เคทีซีและกลุ่มบริษัทเผยปี 2567 ทำกำไรสุทธิ 7,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% จากปี 2566 ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตสูงกว่าอุตสาหกรรม พอร์ตสินเชื่อรวมมีมูลค่า 111,162 ล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL Ratio) อยู่ที่ 1.95% พร้อมเดินหน้าสู่องค์กรดิจิทัลด้วยการปรับโครงสร้างระบบไอที เสริมประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์และบริการ ควบคู่พัฒนาบุคลากรทำงานร่วมกับเทคโนโลยีดิจิทัล และบริหารคุณภาพพอร์ตสินเชื่อตลอดกระบวนการ (end to end) เติบโตด้วยความรับผิดชอบและเป็นธรรม อีกทั้งสานต่อมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในหลายมิติ
นางพิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมว่า “แม้ว่าภาพรวมธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคจะชะลอตัวลง จากสภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายและสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การดำเนินธุรกิจของเคทีซีในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-พฤศจิกายน 2567) ยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยสัดส่วนปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 13.0% เพิ่มขึ้นจาก 12.1% ในขณะที่สัดส่วนลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมอยู่ที่ 15.0% จาก 14.7% และสัดส่วนของลูกหนี้สินเชื่อบุคคล (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน) เทียบกับอุตสาหกรรมอยู่ที่ 6.6% จาก 6.3%”
“เคทีซีและกลุ่มบริษัทยังคงสร้างผลกำไรในปี 2567 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 7,437 ล้านบาท ขณะที่พอร์ตสินเชื่อรวมมีมูลค่า 111,162 ล้านบาท ลดลง 1.1% ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทยังคงเน้นการเติบโตมูลค่าพอร์ตควบคู่ไปกับการคัดกรองคุณภาพภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยพอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตหดตัว 0.7% เป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่มีส่วนให้ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำ ขณะที่พอร์ตสินเชื่อบุคคลขยายตัวที่ 1.1% จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” สำหรับ NPL Ratio อยู่ในระดับต่ำที่ 1.95% บรรลุตามกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ ≤ 2% อัตราการขยายตัวของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 2567 อยู่ที่ 10.1% โตกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม เป็นผลจากการจัดกิจกรรมการตลาดที่ตอบโจทย์ความต้องการสมาชิก”
บริษัทมีฐานสมาชิกรวม 3,488,156 บัญชี โดยแบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,799,301 บัตร เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 73,954 ล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 2567 เท่ากับ 292,146 ล้านบาท NPL Ratio บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.25% พอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคลรวม 688,855 บัญชี คิดเป็นเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคล และดอกเบี้ยค้างรับรวม 35,096 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นยอดเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เท่ากับ 3,015 ล้านบาท NPL Ratio สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.46% สำหรับสินเชื่อลูกหนี้ตามสัญญาเช่ามูลค่า 2,112 ล้านบาท โดยเคทีซีได้หยุดการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ปัจจุบันมุ่งเน้นการติดตามหนี้และบริหารจัดการคุณภาพพอร์ตสินเชื่อที่มีอยู่
ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทเคทีซีสำหรับปี 2567 มีรายได้รวมเท่ากับ 27,456 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.0% จากปี 2566 จากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียม รวมถึงหนี้สูญได้รับคืนที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 18,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.9% จากค่าใช้จ่ายในการบริหาร โดยหลักๆ เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมจ่ายที่สูงขึ้นตามปริมาณธุรกรรมที่ขยายตัว สำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) เพิ่มขึ้น 14.7% จากปี 2566 เป็นผลจากการตัดหนี้สูญที่เร็วขึ้นตามนโยบายการตัดหนี้สูญใหม่ และการตั้งสำรองสูงขึ้นตามหลักความระมัดระวัง นอกจากนี้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นเป็น 2.8% จาก 2.6% ในปี 2566 เนื่องจากมีหุ้นกู้บางส่วนครบกำหนดและ เคทีซีมีการออกหุ้นกู้ใหม่ด้วยอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้นกว่าในอดีต เป็นผลให้ค่าใช้จ่ายทางการเงินเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลตอบแทนเงินให้สินเชื่อสำหรับปี 2567 อยู่ที่ 14.5% ลดลงเล็กน้อยจากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 14.8% ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิปี 2567 เท่ากับ 12.9% ลดลงจากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 13.2%
ในส่วนของแหล่งเงินทุน ข้อมูลเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 กลุ่มบริษัทมีเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 62,336 ล้านบาท (รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) แบ่งสัดส่วนโครงสร้างแหล่งเงินทุนเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น (รวมส่วนของเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปี) 37% และเงินกู้ยืมระยะยาว 63% โดยแบ่งเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นจากธนาคารกรุงไทยและบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน จำนวน 5,119 ล้านบาท สถาบันการเงินอื่น 5,000 ล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารกรุงไทย 9,500 ล้านบาท และหุ้นกู้จำนวน 42,290 ล้านบาท อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 1.78 เท่า ลดลงเมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 2.15 เท่า ต่ำกว่าภาระผูกพัน (Debt Covenants) ซึ่งกำหนดไว้ที่ 10 เท่า
เคทีซียังคงมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ตามประกาศของ ธปท. ที่ สกช. 7/2566 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending: RL) โดยบริษัทจะพิจารณาให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และไม่ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากภาระหนี้เดิมเกินสมควร รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก www.ktc.co.th/about/news/meaure สำหรับการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง ( Severe Persistent Debt: SPD) ตลอดปี 2567 คิดเป็นช่วงเวลา 9 เดือน นับตั้งแต่เกณฑ์ SPD มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2567 และในเดือนสิงหาคม 2567 ธปท.ได้ออกข่าวว่า จะมีการขยายระยะเวลาการปิดจบหนี้จากภายในระยะเวลา 5 ปี เป็น 7 ปี เพื่อลดภาระค่างวดต่อเดือน ทั้งนี้ ต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการเพื่อสรุปรายละเอียดเงื่อนไข โดยในปี 2567 เคทีซีมีลูกหนี้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ คิดเป็นผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยจริงลดลงไปประมาณ 300,000 บาทต่อเดือน โดยคำนวณจากลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์และเข้าร่วมโครงการ
เนื่องจากเคทีซีเป็นผู้ประกอบธุรกิจ Non-Bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จึงเป็นหนึ่งในบริษัทที่ให้ความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้ชื่อโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” โดยสมาชิกสามารถลงทะเบียนผ่าน www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 – 28 กุมภาพันธ์ 2568 นอกจากนี้ สมาชิกบัตรเครดิตเคทีซียังมีสิทธิ์ร่วมมาตรการลดภาระทางการเงิน โดยการรับเครดิตดอกเบี้ยคืนเข้าบัญชีบัตรเครดิตของลูกหนี้ สำหรับสมาชิกบัตรที่ชำระหนี้ขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับ 8% ของยอดเงินที่เรียกเก็บภายในวันครบกำหนดชำระตามใบแจ้งยอดค่าใช้จ่าย ภายในระยะเวลาของมาตรการฯ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2568 – 31 ธันวาคม 2568 โดยสามารถศึกษารายละเอียดของมาตรการนี้ผ่านลิงค์ www.ktc.co.th/financial-relief-credit
นางพิทยากล่าวว่า “การดำเนินความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการต่างๆ ข้างต้น เคทีซีพิจารณาแล้วคาดว่าจะไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในภาพรวม สำหรับปี 2568 เคทีซีตั้งเป้ายกระดับองค์กรสู่ดิจิทัลอย่างยั่งยืน ภายใต้แผนกลยุทธ์ “Building a Sustainable Future Through Digital Transformation” ด้วยการเสริมประสิทธิภาพระบบไอทีและโครงสร้างการทำงานเชิงลึกระหว่างคนกับเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิกในหลากหลายมิติ ควบคู่กับการบริหารพอร์ตสินเชื่อรวมให้เติบโต ภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ใน 3 ธุรกิจหลักคือ บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” และสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพราะยังเห็นโอกาสเติบโตจากความต้องการสินเชื่อแต่ละประเภทของผู้บริโภค และที่สำคัญคือการดำเนินธุรกิจให้มีผลกำไรเติบโตต่อเนื่อง บริหารจัดการพอร์ตสินเชื่อคุณภาพให้ขยายตัวมากขึ้น ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้อย่างเหมาะสม โดยเคทีซีคาดว่าในปี 2568 ปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะเติบโต 10% พอร์ตสินเชื่อรวมเติบโตประมาณ 4-5% พอร์ตสินเชื่อ “เคทีซี พราว” เติบโต 3% มูลค่าสินเชื่อใหม่ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เท่ากับ 3,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากในปี 2568 เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง เคทีซีเชื่อว่าธุรกิจจะสามารถเติบโตได้ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้”
RackCorp และ Treasure Hub ผู้ให้บริการคลาวด์ชั้นนำระดับโลก ได้จัดงานเปิดตัว RackCorp.ai แพลตฟอร์มปัญญา ประดิษฐ์แบบ Sovereign AI อย่างเป็นทางการ ครั้งแรกในประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญในวงการเทคโนโลยีของประเทศไทย
งานเปิดตัว RackCorp.ai ครั้งนี้ ได้จัดบรรยายรูปแบบสัมมนาเพื่อการเรียนรู้เทคโนโลยี AI ในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้องค์กรก้าวสู่การเติบโตที่ยั่งยืน และปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ คุณลอเรนซ์ ไมเคิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RackCorp คุณธภัทร ยุวบูรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Treasure Hub ตัวแทน RackCorp.ai ประเทศไทย คุณพรหมินทร์ (ลัคกี้) ซิงห์ ผู้อำนวยการพันธมิตร RackCorp คุณเพรม นาไรน์ดาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Katonic AI คุณจอร์จ ดรากาสซิส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี Hitachi Vantara คุณ Shankar Raghavan ผู้อำนวยการอาวุโส Hewlett Packard Enterprise (HPE) และวิทยากรพิเศษจาก NVIDIA โดยผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเป็นอธิปไตยด้านข้อมูลและบทบาทของ AI รักษาความมั่นคงในอนาคตดิจิทัลของประเทศไทย รวมถึงการใช้งานในชีวิตจริงและจะเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาทุกธุรกิจที่ได้ใช้งาน
ลอเรนซ์ ไมเคิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RackCorp กล่าวว่า การเปิดตัวแพลตฟอร์ตปัญญาประดิษฐ์แบบ Sovereign AI ของ RackCorp ในประเทศไทย เป็นก้าวสำคัญทางเทคโนโลยีของประเทศ “เรามุ่งมั่นที่จะช่วยให้ธุรกิจไทยมีเครื่องมือที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัล พร้อมกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”
เพรม นาไรน์ดาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Katonic AI กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างเรากับ RackCorp ที่สร้างสรรค์โซลูชั่นปัญญาประดิษฐ์แบบ Sovereign AI อย่างครบวงจร ด้วยการนำฮาร์ดแวร์ล้ำสมัย ซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อนของ Katonic รวมกับบริการที่ปรับแต่งเพื่อสร้างระบบ AI ที่สมบูรณ์สำหรับธุรกิจไทย โดยยังคงรักษาความเป็นอธิปไตยและความปลอดภัยของข้อมูล “สิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาเฉพาะจุดเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีที่องค์กรต่างๆนำ AI มาใช้ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดภายในกรอบการทำงานที่มีความปลอดภัยและเป็นอธิปไตย”
คุณธภัทร ยุวบูรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Treasure Hub ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่าย RackCorp.ai ประเทศไทยกล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญสำหรับอุตสาหกรรม AI ในประเทศไทย ด้วย RackCorp.ai ไม่ได้แค่นำเสนอ AI ที่ล้ำสมัย แต่ยังทำให้มั่นใจว่าโซลูชั่นเหล่านี้สามารถปรับและนำมาใช้ให้เข้ากับความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อทำให้ธุรกิจไทยมั่นใจได้ต่อการใช้ประโยชน์จาก AI
คุณธภัทร กล่าวเพิ่มเติมถึงแพลตฟอร์ม RackCorp.ai ว่า เป็นความร่วมมือร่วมกันของบริษัทชั้นนำของโลก ได้แก่ RackCorp, Katonic AI, Hitachi Vantara, HPE, และ NVIDIA โดยมีเป้าหมายการพัฒนาแพลตฟอร์มให้ใช้งานได้ง่าย มีความปลอดภัยสูง และเป็นไปตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบของไทย เพื่อช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถนำ AI มาใช้ได้อย่างมั่นใจ ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูลหรือการพึ่งพารูปแบบ AI จากต่างประเทศ มั่นใจว่าข้อมูลจะถูกเก็บรักษาและดำเนินการภายในประเทศ ซึ่งเรามี Data Center ที่มี GPU ตั้งอยู่ในประเทศไทยถึง 2 แห่งอยู่ที่บางนาและอมตะนคร ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้งาน AI ได้อย่างปลอดภัย ข้อมูลสำคัญต่างๆจะไม่รั่วไหลหรือถูกส่งต่อไปยังที่อื่นโดยเราไม่รู้ตัว ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานที่มีความปลอดภัยสุงสุด เพื่อรักษาความมั่นคงและอธิปไตยทางระบบดิจิทัล โดยมีคุณสมบัติสำคัญ ได้แก่ ข้อมูลจะถูกเก็บไว้ภายในประเทศไทย, มีการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างครบถ้วน
เรามั่นใจว่า RackCorp.ai มีศักยภาพสร้างการเปลี่ยนแปลง พลิกโฉมอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการเติบโตของประเทศไทย เช่น เกษตรกรรม การผลิต การท่องเที่ยว เศรษฐกิจและสังคม ด้วย AI ที่ปรับแต่งให้เหมาะสมกับความต้องการ และยังสอดคล้องกับเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของประเทศไทย คาดหวังว่าการเปิดตัว RackCorp.ai จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมของหลายอุตสาหกรรมของไทย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศตามแผนพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 และผลักดันให้ประเทศไทยมีบทบาทเป็นผู้นำในเทคโนโลยี AI ในภูมิภาคอาเซียน ดึงดูดการลงทุนและบุคลากรคุณภาพจากทั่วโลก”
สำหรับการจัดงานครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงาน sign up เพื่อนัดหมายการทดลองใช้ระบบแพลตฟอร์ม RackCorp.ai และรับคำปรึกษาการนำ AI มาใช้ในองค์กรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือข้อผูกมัดใดๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงาน ทั้งที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้บริหารระดับสูงและตัวแทนจากหลากหลายบริษัท สำหรับผู้ที่พลาดงานดังกล่าว สามารถทดลองใช้ฟรีหรือขอคำปรึกษาได้เช่นกัน โดยสามารถนัดหมายได้ที่ treasurehub.ai
การ์ทเนอร์เผยการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์สำคัญของปี 2567 และถัดจากนั้น โดยได้สำรวจผลกระทบของ Generative AI (GenAI) ที่เปลี่ยนแนวคิดของผู้นำและผู้บริหารในทุกมิติ พร้อมกลยุทธ์การสร้างองค์กรที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้เพื่อพร้อมรับมือกับอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
แดริล พลัมเมอร์ รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “GenAI ให้โอกาสแก่เราในการบรรลุผลสำเร็จในสิ่งที่มนุษย์ไม่เคยทำได้มาก่อน โดย CIO และผู้บริหารอื่น ๆ ในองค์กรจะยอมรับความเสี่ยงของการนำ GenAI มาใช้เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน”
“ปีนี้เป็นปีเต็ม ๆ ปีแรกที่ GenAI เป็นหัวใจสำคัญของทุกการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนผ่านเทคโนโลยีอื่น ๆ โดย GenAI ยังทลายกรอบเดิม ๆ และสร้างความตื่นตัวต่ออุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ”
ในปี 2570 มูลค่าและประสิทธิภาพการสร้างสรรค์ผลงานจาก AI จะได้รับการยอมรับว่าเป็นปัจจัยบ่งชี้การเติบโตทางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ รัฐบาลหลายประเทศมีความมุ่งมั่นและกำลังจัดลำดับความสำคัญของกลยุทธ์และแผนงานด้าน AI โดยยอมรับว่า AI กลายเป็นเทคโนโลยีหลักของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งการรวม AI เข้าไว้ในการวางแผนระยะยาวระดับชาติกำลังได้รับแรงหนุนจากการออกกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมแนวคิดริเริ่มด้าน AI
“การนำ AI มาไว้ในแผนพัฒนาระดับชาติจะทำให้ AI นั้นมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นและกลายเป็นตัวเร่งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัล การนำ AI มาใช้ในโครงการขนาดใหญ่ให้ประสบความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายภาคส่วน แสดงให้เห็นถึงความสามารถของประเทศในการระดมสรรพกำลังและทรัพยากรต่าง ๆ” แดริล กล่าว
ในปี 2570 เครื่องมือ GenAI ต่าง ๆ จะถูกนำไปใช้เพื่ออธิบายการทำงานของแอปพลิเคชันทางธุรกิจแบบเดิมและทำงานทดแทนได้อย่างเหมาะสม ช่วยลดต้นทุนของการปรับให้ทันสมัยลงถึง 70%
“ประสิทธิภาพและความสามารถของโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ทำให้ CIO มีโอกาสค้นหากลไกที่น่าเชื่อถือและการปรับปรุงแอปพลิเคชันทางธุรกิจแบบเดิมให้ทันสมัยอย่างคุ้มค่า ผู้บริหาร CIO สามารถสร้างบททดสอบเฉพาะเพื่อทดสอบผลลัพธ์ที่สร้างโดย GenAI LLMs ในขณะเดียวกันการพัฒนาการจัดการการเปลี่ยนแปลงและพัฒนากระบวนการยกระดับทักษะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้พนักงานได้สูงสุดตลอดวงจรการปรับปรุงให้ทันสมัย”
ภายในปี 2571 องค์กรธุรกิจจะใช้เงินมากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปกับการรับมือกับข้อมูลอันตรายต่าง ๆ โดยเป็นการแบ่งงบประมาณการตลาดและความปลอดภัยทางไซเบอร์ 10% เพื่อสู้กับภัยคุกคามรอบด้าน
ข้อมูลที่สร้างความเสียหายเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อกลไกการตัดสินใจของมนุษย์และเครื่องจักร และอาจตรวจจับและปิดระบบได้ยากยิ่ง โดยข้อมูลนี้จัดเป็นภัยคุกคามการทำงานที่แตกต่างกันสามส่วนด้วยกันคือ งานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้านการตลาดและด้าน AI
“การเติบโตอย่างรวดเร็วของ GenAI ได้กระตุ้นให้หน่วยงานกำกับดูแลรวมข้อมูลพวกนี้ไว้เป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับพลังและความพร้อมที่มีมากขึ้นของ GenAI กับผู้ไม่ประสงค์ดี ซึ่งองค์กรที่เฝ้าระวังผู้หวังร้าย ติดตามหน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงผู้ให้บริการเครื่องมือและเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือกับข้อมูลอันตรายนี้ มีแนวโน้มที่จะได้เปรียบคู่แข่งอย่างมาก” พลัมเมอร์ กล่าวเพิ่ม
ในปี 2570 ผู้บริหารระดับสูงด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูล (Chief Information Security Officers หรือ CISO) ประมาณ 45% จะเพิ่มขอบเขตการทำงานนอกเหนือจากความปลอดภัยไซเบอร์ เนื่องจากแรงกดดันด้านกฎระเบียบและการขยายพื้นที่การโจมตีเพิ่มมากขึ้น ความรับผิดชอบในการจัดการความปลอดภัยและสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นกระจัดกระจายไปตามแผนกและทีมงานส่วนต่าง ๆ โดยผู้บริหาร CISO จะต้องดูแลพอร์ตโฟลิโอสินทรัพย์ดิจิทัลในภาพรวม ประเด็นนี้ไม่สอดคล้องกับการสนับสนุนการเปิดเผยตามกฎหมายรวมถึงการรับประกันความปลอดภัยทางดิจิทัล และการจัดการเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพองค์กรโดยรวมลดลง การขยายพอร์ตโฟลิโอของผู้บริหาร CISO จะสามารถรวมการจัดการความปลอดภัยเข้าไว้ด้วยกัน โดยให้การควบคุมดูแลกระบวนการจัดการเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยแบบรวมศูนย์ทั่วทั้งองค์กร
ในปี 2571 อัตราการทำงานในรูปแบบสหภาพของพนักงานที่มีทักษะจะเพิ่มขึ้น 1,000% โดยได้แรงกระตุ้นจากการนำ GenAI มาปรับใช้ในการทำงาน
ผู้บริหารมักบอกว่า AI เป็นเหตุให้ต้องปรับลดตำแหน่งงาน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารต้องสื่อสารชัดเจนกับพนักงานถึงความตั้งใจในการนำ AI มาปรับใช้ภายในองค์กร ซึ่งแนวทางนี้จะหลีกเลี่ยงผลที่ตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจจากการสร้างความวิตกกังวลของ AI ในหมู่พนักงาน โดยองค์กรที่ใช้ GenAI และไม่วางแผนจัดการกับความกังวลด้าน AI อย่างชัดเจนกับพนักงานที่มีทักษะ จะต้องเผชิญกับอัตราการลาออกเพิ่มสูงขึ้น 20%
“องค์กรควรให้ความสำคัญกับความพยายามในการนำ AI มาเสริมประสิทธิภาพและคุณภาพการทำงานของพนักงานมากกว่านำมาใช้เป็นระบบอัตโนมัติ ผู้บริหารต้องเข้าใจสิ่งที่เทคโนโลยีสามารถทำได้และทำไม่ได้ เนื่องจากยังมีการโอ้อวดประสิทธิภาพ AI เกินจริง ที่ไปสร้างความคาดหวังให้กับบอร์ดผู้บริหาร” พลัมเมอร์ กล่าว
ในปี 2569 พนักงาน 30% จะใช้ประสิทธิภาพของตัวชี้วัดความสามารถด้านดิจิทัล หรือ Digital Charisma Filter เพื่อบรรลุความก้าวหน้าในอาชีพจากที่ไม่เคยทำได้มาก่อน
Digital Charisma Filter จะแจ้งเตือนและกรองการสื่อสารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางสังคมมากขึ้นตามสถานการณ์ที่หลากหลาย ทั้งการเตือนก่อนและหลังเพื่อทำให้การโต้ตอบสื่อสารมีประสิทธิภาพแก่ผู้บริหารและผู้ร่วมงานในสถานการณ์ทางสังคมที่พวกเขาต้องการความแม่นยำ Digital Charisma Filter จะปรับปรุงความสามารถองค์กรในการขยายการจ้างงานครอบคลุมพนักงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น
“องค์กรสามารถขยายกลุ่มผู้สมัครที่มีทักษะความสามารถได้โดยการใช้ Digital Charisma Filter เป็นผู้ช่วยปรับปรุงความความสัมพันธ์กันของการโต้ตอบทุกขั้นตอนของการสรรหาและว่าจ้างบุคลากร ซึ่งการเร่งนำผู้ช่วย Digital Charisma มาใช้งานทำได้โดยการเน้นย้ำถึงความสำคัญกับผู้จำหน่ายแอปพลิเคชันองค์กรและการผนวกรวมเครื่องมือนี้เหล่านี้ไว้ในแผนของผลิตภัณฑ์” พลัมเมอร์ กล่าวว่า
ภายในปี 2570 25% ของบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 จะรับบุคลากรที่มีทักษะหลากหลายด้านระบบประสาท หรือ Neurodivergent Talent มาร่วมงาน อาทิ บุคคลออทิสติก บุคคลสมาธิสั้น และบุคคลดิลเล็กเซีย เพื่อพัฒนาผลการดำเนินงานของธุรกิจ
“องค์กรธุรกิจที่ว่าจ้างและรักษาบุคลากร Neurodivergent Talent จะได้ประสบการณ์การมีส่วนร่วมของพนักงาน รวมถึงมีผลิตผลและนวัตกรรมเพิ่มขึ้นทั่วทั้งองค์กร” พลัมเมอร์ กล่าว
บริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 ที่ลงทุนในโครงการจ้างงานบุคคลที่มีความหลากหลายในด้านระบบประสาทและรับรู้ถึงผลจากการมีส่วนร่วมและผลลัพธ์ทางธุรกิจ องค์กรต้องจัดทำโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการค้นพบบุคลากรที่มีทักษะในกลุ่ม Neurodivergent ซึ่งมีความพยายามเร่งด่วนจากการใช้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของผู้เชี่ยวชาญและใช้องค์ความรู้จากองค์กรชั้นนำที่ทำงานในด้านความหลากหลายทางระบบประสาท
“องค์กรควรรวมเอาบุคคลด้านระบบประสาทที่มีพรสวรรค์ไว้ในตำแหน่งระดับหัวหน้า เนื่องจากการมีหัวหน้าที่มีคุณสมบัติ Neurodivergent อยู่ในองค์กรจะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมความเท่าเทียมและไม่แบ่งแยก ทั้งยังเป็นการดำเนินงานที่มีคุณค่ามากที่สุดต่อมุมมองของพนักงาน Neurodivergent” พลัมเมอร์ กล่าว
ในปี 2569 บริษัทขนาดใหญ่ 30% จะมีหน่วยธุรกิจหรือช่องทางการขายเฉพาะเพื่อเข้าถึงตลาด Machine Customer ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว Machine Customer จะบังคับให้เกิดการปรับเปลี่ยนของฟังก์ชันหลัก ๆ อาทิ ห่วงโซ่อุปทาน การขาย การตลาด การบริการลูกค้า การค้าดิจิทัล และประสบการณ์ของลูกค้า และภายในปี 2568 ศูนย์การขายและบริการมากกว่า 25% ในองค์กรขนาดใหญ่จะได้รับการติดต่อจาก Machine Customer
“Machine Customer จะต้องการช่องทางการขายและบริการเป็นของตน เนื่องด้วยลูกค้าประเภทนี้จะทำธุรกรรมด้วยความเร็วสูง และมีปริมาณตัวแปรของการตัดสินใจที่สูงเกินขีดความสามารถมนุษย์อย่างมาก Machine Customer จะต้องการพนักงานที่มีทักษะความสามารถ และมีกระบวนการรับมือที่แตกต่างออกไป ซึ่งอาจไม่มีอยู่ในแผนกดูแลกลุ่มลูกค้าที่เป็นมนุษย์” พลัมเมอร์ กล่าว
ในปี 2571 จะมีหุ่นยนต์อัจฉริยะมากกว่ามนุษย์ปฏิบัติงานในสายการผลิต ค้าปลีก และลอจิสติกส์ เนื่องจากภาวะการขาดแคลนแรงงาน
บริษัทในอุตสาหกรรมการผลิต ค้าปลีกและลอจิสติกส์ส่วนใหญ่ไม่สามารถค้นหาหรือรักษาบุคลากรไว้เพียงพอเพื่อรองรับการดำเนินงานในแต่ละวัน ทำให้ในทศวรรษหน้าองค์กรด้านซัพพลายเชนจะประสบปัญหาในการสรรหาพนักงานให้เพียงพอ ซึ่งหุ่นยนต์จะมาช่วยเติมเต็มช่องว่างดังกล่าวนี้ จากการสำรวจของการ์ทเนอร์ในเดือนธันวาคม 2565 พบว่า 96% ของผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีซัพพลายเชนได้ปรับใช้หรือวางแผนที่จะปรับใช้ระบบอัตโนมัติทางกายภาพไซเบอร์ หรือ Cyber-Physical Automation และ 35% ได้นำหุ่นยนต์มาใช้งานแล้ว โดย 61% ยังอยู่ในขั้นทดลองหรืออยู่ระหว่างการใช้งานหุ่นยนต์เป็นครั้งแรก
“เทคโนโลยีหุ่นยนต์กำลังรุดหน้าอย่างรวดเร็ว สามารถทำงานในระดับปฏิบัติการได้ในจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่โรงงาน คลังสินค้า ไปจนถึงร้านค้าปลีก และอื่น ๆ อีกมากมาย” พลัมเมอร์ กล่าว
ภายในปี 2569 ประเทศสมาชิกในกลุ่ม G20 ประมาณ 50% จะประสบกับการจัดสรรไฟฟ้าทุกเดือน ส่งผลให้การดำเนินงานที่ต้องอาศัยพลังงาน กลายเป็นทั้งข้อได้เปรียบทางการแข่งขันและความเสี่ยงการล้มเหลวครั้งใหญ่
โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงข่ายไฟฟ้าดั้งเดิมกำลังจำกัดความสามารถของการเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ความต้องการไฟฟ้ายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์กรต่าง ๆ กำลังประเมินราคาพลังงานและการเข้าถึงแหล่งพลังงานว่าเป็นความสามารถในการแข่งขัน หมายความว่าการเข้าถึงไฟฟ้าอย่างมีเสถียรภาพสำหรับลูกค้าจะกลายเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารจึงสร้างแนวทางการดำเนินงานที่คำนึงถึงพลังงานผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพและการลงทุนโดยตรงในการผลิตพลังงาน
“ต้องดึงประโยชน์จากประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันระยะยาว โดยลดการใช้พลังงานเชิงโครงสร้างลง และประเมินการลงทุนขององค์กรโดยรวมต้นทุนพลังงานทั้งที่คาดการณ์ไว้ในปัจจุบันและอนาคต” พลัมเมอร์ กล่าวสรุป
นางสาวสุรางค์ มงคลอารีย์พงษ์ (กลาง) ผู้บริหารสูงสุดสายงานบริหารช่องทางการขาย “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นำทีมบริหารจัดงานสัมมนาใหญ่ปี 2023 "Work Life Harmony เสริมไอที สุขภาพดี พลิกชีวีให้ดีขึ้น" ให้กับผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินเคทีซี (อิสระ) ที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศรวมกว่า 300 คน โดยในงานมี 2 วิทยากรที่มาแชร์ความรู้และประสบการณ์ทางด้านดิจิทัลและการมีสุขภาพที่ดี “ครูทิป” มัณฑิตา จินดา (ที่ 2 จากซ้าย) ร่วมพูดคุยในหัวข้อ "อัพสกิลดิจิทัล แบบไม่ตกเทรนด์กับครูทิป" และ “หมอเพื่อน” แพทย์หญิงกอบกุลยา จึงประเสริฐศรี (ที่ 2 จากขวา) แบ่งปันความรู้ในหัวข้อ "สมดุลชีวิตสร้างได้ด้วยตัวเรา" ณ โรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค สุขุมวิท 22 เมื่อเร็วๆ นี้
กรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 27 มิถุนายน 2566 — การ์ทเนอร์ อิงค์ คาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีของบริการธนาคารและการลงทุนทั่วโลกจะสูงถึง 652.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 8.1% จากปี 2565 โดยในหมวดซอฟต์แวร์จะมีอัตราการเติบโตมากที่สุด เพิ่มขึ้น 13.5% ในปีนี้
เดบบี้ บัคแลนด์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า "ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันเปลี่ยนบริบทการลงทุนในเทคโนโลยีของภาคการธนาคารและการลงทุนในปีนี้ แทนที่จะปรับลดงบประมาณไอที องค์กรกำลังใช้จ่ายมากขึ้นกับประเภทเทคโนโลยีที่สร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น การใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ที่กำลังเปลี่ยนจากการพัฒนาซอฟต์แวร์ใช้เองไปเป็นการซื้อโซลูชันที่สร้างมูลค่าจากการลงทุนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”
การลงทุนในคลาวด์ยังคงสำคัญเหมือนเดิม จากการสำรวจ CIO and Technology Executive Survey ประจำปี 2566 ของการ์ทเนอร์ พบว่าในปี 2566 CIO ในกลุ่มบริการธนาคารและการลงทุนจะใช้เงินก้อนใหม่หรือเพิ่มการลงทุนจำนวนมากที่สุดไปกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ ข้อมูลและการวิเคราะห์ เทคโนโลยีที่ใช้ร่วมกัน และคลาวด์
ผู้บริหารไอทีมากกว่าครึ่งวางแผนเพิ่มการลงทุนในคลาวด์และลดการใช้จ่ายด้านไอทีในดาต้าเซ็นเตอร์ของตนเอง สะท้อนให้เห็นจากยอดการเติบโตที่ช้าลงของการใช้จ่ายด้านระบบดาต้าเซ็นเตอร์ลดลงจาก 13.2% ในปี 2565 เป็น 5.7% ในปี 2566 (ดูตารางที่ 1) โดยธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ กำลังยกเลิกการลงทุนไปกับสินทรัพย์มีตัวตน (Tangible Assets) และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขององค์กร (CAPEX) เพื่อหันมาใช้บริการและลงทุนกับสินทรัพย์ในรูปแบบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (OPEX) เพื่อตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าและตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป
พีท เรดชอว์ รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ ระบุว่า "เพื่อรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน CIO ขององค์กรที่ให้บริการธนาคารและการลงทุนกำลังจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายอย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน เช่น การมอบประสบการณ์ลูกค้าที่ดีขึ้น (CX) และการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขอบเขตพื้นที่ใหม่ ๆ กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ และสายงานธุรกิจใหม่ ๆ ที่ซึ่งเปลี่ยนไปจากเมื่อปีก่อนที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและเคยเป็นเป้าหมายหลักของ CEO ของธุรกิจการเงินการธนาคาร”
บริการไอทียังเป็นกลุ่มที่มียอดการใช้จ่ายมากที่สุด
เนื่องจากการใช้บริการให้คำปรึกษาและการบริการ Infrastructure As A Service (IaaS) ที่เพิ่มขึ้น บริการไอทีจะเป็นกลุ่มที่มียอดการใช้จ่ายสูงที่สุด โดยคาดว่าจะสูงถึงเกือบ 270 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 9.3% จากปี 2565 สะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญของผู้ให้บริการด้านไอทีที่มากขึ้นและมีส่วนช่วยเหลือองค์กรในกลุ่มบริการธนาคารและการลงทุนเพื่อรับมือกับโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น
“ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทำให้องค์กรต่าง ๆ ต้องแบ่งสัญญาระยะยาวออกเป็นโปรเจกต์สั้น ๆ หลาย ๆ โปรเจกต์” บัคแลนด์ กล่าวเพิ่ม “นอกจากนั้นยังลังเลที่จะเซ็นสัญญาใหม่ ยึดอยู่กับการริเริ่มระยะยาว หรือรับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเป็นการผลักดันให้มีการใช้บริการที่ปรึกษาด้านไอทีเพิ่มขึ้น”
ปัญหา Talent Shortage ก่อให้เกิดต้นทุนใช้จ่ายภายในองค์กร
การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถทั่วโลกส่งผลกระทบต่อองค์กรในกลุ่มบริการธนาคารและการลงทุน โดยทำให้มูลค่าการใช้จ่ายบริการภายในเพิ่มขึ้น 4.2% ในปี 2566 เนื่องจากมีต้นทุนการจ้างงานและการรักษาทีมงานที่มีทักษะความสามารถเพิ่มขึ้น
"แม้เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการปลดพนักงานของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่หลายแห่งแต่บุคลากรที่มีทักษะความสามารถระดับสูงกลับไม่ได้มองว่าธนาคารเป็นจุดหมายปลายทางที่อยากมาทำงานด้วย หรือมอบรายได้ที่คุ้มค่า หรือน่าตื่นเต้นที่สุดที่ได้ทำงาน ดังนั้นองค์กรจำเป็นต้องมีโซลูชันที่เน้นนวัตกรรมเพื่อคัดสรรบุคลากรมากขึ้น อาทิ การลดข้อกำหนดของการศึกษาในมหาวิทยาลัย และเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆ มากขึ้น เช่น การฝึกอบรมเพื่อสร้างทักษะใหม่ ๆ ตลอดชีวิต การสร้างทีมไฮบริด การเพิ่มวิธีการที่เน้นความคล่องตัว และการร่วมมือด้านฟินเทค” เรดชอว์ กล่าวเพิ่ม
ติดตามข่าวสารและข้อมูลอัปเดตจาก Gartner for High Tech ได้ทาง Twitter และ LinkedIn หรือเยี่ยมชม IT Newsroom สำหรับข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม