Wi-Fi Alliance®, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ร่วมกับสมาชิก Wi-Fi Alliance® ได้แก่ ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอนเตอร์ไพรส์ (HPE), Intel และ Meta รวมถึงได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐอเมริกา (USTDA) ในการดำเนินโครงการนำร่อง Wi-Fi 6 GHz ระยะ 7 เดือนเสร็จสิ้นแล้ว และเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยี Wi-Fi ความถี่ 6 GHz ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบการรักษาพยาบาลด้วยโซลูชันนวัตกรรมการเชื่อมต่อ จากที่ผ่านมาคลื่นความถี่ที่ใช้ในประเทศไทยต่ำกว่า 500 MHz โครงการนำร่องดังกล่าวนับเป็นการทดสอบการใช้งานคลื่นความถี่ 6 GHz แบบองค์รวมที่รวบรวมทุกย่านความถี่ (สเปกตรัม 1200 MHz) ของ Wi-Fi ในสถานพยาบาล เพื่อนำไปเป็นต้นแบบต่อยอดและใช้งานต่อไปทั่วประเทศ
การเปลี่ยนแปลงการฝึกอบรมแพทย์ฝึกหัดและการบริการในระบบการรักษาพยาบาล
เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านของระบบดิจิทัลที่นำมาใช้ในการรักษาพยาบาลมีความก้าวหน้ามากขึ้น อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ มีการเชื่อมต่อกัน และอุปกรณ์เชื่อมต่อระหว่างผู้ป่วยและเครื่องมือแพทย์ก็เชื่อมต่อกัน จึงต้องมีเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงที่เสถียรและปลอดภัย และการนำ Wi-Fi 6 GHz มาใช้จะช่วยตอบสนองความต้องการนี้โดยการเพิ่มสเปกตรัมความถี่วิทยุและช่องสัญญาณการทำงานที่มีอยู่ให้มากขึ้น ซึ่งทำให้สถานพยาบาลสามารถบริหารจัดการอุปกรณ์ได้ดีขึ้นและมีความปลอดภัย ช่วยลดเวลาแฝง (Latency) และรองรับปริมาณงานได้สูง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานในแวดวงการแพทย์ปัจจุบัน
คลื่นความถี่ 6 GHz ถือเป็นรากฐานสำคัญของเทคโนโลยี Wi-Fi 6E และ Wi-Fi 7 ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อด้วยการให้ช่องสัญญาณที่ไม่แออัดหลายๆ ช่อง ความก้าวหน้าเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อรองรับความเร็วระดับ Gigabit และการทำงานที่ราบรื่นในสภาพแวดล้อมที่มีความหนาแน่นของข้อมูลสูง เช่น ในโรงพยาบาล เป็นต้น
รายละเอียดและวัตถุประสงค์ของโครงการนำร่อง Wi-Fi 6 GHz
โครงการนำร่อง Wi-Fi 6 GHz จัดขึ้นที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยโครงการประกอบด้วย:
· การใช้งานเทคโนโลยี AR/VR - โครงการนำร่องนี้จะสาธิตการสร้างภาพกายวิภาคแบบเสมือนจริงโดยใช้จุดกระจายสัญญาณ Wi-Fi 6 GHz ของ HPE Aruba Networking และชุดแว่นของ Meta ซึ่งช่วยให้แพทย์และนักศึกษาแพทย์สามารถวิเคราะห์โครงสร้าง 3 มิติของร่างกายมนุษย์ได้อย่างละเอียด ได้แก่ โครงกระดูก กล้ามเนื้อ และระบบประสาท ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการฝึกอบรมแพทย์ฝึกหัดด้วยประสบการณ์ที่สมจริง
· การใช้สเปกตรัมสำหรับแอปพลิเคชัน AR/VR: โครงการนี้แสดงประสบการณ์ของผู้ใช้ขณะใช้งานในย่านความถี่ต่ำกว่า 500 MHz เทียบกับย่านความถี่ 1,200 MHz แบบเต็มของสเปกตรัม 6 GHz โดยแสดงให้เห็นว่าการมีสเปกตรัมที่เพียงพอนั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพการใช้งานสูงสุด
· การใช้งานที่มีปริมาณผู้ใช้หนาแน่นและการสตรีมข้อมูล: การทดลองใช้งานจะแสดงให้เห็นประโยชน์ของสเปกตรัม 6 GHz แบบเต็มย่านความถี่ ในการรองรับการสตรีมวิดีโอความละเอียดสูง และการย้ายไฟล์พร้อมๆ กันในสภาพแวดล้อมการใช้งานที่มีข้อมูลขนาดใหญ่และผู้ใช้หนาแน่น เช่น ห้องเรียนขนาด 500 ที่นั่ง
ประโยชน์ของ Wi-Fi 6E และ Wi-Fi 7 แบบ 6 GHz ในระบบรักษาพยาบาล
Wi-Fi 6E และ Wi-Fi 7 นำเสนอความก้าวหน้าครั้งสำคัญสำหรับสถานพยาบาล โดยช่วยให้สามารถใช้ช่องสัญญาณ 80 MHz หรือ 160 MHz ที่กว้างขึ้นได้ เพื่อปรับปรุงปริมาณงานรวมของแต่ละจุดเชื่อมต่อไร้สาย และเพิ่มอัตราการส่งข้อมูลสูงสุด โดยคลื่นความถี่ 6 GHz ที่ขยายเพิ่มเติมนี้ ช่วยให้ใช้งานสเปกตรัมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการชนกันของสัญญาณ (Signal Collisions) และลดเวลาแฝงให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับสภาพแวดล้อมที่มีข้อมูลและผู้ใช้หนาแน่น และมีปริมาณการใช้งานสูง เช่น โรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย เป็นต้น
การใช้งาน Wi-Fi 6 GHz แบบเต็มย่านความถี่ รองรับเครือข่ายแบบแบ่งส่วนที่สามารถจัดลำดับความสำคัญของ แอปพลิเคชันทางการแพทย์ที่สำคัญได้ พร้อมๆ กับการแยกการรับส่งข้อมูลที่ไม่จำเป็นออกมา ทำให้มั่นใจได้ว่าเทคโนโลยีสำหรับช่วยชีวิตผู้ป่วยนี้จะทำงานได้อย่างเสถียร และนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยเสริมประสิทธิภาพให้ทั้งการฝึกอบรมแพทย์ฝึกหัด และแอปพลิเคชันด้านการรักษาพยาบาลอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรฐานให้แก่โซลูชันการเชื่อมต่อในหลายภาคส่วน ทั้งองค์กรธุรกิจ ยานยนต์ และ IoT
ความสำเร็จของโครงการนำร่อง Wi-Fi 6E นี้อาจช่วยปูทางไปสู่การนำเทคโนโลยี Wi-Fi ขั้นสูงไปใช้ในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานพยาบาล และเพิ่มศักยภาพให้กับนวัตกรรมในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ
คุณสมบัติขั้นสูงเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ทำงานร่วมกับ HPE Aruba Networking มาเป็นระยะเวลาหลายปีเพื่อติดตั้งโซลูชันนวัตกรรมของ HPE ในด้านเครือข่ายองค์กรให้กับสถานพยาบาลของตน และได้เลือก HPE ให้สนับสนุนโครงการนำร่องนี้ โดย HPE Aruba Networking ได้เสนอเทคโนโลยีการกรองสัญญาณแบบ Ultra Tri-band Filtering ซึ่งออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้คลื่นความถี่ 6 GHz โดยลดการรบกวนให้ต่ำที่สุด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับสภาพแวดล้อมที่มีความหนาแน่นของผู้ใช้สูง เช่น วิทยาเขตของสาขาวิชาการแพทย์ เทคโนโลยีนี้ช่วยให้มั่นใจได้ว่าการเชื่อมต่อจะมีความสม่ำเสมอ และมีคุณภาพสูงสำหรับแอปพลิเคชันหลากหลายประเภท
นอกจากนี้ HPE ยังสนับสนุนองค์กรด้านการรักษาพยาบาลด้วยการผสาน IoT ที่แข็งแกร่ง อีกทั้งยังรองรับ Zigbee และ BLE และด้วยแดชบอร์ด IoT ที่ครอบคลุม และการรองรับระบบนิเวศ ประกอบกับข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า เหล่านี้จะช่วยปรับปรุงการจัดการเครือข่าย และลดความเสี่ยงในการดำเนินงาน ทำให้เราได้รากฐานเครือข่ายที่ปลอดภัยและวางใจได้สำหรับแอปพลิเคชันด้านการรักษาพยาบาล
ผลลัพธ์จากการนำใช้เทคโนโลยี Wi-Fi ความถี่ 6 GHz ทั่วโลก
จากการนำใช้เทคโนโลยี Wi-Fi ความถี่ 6 GHz มาใช้ สถานพยาบาลทั่วโลกสามารถใช้แนวคิดริเริ่มนี้เพื่อเป็นมาตรฐานในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลของตนได้ การทำให้ย่านความถี่ 6 GHz แบบเต็ม (5925-7125 MHz) ใช้งานสำหรับ Wi-Fi ได้จะช่วยรองรับแอปพลิเคชันการรักษาพยาบาลใหม่ๆ พร้อมทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้นไปอีกระดับในสภาพแวดล้อมแบบต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และสำนักงานของบริษัท
โครงการนี้เป็นตัวอย่างของความพยายามร่วมกันระหว่างผู้นำในอุตสาหกรรมและสถาบันต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นตัวกำหนดอนาคตของระบบการรักษาพยาบาลและการศึกษา
มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตอกย้ำบทบาทของการเป็นสะพานบุญแห่ง ‘การให้’ สานต่อภารกิจเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลรามาธิบดี เดินหน้าโครงการใหม่ “รามา+1 เพิ่มพื้นที่ บวกความหวัง” ชวนคนไทยร่วมส่งพลังบวก 1 เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับผู้ป่วยและขยายศักยภาพการรักษา พร้อมเปิดตัวภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ชุดใหม่จากเรื่องราวของ “ความหวัง” เดินหน้าระดมทุนให้แก่โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี เพื่อเพิ่มพื้นที่และยกระดับศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนชาวไทย พร้อมผลักดันระบบสาธารณสุขไทยให้เท่าทันสภาวการณ์แห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล
ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์’ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวว่า “เกือบ 60 ปีที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเปิดให้บริการในฐานะโรงพยาบาลที่เปรียบเสมือน ‘ที่พึ่ง’ ของคนไทย พร้อมบทบาทด้านการผลิตบุคลากรทางการแพทย์เข้าสู่ระบบสาธารณสุข และด้านการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์เพื่อการรักษา โดยครอบคลุมทั้งงานวิจัยขั้นพื้นฐานด้านการหาตัวยาใหม่เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและเพิ่มการเข้าถึงตัวยาได้มากขึ้น ไปจนถึงการคิดค้นแนวทางการรักษารูปแบบใหม่สู่การเป็นต้นแบบของการรักษาโดยเฉพาะการรักษาโรคที่มีความซับซ้อน โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ถือเป็นโครงการที่ไม่เพียงเพิ่มพื้นที่ในการรักษาที่รองรับนวัตกรรมทางการแพทย์ล้ำสมัยเท่านั้น แต่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและสนับสนุนพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีอย่างครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อผลักดันระบบการแพทย์ไทยให้ก้าวหน้าต่อไป”
รศ.นพ.ชูศักดิ์ กิจคุณาเสถียร รองคณบดีฝ่ายนโยบายและแผน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวเสริมว่า “โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี จะเอื้อประโยชน์ต่อการบูรณาการและสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อผลักดันการสร้างสรรค์และต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถเพิ่มศักยภาพทางการรักษาต่อไปในอนาคต โดยจะมีการนำนวัตกรรมทางการแพทย์หลากหลายประเภทเข้ามาให้บริการทางการแพทย์รวมถึงพัฒนาด้านระบบภายในโรงพยาบาลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์ที่ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลในการบันทึกข้อมูลของผู้ป่วยและการจัดการข้อมูลทางการแพทย์ เครื่องมือช่วยในการรักษาทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial intelligence) เช่น การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเพื่อช่วยลดระยะเวลาการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ลงและลดระยะเวลาของการพักฟื้นของผู้ป่วย รวมถึงลดอาการบาดเจ็บและลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด นอกจากนี้ โรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่ยังให้ความสำคัญกับการลดระยะเวลาในการรอรับบริการของผู้ป่วย เช่น การใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการจ่ายยา”
คุณพรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวว่า “มูลนิธิรามาธิบดีฯ เดินหน้าผลักดันความก้าวหน้าทางการแพทย์ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง พร้อมเปิดตัวโครงการ “รามา+1 เพิ่มพื้นที่ บวกความหวัง” และภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ชุดใหม่จากเรื่องราวของ “ความหวัง” เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการช่วยระดมทุนให้แก่โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญในปีนี้และอย่างน้อยอีก 7 ปีข้างหน้า การสื่อสารภายใต้โครงการ “รามา+1 เพิ่ม
พื้นที่ บวกความหวัง” สะท้อนให้เห็นว่า มูลนิธิรามาธิบดีฯ นั้นตระหนักถึงพลังของการให้ และขอบคุณทุกน้ำใจที่ส่งต่อความช่วยเหลือและสร้างความหวังร่วมกันมาโดยตลอด จึงขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมเป็นพลังบวกหนึ่งในการสร้างโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ซึ่งอาคารแห่งนี้จะดูแลผู้ป่วยที่ใช้สิทธิรักษาเบิกจ่ายประกันสังคม และสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ”
ภายในงานแถลงข่าว ฐิสา-วริฏฐิสา ลิ้มธรรมมหิศร ตัวแทนนักแสดงจิตอาสาร่วมแบ่งปันมุมมองในเรื่อง “ความหวัง” พร้อมเชิญชวนแฟนคลับร่วมซื้อเสื้อยืดสุขใจ เพื่อระดมทุนเข้าโครงการฯ และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคตร่วมกัน พร้อมด้วยการเปิดตัวกิจกรรม “#A4SpaceChallenge” ชวนทำคอนเทนต์ที่สะท้อนถึงพื้นที่ที่มีอยู่จำกัดในอาคารเก่าและแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นการก่อสร้างอาคารใหม่ของโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยวิธีการเล่นคือ จับกลุ่ม 4 คนมายืนด้วยกันบนกระดาษ A4 ให้ครบ 10 วินาที และร่วมกันท้าต่อเพื่อน ๆ ให้เล่นชาเลนจ์นี้ต่อ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เชิญชวนบริจาคเงินให้โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี โดยทุกคนสามารถร่วมทำชาเลนจ์แล้วโพสต์รูปหรือคลิปลงในโซเชียลมีเดียพร้อมแทค #A4SpaceChallenge ได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ออกแบบภายใต้แนวคิด “เข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจทุก(ข์)คน” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการแก้ไขปัญหาด้านความแออัดของพื้นที่อาคารเดิม โดยตั้งเป้าหมายการระดมทุนเพิ่มเติมจากการสนับสนุนของภาครัฐบาลรวมจำนวน 9,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ดำเนินการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลและการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2573
มูลนิธิรามาธิบดีฯ ขอเชิญชวนประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นพลังบวกหนึ่งกับโครงการ “รามา+1 เพิ่มพื้นที่ บวกความหวัง” ด้วยการบริจาคเงินสมทบทุนก่อสร้างโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี
มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดตัวโครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มุ่งมั่นสนับสนุนการศึกษาแก่คนพิการเพื่อผลิตบัณฑิตกลุ่มวิชาชีพครู หวังยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการในสังคมไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดี สร้างอาชีพ และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมร่วมกับ บริษัท ซีเนริโอ จำกัด ชวนผู้ใจบุญ ชมละครเวทีรอบการกุศล “แฟนฉัน เดอะมิวสิคัล” ในวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 จัดแสดง ณ เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ รายได้ร่วมสมทบทุนเข้าโครงการทุนสถาบันราชสุดา
สถาบันราชสุดา หรือเดิมทีมีชื่อว่า วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำแห่งแรกในประเทศไทย เป็นสถาบันที่ให้การสนับสนุนทางด้านการศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการ และศูนย์กลางเครือข่าย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในประชาคมอาเซียน โดยเปิดทำการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 นับเป็นเวลากว่า 32 ปีแล้วที่สถาบันแห่งนี้ให้การศึกษาและยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการไทยกว่าหลายพันคน และในปี พ.ศ. 2566 นี้ วิทยาลัยราชสุดาและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ทำการควบรวมกัน เพื่อร่วมกันทำภารกิจส่งเสริมการศึกษาและสร้างพื้นที่สำหรับคนพิการให้เกิดสังคมแห่งการให้ที่ไม่ทอดทิ้งกัน
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “เหตุผลสำคัญของการควบรวมวิทยาลัยราชสุดาและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นโครงการสถาบันราชสุดาแห่งนี้ เพื่อร่วมกันทำภารกิจสำหรับคนพิการให้เกิดสังคมแห่งการให้ที่ไม่ทอดทิ้งกัน สนับสนุนให้เป็นสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาบุคลากรกลุ่มวิชาชีพครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการสอนคนพิการที่มีคุณภาพให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย และ หวังกระจายครูสอนคนพิการไปยังสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดความรู้ ส่งเสริมศักยภาพให้คนพิการมีอาชีพที่มั่นคง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สืบเนื่องจากการควบรวมกันนี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงได้มีโอกาสเป็นสะพานบุญแห่งการให้เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายจำเป็นต่าง ๆ ของสถาบันราชสุดา เพื่อให้สถาบันนำไปสานต่อภารกิจต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”
สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดสอนทั้งหมด 6 หลักสูตร แบ่งเป็น
ระดับปริญญาตรี เปิดสำหรับนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และนักศึกษาที่มีการได้ยิน
1. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาหูหนวกศึกษา วิชาเอกการออกแบบเชิงพาณิชย์
2. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาหูหนวกศึกษา วิชาเอกล่ามภาษามือไทย
3. หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาของคนหูหนวก
ระดับปริญญาโท และเอก เปิดสำหรับนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเห็น นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว นักศึกษาทั่วไป
4. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
5. หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ
6. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ด้าน อ.นพ.สมเกียรติ ลีละศิธร ผู้อำนวยการ สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า “กลุ่มนักศึกษาหลักของสถาบันราชสุดาคือกลุ่มคนพิการทางการได้ยิน รวมถึงคนทั่วไปที่สนใจเข้ามาเรียนร่วมในหลักสูตร ศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ที่เมื่อจบไปแล้วสามารถเป็นครูสอนคนพิการ หรือประกอบอาชีพอื่น ๆ ได้ตามศักยภาพ
นับตั้งแต่เปิดสถาบันราชสุดาแห่งนี้ได้ผลิตบัณฑิตไปแล้วกว่า 692 ราย ปัจจุบันมีจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 และ 3 ทั้งสิ้น 153 ราย แบ่งเป็น นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จำนวน 84 ราย นักศึกษาที่มีการได้ยิน 69 ราย และคาดว่าจะมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 2567 จำนวน 54 ราย
ในส่วนของระดับบัณฑิตศึกษา แบ่งเป็นระดับปริญญาโท 49 คน คาดว่าจะเสร็จการศึกษาปี 2566 จำนวน 7 ราย และระดับปริญญาเอก 24 ราย จะสำเร็จการศึกษาปี 2566 จำนวน 8 ราย โดยระดับนี้มีนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเห็น นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว รวมถึงนักศึกษาทั่วไป
ปัจจุบันมีคนพิการจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งสาเหตุเหล่านั้นมีทั้งความไม่พร้อมของสถานศึกษาในการรองรับคนพิการ, สภาพแวดล้อมในครอบครัว, ปัจจัยด้านการเดินทาง รวมถึงสถานะทางการเงิน ปัญหาเหล่านี้จึงยิ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นในสังคมไทย การมีอยู่ของสถาบันราชสุดาจึงถือเป็นเรื่องสำคัญในฐานะสถาบันการศึกษาที่จะช่วยสร้างโอกาสให้คนพิการได้เข้าถึงการศึกษา ผ่านการผลิตบัณฑิต และบัณฑิตเหล่านั้นไปส่งต่อความรู้ให้แก่คนพิการทางการได้ยินต่อไป”
นางสาวพรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวเสริมว่า “การระดมทุนในครั้งนี้ นับเป็นการให้ที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างแน่นอน เพราะการศึกษานั้นเป็นรากฐานสำคัญของทุกคน ไม่แบ่งแยกด้วยสภาพร่างกาย เพศ อายุ ดังนั้น มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงมีความภูมิใจและดีใจเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอด พันธกิจของสถาบันราชสุดาไปยังสังคมวงกว้าง และเป็นสะพานแห่งการให้ที่รับน้ำใจของผู้ที่อยากช่วยให้คนพิการได้มีโอกาสทางการศึกษา อันจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการต่อไปในอนาคต และสร้างสรรค์สังคมที่พวกเราทุกคนสามารถได้ใช้ศักยภาพและความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มที่”
“ในการเปิดตัว โครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ครั้งนี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท ซีเนริโอ จำกัด ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการ “ให้” โอกาสทางการศึกษาแก่คนพิการในสังคมไทยจัดรอบการแสดงละครเวทีการกุศล “แฟนฉัน เดอะมิวสิคัล” ขึ้นในวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2566 เวลา 19:30 น. โดยรายได้จากการจำหน่ายบัตรของรอบนี้จะถูกสมทบทุนให้แก่โครงการทุนสถาบันราชสุดา เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการต่อไป อีกทั้งยังได้เชิญชวนตัวแทนนักศึกษาของสถาบันราชสุดามาร่วมชมการแสดงในรอบนี้อีกด้วย” นางสาวพรรณสิรี กล่าว ทิ้งท้าย
โครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นับเป็นภารกิจครั้งใหม่ของมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อช่วยสร้างพื้นที่แห่งโอกาสทางการศึกษาให้คนพิการ รวมถึงพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านคนพิการ และการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาศักยภาพของคนพิการนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการในประเทศไทย เพราะการมอบการศึกษาคือหนทางที่จะช่วยสร้างสังคมที่ทุกคนมีคุณค่า ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวนประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินสมทบทุนให้กับโครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ที่ มูลนิธิรามาธิบดีฯwww.ramafoundation.or.th