นางสาวสุภาภรณ์ อังศรีสุรพร ผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการอาวุโส อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผู้จัดงาน Food & Hospitality Thailand (FHT) เผยถึงความคืบหน้าในการเตรียมจัดงานฯ ปีนี้ว่า จากทั้งสัญญาณการท่องเที่ยวที่ดีต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 67 และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติล่าสุดที่สูงเกิน 11.29 ล้านคนแล้ว โดยนักท่องเที่ยวจีนยังเป็นอันดับ 1 โดยมีจำนวนสูงถึง 1,920,039 คน ยังไม่รวมนักท่องเที่ยวจากจีนที่เข้ามาเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์อีก 395,830 คน และคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายของทั้งปีที่ ททท. กำหนดไว้ที่ 35 ล้านคน นอกจากนั้นยังได้รับการส่งเสริมจากนโยบายภาครัฐที่ต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกจากการเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาและการประชุมระดับโลก การเพิ่มเที่ยวบินจากเส้นทางการบินระหว่างประเทศมาไทย รวมถึงการประกาศให้เป็น "Golden Year of Tourism" ในปี 2568 เพื่อเน้นย้ำกระแสการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยได้เตรียมจัดอีเวนท์สำคัญระดับโลกและนำเสนอศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร และแฟชั่น ฯลฯ สู่สายตาชาวโลก
ดังนั้น อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย จึงได้รวมมือกับพันธมิตรขยายขอบเขตการจัดงาน Food & Hospitality Thailand พร้อมยกระดับการจัดงานเป็น Thai Tourism & Hospitality Week ถือเป็นแรงสนับสนุนของภาพเอกชนที่จะช่วยสร้างความคึกคักและร่วมพัฒนาภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากแผนงานดังกล่าวที่ได้สื่อสารกับกลุ่มผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้การจัดงานฯ ในปีนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยข่าวดีล่าสุดของการจัดงานครั้งนี้ คือ การได้รับความสนใจจาก 2 งานแสดงสินค้าใหญ่ Hotel & Shop Plus และ Hotelex จากประเทศจีนที่จะมาเข้าร่วมในการจัดงานครั้งนี้ด้วย
โดย Hotel & Shop Plus Thailand จะเป็นงานแสดงสินค้าชั้นนำสำหรับโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่รวบรวมซัพพลายเออร์ชั้นนำที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบภายนอกและภายใน ระบบโรงแรมอัจฉริยะ การตกแต่งและแสงสว่าง โดยครั้งนี้เป็นปีที่ 2 ของการร่วมจัดงาน ส่วน Hotelex Thailand นั้น เป็นงานที่นำเสนอโซลูชั่นของภาคธุรกิจโรงแรมและการจัดเลี้ยง อาทิ อุปกรณ์สำหรับงานจัดเลี้ยงและเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร โดย Hotelex Thailand นั้น เป็นการร่วมจัดงานครั้งแรกในประเทศไทย
ดังนั้น Thai Tourism & Hospitality Week จึงมีความยิ่งใหญ่และครบวงจรจากการผสานจุดเด่นของทั้ง 3 งาน เป็นการพัฒนาการจัดงานไปสู่การเป็นศูนย์กลางการสร้างเครือข่ายและการสำรวจเทรนด์ใหม่ๆ ของอุตสาหกรรมอาหารและการบริการ ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยการเติบโตได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงานด้านธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวของภูมิภาคอีกด้วย
ในส่วนของงาน Food & Hospitality Thailand 2024 มีการจัดแบ่งโซนการจัดแสดงสินค้า 8 โซน ประกอบด้วย อาหารและเครื่องดื่ม (Food & Drinks) คาเฟ่และเบเกอรี่ (Café & Bakery) เครื่องใช้สำหรับธุรกิจบริหาร (Hospitality Style) เทคโนโลยีสำหรับธุรกิจบริการ (Hospitality Technology) อุปกรณ์สำหรับธุรกิจอาหาร (Foodservice Equipment) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Sips & Spirits) ร้านค้าปลีก (Shop & Retail) อุปกรณ์และเครื่องใช้สำหรับทำความสะอาด (Cleaning Supplies & Equipment) รวมถึงกิจกรรมการแข่งขัน และสัมมนาสำหรับคนในวงการเพื่ออัปเดทเทรนด์ใหม่ๆ และความรู้ เพื่อต่อยอดธุรกิจ
งาน Food & Hospitality Thailand 2024 เป็นงานแสดงสินค้าสำหรับธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและการบริการที่ครบวงจรที่สุดของภูมิภาค โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 สิงหาคม 2567 ณ ฮอลล์ 1-4 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ข้อมูลรายละเอียดการจัดงานสามารถเข้าชมและติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fhtevent.com Facebook : Food & Hospitality Thailand
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวไทยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเวลาเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ผลการสำรวจ Eco Deals ของอโกด้า แพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว พบว่า 84% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยใส่ใจกับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าสิ่งจูงใจทางการเงิน จำนวนแพ็คเกจท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่มีให้เลือกมากขึ้น และแนวทางวิธีปฏิบัติสำหรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ชัดเจนมากขึ้น สามารถช่วยกระตุ้นให้พวกเขาตัดสินใจเลือกตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเมื่อไปท่องเที่ยวครั้งต่อไปได้
การสำรวจครั้งนี้มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามบนแพลตฟอร์มของอโกด้า ทั้งหมดกว่า 10,000 คน จาก 10 ประเทศ ทั่วทวีปเอเชีย โดยนักท่องเที่ยวเกือบ 8 ใน 10 คน ระบุว่าเต็มใจที่จะเลือกตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเมื่อไปท่องเที่ยว โดย 18% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าทุกครั้งพวกเขาจะพยายามท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้นอยู่เสมอ ในทางกลับกัน 22% ของนักท่องเที่ยวระบุว่าแทบไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืนเวลาวางแผนท่องเที่ยวเลย โดยในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นถึง 45% และเป็นนักท่องเที่ยวชาวฟิลิปปินส์เพียง 8%
สิ่งจูงใจทางการเงินอาจมาเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การสำรวจ Eco Deals 2024 ของอโกด้า มีคำถามเกี่ยวกับปัจจัยสำคัญที่สามารถช่วยกระตุ้นให้ผู้ตอบแบบสอบถามตัดสินใจเลือกตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวทุกประเทศระบุว่าสิ่งจูงใจทางการเงิน เช่น ส่วนลด คือปัจจัยสำคัญอันดับ 1 เฉลี่ยแล้วคิดเป็น 45% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด โดยนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ (58%) ไต้หวัน (54%) และอินโดนีเซีย (47%) เป็น 3 ชาติแรก ที่ระบุว่าสิ่งจูงใจทางการเงินคือปัจจัยสำคัญอันดับ 1 มากที่สุด ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยมี 43% ที่ระบุเช่นเดียวกัน
ปัจจัยสำคัญอันดับ 2 คือจำนวนแพ็คเกจท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่มีให้เลือกมากขึ้น เช่น แพ็คเกจที่เตรียมทริป หรือกิจกรรมไว้ให้แล้ว อย่างการเดินป่าเชิงอนุรักษ์แบบมีผู้นำทาง และการส่งเสริมโครงการริเริ่มในท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวชาวฟิลิปปินส์ 28% เวียดนาม 24% และไทย 23% ส่วนปัจจัยสำคัญอันดับต่อมานั้น คือ แนวทางวิธีปฏิบัติสำหรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ชัดเจน (#3) การให้ความรู้ และส่งเสริมการตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (#4) และนโยบายเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เกี่ยวข้องรัฐบาลในประเทศ (#5)
คุณเอนริก คาซาลส์, Associate Vice President Southeast Asia, อโกด้า กล่าวว่า “เราเห็นได้ชัดจากผลการสำรวจว่านักท่องเที่ยวต้องการเลือกตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โปรแกรม Eco Deals ของอโกด้ามีข้อเสนอสุดคุ้มมากมายให้นักท่องเที่ยวที่เลือกจองที่พักที่เข้าร่วมโปรแกรม และสำหรับทุกรายการจองของทุกที่พัก Eco Deals อโกด้าก็จะบริจาคเงินจำนวน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กับโครงการอนุรักษ์ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ใน 8 ประเทศ ในทวีปเอเชีย โดยเราตั้งใจที่จะบริจาคเงินให้ได้ถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อโกด้ามุ่งมั่นช่วยให้ทุกคนออกไปท่องโลกทั้งใบได้ในราคาถูกลง และโปรแกรม Eco Deals ของเราช่วยให้นักท่องเที่ยว ‘ตอบแทน’ เมืองและสถานที่ท่องเที่ยวที่ไปได้พร้อมกัน”
เมื่อถามเรื่องวิธีปฏิบัติสำหรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอะไรที่ให้ความสำคัญมากที่สุดเวลาท่องเที่ยว ซึ่ง 36% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยระบุว่าให้ความสำคัญกับการส่งเสริมชุมชน และโครงการอนุรักษ์ในท้องถิ่นมากที่สุด ส่วนทั่วทั้งทวีปเอเชีย ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 1 ใน 4 (26%) เลือกส่งเสริมชุมชนในท้องถิ่นด้วยการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในท้องถิ่น หรือมีส่วนร่วมในโครงการริเริ่มของชุมชน
วิธีปฏิบัติสำหรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญมากที่สุดเป็นอันดับ 2 เวลาท่องเที่ยว คือการรีไซเคิลและการลดของเสีย (20%) เช่น การใช้ผ้าเช็ดตัว และผ้าปูที่นอนซ้ำ อันดับ 3 คือการเข้าร่วมกิจกรรม และทัวร์เกี่ยวกับการอนุรักษ์ (17%) ส่วนอันดับ 4 และ 5 คือการเลือกจองที่มีการรับรองศักยภาพด้านความยั่งยืน และการเลือกตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเวลาเดินทาง ตามลำดับ
นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นวันสัตว์ป่าโลก นักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกคนสามารถจองที่พัก Eco Deals บนอโกด้าได้ สำหรับทุกรายการจองของทุกที่พัก Eco Deals อโกด้าจะบริจาคเงินจำนวน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กับโครงการอนุรักษ์ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ที่มุ่งมั่นปกป้องสัตว์ป่า และอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์ป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้นักท่องเที่ยวที่จองจะได้รับส่วนลดสูงสุดถึง 15% อีกด้วย ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.agoda.com/ecodeals
SiteMinder ผู้นำแพลตฟอร์มระดับโลกด้านโฮเทลคอมเมิร์ซแบบ Open Platform เปิดตัวรายงานพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปที่ใหญ่ที่สุดในโลก ฉบับปี 2023 ที่เผยว่า 88% ของนักท่องเที่ยวไทยตั้งใจที่จะท่องเที่ยวอย่างน้อยเท่าๆ กับที่เคยท่องเที่ยวเมื่อปีที่แล้ว โดย 1 ใน 2 หรือประมาณ 53% คาดว่าจะท่องเที่ยวมากกว่าเดิม นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศเท่านั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 26% ในปีก่อน เป็น 49% ในปีนี้
รายงาน Changing Traveller Report 2023 ของ SiteMinder เป็นข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวกว่า 10,000 คน จากทั้งในประเทศไทยและอีก 11 ประเทศ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นพฤติกรรมหลักๆ ได้ 4 ประเภท โดยแบ่งจากพฤติกรรมแผนการท่องเที่ยว และแรงจูงใจ ที่จะส่งผลต่อการท่องเที่ยวโลกในอนาคตอันใกล้นี้
1. The enduring explorer: นักเดินทางที่จริงจังกับการท่องเที่ยว ค่าครองชีพไม่ใช่เรื่องสำคัญ
2. The digital dependent: นักท่องเที่ยวที่พึ่งพาเทคโนโลยี และอุปกรณ์การสื่อสาร
3. The memory maker: นักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่น่าจดจำ
4. The conscious collaborator: นักท่องเที่ยวที่พร้อมให้ความร่วมมือกับผู้ให้บริการที่ัพักและชุมชน
แม้ยุคปัจจุบันจะมีอัตราเงินเฟ้อที่สูง แต่เมื่อเป็นเรื่องของที่พัก นักท่องเที่ยวชาวไทยทั่วโลกถึง 96% พร้อมที่จะใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าห้องพัก ผลการสำรวจนี้ไม่เป็นที่น่าแปลกใจ เนื่องจากเกือบ 9 ใน 10 ของนักท่องเที่ยวชาวไทยบอกว่า ความคาดหวังจากผู้ให้บริการที่พักของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้ อาทิ การมีสถานที่ทำงานที่สะดวกสบาย และเหมาะกับการทำงาน คือสิ่งที่นักท่องเที่ยวชาวไทยคาดหวัง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจซึ่งพบว่านักท่องเที่ยวกว่า 57% คาดว่าจะทำงานไปด้วยระหว่างทริป แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะลดน้อยลงกว่าตัวเลข 65% ในปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวไทยยังคงดำรงตำแหน่งอันดับสอง ของประเทศที่คาดว่าจะทำงานระหว่างท่องเที่ยว ซึ่งตามหลังเพียงนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเท่านั้น
ในภาพรวมโลก นักท่องเที่ยวถึง 1 ใน 2 มองที่พักเป็นจุดหมายปลายทางในการพักผ่อนในตัวเอง โดยเฉพาะในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยคาดว่าจะใช้ ‘เวลาเกือบทั้งหมด’ หรือ ‘เวลาส่วนมาก’ ไปกับการพักผ่อนในที่พักในทริปถัดไป และในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยยิ่งสูงขึ้นอีกที่ 77%
คุณแบรด ไฮนส์ รองประธานฝ่ายภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค บริษัท SiteMinder เผยว่ารายงานฉบับล่าสุดนี้ ช่วยชี้ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย รวมถึงการเป็นตัวแปรสำคัญของผู้ให้บริการที่พัก
“ตรงกันข้ามกับปีที่ผ่านๆ มา เราเห็นความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางไปต่างประเทศเป็นหลัก รวมถึงแผนการใช้จ่ายแม้จะมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูง” คุณแบรด ไฮนส์ กล่าว “นอกจากนี้ เรายังเห็นว่า สถานที่พัก กลายมาเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยว โดย 77% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยเผยว่า สถานที่พัก ก็คือสถานที่ท่องเที่ยวที่พวกเขาต้องการไป”
แม้ว่าเกือบ 77% ของนักท่องเที่ยวชาวไทย จะเข้าใจถึงคุณภาพการบริการที่อาจจะลดลงกว่ามาตรฐานเนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน อย่างไรก็ตาม ในรายงาน Changing Traveller Report 2023 ของ SiteMinder เผยว่า อุตสาหกรรมที่พักถูกมองว่ายังตามหลังอุตสาหกรรมอื่นๆ ในแง่ของเทคโนโลยี โดยกว่า 60% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยมองว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังอยู่ในค่าเฉลี่ย หรือตามหลัง ในเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ และกว่า 95% มองว่าการจองที่พักและประสบการณ์การพักผ่อนของพวกเขาจะดีมากยิ่งขึ้นได้ หากธุรกิจที่พักมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้มากยิ่งขึ้น
รายงานของ SiteMinder เผยถึงเทคโนโลยีที่มีการใช้ในหมู่ของนักท่องเที่ยว ได้แก่:
· AI - นักท่องเที่ยวทั่วโลกมากกว่าครึ่ง และสองในสามของมิลเลนเนียล มี ‘แนวโน้ม’ หรือ ‘มีโอกาสมาก’ ที่จะใช้ AI ในการแนะนำสถานที่พัก โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยมีโอกาสใช้ AI เพื่อแนะนำสถานที่พักมากขึ้นอีก โดยมีแนวโน้มถึง 86%
· โซเชียลมีเดีย - 70% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึง 9 ใน 10 ของ Gen Z บอกว่าโซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเสาะหาที่พักของพวกเขา ในประเทศไทย โซเชียลมีเดีย ยิ่งมีอิทธิพลสูงมากยิ่งขึ้น โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 25% ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยดำรงตำแหน่งอยู่ในอันดับสอง รองจากนักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซียเท่านั้น เมื่อวัดจากอิทธิพลของโซเชียลมีเดียต่อการเสาะหาที่พัก
· เว็บไซต์จองที่พัก - แม้นักท่องเที่ยวถึง 4 ใน 5 เลือกที่จะทำการจองที่พักผ่านทางออนไลน์ แต่ 3 ใน 5 บอกว่าพวกเขาจะไม่ดำเนินการจองที่พักต่อ หากพบเจอการใช้งานที่ไม่ลื่นไหล โดย ขั้นตอนที่ยุ่งยาก รวมถึงเว็บไซต์ที่ดูไม่ปลอดภัย นับเป็นสองเรื่องสำคัญอันดับแรกที่นักท่องเที่ยวคำนึงถึง
“นักเดินทางชาวไทยในปัจจุบัน ยังคงชื่นชอบการท่องเที่ยว มีการพึ่งพาเทคโนโลยี และใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งพวกเขาก็ตั้งใจที่จะเดินทางท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ เพื่อสร้างความทรงจำดีๆ ตราบเท่าที่จะท่องเที่ยวได้ และจากผลสำรวจ ทำให้เรารู้ว่า พวกเขามองว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังไม่ได้มีการปรับใช้เทคโนโลยีเท่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งนี่อาจจะเป็นสัญญาณสำคัญให้ผู้ให้บริการที่พักต่างๆ หันมาลงทุนด้านเทคโนโลยีคอมเมิร์ซกันมากขึ้น เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันต่อความต้องการและความคาดหวังของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน” คุณแบรด ไฮนส์ กล่าว
ดีป้า เดินหน้าส่งเสริมภาคเอกชนพัฒนา Safe T Travel