November 21, 2024

เซโนสติกส์ คิดค้นหาชุดตรวจสอบเชื้อ “DNA chip” ตอบโจทย์ห้องแล็บทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีต้นทุนต่ำกว่าเดิมเกือบ 80 % และลดระยะเวลาจาก 3 วันเหลือเพียง 3 ชม. ซึ่งนี่เป็นงานวิจัยและผลงานทางวิชาการ ที่มาถูกจังหวะและโอกาส เช่นเดียวกับผลงานหลายชิ้นที่เกิดขึ้นในยุคไทยแลนด์ 4.0 เป็นที่มาของการแจ้งเกิดสตาร์ตอัพดาวรุ่งในอีกหลายๆ สายงาน

กวิน น้าวัฒนไพบูลย์ Founder & CEO และภัทราวุธ คุณวิภูษิต Co-Founder & MD บริษัท เซโนสติกส์ จำกัด ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพดีพเทคโนโลยี (Deep Technology) ที่เน้นด้านการวิจัยและพัฒนาเชิงทดลองด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการตรวจเชื้อโรคทางการเกษตร โดยเขากล่าวถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า มีที่มาจากปัญหาระยะเวลา 3 -5 วัน ของกระบวนการตรวจสอบเชื้อในทางการแพทย์ หรือการตรวจเชื้อปนเปื้อนในอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตที่ล่าช้า ก่อให้เกิดต้นทุนตามมา

สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร จะทำให้กระบวนการผลิตล่าช้า ก่อให้เกิดต้นทุนหลายด้าน ทั้งการสต๊อคของ ต้นทุนการทำงานล่วงเวลา การสำรองกำลังพล รวมทั้งความยุ่งยากในกระบวนการตรวจ ที่กว่าจะเป็นตัวผลิตภัณฑ์ออกมาถึงมือผู้บริโภค จะต้องอยู่ในกระบวนการผลิตนานเกินกว่าที่จำเป็น และมีต้นทุนมากขึ้น ขณะเดียวกันในด้านของบริษัทที่ดำเนินการ ด้านห้องปฏิบัติการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหาร หรือห้องแล็บตรวจสอบอาหาร ก็ต้องเพิ่มกำลังคนในช่วงที่ต้องเร่งตรวจสอบ ในกรณีที่มีตัวอย่างส่งเข้ามาพร้อมกัน และขั้นตอนการตรวจสอบอันซับซ้อน ทั้งการจัดเตรียม การเลี้ยงเชื้อ กว่าจะได้ผลอย่างน้อยต้องใช้เวลาถึง 3 วัน

ในทางการแพทย์ หรือในโรงพยาบาล ก็เผชิญปัญหานี้เช่นกัน ซึ่งเซโนสติกส์ได้ให้ความสำคัญกับวิธีการตรวจเชื้อดื้อยาให้เร็วขึ้น เพราะในปัจจุบันนี้ เชื้อดื้อยาเป็นปัญหาใหญ่ของสาธารณสุขทั่วโลก ซึ่งองค์การอนามัยของโลกเองก็เป็นกังวลกับเรื่องนี้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ตัวใหม่ๆ ที่จะใช้รักษาโรคได้

ดังนั้นนโยบายหนึ่งที่มองว่าเป็นการหาทางออกเพื่อแก้ปัญหานี้คือ การพัฒนาชุดตรวจ ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น

การตรวจสอบเร็วขึ้นดีอย่างไร ข้อแรก คือ ลดโอกาสการเสียชีวิตผู้ป่วยได้ และสอง คือ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินความจำเป็น จะได้มียาปฏิชีวนะตัวแรงๆ เหลือไว้สำหรับกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้จริง คิดถึงผลดีว่า ถ้าเราสามารถให้คนไข้มารับผลการตรวจและรับยาปฏิชีวนะได้ในวันรุ่งขึ้น แพทย์สามารถสั่งยาปฏิชีวนะได้ตรงตามเชื้อ ไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายยาตัวที่แรงกว่า และเก็บตัวที่แรงกว่าไว้ใช้กรณีที่เจอเชื้อดื้อยา สามารถลดโอกาสการเสียชีวิต

นอกจากนี้ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย กรณีที่ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล 3 –4 วัน เพื่อรอผลการตรวจเชื้อ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากกว่าที่จำเป็น หรือต้องอยู่ต่อไปเพื่อให้ยาที่ถูกต้องตรงกับเชื้อ การตรวจแล้วได้ผลเร็วจะลดจำนวนวันของการแอดมิทลง

 

 

DNA chip เทคโนโลยีใหม่

กวินทร์ เจ้าของงานวิจัยชุดตรวจ DNA chip เทคโนโลยีใหม่ เล่าถึงปัญหาที่เห็นจึงได้มีการวิจัยคิดค้น เพื่อพัฒนาชุดตรวจ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และรวดเร็วขึ้น บนต้นทุนที่ต่ำลง จนเป็นผลสำเร็จด้วย เทคโนโลยีดีเอ็นเอชิพ (DNA chip) ซึ่งแตกต่างและมีราคาที่ต่ำกว่า ซิลิคอนเวเฟอร์ของต่างประเทศ ที่มีราคาสูง จนไม่สามารถนำมาใช้ในโรงพยาบาลหรือห้องแล็บอุตสาหกรรมได้ เพราะราคาของซิลิคอนเวเฟอร์อยู่ที่ประมาณชุดละ 6 -7 พันบาท ในขณะที่ชุดตรวจ DNA chip ที่เซโนสติกส์พัฒนาขึ้นมานั้น ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 – 1,500 บาท และลดระยะเวลาจากการเพาะเชื้อแบบเดิม 3-5 วันมาที่ประมาณ 3 ชม. เท่านั้น

หลังจากงานวิจัยเป็นผลสำเร็จ กวินทร์ได้มีการพูดคุยกับอาจารย์ ซึ่งเล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจ จึงได้แนะนำให้ขยายผลเป็นการทำโครงการสตาร์ตอัพในสาขา Material science หลักการทำงานของ DNA chip คือการวินิจฉัย (Diagnosis) ชนิดของไมโครแบคทีเรียจาก DNA ของไมโครแบคทีเรียนั้น โดยสามารถตรวจสอบได้ทั้งในทางอาหาร และทางการแพทย์

ขยายผลสู่อุตสาหกรรมอาหาร

การตรวจเชื้อที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วนี้ เราโฟกัสไปที่อุตสาหกรรมอาหาร เพราะมองเห็นโอกาส จากข้อจำกัดที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารไม่มีโอกาสใช้ DNA chip เนื่องจากรายได้ไม่มากพอกับการลงทุนทดสอบที่มีต้นทุนสูงมาก ทำให้ยังไม่เคยมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ ดังนั้นเมื่อเราทำให้วิธีการทดสอบที่จะนำเข้าไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร มีราคาถูกลงได้ ก็น่าจะเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยผู้ประกอบการ และแล็บสามารถตรวจสอบและวิเคราะห์เชื้อได้อย่างรวดเร็วขึ้น

ไม่เพียงเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้น ส่วนนี้ยังเป็น core เทคโนโลยีที่สามารถแยกไปได้อีกมากมาย และที่สำคัญคือปัจจุบันมียูสเซอร์ที่สนใจ และต้องการใช้ชุดตรวจ ซึ่งกำลังเริ่มทดลองใช้ในศูนย์บริการห้องแล็บรายใหญ่ 3 แห่ง ทั้งของไทย และต่างประเทศที่เข้ามาตั้งสาขาที่นี่ (Intertek & ALS)

ซึ่งการเจาะตลาดเข้าไปยังแล็บ เพราะมองตลาดโดยรวมแล้ว เห็นว่าธุรกิจอาหารส่วนใหญ่ไม่มีแล็บเป็นของตนเอง เพราะเป็นการลงทุนที่สูงมาก นอกจากบริษัทที่อยู่ในเครือธุรกิจอาหารยักษ์ใหญ่จึงจะมีแล็บเป็นของตนเอง ดังนั้นบริษัทอาหารที่ไม่มีแล็บเป็นของตัวเอง จึงส่งตัวอย่างเข้าไปตรวจสอบยังศูนย์บริการห้องแล็บในปริมาณที่สูงมาก มีการประมาณการว่า เมื่อการทดลองเสร็จสมบูรณ์และเริ่มการจำหน่ายจริง จะมีการใช้แผ่น DNA chip ของเซโนสติกส์ประมาณ 2,000 แผ่นต่อเดือน

“นั่นเป็นเหตุผลที่แล็บต่างๆ จะเลือกเรา เพราะเห็นความคุ้มค่าของต้นทุน และความเร็ว ทำให้ลด Operation cost ได้ และมี Output มากขึ้น”

สำหรับการขยายธุรกิจเข้าไปในแล็บนั้น กวินทร์มองว่า ในระยะนี้ได้แค่เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะมีเงินทุนจากรัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุนให้ขับเคลื่อนได้ แต่หากจะต้องลงทุนขยายการผลิตเพื่อการจำหน่ายต่อไปนั้น จะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล การเริ่มจาก B2B ที่มี Potential Customer เป็นแล็บรายใหญ่ 3 รายจากตลาดรวมในอุตสาหกรรมอาหารที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประมาณ 10 รายใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งกำลังทยอยเข้าไปนั้น ทุกรายต้องการแก้ปัญหาเดียวกันหมด คือ อยากได้ความรวดเร็ว ที่สามารถลดระยะเวลาในการตรวจสอบ รวมถึงการลดต้นทุนในด้านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ขณะที่ตลาดในต่างประเทศ มองตลาดในเซาสท์อีสต์เอเชีย เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ซึ่งมองว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ซึ่งมีปัญหาและข้อจำกัดที่เหมือนกัน ดังนั้นชุดตรวจจึงน่าจะเป็นทางเลือกให้บริษัทอาหารในต่างประเทศต้องการนำมาใช้สำหรับธุรกิจด้วยเช่นกัน

สินค้าตอบโจทย์แต่ยังมีข้อจำกัดอื่นที่ต้องก้าวข้ามไปให้ได้

สิ่งที่เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของสตาร์ตอัพหลายรายสามารถคิดค้นผลิตสินค้าขึ้นมาตอบโจทย์สนองความต้องการของตลาดได้ แต่ยังมีข้อจำกัดอื่นๆ อีกหลากหลายมิติที่สำคัญ และไม่สามารถละเลยไปได้

กวินทร์ กล่าวว่า การขยายตลาดยังคงมีข้อจำกัดคือ การทำชุดตรวจนี้ ไม่เหมือนกับสินค้าที่ใช้กับยูสเซอร์ทั่วไป ยังคงต้องผ่านกฎเกณฑ์ที่จำเป็นตามกฎหมายหลายอย่าง เช่น ต้องมีการขอ ISO ที่มารับรองผลการทดสอบ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับว่า สามารถใช้ทดสอบได้แทนเทคนิคเดิม สำหรับการทำ ISO นั้น อยู่ระหว่างการดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า การที่ทำราคาได้ถูกกว่า เร็วกว่า ก็ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดอื่นๆ อีก ตั้งแต่มาตรฐานในอุตสาหกรรมอาหาร สิ่งเหล่านี้จึงถือเป็นอีกเสต็ป ที่ต้องก้าวผ่านไปให้ได้ การทำ Third Party Validation เป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนออกสู่ตลาดจริง เป็นการเก็บข้อมูลทดสอบพร้อมกันไป เพื่อเป็นการยื่นประกอบในการขอ ISO ซึ่งคาดว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพอสมควร ประมาณการไว้ภายในปีนี้

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดจากภายในบางส่วน คือเรื่องคน เนื่องจากการทำธุรกิจที่พื้นฐานมาจากรูปแบบมหาวิทยาลัย ดังนั้นบุคลากรคือนักศึกษา ซึ่งทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานเต็มเวลาได้ โดยส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำงานเกี่ยวกับการค้นคว้า จะเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท ดังนั้นกรณีงานเร่งด่วน จะไม่เหมือนรูปแบบบริษัททั่วไป ที่สามารถระดมคนเพื่อทำให้เสร็จได้ในเวลาจำกัด เพราะทุกคนไม่ได้รับการซัพพอร์ทใดๆ และมีหน้าที่อื่นๆ การเร่งจึงไม่ได้ตามแผน ไม่ได้สปีดอย่างที่ต้องการมากนัก

มุมมองการหา FUNDING

ส่วนที่สำคัญอีกเรื่อง คือ การหาแหล่งเงินทุนหรือ FUNDING ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งกวินทร์กล่าวว่า หากในช่วงเริ่มต้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐฯ อย่างเต็มที่ การดำเนินธุรกิจของเซโนสติกส์ก็คงไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะการขอเงินทุนจากธุรกิจบริษัทเอกชนโดยตรง เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เห็นได้ว่าแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นมีองค์ความรู้มากแต่ขาดในส่วนนี้ โดยเฉพาะดีพเทคโนโลยีต้องใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูง การสนับสนุนสตาร์ตอัพจึงต้องใช้ความคล่องตัวในการขับเคลื่อน และใช้ระบบที่ต่างจากราชการ

ในส่วนของเซโนสติกส์นั้น มองหาลู่ทางการหา FUNDING เช่น SPRINT Accelerator ของ SCG chemical ที่เปิดรับสมัครสตาร์ตอัพสาย deep-tech ซึ่งเราได้เข้าร่วมและเป็นโครงการที่ร่วมกับหลายหน่วยงานตั้งขึ้น เพื่อให้ความรู้กับสตาร์ตอัพ สนับสนุนและฝึกอบรมเพื่อสร้าง Mindset ทางธุรกิจ ที่นักวิจัยไทยส่วนใหญ่ขาดความคิดด้านนี้ เพื่อไม่ให้เป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง และทำงานให้เป็น Solution ที่แก้ปัญหาให้ยูสเซอร์ได้อย่างแท้จริง

คีย์ซัคเซสของ Deep technology Startup

เมื่อถามถึงคีย์ซัคเซสสำหรับ Deep technology Startup กวินทร์กล่าวว่า การทำเทคฯ โดยเฉพาะดีพเทคฯ นั้น สิ่งแรกที่ต้องคิดคือ สายป่านต้องยาวมาก การได้เงินทุนจากรัฐเมื่อมาถึงสเตจหนึ่ง จะไม่เพียงพอ เราไม่สามารถนำเงินซัพพอร์ทจากภาครัฐมาเลี้ยงได้ตลอด เงินที่ได้มาจะหยุดเพียงแค่ 4 สเตจ จบแค่กระบวนการเทส การทำ Prototype จากนั้นคือของจริง คือต้องมีเงิน ในทีมผู้ก่อตั้งมีการคุยร่วมกันมาโดยตลอดว่า เงินรัฐฯ ช่วยเราได้แต่เพียงเริ่มต้น ช่วยให้เรายืนและเดินได้แรกๆ เท่านั้น ตอนนี้คือ ต้องสร้าง Cash flow เข้าบริษัทฯ เพื่อให้ดำเนินต่อไปได้ ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญมาก

ส่วนที่สองคือ เรื่องของทีม ที่สำคัญคือการรวมกันให้ได้ บางครั้งจะเห็นว่าพอถึงจุดหนึ่งที่จูนไม่ตรงกัน ก็แยกกันไปรวมกันไม่ติด ต้องมาเริ่มฟอร์มทีมใหม่ ซึ่งจะเกิดอุปสรรค

และส่วนที่สาม คือ เรื่องสภาพแวดล้อม การทำงานดีพเทค สภาพแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ การเข้ามาอยู่ใน Incubator หรือโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี บางอย่าง เช่นมหาวิทยาลัย จะสามารถขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ได้ทันที ในขณะที่คนทั่วไปอาจจะทำได้ยากกว่า ในการหาผู้เชี่ยวชาญ ( Expertise ) แต่ละด้าน หรือการไปคุยก็อาจจะมีกำแพงบางอย่างมากกว่าคนในองค์กรเดียวกัน

กวินทร์ทิ้งท้ายว่า มีความเชื่อมั่นมากในตัวโพรดักส์ และพร้อมจะขายกับผู้ที่สนใจจะซื้อ เชื่อว่ามีอนาคตที่สดใสรออยู่อย่างแน่นอน โดยธุรกิจอาหารจะเป็นธุรกิจแรกที่จะเข้าไปอย่างเต็มตัว เพราะไม่มีความซับซ้อนเท่าวงการแพทย์ ที่ต้องใช้การวิจัยทดสอบ อย่างไรก็ตามในวงการแพทย์ก็เป็นสิ่งที่ต้องเดินหน้า เพราะประโยชน์ที่จะได้รับ ไม่ได้มองเพียงแค่อนาคตหรือผลกำไร แต่การลดต้นทุนในโรงพยาบาลของรัฐจะเป็นผลดีอย่างยั่งยืนสำหรับการสาธารณสุข และช่วยเรื่องคุณภาพชีวิตของคนไทยอีกด้วย ข้อกังวลเดียวที่มีเหมือนกับสินค้านวัตกรรมอื่นๆ นั่นก็คือเรื่องของการก๊อบปี้ผลิตภัณฑ์ เพราะวันนี้สิทธิบัตรก็ไม่สามารถป้องกันได้

X

Right Click

No right click