และสถาบันการเงินอื่นๆ 31 ราย (เดือนพฤศจิกายน 2567)
รักษาการ ผอ.สสว. เผยอีกว่า สสว. ได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งบรรลุตัวชี้วัดผลผลิต คือ ดำเนินการประชาสัมพันธ์ รับสมัคร และคัดเลือกผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ หรือเอสเอ็มอีรายใหม่ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รับการพัฒนายกระดับศักยภาพการดำเนินธุรกิจ ด้วยการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพ หรือนวัตกรรมใหม่ หรืองานวิจัยต่างๆ รวมทั้งสิ้น 150 ราย ประกอบด้วยผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 27 ราย ชลบุรี 48 ราย ระยอง 42 ราย และจันทบุรี 33 ราย โดยภายหลังจากรับการพัฒนาคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้/การลดต้นทุน/การขยายการลงทุน/การจ้างงาน/มูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ ฯลฯ มากกว่า 28 ล้านบาท นอกจากจะได้รับการยกศักยภาพทางธุรกิจแล้ว โครงการฯ ยังได้ดำเนินการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและพร้อมต่อยอดการลงทุนในธุรกิจจำนวน 31 ราย ซึ่งมีแผนการลงทุนกว่า 64 ล้านบาท
“เรายังสนับสนุนและส่งเสริมด้านตลาดเชิงรุกในต่างประเทศให้ผู้ประกอบการ จำนวน 20 ราย เข้าร่วมการนำเสนอสินค้าในงาน Taiwan Int’l Food Industry ณ ประเทศไต้หวัน เมื่อวันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งสามารถสร้างยอดขายและการเจรจาธุรกิจ มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท และยังได้ส่งเสริมการเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวให้กับผู้ประกอบการจำนวน 4 ราย ผ่านการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) กับผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวของไต้หวัน โดยสามารถสร้างยอดขายจากการจับคู่ค้าทางธุรกิจได้ กว่า 3 ล้านบาท และกิจกรรมสุดท้ายภายใต้โครงการเป็นการดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมด้านตลาดเชิงรุกในประเทศ ในงาน “SME SOFT POWER Marketplace” ณ ลาน Avenue A ชั้น G ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 10-12 ธ.ค. 2567 โดยได้คัดเลือกผู้ประกอบการ จำนวน 20 ราย เข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าว โดยคาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายรวมได้กว่า 1 ล้านบาท” นางสาวปณิตา กล่าว ทิ้งท้าย
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี หุ่นยนต์หรือ AI เริ่มเข้ามามีบทบาทแทนมนุษย์มากขึ้น ทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการได้ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวะศึกษา ที่เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยกำหนดทิศทางของประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและแรงงานในอนาคต สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้สถาบันอาชีวะต้องมีการปรับตัวเพื่อก้าวให้ทันกับเทคโนโลยีและส่งเสริมทักษะความชำนาญให้เกิดขึ้น เหมือนกับที่วิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง จ.ระยอง ซึ่งทางรายการ 1 ในพระราชดำริ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 Mcot HD และมูลนิธิอานันทมหิดล ได้เดินทางมาเยี่ยมชม และพบว่ามีการปรับตัวในเรื่องการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม จนสามารถสร้างแรงงานเพื่อรองรับความต้องการในเขต EEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายวีระชัย สมบัติกำไร ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง จ.ระยอง ได้กล่าวว่า “เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องการตั้งอยู่บนพื้นที่ EEC นโยบายหลักของทางวิทยาลัยฯ คือผู้เรียนจะต้องมีทักษะ Multi Skill หรือความรู้ที่หลากหลาย อาทิ เรียนช่างยนต์ ก็ต้องมีความรู้ในการซ่อมมอเตอร์ไซด์เบื้องต้น, ติดตั้งแอร์เพื่อเอาไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเรียนไปแล้วต้องมีงานทำ นอกจากนี้ทางวิทยาลัยฯ ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงรถยนต์ และร้านกาแฟควินิน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นที่มาของโครงการศูนย์บ่มเพาะตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา ซึ่งได้ออกแบบมาให้ทุกสาขาวิชาจะต้องมีตัวอย่างหนึ่งในธุรกิจ ที่ทำแล้วประสบความ สำเร็จเพื่อเป็นตัวอย่างให้นักเรียนได้เห็น เขาจะได้เรียนรู้จากของจริง ซึ่งจะมีการสอนทั้งในเรื่องการออกแบบแผนธุรกิจ, การเช็คสต๊อก, การบริหาร, การจดทะเบียนการค้า, การลงทุน, วิธีการแก้ไขเมื่อขาดทุน, การขอเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐ ฯลฯ และยังได้ร่วมมือกับสถานประกอบการต่างๆ กว่า 300 แห่งที่ตั้งอยู่โดยรอบวิทยาลัย โดยล่าสุดคือบริษัท GPSC ซึ่งได้มาร่วมมือในเรื่องระบบชาร์ตรถไฟฟ้า (EV) ที่กำลังได้รับความนิยม ด้วยการให้งบสนับสนุน, ร่วมพัฒนาหลักสูตร, ออกแบบสถานี ฯลฯ เพื่อตอบโจทย์สถานประกอบการที่กำลังจะผลิตรถไฟฟ้าทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ในอนาคต
ด้านหลักสูตรการเรียนการสอนนั้น ล่าสุดจะมีการเปิด 2 สาขาใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม และตอบโจทย์พื้นที่ EEC คือ 1)สาขาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ประกอบไปด้วยแผนกช่างยนต์, เทคนิคคอมพิวเตอร์, เมคคาทรอนิกส์, เครื่องกล ฯลฯ เป็นช่างเทคนิคสู่วิศวกรรม ซึ่งได้มีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสามารถถ่ายโอนรายวิชาไปหากันได้ จบแล้วได้ประกาศนียบัตร 2 ใบ 2)สาขายานยนต์ไฟฟ้า หรือยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งจะตอบโจทย์ทั้งในเรื่องวิธีการสร้าง, ซ่อมบำรุง, ดูแลรักษา และการช่วยเหลือประชาชนที่ใช้รถไฟฟ้าในบริเวณโดยรอบ”
ทางด้าน ดร.รัตนา แซ่เล้า ผู้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ประจำปี 2549 เปิดเผยว่า “การที่ประเทศไทยจะสามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง อาชีวะศึกษาคือเสาหลักในเรื่องดังกล่าว เราพูดกันมานานกว่า 50 ปีแล้วว่าการเรียนสายสามัญจะต้องมี 60% และสายอาชีวะต้องมี 40% ของนักเรียนที่เรียนจบ แต่เราไม่เคยไปถึงเป้าหมายได้เลย ทั้งที่มีการพยายามผลักดันปฏิรูปการศึกษา โดยในปีล่าสุดเรามีนักเรียนอาชีวะเพียงแค่ 30% หรือประมาณ 90,000 คน จากเป้าหมายที่วางไว้ 280,000 คน ซึ่งเป็นเป้าหมายยังห่างไกลจากความเป็นจริงมาก ประเทศไทยยังคงต้องการนักเรียนอาชีวะเก่งๆ ที่มีฝันและมีประกายในตัวเอง เพื่อสานฝันต่อให้กับประเทศอีกจำนวนมาก ปัจจุบันเราพูดถึงแต่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก หรือ EEC แต่ไม่เคยมีใครพูดควบคู่ไปกับการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน จึงอยากจะขอฝากกำลังใจไปให้กับนักวิชาการ และนักการศึกษาทั่วประเทศ ว่าสิ่งที่คุณทำและมีประโยชน์นั้น ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ได้มองเห็น และเป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ”
โดยผู้สนใจสามารถชมคลิปการสัมภาษณ์เพิ่มเติม ได้ในรายการ 1 ในพระราชดำริ ความฝันอันสูงสุด อาชีวศึกษา สร้างอาชีพ เพื่ออนาคต ซึ่งทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 Mcot HD ได้ร่วมกับมูลนิธิอานันทมหิดล ได้จัดทำขึ้น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
หลังจากที่ “โครงการมิตซุยกุ ปีที่ 2” โดยซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ร่วมกับสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกวัยจังหวัดระยอง (RILA) และ ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา EEC ได้เริ่มดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนรุ่นใหม่เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของน้ำ ด้วยการจัดกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ได้แก่ กิจกรรม Train the Trainers ที่จัดขึ้นเพื่อจุดประกาย ‘คุณครู’ ให้ตระหนักและรับรู้ถึงปัญหาและความสำคัญของน้ำและธรรมชาตินำไปสู่การ ‘ออกแบบห้องเรียนสิ่งแวดล้อม’ เพื่อส่งต่อองค์ความรู้และแรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียน กิจกรรมปฐมนิเทศ (Orientation) ที่จัดขึ้นเพื่อให้คุณครูและนักเรียนผู้เข้าร่วมได้แบ่งปันความรู้ พร้อมทั้งแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการดูแลรักษาน้ำให้ยั่งยืน ล่าสุด โครงการฯ เดินหน้าจัดกิจกรรม “แคมป์รักษ์น้ำ” ณ จังหวัดนครนายก เพื่อให้ครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้เรียนรู้แหล่งกำเนิดน้ำ การใช้ประโยชน์จากน้ำและการอนุรักษ์น้ำจากประสบการณ์จริงพร้อมจัดกิจกรรมระดมความคิด ‘คืนสมดุลให้น้ำ คืนสมดุลให้โลก’ แชร์ไอเดียการส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนรอบข้างมาร่วมกันดูแลแหล่งน้ำและธรรมชาติในชุมชนของตนเองให้ยั่งยืน
นางมธุวลี สถิตยุทธการ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจและองค์กรสัมพันธ์ ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทยและ อินโดไชน่า กล่าวว่า “โครงการมิตซุยกุ คือ หนึ่งในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาและส่งต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์แหล่งน้ำและทรัพยากรทางธรรมชาติ รวมถึงเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อคำมั่นสัญญา “Mizu To Ikiru” ซึ่งแปลว่า “การมีชีวิตอยู่กับน้ำ” ซึ่งเป็นพันธกิจของเราในการสร้างความกลมเกลียวกับผู้คนและธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน โดยการดำเนินโครงการมิตซุยกุ ปีที่ 2 เราได้ร่วมมือกับ ‘สถาบัน RILA’ และ ‘ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา EEC’ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานเป็นพันธมิตรที่ร่วมกันผลักดันให้โครงการฯ ดำเนินไปได้อย่างลุล่วงจนประสบผลสำเร็จ อีกทั้งในปีนี้เรายังไดัรับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกระทรวงสาธารณสุข ที่เห็นถึงความมุ่งมั่นของโครงการฯ ที่ต้องการกระตุ้นคนในพื้นที่ให้เกิดจิตสำนึกรักษ์น้ำ ช่วยตอกย้ำให้โครงการฯ เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้น และเป็นโครงการต้นแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและการดำรงชีวิต อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เปิดให้ผู้คนได้มาสัมผัสกับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อีกด้วย”
นายธงชัย มั่นคง ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกวัยจังหวัดระยอง (RILA) กล่าวว่า “นับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการมิตซุยกุในจังหวัดระยอง ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนในกลุ่มครูอาจารย์และเด็กนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม คือ ความตื่นตัวต่อเรื่องการศึกษาและเรียนรู้ความสำคัญของ 3 แหล่งน้ำสำคัญในจังหวัดระยอง โดยหลังจากจบโครงการฯ ทาง RILA ได้วางแผนที่จะรวบรวมองค์ความรู้มาพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ ‘ห้องเรียนสิ่งแวดล้อม’ ภายใต้โครงการแหล่งเรียนรู้พื้นที่ 3 ชุ่มน้ำ เพื่อส่งต่อให้กับเด็กนักเรียนและคนในพื้นที่ตามวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาของสถาบัน RILA ที่ต้องการเป็นกลไกจังหวัด จัดการศึกษาด้วยตนเอง ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมดำเนินโครงการมิตซุยกุในพื้นที่จังหวัดระยอง ขอขอบคุณ ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย และ EEC ที่ได้ริเริ่มโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ทางทฤษฎีเพียง อย่างเดียว แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้เกิดเรียนรู้จากบริบทในชีวิตจริงที่ต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ถือเป็นการ บ่มเพาะคุณลักษณะที่ดีในการที่จะอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างกลไกและกระบวนการในการบ่มเพาะเด็ก และเยาวชนเรื่องการดูแลและอนุรักษ์แหล่งน้ำนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่มีความสมบูรณ์และเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น”
นายอเล็กซานเดอร์ ไซมอน เรนเดลล์ ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) กล่าวว่า “EEC มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการมิตซุยกุต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยในปีนี้ EEC ยังคงต้องการตอกย้ำให้ผู้ร่วมโครงการฯ ได้เรียนรู้ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ “น้ำ” ที่เป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิต การจัดกิจกรรมแคมป์รักษ์น้ำภายใต้แนวคิว “Give Balance to the Water and the World: คืนสมดุลให้นํ้า คืนสมดุลให้โลก” ในครั้งนี้ เรามีความมุ่งหวังที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาการศึกษาแหล่งธรรมชาตินอกห้องเรียนให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยผ่านกิจกรรมหลากหลายแบบเพื่อให้คุณครูและนักเรียนได้เข้าใจถึงทรัพยากรน้ำอย่างครอบคลุม อาทิ กิจกรรมสายน้ำสร้างชีวิต กิจกรรมในห้องเรียนธรรมชาติ การเดินทางของสายน้ำ และสำรวจสิ่งมีชีวิตในสายน้ำ กิจกรรมกลุ่มระดมความคิดในหัวข้อ “Give Balance to the Water and the World: คืนสมดุลให้น้ำ คืนสมดุลให้โลก” เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้เปรียบเสมือนกลไกที่จะช่วยให้คุณครูและนักเรียนได้เรียนรู้และสัมผัสจุดกำเนิดของความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ซึ่งก็คือ แหล่งต้นน้ำ ตลอดจนการเดินทางของสายน้ำและการตรวจสุขภาพของน้ำที่ดี เพื่อต่อยอดในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการอนุรักษ์น้ำ เพื่อตอกย้ำและสร้างจิตสำนึกให้แก่ผู้เข้าร่วมได้นำข้อคิดและการลงมือปฎิบัติจริงไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”
ด้านคุณครูนุก – ศุภลักษณ์ ธรรมษา คุณครูจากโรงเรียนสาธิตเทศบาลนครระยอง (วัดตรีรัตนาราม) หนึ่งในคุณครูที่ได้เข้าร่วมแคมป์ “รักษ์น้ำ” บอกเล่าถึงความประทับใจที่มีต่อโครงการว่า “การได้เข้าร่วมโครงการมิตซุยกุในครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับทั้งตัวคุณครูและนักเรียนเอง ตั้งแต่กิจกรรม Train the Trainers ไปจนถึงเข้าแคมป์ “รักษ์น้ำ” ที่ได้เปิดโอกาสให้คุณครู และนักเรียนได้เรียนรู้ทั้งในแง่ของทฤษฎีและการปฎิบัติลงมือจริงในห้องเรียนธรรมชาติที่ช่วยให้นักเรียนได้ซึมซับความรู้จากการลงพื้นที่ ซึ่งทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรน้ำมากยิ่งขึ้น โดยตัวคุณครูเองได้เห็นถึงการพัฒนาทั้งในด้านศักยภาพและความคิดของเด็กๆ ที่เพิ่มมากขึ้นจากการระดมความคิดในหลากหลายแง่มุมซึ่งคุณครูคิดว่าการสร้างจิตสำนึกใน การอนุรักษ์น้ำในครั้งนี้จะช่วยต่อยอดให้คุณครูนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาไปถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ในโรงเรียน โดยเรามีความตั้งใจ ที่จะจัดตั้งกิจกรรมสำหรับนักเรียนในโรงเรียนในระยะยาวเพื่อที่จะกระจายความรู้ไปยังชุมชนและจังหวัดระยองของเราให้มีผืนน้ำที่อุดมสมบูรณ์สำหรับคนรุ่นต่อๆ ไปได้ใช้น้ำอย่างยั่งยืน”
น้องม่อน – อัคคณัฐ ทิพย์เทียมรัตน์ ตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตเทศบาลนครระยอง (วัดตรีรัตนาราม) เล่าถึงกิจกรรมครั้งนี้ว่า “ผมรู้สึกตื่นเต้นและสนุกมากครับที่ได้มีโอกาสมาเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติในหลากหลายมุม โดยเฉพาะมุมที่ตัวเองไม่เคยรู้มาก่อน ได้มาเจอธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำตก แม่น้ำและสัตว์หลากหลายชนิดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าในจังหวัดนครนายก และจากที่ผมได้เข้าร่วมกิจกรรมทำให้ผมเข้าใจและเห็นคุณค่า ความสำคัญของน้ำที่มีต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้มากยิ่งขึ้นครับ ผมได้เรียนรู้ว่าทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกมีน้ำเป็นที่หล่อเลี้ยงเพื่อการดำรงชีวิต รวมถึงมนุษย์ที่ใช้ประโยชน์จากน้ำมากมายหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การทำการเกษตร หรือการใช้ในชีวิตประจำวัน กิจกรรมครั้งนี้ทำให้ผมเข้าใจและเห็นภาพคำว่า “No Water No Life” ชัดเจนขึ้นเลยครับ เราได้ทั้งความรู้จากพี่อเล็กซ์และครูผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาและได้ลงไปสำรวจ แหล่งน้ำในพื้นที่จริงอีกด้วย โดยก่อนจะจบกิจกรรมเข้าแคมป์ ผมได้ร่วมกลุ่มกับเพื่อนๆ เพื่อแชร์ไอเดียเกี่ยวกับการอนุรักษ์น้ำโดยการคัดแยกขยะ เพราะผมมองว่าปัญหาการเกิดน้ำเน่าเสียส่วนใหญ่มากจากการทิ้งขยะและไม่คัดแยกขยะอย่างชัดเจนทำให้เกิดผลกระทบแก่ผู้คนมากมาย ผมจึงอยากรณรงค์และสร้างการอบรมให้ทุกคนคัดแยกขยะให้ถูกต้องเพื่อลดปริมาณน้ำเสีย โดยผมจะนำสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดการเข้าร่วมกิจกรรมไปบอกต่อเพื่อนๆ ในโรงเรียนและครอบครัวให้ทุกคนเห็นคุณค่าของทรัพยากรน้ำและช่วยกันดูแลรักษาแหล่งน้ำเพื่อให้เด็กๆ อย่างพวกผมและทุกคนได้มีน้ำใช้กันนานๆ ครับ”