January 21, 2025

5 ธันวาคม 2567 เคทีซีปักหมุดปี 2568 เป็นองค์กรดิจิทัลเต็มรูปแบบ เน้นเติบโตยั่งยืน เคทีซีเผยแผนยุทธศาสตร์ปี 2568 ยกระดับทั้งองค์กรสู่ดิจิทัลอย่างยั่งยืน “Building a Sustainable Future Through Digital Transformation” เตรียมพร้อมระบบไอทีและแผนการพัฒนาโครงสร้างการทำงานเชิงลึก ผลักดันบุคลากรทุกฝ่ายติดอาวุธความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เสริมประสิทธิภาพการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อสร้างประสบการณ์สมาชิกแบบครบวงจร พร้อมขยายฐานสมาชิกให้เติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่การบริหารพอร์ตสินเชื่อคุณภาพ

นางพิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เผย “เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ จะช่วยเพิ่มรายได้ในภาคประชาชนและสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกกับธุรกิจบริการสินเชื่อผู้บริโภค สำหรับทิศทางธุรกิจเคทีซีในปี 2568 เราได้เตรียมการเพื่อก้าวสู่องค์กรดิจิทัลอย่างยั่งยืน ด้วยกลยุทธ์ “Building a Sustainable Future Through Digital Transformation” บน 4 แนวทางหลัก ประกอบด้วย 1. Reach Better: ใช้ช่องทางดิจิทัลในการขยายฐานสมาชิกกลุ่มใหม่ที่นิยมทำรายการด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการด้วยการพัฒนา E-Application ที่ง่าย ไร้รอยต่อ และปลอดภัย สามารถรู้ผลการสมัครได้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมพัฒนาและทดสอบเครื่องมือในการประเมินคุณภาพสินเชื่อ (Credit Scoring Model) ใหม่ๆ เพื่อแสวงหาโอกาสของการขยายฐานสมาชิกที่ยังอยู่ในระดับความเสี่ยงที่รับได้ 2. Grow Healthier: การบริหารฐานข้อมูลสมาชิกอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมพัฒนาบริการใหม่ๆ บน แอป KTC Mobile ที่ทำให้สมาชิกสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของเคทีซีได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิก และสร้างความมั่นใจในการใช้จ่าย 3. Bond Tighter: เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของบริการรวมถึงการสื่อสารบนช่องทางออนไลน์ ทั้งผ่านแอป “KTC Mobile” Line Connect, Facebook และเว็บไซต์ www.ktc.co.th เพื่อให้สมาชิกใช้งานง่าย สะดวกและมั่นใจมากขึ้น

รวมถึงเครื่องมือที่ช่วยให้ทีมงานคอนแทคเซ็นเตอร์ (Contact Center) สามารถให้บริการตอบคำถามได้รวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ เพื่อให้สมาชิกได้รับความพึงพอใจมากที่สุด 4. Work Smarter: เตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ กระบวนการและการพัฒนาทักษะ (Upskill) ด้าน ไอทีให้กับบุคลากรเคทีซีทั้งองค์กร ส่งเสริมการคิดริเริ่มและปรับปรุงกระบวนการทำงาน โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพงาน ลดค่าใช้จ่าย และพัฒนาทักษะของพนักงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง สำหรับเป้าหมายการทำธุรกิจในปี 2568 เคทีซีคาดว่าพอร์ตสินเชื่อรวมจะขยายตัวที่ 4-5% และ คุมอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL Ratio) รวมให้อยู่ในระดับไม่เกิน 2% และมีแผนระดมเงินกู้ยืมระยะยาวประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ ลงทุนด้านเทคโนโลยี รวมถึงรองรับหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะครบกำหนดประมาณ 13,000 ล้านบาท ในส่วนของยอดการใช้จ่ายผ่าน บัตรเครดิตปี 2568 คาดการเติบโตที่ประมาณ 10-12% ด้วยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่ไม่ต่ำกว่า 320,000 ล้านบาท เพิ่มจำนวนสมาชิกใหม่ 250,000 บัตร เน้นกลุ่มผู้มีรายได้ 50,000 บาทขึ้นไป รวมถึงกลุ่มคนเริ่มทำงาน (First Jobber) สร้างความแตกต่างในด้านการทำกิจกรรมทางการตลาดและส่งเสริมการขายโดยใช้จุดแข็งด้านคะแนนสะสม KTC FOREVER ในการเพิ่มมูลค่าให้สมาชิกโดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจทุกหมวดสำคัญ เช่น หมวดอาหาร ช้อปปิ้ง เติมน้ำมัน และท่องเที่ยว เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์สมาชิกทุกกลุ่มเซ็กเมนต์

สำหรับธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” ตั้งเป้าเติบโตที่ 3% เน้นขยายฐานสมาชิกใหม่ผ่านพันธมิตรธุรกิจต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อผ่านช่องทางสมัครสินเชื่อออนไลน์ E-Application ที่ลูกค้าสามารถทำรายการได้ด้วยตนเอง รู้ผลอนุมัติพร้อมรับเงินโอนเข้าบัญชีภายใน 30นาที พร้อมสร้างประสบการณ์การใช้งานให้กับสมาชิกผ่านฟังก์ชัน “รูด โอน กด ผ่อน” ครบจบในบัตรเดียว และสานต่อโครงการ “เคลียร์หนี้” เพื่อเสริมวินัยทางการเงินแก่สมาชิก ส่วนสินเชื่อ "เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน" ตั้งเป้าการเติบโตที่ 3,000 ล้านบาท เน้นขยายพอร์ตสินเชื่อคุณภาพผ่านสาขาธนาคารกรุงไทยตัวแทนจำหน่าย และพันธมิตรธุรกิจต่างๆ เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำและเจ้าของกิจการขนาดเล็กที่เป็นเจ้าของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ และกำลังมองหาสินเชื่อ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ง่ายและปลอดภัย พร้อมรับวงเงินใหญ่สูงสุด 100% ของราคาประเมิน อนุมัติไวภายใน 1 ชั่วโมง รับเงินทันที โดยไม่ต้องมีคนค้ำประกัน เคทีซีพร้อมพัฒนาองค์กรด้วยกลยุทธ์ที่ยั่งยืน ในการสร้างนวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการอย่างมีประสิทธิภาพและรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินอย่างยั่งยืน และธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต”

เกือบ 4 ทศวรรษแห่งการสั่งสมประสบการณ์ เอกราช ปัญจวีณิน มองเห็นถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่มีต่อการใช้ชีวิตของผู้คน ตั้งแต่วันที่เทคโนโลยีเป็นสิ่งเติมเต็มจนกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตประจำวัน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป มีความตั้งใจแน่วแน่ ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยในมิติเทคโนโลยี ไม่เพียงทัดเทียม แต่ก้าวนำนานาประเทศ

ภายใต้วิสัยทัศน์ “Empowering Digital Equity” ของคุณเอกราช เป็นความตั้งใจที่ไม่ได้มองเพียงมิติของการเข้าถึงเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวาของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค นอกจากจะเป็นที่ทำงานของคุณเอกราชแล้ว ที่นั่นยังถือเป็นแหล่งบ่มเพาะและถ่ายทอดวิถีแนวคิดแบบก้าวหน้า ซึ่งในวันที่ทีม True Blog ได้พบและพูดคุยกับคุณเอกราช โซน True X ใน True Branding Shop ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ที่รวบรวมหลากหลายอุปกรณ์สมาร์ทโฮมอัจฉริยะและโดรนอัตโนมัติ ก็เพิ่งเปิดให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ล้ำสมัย ยิ่งไปกว่านั้น ตลอดโถงทางเดิน ก็จะเห็นชาวเทคเจน Z เดินกระทบไหล่เหล่า digital nomad ทั้งจากลอนดอน เซี่ยงไฮ้ ซานฟรานซิสโก สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของการทำงานที่มีพลวัตที่คุณเอกราชได้ร่วมบ่มเพาะ “การทรานสฟอร์มเป็นสิ่งที่เราทำอยู่ในทุกๆวัน” เขากล่าวด้วยสายตาอันแน่วแน่ “มันคือการเดินทาง ไม่ใช่จุดหมาย”

ซึ่งการเดินทางที่ว่านี้ คุณเอกราช มองว่าจะสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยเทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่ Hyperconnectivity, AI, Quantum Computing, Blockchain, Web3, Integrated IoT, Green Energy, Climate Technology และเชื่อว่าเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยที่แข็งแกร่ง ตลอดจนปฏิวัติพลิกโฉมทุกสิ่งตั้งแต่ภาคการเกษตรจนถึงการคมนาคมขนส่ง

 AI ที่ก้าวล้ำ ก่อกำเนิดไลฟ์สไตล์ดิจิทัลรูปแบบใหม่กลุ่มธุรกิจภายใต้การกุมบังเหียนของคุณเอกราช ได้สร้างบทบาทที่ทวีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจคอนเทนท์ อย่าง ทรูไอดี (True ID) ที่มีผู้ใช้งานเกือบ 40 ล้านคน ทรูเอ็กซ์ (True X) ที่ผลักดันระบบบ้านอัตโนมัติอัจฉริยะทั่วทั้งประเทศ รวมถึง MorDee (หมอดี) แอปพลิเคชันที่สามารถส่งผ่านการรักษาทางไกลโดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ถึงผู้ป่วยบนสมาร์ทดีไวซ์ได้ในไม่กี่คลิก และที่สำคัญ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ยังอยู่เบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรธุรกิจไทยอีกนับพันแห่ง ด้วยโซลูชันด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แพลตฟอร์มข้อมูล รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อยกระดับทักษะ ด้วยบริการที่ครอบคลุมและหลากหลาย ควบคู่กับความก้าวล้ำของเทคโนโลยี AI คุณเอกราช เชื่อว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะก้าวต่อไปสู่คลื่นลูกใหม่แห่งนวัตกรรม

“เราอยู่ในยุคของ AI แต่ AI เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น” เขากล่าวย้ำ “ยังมีอีกหลากหลายเทรนด์เทคโนโลยีที่เรายังต้องจับตา ไม่ว่าจะเป็น Hyper-connectivity, AI, Blockchain และ การผสานเชื่อมโยง IoT ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามาเป็นแกนหลักของกรอบการทำงานทางเทคโนโลยีในอนาคต”

วิถีการทรานสฟอร์มสู่ดิจิทัลของคุณเอกราช เป็นการเปลี่ยนผ่านแบบองค์รวมที่มุ่งผสานเทคโนโลยีเข้าไปอยู่ในทุกมิติของการใช้ชีวิต “การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นมากกว่าแค่เรื่องของความสะดวกสบาย แต่เป็นการตอบสนองความต้องการแบบเฉพาะเจาะจงรายบุคคลได้อย่างทันท่วงที เพราะวันนี้ ผู้บริโภคจะไม่รออะไรนานๆ ทุกอย่างต้องตอบสนองได้โดยทันที” เขากล่าวเสริม

วิสัยทัศน์ของคุณเอกราช จึงมีหัวใจสำคัญที่ไม่ใช่เพียงการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ แต่คือ การออกแบบเทคโนโลยีตามความต้องการ เขาเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การคิดค้นนวัตกรรมควรเริ่มต้นจากความเข้าใจในปัญหาเฉพาะเจาะจงที่ผู้คนกำลังเผชิญ จากนั้นจึงมองหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการและแก้ไขปัญหาเหล่านั้น “เราเริ่มต้นจากลูกค้า ด้วยปัญหาที่ลูกค้าต้องการแก้ไข จากนั้น เราจึงมองหาเทคโนโลยีที่จะพัฒนาอยู่ด้านหลังเพื่อขับเคลื่อนและตอบสนองลูกค้า ซึ่งนั่นก็คือ การที่เราส่งเสริมให้มีการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง (Empowering Digital Equity)” 

ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

แม้ว่า “Empowering Digital Equity” อาจจะดูเหมือนเป็นแนวคิดแบบเลิศหรู แต่สำหรับคุณเอกราช และทรู ดิจิทัล กรุ๊ป นั้น วิสัยทัศน์ดังกล่าวมีรากฐานความคิดจากโลกแห่งความจริงที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับชุมชนและสังคม ซึ่งหนึ่งในโครงการที่เราเข้าไปพัฒนา นั่นคือ การช่วยเหลือเกษตรกรในหลายพื้นที่ ด้วยเครื่องมือดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร

“เราใช้ปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดการใช้ไฟฟ้า ใช้อุปกรณ์เซ็นเซอร์ช่วยตรวจวัดระดับน้ำ และใช้โดรนวิเคราะห์และฉีดพ่นทั่วพื้นที่การเกษตร” เขาอธิบาย ซึ่งผลลัพธ์จากโครงการดังกล่าวสามารถจับต้องได้ สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่อวันมากขึ้นกว่า “เท่าตัว”

เมื่อถามถึงแนวทางการพัฒนาสังคมผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล คุณเอกราชได้กล่าวถึง แอปฯ “MorDee” (หมอดี) ที่มีบทบาทช่วยรักษาชีวิตคนไข้ที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงโซลูชัน IoT ที่ช่วยผลักดันการรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ด้วยการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อธุรกิจ “เหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องการ ใช่ไหม? ไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้เทคโนโลยี แต่เป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกในระบบนิเวศ”

ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับโรงพยาบาล หรือ การอบรมคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญด้าน AI ก็ตาม สิ่งที่สำคัญของโครงการเหล่านี้ของ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นพยายาม เพื่อให้เรามั่นใจว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของประเทศไทย จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

อย่างไรก็ตาม คุณเอกราชเข้าใจดีว่า โซลูชันเทคโนโลยีต่างๆ อาจทำให้เกิดความกังวล ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง หรือแม้แต่ความยุ่งยากซับซ้อนเกินไปสำหรับผู้ใช้งานทั่วๆไป ด้วยเหตุนี้ เขาจึงมีความตั้งใจที่จะทำให้ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องง่าย ภายใต้วิถีทางของ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เพื่อให้เทคโนโลยี “ง่ายต่อการนำไปใช้ และยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้” และนี่เป็นกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับแก่นความเชื่อของเขาที่ว่า “เทคโนโลยีควรเป็นสิ่งที่ผู้คนเข้าถึงด้วยวิธีที่ถูกต้อง บนอุปกรณ์ที่ใช่ และด้วยความพยายามที่ตรงจุด”

 แม้ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญความท้าทายอีกมากมายบนเส้นทางสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง แต่สำหรับคุณเอกราชแล้ว ประเด็นที่เป็นแรงกดดันมากที่สุดคือ “ความเหลื่อมล้ำทางทักษะด้านดิจิทัล”

“เรามีปัญหาด้านทักษะที่ใหญ่มาก ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้เทคโนโลยีให้เป็น แต่คือการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี” เขาเน้นย้ำปัญหานี้ต้องได้รับการแก้ไข หากประเทศไทยต้องการรักษาความสามารถทางการแข่งขันให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แม้ไทยจะมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านอี-คอมเมิร์ซ การชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างแพร่หลาย แต่คุณเอกราชเชื่อว่า เรายังสามารถทำได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการสนับสนุนและส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้เป็นนวัตกรทางเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จึงมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน “ปัจจุบัน เรามีเวทีแสดงความคิดเห็นมากมาย กับหลากหลายหน่วยงานและองค์กร แต่นั่นก็ยังเป็นการทำแบบแยกส่วนๆ เราจำเป็นต้องมีกรอบการ

ทำงานระดับมหภาคที่ผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและองค์กรเอกชนเข้าด้วยกัน” คุณเอกราช ย้ำชัด พร้อมทั้งยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศไทยเอง มากกว่าการพึ่งพาผู้ให้บริการจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว “ไม่ใช่แค่เรื่องของแพลตฟอร์ม แต่คือการคิดค้นนวัตกรรมที่เราเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง เพราะเราเท่านั้นที่จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงสิ่งที่ประเทศต้องการ”

 

ผู้นำที่เปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ และเชื่อมั่นในพลังของ “คน”

ด้วยความตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของทุนมนุษย์ต่อการทรานสฟอร์มสู่ดิจิทัลในครั้งนี้ คุณเอกราช กล่าวว่า “สินทรัพย์ที่ทรงพลังที่สุดของเราคือ คน” เขากล่าวอย่างไม่ลังเล “เรามีบุคลากรที่มีความสามารถหลากหลาย และแต่ละคนสามารถผสานความรู้และทักษะต่างๆ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกและคุณค่าอย่างแท้จริง”

แนวคิดและความเชื่อในพลังของคน ได้รับการโอบรับสู่ปรัชญาแห่งความเป็นผู้นำของคุณเอกราช การสั่งการในลักษณะจากระดับผู้บริหารลงไปสู่ระดับปฏิบัติการถือเป็นสิ่งล้าสมัย โดยคุณเอกราชยึดหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม (Inclusive) สนับสนุนความร่วมมือกัน พร้อมกับแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอย่างเปิดเผย “ผู้นำในวันนี้ต้องมีลักษณะของการเป็นผู้ฟัง” เขาอธิบายว่า “เราต้องเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ จากลูกค้าของเรา และเปิดรับมุมมองใหม่ๆ”

การเปิดกว้างนี้ยังสะท้อนชัดผ่านการใช้ชีวิตของคุณเอกราชเอง นอกจากหมวกนักบริหารแล้ว เขายังเป็นผู้ที่ชื่นชอบกีฬาเกี่ยวกับความเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกีฬาแข่งรถ “เพราะมันคือศิลปะ” เขากล่าวพร้อมอธิบายว่า การปรับแต่งเครื่องยนต์ให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละสนามแข่งถือเป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อน “วิถีบนสนามแข่งต้องอาศัยสมาธิ การตัดสินใจที่ถูกต้องและถูกเวลา รวมถึงการควบคุมทุกอย่าง ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับโลกธุรกิจได้เช่นกัน”

การรับรู้และเข้าใจถึงศักยภาพและความเป็นไปได้ของธุรกิจแทรกซึมอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานของ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป แม้จะต้องมีการวางโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับการเติบโตของบริษัท แต่คุณเอกราชยังคงยืนหยัดในจิตวิญญาณแห่งการคิดค้นที่ไม่หยุดนิ่งของสตาร์ตอัพ “เรายังคงยึดหลักที่ว่า ล้มเหลวเพื่อก้าวไปข้างหน้า” เขากล่าว “แต่เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์และเดินหน้าด้วยวิถีที่มีกลยุทธ์รัดกุมมากขึ้น”

 การสร้างสมดุลระหว่างความล้มเหลวและการก้าวไปข้างหน้า ถือเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จที่ดำเนินต่อเนื่องของทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เปิดโอกาสให้เราได้ลองผิดลองถูก พร้อมสร้างการเติบโต โดยคุณเอกราชเปรียบเทียบทรู ดิจิทัล กรุ๊ป กับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกว่า แม้แต่ยักษ์ใหญ่ สุดท้ายแล้วยังต้องเดินบนเส้นทางเพื่อความยั่งยืนขององค์กร และนั่นจึงทำให้เขา ยังคงมองเป้าหมาย 2025 ในทิศทางบวก “เราได้ก้าวผ่านข้อจำกัดต่างๆ ค้นพบเส้นทาง และพร้อมที่เติบโต” และย้ำว่า “เทคโนโลยีใม่ได้เป็นอุปสรรคอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่ช่วยให้สามารถทำในสิ่งที่เราตั้งใจได้”

อาจกล่าวได้ว่า สมดุลระหว่างนวัตกรรม กลยุทธ์ การเติบโตของธุรกิจ ควบคู่กับการมุ่งเน้นให้ความสำคัญด้านบุคลากรและความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสนับสนุนการเข้าถึงดิจิทัลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง คือนิยามแห่งความเป็นผู้นำของ เอกราช ปัญจวีณิน แม้การนำทางของคุณเอกราชสู่ภูมิทัศน์แห่งเทคโนโลยีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงชัดเจน คือ คุณเอกราชมีความแน่วแน่ที่จะทำให้อนาคตดิจิทัลของประเทศไทยเป็นหนึ่งในการมีส่วนร่วมโดยไม่แบ่งแยก นวัตกรรม และการเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาคสำหรับทุกคน

Coursera Inc. (NYSE: COUR) แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ชั้นนำ ประกาศเปิดตัวเส้นทางการศึกษาระดับปริญญาแบบใหม่, ประกาศนียบัตรวิชาชีพ 8 หลักสูตร, ใบรับรองความรู้ด้าน GenAI 20 หลักสูตร รวมไปถึงความเชี่ยวชาญพิเศษและเครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย AI ในงาน Coursera Connect ประจำปี 2024 ซึ่งจัดขึ้นในกรุงเทพฯ วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2568 การพัฒนาในครั้งนี้สนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับ AI ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม (MHESI) ของประเทศไทย โดยส่งเสริม 'การศึกษา 6.0' ผลักดันให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ บูรณาการเทคโนโลยีขั้นสูงและถ่ายทอดทักษะที่สำคัญ เพื่อเตรียมนักศึกษาให้พร้อมสำหรับความต้องการของยุคดิจิทัล

Coursera ยังได้ต้อนรับพันธมิตรมหาวิทยาลัยชื่อดัง 4 รายอย่างเป็นทางการ อาทิ Saïd Business School - มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และ IMD Business School รวมไปถึงบริษัทชั้นนำของอุตสาหกรรม 5 บริษัท ได้แก่ Airbus Beyond, Amazon และ Xbox การร่วมมือกันในครั้งนี้จะทำให้ผู้เรียนในไทยสามารถเข้าถึงเนื้อหาคุณภาพสูงที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

 

คุณรากาฟ กุปตา กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Coursera กล่าวว่า “วิสัยทัศน์ของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคของเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น มุ่งเน้นไปที่การสร้างแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลและปลูกฝังแนวคิดการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต Coursera มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนวิสัยทัศน์นี้โดยมอบทักษะที่จำเป็น เครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย AI ประกาศนียบัตรและใบรับรองที่เป็นที่ยอมรับระดับโลกซึ่งจำเป็นต่อการเติบโตในตลาดงานที่มีการแข่งขันสูงให้แก่ผู้เรียนและสถาบันต่าง ๆ โดยเป้าหมายของเราคือการส่งเสริมบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อร่วมพัฒนาและกำหนดทิศทางอนาคตด้านดิจิทัลของประเทศไทย”

โดยประกาศใหม่จาก Coursera ในประเทศไทย ประกอบไปด้วย:

● เส้นทางการเรียนปริญญาหลักสูตรใหม่จาก University of London (UoL): โปรแกรม International Foundation Programme (IFP) ในสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์จะช่วยมอบทักษะพื้นฐานในวิชาคณิตศาสตร์ สถิติ และการเขียนโปรแกรม เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกคน ไม่ว่าจะมีประสบการณ์การศึกษาหรือการทำงานมาก่อนหรือไม่ก็ตาม และเมื่อเรียนจบแล้วสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีแบบออนไลน์ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์จาก University of London ได้โดยตรง

● ประกาศนียบัตรวิชาชีพใหม่ 8 หลักสูตร ที่จะช่วยให้ผู้เรียนชาวไทยเรียนรู้หรือต่อยอดในสายอาชีพที่มีความต้องการสูง: ○ ประกาศนียบัตรวิชาชีพระดับเริ่มต้นสำหรับนักวิเคราะห์ค่าตอบแทนและสวัสดิการ จาก ADP ○ ประกาศนียบัตรวิชาชีพระดับเริ่มต้นสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้าน Payroll จาก ADP ○ ประกาศนียบัตรวิชาชีพระดับเริ่มต้นสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับจูเนียร์ จาก Amazon ○ ประกาศนียบัตรวิชาชีพด้านวิศวกรรมข้อมูล จาก DeepLearning.AI และ AWS ○ ประกาศนียบัตรวิชาชีพด้านการออกแบบเกม จาก Epic Games ○ ประกาศนียบัตรวิชาชีพระดับเริ่มต้นสำหรับนักพัฒนาแอปพลิเคชันมือถือ iOS และ Android จาก IBM ○ ประกาศนียบัตรวิชาชีพระดับเริ่มต้นสำหรับ Program Manager จาก IBM ○ ประกาศนียบัตรวิชาชีพระดับเริ่มต้นสำหรับนักประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร จาก Microsoft ● ใบรับรองวิชาชีพระดับเริ่มต้น 6 หลักสูตรจาก Google ได้แก่ Google Cybersecurity, Google Data Analytics, Google Digital Marketing & E-commerce, Google IT Support, Google Project Management และ Google UX Design โดยหลักสูตรทั้งหมดได้รับการพัฒนาด้วยการอัปเดตจาก GenAI พร้อมมอบการฝึกอบรมด้าน AI ที่สามารถนำไปใช้ได้ได้จริงจากผู้เชี่ยวชาญของ Google

● หลักสูตรความเชี่ยวชาญเฉพาะทางแบบใหม่จาก IBM และ Microsoft มอบทักษะ GenAI ที่ถูกปรับให้เหมาะสมกับบทบาทของแต่ละอาชีพ ช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำ AI มาใช้ในการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้:

○ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของ IBM ครอบคลุมอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นักวิเคราะห์ BI, ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์, นักวิทยาศาสตร์ทางข้อมูล, การบริหารทรัพยากรมนุษย์, ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยจะเน้นที่การใช้ศักยภาพของ GenAI ในหน้าที่งานต่าง ๆ

○ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้าน Copilot ของ Microsoft ที่จะสอนการผสมผสาน AI ให้เข้ากับงานประจำวันอย่างมีประสิทธิภาพด้วยหลักสูตรต่างๆ เช่น Microsoft Copilot สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล, การตลาด, การขาย และการพัฒนาซอฟต์แวร์ ● การพัฒนาของ Coursera Coach ที่ใช้ AI เพื่อมอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นส่วนตัวและโต้ตอบได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มผลลัพธ์การเรียนรู้ได้ดียิ่งกว่าเดิม:

○ ระหว่างนักเรียนและครูในประเทศไทย โดย Coach จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเสมือน โดยให้คำแนะนำส่วนบุคคล คำตอบ และสรุปวิดีโอบรรยายเป็นภาษาท้องถิ่น

○ Coach for career guidance: ภายในสิ้นปี Coach จะช่วยให้ผู้เรียนสำรวจเส้นทางอาชีพและระบุทักษะที่สามารถถ่ายทอดได้ไปยังเส้นทางการเรียนรู้หรืออาชีพอื่นได้ พร้อมทั้งแนะนำเส้นทางการเรียนรู้ที่ปรับแต่งตามประสบการณ์และเป้าหมายของผู้เรียน

○ Coach for interactive instruction: ปัจจุบันผู้สอนสามารถใช้ Coach เพื่อสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ที่สมจริง โดยเริ่มจากบทสนทนาแบบ Socratic หรือการเรียนรู้ด้วยการตั้งคำถามด้วยการโต้ตอบแบบข้อความ ผู้สอนสามารถระบุวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ สไตล์การสอน และเกณฑ์การประเมินได้ ผ่านการใช้แนวทางการสอนและเนื้อหาหลักสูตรที่ดีที่สุดของ Coursera โดยมี Google Gemini เป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ตัวแรกที่ขับเคลื่อนฟีเจอร์นี้\

● เพิ่มหลักสูตรเนื้อหาภาษาไทยถึงสองเท่า: ปัจจุบันมีหลักสูตรที่แปลเป็นภาษาไทยกว่า 4,700 หลักสูตร สำหรับผู้เรียนรายบุคคลและภายในองค์กร โดยจำนวนหลักสูตรภาษาไทยเพิ่มขึ้นจาก 2,000 หลักสูตรเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว

● ความร่วมมือใหม่ครั้งใหม่กับ PWC ประเทศไทย, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ธนาคารกสิกรไทย, บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ และเซ็นทรัล รีเทล

คุณวรวัจน์ สุวคนธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนา “ทักษะการเรียนรู้” สำหรับทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับทักษะของพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ผ่านแพลตฟอร์ม Coursera ตั้งแต่ปี 2561 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ Coursera เพื่อสร้างหลักสูตรภาษาไทย ขยายโอกาสการเรียนรู้ให้กว้างไกลออกไปนอกแพลตฟอร์ม และยกระดับการศึกษาในประเทศไทยผ่านโครงการ CSR ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้เรียนกว่า 4,000 คน และเร็วๆ นี้ SCB Academy จะเปิดตัวโปรแกรมการเรียนรู้แบบครอบคลุมทั่วประเทศ โดยผสมผสานเวิร์กช็อปแบบโต้ตอบและจัดกิจกรรมในสถานที่จริงตามหลักสูตร “Learning How to Learn” ของ Coursera ซึ่งมุ่งเน้นการเสริมทักษะที่จำเป็นให้กับผู้สอน นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ยังมีแผนที่จะร่วมมือกับดร. บาร์บารา โอ๊คลีย์ เพื่อแปลหลักสูตร “Accelerate Your Learning with ChatGPT” เป็นภาษาไทยภายในปี 2568 โดยใช้ประโยชน์จาก AI เชิงสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาการศึกษาของไทย

ไบแนนซ์ ทีเอช บาย กัลฟ์ ไบแนนซ์ (BINANCE TH by Gulf Binance) บริษัทร่วมทุนระหว่าง ไบแนนซ์ แคปปิตอล แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัทภายในเครือของไบแนนซ์ แพลตฟอร์มที่มีปริมาณการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ บริษัท กัลฟ์ อินโนวา จำกัด พาส่องเทรนด์โลกสินทรัพย์ดิจิทัล โดยนายนิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด ในหัวข้อ ‘คว้าโอกาสในโลกบิทคอยน์ ไปทางไหน’ ในงาน The Secret Sauce Summit 2024 มุ่งเจาะลึก 3 สัญญาณการเติบโตของบิทคอยน์ ทั้งในกลุ่มนักลงทุนระดับย่อยและนักลงทุนสถาบัน พร้อมเผยเทคนิคการเลือกแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุนที่มีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

3 สัญญาณการเติบโตของบิทคอยน์

1. การยอมรับการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัล

เทรนด์การลงทุนในยุคปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน จากเดิมที่เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ อาทิ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ กระเป๋า หรือนาฬิกา แต่ตอนนี้ผู้คนทั่วโลกหันมานิยมลงทุนใน ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ โดยเฉพาะ บิทคอยน์ มากยิ่งขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านมูลค่าตลาดของบิทคอยน์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนแตะระดับสูงสุด

(All Time High - ATH) ที่ 73,750 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบิทคอยน์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา รวมถึงยังเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุดติด 10 อันดับแรกของโลกอีกด้วย

ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไปช่วงที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2555 สมัยบารัก โอบามา ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีในขณะนั้น ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าบิทคอยน์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในทุกๆ 4 ปี ช่วงเวลาเดียวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คนใหม่ ซึ่งสำหรับการเลือกตั้งในปีนี้เอง ยังคงต้องจับตาดูอีกครั้งว่าแนวโน้มมูลค่าของบิทคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป

กราฟแสดงมูลค่าของบิทคอยน์ (ดอลลาร์สหรัฐ) ระหว่างปี 2554 ถึง กลางไตรมาสที่ 2 ปี 2567 โดย ChartsBTC

2. สินทรัพย์ดิจิทัลกับการใช้งานในชีวิตจริง

 

นาย นิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด แสดงเส้นทางการใช้งานบิทคอยน์ในชีวิตจริงนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา

บิทคอยน์ ถูกใช้งานจริงครั้งแรกในวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 เพื่อใช้ซื้อพิซซ่า ซึ่งทำให้ทุกวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี ได้ถูกเรียกว่าเป็น ‘Bitcoin Pizza Day’ เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าเราสามารถนำบิทคอยน์มาซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งหลังจากนั้นปรากฎการณ์การยอมรับบิทคอยน์ได้มีให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปิดตัว Bitcoin ATM เครื่องแรกต่อสาธารณะ ในปี 2556 ณ ร้านกาแฟในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา รวมถึงการที่หลากหลายแบรนด์ชั้นนำยอมรับให้ซื้อสินค้าด้วยบิทคอยน์ ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Dell และ PayPal รวมถึงแบรนด์หรู อย่าง Hublot เป็นต้น นอกจากนี้ ในปี 2564 เอลซัลวาดอร์ ยังถือเป็นประเทศแรกที่ยอมรับบิทคอยน์เป็นสกุลเงินที่สามารถนำมาชำระหนี้ (Legal Tender) และใช้แทนเงินสดได้ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย

ล่าสุดในปี 2567 บิทคอยน์ยังคงเดินหน้าสู่การยอมรับในวงกว้างมากขึ้น เห็นได้ชัดจากที่หลายประเทศ เริ่มเล็งเห็นบิทคอยน์เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของชาติ ยกตัวอย่างเช่น

· ฮ่องกง เป็นประเทศที่ทางรัฐบาลตั้งเป้าผลักดันให้เป็นประเทศ ‘ศูนย์กลางคริปโตเคอร์เรนซีแห่งเอเชีย’ เชื่อมต่อระหว่างโลกเกมเข้ากับบิทคอยน์ พร้อมชูให้เป็นหนึ่งในนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

· รัสเซีย ประกาศทดลองใช้บิทคอยน์เป็นสกุลเงินที่สามารถนำมาชำระหนี้ และใช้แทนเงินสดได้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อประยุกต์ใช้ในระบบการเงินของประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

· สหภาพยุโรป เริ่มยอมรับการใช้บิทคอยน์ภายในประเทศสมาชิกทั้ง 28 ประเทศ โดยมีผลบังคับใช้กฎระเบียบ MiCA (Markets in Crypto-Assets Regulation) เพื่อรับประกันเสถียรภาพทางการเงินในกลุ่มประเทศสมาชิกทั้งในแง่ของการเป็นเจ้าของ การซื้อขาย และการนำเสนอบริการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล

3. การมาถึงของ Spot Bitcoin ETFs สู่การยอมรับของนักลงทุนสถาบัน

 

นาย นิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด เผยให้เห็นรายชื่อกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่สนใจเข้ามาสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

นับตั้งแต่การเปิดตัว Spot Bitcoin ETFs เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน Spot Bitcoin ETFs ได้มีมูลค่าการทำธุรกรรมมากถึง 55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งผลให้ตอนนี้ การลงทุนในบิทคอยน์ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มนักลงทุนรายย่อยเท่านั้น แต่ได้มีผู้เล่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันสนใจเข้ามาสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นจำนวนมาก อาทิ Morgan Stanley JPMorgan Chase & Co CitiBank Goldman Sachs และ Wells Fargo เป็นต้น

เริ่มต้นลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล แพลตฟอร์มแบบไหน ใช่ที่สุด

ในประเทศไทย มีแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลมากมายให้เลือกลงทุน ดังนั้น สิ่งที่สำคัญสำหรับการตัดสินใจว่าจะเลือกลงทุนในแพลตฟอร์มใด ผู้ลงทุนจึงควรต้องศึกษารายละเอียดและฟีเจอร์ที่ให้บริการอย่างรอบคอบ แพลตฟอร์ม BINANCE TH by Gulf Binance ที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับในประเทศ ให้บริการลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน และรองรับการใช้งานให้แก่ผู้ใช้งานคนไทยโดยเฉพาะ โดยผู้ใช้สามารถมีอิสระในการซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยการดำเนินงานที่รวดเร็ว สะดวก ค่าธรรมเนียมต่ำ อีกทั้ง ผู้เริ่มต้นลงทุนด้านสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหม่ยังสามารถทำความเข้าใจ และใช้งานแพลตฟอร์มได้โดยง่าย ที่สำคัญแพลตฟอร์ม BINANCE TH by Gulf Binance ยังรองรับการลงทุนของคนทุกกลุ่มทั้งนักลงทุนนิติบุคคล และนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย เพื่อมอบประสบการณ์ด้านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแบบครบวงจร สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ที่มุ่งหวังส่งเสริมความเท่าเทียมทางการเงินให้แก่ทุกคน

ส่งเสริมการสร้างอาชีพ - พัฒนาสิทธิประโยชน์ – ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการดูแลผู้ประกอบอาชีพในระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล ระหว่าง นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นายเอกชาติ นาคาไชย รองผู้อำนวยการ รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และ นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เป็นผู้ลงนาม ณ ห้องประชุม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า “แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นรูปแบบธุรกิจ ที่ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังเป็นเสมือนตัวกลางที่อำนวยความสะดวกระหว่างผู้บริโภค ผู้ให้บริการ และผู้ประกอบอาชีพในระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงแรงงานได้กำหนดนโยบาย ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการคุ้มครองแรงงานให้ได้รับการดูแลสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน รวมทั้งความปลอดภัยในการทำงาน กระทรวงแรงงาน จึงมีแนวคิดในการจัดทำบันทึกความร่วมมือ ว่าด้วยการดูแลผู้ประกอบอาชีพในระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในสังกัดกระทรวงแรงงาน ร่วมกับ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการดูแลผู้ประกอบอาชีพในระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ในการหาแนวทางยุติปัญหาที่เกิดขึ้น ระหว่างคนทำงานในระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลกับผู้ให้บริการฯ หรือมีช่องทางในการบริหารจัดการกับปัญหาที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ชัดเจน รวมถึงการสร้างงาน ให้กับผู้สูงอายุ ที่ต้องการเลือกประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ที่ต้องการหารายได้เสริม โดยได้ร่วมมือกับกรมการจัดหางาน ในการส่งตำแหน่งงานว่างเพื่อสร้างอาชีพ ตลอดจนส่งเสริมการทำงาน หรือสร้างมาตรฐานในการทำงาน ที่ปลอดภัย โดยร่วมกับสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) ซึ่งการลงนามร่วมกันในครั้งนี้จะส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ประกอบธุรกิจบริการระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลกับผู้ประกอบอาชีพในระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล และเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงอาชีพของ ผู้ว่างงานและผู้สูงอายุที่ประสงค์จะทำงานอีกด้วย”

 

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแพลตฟอร์มดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้นและกลายเป็นส่วนสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการทำงานในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ของคนที่เปลี่ยนแปลงไป ในฐานะผู้นำแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ผ่านการใช้เทคโนโลยี แกร็บให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดูแลพาร์ทเนอร์คนขับ ซึ่งใช้แพลตฟอร์มของเรา เป็นช่องทางในการหารายได้ โดยที่ผ่านมาแกร็บมุ่งเน้นการบริหารค่าตอบแทนที่เหมาะสมและสอดคล้อง กับระบบอุปสงค์อุปทาน ทั้งยังพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานของพาร์ทเนอร์คนขับ และสร้างมาตรฐานให้กับแรงงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น การจัดทำประกันอุบัติเหตุเพื่อให้คุ้มครองระหว่างการให้บริการ การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมและเป็นไปตามข้อกำหนดของ ธปท. รวมไปถึงการจัดทำคอร์สอบรมเพื่อให้ความรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นผ่านโครงการ GrabAcademy เป็นต้น”

“การผนึกความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของแกร็บในการร่วมผลักดันมาตรฐานการดูแลผู้ประกอบอาชีพในระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลให้เป็นรูปธรรม โดยเราพร้อมสนับสนุนและ ให้ความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการพัฒนาแนวทางในการคุ้มครองแรงงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแพลตฟอร์มเพื่อหารายได้ ตลอดจนดูแลให้แรงงานเหล่านี้ได้รับสิทธิประโยชน์ และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น” นายวรฉัตร กล่าวเสริม

 

ทั้งนี้ บันทึกความร่วมมือระหว่าง แกร็บ ประเทศไทย และ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน และสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในครั้งนี้มีเป้าหมายหลัก ที่จะส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับแรงงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลผ่านการดำเนินงานใน 3 ส่วนสำคัญ คือ

· การส่งเสริมการให้สิทธิประโยชน์ที่เป็นมาตรฐานกับแรงงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและแกร็บจะร่วมหาแนวทางในการสนับสนุนและจัดทำมาตรการในการดูแลผู้ประกอบอาชีพในระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เหมาะสม ซึ่งรวมไปถึงการกำหนดสิทธิประโยชน์ที่เป็นมาตรฐาน ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับแรงงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยที่ผ่านมา แกร็บให้ความสำคัญกับการจัดสรรสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติมให้กับพาร์ทเนอร์คนขับ นอกเหนือจาก การบริหารค่าตอบแทนที่เหมาะสม โดยเฉพาะ การจัดทำประกันอุบัติเหตุเพื่อให้ความคุ้มครองพาร์ทเนอร์

คนขับทุกคนตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังให้บริการแล้ว โดยมีวงเงินคุ้มครองสูงสุด 100,000 บาท ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ และวงเงินชดเชยสูงสุด 200,000 บาท ในกรณีเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการด้านสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพของพาร์ทเนอร์คนขับโดยมีวงเงินสูงสุด 100,000 บาท ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม โดยสามารถแบ่งชำระได้แบบรายวัน เป็นต้น

· การส่งเสริมการสร้างอาชีพและโอกาสในการหารายได้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลให้กับผู้ที่ว่างงาน รวมถึงผู้สูงอายุ โดยแกร็บและกรมการจัดหางานจะร่วมกันส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ จากแพลตฟอร์มของแกร็บในการหารายได้ ไม่ว่าจะเป็น การให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน หรือ บริการด้านเดลิเวอรี ซึ่งที่ผ่านมา แกร็บเปิดโอกาสให้กับคนไทยหลายแสนคน สามารถเข้ามา เป็นพาร์ทเนอร์คนขับเพื่อหารายได้เสริม โดยไม่จำกัดเพศ วัย การศึกษา หรือแม้แต่ผู้ที่มีข้อจำกัด ทางด้านร่างกาย เช่น ผู้พิการทางการได้ยิน นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มโครงการ ‘แกร็บวัยเก๋า’ เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยวัยเกษียณสามารถหารายได้และส่งเสริมคุณค่าในตัวเองผ่านแพลตฟอร์มของแกร็บ โดยปัจจุบันมีพาร์ทเนอร์คนขับกลุ่มนี้มากกว่า 13,000 คน

· การพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยสำหรับแรงงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยแกร็บและ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานจะร่วมกันพัฒนาแนวทางปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในระหว่างการทำงานให้กับผู้ประกอบอาชีพในระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น การจัดอบรมเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในการทำงาน หรือการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อป้องกันภัยต่างๆ เป็นต้น โดยที่ผ่านมา แกร็บให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความปลอดภัย เป็นอันดับต้นๆ เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับทุกคนที่ใช้แพลตฟอร์มของแกร็บ โดยได้พัฒนาเทคโนโลยี และมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ระบบตรวจสอบการเดินทางแบบเรียลไทม์ ฟีเจอร์ Safety Centre ที่ทั้งผู้โดยสารและพาร์ทเนอร์คนขับสามารถแชร์ข้อมูลการเดินทางให้กับเพื่อน หรือครอบครัวได้แบบเรียลไทม์ รวมถึงสามารถขอความช่วยเหลือได้ในกรณีฉุกเฉิน และฟีเจอร์ Audio Protect ที่ช่วยบันทึกเสียงระหว่างการเดินทางเพื่อป้องกันเหตุร้ายและใช้เป็นหลักฐานหากเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างการเดินทาง เป็นต้น

Page 1 of 8
X

Right Click

No right click