January 03, 2025

Wi-Fi Alliance®, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ร่วมกับสมาชิก Wi-Fi Alliance® ได้แก่ ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอนเตอร์ไพรส์ (HPE), Intel และ Meta รวมถึงได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐอเมริกา (USTDA) ในการดำเนินโครงการนำร่อง Wi-Fi 6 GHz ระยะ 7 เดือนเสร็จสิ้นแล้ว และเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยี Wi-Fi ความถี่ 6 GHz ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบการรักษาพยาบาลด้วยโซลูชันนวัตกรรมการเชื่อมต่อ จากที่ผ่านมาคลื่นความถี่ที่ใช้ในประเทศไทยต่ำกว่า 500 MHz โครงการนำร่องดังกล่าวนับเป็นการทดสอบการใช้งานคลื่นความถี่ 6 GHz แบบองค์รวมที่รวบรวมทุกย่านความถี่ (สเปกตรัม 1200 MHz) ของ Wi-Fi ในสถานพยาบาล เพื่อนำไปเป็นต้นแบบต่อยอดและใช้งานต่อไปทั่วประเทศ

การเปลี่ยนแปลงการฝึกอบรมแพทย์ฝึกหัดและการบริการในระบบการรักษาพยาบาล

เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านของระบบดิจิทัลที่นำมาใช้ในการรักษาพยาบาลมีความก้าวหน้ามากขึ้น อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ มีการเชื่อมต่อกัน และอุปกรณ์เชื่อมต่อระหว่างผู้ป่วยและเครื่องมือแพทย์ก็เชื่อมต่อกัน จึงต้องมีเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงที่เสถียรและปลอดภัย และการนำ Wi-Fi 6 GHz มาใช้จะช่วยตอบสนองความต้องการนี้โดยการเพิ่มสเปกตรัมความถี่วิทยุและช่องสัญญาณการทำงานที่มีอยู่ให้มากขึ้น ซึ่งทำให้สถานพยาบาลสามารถบริหารจัดการอุปกรณ์ได้ดีขึ้นและมีความปลอดภัย ช่วยลดเวลาแฝง (Latency) และรองรับปริมาณงานได้สูง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานในแวดวงการแพทย์ปัจจุบัน

คลื่นความถี่ 6 GHz ถือเป็นรากฐานสำคัญของเทคโนโลยี Wi-Fi 6E และ Wi-Fi 7 ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อด้วยการให้ช่องสัญญาณที่ไม่แออัดหลายๆ ช่อง ความก้าวหน้าเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อรองรับความเร็วระดับ Gigabit และการทำงานที่ราบรื่นในสภาพแวดล้อมที่มีความหนาแน่นของข้อมูลสูง เช่น ในโรงพยาบาล เป็นต้น

 

รายละเอียดและวัตถุประสงค์ของโครงการนำร่อง Wi-Fi 6 GHz

โครงการนำร่อง Wi-Fi 6 GHz จัดขึ้นที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยโครงการประกอบด้วย:

· การใช้งานเทคโนโลยี AR/VR - โครงการนำร่องนี้จะสาธิตการสร้างภาพกายวิภาคแบบเสมือนจริงโดยใช้จุดกระจายสัญญาณ Wi-Fi 6 GHz ของ HPE Aruba Networking และชุดแว่นของ Meta ซึ่งช่วยให้แพทย์และนักศึกษาแพทย์สามารถวิเคราะห์โครงสร้าง 3 มิติของร่างกายมนุษย์ได้อย่างละเอียด ได้แก่ โครงกระดูก กล้ามเนื้อ และระบบประสาท ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการฝึกอบรมแพทย์ฝึกหัดด้วยประสบการณ์ที่สมจริง

· การใช้สเปกตรัมสำหรับแอปพลิเคชัน AR/VR: โครงการนี้แสดงประสบการณ์ของผู้ใช้ขณะใช้งานในย่านความถี่ต่ำกว่า 500 MHz เทียบกับย่านความถี่ 1,200 MHz แบบเต็มของสเปกตรัม 6 GHz โดยแสดงให้เห็นว่าการมีสเปกตรัมที่เพียงพอนั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพการใช้งานสูงสุด

· การใช้งานที่มีปริมาณผู้ใช้หนาแน่นและการสตรีมข้อมูล: การทดลองใช้งานจะแสดงให้เห็นประโยชน์ของสเปกตรัม 6 GHz แบบเต็มย่านความถี่ ในการรองรับการสตรีมวิดีโอความละเอียดสูง และการย้ายไฟล์พร้อมๆ กันในสภาพแวดล้อมการใช้งานที่มีข้อมูลขนาดใหญ่และผู้ใช้หนาแน่น เช่น ห้องเรียนขนาด 500 ที่นั่ง

ประโยชน์ของ Wi-Fi 6E และ Wi-Fi 7 แบบ 6 GHz ในระบบรักษาพยาบาล

Wi-Fi 6E และ Wi-Fi 7 นำเสนอความก้าวหน้าครั้งสำคัญสำหรับสถานพยาบาล โดยช่วยให้สามารถใช้ช่องสัญญาณ 80 MHz หรือ 160 MHz ที่กว้างขึ้นได้ เพื่อปรับปรุงปริมาณงานรวมของแต่ละจุดเชื่อมต่อไร้สาย และเพิ่มอัตราการส่งข้อมูลสูงสุด โดยคลื่นความถี่ 6 GHz ที่ขยายเพิ่มเติมนี้ ช่วยให้ใช้งานสเปกตรัมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการชนกันของสัญญาณ (Signal Collisions) และลดเวลาแฝงให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับสภาพแวดล้อมที่มีข้อมูลและผู้ใช้หนาแน่น และมีปริมาณการใช้งานสูง เช่น โรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย เป็นต้น

การใช้งาน Wi-Fi 6 GHz แบบเต็มย่านความถี่ รองรับเครือข่ายแบบแบ่งส่วนที่สามารถจัดลำดับความสำคัญของ แอปพลิเคชันทางการแพทย์ที่สำคัญได้ พร้อมๆ กับการแยกการรับส่งข้อมูลที่ไม่จำเป็นออกมา ทำให้มั่นใจได้ว่าเทคโนโลยีสำหรับช่วยชีวิตผู้ป่วยนี้จะทำงานได้อย่างเสถียร และนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยเสริมประสิทธิภาพให้ทั้งการฝึกอบรมแพทย์ฝึกหัด และแอปพลิเคชันด้านการรักษาพยาบาลอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรฐานให้แก่โซลูชันการเชื่อมต่อในหลายภาคส่วน ทั้งองค์กรธุรกิจ ยานยนต์ และ IoT

 

ความสำเร็จของโครงการนำร่อง Wi-Fi 6E นี้อาจช่วยปูทางไปสู่การนำเทคโนโลยี Wi-Fi ขั้นสูงไปใช้ในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานพยาบาล และเพิ่มศักยภาพให้กับนวัตกรรมในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ

คุณสมบัติขั้นสูงเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด

โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ทำงานร่วมกับ HPE Aruba Networking มาเป็นระยะเวลาหลายปีเพื่อติดตั้งโซลูชันนวัตกรรมของ HPE ในด้านเครือข่ายองค์กรให้กับสถานพยาบาลของตน และได้เลือก HPE ให้สนับสนุนโครงการนำร่องนี้ โดย HPE Aruba Networking ได้เสนอเทคโนโลยีการกรองสัญญาณแบบ Ultra Tri-band Filtering ซึ่งออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้คลื่นความถี่ 6 GHz โดยลดการรบกวนให้ต่ำที่สุด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับสภาพแวดล้อมที่มีความหนาแน่นของผู้ใช้สูง เช่น วิทยาเขตของสาขาวิชาการแพทย์ เทคโนโลยีนี้ช่วยให้มั่นใจได้ว่าการเชื่อมต่อจะมีความสม่ำเสมอ และมีคุณภาพสูงสำหรับแอปพลิเคชันหลากหลายประเภท

นอกจากนี้ HPE ยังสนับสนุนองค์กรด้านการรักษาพยาบาลด้วยการผสาน IoT ที่แข็งแกร่ง อีกทั้งยังรองรับ Zigbee และ BLE และด้วยแดชบอร์ด IoT ที่ครอบคลุม และการรองรับระบบนิเวศ ประกอบกับข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า เหล่านี้จะช่วยปรับปรุงการจัดการเครือข่าย และลดความเสี่ยงในการดำเนินงาน ทำให้เราได้รากฐานเครือข่ายที่ปลอดภัยและวางใจได้สำหรับแอปพลิเคชันด้านการรักษาพยาบาล

ผลลัพธ์จากการนำใช้เทคโนโลยี Wi-Fi ความถี่ 6 GHz ทั่วโลก

จากการนำใช้เทคโนโลยี Wi-Fi ความถี่ 6 GHz มาใช้ สถานพยาบาลทั่วโลกสามารถใช้แนวคิดริเริ่มนี้เพื่อเป็นมาตรฐานในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลของตนได้ การทำให้ย่านความถี่ 6 GHz แบบเต็ม (5925-7125 MHz) ใช้งานสำหรับ Wi-Fi ได้จะช่วยรองรับแอปพลิเคชันการรักษาพยาบาลใหม่ๆ พร้อมทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้นไปอีกระดับในสภาพแวดล้อมแบบต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และสำนักงานของบริษัท

โครงการนี้เป็นตัวอย่างของความพยายามร่วมกันระหว่างผู้นำในอุตสาหกรรมและสถาบันต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นตัวกำหนดอนาคตของระบบการรักษาพยาบาลและการศึกษา

X

Right Click

No right click