December 22, 2024

ทุกคนที่แคร์ต่อปัญหาโลกร้อนและมลพิษในอากาศ ทั้งฝุ่น PM 2.0 ทั้งก๊าซเรือนกระจก และระดับคาร์บอนฯ บนชั้นบรรยากาศ ต้องดีใจและจริงจังกับโอกาสที่กำลังเปิดขึ้นในช่วงนี้ และมันจะเป็น Investment Theme สำคัญอีกอันหนึ่งในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเราสามารถทำกำไรกับมันได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ขณะช่วยโลกไปด้วย
นั่นคือ การลงทุนใน “พลังงานสะอาดและยั่งยืน”
เราย้ำอยู่เสมอว่า ความต้องการพลังงานนับแต่นี้ จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จนยากที่ความสามารถในการผลิตพลังงานที่มีอยู่ปัจจุบันยากจะรับได้
ผู้ขับขี่รุ่นใหม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค หันมาใช้รถยนต์ EV แทนรถยนต์แบบสันดาบภายใน การอุบัติขึ้นของ Generative AI ในนาม ChatGpt ส่งผลให้องค์กรทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐทั่วโลกวางแผนที่จะนำ AI มาประยุกต์ใช้กับงานของตนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน การเพิ่มจำนวนหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดย AI ในภาคการผลิตและภาคบริการ กระแสความนิยมขององค์กรภาคธุรกิจและภาครัฐต่อการเคลื่อนย้ายข้อมูลและซอฟท์แวร์ขึ้นไปอยู่บน Cloud Computer (เทรนด์นี้เรียกว่า Digital Transformation) ตลอดจนขนาดของการสร้าง เคลื่อนย้าย และจัดเก็บ ข้อมูลในยุค 5G, 6G, 7G…..
เหล่านี้ย่อมต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เพราะคอมพิวเตอร์ต้องเพิ่ม หน่วยความจำและหน่วยประมวลผลต้องเพิ่ม ศูนย์ข้อมูลหรือ Data Center และ จุดชาร์ตแบตเตอรี่รถยนต์และพาหนะ EV ทั้งปวง ก็ต้องเพิ่ม และจะเป็นการเพิ่มแบบก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้เสียด้วย เพราะ Adoption Rate ของ EV และ AI เพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้นและกำลังจะ Take-off
ทั้งหมดทั้งมวลล้วนต้องขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น
ปัญหาคือกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าทั้งหมดในโลกปัจจุบันมีไม่พอ ต้องสร้างใหม่อีกแยะ แต่ถ้าสร้างโรงไฟฟ้าแบบเดิม ที่อาศัยพลังงานฟอสซิลเป็นตัวปั่นไฟ ก็จะไปซ้ำเติมปัญหาโลกร้อนเข้าให้อีก
ในบรรดาพลังงานสะอาดแต่ละชนิด คือพลังน้ำ (เขื่อน) ลม แสงแดด ไฮโดรเจน และนิวเคลียร์ แต่ละแบบล้วนมีข้อดีข้อเสีย


เขื่อนนั้นสร้างยากและกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก ลมต้องอาศัยที่ที่มีลมพัดและกังหันปั่นไฟก็ยังแพง แสงแดดก็เช่นกัน ต้องตั้งไว้ในที่แดดแรงและกินพื้นที่มาก ไฮโดรเจนแพงและยังผลิตจำนวนมากไม่ได้ ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (Fission Technology) แม้จะมั่นคงและยั่งยืนกว่าพวกที่พูดมา ก็ยังแพงมากและภาพลักษณ์แย่ เพราะอันตรายจากกากกัมมันตภาพรังสีเมื่อเกิดอุบัติเหตุใหญ่ที่เชอร์โนบิลและฟูกูชิมา ส่วนพลังงานนิวเคลียร์ที่ปลอดภัยแบบดวงอาทิตย์ (Fusion Technology) นั้น ก็ยังอยู่ในระดับห้องทดลอง แม้จะเริ่มเห็นว่าเป็นไปได้แล้ว แต่ก็ยังต้องรอไปอีกหลายปีกว่าจะนำมาใช้ได้จริง
เดชะบุญที่ตอนนี้ SMR หรือ Small Modular Reactor ที่สร้างขึ้นโดย NuScale ได้รับใบอนุญาตและรับรองมาตรฐานจาก U.S. Nuclear Regulatory Commission (NRC) โดย NuScale นั้นเป็นสตาร์ทอัพที่ Spin-off จากเล็ปของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอน
จึงเริ่มมีการสร้างโรงไฟฟ้าหลายแห่งในสหรัฐฯ และแคนาดา ที่จะนำ SMR ไปติดตั้งแล้ว และจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเวลา 6 ปีนี้ (ญี่ปุ่นโดยฮิตาชิก็เริ่มลงทุนในเทคโนโลยีนี้แล้วเช่นกัน)
ต้องบอกก่อนว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปัจจุบันนั้นราคาแพงมาก เพราะต้องสร้างเครื่องปั่นไฟและระบบให้ฟิตกับการออกแบบ แล้วขนไปประกอบ ณ โรงไฟฟ้าแต่ละแห่งที่สร้างขึ้น ต้นทุนจึงแพงมาก (หลักหมึ่นล้านบาทต่อโรง)
ผิดกับ SMR ที่สามารถผลิตจำนวนมากๆ ได้จากโรงงานของ NuScale แล้วนำไปติดตั้งได้เลย โดยกำลังผลิตของแต่ละโมดูลจะได้ประมาณ 50 เมกกะวัตต์ (ใช้ได้อย่างต่ำ 6 หมึ่นครัวเรือนในเขตพื้นที่นอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล)
ถ้าต้องการขยายกำลังผลิตในพื้นที่ ก็สามารถบรรจุ SMR หลายๆ เครื่องได้ต่อ 1 โรงไฟฟ้า (ลองดูตัวอย่าง SMR และโรงไฟฟ้าแบบใหม่ได้จากเว็บไซต์ของ NuScale)
ข้อดีอีกอย่างของมันคือเล็กและไม่จำเป็นต้องสร้างหอหล่อเย็น (Cooling Tower) เพราะใช้ความร้อนไม่มากเท่าเทคโนโลยีเดิม ทำให้ประหยัดค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า ตลอดจนปริมาณน้ำและระบบหล่อเย็น
SMR จะช่วยให้เราได้พลังงานสะอาดและเพียงพอต่อความต้องการในอนาคต
อันที่จริงแหล่งพลังงานในอุดมคติเลยคือ Fusion Technology (เชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีเดียวกับดวงอาทิตย์) ซึ่งอาจจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซนต์เพราะไม่คายกากนิวเคลียร์เลย (หรือคายน้อยมาก)
แต่ตราบเท่าที่มันยังไม่เสร็จให้ใช้ SMR ย่อมเป็นความหวังสำคัญ

โดย ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว / Editor in Chief _MBA magazine

05/10/2566

X

Right Click

No right click