November 21, 2024

SCB CIO มอง Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 50 bps มาอยู่ที่ 4.75%-5.00% ต่อปี พร้อมปรับลดต่อเนื่องในปีนี้อีก 50 bps และในปีหน้าอีก 100 bps จากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับลดลงเข้าใกล้เป้า 2% ของ Fed ขณะที่การจ้างงานที่อ่อนแอลง แต่ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ ผนวกกับภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ถึงการเกิด Recession ชี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ย ช่วยนโยบายการเงินผ่อนคลายขึ้น ต้นทุนการเงินต่ำลง หนุนกำไรบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น แนะหุ้นสหรัฐฯ ยังให้ผลตอบแทนที่ดี กลุ่ม Quality Growth ประเภท IT รวมทั้งกลุ่ม Defensive เช่น สาธารณูปโภค สุขภาพ และสินค้าจำเป็น ยังคงน่าสนใจ

ส่วนการจัดพอร์ตเน้นกระจายความเสี่ยงโดย Core portfolio แนะลงทุนในหุ้นกู้เอกชนต่างประเทศที่มีคุณภาพสูง (IG) เน้นลงทุนตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมากกว่าตลาดเกิดใหม่ ยังให้น้ำหนักส่วนใหญ่บนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้านพอร์ตเสริม แบ่งเงินลงทุน 15 -25% ในตลาดหุ้นเวียดนามและไทย จากเศรษฐกิจเวียดนามที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ส่วนไทยได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง

นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50 bps มาอยู่ที่ 4.75%-5.00% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด และเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า Fed มีความมั่นใจมากขึ้นบนทิศทางอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่กำลังเข้าสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน โดย Fed กล่าวว่า ความเสี่ยงในการบรรลุเป้าหมายด้านเงินเฟ้อ และการจ้างงานมีความสมดุลกัน และ Fed แสดงความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนการจ้างงาน ส่วนในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Dot Plot นั้น เจ้าหน้าที่ Fed ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 50 bps ภายในสิ้นปีนี้ และปรับลดอัตราดอกเบี้ย 100 bps และ 50 bps ในปี 2568 และ 2569 ตามลำดับ นอกจากนี้ Fed ยังได้ปรับคาดการณ์ต่างๆ โดย Fed ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 ลงเล็กน้อยอยู่ที่ 2.0% ต่อปี จากเดิมที่คาดไว้ในเดือน มิ.ย.ที่ 2.1% ต่อปี ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการว่างงานในช่วงสิ้นปี 2567 เป็น 4.4% จากเดิมคาดไว้ที่ 4.0% ขณะที่ปรับลดคาดการณ์ของเงินเฟ้อ PCE ในช่วงสิ้นปี 2567 ลงเหลือ 2.3%YoY จากเดิมคาดไว้ที่ 2.6%YoY โดยอัตราเงินเฟ้อทั้ง PCE และ Core PCE จะเข้าสู่ระดับ 2.0% ในปี 2569 เป็นต้นไป

นายศรชัย มีมุมมองว่า แม้ว่าตลาดแรงงานจะอ่อนแอลง แต่ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ และยังไม่มีสัญญาณว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) โดยการปลดพนักงานยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ผู้บริโภคยังคงใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณของการชะลอตัวของเศรษฐกิจแบบ Soft landing ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่จะเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายการคลัง และการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังดำเนินอยู่ โดยคาดว่า Fed มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเทียบกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอดีต โดยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed fund ลงรวม 50bps ในการประชุมช่วงที่เหลือของปีนี้ อยู่ที่ 4.25%-4.50% และปรับลดรวมอีก 100 bps ในปี 2568 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Fed funds สิ้นปี 2568 อยู่ที่ 3.25%-3.50%

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ได้เผชิญกับภาวะ Recession จะช่วยสนับสนุนทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมทั้ง ตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ ตามสถิติตั้งแต่ปี 2517การปรับตัวของราคาสินทรัพย์ลงทุนประเภทต่างๆ ในช่วงที่ Fed ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตลาดหุ้นทั่วโลกและตราสารหนี้ของสหรัฐฯ มักมีผลตอบแทนที่ดี โดยเงินดอลลาร์ สรอ.มักจะอ่อนค่าลงในช่วง 12 เดือนหลังจากการปรับลดดอกเบี้ย ด้าน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ น้ำมัน ล้วนปรับเพิ่มขึ้น

ในส่วนของตราสารหนี้ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ มักปรับเพิ่มความชันขึ้น เมื่อใกล้ช่วงที่ Fed เริ่มจะปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรก อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเติบโตได้ และไม่มี Recession การปรับเพิ่มความชันของ Yield Curve หลังจากนี้อาจไม่มากนัก ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นรอบนี้ แสดงถึงความกังวลด้านเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยในปี 2567 ยังคงต่ำ ทำให้คาดว่า Bond Yield สหรัฐฯ จะลดลงไม่มาก และผลตอบแทนของตราสารหนี้สหรัฐฯ น่าจะมาจาก Carry Yield เป็นหลัก ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างกระแสเงินสดสำหรับนักลงทุนที่ต้องการพอร์ตการลงทุนที่มีความผันผวนต่ำ

แนวโน้มของตลาดหุ้น นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมีส่วนช่วยให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง และสนับสนุนให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ตามสถิติในอดีต หลัง Fed ปรับลดดอกเบี้ย 12 เดือน ในภาวะที่ไม่เกิด Recession หุ้นขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ เช่น S&P 500 มักให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นขนาดเล็ก เช่น Russell 2000 นอกจากนี้ หุ้นกลุ่ม Quality Growth อย่าง IT และกลุ่ม Defensive เช่น กลุ่มสาธารณูปโภค (Utilities) กลุ่มสุขภาพ (Healthcare) และ กลุ่มสินค้าจำเป็น (Consumer Staples) ยังคงน่าสนใจ โดยเรายังให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดพัฒนาแล้วมากกว่าตลาดเกิดใหม่ จากกำไรของตลาดเกิดใหม่ จะเข้าสู่ช่วงชะลอตัวในปี 2568

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน SCB CIO ยังคงยึด 3 วัตถุประสงค์หลักที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี แม้ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน โดยเน้นกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากได้รวบรวมสถิติต่างๆ แล้วพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เดือนกันยายน มีผลตอบแทนแย่ที่สุดในทุกสินทรัพย์ และเดือนตุลาคม มีความผันผวนสูงที่สุดโดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีการเก็บสถิตินับตั้งแต่ 2527 นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากปัจจัยทางการเมือง การเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นทั้งจากสงครามยูเครน -รัสเซีย และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และฮามาสที่มีการตอบโต้กันเป็นระลอก เราจึงให้ความสำคัญในเรื่องการกระจายการลงทุน เพื่อลดความผันผวนของพอร์ต

โดยพอร์ตลงทุนหลัก ( Core Portfolio) ลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป ควรกระจายลงทุนในสินทรัพย์เพื่อตอบโจทย์ 3 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ 1) เพื่อสร้างกระแสเงิน แนะนำลงทุนในหุ้นกู้เอกชนต่างประเทศที่มีคุณภาพสูง ( IG) ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้เอกชนในไทย หุ้นกู้ Perpetual ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารที่สูง และตราสารหนี้นอกตลาด (Private Credit) ที่ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าหุ้นกู้เอกชนในตลาด ขณะที่ สามารถเลือกคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดความเสี่ยงได้ เช่น มีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้ลำดับแรก และมีหลักประกัน เป็นต้น 2) เพื่อสร้างการเติบโต เน้นน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมากกว่าตลาดเกิดใหม่ โดยยังให้น้ำหนักอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจยังคงชะลอตัวในระดับปานกลาง กำไรบริษัทยังเร่งตัวสูงขึ้น แต่เศรษฐกิจ และผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังคงสนับสนุนการเติบโตของตลาดในระยะยาว และ 3) การป้องกันความเสี่ยงของพอร์ต ด้วยการลงทุนในทองคำ ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

ส่วนที่เหลืออาจพิจารณาลงทุนในพอร์ตเสริม (Opportunistic Portfolio) กรณีที่รับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง – สูง โดยแนะนำให้แบ่งเงินลงทุนบางส่วน ประมาณ 15 -25% อาจพิจารณาลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม และไทย โดยตลาดหุ้นเวียดนามน่าสนใจ เนื่องจากมีแนวโน้มได้แรงหนุนดังนี้ 1) เศรษฐกิจเวียดนามที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

โดยดัชนี PMI เดือนสิงหาคม ขยายตัว 53.4 ขณะที่ การส่งออกเดือนสิงหาคม ขยายตัว 14.5% YoY 2) กำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียน ใน 2Q2567 ขยายตัว 14%YoY และมีแนวโน้มขยายตัวดีใน 2H2567 3) เงินเฟ้อเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 3.5%YoY ลดลงจากเดือนกรกฎาคม และต่ำกว่าเป้าระยะยาวที่ 4.5% ส่งผลให้ความกังวลมบนประเด็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางเวียดนามลดลง และ 4) Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ 12M Blended Forward P/E อยู่ที่ 10.4 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี -1 s.d.

ส่วนตลาดหุ้นไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568 ได้แรงหนุนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ โดยภาครัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน จากการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนของภาครัฐ ที่ต่อเนื่องมากขึ้น และ จากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัว นอกจากนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยยังได้แรงหนุนจากการที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่า ในเดือน ธันวาคม นี้ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 25 bps และลดต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2568 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.0%

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทย ได้แรงหนุนจากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้น ตามภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ท่ามกลาง Valuation ของดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง โดย SET Index ซื้อขายอยู่บนระดับ valuation ที่น่าสนใจ โดย 12M Blended Forward P/E อยู่ที่ 14.4 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี อยู่ประมาณ -1.0 s.d. และมองว่า เม็ดเงินที่ไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ทั้งจากเม็ดเงินลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ รวมทั้งเม็ดเงินที่ไหลเข้าลงทุนผ่านกองทุนรวม Thai ESG จากการปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีแนวโน้มดึงดูดเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนในประเทศที่ต้องการลดหย่อนภาษี และนักลงทุนต่างประเทศ จากธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน (Governance) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย ประกอบกับ ทิศทางเงินทุนจากต่างประเทศยังมีแนวโน้มไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทย จาก Sentiment ที่ดีขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดทุนที่ออกมา และจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งมากกว่าการปรับลดดอกเบี้ยของกนง.

สำหรับอัตราผลตอบแทนรวมของสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลก นับตั้งแต่ต้นปี 2567 – YTD (18 กันยายน 2567) ทองคำให้ผลตอบแทนดีที่สุด อยู่ที่ 24.5% โดยได้รับผลบวกจากการที่ Yield ปรับตัวลดลง และธนาคารกลางของประเทศต่างๆมีความต้องการถือครองทองคำมากขึ้น รองลงมาเป็นตลาดหุ้นสหรัฐฯ 19.3% จากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังดีในช่วงครึ่งแรกของปี ประกอบกับ การคาดหวังว่า Fed จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และมีแรงส่งจากหุ้นกลุ่ม Tech ที่มีผลประกอบการที่ค่อนข้างดีในช่วงไตรมาสที่ 1 แม้ในไตรมาสที่ 2 ผลประกอบการจะแผ่วลงแต่ถือว่าอยู่ในทิศทางที่ค่อนข้างดี ต่อมาคือ Global REITs อยู่ที่ 13.8% ได้รับอานิสงค์จากการที่ Bond Yield ปรับตัวลดลง ทำให้ผลตอบแทนของ REITs ดีขึ้น DM Equity ex US อยู่ที่ 10.7% EM Equity อยู่ที่ 9.1% HY Bond อยู่ที่ 8.8% TIPS อยู่ที่ 5.2% IG Bond อยู่ที่ 5.1% Gov Bond อยู่ที่ 2.8% และ Oil อยู่ที่ -1.4% ส่วนการลงทุนในรายประเทศ US large อยู่ที่ 19.3% India อยู่ที่ 18.2% Vietnam อยู่ที่ 12.2% ยุโรปอยู่ที่ 11.8% China offshore 11.3% US Small 9.9% Japan 9.2% Indonesia 7.8% Thai 4.7% และ Korea -3%

เหตุการณ์แบล็กมันเดย์ (Black Monday) กดดันตลาดหุ้นญี่ปุ่นและส่งผลกระทบบางส่วนต่อหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ แนะเบรกการลงทุนและรอจังหวะใหม่เข้าสะสมหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่อาจปรับฐาน พร้อมเพิ่มน้ำหนักตลาดหุ้นเอเชีย “เกาหลี – ไต้หวัน – เวียดนาม” รับแรงหนุนหุ้นเอไอมาแรงและพื้นฐานแกร่ง ส่วนทองคำและบิทคอยน์ มีลุ้นปัจจัยบวกธนาคารกลางสหรัฐฯ มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยในรอบถัดไป  

นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า เหตุการณ์แบล็กมันเดย์ หรือ Black Monday เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (5 ส.ค.67) เกิดขึ้นจากความวิตกกังวลที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะเกิดภาวะถดถอยอย่างรุนแรง จนอาจต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายฉุกเฉิน ประกอบกับธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่าต้นทุนในการกู้ยืมเงินเยนมาทำธุรกรรม หรือ Yen Carry Trade จะพุ่งสูงขึ้น จึงทำการเทขายสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อถอนเงินเยน (Unwind Yen Carry Trade) จนเกิดเป็นวันที่ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนอย่างหนัก  

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลเพียงระยะสั้น และสถานการณ์ได้เริ่มคลี่คลายลงในบางสินทรัพย์แล้ว จึงมองเป็นโอกาสทยอยเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ได้รับกระทบโดยตรงจากสองเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ 

“ล่าสุด ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศที่จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อยับยั้งความผันผวนที่เกิดขึ้นจากการถอนเงินเยน ทำให้ความกังวลต่อสินทรัพย์อื่นลดลงและเงินเยนเริ่มกลับมาอ่อนค่า แต่ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะเกิดผลกระทบเชิงลบหลังจากนี้อีกหรือไม่ จึงควรชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นก่อน” 

ทั้งนี้ มองว่าตลาดหุ้นเอเชียอื่นยังมีความน่าสนใจต่อการลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยสามารถทยอยลงทุนได้ในตลาดหุ้นเกาหลี จากการที่บริษัทซัมซุงประกาศผลประกอบการไตรมาส ล่าสุด มียอดขายชิปที่เกี่ยวกับเอไอเติบโตก้าวกระโดด เป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นเกาหลีที่ขับเคลื่อนด้วยบริษัทผลิตชิปเป็นหลัก เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไต้หวัน ที่บริษัทไต้หวันเซมิคอนดักเตอร์รายงานงบไตรมาส ล่าสุด ออกมาดีกว่าด้วยโปรดักต์ด้านเอไอ ขณะที่ตลาดหุ้นเวียดนาม ยังมีความน่าสนใจในการเป็นฐานการผลิตลำดับที่สองของผู้ผลิตชิป รวมถึงเศรษฐกิจภายในประเทศที่เติบโต  

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นจีน แม้จะมีความเสี่ยงจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หากผลออกมาเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ อาจมีนโยบายการค้าที่ส่งผลลบต่อภาคเศรษฐกิจจีน แต่อย่างไรก็ตามในแง่แวลูเอชั่นของตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง ถือว่าอยู่ในระดับต่ำในรอบหลายปี จึงสามารถทยอยเข้าสะสมลงทุนในระยะยาวได้ 

นายณพวีร์ กล่าวว่า สินทรัพย์อื่นที่น่าสนใจหลังจากเหตุการณ์ Black Monday แม้ว่าจะมีโอกาสน้อยที่คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ จะประชุมฉุกเฉิน เพื่อลดดอกเบี้ยลงทันที 0.5% แต่คาดว่าหลังจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะปรับลดดอกเบี้ยในอัตราต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลบวกต่อสินทรัพย์ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับค่าเงินดอลลาร์โดยตรง ทั้งทองคำและบิทคอยน์ สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงในการลงทุนได้สูงสามารถพิจารณาเพิ่มสองสินทรัพย์นี้ในพอร์ตลงทุนได้ 

สำหรับมุมมองต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้จะมีการปรับฐานลงมาจากความกังวลที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยมีเหตุผลสนับสนุนคือการที่ Berkshire Hathaway เพิ่มการถือครองเงินสดสูงเป็นประวัติการณ์ และมองการปรับฐานของหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่อาจยังไม่จบ เพราะมีความเสี่ยงที่นักลงทุนอาจจะทยอยขายทำกำไรต่อ จากราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงมองว่าช่วงนี้เป็นจังหวะรอให้การปรับฐานจบลงและทยอยเข้าลงทุนระยะยาว เพราะในเชิงพื้นฐานการเติบโตของเอไอยังสามารถขยายตัวได้ในอีกหลายปีข้างหน้า แต่ช่วงสั้นราคาหุ้นขึ้นมาเร็วเกินไปเท่านั้น 

“นักลงทุนสามารถพิจารณาหุ้นเทคโนโลยีขนาดกลางที่เกี่ยวข้องกับเอไอได้ เพราะหุ้นในกลุ่มนี้ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเอไอและราคาหุ้นยังไม่ได้ขึ้นมาสูงมากนัก ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในกลุ่มบริการซอฟท์แวร์ หุ้นกลุ่ม Cloud Computing และ IT Security หุ้นกลุ่ม Data Center รวมถึงพลังงานทดแทนที่จะนำมาใช้ในการประมวลผลเอไอ หุ้นในกลุ่มนี้มีรายได้ที่มาจากทั่วโลกไม่ใช่แค่ในสหรัฐฯ จึงสามารถที่จะหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้” 

X

Right Click

No right click