โอเพ่นสเปซ (Openspace) กองทุนชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการยกระดับการเติบโตของสตาร์ทอัพในประเทศไทย พร้อมเผยวิสัยทัศน์ของบริษัทเกี่ยวกับอนาคตของประเทศไทย มุ่งผนึกกำลังกับสถาบันต่าง ๆ ในภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผู้ร่วมลงทุน และชุมชนสตาร์ทอัพ เพื่อปลดล็อคศักยภาพของประเทศไทยในด้านเทคโนโลยีและส่งเสริมอีโคซิสเต็มที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
โอเพ่นสเปซ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2557 ปัจจุบันเป็นกองทุนชั้นนำที่บริหารจัดการเงินทุนเกือบ 30,000 ล้านบาท ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุม 6 ตลาดหลัก ได้แก่ ประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โอเพ่นสเปซ ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ลงทุนสำคัญในวงการเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพอย่างรวดเร็ว ด้วยการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำมากกว่า 60 แห่งทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กุญแจสู่ความสำเร็จของโอเพ่นสเปซ คือการใช้ข้อมูลเชิงลึกและความเชี่ยวชาญระดับสูงของทีมงานเพื่อเสริมศักยภาพให้แก่บริษัทที่ได้เข้าลงทุนได้สร้างผลงานที่โดดเด่นพร้อมกับสร้างประโยชน์ให้กับสังคม
โอเพ่นสเปซ ยังได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยและส่งเสริมอีโคซิสเต็มอย่างต่อเนื่อง ความมุ่งมั่นนี้สะท้อนให้เห็นได้จากบทบาทของ คุณณิชาภัทร อาร์ค ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของกองทุนโอเพ่นสเปซเวนเจอร์ส ซึ่งนอกจากบทบาทในกองทุนแล้ว ยังดำรงตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ ที่มุ่งส่งเสริมการเติบโตของประเทศไทย ได้แก่ บทบาทกรรมการสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Thai Venture Capital Association), สมาชิกคณะกรรมการของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin School of Management, Chulalongkorn University) และสมาชิกคณะกรรมการของสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล (Institute for Technology and Innovation Management, Mahidol University)
คุณณิชาภัทร อาร์ค ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กองทุนโอเพ่นสเปซ กล่าวว่า “โอเพ่นสเปซ ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ด้วยเงินลงทุนรวมเกือบหนึ่งพันล้านบาท เราภูมิใจในบริษัทสตาร์ทอัพไทยที่เราได้ลงทุนอย่างมาก เนื่องจากมีทีมผู้บริหารที่มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจที่ทำอยู่ในเชิงลึกและสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างน่าพอใจ กองทุนของเรายังคงเชื่อมั่นในศักยภาพของสตาร์ทอัพไทย และมองหาโอกาสที่จะเพิ่มเงินลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับจุดแข็งของประเทศไทย เช่น การเงิน การแพทย์ การเกษตร การบริการและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ เรายังสนใจสตาร์ทอัพที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานทดแทนและการลดโลกร้อน เนื่องจากปัญหาใหญ่เช่นนี้จะต้องนำเทคโนโลยีมาแก้ไขถึงจะเห็นผลที่ชัดเจน”
พอร์ตโฟลิโอของโอเพ่นสเปซในประเทศไทยประกอบด้วย ฟินโนมีนา (Finnomena) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการลงทุนดิจิทัลชั้นนำของไทยที่มีสินทรัพย์ภายใต้การดูแลเกือบ 50,000 ล้านบาท, เฟรชเก็ต (Freshket) ซึ่งจำหน่ายวัตถุดิบด้านอาหารแบบครบวงจรผ่านแพลตฟอร์มที่สะดวกต่อการติดตามในทุกขั้นตอน โดยปัจจุบันได้ให้บริการแก่ธุรกิจร้านอาหารกว่า 20,000 แห่ง และมีอัตราการเติบโตถึง 10 เท่าในระยะเวลาเพียง 4 ปี นอกจากนี้ ยังมีอบาคัส ดิจิทัล (Abacus Digital) ผู้ให้บริการสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันมันนี่ทันเดอร์ (MoneyThunder) ที่มุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางการเงินด้วยเทคโนโลยี AI ให้กับกลุ่มคนที่หลากหลาย โดยเฉพาะคนที่ต้องใช้เงินกู้นอกระบบ ปัจจุบัน มีผู้สนใจสมัครสินเชื่อกับมันนี่ทันเดอร์ สูงถึง 200,000 รายต่อเดือน โดยมียอดดาวน์โหลดแอปแล้วกว่า 20 ล้านครั้ง ยอดปล่อยสินเชื่อเติบโตต่อเนื่อง โดยมี NPL ต่ำกว่าตลาดถึง 3 เท่า อบาคัส ดิจิทัลได้รับการจัดให้อยู่ใน Forbes Asia 100 to Watch โดยนิตยสาร Forbes เมื่อปีที่แล้ว โดยมีการคัดเลือกสตาร์ทอัพจากผู้สมัครทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 13 ประเทศ
คุณเจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง กลุ่มบริษัท ฟินโนมีนา กล่าวถึงความร่วมมือกับโอเพ่นสเปซ และการสนับสนุนที่ช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับฟินโนมีนาอย่างต่อเนื่อง ว่า “โอเพ่นสเปซ เวนเจอร์ส ไม่ได้เป็นเพียงแค่นักลงทุน แต่เป็นพันธมิตรที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของฟินโนมีนา ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โอเพ่นสเปซช่วยเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของเราอย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับการสร้างแบรนด์ การสร้างกลยุทธ์เพื่อกระจายประเภทสินทรัพย์ และการวางแผนกลยุทธ์การขยายธุรกิจ นอกเหนือจากเงินทุนแล้ว ทีมงานของโอเพ่นสเปซ ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ต่อความสำเร็จของฟินโนมีนา โดยให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญกับธุรกิจของเราในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสรรหาบุคลากรไปจนถึงการวางกลยุทธ์”
โอเพ่นสเปซยังคงมุ่งมั่นผลักดันอนาคตสตาร์ทอัพของประเทศไทย และในการก้าวเข้าสู่ปี พ.ศ. 2568 นี้ บริษัทพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่มีความมุ่งมั่นเดียวกันในการขับเคลื่อนการเติบโตที่มั่นคง และผลักดันนวัตกรรมที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมต่อประเทศไทย โดยผู้ที่สนใจหรือต้องการหารือเกี่ยวกับโอกาสในการร่วมมือกับโอเพ่นสเปซ ในประเทศไทย สามารถติดต่อได้ที่อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เมื่อโลกของการทำงานและการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การมีพื้นที่สำหรับการเรียน การทำงาน และพบปะสร้างสรรค์กิจกรรมจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ตอนหนึ่งในบทความของ Harvard Business Review ระบุว่า แม้การพบปะกันเพียงช่วงสั้นๆ ก็สามารถช่วยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมได้ ดังนั้นพื้นที่จึงไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ทางกายภาพ แต่ยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการร่วมมือและทำภารกิจยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ ที่ผ่านมา True Space ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งใน Ecosystem ของทรู ไม่ได้เป็นเพียงแค่ Co-working space ทั่วไป แต่ยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสการเรียนรู้ พัฒนาทักษะ และการเติบโตของทั้งนักเรียนนักศึกษา และสตาร์ทอัพและ SME ไทยในมิติต่างๆ
บทความนี้จะพาไปทำความรู้จัก True Space ให้มากขึ้นผ่านแนวคิด จุดมุ่งหมาย รวมไปถึงประสบการณ์ของน้องๆ ชมรม SWU Sandbox ที่เริ่มต้นและเติบโตขึ้นจากพื้นที่เล็กๆ ของ True Space สาขาอโศก และต่อยอดสู่ภารกิจปั้นสตาร์ทอัพหน้าใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย พร้อมชี้ให้เห็นถึงก้าวต่อไปของ True Space ในการเป็น Ecosystem ที่สำคัญสำหรับสตาร์ทอัพและ SME ไทย
จุดเริ่มต้นของการเป็นพื้นที่สำหรับนักเรียนนักศึกษา
“แรกเริ่มนั้น True Space เกิดขึ้นในปี 2562 เพื่อเป็นพื้นที่ทำงานให้นักเรียนนักศึกษา เพื่อให้พวกเขามีพื้นที่มานั่งทำงาน ติวหนังสือ หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน” นวลพรรณ บุญเผื่อน หัวหน้าสายงานทรูสเปซ บริษัท ทรูสเปซ จำกัด เริ่มเล่าที่มา
ไม่น่าแปลกใจที่จะได้เห็น True Space ทั้ง 7 สาขามีโลเคชั่นอยู่ในมหาวิทยาลัย หรือใกล้กับมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา, มหาวิทยาลัยรังสิต, สยามสแควร์ ซอย 2, สยามสแควร์ ซอย 3, อโศก, ไอคอนสยาม และวายสแควร์ อุบลราชธานี เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเข้ามาใช้พื้นที่ได้อย่างสะดวกสบาย
“แต่ละสาขาเราจัดพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ครบ ทั้งที่นั่งทำงานแบบ Hot Desk ห้องประชุม และพื้นที่จัด Event ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ นอกจากนี้เราเองยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เป็นเวิร์กชอปพัฒนาทักษะเสริมทั้งด้านความรู้และประสบการณ์ที่น้องๆ นักศึกษาสามารถนำไปใช้ในอนาคต การมีกิจกรรมเหล่านี้ก็เป็นการสร้างคอมมูนิตี้ของเราให้เกิดขึ้นด้วย และเชื่อว่าเมื่อก้าวสู่วัยทำงาน พวกเขาก็จะยังเข้ามาใช้บริการของเราเช่นกัน” นวลพรรณ อธิบาย
การเข้าใช้บริการ True Space เป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ที่ทรูจัดไว้ให้ลูกค้าได้ใช้ Ecosystem อย่างเต็มที่ หรือหากต้องการสมัครสมาชิกก็ได้ในราคาที่คุ้มค่า รวมถึงการเป็นพาร์ทเนอร์กับมหาวิทยาลัยต่างๆ จะเห็นได้ว่าแต่ละสาขาจะมีน้องๆ นักเรียนนักศึกษามานั่งทำงาน อ่านหนังสือ หรือติวหนังสือกันเป็นประจำ
True Space สาขาอโศก กับการก่อร่างชมรม SWU Sandbox ให้เกิดขึ้นจริง
True Space สาขาอโศก ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่นักศึกษามารวมตัวกันทำกิจกรรมนอกห้องเรียน และเป็นจุดเริ่มต้นของชมรม SWU Sandbox ซึ่งก่อตั้งโดยนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ มศว ที่มี
ประสบการณ์ผ่านเข้ารอบ Demo Day ในการแข่งขัน Startup Thailand League 2023 ครั้งนั้นพวกเขาเห็นศักยภาพไอเดียของเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยที่นำไปต่อยอดได้ จึงอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาความรู้ บ่มเพาะ และสนับสนุนการเกิดสตาร์ทอัพหน้าใหม่จากรั้วมหาลัยของตัวเอง
“จริงๆ ชมรม SWU Sandbox เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 67 ค่ะ ในช่วงการวางแผนก่อตั้งชมรม พวกเรา 8-9 คนยังมือใหม่มากและขาดพื้นที่สำหรับประชุมและวางแผนงาน เพื่อนที่เป็นประธานชมรมจึงลองติดต่อเข้ามาที่ True Space เพื่อขอให้พื้นที่ทำงาน เพราะทราบมาว่าเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัย ซึ่งเราก็ได้รับการสนับสนุนอย่างดีตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงตอนนี้” เสาวลักษณ์ ชอบสอน นิสิตปี 4 คณะเศรษฐศาสตร์ มศว เลขาชมรมเล่าถึงที่มา
แม้ก่อตั้งชมรมได้ภายในเวลาไม่ถึงปี แต่ SWU Sandbox สามารถขยายขอบเขตการทำงานเป็นชุมชนนักศึกษาที่มีสมาชิกมากกว่า 100 คน และได้ร่วมงานกับฝ่ายกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยผลักดันให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การให้ความรู้ธุรกิจเบื้องต้น จัดค่ายพัฒนาโปรเจกต์ จนถึงการ Pitching เสนอไอเดียที่เปิดกว้างทั้งมหาวิทยาลัย คัดจนผ่านเข้ารอบ 10 ทีม โดยอีกไม่นานมีการจัด Showcase ที่เปิดให้บริษัทภายนอกเข้ามาชมงานและสนับสนุน
“การที่มีชมรมนี้เกิดขึ้นมาได้จริง พวกเราภูมิใจมาก ที่ได้มีส่วนร่วมพัฒนาศักยภาพนิสิตของเรา ซึ่งต่อไปอาจเกิดเป็นสตาร์ทอัพจริงๆ ก็ได้ และส่งต่อให้รุ่นน้องได้สานต่อกิจกรรมไปด้วย” ณัชชา พรมสุริย์ ฝ่ายดูแลกิจกรรมของชมรมกล่าว
พื้นที่ทางเลือกที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ยุคใหม่
ในยุคห้องสมุดไม่ใช่เพียงแหล่งหาข้อมูลสำคัญแห่งเดียวอีกต่อไป นักเรียนนักศึกษาต่างใช้แท็บเล็ตแทนสมุดและหนังสือ พวกเขามีทางเลือกในการแสวงหาความรู้อย่างเป็นอิสระในทุกที่ สิ่งสำคัญในเวลานี้คือ พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์วิถีการเรียนแบบใหม่ ซึ่งดูเหมือนว่า True Space เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ตอบโจทย์เหล่านี้
“ชอบมานั่งทำงานที่นี่ เพราะมีปลั๊กไฟอยู่บนโต๊ะ ใช้งานสะดวกมาก โต๊ะก็ความสูงพอดี เก้าอี้นั่งสบาย พื้นที่เปิดโล่ง สว่าง ไม่อึดอัด เวลาพักสายตาก็มองไปนอกหน้าต่างได้” น้องๆ นักศึกษาที่เข้ามานั่งทำงานใน True Space สาขาอโศกบอกเล่าถึงเหตุผลที่เลือกเข้ามาที่นี่เป็นประจำ
ภิรมย์สุรางค์ สิงหนาท หนึ่งในนักศึกษากลุ่มนี้อธิบายเพิ่มเติมว่า “การมาที่ True Space ไม่เหมือนกับไปนั่งห้องสมุดหรือร้านกาแฟ เพราะที่ห้องสมุดเราต้องเงียบ จะคุยปรึกษาหรือติวหนังสือไม่ได้ ส่วนร้านกาแฟมีเสียงบรรยากาศค่อนข้างดัง ทำให้ไม่มีสมาธิอ่านหนังสือ การมาที่นี่มีทั้งโต๊ะแยกให้เราได้โฟกัสงาน และมีโต๊ะนั่งรวมที่ติวหนังสือหรือประชุมงานกันได้ด้วย”
Startup Ecosystem และ Community ที่เต็มไปด้วยโอกาส
นอกเหนือจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียนนักศึกษาแล้ว เวลานี้ True Space มีการวางกลยุทธ์ขยายไปสู่ผู้ประกอบการ SME และสตาร์ทอัพ เพื่อเป็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ การมีเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็งจากความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นการดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้ามาเช่าพื้นที่เป็น Private Office หรือใช้งาน Co-working Space ที่ช่วยลดต้นทุนได้ รวมถึงการใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมธุรกิจต่างๆ ซึ่งนับเป็นบทบาทสำคัญของการเป็น Startup Ecosystem ของไทย
“เรามีผู้ประกอบการ SME และสตาร์ทอัพเข้ามาเช่าพื้นที่หรือเป็นสมาชิกอยู่หลายรายตามสาขาต่างๆ ซึ่งพวกเขาก็ได้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกได้ครบครัน ช่วยในการดำเนินงานได้ รวมถึงมีการจัดพื้นที่ทำ Event รองรับคนได้จำนวนหนึ่ง ล่าสุดก็มีจัดพื้นที่สำหรับทำ Business Deal ให้กับสตาร์ทอัพได้สำเร็จไปอีกหนึ่งราย” หัวหน้าสายงานทรูสเปซกล่าว
การปรับตัวในยุคของการเปลี่ยนแปลง
ท่ามกลางความต้องการเช่าพื้นที่สำนักงานแบบดั้งเดิมลดลง เนื่องจากรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป เช่น การทำงานแบบรีโมตและไฮบริด รวมถึงเทรนด์ของ Co-working space ที่มีการแข่งขันเพิ่มขึ้นทั้งจากคาเฟ่และศูนย์การค้า แต่ True Space ยังคงสามารถปรับตัวและเติบโตได้อย่างมั่นคง ด้วยจุดเด่นและกลยุทธ์ดังต่อไปนี้
· Flexible Work Solutions: มีพื้นที่ทำงานที่ออกแบบมาอย่างทันสมัย รองรับการทำงานที่ยืดหยุ่นหลากหลายรูปแบบ
· Community Building: จัดกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับนักศึกษาและผู้ประกอบการ พร้อมกับสร้างคอมมูนิตี้ที่เชื่อมโยงพาร์ตเนอร์และผู้ใช้บริการไว้อย่างแข็งแกร่ง
· Exclusive Discounts and Member Benefits: สมาชิกจะได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น ส่วนลดบริการในเครือ True ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับการเป็นสมาชิก และสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ครบครัน
“เชื่อไหมว่า ชั้นสองของ True Space สาขาอโศกตรงนี้ทั้งหมด เคยเป็นแผนกคอลเซ็นเตอร์ให้กับสายการบินระดับโลกแห่งหนึ่ง” นวลพรรณ เริ่มเล่าถึงจุดเด่นของพื้นที่แห่งนี้
“ช่วงที่สายการบินแห่งนี้มีการปรับปรุงสำนักงานและมาเช่าพื้นที่ของเรา เราก็สามารถจัดเป็นพื้นที่ทำงานได้อย่างตอบโจทย์ ต่อมาจึงกลายมาเป็นลูกค้าประจำ ในขณะเดียวกันพื้นที่เดียวกันนี้ก็เคยปรับให้เป็นงาน Event หรืองานเลี้ยง ซึ่งเราจัดให้ได้ วางแพลนโต๊ะเก้าอี้กันใหม่ พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีที่เรามีพร้อม นี่คือจุดเด่นของ True Space ที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก และตอบโจทย์ความต้องการได้เสมอ” เธอเน้นย้ำทิ้งท้าย
Spacely AI สตาร์ทอัพแพลตฟอร์มที่นำ Generative AI มาช่วยในการออกแบบสถาปัตยกรรมภายในที่ได้รับการลงทุนระดับ Pre-Seed จาก SCB 10X บริษัทภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (SCBX Group) ซึ่งเป็นการสนับสนุนเป้าหมายของ Spacely AI ที่ต้องการสร้างโอกาสในการออกแบบให้กับทุกคน และมุ่งหวังเป็นแพลตฟอร์มหลักในอุตสาหกรรมการออกแบบเชิงพื้นที่ สอดรับกับยุทธศาสตร์ของกลุ่ม SCBX ในการมุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนาด้านเทคโนโลยี AI เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
นางมุขยา (ใต้) พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และ Chief Venture and Investment Officer บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB 10X) กล่าวว่า "SCB 10X มีความภูมิใจที่ได้สนับสนุน Spacely AI เพื่อปลดล็อกความสามารถในการออกแบบด้วยความก้าวหน้าของ visual-based generative AI และเพื่อต่อยอดความคิดสร้างสรรค์แก่นักออกแบบให้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาของเทคโนโลยีนี้ โดย SCB 10X ร่วมสนับสนุน Spacely AI ทั้งด้านกลยุทธ์และการพัฒนาให้แก่แพลตฟอร์ม รวมถึงความพยายามในการผลักดัน Spacely AI ไปสู่วงการการออกแบบทั่วโลก"
นายพารวย อันอดิเรกกุล Chief Executive Officer Spacely AI กล่าวว่า "การสนับสนุนจาก SCB 10X ไม่ได้เป็นเพียงแค่การลงทุนทางธุรกิจ แต่เป็นความร่วมมือที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเราในการพัฒนาวงการการออกแบบเชิงพื้นที่ และยังเน้นย้ำถึงความเชื่อร่วมกันในศักยภาพของ Generative AI ในการเปลี่ยนแแปลงมาตรฐานของการออกแบบระดับโลก"
Spacely AI กำลังขยายฐานผู้ใช้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้กว่า 170 ประเทศทั่วโลก และยังได้รับการยอมรับจากสตาร์ทอัพคอมมูนิตี้ระดับสากล จากการชนะรางวัลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากรายการ “LabLab Stable Diffusion Hackathon 2023” ซึ่งมีผู้เข้าแข่งขันกว่า 2,600+ ทีมทั่วโลก และได้รางวัลรองอันดับ 2 จากรายการ “Tech in Asia 2023 Regional Startup Competition” ซึ่งมีผู้เข้าแข่งขันกว่า 200 ทีม
Spacely AI ได้สร้างผลงานด้วยระบบ AI ไปแล้วมากกว่า 1,000,000 รูป มีผู้ใช้กว่า 120,000 คนทั่วโลก และยังมีการพัฒนาฟีเจอร์การใช้งานอย่างต่อเนื่องกว่า 12 รายการ มีธีมห้องให้ผู้ใช้เลือกใช้กว่า 100 สไตล์ พร้อมรูปแบบห้องและพื้นที่มากกว่า 100 ประเภท ตั้งแต่ภายในไปจนถึงภายนอกอาคาร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านการออกแบบเชิงพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน Spacely AI มีการร่วมมือกับบริษัทชั้นนำที่มีชื่อเสียงด้านการตกแต่งบ้านและอสังหาริมทรัพย์อย่าง Index Living Mall และ Proud Real Estate ซึ่งเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของ Spacely AI
ด้าน นายเอกลักษณ์ ปัทมสัตยาสนธิ Senior Vice President Business Development YOUNIQUE & The Walk Line ผู้ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เปิดเผยว่า "ในการเลือกใช้เทคโนโลยีของ Spacely AI ทาง Index Living Mall มุ่งหวังที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ เพิ่มความสามารถในการทำงานให้แก่นักออกแบบ และยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดีมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ Spacely AI สามารถลดเวลาในกระบวนการออกแบบและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของดีไซน์เนอร์ นี่จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในความมุ่งมั่นของเราที่จะเป็นเลิศในด้านการบริการและการเติบโตทางธุรกิจ"
“ความร่วมมือระหว่าง Spacely AI ถือเป็นส่วนช่วยในการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ พร้อมสะท้อนความพิเศษที่มากกว่าของแบรนด์และโครงการของพราวได้เป็นอย่างดี โดยตลอด Customer Journey ลูกค้าจะสามารถต่อยอดไอเดียการออกแบบบนพื้นที่ภายในโครงการให้เป็นพื้นที่เสมือนจริงของตัวเองได้ด้วย AI” กล่าวโดย นายพสุ ลิปตพัลลภ Director Proud Real Estate ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในประเทศไทย
Spacely AI เปิดตัว Enterprise API ตัวใหม่สำหรับองค์กรและ SME ในอุตสาหกรรมการออกแบบ และที่อยู่อาศัย:
Enterprise API ช่วยส่งเสริมประสบการณ์การขาย และสร้างผลตอบรับให้กับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพใน 4 ด้าน:
นายพารวย อันอดิเรกกุล Chief Executive Officer Spacely AI กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเปิดตัว Enterprise API เป็นก้าวที่สำคัญสู่อุตสาหกรรมการออกแบบและเฟอร์นิเจอร์ แต่สิ่งนี้เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น Spacely AI มุ่งมั่นที่จะพัฒนาความสามารถของ Generative AI เพื่อให้ครอบคลุมและตอบโจทย์ทุกปัญหาของการออกแบบเชิงพื้นที่ พร้อมทั้งผลักดันขอบเขตของความคิดสร้างสรรค์ในโลกแห่งการออกแบบต่อไป”
มาเป็นส่วนหนึ่งกับ Spacely AI ในการยกระดับอุตสาหกรรมการออกแบบและค้นพบศักยภาพสูงสุดของ Generative AI ในการเปลี่ยนแปลงโลก และยกระดับมาตรฐานของการออกแบบ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรและเสริมความเป็นผู้นำในวงการธุรกิจของคุณ สามารถใช้ Spacely AI ได้แล้ววันนี้ที่ www.spacely.ai
บริษัทสตาร์ทอัพมักเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์นวัตกรรมมาโดยตลอด โดยเฉพาะในยุคของ Generative AI บริษัทเหล่านี้มีความพร้อมในการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าและการทำงานของเราอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ข้อมูลจาก PitchBook data เผยว่านักลงทุนทั่วโลกที่มองเห็นคุณค่าและศักยภาพของสตาร์ทอัพในด้าน Generative AI ได้ลงทุนไปแล้วกว่า 21.4 พันล้านเหรียญสหรัฐตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2566 ไปจนถึง 30 กันยายน 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2565 เป็นจำนวน 5.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปัจจุบันมีสตาร์ทอัพด้าน Generative AI มากกว่า 5,000 รายที่กำลังสร้างโซลูชันบน AWS สตาร์ทอัพรายย่อยเหล่านี้มีความคล่องตัวสูงและมีศักยภาพที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมด้วยแนวคิดใหม่ ๆ บวกกับการพัฒนาโซลูชันที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ และการนำเสนอวิธีการใหม่ ๆ โดยนำ AI มาใช้งาน ความสำเร็จของสตาร์ทอัพเหล่านี้เป็นที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงความท้าทายในการเป็นผู้บุกเบิกของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
AI ที่เข้าใจบริบททางวัฒนธรรม
เทคโนโลยี Generative AI ได้ดึงดูดความสนใจผู้คนมาแล้วทั่วโลก ด้วยความสามารถในการเรียนรู้และนำไปใช้จากโมเดลพื้นฐาน (Foundation Models: FMs) ซึ่งได้ถูกเทรนล่วงหน้าด้วยข้อมูลปริมาณมหาศาล อย่างไรก็ตาม คุณภาพของโมเดลขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้ถูกนำมาใช้เทรน ตัวอย่างเช่น เมื่อโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Models: LLMs) ที่ได้ถูกเทรนล่วงหน้าด้วยข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษ หากถูกนำมาใช้งานเพื่อตอบคำถามในภาษาอื่น ๆ อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดหรือการตีความที่ผิดได้
สิ่งต่างๆนี้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีประชากรที่พูดภาษาต่าง ๆ กว่า 2,300 ภาษา เพื่อที่จะรองรับวิธีการทำงาน วัฒนธรรม และภาษาที่หลากหลายของภูมิภาคนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเทรน LLM ด้วยข้อมูลที่มีความหลายหลายทางวัฒนธรรม เพื่อให้ AI เข้าใจแง่มุมที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับประสบการณ์ของมนุษย์ และสามารถเข้าใจความซับซ้อนทางสังคมได้ การสร้าง AI ที่สามารถรับรู้วัฒนธรรมของมนุษย์ในแต่ละท้องถิ่นมากขึ้นนั้น จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยี AI ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อประเทศ ชุมชน และประชากรรุ่นต่อ ๆ ไปอีกด้วย
สตาร์ทอัพเป็นผู้นำในการเทรนโมเดลด้วยข้อมูลที่มีความเจาะจงในแต่ละท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในรูปแบบข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอ และอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น Botnoi Voice ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานของ AWS ในการสร้าง AI Bot ที่สามารถอ่านออกเสียงข้อความภาษาไทยด้วยเสียงสังเคราะห์ใหม่ ๆ ที่หลากหลาย ได้อย่างชัดเจนและเป็นธรรมชาติ แบรนด์ต่าง ๆ สามารถใช้ประโยชน์จากบริการของ
Botnoi Voice ได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่ไปยังเว็บไซต์ของ Botnoi Voice และอัปโหลดข้อความต้นฉบับ ก็จะสามารถดาวน์โหลดไฟล์เสียงที่มีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องสมัครสมาชิก สิ่งนี้จะช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาไปจนถึงสื่อ (media) เพื่อให้แบรนด์ต่าง ๆ สามารถนำเสนอประสบการณ์ที่เหนือชั้นให้แก่ลูกค้าของตนได้
การสร้างนวัตกรรมในหลากหลายอุตสาหกรรม
สตาร์ทอัพมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้าน Generative AI ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางเฟรมเวิร์คพื้นฐานด้วย (Foundation Model: FM) ไปจนถึงการพัฒนาการใช้งานจริง ปัจจุบันสตาร์ทอัพที่ใช้ Generative AI ในพลิกโฉมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่น อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ บริการทางการเงิน สื่อและความบันเทิง การศึกษา และเกม Generative AI ยังคงปฏิวัติวิธีการดำเนินงานของธุรกิจและองค์กรทุกขนาดต่อไปเรื่อย ๆ โดยการพัฒนาระบบทำงานอัตโนมัติ ปรับปรุงกระบวนการวางแผนทางธุรกิจ และดัดแปลงประสบการณ์ผู้ใช้ให้เหมาะกับแต่ละบุคคล
ในแวดวงการแพทย์ เครื่องมือการฝึกอบรมที่ได้รับความช่วยเหลือจาก AI สามารถสร้างรูปแบบการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรทางการแพทย์เฉพาะบุคคลและเป็น real time เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีอยู่ในปัจจุบัน SimConverse สตาร์ทอัพจากออสเตรเลียใช้ Generative AI เพื่อจำลองสถานการณ์จริง ในการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์กว่า 300,000 คน จากองค์กรกว่า 150 แห่งในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ บริษัท SimConverse ใช้บริการประมวลผลของ Amazon เพื่อเทรนโมเดล AI ของตนในสถานการณ์จำลองกว่า 1,000 รูปแบบ ตั้งแต่การสื่อสารเบื้องต้น เช่น การกรอกประวัติทางการแพทย์ ไปจนถึงสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนทางภาษา เช่น การพูดเพื่อลดความรุนแรงของสถานการณ์ และการแจ้งข่าวร้ายให้แก่ญาติครอบครัว
อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเทคโนโลยี AI คือธุรกิจสื่อและความบันเทิง ซึ่งบริษัทต่าง ๆ ได้นำ Generative AI มาช่วยในด้านการผลิตเนื้อหาใหม่ ๆ แบบอัตโนมัติ ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต Toonsquare สตาร์ทอัพจากเกาหลีใต้ ได้บุกเบิกนวัตกรรมในวงการเว็บตูนด้วยเครื่องมือสร้างเว็บตูนสุดล้ำสมัยที่ขับเคลื่อนด้วย AI ชื่อว่า Tooning ซึ่งอยู่บน AWS เครื่องมือ Tooning ช่วยให้งานที่ก่อนหน้านี้ใช้เวลาถึง 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สามารถเสร็จสิ้นได้ภายในเวลาเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น
ขยายการเข้าถึง AI
สตาร์ทอัพมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิวัติเทคโนโลยี AI อย่างปฏิเสธไม่ได้ตั้งแต่เริ่มแรกไปจนถึงการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในขณะที่สตาร์ทอัพยังคงขับเคลื่อนนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง พวกเขายังเผชิญกับ
อุปสรรคสำคัญซึ่งรวมถึงข้อจำกัดด้านทรัพยากร ความซับซ้อนด้านจริยธรรมและกฎระเบียบ อุปสรรคในการนำมาปรับใช้งาน รวมไปถึงการขาดผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค
ในการเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ สตาร์ทอัพจำเป็นต้องมีเครื่องมือและสามารถเข้าถึงทรัพยากรระบบคลาวด์ที่จะทำให้พวกเขามีข้อได้เปรียบในการแข่งขันได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ AWS ได้เปิดตัวเทคโนโลยีในทุกเลเยอร์ของ “สแต็ก” Generative AI เพื่อให้สามารถสร้าง เทรน และขยาย Generative AI ของตนได้ง่ายยิ่งขึ้น ถูกลง และสะดวกเร็วขึ้น ในเลเยอร์ล่างสุดของโครงสร้างพื้นฐาน (bottom layer) เรามีการผลักดันประสิทธิภาพต่อราคาของ MLChips รุ่นใหม่ที่ออกแบบโดย AWS เช่น Trainium2 ซึ่งมีความสามารถเพิ่มความเร็วในการเทรนโมเดลบน Amazon SageMaker
สำหรับสตาร์ทอัพที่สนใจทดลองใช้โมเดลที่มีอยู่ ในส่วนของเลเยอร์ระดับกลาง (middle layer) ซึ่งเป็นเลเยอร์เครื่องมือ โดยการเรียกใช้ Amazon Bedrock ต่อกับโมเดลชั้นนำต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบ และสามารถปรับแต่งได้ มีเอเจนต์ให้ใช้งาน และมีความปลอดภัยกับความเป็นส่วนตัว ใช้งานในระดับองค์กรใหญ่ได้ ทั้งหมดนี้ผู้ใช้จะได้รับประสบการณ์ที่มีการจัดการอย่างเต็มรูปแบบ (Fully managed) ในเลเยอร์บนสุด (top layer) ซึ่งเป็นเลเยอร์แอปพลิเคชัน สตาร์ทอัพสามารถใช้แอปพลิเคชันอย่างเช่น Amazon Q ซึ่งทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยรูปแบบใหม่ ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี Generative AI ออกแบบมาสำหรับการทำงานโดยเฉพาะและสามารถปรับให้เข้ากับธุรกิจของลูกค้าได้ อีกหนึ่งแอปพลิเคชันคือ Amazon CodeWhisperer ซึ่งเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย AI เหมาะสำหรับการเขียนโปรแกรมแบบรวม (Integrated Development Environment: IDE) และ command line นอกจากนี้ AWS ยังช่วยอุดช่องว่างในด้านทักษะ AI สำหรับสตาร์ทอัพด้วยการจัดโปรแกรมการฝึกอบรมฟรีด้าน AI ทั่วทุกภูมิภาคอีกด้วย
ความยืดหยุ่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรม
แม้ว่าการสร้างสรรค์ Generative AI จะเป็นก้าวแรกของการปฏิวัติ แต่การก้าวไปสู่ระดับโลกก็มีความสำคัญไม่แพ้กันในการผลักดันให้เกิดการยอมรับอย่างกว้างขวาง และการนำ Generative AI ที่ขับเคลื่อนโดยสตาร์ทอัพมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ Yellow. AI เป็นสตาร์ทอัพในอินเดียซึ่งเป็นผู้ให้บริการโซลูชันชั้นนำด้าน AI ในการสนทนา และวางขาย Generative AI Solution อยู่บน AWS Marketplace ที่เป็นแค็ตตาล็อกดิจิทัลที่มีลูกค้าสมัครใช้งานกว่า 330,000 ราย ปัจจุบัน Yellow.AI ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศอินเดียจัดการการสนทนามากกว่า 12 พันล้านบทสนทนาในกว่า 85 ประเทศต่อปี
ในขณะที่สตาร์ทอัพทั่วเอเชียแปซิฟิกยังคงผลักดันขีดจำกัดในการสร้างสรรค์ ดัดแปลง และปรับขนาด FM และแอปพลิเคชัน Generative AI ของตนเอง พวกเขาจำเป็นต้องเข้าถึงเครื่องมือในการทำ ML การสนับสนุน โครงสร้างพื้นฐาน และโปรแกรมต่าง ๆ ที่คุ้มราคาและคุ้มค่าที่สุด เช่น AWS Activate เพื่อสร้าง AI ที่เข้าใจ
บริบททางวัฒนธรรมของมนุษย์ได้ เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนสตาร์ทอัพเหล่านี้ เพื่อช่วยเร่งการพัฒนาและการนำเทคโนโลยี Generative AI มาประยุกต์ใช้ สำหรับโลกในอนาคตที่มี AI เป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างมุมมองใหม่ ๆ และโซลูชันอันสร้างสรรค์ที่จะขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้กับพวกเราทุกคน
“กรุงศรี ฟินโนเวต” เผยผลการดำเนินงานตลอด 12 เดือนของปี 2023 ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จสามารถ deploy capital ได้มากถึง 75% จากแผนงานเป้าการลงทุนตามที่ได้ตั้งเป้าไว้ และปี 2024 พร้อมทะยานอย่างต่อเนื่อง วางกลยุทธ์เสริมแกร่งครบ 360 องศา เพื่อที่จะนำพาสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตมากที่สุดอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน
“คุณแซม ตันสกุล” MD, Krungsri Finnovate ที่มีประสบการณ์ ในแวดวงธนาคารมานานกว่า 20 ปี เผยว่า “ปี 2023 นั้น Krungsri Finnovate ได้ลงทุนในสตาร์ทอัพเรื่อยมา พร้อมกับเปิด Finnoventure Fund กองทุนสตาร์ทอัพของไทยที่เปิดให้นักลงทุนรายย่อยเข้ามาร่วมลงทุนได้ บนความตั้งใจที่ต้องการสร้างไทยสตาร์ทอัพให้เป็น “ยูนิคอร์น” เพราะหมายความว่าเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดันเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น ถึงแม้ว่าในปี 2023 กลุ่มสตาร์ทอัพ ในไทยอาจดูเงียบเหงา เนื่องจากเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลง แต่ “Krungsri Finnovate” ก็ไม่ได้หยุดการลงทุน โดยปีที่ผ่านมา (รวมทั้งปี2022 และ 2023) เราได้ลงทุนไปแล้วประมาณ 1,200 ล้านบาท ใน 14 กิจการสตาร์ทอัพจากกองทุนที่ชื่อว่า “Finnoventure Private Equity Trust 1” นอกจากนี้ต้นปีที่ผ่านมาได้เปิด Accelerator ที่ชื่อว่า Krungsri Upcelerator ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยรับสตาร์ทอัพจากภาคเหนือเข้ามาร่วมบ่มเพาะด้วยกัน”
“เช่นเดียวกัน ปี 2023 “Krungsri Finnovate” ก็ถือว่าเป็นหน่วยงาน CVC ที่ได้รับความน่าเชื่อถือ จนหลายองค์กรต่างมอบรางวัลให้กับเรา ผมขอเป็นตัวแทน ขอขอบคุณมากๆ ที่เห็นความตั้งใจของทีมงาน ไม่ว่าจะเป็นรางวัลจาก Digital Banking, หรือว่า Innovation Awards ได้โอกาสพูดบนเวทีของสื่อระดับประเทศอย่าง The People เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ภายใต้บริบทของ “Game Changer” ภูมิใจมากที่เราได้รับโอกาสเป็นองค์กร Game Changer ของประเทศไทย ที่จะสร้าง Startup ของประเทศไทย ให้เป็น Unicorn แล้วก็เข้าสู่ IPO และล่าสุดกับการได้รับการคัดเลือกส่งท้ายปีของ Chosen by The People 2023 หมวดเทคโนโลยี ถือเป็นกำลังใจให้พวกเราตั้งใจมากยิ่งขึ้นไปครับ”
นอกจากนี้ “คุณแซม ตันสกุล” MD, Krungsri Finnovate ยังได้เผยถึงแผนงานปี 2024 ว่า “ปี 2024 เรายังคงให้ความสำคัญกับ IMPACT และ Digital Transformation เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพตัวเล็กๆ ที่จะทำร่วมกับ "คุณป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ" เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพเติบโตและประสบความสำเร็จด้วยการสร้างความยั่งยืน พัฒนาเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเตรียมเปิดกองทุนใหม่ที่ชื่อว่า “Finno Efra Fund” เพื่อระดมทุน ระดมเงินเข้ามา เพื่อที่จะลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพที่อยู่ใน Early Stage ตั้งแต่ Seed จนถึง Pre-Series A โดยโฟกัสไปที่กิจการในไทยก่อนเป็นหลัก และอาจรวมถึงเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้นด้วย นอกจากนี้ “Krungsri Finnovate” ยังมี FINNOVERSE & FUTURISTIC FUND ที่จะลงทุนสูงสุด 6 รายการ ในที่นี้เป็น 3 การลงทุนใหม่ สร้าง ESG ที่เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งมาจาก Environment, Social, และ Governance และสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยีรักษ์โลกที่น่าจับตามองที่สุดในตอนนี้ ในเชิงกลยุทธ์ไปสู่ AI และความปลอดภัยทางไซเบอร์”
“นอกจากเปิดกองทุนแล้ว ก็จะเปิด Accelerator ที่ชื่อว่า “Finno Efra Accelerator” เพื่อให้สตาร์ทอัพเหล่านี้ มาบ่มเพาะในโปรแกรมของเรา และก็ได้รับเงินทุนเช่นเดียวกัน โดยมีเป้าหมายจะลงทุนทั้งหมดถึง 50 กิจการสตาร์ทอัพ เพื่อให้เติบโต จาก Early Stage เข้าสู่ Series A ถัดไป ซึ่ง Series A จะมีกองทุนแม่ในการรับเข้าไปลงทุนต่อ”
“สำหรับ Accelerator ปีหน้า เราจะมีอย่างน้อย 10 สตาร์ทอัพ ที่จะได้เข้าร่วมในกิจกรรม Accelerator ที่ชื่อว่า “Finno Efra Accelerator” และเมื่อผ่านโรงเรียนนี้ไปเรียบร้อยแล้ว ก็มีสิทธิ์มากที่จะได้รับการลงทุนต่อในกองทุนนี้ โดยจะสอนเป็นเวลา 4 เดือน มีเมนเทอร์ โดยเลือกสตาร์ทอัพเข้าทีม และจะเริ่มการสอนตั้งแต่เรื่อง mindset และการจะเป็นผู้ประกอบการต้องทำอย่างไรบ้าง ให้ลงตลาดจริง สอนเรื่องการพัฒนาโปรดักส์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
“แน่นอนสำหรับสตาร์ทอัพ ตอนนี้เตรียมตัวได้เลย ถ้าท่านอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า Seed Stage ถึง Pre-Series A ก็คือเริ่มมี Traction แล้ว เริ่มขายของได้แล้ว แล้วก็อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า Digital Transformation หรือกลุ่ม Impact ไม่ว่าจะเป็น Tech อะไรก็แล้วแต่ สามารถเตรียมตัว เตรียมความพร้อมที่จะสมัคร ติดตามพวกเราได้ใน Facebook: Krungsri Finnovate และติดตามเรื่องการสมัครได้ภายในต้นปี โดย “Krungsri Finnovate” หวังว่าจะได้รับการตอบรับอย่างมากมาย และแน่นอนผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่ 10 ทีมสุดท้าย และสามารถจบ Accelerator อย่างสวยงาม ก็จะได้รับเงินลงทุนจากกองทุน Finno Efra Fund เช่นเดียวกัน”
“สุดท้ายแล้ว “Krungsri Finnovate” ยังมีแผนกลยุทธ์ในปี 2024 เกี่ยวกับ ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ และนักลงทุนสัมพันธ์ (Strategic Partnership & Investor Relations) เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำในภูมิภาค โดยมี
สตาร์ทอัพกว่า 150 โครงการ และสร้าง 1 เมกะโปรเจ็กต์ กิจการร่วมค้า (Joint Venture) และ New Business Model โดยพร้อมเทหมดหน้าตักลงทุนอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท” คุณแซม ตันสกุล ปิดท้าย