อาชีพทางด้านการเงินสามารถแบ่งได้เป็น 2 สายงานหลักดังนี้ สายงานแรก คือสายงานการเงินองค์กร (Corporate Finance / Managerial Finance) สายงานนี้เกี่ยวข้องกับการเงินของธุรกิจต่างๆ ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ เป็นธุรกิจภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม ลักษณะงานในสายงานนี้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการเงินทั้งหมดขององค์กร ตั้งแต่การระดมทุนในการทำธุรกิจขององค์กร การจัดทำงบประมาณลงทุน (Capital Budgeting) หรือการศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงินของโครงการ (Financial Feasibility) ต่างๆ ขององค์กร การจัดทำแผนการเงิน การวางแผนในการซื้อเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ ในการทำธุรกิจขององค์กร และการบริหารเงินสดและสินทรัพย์หมุนเวียนขององค์กร อาชีพหรืองานในสายนี้ ได้แก่ ผู้บริหารสูงสุดด้านการเงินขององค์กร (Chief Financial Officer/CFO), ผู้จัดการฝ่ายการเงินขององค์กร (Corporate Treasurer/Financial Manager) และ นักวิเคราะห์การเงินขององค์กร เป็นต้น
สายงานที่สอง คือสายงานบริการทางการเงิน (Financial Services) เป็นสายงานที่เกี่ยวข้องกับการให้คำแนะนำทางการเงิน และการออกแบบและการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (Financial Products) ต่างๆ ให้กับบุคคลทั่วไป บริษัทเอกชนต่างๆ และภาครัฐ สายงานนี้พบได้ทั้งในธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บริษัทประกัน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาชีพหรืองานในสายนี้มีมากมาย ได้แก่ วาณิชธนกร (Investment Banker), ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager), นักวิเคราะห์การลงทุน (Investment Analyst), ผู้แนะนำการลงทุน (Investment Consultant), นักวางแผนทางการเงิน (Financial Planner/Wealth Manager), ผู้ประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Appraiser) เป็นต้น
เมื่อพูดถึงการเรียนในสาขาการเงินแล้ว มักนิยมแบ่งการเรียนการเงินเป็น 3 กลุ่มหลักดังนี้ โดยเป็นการแบ่งที่คำนึงถึงการไหลของเงินทุน (Flow of Funds) ในระบบเศรษฐกิจเป็นหลัก ดังแสดงในภาพด้านล่าง
กลุ่มแรกเป็นการเรียนในเรื่อง Corporate Finance ซึ่งสามารถเรียกได้ในชื่ออื่นๆ เช่น การบริหารการเงิน (Financial Management/Managerial Finance) หรือการเงินธุรกิจ (Business Finance) เป็นต้น โดยตัวอย่างวิชาภายใต้กลุ่มนี้ ได้แก่ การบริหารการเงิน (Financial Management), การศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงินของโครงการ (Feasibility Study), การเงินระหว่างประเทศ (International Finance), การเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) ที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม (Environmental), สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) เป็นต้น กลุ่มนี้เป็นการศึกษาถึงการตัดสินใจระดมทุน (Financing Decisions) และการตัดสินใจลงทุน (Investment Decisions) ของบริษัทต่างๆ โดยบริษัทจะพิจารณาโครงการลงทุนและคำนวณหาค่าผลตอบแทนของโครงการลงทุน (Internal Rate of Return/IRR) นั้น จากนั้น พิจารณาเลือกแหล่งที่มาของเงินทุนว่าจะเป็นหนี้สิน (Debt) ผ่านการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์หรือการขายหุ้นกู้ และทุน (Equity) ผ่านการขายหุ้นสามัญ ในสัดส่วนที่บริษัทเห็นว่าเหมาะสม ซึ่งสัดส่วนของแหล่งที่มาของเงินทุนจะเป็นตัวกำหนดต้นทุนเงินทุน (Cost of Capital) ของโครงการหรือของบริษัท จากนั้น ทั้ง IRR และ Cost of Capital จะเป็นตัวกำหนดว่าโครงการลงทุนต่างๆ น่าลงทุนหรือไม่
ดังนั้น กลุ่มที่สองของการเรียนการเงินจึงเป็นกลุ่ม Financial Markets and Institutions หรือตลาดการเงินและสถาบันการเงิน เพราะการระดมทุนของบริษัทดังกล่าวข้างต้น อาจจะระดมทุนผ่านสถาบันการเงิน (Financial Institutions) เช่น ธนาคารพาณิชย์ ในรูปเงินกู้ (Loans) เป็นต้น (โดยธนาคารพาณิชย์ก็ระดมเงินจากนักลงทุนในรูปเงินฝากต่ออีกทีหนึ่ง) และระดมผ่านตลาดการเงิน (Financial Markets) ในรูปแบบของการออกตราสารทุน (ครั้งแรกหรือ Initial Public Offerings/IPOs หรือครั้งถัดมาหรือ Seasoned Equity Offerings/SEOs) อย่างหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ หรือในรูปแบบของการออกหุ้นกู้ (Corporate Bonds) เพื่อขายให้กับนักลงทุนรายย่อย (Individual Investors) และ/หรือนักลงทุนสถาบัน (Institutional Investors) ซึ่งหน้าที่หลักๆ ในทางเศรษฐกิจของตลาดการเงินและสถาบันการเงิน คือเป็นแหล่งที่ทำให้ผู้ที่ต้องการเงิน (Demanders of Funds) อย่างบริษัทต่างๆ หรือจะเป็นภาครัฐก็ได้ มาเจอกับผู้ที่มีเงินและต้องการลงทุน (Suppliers of Funds/Investors) โดยวิชาภายใต้กลุ่มนี้แบ่งเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับตลาดการเงิน (Financial Markets) อาทิเช่น Market Microstructure, เครื่องมือและตราสารทางการเงิน (Financial Instruments) ต่างๆ ตั้งแต่ หุ้นสามัญ ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ และตราสารทางการเงินที่ซื้อขายกันในตลาดรองอย่าง ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trusts/REITs), Exchange Traded Funds (ETFs), ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depository Receipts/DRs) เป็นต้น ส่วนวิชาทางด้านสถาบันการเงินจะมีจุดมุ่งหมายที่จะทำความเข้าใจบทบาทของสถาบันการเงินต่างๆ ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ ลักษณะของธุรกิจของสถาบันการเงินต่างๆ และการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ของสถาบันการเงินต่างๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกัน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (ที่บริหารการลงทุนของกองทุนรวมต่างๆ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) เป็นต้น โดยวิชาทางด้านบริหารความเสี่ยง จึงมักเป็นวิชาที่สำคัญและควรศึกษาสำหรับผู้ที่ต้องการทำงานในสถาบันการเงินต่างๆ เหล่านี้ โดยคุณวุฒิหรือ Certificates ระดับนานาชาติที่เป็นที่ยอมรับทางด้านการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน ได้แก่ Financial Risk Manager (FRM®)
ท้ายที่สุด เมื่อบริษัทต่างๆ ระดมทุนผ่านการออกตราสารทางการเงิน ก็ต้องมีนักลงทุนรายย่อยและ/หรือนักลงทุนสถาบันที่เข้ามาซื้อตราสารทางการเงินเหล่านั้น ดังนั้น กลุ่มที่สามของการเรียนการเงิน (และมักเป็นกลุ่มที่มีจำนวนวิชาและผู้สนใจเรียนอย่างมาก) คือกลุ่ม Investment/Asset Management หรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและการบริหารสินทรัพย์ลงทุน โดยกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาสินทรัพย์ลงทุนหรือตราสารทางการเงินต่างๆ ตั้งแต่ เงินฝาก ตราสารหนี้ระยะสั้น หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นบุริมสิทธิและหุ้นสามัญ (ทั้งแบบออกใหม่อย่าง IPOs/SEOs และที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดรอง) รวมทั้งหน่วยลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ โดยวิชาในกลุ่มนี้มักจะมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ราคา (Valuation) ผลตอบแทนคาดหวังและความเสี่ยง (Expected Returns and Risk) ของตราสารทางการเงินแต่ละประเภท วิชาภายใต้กลุ่มนี้มีเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น จรรยาบรรณและมาตรฐานวิชาชีพทางด้านการเงินการลงทุน (Ethics in Finance and Investment), ทฤษฎีการลงทุนและการบริหารพอร์ตโฟลิโอ (Investment Theory and Portfolio Management), การวิเคราะห์ตราสารทุน (Equity Valuation), ตราสารหนี้ (Fixed Income Securities), ตราสารอนุพันธ์และการบริหารความเสี่ยง (Derivatives and Risk Management), การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Investments), วาณิชธนกิจ (Investment Banking), การบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management), การเงินเชิงพฤติกรรม (Behavioral Finance), การเงินเชิงปริมาณ (Quantitative Finance), การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการตัดสินใจทางการเงิน (Data Analytics for Finance), และเทคโนโลยีทางการเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล (Fintech and Digital Assets) โดยคุณวุฒิหรือ Certificates ระดับนานาชาติที่เป็นที่ยอมรับทางด้านการเงินการลงทุน ได้แก่ Chartered Financial Analyst® (CFA®) และ Certified Financial PlannerTM (CFP®) เป็นต้น
ท้ายที่สุดนี้ หวังว่าข้อมูลของอาชีพสายการเงินและวิชาเรียนที่เกี่ยวข้องที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะเป็นประโยชน์สำหรับนิสิตนักศึกษาที่สนใจเรียนด้านการเงินและมาประกอบอาชีพทางด้านการเงิน รวมทั้งผู้ที่ต้องการเปลี่ยนสายการทำงาน โดยข้อมูลข้างต้นน่าจะเป็นประโยชน์ในการเลือกหลักสูตรการเงินและ/หรือวิชาการเงินต่างๆ ที่ตรงกับความสนใจของตนเอง เพื่อนำไปประกอบอาชีพทางการเงินต่อไปครับ
บทความโดย: รศ.ดร. ณัฐวุฒิ เจนวิทยาโรจน์ CFA
คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์