November 08, 2024

อีกหนึ่งความก้าวหน้าการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้นำชุมชนและเยาวชน จ.น่าน และจ.กระบี่ ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเวทีให้เด็กและผู้ใหญ่ ทั้งสองพื้นที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แชร์ประสบการณ์การขับเคลื่อนสังคม เพื่อพัฒนาชุมชนตนเองสู่ต้นแบบพื้นที่ สุขภาวะ ณ ชุมชนบ้านท่ามะพร้าว ต.คลองพน อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประยเทศไท) และ Imagine Thailand Movement กล่าวว่า ชุมชนตำบลเจดีย์ชัย อ.ปัว จ.น่าน และ ชุมชนบ้านท่ามะพร้าว ต.คลองพน อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เป็นพื้นที่เป้าหมายการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ ซึ่งมีบริบทที่แตกต่างกัน แต่จุดหมายเดียวกัน คือ ต้องการพัฒนาชุมชนตนเองให้เป็นพื้นที่สุขภาวะสำหรับทุกคน ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้ต้องการให้ผู้นำชุมชน และเยาวชนทั้งสองพื้นที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง ผมคิดว่า เราจะเห็นโอกาสอะไรใหม่ๆ เพราะประสบการณ์เหล่านี้จะสะสมให้พวกเขาลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ ทำอะไรบางอย่าง เพื่อชุมชนของพวกเขาเอง

สำหรับกิจกรรมนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 50 คน ประกอบด้วย ผู้นำชุมชนและเยาวชน ต.เจดีย์ชัย นำโดย นายฤทธิเดช ยะแสง กำนันตำบลเจดีย์ชัย พ่อเสริม คำแปง จากศูนย์เรียนรู้เสริมทรัพย์ เกษตรอินทรีย์ นักเรียนและคุณครูจากโรงเรียนบ้านนาวงศ์ และโรงเรียนบ้านปงสนุก พร้อมด้วยผู้นำชุมชนบ้านท่ามะพร้าว อาทิ ลุงเฉม ลูกบัว ลุงทวี คำเผือก ลุงวาสนา หลานเด็น อาจารย์สุบิน นิยมเดชา ผอ.โรงเรียนบ้านท่ามะพร้าว ชาวชุมชน รวมถึงแกนนำเยาวชน พี่ต้า พี่ดีน พี่ครีม ครูเกมส์ ครูอุ๊ส โดยในการนี้ได้รับเกียรติจากนายณธรรมรักษ์ จงรักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลคลองพนพัฒนา มาให้การต้อนรับและเป็นกำลังใจกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม

ชุมชนบ้านท่ามะพร้าว” เป็นชุมชนมุสลิม ทำอาชีพประมง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง และมีการสร้างเยาวชนอาสาส่งต่อรุ่นสู่รุ่นเป็นแกนนำร่วมพัฒนาหมู่บ้าน ในอดีต ชุมชนแห่งนี้ มีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อ 20 ปีก่อนป่าถูกทำลายอย่างนัก จนสัตว์น้ำหายไปพร้อมกับผู้คน ในชุมชนที่ต้องย้ายถิ่นไปทำมาหากินนอกพื้นที่ แต่ด้วยความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา โรงเรียน ชาวบ้านองค์กรท้องถิ่นต่างๆ และแรงหนุนจากสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) พร้อมใจกันลุกขึ้นมาทวงคืนทรัพยากรล้ำค่า ช่วยกันปลูก ช่วยกันดูแล อนุรักษ์ จนวันนี้ผืนป่ากลับมาสมบูรณ์ ชาวบ้านมีรอยยิ้ม มีงานทำ มีรายได้ และมีอาหารดีๆ นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของชุมชนแห่งนี้

โดยตลอดทั้ง 2 วัน ผู้นำชุมชนและเยาวชน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ผ่านกระบวนการต่างๆ และได้ร่วมกิจกรรมปล่อยปู คืนสู่ทะเล เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และลงไปในชุมชน เยี่ยมชมวิถีชีวิตชาวประมง ทำให้ได้เห็น ได้ลองสัมผัส กุ้ง หอย ปู ปลา ตัวเป็นๆ สร้างความตื่นเต้นให้กับน้องๆ เยาวชน จากน่าน เป็นอย่างมาก เพราะหลายคนไม่เคยเห็นของจริง

และเวทีนี้ ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนได้นำเสนอแนวคิดในการพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง ให้ผู้ใหญ่ได้รับทราบด้วย ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่ มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ต้องการแก้ไขปัญหา ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ อบายมุข และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ให้หมดไปจากหมู่บ้าน เพราะพวกเขาอยากให้ชุมชนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน นั่นเอง

สำหรับ น้อง “มาเฟีย” หรือ ด.ญ.ศุภดารัตน์ อรุณวัฒนานันท์ นักเรียนชั้นม.1 โรงเรียนบ้านปงสนุก จ.น่าน บอกว่า ตื่นเต้นที่ได้เห็นอาหารทะเลตัวเป็นๆ ได้เห็นวิถีชีวิตชาวประมง และรู้ว่าป่าชายเลนมีความสำคัญกับชุมชนแห่งนี้มาก เพราะเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำ แหล่งอาหารของชุมชน และได้รู้อีกว่าชุมชนบ้านท่ามะพร้าวมีปัญหาเรื่องสิ่งเสพติด ตามที่เพื่อนๆ นำเสนอ พวกเขาอยากให้มีการนำเอาคนในหมู่บ้าน ที่ติดยาไปบำบัด ซึ่งชุมชนของหนูก็ไม่อยากให้มีปัญหานี้เหมือนกัน ซึ่งการมากระบี่ครั้งนี้ได้ประสบการณ์ที่คุ้มค่ามาก ๆ

เช่นเดียวกับ “น้องอามีนะ” หรือ ด.ญ.รัตดาวัลณ์ กูลหลัก นักเรียนชั้นป.6 โรงเรียนบ้านท่ามะพร้าว จ.กระบี่ ที่บอกว่า ประทับใจกับกิจกรรมนี้ ได้รู้จักเพื่อนใหม่ และได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน ทำให้เรารู้ว่า ชุมชนเจดีย์ชัยมีเรื่องปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับยาเสพติด หนูคิดว่าการที่เราได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนต่างพื้นที่ ทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆ บางทีปัญหาเหมือนกันแต่มีวิธีแก้ไขที่ต่างกัน ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาชุมชนของเราก็ได้

ส่วน นายฤทธิเดช ยะแสง กำนันตำบลเจดีย์ชัย หนึ่งในผู้นำคนสำคัญ กล่าวว่า การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้สร้างประสบการณ์ที่มีค่าให้กับผู้นำชุมชน และเยาวชน ตำบลเจดีย์ชัย เป็นอย่างมาก เป็นการเปิดโลกเรียนรู้ให้กับเด็ก ซึ่งหลายคนไม่ค่อยมีโอกาสดีๆ แบบนี้ ทริปนี้เป็นครั้งแรกของพวกเขาที่ได้ออกมาเรียนรู้ มาเก็บเกี่ยวประสบการณ์นอกห้องเรียนไกลถึงจ.กระบี่ เชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนได้ติดตัวกลับไปจากกิจกรรมนี้ จะประโยชน์สำหรับการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะของชุมชนตำบลเจดีย์อย่างแน่นอน

ลุงทวี คำเผือก และลุงเฉม ลูกบัว ปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำชุมชนบ้านท่ามะพร้าว กล่าวว่า ดีใจที่ได้เห็นภาพผู้นำชุมชน และเยาวชน ทั้ง 2 พื้นที่ได้มารู้จัก มาแลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะเยาวชน ถือเป็นทรัพยากรสำคัญของชุมชน ที่จะก้าวมาเป็นผู้นำในอนาคต จำเป็นต้องเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ ซึ่งการได้รู้จัก ได้ร่วมงานกับผู้นำเก่งๆ ต่างพื้นที่ ทำให้เห็นโอกาสใหม่ๆ และเกิดแรงบันดาลใจ ผลักดันให้พวกเขาลุกขึ้นมาเป็นแกนนำอาสาร่วมพัฒนาหมู่บ้าน ให้น่าอยู่ ให้ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยง

 

กระบวนการ Social Lab มีเป้าหมายที่จะสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ทางสังคม ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ปลอดภัยสำหรับ ทุกคน และเราคงไม่สามารถขับเคลื่อนงานลักษณะแบบนี้ได้ ถ้าขาดซึ่งความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ ทั้งผู้นำชุมชน ผอ.โรงเรียน ผู้นำในท้องถิ่น ปราชญ์ และแน่นอน สสส. ซึ่งให้การสนับสนุนการขับเคลื่อน เพื่อที่จะสร้างสังคม สุขภาวะให้ได้เกิดขึ้นจริง” ดร.อุดม กล่าว

นับเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า และมีความหมาย กับน้องๆ เยาวชน และผู้นำชุมชน ทั้งสองพื้นที่ ที่จะนำเอาองค์ความรู้กลับไปพัฒนาพื้นที่สุขภาวะของตนเองและของชุมชน เพื่อเป็นเกราะป้องกันพวกเขาให้ห่างปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพต่างๆ ต่อไป

X

Right Click

No right click