December 03, 2024

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้าผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยโดยอาศัย "พลังทางอ้อม" ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ด้วยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นผ่านการพัฒนาองค์ความรู้ ส่งเสริมศักยภาพ และเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดสากล ผ่าน “โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นไทยสู่สากล” ประจำปี 2567 เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างอินฟลูเอนเซอร์ในการสร้างภาพลักษณ์ และโชว์สินค้าแฟชั่นของไทยให้เป็นที่รู้จักสู่ตลาดโลก

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยสามารถโน้มน้าวจูงใจให้ประเทศคู่ค้า ผู้สนใจลงทุน ผู้สนใจซื้อสินค้าและบริการ นักท่องเที่ยว หรือผู้หาที่จัดงาน MICE ตัดสินใจเลือกประเทศไทย หรือ สินค้าและบริการของไทยผ่านการส่งสารโดยอาศัย "พลังทางอ้อม" หรือ Soft Power ที่ไม่ใช่การพูดหรือโฆษณาโดยตรง แต่เป็นการสื่อสารว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน น่าใช้ชีวิต คนไทยเป็นคนน่ารัก มีศิลปะและวัฒนธรรม มีความละเอียดอ่อน มีความใส่ใจในสินค้าคุณภาพในทุก ๆ ช่องทางการสื่อสาร อย่างไรก็ดี นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย ช่วงแรกจะเน้นการพัฒนาการสื่อสารพลังทางอ้อมนี้ ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ 1) ละคร/ภาพยนตร์ 2) แฟชั่น 3) อาหาร 4) งาน festival และ 5) กีฬามวยไทย ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายในการ “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ผนวกกับนโยบายการเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือซอฟต์พาวเวอร์ จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น และอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักสำคัญที่ส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย ในด้านการสร้างรายได้และการจ้างงาน

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ตามแนวคิด “Fun & Freedom แฟชั่นไทย ใส่ยังไงก็สนุก” ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติพูดถึงประเทศไทย จึงได้มีแนวคิดในการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มบนฐานของทุนทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว รวมถึงเทคนิคและเครื่องมือการโน้มน้าวและสื่อสาร (Convince & Communication) สร้างกระแสให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักผ่านการสื่อสารพลังทางอ้อมของประเทศไทย อาทิ การสร้างคอนเทนต์ (Viral Content) การเล่าเรื่อง (Storytelling) การสร้างแบรนด์ (Branding) การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media) การใช้บุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิด (Influencer) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงและบูรณาการ Soft Power ข้ามอุตสาหกรรม (Fashion Cross Industries Collaboration) ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างกระแส Soft Power ด้านแฟชั่น เช่น การ Collab กับละคร ซีรีส์ โดยพระเอก นางเอก แต่งกายด้วยชุดและเครื่องประดับแฟชั่นไทย ผ่าน "โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นไทยสู่สากล" โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจกรรม 1) การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้เข้าใจในโจทย์ของซอฟต์พาวเวอร์ที่ประเทศไทยต้องการสื่อสาร เช่น การมีความคิดความคิดริเริ่ม ความเป็นสากล ความทันสมัย ความมีวัฒนธรรม และความละเอียดอ่อน เป็นต้น 2) การส่งเสริมให้เกิดการจับมือด้านธุรกิจระหว่าง Influencer และการใช้ Social Media เพื่อวางระบบการสื่อสารทางอ้อม เร่งขยายการสื่อสารออกไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 3) การจัดงานแสดงศักยภาพและสื่อสารภาพลักษณ์ของการออกแบบและสินค้าแฟชั่นที่สะท้อนภาพลักษณ์ในการดำเนินการตามนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย

ภายในการจัดงานในวันนี้ มีกิจกรรมพิเศษมากมาย อาทิ 1) ปาฐกถา หัวข้อ “Soft Power กับการพัฒนาประเทศไทย” โดย นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ 2) เสวนาหัวข้อ “เปิดมุมมองวิสัยทัศน์ ด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น” โดยนางอัจฉรา อัมพุช ประธาน อนุกรรมการฯ ด้านแฟชั่น 3) เสวนาหัวข้อ “แนวโน้มและทิศทาง Soft Power ในอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย” โดย ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ นายสักกฉัฐ ศิวะบวร นักยุทธศาสตร์เชิงสร้างสรรค์ และตัวแทนผู้ประกอบการเจ้าของแบรนด์แฟชั่นอีก 2 ท่าน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ และเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่ตลาดโลกต่อไป นางสาวณัฏฐิญา กล่าวทิ้งท้าย

X

Right Click

No right click