December 22, 2024

 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ผู้ดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์ชั้นนำของประเทศไทย กำหนดยุทธศาสตร์องค์กรโดยมุ่งหน้าสู่การเป็นองค์กรที่จะขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล (Digital Transformation)  โดยล่าสุดได้ผนึกความร่วมมือกับ OutSystems  เพื่อจะนำเทคโนโลยี Low-Code  เข้ามาใช้พัฒนาแอปพลิเคชันและสร้างระบบ Digital  โดยมีเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ตั้งแต่ในปี 2561 บริษัทฯ ได้วางแผนและเตรียมพร้อมในการทำ Digital Transformation โดยเน้นไปที่การเข้าไปยกระดับและสร้างความเปลี่ยนแปลงใน 3 แกนหลักขององค์กร หรือที่รู้จักกันภายในว่า Triple Transformation ประกอบด้วย Business, Technology และ People โดย GC ให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนองค์กร และได้มีการตั้งทีม Digital Transformation ขึ้นมาเฉพาะ เพื่อสร้างสรรค์ไอเดียแก้ Pain Point ต่าง ๆ

ปัจจุบันบริษัทในประเทศไทยกำลังเผชิญกับต้นทุนในการดำเนินธุรกิจมากมาย และอยู่ท่ามกลางกระแส Digital Disruption ทีมไอทีมีความสำคัญต่อเป้าหมายทางธุรกิจในยุคนี้ GC นำแพลตฟอร์ม Low-Code จากเอาท์ซิสเต็มส์มาใช้เพื่อปรับกระบวนการให้เป็นดิจิทัลและพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อแก้ Pain Point พร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพต่อยอดการดำเนินงานให้มีความทันสมัยมากขึ้น

GC นำเทคโนโลยี Low-Code ประสิทธิภาพสูงจาก OutSystems มายกระดับบริการต่าง ๆ และใช้เป็นแพลตฟอร์มเพื่อทำงานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2562 โดยล่าสุดทีมงานได้นำแพลตฟอร์ม OutSystems ไปพัฒนาเป็นระบบสำคัญ (Critical Systems) ในโครงการ B-Leap Project ต่อยอดงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ ช่วยทำให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถลดเวลาการทำงานของนักวิจัยลงได้ 30 % และลดต้นทุนที่เกิดจากการวิจัยที่ซ้ำซ้อนได้มากถึง 75% นอกจากนี้ยังนำไปพัฒนา Smart Loading Application เพื่อใช้เป็น Digital Systems สำหรับจัดคิวรถบรรทุกน้ำมันจากโรงกลั่น และดีลกับบริษัทฯ ต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งหลังเปิดใช้ในปี 2564 สามารถช่วยลดเวลาการทำงานของทีมงานกลางที่หอกลั่นลงได้ถึง 12.5% และลดการผิดพลาดในการทำงานที่เกิดจากคน (Human Error) ได้ 10%

ในขั้นตอนการดำเนินการ (Implementation & Operation) บริษัทฯ ให้ความสำคัญใน 3 แกนหลักสำคัญ ได้แก่ Tech Foundation ซึ่ง OutSystems ได้จัดหาแพลตฟอร์มข้อมูล, เครื่องมือเทคโนโลยี, รวมถึงการพิจารณาโครงข่ายการสื่อสาร 5G และทดลองนำร่องในดิจิทัลโปรเจกต์ แกนที่สอง คือ Project Implementation ที่ OutSystems ทำงานร่วมกับตัวแทนของแต่ละหน่วยงาน (BUs) ภายในเครือ GC เพื่อศึกษา Pain Points สรรหาไอเดีย และสร้างโซลูชันเพื่อพัฒนานวัตกรรมได้อย่างตอบโจทย์เชิงธุรกิจ และในแกนสุดท้ายที่ีมีความสำคัญที่สุด คือ Organization Capability Building & Communication มุ่งเน้นพัฒนาความสามารถของทีมนักพัฒนาและการสื่อสารระหว่างทีม ช่วยทำให้ GC พัฒนาและเปิดตัวผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตอบโจทย์ทางการตลาด (Time To Market) ได้อย่างรวดเร็ว

นายนัทพล จงจรูญเกียรติ Head of Digital Transformation บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า “สำหรับเป้าหมายด้านดิจิทัลในอนาคตของ GC เราตั้งเป้าเป็นองค์กรแบบกระจายศูนย์มากยิ่งขึ้น (Distributed Enterprise) พร้อมมุ่งสร้างทีมพัฒนา (Domain Expert) ขึ้นเองในแต่ละหน่วยงาน โดยสามารถทำงานร่วมกับทีมไอทีส่วนกลางและนำโซลูชันหรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปต่อยอดทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเทคโนโลยี Low-Code ของ OutSystems จะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่เข้ามาช่วยพัฒนาได้เป็นอย่างดี เพราะที่ GC เราเชื่อว่าทีมงาน คือ พลังงาน ที่สำคัญที่สุดของเรา อันจะช่วยต่อยอดไปสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้”

“นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยี Low-Code ของเอาท์ซิสเต็มส์มาใช้ ทำให้ GC สามารถพัฒนาแอปฯ ใหม่ ๆ ได้มากกว่า 18 แอปฯ ในเวลา 2.5 ปี รวมถึงสามารถปรับปรุงหรืออัปเดตระบบต่าง ๆ จาก Manual ให้เป็น Digital ของบริษัทในเครือ สะท้อนความสำคัญของเทคโนโลยี Low-Code ของเอาท์ซิสเต็มส์ ในฐานะผู้ช่วยที่เชื่อถือได้ของนักพัฒนาและธุรกิจ” นายนัทพล กล่าวสรุป

ผลวิจัยล่าสุด ‘Total Economic Impact™ of OutSystems’ ที่จัดทำขึ้นโดย ฟอร์เรสเตอร์ คอนซัลติ้ง ในนามของเอาท์ซิสเต็มส์ เผยให้เห็นว่าแพลตฟอร์ม Low-Code ช่วยลดค่าใช้จ่ายแก่องค์กรธุรกิจเป็นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาและค่าใช้จ่ายของการพัฒนาและบำรุงรักษาซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเองภายในกับการนำแพลตฟอร์ม OutSystems มาปรับใช้ ซึ่งจากผลการศึกษาระบุว่า OutSystems ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแก่องค์กรธุรกิจได้ถึง 6.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ดีขึ้น รวมถึงระยะเวลาการพัฒนาและการเปิดตัวที่สั้นลง

นายเติมศักดิ์ วีรขจรพงษ์ รองประธานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอาท์ซิสเต็มส์ กล่าวว่า “เรายินดีที่ได้เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการทำดิจิทัลทรานฟอร์มเมชั่นของ GC ซึ่งความร่วมมือนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า เทคโนโลยี Low-Code ประสิทธิภาพสูงของเอาท์ซิสเต็มส์ เป็นมากกว่าแพลตฟอร์มสำหรับนักพัฒนาเพียงอย่างเดียว แต่ยังต่อยอดไปสู่การออกแบบบริการ นวัตกรรม และลด Painpoints ทางธุรกิจได้”

 

Image preview

ถ้าธุรกิจคุณอยู่ในแวดวงการพัฒนาซอฟต์แวร์ คุณอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับหนี้ทางเทคนิค (หรือ Technical Debt) ซึ่งการที่เราต้องคอยดูแลรักษาโค้ดที่มีอยู่หรือปรับปรุงแอปพลิเคชันรุ่นเก่านั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของภาระการทำงานที่เป็นผลมาจากหนี้ทางเทคนิคขององค์กร กล่าวง่าย ๆ ก็คือหนี้ทางเทคนิคหมายถึงการเขียนโค้ดโดยใช้วิธีลัดในอดีต ที่ส่งผลมาถึงอนาคตทำให้คุณต้องแก้ไขอดีตของโค้ดนั้น

ลองจินตนาการดูว่าจะน่าหวั่นใจเพียงใดหากองค์กรต้องรื้อแก้โค้ดบางส่วนที่มีอยู่ และยังต้องทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้แน่ใจว่าแอปพลิเคชันจะทำงานได้ตามที่คาดหวัง และยังต้องศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโค้ด “เก่า” ที่นักพัฒนาคนอื่น ๆ เคยเขียนไว้เมื่อหลายปีก่อน แค่นึกถึงงานยุ่งยากมากมายที่รออยู่ ก็รู้สึกหมดแรงแล้ว!

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจซึ่งเกิดจากการที่ใช้วิธีลัดและเกิดหนี้ทางเทคนิค:

· ขั้นตอนการพัฒนาช้าลง: ถ้าองค์กรมีหนี้ทางเทคนิคจำนวนมาก เวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในแอปพลิเคชัน ก็จะต้องแก้ไขโค้ดในหลาย ๆ จุด และทดสอบเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีข้อบกพร่องใด ๆ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดความล่าช้าในการนำเสนอฟีเจอร์และบริการที่มีประโยชน์แก่ผู้ใช้

· ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนามากขึ้น: การมีแอปพลิเคชันที่ซับซ้อนและมีสถาปัตยกรรมและรูปแบบโค้ดที่ไม่เหมาะสมทำให้ต้องใช้นักพัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญเพิ่มมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาและปรับปรุงแอปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเราทุกคนรู้ดีว่าทุกวันนี้การจ้างนักพัฒนาที่มีทักษะความชำนาญยากแค่ไหน

· งานไอทีที่คั่งค้างมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น: คำร้องขอจากฝั่งธุรกิจค่อย ๆ สะสมคั่งค้างมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะทีมพัฒนาไม่สามารถรับมือกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น และปัญหานี้กำลังบั่นทอนศักยภาพและความคล่องตัวของธุรกิจในการนำเสนอคุณประโยชน์ การสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขันขององค์กร

· เพิ่มความเสี่ยงการเกิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัย: ทางลัดที่ใช้เพื่อให้สามารถพัฒนาแอปพลิเคชันได้อย่างรวดเร็วอาจก่อให้เกิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัยตามมา

ดังนั้น องค์กรควรตั้งเป้าขจัดปัญหานี้ให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง และยิ่งไปกว่านั้น ถ้าจำเป็นที่จะต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์ดิจิทัลใหม่ ๆ ให้เร็วกว่าที่เคย ก็ยิ่งไม่มีทางที่จะอยู่รอดได้ถ้าหากยังมีหนี้ทางเทคนิคค้างอยู่

ทำไมการดำเนินธุรกิจอย่างปลอดหนี้ถึงเป็นเรื่องยาก

ก่อนอื่นเราจะเริ่มจากการตอบคำถามส่วนแรก นั่นคือ การขจัดหนี้ทางเทคนิคเป็นเรื่องยากที่จะทำได้สำเร็จ

นั่นเป็นเพราะว่าหนี้ทางเทคนิคไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการเขียนโค้ดอย่างไม่เหมาะสมและการเลี่ยงใช้แนวทางการพัฒนาที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถนำเสนอแอปออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้นเท่านั้น นั่นเป็นเพียงสาเหตุประการหนึ่ง แต่ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับปรุงการวางแผนให้ดียิ่งขึ้น

ปัญหาก็คือ มีปัจจัยภายในและภายนอกหลายอย่างที่องค์กรไม่สามารถควบคุมได้จนก่อให้เกิดหนี้เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น:

1. ทีมที่ขาดความชำนาญ: ส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากการที่นักพัฒนาอายุงานยังน้อยในทีมอาจไม่ทราบวิธีการปรับใช้แนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม

2. ข้อมูลรายละเอียดไม่เพียงพอและมีการเปลี่ยนแปลงในนาทีสุดท้าย: หลายครั้งที่นักพัฒนาต้องสร้างหรือปรับเปลี่ยนแอปที่มีอยู่โดยทั้งที่ยังไม่เข้าใจภาพรวมเกี่ยวกับสิ่งที่ธุรกิจต้องการ

3. ไม่มีการจัดทำเอกสารและการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างทีมงานต่าง ๆ: เพื่อเร่งดำเนินโครงการ ทีมพัฒนามักข้ามขั้นตอนการจัดทำเอกสาร เพราะคิดว่าตนเองจะยังคงทำงานอยู่ที่เดิมเพื่อดูแลรักษาแอปอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่กลับไม่เป็นเช่นนั้น และผลที่ตามมาก็คือ ทีมงานใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้จัดการดูแลและปรับปรุงแก้ไขต่อไม่สามารถเข้าใจบริบทการทำงานของแอปนั้น ๆ โดยรวม และสุดท้ายแล้วก็ทำให้แอปเกิดข้อผิดพลาดเพิ่มมากขึ้น

4. ขาดวิสัยทัศน์: ทีมงานมุ่งเน้นเฉพาะการส่งมอบแอปพลิเคชันตามกรอบเวลาปัจจุบัน โดยไม่ได้นึกถึงการปรับเปลี่ยนในอนาคต ซึ่งการมองการณ์ใกล้เช่นนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิธีการออกแบบ รวมไปถึงขีดความสามารถของแอปเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต

5. ความเปลี่ยนแปลงของตลาดที่ไม่อาจคาดการณ์ได้: หนี้ทางเทคนิคยังอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากทุกสิ่งที่องค์กรธุรกิจไม่เคยรู้มาก่อนเมื่อตอนที่เริ่มต้นสร้างโซลูชั่น และองค์กรก็ไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์นั้น ๆ

ส่วนใหญ่ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่อาจคาดเดาได้ ดังนั้นองค์กรจึงควรวางแผนรับมือ

กับคำถามว่า “เราควรตั้งเป้าลดหนี้ทางเทคนิคให้เป็นศูนย์ดีหรือไม่” คำตอบสั้นๆ ก็คือ ไม่

เนื่องจากหนี้ทางเทคนิคที่ไม่สามารถควบคุมได้ย่อมจะส่งผลกระทบต่อความคล่องตัวของธุรกิจและความสามารถในการตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจที่สำคัญ รวมไปถึงการตอบสนองต่อแรงกดดันของตลาด ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่เราจะขจัดหนี้ทางเทคนิคให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง

ประเด็นหลักจึงไม่ได้อยู่ที่วิธีการขจัดหนี้ทางเทคนิคให้หมดไป แต่เป็นเรื่องของ ”วิธีการควบคุม” หนี้ทางเทคนิคเพื่อรักษาขีดความสามารถในการตอบสนองความต้องการและความจำเป็นเร่งด่วนของธุรกิจ

เคล็ดลับในการจัดการหนี้ทางเทคนิค

หนทางที่ดีที่สุดก็คือ การรับรู้ถึงการมีอยู่ของหนี้ทางเทคนิคและพยายามควบคุมจัดการหนี้ดังกล่าว วิธีนี้จะช่วยให้ทีมพัฒนาสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้รวดเร็วขึ้น ควบคู่ไปกับการควบคุมความเสี่ยงของหนี้ทางเทคนิคและตอบสนองความต้องการทางด้านธุรกิจ

ทีมงานขององค์กรธุรกิจควรดำเนินการดังต่อไปนี้เพื่อปรับปรุงการจัดการหนี้ทางเทคนิคให้ดียิ่งขึ้น:

· ปรึกษาทีมพัฒนาเพื่อกำหนดระดับของหนี้ทางเทคนิคที่องค์กรยอมรับได้ และช่วยให้ทีมงานมีความคล่องตัวในระดับที่เพียงพอเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจ

· ประเมินความเสี่ยงของการปล่อยผ่าน “หนี้ทางเทคนิค” บางส่วน เพื่อให้สามารถทำงานได้เสร็จตามกำหนดเวลา

· ประเมินผลกระทบและปัญหายุ่งยากที่จะเกิดขึ้นเมื่อต้องจัดการกับหนี้ทางเทคนิคภายหลัง ด้วยการตั้งคำถามที่เหมาะสม เช่น “หลังจากที่เปิดให้ใช้งานแอปพลิเคชั่นแล้ว จะต้องย้ายข้อมูลจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเพื่อที่จะแก้ไขโค้ดหรือไม่” หรือ “จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อพาร์ทเนอร์ที่ใช้ API จากระบบของเราหรือไม่”

และอีกหนึ่งคำแนะนำ คือ องค์กรควรหันมาใช้แพลตฟอร์มการพัฒนาที่มีเครื่องมือที่จำเป็นครบครันอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจจัดการหนี้ทางเทคนิคได้ทันทีตั้งแต่วันแรก แพลตฟอร์มที่ว่านี้ก็คือแพลตฟอร์ม Low-Code ซึ่งประกอบด้วยเครื่องมือพัฒนามากมายที่จะช่วยให้ทีมพัฒนาสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สำหรับอนาคต โดยมีการจัดการหนี้ทางเทคนิคอย่างเป็นระบบภายไว้ในกระบวนการของการพัฒนา

นอกจากนี้ ยังมีความสามารถของ AI ที่จะช่วยให้ผู้บริหารไอทีสามารถตรวจสอบสถาปัตยกรรมที่ซับซ้อน ครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อระบุปัญหาที่เกิดขึ้น และช่วยนักพัฒนาดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม พร้อมหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด

บทความโดย   เติมศักดิ์  วีรขจรพงษ์  / รองประธานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  OutSystems

 

X

Right Click

No right click