November 18, 2024

อีริคสัน (NASDAQ: ERIC) ผู้นำด้านโทรคมนาคมระดับโลก ประกาศเปิดตัว 'EricssonEdge Academia Program' โครงการซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างอาชีพและพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่รองรับภาคโทรคมนาคมทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โอเชียเนีย และอินเดีย

จากความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ 5G, AI และ IoT และจากผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งงานด้านเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญและเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก อีริคสันจึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าไปทำงานในภาคโทรคมนาคม พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการคัดสรรบัณฑิตของอีริคสันทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โอเชียเนีย และอินเดีย

EricssonEdge Academia Program ได้รับการออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างความรู้และเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นด้านเทคโนโลยี 5G, Cloud และ AI ให้กับนักศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตและก้าวเป็นผู้นำในภูมิทัศน์ของตลาดโทรคมนาคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ตลอดระยะเวลา 6 เดือน โครงการนี้จะมอบประสบการณ์การเรียนรู้เชิงลึกให้กับนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัยชั้นนำกว่า 40 แห่ง จากอินเดีย ออสเตรเลีย ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม

โครงการนี้จะเป็นการผสมผสานการเรียนแบบตัวต่อตัวร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมของอีริคสัน และการเรียนรู้แบบออนไลน์ช่วงเดือนที่สองและสาม ซึ่งจะมีการประเมินผลอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรจะได้รับความก้าวหน้าและมีความเข้าใจที่ต่อเนื่อง โดยการเรียนรู้ในลักษณะนี้จะช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์แก่ผู้เข้าเรียน พร้อมยังนำเสนอความเข้าใจที่ครอบคลุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีและเตรียมพร้อมสำหรับอาชีพในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยนักศึกษาที่จบหลักสูตรจะมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาคัดสรรเป็นบัณฑิตในโครงการของอีริคสันในระดับภูมิภาค

ปริยันกา อานันท์ รองประธานและหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โอเชียเนีย และอินเดียของอีริคสัน กล่าวว่า "EricssonEdge Academia Program เป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาเพื่อมุ่งพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ ๆ ในด้านโทรคมนาคม ด้วยการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นให้กับนักศึกษาเพื่อนำไปต่อยอดสู่ความสำเร็จ และเราไม่เพียงแต่เพิ่มโอกาสทางอาชีพให้กับพวกเขา แต่ยังเพิ่มความมั่นใจในด้านความก้าวหน้าและความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง"

โครงการนี้เป็นประโยชน์ทั้งต่อนักศึกษาและระบบนิเวศโทรคมนาคมวงกว้าง โดยเพิ่มโอกาสการจ้างงานและพัฒนาขีดความสามารถในด้านอุตสาหกรรม การเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนรู้ของอีริคสัน และได้สัมผัสโดยตรงกับผู้นำในอุตสาหกรรม โดย EricssonEdge Academia Program ได้สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับแรงงานที่พร้อมรับมือกับอนาคต

Generative AI เริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และการพัฒนาชิป จากรายงาน Deloitte 2024 global semiconductor industry outlook ดีลอยท์คาดการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ว่ายอดขายชิป Gen AI จะสูงถึงห้าหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายในปี 2567 และคาดว่าจะคิดเป็นประมาณ 8.5% ของยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมด ซึ่งการเติบโตนี้ได้รับแรงหนุนจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชิปที่สำคัญหลายประการ รวมถึง logic processor ที่สร้างขึ้นบนโหนดที่ทันสมัย หน่วยความจำแบนด์วิดท์สูง (HBM3) บรรจุภัณฑ์2.5D ขั้นสูง และความสามารถในการเชื่อมต่อขั้นสูงของชิป

แม้จะมีการคาดการณ์ว่าปีนี้ยอดขายชิป Gen AI จะอยู่ในระดับสูง การคำนึงถึงเชิงปริมาณก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน ในปี 2565 จะมียอดขายชิปรวมกันกว่าล้านล้านชิ้นในราคาเฉลี่ยต่อชิ้นเพียงราวๆ ครึ่งดอลลาร์สหรัฐ แต่สำหรับชิป Gen AI กลับไม่เป็นเช่นกัน ชิป Gen AI อาจมีราคาสูงถึงชิ้นละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสูงกว่า 7 หมื่นเท่าของราคาเฉลี่ยของชิปทั้งหมด ดังนั้นยอดขายชิป Gen AI ห้าหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1.25 ล้านหน่วย อาจเป็นเพียงสัดส่วนเล็กน้อย อยู่ที่ประมาณ 0.1% ของปริมาณชิปทั้งหมด ประเด็นดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความพิเศษของเซมิคอนดักเตอร์ที่มีความสามารถเฉพาะทางกลุ่มนี้ เมื่อเทียบกับชิปราคาที่ต่ำกว่าจำนวนมากที่นำมาใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในชีวิตประจำวัน

ชิป Gen AI คือบรรจุภัณฑ์ Graphics processing units (GPUs) แบบพิเศษ Central processing units (CPUs) แบบพิเศษหรือ หน่วยความจำแบนด์วิดท์สูง (HBM3) ในบรรจุภัณฑ์ 2.5D ขั้นสูง รวมถึงชิปแบบพิเศษอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการเชื่อมต่อในศูนย์ข้อมูล บริษัทซอฟต์แวร์ระดับองค์กรมีส่วนทำให้ชิป Gen AI เป็นที่ต้องการ ทั้งสำหรับการใช้งานในองค์กร และการใช้ผ่านผู้ให้บริการระบบคลาวด์ที่ให้บริการการประมวลผลโดยใช้ Gen AI ซึ่งบริษัทเหล่านี้อาจรวมคุณสมบัติของ Gen AI เข้ากับบริการซอฟต์แวร์ต่างๆ เพื่อเป็นโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

 

Gen AI กับการผลิตชิป

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ใช้ประโยชน์จาก Gen AI นอกเหนือจากความสามารถในการประมวลผล เครื่องมือเหล่านี้เข้ามาเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่คุณค่าของเซมิคอนดักเตอร์ อาทิ

· การกำหนดเวลาและคาดการณ์ที่ดีขึ้น Gen AI สามารถสร้างตารางการผลิต และคาดการณ์ห่วงโซ่อุปทานได้แม่นยำขึ้น

· การวิจัยและพัฒนาที่ดีขึ้น การส่งเสริมของงานวิจัยที่ขับเคลื่อนโดย Gen AI มีส่วนช่วยในการเร่งการสร้างนวัตกรรมได้

· การตรวจจับข้อบกพร่องขั้นสูง ข้อมูลสังเคราะห์ที่สร้างขึ้นโดย Gen AI สามารถเร่งการตรวจจับความผิดปกติและข้อบกพร่องในการผลิตชิปได้

· การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจำลองกระบวนการผลิตและ digital twins สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการจัดการทรัพยากรได้

· การตลาดแบบกำหนดเป้าหมาย Gen AI สามารถปรับแต่งเนื้อหาทางการตลาดให้ได้การเข้าถึง (reach) และการมีส่วนร่วม (engagement) ที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ราคาของต้นทุนยังคงเป็นความท้าทายอยู่ เช่น การสร้างและกำหนดโมเดล Gen AI เองมักมีราคาแพงเมื่อเทียบกับรูปแบบดั้งเดิม รวมทั้งโมเดลขนาดใหญ่อาจมีต้นทุนการดำเนินการที่สูงกว่าการได้ประโยชน์จากความเร็วของระบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังอาจต้องใช้การตรวจสอบโดยมนุษย์เพื่อรับรองความถูกต้องและหลีกเลี่ยงผลลัพธ์ที่มีอคติ

 

ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์มีการใช้ Gen AI อย่างไร

โรงงานเซมิคอนดักเตอร์ต่างๆ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบอัตโนมัติและประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เครื่องมือ Gen AI นำความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการพัฒนาโรงงานการผลิตอัจฉริยะ อาทิ

· ช่วยจัดเตรียมข้อมูลเชิงลึกขั้นสูง Gen AI สามารถวิเคราะห์ชุดข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการต่างๆ เช่น เชื่อมต่ออุปกรณ์ในโรงงาน สร้างกระบวนการทำงานแบบอัตโนมัติ ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และการคาดการณ์ในส่วนการบำรุงรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงจากการหยุดงาน

· การให้ความสำคัญกับความยั่งยืน การผลิตที่โหนดขั้นสูงมีการใช้พลังงานมาก เครื่องมือการผลิตแบบอัจฉริยะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการต่างๆ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตชิปได้

การประกอบและทดสอบชิปในภูมิรัฐศาสตร์ใหม่

แม้ว่าจะมีการผลิตชิปในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก การประกอบและการทดสอบชิปมักจะพบในเขตพื้นที่เอเชีย ซึ่งความไม่สมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์นี้สร้างความท้าทายให้กับสหรัฐอเมริกาและยุโรปในการเพิ่มกำลังการผลิตชิปภายในประเทศ และต้องมีการลงทุนทั้งด้านการประกอบและทดสอบควบคู่ไปกับการผลิตเพื่อลดความซับซ้อนต่อ

ห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ ชิปประสิทธิภาพสูงยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ขั้นสูงมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งที่ช่วยจัดการความท้าทายเหล่านี้ เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการทดสอบใหม่อย่างรวดเร็ว การสร้างทีมงานผู้เชี่ยวชาญในการประกอบและทดสอบชิป การเสนอทางเลือกบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีสำหรับการบูรณาการ AI/ML และใช้ความสามารถในการทดสอบขั้นสูงเพื่อการออกแบบชิปที่มีความซับซ้อน

ข้อกังวลด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เผชิญกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่แตกต่าง นอกเหนือจากการโจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware attack) แล้ว ผู้ผลิตชิปยังมีทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่าสูง ทำให้ตกเป็นเป้าหมายหลักสำหรับผู้ไม่ประสงค์ดี โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ชิปมีความสำคัญมากขึ้นท่ามกลางความขัดแข้งระหว่างประเทศ การโจมตีขั้นสูงโดยแอบอ้างว่าเป็นการโจมตีแบบมัลแวร์เรียกค่าไถ่ทำให้อุตสาหกรรมชิปและผู้บริหารพบกับภัยคุกคามที่ซับซ้อนมากขึ้น

ในอนาคตผู้บริหารในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ควรคำนึงถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ เช่น การจัดการสินค้าคงคลังจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างความต้องการที่มีมาแต่เดิมที่ลดลง กับความต้องการชิปเฉพาะทางที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงโอกาสในการควบรวมกิจการเชิงกลยุทธ์อีกมากมายในด้านการออกแบบ วัสดุ และบรรจุภัณฑ์ ในส่วนความขัดแย้งระหว่างประเทศส่งผลให้มีการประเมินความร่วมมือด้านช่องทางการขาย และแหล่งที่มาของทรัพยากร เนื่องด้วยข้อตกลงระหว่างประเทศอาจเกี่ยวข้องกับภาษีและกฎระเบียบที่ซับซ้อน นอกจากนี้ ต้องอาศัยความรอบคอบทางการเงินในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูงขึ้น สำหรับด้านทรัพยากรบุคคลจำเป็นต้องเฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถหลากหลายกลุ่มและเสริมสร้างทักษะให้กับพนักงาน การใช้ Gen AI อาจทำให้เกิดความต้องการด้านทรัพยากรบุคคลแบบใหม่ๆ อีกด้วยด้วย

 สถานการณ์เซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าระบุว่า การค้าเซมิคอนดักเตอร์ของไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า (IC) และกลุ่มอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด (O-S-D) สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์รายงานว่า อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ของไทยปรับตัวสูงขึ้นจากการนำเข้ากลุ่ม IC เพิ่มขึ้นจาก 6.7 แสนล้านบาทในปี 2565 เป็น 6.8 แสนล้านบาท ล้านบาทในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน การนำเข้าในปี 2566 มาจากไต้หวันเป็นหลักที่ 2.5 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นญี่ปุ่น ที่ 7.3 หมื่นล้านบาท และจีนที่ 6.9 หมื่นล้านบาท โดยการนำเข้าทั้งหมดในเดือนมกราคม 2567 นี้คิดเป็นมูลค่า 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน

สำหรับกลุ่มอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ และไดโอด การนำเข้าเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1 แสนล้านบาทในปี 2565 เป็นมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาทในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 ซึ่งการนำเข้าในปี 2566 มาจากจีนมากที่สุดที่ 6.4 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นญี่ปุ่นที่ 1.6 หมื่นล้านบาท และสหรัฐอเมริกาที่ 1.1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ การนำเข้าทั้งหมดในเดือนมกราคม 2567 นี้มีมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังเร่งเจรจากับสหรัฐอเมริกาเรื่องการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในไทย เพื่อผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นำเสนอความพร้อมของประเทศไทย ในการเป็นฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ให้แก่ผู้นำรัฐบาลและภาคเอกชนหลากหลายพื้นที่ ซึ่งการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างสองประเทศ เพื่อเจรจาเรื่องการลงทุนดังกล่าว ถือเป็นก้าวสำคัญในการสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และเสริมสร้างแรงงานทักษะสูงในไทย นอกจากนี้ข้อมูลจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า จะมีการลงทุนโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำในไทยเพื่อผลิตแผ่นเวเฟอร์ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของชิปต้นน้ำในเร็วๆ นี้อีกด้วย

บทความ   ปาริชาติ จิรวัชรา Partner Risk Advisory และ

              ทัศดา แสงมานะเจริญ Senior Consultant-Clients & Markets

              ดีลอยท์ ประเทศไทย

สองผู้นำด้านเทคโนโลยี ได้แก่ ทีซีซี เทคโนโลยี (TCCtech) และเดลล์ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) (Dell Technologies) ร่วมกันจัดเวทีให้ความรู้ ภายใต้หัวข้อ “Navigating AI Frontier” โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบัน IMC ผู้บริหารของ TCCtech และ เดลล์ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์การนำ AI ไปใช้งานในหลายอุตสาหกรรม อัพเดทผลิตภัณฑ์และบริการด้านเทคโนโลยีรวมถึงแนะนำโซลูชันที่ตอบโจทย์เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของการบริหารจัดการธุรกิจ OPEN-TEC ศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี (Tech Knowledge Sharing Platform) ภายใต้การดูแลของ TCC TECHNOLOGY GROUP

ขอนำเสนอประสบการณ์และผลลัพธ์จริงจากทีมงาน TCCtech ซึ่งนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและความสามารถของ AI มาประยุกต์ใช้กับโครงการต่าง ๆ ของลูกค้าให้สามารถบริหารอาคารได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จัดการภาคอุตสาหกรรมได้อย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น ด้วย AI

ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโซลูชันภายในโครงการอสังหาริมทรัพย์ เช่น การใช้ Video Analytics วิเคราะห์ภาพใบหน้า เครื่องแบบ เพื่อคัดแยกกลุ่มแรงงานที่เข้ามาทำงานในพื้นที่แต่ละจุด สามารถจำแนกเพศ สังกัด แม้กระทั่งพฤติกรรมของแรงงานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ในพื้นที่ควบคุม ด้วยการสร้างเงื่อนไขให้ AI เรียนรู้ คาดการณ์ และวิเคราะห์จากลักษณะที่ปรากฎ ซึ่งมีความแม่นยำสูง ละเอียดถึงระดับดวงตา สามารถค้นหาบุคคลหรือยานพาหนะในพื้นที่ภายในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังมีการใช้งาน AI เพื่อบริหารจัดการสภาพการจราจร และสนับสนุนงานอาชีวะอนามัย เป็นต้น ตัวอย่างถัดมา เป็นการบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งโครงการขนาดใหญ่จะมีการใช้พลังงานจำนวนมาก ข้อมูลการใช้พลังงานจากระบบเซนเซอร์ต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ น้ำเย็น แสงสว่าง และความเร็วลม ซึ่งมีปริมาณมหาศาลจะถูกบันทึกไว้บน Data Server เพื่อรองรับการทำงานของซอฟต์แวร์เพื่อประมวลผล ระบบปรับอากาศจะทำงานอัตโนมัติโดยเปรียบเทียบข้อมูลต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิภายในและภายนอกอาคาร ปริมาณน้ำฝน ภาพจากกล้องวงจรปิด และความหนาแน่นของ Heat Map เพื่อปรับอุณหภูมิของน้ำเย็นและความเร็วลมให้เหมาะสม

 สำหรับการนำ AI ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง TCCtech ได้พัฒนาโซลูชัน AI ให้ครอบคลุมทุกแง่มุมของธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ ดังนี้

· Rule-Based: การกำหนดกฎเกณฑ์ให้ AI ทำงานตาม

· Optimization: กระบวนการค้นหาคำตอบที่เหมาะสมที่สุดภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่

· Statistics: โดยการผสมผสานหลากหลายเทคนิควิธีเข้าด้วยกันมาเป็นผลวิเคราะห์และตัวตัดสินใจ

· Machine Learning: การให้แมชชีนเรียนรู้จากข้อมูล

· Deep Learning: การให้แมชชีนเรียนรู้ข้อมูลเชิงลึกด้วยการเลียนแบบการทำงานของโครงข่ายประสาทมนุษย์

ตัวอย่างการใช้งาน AI จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในภาคอุตสาหกรรม

· Production Planning: การวางแผนการผลิตสินค้า โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความต้องการของตลาด กำลังการผลิต และวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มความแม่นยำ และลดเวลาการทำงาน

· Inventory Planning: วางแผนการจัดการสินค้าคงคลัง โดยใช้ Route Optimization มาช่วยให้ Operation ที่เคยทำงานแยกกัน ให้สามารถมองเห็นข้อมูลทั้งระบบและลดระยะทางการจัดส่งสินค้า และเวลาในการทำงาน

· Vehicle Routing Problem: ช่วยแก้ปัญหาการวางแผนเส้นทางขนส่งสินค้า ช่วยให้ประหยัดค่าขนส่งสินค้า และเวลาวางแผนขนส่งได้

· Demand Forecasting: การพยากรณ์ความต้องการสินค้าของผู้บริโภค

· Retail Outlet: การประเมินคุณภาพร้านค้า โดยใช้ ML วิเคราะห์ข้อมูล Actual Transaction ด้วยเทคนิค Local Outlier Factor ช่วยในการตรวจสอบและระบุ Indicator ที่ส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการของร้านค้า

· Bottle Recycle Classification: การคัดแยกขวดรีไซเคิล ไปจัดการในรูปแบบต่าง ๆ โดยใช้ AI วิเคราะห์ภาพจากกล้อง

ความท้าทาย และอนาคตของ AI

การนำ AI ไปใช้ในบางกรณี ยังมีข้อจำกัด เช่น เทคโนโลยี Deep Learning ที่แม้จะทำงานได้อย่างแม่นยำ แต่อาจยังไม่สามารถทำงานได้ทันเวลาในบางสถานการณ์ อย่างเช่น การวิเคราะห์ภาพขวดรีไซเคิลบนสายพานลำเลียงความเร็วสูง หรือข้อมูลที่เก็บมาบางประเภท ไม่เพียงพอหรือไม่มีคุณภาพต่อการนำไปสอน AI อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่นอนแล้วว่าเทคโนโลยี AI จะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ Gen AI ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและสร้างประสิทธิภาพให้กับธุรกิจมากขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ OPEN-TEC ได้รวบรวมไว้จากงานสัมมนา “Navigating AI Frontier” ที่จัดขึ้นโดย ทีซีซี เทคโนโลยี และเดลล์ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย)

 บทความโดย OPEN-TEC

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น จากการใช้พลังงาน การเกษตร การพัฒนาและขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่า และการทำลายสิ่งแวดล้อมในรูปแบบอื่น ๆ หรือที่เรียกว่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการดำรงชีพของมนุษย์ สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการสูญเสียสมดุลของระบบนิเวศ ความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ ของธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิต รวมถึงการก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งหากมนุษย์ยังไม่เริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดและวิถีปฏิบัติในการดำเนินชีวิตรวมถึงการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ อนาคตอันน่าเศร้าของโลกคงหนีไม่พ้น ในขณะเดียวกัน คาดการณ์ว่าโอกาสในการลงทุนเพื่อความยั่งยืนด้วยเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลถึง 34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หรือกว่า 1.2 พันล้านล้านบาท) ภายในปี 2030 จะเกิดขึ้น นักลงทุนจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันและเตรียมรับโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ธนาคารกสิกรไทย โดย เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง และลอมบาร์ด โอเดียร์ ในฐานะสถาบันการเงินและผู้ให้คำแนะนำการลงทุนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการลงมือทำ เพื่อพาประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero จัดงานเสวนาด้านความยั่งยืนแห่งปี ภายใต้หัวข้อ RETHINK SUSTAINABILITY : A CALL TO ACTION FOR THAILAND พร้อมความร่วมมือจากตัวแทนองค์กรใน 4 อุตสาหกรรมของไทย ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาหารและการเกษตร ปิโตรเคมี และพลังงานหมุนเวียน รวมถึงหน่วยงานระดับโลกอย่าง Systemiq และ The Alliance to End Plastic Waste ที่มาร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด ตลอดจนบทบาทและแนวทางปฏิบัติ เพื่อหารือร่วมกันในการขับเคลื่อนให้เกิดการลงมือทำ เพื่อปฏิวัติเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน ด้วยการดำเนินธุรกิจตามแนวทางของระบบเศรษฐกิจใหม่อย่าง CLIC® คือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular) ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า (Lean) ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ (Inclusive) และเป็นธุรกิจที่ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่สะอาด (Clean) พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนนี้ด้วย

สร้างอนาคตที่ยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

(Building Through a Sustainable Future in Tourism and Service Industry)

 

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้มหาศาล และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจกันมากขึ้น กระแสของการท่องเที่ยวและการเดินทางอย่างยั่งยืนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลงทุนในเรื่องหลักๆ ที่ช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินท์ส่วนเกินได้ เช่น อุตสาหกรรมการบิน การฟื้นฟูและปกป้องระบบนิเวศทางทะเล และการปรับปรุงระบบทำความร้อนและเย็นในโรงแรม เป็นต้น นอกจากนี้ ความสำคัญของการลงมือทำ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงถึง มี 3 แกนหลัก ได้แก่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ (Economic Impact) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Protect Environment) และ การรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของสังคมให้ยั่งยืน (Save Social) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่อยู่บนบรรทัดฐานของความยั่งยืนอย่างแท้จริง จะเห็นได้ว่าแนวคิดดังกล่าวได้ถูกนำไปปรับใช้ โดยเริ่มมีบริษัทผู้ให้บริการด้านการจองที่พัก (Online Travel Agency: OTAs) ยักษ์ใหญ่บางเจ้า เริ่มจำแนกประเภทที่พักหรือบริการการเข้าพักแบบยั่งยืน ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมทั้งรายเล็ก และใหญ่ต้องปรับตัว ในประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็มีการริเริ่มจัดโครงการยกระดับผู้ประกอบการสู่มาตรฐาน การท่องเที่ยวยั่งยืน โดยการให้มาตรฐานดาวแห่งความยั่งยืน กับผู้ประกอบการ มากกว่า 10 ประเภทกิจการ ภายใต้ STGs (Sustainable Tourism Goals) หรือ STAR : (Sustainable Tourism Acceleration Rating) ที่ครอบคลุมทั้ง 17 เป้าหมายที่สะท้อนความยั่งยืน ซึ่งถอดมาจาก SDGs ของ UNWTO ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วกว่า 555 แห่ง โดยผู้ประกอบการประเภทโรงแรมที่พักเข้าร่วมมากที่สุด โดยภาครัฐจะผลักดันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงก้าวสำคัญของการส่งเสริมเพื่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงและพัฒนารูปแบบธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

อาหารแห่งอนาคต บริโภคอย่างยั่งยืน เพื่อโลกที่ยั่งยืน

(New Food System that Feed the World and Nourish the Planet)

ปัจจุบันทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2593 จะมีจำนวนประชากรเพิ่มราว 1 หมื่นล้านคน นำไปสู่ความต้องการด้านอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 60-100 ฉะนั้นการปรับรูปแบบการผลิตอาหารโดยใช้แนวทางการเกษตรยั่งยืน อย่าง Regenerative Agriculture ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน เป็นแหล่งช่วยกักเก็บคาร์บอน ยังช่วยเพิ่มผลผลิต และลดการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง กำลังเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ในประเทศไทยเองก็เริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารและนำมาใช้ปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net zero เช่น เริ่มมีการพัฒนานวัตกรรมโดยเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ถาดกระดาษ (Paper Tray) ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมูและเนื้อไก่เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยลดการใช้พลาสติกได้ถึง 80% ในขณะที่ยังคงรักษาความสด ความสะอาดของผลิตภัณฑ์ได้ นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจากพึช (Plant-based protein) ซึ่งใช้ทรัพยากรน้อยกว่าการผลิตเนื้อสัตว์มาก ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดมลพิษทางน้ำ และลดการใช้พื้นที่ อีกทั้งมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดมาผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงานมากขึ้นซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นนักลงทุนควรเลือกลงทุนในธุรกิจอาหารที่พร้อมปรับตัวและพัฒนาสู่ความยั่งยืน ตั้งแต่เรื่องของกระบวนการผลิต การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ อร่อย ปลอดภัย และมีราคาที่สมเหตุสมผล

พลาสติกหมุนเวียน: อุตสาหกรรมเคมีแห่งอนาคต

(Plastic Circularity: Chemistry Shaping the Future)

 

ปัญหาขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนที่สุดของทุกประเทศรวมถึงในประเทศไทยซึ่งเกิดจากการจัดการที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหานี้ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มองหาคือการลงทุนในธุรกิจที่ผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาเป็นแกนหลักในการจัดการช่วยให้พลาสติกถูกนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น เน้นหลักการ 3Rs ได้แก่ Reduce Reuse Recycle ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจจากการจัดการขยะและออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น การลงทุนในพลาสติกชีวภาพ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องที่ช่วยในการผลิตพลาสติกให้มีคุณภาพดีขึ้น ใช้ได้นานขึ้น รวมถึงการนำขวดพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังแสวงหาโอกาส ลงทุนในเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สามารถกักเก็บไว้ได้ใต้ดิน และนำออกมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ สอดคล้องกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

อนาคตพลังงานทางเลือกของประเทศไทยกับโอกาสในการลงทุนด้านพลังงาน

(Carbon Opportunities and Future Electrification)

 

ปัจจุบัน ก๊าซเรือนกระจกประมาณร้อยละ 70 มาจากภาคขนส่งและพลังงาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษและภาวะโลกเดือด ดังนั้น หากธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานดังกล่าวมาเป็นพลังงานไฟฟ้าจะมีส่วนช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมาก รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในระดับโลกได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการคมนาคมขนส่งอย่างชัดเจน ในระดับการขนส่งสาธารณะก็ได้มีการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้สำหรับรถบัส เรือโดยสาร รวมไปถึงรถไฟ นอกจากนี้ ในระดับบุคคลทั้งต่างประเทศและประเทศไทยได้เปลี่ยนจากการใช้รถยนต์น้ำมัน มาเป็นการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เท่าตัว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ทั่วโลกต่างมีเป้าหมายดำเนินการร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาของ ตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุนต่อยอดในธุรกิจพลังงานทางเลือกของนักลงทุน

กลยุทธ์การลงทุนในธุรกิจที่ยั่งยืน

(Investment-led Sustainability)

 

KBank Private Banking ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและผู้ให้คำแนะนำการลงทุน เล็งเห็นว่านักลงทุนเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืน จึงต้องการให้นักลงทุน ผู้ที่สนใจการลงทุน เตรียมพร้อมรับมือกับโอกาสทั้งทางเศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะเกิดเม็ดเงินการลงทุนด้านความยั่งยืนมูลค่ามหาศาลถึง 34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หรือกว่า 1.2 พันล้านล้านบาท) ภายในปี พ.ศ. 2573 ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero นักลงทุนจึงต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนการรับรู้ (Awareness) เป็นการลงมือทำ (Action) เน้นลงทุนในธุรกิจที่ยั่งยืน ไม่ว่าองค์กรเหล่านั้นจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่นำเสนอแนวทางและผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้แล้ว (Solution Providers) หรือกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และ/หรือ รูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเป้าหมายเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero (Transition Candidates) ทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนได้ KBank Private Banking เชื่อมั่นในบทบาทของการลงทุน ว่าสามารถยกระดับองค์ความรู้และความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจที่พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่การลงทุนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทุกภาคส่วนได้จริง

 

งานเสวนา “RETHINK SUSTAINABILITY: A Call to Action for Thailand" เป็นงานเสวนาด้านความยั่งยืนแห่งปี ภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างธนาคารกสิกรไทย โดย เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด และลอมบาร์ด โอเดียร์ เพื่อร่วมกันผลักดันประเทศไทยให้เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแห่งความยั่งยืนในอนาคต สามารถติดตามรับชมวิดีโอย้อนหลังได้ที่ www.youtube.com/@KBankPrivateBanking

 

ไมโครซอฟท์ และ ซีเมนส์ ผนึกความร่วมมือต่อเนื่อง นำประสิทธิภาพ Generative AI มาสู่ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยทั้งสองบริษัทฯ เตรียมเปิดตัว Siemens Industrial Copilot ซึ่งเป็นผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่พัฒนาร่วมกัน มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรในภาคการผลิต

นอกจากนี้การผนวกซอฟต์แวร์ Teamcenter ของซีเมนส์ที่ใช้สำหรับการบริหารจัดการวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (หรือ PLM) เข้ากับ Microsoft Teams ยังสนับสนุนการสร้างเมตาเวิร์สในภาคอุตสาหกรรม ลดความซับซ้อนในการทำงานร่วมกันแบบเสมือนจริงให้แก่วิศวกรออกแบบ ผู้ปฏิบัติงานหน้างานและทีมอื่น ๆ ตลอดสายงานธุรกิจ

สัตยา นาเดลลา ประธานและซีอีโอของไมโครซอฟท์ กล่าวว่า “ด้วยศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ยุคใหม่นี้ เรามีโอกาสพิเศษในการเร่งสร้างนวัตกรรมให้กับภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด เรากำลังพัฒนาต่อยอดจากความร่วมมือที่ยาวนานกับซีเมนส์ รวบรวมความก้าวหน้าด้าน AI ใน Microsoft Cloud มาผนวกรวมกับความเชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมของซีเมนส์ เพื่อเสริมศักยภาพให้แก่ผู้ปฏิบัติงานหน้างานและพนักงานที่มีทักษะเฉพาะทาง ด้วยเครื่องมือใหม่ ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยขุมพลังปัญญาประดิษฐ์ โดยเริ่มต้นด้วยโครงการ Siemens Industrial Copilot

 

โรแลนด์ บุช ซีอีโอของซีเมนส์ กล่าวว่า “เราและไมโครซอฟท์มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการส่งเสริมศักยภาพของลูกค้าด้วยการนำ Generative AI มาใช้งาน เทคโนโลยีนี้มีศักยภาพมหาศาลที่จะปฏิวัติวิธีการที่บริษัทต่าง ๆ ใช้ออกแบบ พัฒนา ผลิตและดำเนินการ ด้วยการส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรที่เชื่อมต่อกันในวงกว้างมากขึ้น ช่วยให้เหล่าวิศวกรสามารถเร่งพัฒนาโค้ด เพิ่มนวัตกรรม และรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะได้

ยุคใหม่ของการทำงานร่วมกันของมนุษย์และเครื่องจักร

Siemens Industrial Copilot จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพ และแก้ไขโค้ดอัตโนมัติที่ซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว พร้อมลดระยะเวลาการจำลองสถานการณ์ลงอย่างมาก ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยลดงานที่ก่อนหน้านี้ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ให้เหลือเป็นหน่วยนาที โดย Copilot จะนำข้อมูลของระบบอัตโนมัติและกระบวนการการจำลองจากแพลตฟอร์ม Siemens Xcelerator ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มธุรกิจดิจิทัลแบบเปิดของซีเมนส์ และเพิ่มประสิทธิภาพด้วย Azure OpenAI Service ของไมโครซอฟท์ โดยลูกค้ายังคงควบคุมข้อมูลตนเองได้ทั้งหมด ระบบจะไม่มีการนำข้อมูลไปใช้กับการฝึกโมเดล AI พื้นฐาน

Siemens Industrial Copilot มีความสามารถเพิ่มผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพครบวงจรในอุตสาหกรรม โดยเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงจะได้รับคำแนะนำการซ่อมแซมอย่างละเอียดด้วยภาษาปกติอย่างเป็นธรรมชาติ ขณะที่วิศวกรจะสามารถเข้าถึงเครื่องมือแบบจำลองได้อย่างรวดเร็ว

Copilots สำหรับทุกอุตสาหกรรม

ทั้งซีเมนส์และไมโครซอฟท์ต่างเล็งเห็นว่า AI Copilots มีความสามารถในการช่วยเหลือผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการดูแลสุขภาพ โดย Copilot จำนวนมากกำลังถูกวางแผนที่จะนำมาใช้ในภาคการผลิต เช่น ยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค และการผลิตเครื่องจักร Schaeffler AG ซัพพลายเออร์ยานยนต์ชั้นนำเป็นหนึ่งในบริษัทรายแรก ๆ ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่นำ Generative AI ไปใช้ในงานด้านวิศวกรรม ช่วยให้ทีมวิศวกรสามารถพัฒนาโค้ดที่มีความน่าเชื่อถือสำหรับการโปรแกรมระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์ นอกจากนี้ บริษัทฯ เตรียมนำ Siemens Industrial Copilot มาใช้ในระบบการดำเนินงาน โดยวางเป้าหมายเพื่อลดการหยุดชะงักของ

การทำงาน (Downtime) ของเครื่องจักรอย่างมีนัยสำคัญ และเตรียมพัฒนาขั้นต่อไปสำหรับลูกค้าในภายหลัง

เคลาส์ โรเซนเฟลด์ ซีอีโอของกลุ่มแชฟฟ์เลอร์ กล่าวว่า “เรากำลังก้าวสู่ยุคใหม่ของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและนวัตกรรมในโครงการนำร่องร่วมกันนี้ ซึ่ง Siemens Industrial Copilot จะช่วยให้ทีมงานของเราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังลดภาระงานซ้ำซ้อน และเพิ่มไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้ร่วมมือกับซีเมนส์และไมโครซอฟท์ในโครงการนี้”

Generative AI เพิ่มความสะดวกการทำงานร่วมกันในแบบเสมือน

เพื่อยกระดับการทำงานร่วมกันแบบเสมือนระหว่างทีม ซอฟต์แวร์ Teamcenter ของซีเมนส์ สำหรับ Microsoft Teams พร้อมเปิดให้ใช้งานได้โดยทั่วไปตั้งแต่เดือนธันวาคมปีนี้ โดยแอปพลิเคชันนี้จะใช้ศักยภาพล่าสุดของ Generative AI เชื่อมต่อฟังก์ชั่นการทำงานต่าง ๆ ของวงจรการออกแบบผลิตภัณฑ์และวงจรการผลิต ตั้งแต่ผู้ปฏิบัติงานหน้างานไปจนถึงทีมวิศวกร โดยจะเชื่อมต่อซอฟต์แวร์ Teamcenter ของซีเมนส์ที่ใช้สำหรับการบริหารจัดการวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (หรือ PLM) เข้ากับ Microsoft Teams ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการทำงานร่วมกันของไมโครซอฟท์ เพื่อให้พนักงานในโรงงานและพนักงานภาคสนามสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ สิ่งนี้จะช่วยให้พนักงานหลายล้านคนที่เข้าไม่ถึงเครื่องมือ PLM ในปัจจุบันสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบและผลิตได้ง่ายยิ่งขึ้นเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของงานประจำวัน

ซีเมนส์จะแบ่งปันรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Siemens Industrial Copilot ที่งาน SPS expo ที่จะจัดขึ้น ณ เมืองนูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2566

Page 1 of 4
X

Right Click

No right click