กลุ่มธนาคารยูโอบีประกาศผลกำไรสุทธิไตรมาสสามปี 2566 ที่ 1.5 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ผลประกอบการที่ยืดหยุ่นนี้ได้รับแรงขับเคลื่อนจากรายได้ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งจากรายได้จากค่าธรรมเนียมสุทธิและดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มสูงขึ้น

ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารยูโอบีในไตรมาสสามปี 2566 ได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่กระจายตัวทั้งในธุรกิจ ขนาดใหญ่และลูกค้ารายย่อย รายได้จากค่าธรรมเนียมสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 591 ล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ เนื่องจากค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต ค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการความมั่งคั่ง รวมถึงค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับสินเชื่อที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าธรรมเนียมบัตรเดรดิตเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 104 ล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ จากการที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงปรับตัวอย่างต่อเนื่อง

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิขยายตัว 14 จุด ส่งผลให้รายได้จากดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับปีก่อน รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่รายได้จากการบริหารตลาดเงินที่เกี่ยวกับลูกค้าที่เพิ่มขึ้นถูกปรับลดลงจากตีราคาเงินลงทุนที่ปรับตัวลดลงจากความผันผวนของตลาด

หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิลดลงเนื่องจากธนาคารแปลงสภาพคล่องส่วนเกินเป็นสินทรัพย์คุณภาพสูงแต่ได้รับผลตอบแทนที่ต่ำลง รายได้จากการบริหารตลาดเงินที่เกี่ยวกับลูกค้าปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกันไตรมาสก่อน

ต้นทุนความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อในไตรมาสสามปี 2566 ปรับตัวดีขึ้น 11 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน อยู่ที่ 19 จุด อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คงที่ที่ร้อยละ 1.6 งบดุลของกลุ่มธนาคารยูโอบียังคงแข็งแกร่ง มีสภาพคล่องดี และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่หนึ่งที่เป็นส่วนของเจ้าของที่ร้อยละ 13.0

1 ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่เกี่ยวเนื่องกับการซื้อธุรกิจลูกค้ารายย่อยจากซิตี้กรุ๊ปในมาเลเซีย ไทย และเวียดนาม

ผลประกอบการที่แข็งแกร่งซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากพอร์ตโฟลิโอที่ยืดหยุ่น

“เศรษฐกิจโลกยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในระยะนี้ก็ยิ่งเพิ่มความผันผวนให้ตลาด ยูโอบีมีพอร์ตโฟลิโอที่ยืดหยุ่น จึงช่วยให้เราข้ามผ่านวัฏจักรต่างๆ ของตลาดได้ ธุรกิจหลักของเรามีผลประกอบการที่ดี เนื่องจากรายได้จากดอกเบี้ยรับสุทธิเพิ่มสูงขึ้น และค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่สูงเป็นประวัติการณ์

การรวมกิจการลูกค้ารายย่อยจากซิตี้กรุ๊ปยังคงดำเนินไปตามแผน การรวมกิจการในอินโดนีเซีย ไทย และเวียดนามเดินหน้าตามแผนที่กำหนดไว้ หลังจากที่เราประสบความสำเร็จในการถ่ายโอนลูกค้าของซิตี้กรุ๊ปทั้งหมดในมาเลเซียสู่แพลตฟอร์มของธนาคาร

สภาพแวดล้อมในระดับเศรษฐกิจมหภาคยังคงไม่ราบรื่น เต็มไปด้วยอุปสรรค อย่างไรก็ตาม เราคาดหวังว่าภูมิภาคอาเซียนจะยังคงสามารถฟิ้นตัวได้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงแข็งแกร่งและการไหลเวียนของเงินลงทุนสู่ภูมิภาคนี้ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยกระตุ้นการเติบโตได้

ในส่วนของยูโอบี งบดุลของธนาคารที่ยังคงแข็งแกร่งซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยขับเคลื่อนรายได้ที่กระจายตัวจะช่วยให้อนาคตของเราราบรื่น และเราพร้อมสนับสนุนลูกค้าทุกคนในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้”

9 เดือนแรกปี 2566 เปรียบเทียบกับ 9 เดือนแรกปี 2565

กำไรหลักสุทธิโตขึ้นร้อยละ 33 อยู่ที่ 4.6 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์จากปีก่อน เนื่องจากรายได้จากดอกเบี้ยรับสุทธิและรายได้จากการค้าและการลงทุนที่แข็งแกร่ง หากนับรวมค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในการควบรวมกิจการซิตี้กรุ๊ป กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 4.3 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์

รายได้จากดอกเบี้ยรับสุทธิดีดตัวสูงขึ้นร้อยละ 26 จากปีก่อน อยู่ที่ 7.3 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่แข็งแกร่ง ซึ่งขยายตัว 38 จุด อยู่ที่ร้อยละ 2.12 จากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น รายได้จากค่าธรรมเนียมสุทธิอยู่ที่ 1.7 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 64 ทำสถิติใหม่ที่ 257 ล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ จากการที่แฟรนไชส์ลูกค้าระดับภูมิภาคขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ปรับลดลงจากการที่นักลงทุนยังคงระมัดระวัง ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับสินเชื่อและการบริหารจัดการความมั่งคั่งลดลง

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเท่าตัวอยู่ที่ 1.6 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ เนื่องจากรายได้จากการบริหารตลาดเงินที่สูงเป็นประวัติการณ์และผลประกอบการดีจากกิจกรรมการค้าและการบริหารจัดการสภาพคล่อง ค่าใช้จ่ายหลักรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 อยู่ที่ 4.3 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ เพื่อใช้สนับสนุนโครงการริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์ แต่เนื่องจากรายได้เติบโตขึ้นสูงกว่า จึงส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ 2.7 จุด อยู่ที่ร้อยละ 40.9  เงินกันสำรองรวมปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากเงินกันสำรองแบบเฉพาะรายเพิ่มสูงขึ้นจากบัญชีลูกค้าบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไม่เป็นระบบบางราย รวมถึงมีการกันเงินสำรองทั่วไปเชิงรุก

ไตรมาส 3 ปี 2566 เปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566

ผลกำไรหลักสุทธิในไตรมาสสามปี 2566 ปรับลดลงร้อยละ 2 อยู่ที่ 1.5 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ หากนับรวมค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในการควบรวมกิจการซิตี้กรุ๊ป กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 1.4 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์

รายได้จากดอกเบี้ยรับสุทธิคงที่ที่ 2.4 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิปรับลดลงเล็กน้อยร้อยละ 2.09 เนื่องจากธนาคารแปลงสภาพคล่องส่วนเกินเป็นสินทรัพย์คุณภาพสูงแต่ได้รับผลตอบแทนต่ำลง ในขณะที่ส่วนต่างอัตราเงินให้สินเชื่อและเงินฝากเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.64 รายได้จากค่าธรรมเนียมสุทธิสำหรับไตรมาสนี้เกือบทำสถิติสูงสุดใหม่ ขับเคลื่อนโดยค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับสินเชื่อที่แข็งแกร่งและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่สูงเป็นประวัติการณ์ รายได้จากการบริหารตลาดเงินที่เกี่ยวกับลูกค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ส่งผลให้เกิดโมเมนตัมที่ดี ผลประกอบการนี้ถูกปรับลดลงจากตีราคามูลค่าการลงทุนที่ปรับตัวลดลงจากความผันผวนของตลาด

อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้หลักของไตรมาสสามปี 2566 คงที่ที่ร้อยละ 41.0 เงินกันสำรองสำหรับสินเชื่อรวมปรับตัวลดลง 19 จุดสำหรับไตรมาสนี้ จากการลดยอดเงินกันสำรองทั่วไปเชิงรุกเพื่อชดเชยเงินกันสำรองแบบเฉพาะรายที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

ไตรมาส 3 ปี 2566 เปรียบเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2565

รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 14 จุด รายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ส่วนใหญ่เนื่องมาจากค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับสินเชื่อ บัตรเครดิต และการบริหารจัดการความมั่งคั่ง การเติบโตของรายได้ที่แข็งแกร่งและการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีวินัยส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้หลักปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 42.6 เป็นร้อยละ 41.0 เงินกันสำรองรวมสำหรับสินเชื่อเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 19 จุด เนื่องจากเงินกันสำรองแบบเฉพาะรายที่เพิ่มสูงขึ้น และบางส่วนถูกชดเชยด้วยลดลงของเงินกันสำรองทั่วไป

เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารยูโอบีได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท Guangzhou Auto Group (GAC) Aion เพื่อผนึกความร่วมมือแบบครอบคลุมทุกมิติในการเข้ามาทำธุรกิจรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยธนาคาร ยูโอบี ประเทศจีน และ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทยจะร่วมสนับสนุนสินเชื่อทางการเงินสำหรับการขยายธุรกิจ การพัฒนาตลาดและ การลงทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ของบริษัท

ข้อตกลงในครั้งนี้เป็นการสานต่อความร่วมมืออันยาวนานระหว่าง ธนาคารยูโอบี ประเทศจีน กับ GAC Aion ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ลำดับที่ 3 ภายในประเทศจีนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ GAC Aion และ บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลล์ (ประเทศไทย) จะได้รับประโยชน์จากบริการ Global Credit Services เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการขยายกิจการและดำเนินธุรกิจ บริการธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ บริการบริหารความเสี่ยงที่หลากหลาย และการเข้าถึงสินเชื่อสีเขียวภายใต้กรอบแนวคิดการเข้าถึงเงินทุนที่ยั่งยืนของธนาคารในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน

ตัน ชุน ฮิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ธนาคารยูโอบีขอร่วมแสดงความยินดีกับ GAC Aion กับก้าวแรกแห่งความสำเร็จในการเข้ามาสู่ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าประเทศไทย จากความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นอย่างยาวนาน ยูโอบีรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่บริษัทเลือกธนาคารเป็นสถาบันทางการเงินหลักเพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจนอกประเทศ ในฐานะธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาคที่มีรากฐานที่มั่นคงในประเทศไทย ยูโอบีได้ช่วยเหลือให้ GAC Aion ได้เข้ามาทำตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่กำลังเติบโตในประเทศได้อย่างประสบความสำเร็จเพราะธนาคารมีเครือข่ายที่แข็งแกร่งและมีความเข้าใจเกี่ยวกับการทำธุรกิจในประเทศไทยเป็นอย่างดี ยูโอบีพร้อมมอบความช่วยเหลือเพิมเติมให้แก่บริษัทเพื่อสนับสนุนความต้องการในการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค และการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ยานยนต์สีเขียวต่อไปในอนาคต

บันทึกความเข้าใจนี้สืบเนื่องจากที่ GAC Aion ได้เปิดตัว Aion Y Plus รถยนต์พลังงานไฟฟ้าสำหรับจำหน่ายในต่างประเทศเป็นที่แรกในประเทศไทย โดยเมื่อปี 2565 บริษัทได้วางกลยุทธ์ขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ในต่างประเทศ และเลือกภูมิภาคอาเซียนที่ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีประเทศไทยเป็นจุดหมายแรกในการปักธงธุรกิจ ธนาคารยูโอบีนำโดยหน่วยงานที่ปรึกษาด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment Advisory Unit) พร้อมด้วยผู้จัดการลูกค้าสัมพันธ์ และ หน่วยบริการธุรกิจจีนได้ร่วมให้คำแนะนำในการขยายธุรกิจแก่บริษัทในทุกมิติ ทำให้ Gac Aion สามารถจัดตั้งบริษัทย่อย จดทะเบียนลงทุนทางตรงในต่างประเทศ และส่งออกรถยนต์รุ่น Y Plus มาทำตลาดในไทย นอกจากนี้ธนาคารยังให้บริการชำระเงินข้ามพรมแดนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยสามารถชำระเงินเป็นสกุลเงินบาท และโอนเงินโดยตรงให้แก่บริษัทที่จีนเป็นสกุลเงินหยวนได้ทันที”

โอเชียน หม่า กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอออน ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้วหลังจากที่บริษัทได้จัดตั้งหน่วยธุรกิจต่างประเทศ เราได้เรียนรู้และสานสัมพันธ์กับธุรกิจในประเทศต่างๆ ผ่านเครือข่ายระดับภูมิภาคที่เข้มแข็งของธนาคารยูโอบีทำให้เรามีข้อมูลและรับทราบความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเวลาขยายธุรกิจออกนอกประเทศ อีกทั้งธนาคารยังช่วยเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างบริษัทกับตัวแทนจากภาครัฐทั่วภูมิภาคอาเซียนที่ตั้งอยู่ในมณฑลกวางโจว และตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ยูโอบีจึงไม่เป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงินแต่เป็นคู่คิดที่อยู่เคียงข้างเราในทุกๆ ก้าวของการเดินทาง”

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่เปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่น Y Series ทุกรุ่น Gac Aion มีแผนที่จะตั้งโรงงานและใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทยและประเทศอื่นๆ

กู่ ฮุ่ยหนาน กรรมการผู้จัดการบริษัท GAC Aion New Energy Automotive Co., Ltd กล่าวเพิ่มเติมว่า “บริษัทมีแผนจะใช้ประเทศไทยเป็นที่แรกเพื่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและสร้างเครือข่ายในการขยายธุรกิจส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศ ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนจากธนาคารยูโอบีในการเข้ามาทำตลาดในภูมิภาคนี้เป็นอย่างดี บริษัทพร้อมจะเติบโตไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องและยินดีที่จะร่วมงานกับธนาคารเพื่อเสริมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้แก่ทุกคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ซินเทีย ซิง, Head of Corporate Banking, ธนาคารยูโอบี ประเทศจีน กล่าวว่า “ยูโอบีรู้สึกยินดีที่ได้รับความไว้วางใจจาก GAC Aion พร้อมทั้งมีความเชื่อมั่นว่าการลงนามในข้อตกลงร่วมครั้งนี้จะกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจของเราให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการตอกย้ำจุดยืนของธนาคารในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินหลักของ Aion และ GAC Aion ที่พร้อมสนับสนุนการขยายโอกาสทางธุรกิจอย่างครอบคลุมทั่วภูมิภาคอาเซียนผ่านการให้สินเชื่อหมุนเวียนทางธุรกิจ โซลูชันทางการเงินเพื่อความยั่งยืน รวมทั้งการให้บริการที่ปรึกษาทางการเงิน (global markets)และกิจกรรมในตลาดทุน (capital markets)”

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย รายงานผลการศึกษาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอาเซียน (ASEAN Consumer Sentiment Study – ACSS)[1] ประจำปี 2566 สะท้อนความรู้สึกของผู้บริโภคต่อสภาวะเศรษฐกิจของไทย พร้อมสำรวจแนวโน้มการนำบริการธนาคารดิจิทัลมาใช้ โดยรายงานการศึกษาพบว่า ผู้บริโภคคนไทยยังคงเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็มีความระมัดระวังและปรับตัวให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะชะลอตัว

  • ทัศนคติโดยรวมของผู้บริโภคในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางบวก
  • ร้อยละ 72 ของผู้ตอบแบบสำรวจ แสดงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่อาจเกิดขึ้นในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า ส่งผลให้ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างระมัดระวังกว่าเดิม และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางการเงิน โดยเลือกกันเงินสำหรับการออมและการลงทุนมากขึ้น
  • การใช้ธนาคารดิจิทัลและช่องทางการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือและอีวอลเล็ตเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคพร้อมที่จะแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวเพื่อรับข้อเสนอบริการเฉพาะบุคคลจากธนาคาร

นายยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “รายงาน ACSS ที่จัดทำขึ้นโดยธนาคารยูโอบีฉบับนี้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญสำหรับทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจเพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ธนาคารมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ทุกคนประสบความสำเร็จทางการเงินท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศของการบริการธนาคารดิจิทัลที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเปิดรับโอกาสทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน”  

รายงาน ASEAN Consumer Sentiment Study (ACSS) เป็นรายงานศึกษาเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจาก 5 ประเทศในอาเซียน ประกอบด้วย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนิเซีย ไทย และ เวียดนาม เป็นประจำทุกปี รายงานปีที่ 4 ฉบับล่าสุดได้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 โดยในประเทศไทยเป็นการสำรวจคำตอบของผู้บริโภค 600 คนจากหลายกลุ่มประชากร 

ความกังวลทางการเงินส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยใช้จ่ายอย่างรัดกุมและวางแผนการลงทุน

ผลสำรวจพบว่าร้อยละ 57 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่สูงขึ้นร้อยละ 14 เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และความกังวลเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เกี่ยวกับการออมที่ลดลง

นอกจากนี้ รายงานยังระบุแนวโน้มที่น่าสนใจของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุน Gen Z เป็นกลุ่มที่ระมัดระวังที่สุด โดยร้อยละ 41 มีแผนออมเงินมากขึ้นในปีนี้ ในขณะที่ Gen Y มุ่งเน้นการลงทุนมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น

ความกังวลทางการเงิน ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยรัดกุมกับค่าใช้จ่ายและการลงทุนมากขึ้น ร้อยละ 57 ติดตามค่าใช้จ่ายของตนผ่านแพลตฟอร์มธนาคารดิจิทัล ผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นให้ความสนใจกับเครื่องมือทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำ อีกทั้งยังกระจายการลงทุนไปยังกลุ่มสินทรัพย์อื่นๆ ที่ไม่ใช่เครื่องมือทางการเงิน เช่น  แผนประกัน อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

จากผลสำรวจ ธนาคารยูโอบีจึงเน้นถึงความสำคัญของการวางแผนความมั่งคั่งในระยะยาว อย่างรอบคอบและมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

“การวางแผนความมั่งคั่งที่เหมาะกับระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล และการเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านความยั่งยืนเข้าไปเป็นกลยุทธ์การลงทุนจะช่วยสร้างความมั่งคั่งที่ยืนยาวให้แก่ผู้บริโภคได้” นายยุทธชัยกล่าว

ผู้บริโภคไทยใช้บริการธนาคารดิจิทัลมากที่สุด

ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการธนาคารดิจิทัลมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน ในปีที่ผ่านมาร้อยละ 61 ใช้แอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค วิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ อีวอลเล็ตและการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด รายงานยังพบว่ากว่า 4 ใน 5 ของผู้บริโภคชาวไทยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการลงทุนและการจัดการความมั่งคั่ง โดย Gen Y เป็นกลุ่มที่ใช้บริการด้านการลงทุนมากที่สุด

นอกจากการเปิดรับบริการธนาคารดิจิทัล ผู้บริโภคยังพร้อมแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวกับธนาคารเพื่อรับบริการเฉพาะบุคคลมากขึ้นร้อยละ 89 ของผู้สำรวจเลือกที่จะแบ่งปันข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร มากกว่าแอปพลิเคชันแบบอื่นๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของผู้บริโภค ในการเปิดรับข้อเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่คัดสรรเฉพาะจากธนาคาร

นายยุทธชัยกล่าวเสริมว่า “ยูโอบีมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเรื่องการธนาคารแบบเฉพาะบุคคล (Personalised Banking) ผ่านแอปพลิเคชัน UOB TMRW ที่ขับเคลื่อนด้วย AI วิเคราะห์ข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน ทำให้เข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง และสามารถช่วยให้บริหารจัดการเงินในแบบที่ลูกค้าต้องการ นอกจากนี้ ธนาคารกำลังพัฒนาแอปพิเคชัน UOB TMRW เพิ่มเติม เพื่อให้คำปรึกษาวางแผนด้านการลงทุนอัตโนมัติแบบเฉพาะบุคคล ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าบริหารจัดการการเงินได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากรายงานฉบับนี้”


[1] รายงานประจำปี 2566 จัดทำขึ้นในเดือนมิถุนายน สำรวจคำตอบจากผู้บริโภคชาวไทยจำนวน 600 คน อายุ 18-65 ปี ในกลุ่มชนชั้นกลาง (Mass) (รายได้ <50,000 บาท) กลุ่มชนชั้นกลางผู้มั่งคั่ง (Mass Affluent) (รายได้ 50,000 - 199,000 บาท) และกลุ่มมั่งคั่ง (Affluent) (รายได้ ≥200,000 บาท)

 

เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย จับมือร่วมกับ อเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง ประเทศไทย แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ระดับโลก และเพย์โอเนียร์ ผู้ให้บริการรับจ่ายเงินระหว่างประเทศชั้นนำของประเทศจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “Global E-Commerce Expo : โอกาสบุกตลาดอีคอมเมิร์ซในต่างประเทศ สำหรับ SME ไทย” เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่และให้คำแนะนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กำลังพิจารณาเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซระดับโลกผ่านทาง Amazon.com

รายงาน UOB Business Outlook Study 2023 (SME& Large Enterprises)[1] พบว่า ร้อยละ 93 ของธุรกิจไทยสนใจที่จะนำดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สนับสนุนการค้าข้ามพรมแดนมาใช้เพื่อขยายธุรกิจไปต่างประเทศ และร้อยละ 34 ใช้อีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มสำหรับสรรหาวัตถุดิบและผู้ขาย [2]งานสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีไทยที่มองหาโอกาสในการขยายฐานลูกค้าออนไลน์และเพิ่มช่องทางใหม่ในการสร้างรายได้ ผู้เข้าร่วมกว่า 150 คน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวโน้มของตลาดอีคอมเมิร์ซจากอดีต ปัจจุบัน และที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต วิธีการเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมมาขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ช การจัดการโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน และการสนับสนุนทางการเงินของธนาคารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจในการบุกตลาดการซื้อขายสินค้าออนไลน์ระดับโลก

นางสยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Business Banking ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “การขยายธุรกิจไปต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลกอย่างอเมซอน จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงตลาดโลกได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น งานสัมมนาที่ธนาคารจัดขึ้นร่วมกับ อเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง และ เพยโอเนียร์ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของธนาคารที่ต้องการมอบความรู้และการสนับสนุนทางการเงินสำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีที่สนใจขยายธุรกิจไปตลาดต่างประเทศ สอดคล้องกับกลยุทธ์หลักของธนาคารที่ต้องการเชื่อมโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ธนาคารเชื่อมั่นว่าลูกค้าที่เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้จะหันมาสนใจทำธุรกิจบนตลาดอีคอมเมิรช์เพื่อขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศ และช่วยสนับสนุนให้สินค้าไทยสามารถส่งออกไปขายในตลาดโลกได้มากขึ้น” 

นายธเธียร์ อนุจรพันธ์ หัวหน้าทีมอเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง ประเทศไทย กล่าวว่า “ มีโอกาสมากมายบนตลาดอีคอมเมิรซ์ระดับโลกที่ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ของตนเองให้เข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลก ทางอเมซอนพร้อมสร้างความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับสถาบันการเงินชั้นนำอย่างธนาคารยูโอบี เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ธุรกิจในประเทศไทยในการแข่งขันระดับโลก เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ขายสินค้าที่สนใจสร้างฟุตพรินท์ทางธุรกิจในระดับสากลบนตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์ของอเมซอนที่เข้าถึงผู้ซื้อกว่า 300 ล้านรายทั่วโลก”

นายเจริญ หิรัญตระกูล  Country Lead บริษัท เพย์โอเนียร์ ประเทศไทย กล่าวว่า “บริษัทรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนโซลูชันทางการเงินสำหรับธุรกิจการซื้อขายสินค้าข้ามพรมแดนที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ระบบจ่ายเงินของเพย์โอเนียร์จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจในการจัดการธุรกรรมทางการเงินและลดขั้นตอนในการรับชำระเงิน โดยผู้ขายสินค้าบนอเมซอนสามารถเลือกรับเงินเข้าบัญชีจากผู้ซื้อทั่วโลกเป็นสกุลเงินบาทหรือสกุลเงินต่างประเทศได้โดยทันที และสามารถโอนเงินจากบัญชีเพย์โอเนียร์เป็นสกุลเงินท้องถิ่น เข้าไปยังบัญชีเงินฝากจากทางธนาคารยูโอบีได้ทันที”


[1] ที่มา ผลสำรวจยูโอบีเผย ธุรกิจ 3 ใน 4 เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในปีนี้

[2] ทีมา UOB Business Outlook Study 2023 ผู้ตอบ: ธุรกิจเอสเอ็มอีและองค์กรขนาดใหญ่จากภาคอุตสาหกรรมหลักในประเทศไทย N=530

Page 4 of 9
X

Right Click

No right click