December 23, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

ประเทศไทยไม่สามารถปฏิเสธและหลีกพ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมที่รวดเร็วได้ เนื่องจากประเทศไทยจะต้องก้าวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ในยุคดิจิทัลพร้อมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้เพราะทุกประเทศทั่วโลกได้เชื่อมโยงกันด้วยระบบอินเทอร์เน็ต และการค้าระหว่างประเทศได้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวินาที แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังประสบกับอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยี 5G ได้เหมือนกับที่เคยทำสำเร็จในยุค 4G มาแล้ว

ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจผิดในสังคมที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดคือ การประมูลคลื่นความถี่ที่มีราคาสูงมากจะเกิดประโยชน์กับประเทศโดยรวม เพราะสามารถนำเงินเข้ากระทรวงการคลังและสามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศได้นั้น กำลังเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะหากราคาการประมูลสูงมากผิดปกติดังที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งประเทศไทยมีมูลค่าการประมูลคลื่นความถี่ 4G ที่แพงที่สุดติดอันดับหนึ่งในสามของโลก จึงจะเป็นสาเหตุให้ต้นทุนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานในกิจการโทรคมนาคมสูงมากจนไม่สามารถที่จะ มีผู้ประกอบการรายใดสามารถเข้ามาประมูลได้ในอนาคตต่อไป

การแก้ไขกฎหมายและกฎการประมูลคลื่นความถี่ 5G กำลังจะเกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งมีปัญหาเดียวกันคือมูลค่าคลื่นความถี่สูงเกินไป อีกทั้งเทคโนโลยีได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้ความล่าช้าในการขยายโครงข่าย 5G อาจจะมีผลกระทบต่อพัฒนาประเทศในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล จนเป็นสาเหตุให้ขีดความสามารถของประเทศก้าวไม่ทันประเทศอื่นๆ

ผู้นำรัฐบาลในหลายประเทศได้หันมาสนใจประเด็นการประมูลคลื่นความถี่ 5G โดยมีแนวคิดที่จะใช้หลักการในการบริหารคลื่นความถี่ด้วยการใช้เทคนิคใหม่เข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดจากการประมูลคลื่นความถี่แบบเดิมที่มีราคาที่สูงมาก ซึ่งอาจจะใช้ไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุค 5G อีกต่อไป เนื่องจากคลื่นความถี่ที่ใช้กับระบบ 5G นั้นมีความต้องการอย่างต่ำถึง 100 เมกะเฮิรตซ์ต่อหนึ่งโอเปอเรเตอร์ ซึ่งถ้าหากใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่แบบเดิมที่เคยใช้มาเป็นเวลานาน นับ 10 ปี ก็อาจจะทำให้ราคาคลื่นความถี่สูงเกินไปจนไม่สามารถที่จะทำให้เกิดระบบ 5G ได้เลย ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายประเทศได้ตระหนักแล้วว่า อุปสรรคที่จะทำให้ไม่สามารถขยายโครงข่าย 5G ได้นั้น จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ประเทศไม่สามารถมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจชั้นนำของโลกได้อีกต่อไป

ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขกฎหมายการจัดสรรคลื่นความถี่ 5G อย่างเร่งด่วนให้สำเร็จก่อนปี พ.ศ. 2562 ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้มีการเริ่มขยายโครงข่ายระบบ 5G แล้ว ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศไทยตกขบวนและไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้


บทความโดย | พันเอก ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ 

www.เศรษฐพงศ์.com

พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คือหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีที่ให้มุมมองเกี่ยวกับผลกระทบจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราและโลกธุรกิจรวมไปถึงการบริหารงานต่างๆ อย่างคมชัด

เพราะเราคงไม่สามารถหยุดยั้งเทคโนโลยีที่กำลังขับเคลื่อนโลกใบนี้อยู่ได้ ยิ่งในโลกดิจิทัลที่เชื่อมโยงกันจนยากจะจำกัดหรือกำจัดเทคโนโลยีเหล่านี้ออกไปจากชีวิตใครคนใดคนหนึ่งหรือสังคมใดสังคมหนึ่งไปได้ การอยู่ร่วมกันโดยที่ยังคงรักษาผลประโยชน์ของเราไว้ได้จึงเป็นทางออกที่น่าสนใจที่สุด เพราะคงไม่มีใครที่จะสามารถหยุดยั้งเทคโนโลยีที่สามารถสร้างสรรค์จากทุกมุมโลกเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้

ดร.เศรษฐพงค์เปิดห้องพูดคุย ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้น และนวัตกรรมที่กำลังเข้าสู่ช่วงอัตราเร่งในการพัฒนา การที่ธุรกิจถูก Disrupt จากเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งบล็อกเชน และเทคโนโลยี 5G ที่กำลังจะกลายเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมยุคใหม่ การเข้ามาของเทคโนโลยีเหล่านี้จะเชื่อมต่อเซนเซอร์ทั้งหลายช่วยให้โลกชาญฉลาดมากขึ้น การเติบโตของนวัตกรรมจะรวดเร็วเพราะคนสามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ง่ายขึ้นทุกมุมโลก โลกจะก้าวสู่โลกยุค Industry 4.0 ที่หมายถึง Autonomous Decentralize Distributed เป็นยุคที่คนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการสร้างงานสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ข่าวสาร สร้างนวัตกรรมร่วมกัน

  ผลกระทบของบล็อกเชน

ดร.เศรษฐพงค์มองว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนส่งผลกระทบต่อหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมการเงิน อุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี จากยุคเทปคาสเซ็ทที่การก๊อบปี้ทำได้ยาก สู่ยุคที่อินเทอร์เน็ตมีความเร็วเพิ่มขึ้นเพลงถูกเปลี่ยนเป็นไฟล์ดิจิทัลและสามารถแชร์กันได้ ทำให้ป้องกันเรื่องลิขสิทธิ์ได้ยาก ส่งผลให้ไม่สามารถกำหนดจำนวนอุปทานที่จะออกมาได้

มาในยุคปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตมีพลังมากขึ้น สมาร์ตโฟนสามารถเข้าถึงผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลก เกิดแนวคิดที่จะกำหนดจำนวนไฟล์ จำนวนลิขสิทธิ์ของเพลงเช่นเดียวกับการผลิตเทปคาสเซ็ทในอดีต ช่วยให้เกิด Business Value บนเครือข่าย

ในปี 2008 ซาโตชิ นากาโมโตะ ซึ่งเป็นชื่อสมมติ เขียนบทความขึ้นมาชิ้นหนึ่งและส่งให้โปรแกรมเมอร์ระดับโลกว่ามีวิธีการสำหรับเรื่องข้างต้น นั่นคือแนวคิดของบล็อกเชน เป็นจังหวะเดียวกันที่อินเทอร์เน็ตไปถึงจุดที่เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารผ่านระบบเซิร์ฟเวอร์ทั่วโลกได้ ด้วยแนวคิดว่าให้คนบนเครือข่ายมาช่วยกัน Verify ไฟล์ที่เรากำหนดไว้ ทำให้ทุกคนไม่สามารถโกงกันได้ เพราะจะเห็นจำนวนที่ตรงกัน มีรหัสเดียวกัน หากใครมีรหัสที่แปลกปลอมก็จะถูกเตะออกนอกระบบ

บิทคอยน์คือตัวอย่างที่ทำให้โลกเห็นว่า มีแอปพลิเคชันหนึ่งที่สามารถสร้างและเก็บรักษามูลค่าโดยกำหนดจำนวนได้ เป็นต้นแบบให้กับธุรกิจอื่นๆ สามารถจะนำไปต่อยอด เช่นศิลปิน สามารถออกเพลงโดยกำหนดจำนวนก๊อบปี้ที่ชัดเจนบนแอปพลิเคชันมิวสิกบล็อกเชน ผู้อยากได้ไฟล์ไปฟังก็ส่งเงินไปที่วอลเล็ตของศิลปิน และหากมีการส่งต่อหรือซื้อขายเพลงดังกล่าวไปสู่ผู้ฟังรายอื่น ตัวศิลปินก็จะได้ส่วนแบ่งรายได้ จากโค้ดที่เขียนไว้

เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วในชุมชนของคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างเช่นหัวเหว่ยที่เตรียมจะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาอยู่บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งหากวันใดก็ตามที่บริษัทสมาร์ตโฟนที่มีชื่อเสียง มีผู้ใช้งานเป็นพันล้านคนนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ ก็เป็นการเปิดช่องทางให้ทุกคนต้องเข้ามาใช้เทคโนโลยีนี้

ดร.เศรษฐพงค์เปรียบเทียบอินเทอร์เน็ตว่าเหมือนกับทะเล เป็นตัวกลางที่ยังไม่มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ ขณะที่บล็อกเชนเปรียบดังเรือที่สามารถบังคับตัวเองได้ตามที่กำหนดไว้ เมื่อมีคนขึ้นเรือก็เก็บเงินผ่านวอลเล็ต หรือจะเรียกบล็อกเชนว่า Programmable Internet ก็ได้ บล็อกเชนจะกำหนดอุปทาน และกำหนดการทำ Smart Contact รูปแบบใหม่ ที่จะช่วยสร้างมูลค่าให้กับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเพลง การแลกเปลี่ยนพลังงาน และอื่นๆ

“บล็อกเชนเป็นตัวกำหนดว่าเรือลำนี้กับเรือลำนั้นเป็นเพื่อนกัน จะคุยกัน แต่ถ้าเรือลำนี้ไม่มีโค้ดเราจะไม่คุยกับเรือลำนี้ เราจะไปส่งคนให้เรือลำที่เรารู้จักเท่านั้น เรือก็ล่องเต็มไปหมดเป็นโหนดๆ เต็มไปหมด เรือจะมากขึ้นๆ เพราะคนเป็นพันล้านคน บล็อกเชนคือการทำทรานเซกชันแบบเรียลไทม์และอัตโนมัติ โดยเขียนโปรแกรมไว้แล้ว เป็นข้อตกลงกัน และจะทำงานให้อัตโนมัติ ผมแค่ออกเพลง 1 ล้านเพลงเป็นดิจิทัลไฟล์ที่มีการเข้ารหัสไว้เรียบร้อยแล้ว ใครซื้อมาก็โอนให้”

ผลกระทบของบล็อกเชนจะทำให้ตัวกลางที่เคยมีอยู่ถูกลดหรือเปลี่ยนบทบาทลงไป เช่นอุตสาหกรรมสื่อสาร อุตสาหกรรมการเงิน ทนายความ รวมไปถึงภาครัฐต่างๆ ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่กันใหม่

ดร.เศรษฐพงค์มองว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะเป็นเหมือนกับแอปพลิเคชันที่เราใช้กันเป็นประจำในวันนี้ ที่เมื่อเกิดมาแล้วมีผู้ใช้งานจำนวนมากก็กลายเป็นสิ่งที่คนในสังคมต้องใช้ เพื่อติดต่อสื่อสารหรือทำธุรกรรมระหว่างกัน ดังนั้นการเตรียมเข้าไปมีส่วนร่วมกับเทคโนโลยีนี้อย่างชาญฉลาดจึงเป็นทางออกของเรื่องนี้

  5G จะพาเราไปไหน

ดร.เศรษฐพงค์เล่าถึงเทคโนโลยี 5G ที่เป็นพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรม 4.0 ว่า เป็นการพัฒนาต่อจากระบบ 4G LTE Advance และมีอีกกลุ่มหนึ่งที่พัฒนาแบบแยกออกไปต่างหากซึ่งกำลังแข่งขันกันเพื่อเป็นเทคโนโลยีหลักอยู่ เนื่องจากอุตสาหกรรมโทรคมนาคมสร้างมูลค่าได้ลดลง ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดมาสู่การเชื่อมโยงธุรกิจสู่ธุรกิจ (Business to Business) มนุษย์สู่มนุษย์ (Human to Human) และ มนุษย์สู่ธุรกิจและสู่อะไรก็ได้ (Human to Business to X)

ดังนั้น 5G จึงสามารถเป็นได้ทั้งแพลตฟอร์มในโรงงานอุตสาหกรรม หรือเป็นช่องทางทำธุรกรรมในอุตสาหกรรมทางการเงิน หรือจะนำไปใช้ในรถอัตโนมัติ โดยสามารถสร้างแพลตฟอร์มเฉพาะแต่ละธุรกิจได้ เช่นเป็น Mobile Commerce เป็นยานยนต์ไฟฟ้า หรือเป็น IoT ที่ทำงานด้านบริการ

“ระบบ 5G จะเป็นระบบซึ่งไม่ใช่ผู้คนคุยกันเอง แต่ผู้คนคุยกับองค์กร ผู้คนลงทุนกับองค์กร องค์กรทำงานแบบอัตโนมัติมากขึ้น มูลค่าก็จะไปสร้างใหม่เพราะแบบเดิมสร้างไม่ได้ นั่นคือเส้นทางของ 5G ที่แตกต่างจาก 4G 3Gโดยสิ้นเชิง ทำให้บล็อกเชนและเอไอต้องเข้ามาเพื่อจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 5G เป็นพื้นฐานของIndustry 4.0 ที่ทำให้บล็อกเชนเป็น Simple Application เหมือนซอฟต์แวร์ตัวหนึ่ง แต่ข้างในก็ verify ด้วยบล็อกเชน คนใช้งานไม่รู้เรื่องเลย แต่ที่บล็อกเชนดังเพราะมีอิทธิพลสูงมากจนคนทุกคนได้ยิน”

สำหรับประเทศไทยการจะได้ใช้ระบบ 5G ซึ่งต้องใช้ช่วงความถี่ถึง 100 เมกกะเฮิร์ตช ผู้ประกอบการจะต้องลงทุนจำนวนมาก ดร.เศรษฐพงค์ทำนายว่า ประเทศไทยอาจประสบปัญหาทางตันสักระยะหนึ่งจนต้องไปแก้กฎหมายและ 5G จะกลับมาเริ่มได้ช่วงปี 2022 เพราะตามกำหนดที่วางไว้โลกจะเริ่มใช้เทคโนโลยีนี้ในปี 2020 แต่ปัจจุบันมีหลายประเทศเริ่มไปแล้วไม่ว่าจะเป็น อเมริกา จีน เกาหลีใต้

 

  โลกของผู้เชี่ยวชาญ

ดร.เศรษฐพงค์เล่าว่า นับจากความสำเร็จของเทคโนโลยี 4G ในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เราเห็นว่า ประชาชนสามารถผลิตสื่อ บริโภคสื่อต่างๆ กันได้เอง ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ จะเป็นผู้กำหนดเนื้อหาโดยที่สื่อตัวกลางเริ่มลดบทบาทลง ผู้เชี่ยวชาญ (Expert) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกยุคใหม่

“โลกอนาคตจะเป็น self regulation เช่น ส.ส. กำลังจะไปโหวตในสภา ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่ปรากฏว่าประชาชนไม่รับ ถ้าส.ส.คนนี้โหวตแบบนี้ ฉันขอโหวตผ่านบล็อกเชนว่าไม่เห็นด้วยกับคุณ คน 1 ล้านคนโหวตบอกไม่เอาอย่างนี้แต่คุณไป
โหวตในสภาแบบนี้ ครั้งหน้าคุณจะได้เป็นไหม บล็อกเชนจะเป็นระบบโหวตที่มีประสิทธิภาพมาก”

ความรวดเร็วของเทคโนโลยีส่งผลต่อการกำกับดูแลในอนาคต ดร.เศรษฐพงค์มองว่า ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างมาก เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่จินตนาการแต่เป็นเส้นทางที่ถูกกำหนดขึ้นมาแล้ว โดยยกตัวอย่างเทคโนโลยี 4G ที่กำหนดมากว่าจะมาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสื่อที่เราได้เห็นไปแล้ว

“สึนามิมาน้ำในแม่น้ำไม่มีความหมายหรอก คุณคิดว่าคุณจะสร้างเขื่อนกันระบบชลประทานในประเทศ แต่อินเทอร์เน็ตคือทะเล น้ำขึ้นน้ำลงไปห้ามได้หรือ หรือแผ่นดินไหวใต้ทะเล สร้างสึนามิคุณห้ามแผ่นดินไหวได้หรือ คุณต้องอยู่กับโลกที่เปลี่ยนแปลงได้”

การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจดิจิทัล นับเป็นโลกใหม่ ที่เราต้องรู้จักการสร้างมูลค่าใหม่ๆ เพื่อทดแทนสิ่งที่กำลังจะหายไป เพราะหากไม่ทำก็จะมีคนที่มีความรู้และแนวคิดเข้ามาแล้วทำธุรกิจเหล่านั้นแทนที่ ดร.เศรษฐพงค์เปรียบเทียบกับที่ดินในกรุงเทพฯ บางพื้นที่ว่าในอดีตแทบไม่มีอะไรเลย แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นในปัจจุบันก็แย่งซื้อขายกันเพื่อนำมาพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมหรืออาคารสำนักงานขนาดใหญ่ เปลี่ยนแปลงย่านที่เคยเงียบเหงาให้กลายเป็นย่านชิคชิลล์ยกระดับให้มีมูลค่าสูงขึ้น

การอยู่กับโลกโดยเราได้มูลค่าร่วมไปด้วย หากเราไม่สามารถหารูปแบบการยึดโยงได้เราก็จะสูญเสียรายได้ไปกับโลกดิจิทัล เช่นการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับโลกหลายรายสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ ปัญหาคือภาครัฐจะเก็บภาษีธุรกรรมที่เกิดขึ้นได้อย่างไร

“ถ้าเราไม่สร้างแพลตฟอร์มของเรา เราไม่ Engage กับโลก เราไม่ไปสร้าง Value Chain ของเรา เราก็ไม่สามารถไปเก็บภาษีได้ ภาษีก็จะหลอมละลายไปในอินเทอร์เน็ต และการทำ Transaction (ธุรกรรม) ระหว่างประเทศ เขาก็เอา Transaction เราไป เราซื้อของต่างประเทศภาษีเราจะไปเก็บที่ไหน เราก็ได้แต่เก็บภาษีบนเรือนร่างประเทศไทย ค่าแรงงาน การค้าภายในประเทศ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย”

การจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่นับจากปีนี้จะเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร่ง ในมุมมองของดร.เศรษฐพงค์มองว่า เราต้องการผู้เชี่ยวชาญที่จะมาช่วยกำหนดแนวทางเพื่อช่วยสร้างระบบให้ประเทศไทย “ถามว่าประเทศไทยต้องการคนเป็นล้านมาสร้างระบบเพื่อให้ประเทศเจริญและมีงานทำรูปแบบใหม่หรือไม่ เราต้องการคนที่เป็น expert (ผู้เชี่ยวชาญ) ไม่กี่พันคน” เขาเปรียบเทียบกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลที่มีผู้ใช้งานนับพันล้านคนว่ามีนักวิทยาศาสตร์วิศวกรที่คิดซอฟต์แวร์เป็นหลักพันแม้จะจ้างคนเป็นหลักหมื่นคน

และบอกต่อว่า “ผมมองว่าเด็กรุ่นใหม่เขาจะค่อยๆ มาเปลี่ยน เขาจะมีบทบาทในนิติบัญญัติมากขึ้น เขาจะมองออกว่าแล้วทำไมเรามานั่งคิดเรื่องพวกนี้” 

X

Right Click

No right click