January 22, 2025

อัคคีภัยและการระเบิดเป็นความกังวลอันดับหนึ่งของธุรกิจในประเทศไทยในปี 2568 ขึ้นจากอันดับ 4 มาอยู่ที่อันดับ 1 ตามรายงาน Allianz Risk Barometer ภัยธรรมชาติอยู่ในอันดับ 2 จากการคาดการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง เช่น น้ำท่วม ซึ่งจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น ในขณะที่การหยุดชะงักทางธุรกิจยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญในอันดับ 3

ในขณะที่ความเสี่ยงทางธุรกิจที่สูงที่สุดของโลกและเอเชีย ได้แก่ การหยุดชะงักทางธุรกิจ เหตุการณ์ทางไซเบอร์ และภัยธรรมชาติ จากรายงาน Allianz Risk Barometer ประจำปีนี้ ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลเชิงลึกของผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยงกว่า 3,700 คนจากกว่า 100 ประเทศ

วาเนสสา แม็กเวล Allianz Commercial Chief Underwriting Officer กล่าวว่า "ปี 2567 เป็นปีที่ไม่ปกติในแง่ของการบริหารความเสี่ยง และรายงาน Allianz Risk Barometer ประจำปีสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่  ปีนี้แตกต่างจากปีอื่นๆ ตรงที่ ความเสี่ยงในอันดับสูงๆ สัมพันธ์กัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีใหม่ กฎระเบียบ และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์มีความสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น ทำให้สาเหตุและผลที่ตามมาซับซ้อนมากขึ้น ธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องใช้แนวทางแบบองค์รวมในการบริหารความเสี่ยงและพยายามพัฒนาความสามารถในการฟื้นตัวอย่างสม่ำเสมอ

 

คริสเตียน แซนดริก Regional Managing Director of Allianz Commercial Asia กล่าวว่า "การหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดสำหรับบริษัทในภูมิภาคนี้ ซึ่งไม่น่าแปลกใจเนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียมีส่วนในการค้าโลกและในระดับภูมิภาคมากขึ้น การหยุดชะงักทางธุรกิจยังมักเกิดจากเหตุการณ์ เช่น เหตุการณ์ทางไซเบอร์หรือภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงสูงสุดในภูมิภาค ท่ามกลางความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นและมีความผันผวน ธุรกิจต้องใช้แนวทางแบบองค์รวมในการบริหารความเสี่ยงและสร้างความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทานและมาตรการรับมือมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการต่างๆ เช่น การป้องกันความสูญเสีย การใช้ซัพพลายเออร์หลายราย การโอนความเสี่ยงทางเลือก และนโยบายประกันภัยระดับนานาชาติ"

ลาร์ส ไฮบุทสกี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า "อัคคีภัยและความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง เป็นความกังวลหลักของบริษัทในประเทศไทย เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของการหยุดชะงักทางธุรกิจและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ธุรกิจต้องประเมินและปรับปรุงแนวทางการบรรเทาความเสี่ยงจากอัคคีภัยอย่างรอบคอบและสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความสูญเสียจากเหตุการณ์ใดๆ เมื่อเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น ภัยธรรมชาติและการหยุดชะงักทางธุรกิจจึงกลายเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ในประเทศไทย สิ่งนี้ตอกย้ำความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น รวมถึงมาตรการโอนความเสี่ยงเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการหยุดชะงักทางธุรกิจที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้"

อัคคีภัยและการระเบิดเป็นความเสี่ยงอันดับ 1

อัคคีภัยและการระเบิดเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจอันดับหนึ่งในประเทศไทย โดยขึ้นจากอันดับ 4 มาเป็นอันดับ 1 ความรุนแรงของภัยนี้ทำให้เกิดการหยุดชะงักอย่างมากและส่งผลให้การฟื้นตัวใช้เวลานานมากขึ้นเมื่อเทียบกับภัยด้านอื่นๆ โรงงานที่เสียหายอาจใช้เวลาหลายปีในการสร้างใหม่และกลับมาดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มกำลัง

ในปี 2567 มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอัคคีภัยและการระเบิดหลายเหตุการณ์ในประเทศไทยที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ทรัพย์สินเสียหาย และธุรกิจหยุดชะงัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุเพลิงไหม้ถังเก็บสารเคมีที่นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกของไทย ระเบิดที่โรงงานเหล็กในจังหวัดระยอง เพลิงไหม้โรงงานสารตั้งต้นพลาสติกในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และระเบิดคลังดอกไม้ไฟในภาคกลาง

อลิอันซ์ คอมเมอร์เชียล วิเคราะห์การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนประกันภัยการหยุดชะงักทางธุรกิจมากกว่า 1,000 รายในช่วงห้าปีซึ่งสิ้นสุดลงในปี 2566 (มูลค่าเกิน 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และพบว่าอัคคีภัยเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการเรียกร้องค่าสินไหมเหล่านี้ และคิดเป็นมูลค่ามากกว่าหนึ่งในสามของมูลค่าการเรียกร้องค่าสินไหมทั้งหมด (36%)

ภัยธรรมชาติยังคงเป็นความกังวลหลัก

ภัยธรรมชาติจัดอยู่ในอันดับความเสี่ยงที่สำคัญเป็นอันดับสองในประเทศไทย ซึ่งเเป็นหนึ่งในสี่ประเทศที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมสูงที่สุดในโลก เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนมากกว่า 180,000 ครัวเรือนและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเกษตรกรรม โดยมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 4.34 หมื่นล้านบาท (1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติที่มีหน้าที่ประสานงานการดำเนินงานเพื่อการบรรเทาทุกข์และป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ในเอเชีย ภัยธรรมชาติยังคงเป็นความเสี่ยงในอันดับ 3 โดยมีผู้ตอบข้อนี้ 27% อุณหภูมิของภูมิภาคเอเชียสูงขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตและความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากขึ้นจากน้ำท่วม พายุ และคลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้น ภัยธรรมชาติเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น ซึ่งเผชิญกับแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูดในคาบสมุทรโนโตะ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียที่มีประกันภัยมูลค่าสามพันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงในฮ่องกง ซึ่งประสบกับฝนตกหนักที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกเมื่อ 140 ปีที่แล้วจากไต้ฝุ่นไห่ขุย

ภัยพิบัติทางธรรมชาติยังคงเป็นความเสี่ยงในอันดับที่ 3 ของโลกโดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 29% ปี 2567 นับเป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกันที่ความสูญเสียที่มีประกันภัยมีมูลค่าสูงเกินหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2567 ซึ่งคาดว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ เป็นปีแห่งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง มีพายุเฮอริเคนและพายุรุนแรงในอเมริกาเหนือ น้ำท่วมรุนแรงในยุโรป และภัยแล้งในแอฟริกาและอเมริกาใต้

การหยุดชะงักทางธุรกิจสัมพันธ์กับความเสี่ยงด้านอื่นอย่างมาก

การหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นความเสี่ยงอันดับ 3 ในประเทศไทย โดยธุรกิจต่างๆ เผชิญความเสี่ยงจากหลายด้าน การหยุดชะงักทางธุรกิจสัมพันธ์อย่างมากกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น น้ำท่วมในเดือนสิงหาคมและกันยายนปี 2567 ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายอย่างมากต่อภาคการท่องเที่ยว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 491 ล้านบาท (14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และส่งผลให้ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดของโลกมีปริมาณการผลิตยางพาราลดลง 30% ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

ธุรกิจในประเทศไทยยังเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในระดับโลก เช่น การเข้ามาของสินค้านำเข้าราคาถูกซึ่งส่งผลให้โรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้น 40% ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ถึงมิถุนายน 2567 เมื่อเทียบกับ 12 เดือนก่อนหน้า ผู้ผลิตรายเล็กประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นและค่าแรงที่สูง

การหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งในเอเชีย อยู่ในสามอันดับแรกในทุกประเทศและเขตการปกครอง และเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งในจีน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ สะท้อนให้เห็นถึงการหยุดชะงักอย่างรุนแรงของห่วงโซ่อุปทานในช่วงระหว่างและหลังการระบาดของโควิด 19

ในระดับโลก การหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นความเสี่ยงในอันดับ 1 หรือ 2 ในการจัดอันดับความเสี่ยงของอลิอันซ์ทุกปีตลอดทศวรรษที่ผ่านมา และยังคงรักษาตำแหน่งอันดับ 2 ในปี 2568 โดยมีผู้ตอบข้อนี้ 31% โดยทั่วไปแล้วการหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นผลมาจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การโจมตีทางไซเบอร์หรือระบบล่ม การล้มละลาย หรือความเสี่ยงทางการเมือง เช่น ความขัดแย้งหรือความไม่สงบในประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดำเนินธุรกิจตามปกติ หลายเหตุการณ์ในปี 2567 ชี้ให้เห็นว่าทำไมบริษัทต่างๆ ยังคงมองว่าการหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นภัยคุกคามหลักต่อโมเดลธุรกิจของพวกเขา การโจมตีของกลุ่มฮูธิในทะเลแดงทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักจากการเปลี่ยนเส้นทางของเรือขนส่งสินค้า นอกจากนี้ เหตุการณ์เช่นการพังทลายของสะพาน Francis Scott Key ในบัลติมอร์ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งในระดับโลกและท้องถิ่น การวิเคราะห์ของ Circular Republic ร่วมกับอลิอันซ์และองค์กรอื่นๆ พบว่าการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลกระทบในระดับโลก จะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยทุก 1.4 ปี และมีแนวโน้มสูงขึ้น การหยุดชะงักเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ตั้งแต่ 5% ถึง 10% ของต้นทุนผลิตภัณฑ์ และทำให้เกิดการหยุดทำงานในด้านต่างๆ เพิ่มเติม

10 อันดับความเสี่ยงในประเทศไทย

แหล่งที่มา: Allianz Commercial. ตัวเลขแสดงความถี่ที่ความเสี่ยงนั้นถูกเลือกเป็นเปอร์เซ็นต์จากคำตอบทั้งหมดของประเทศนั้น

ผู้ตอบแบบสอบถาม: 33 คน ตัวเลขรวมไม่ได้เป็น 100% เนื่องจากสามารถเลือกความเสี่ยงได้สูงสุด 3 รายการ

บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีความยินดีประกาศแต่งตั้ง มร. อามัน คาพัว ดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารตัวแทน ประกันชีวิตและสุขภาพ เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารของบริษัท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป

มร. โทมัส วิลสัน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต กล่าวว่า “การแต่งตั้ง มร. อามัน คาพัว ดำรงตำแหน่งนี้ เป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสายงานบริหารตัวแทนของเรา ด้วยประสบการณ์อันหลากหลายและความเชี่ยวชาญในธุรกิจประกันชีวิตและสุขภาพ ทั้งในประเทศไทยและระดับสากล มร. อามัน จะเป็นผู้นำที่สามารถสร้างกลยุทธ์ที่แข็งแกร่งและผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับช่องทางตัวแทนของเรา”

ในบทบาทใหม่นี้ มร. อามัน คาพัว จะรับผิดชอบการบริหารจัดการและการพัฒนากลุ่มงานบริหารตัวแทนประกันชีวิตและสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมทั้งส่วนงานบริหารกลยุทธ์และสนับสนุนฝ่ายขายตัวแทนประกันชีวิตและสุขภาพ ส่วนงานบริหารฝ่ายขายตัวแทนประกันชีวิตและสุขภาพ ส่วนงานพัฒนาฝ่ายขายตัวแทนเต็มเวลาประกันชีวิตและสุขภาพ และส่วนงานฝึกอบรมและพัฒนาฝ่ายขายตัวแทนประกันชีวิตและสุขภาพ

มร. อามัน คาพัว มีประสบการณ์ทำงานในประเทศไทยรวมกว่า 12 ปี โดยเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในบริษัทประกันชั้นนำหลายแห่ง เช่น พรูเด็นเชียล เอฟดับบลิวดี  และไอเอ็นจี ซึ่งครอบคลุมงานบริหารด้านการขาย การตลาด การบริหารลูกค้า และผลิตภัณฑ์ รวมถึงการบริหารระดับภูมิภาคในประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย กับกลุ่มบริษัทแมนูไลฟ์ นอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่งในกลุ่มธุรกิจของไอเอ็นจีในประเทศมาเลเซียและเนเธอร์แลนด์ในด้านการลงทุน กลยุทธ์องค์กร และความเสี่ยง มร. อามันสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศสหรัฐอเมริกา

 “ด้วยความเข้าใจในความต้องการของลูกค้า ตัวแทน และตลาดในภาพรวม ผมมั่นใจว่า มร. อามัน คาพัว จะนำความรู้และความสามารถมาช่วยเสริมสร้างศักยภาพของช่องทางตัวแทน และนำพา อลิอันซ์ อยุธยา ไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น ความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ของเขาจะช่วยผลักดันองค์กรของเราให้สามารถปรับตัวและตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสร้างความไว้วางใจและความพึงพอใจให้กับลูกค้าและพันธมิตรของเรา ผมเชื่อว่าการเข้าร่วมของ มร. อามัน จะนำมาซึ่งความสำเร็จที่ยั่งยืนและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการเติบโตของบริษัทในอนาคต” มร.วิลสัน กล่าวเพิ่มเติม

บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต นำทีมโดย โทมัส วิลสัน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อามัน คาพัว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบริหารตัวแทน ประกันชีวิตและสุขภาพ และพัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบริหารงานลูกค้าและความยั่งยืน พร้อมด้วยผู้บริหารฝ่ายขายระดับสูง จัดงาน Agency Kick off 2025 ปลุกพลังตัวแทนกว่า 1,400 คน

ภายใต้แนวคิด Be the Best มุ่งสู่ความเป็นเลิศในทุกด้าน พร้อมจัดเต็มความรู้จากวิทยากรผู้มากความสามารถและประสบความสำเร็จในธุรกิจประกันชีวิตมาร่วมแบ่งปันเคล็ดลับสู่เป้าหมาย เสริมศักยภาพตัวแทนให้พร้อมรับมือกับความท้าทายในปี 2025 โดยงานจัดขึ้น ณ ห้องภิรัชฮอลล์ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เมื่อเร็วๆนี้

บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา เดินหน้าพัฒนาศักยภาพตัวแทนประกันชีวิต หัวใจสำคัญของธุรกิจประกันชีวิต ตอกย้ำคุณภาพตัวแทนประกันชีวิตด้วยรางวัลระดับเอเชีย ประเภท “ตัวแทนประกันชีวิตรายใหม่แห่งปี” (Rookie Insurance Agency Leader of The Year) ในงาน 9th Asia Trusted Life Agents & Advisor Awards 2024 (Asia Insurance Review)  เวทีประกวดระดับเอเชียของธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งจัดขึ้นโดยนิตยสาร Asia Insurance Review และ Asia Advisers Network จากประเทศสิงคโปร์

นายวิรงค์ พัฒนะกำจร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบริหารตัวแทน บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต กล่าวว่า “อลิอันซ์ อยุธยา ยังคงให้ความสำคัญกับช่องทางตัวแทน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการดำเนินธุรกิจ จากผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ที่ผ่านมาของอลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัยรับรวมที่ 19,249 ล้านบาท ในขณะที่เบี้ยประกันภัยรับปีแรกเติบโตมากถึง 28% อยู่ที่ 4,580 ล้านบาท โดยมาจากช่องทางตัวแทน 1,542 ล้านบาท  แสดงให้เห็นว่า ช่องทางตัวแทนเป็นช่องทางที่สำคัญของธุรกิจประกันชีวิตที่ทำให้บริษัทเติบโต ด้วยกรมธรรม์ประกันชีวิตมีรายละเอียดที่แตกต่าง ซับซ้อน อาทิ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ Unit linked ประกันชีวิตควบการลงทุน จึงต้องอาศัยการสื่อสาร แนะนำจากตัวแทน รวมไปถึงการให้บริการหลังการขาย

ในปัจจุบันคนไทยมีประกันชีวิตไม่เกิน 40 % รวมไปถึงตัวแทนประกันชีวิตที่มีเพียงหลักแสนคนเท่านั้น ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับผู้ยังไม่มีประกันชีวิต โดยอาชีพตัวแทนประกันชีวิตยังถือเป็นอาชีพที่น่าสนใจ ซึ่งบริษัทมีการพัฒนาตัวแทนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้น บริษัทฯมี Agency Academy สอนพื้นฐานธุรกิจประกันชีวิต รายละเอียดของสินค้าแต่ละรูปแบบ รวมถึงเครื่องมือในการเสนอขาย ปิดยอด และบริการหลังการขาย หากใครสนใจอยากเข้าสู่ธุรกิจประกันชีวิต ขอเพียงมีความตั้งใจ มุ่งมั่น โอกาสไปสู่ความสำเร็จอย่างแน่นอน

คุณธนินนัทธ์  อนันตจริยะพล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายขาย บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ตัวแทนประกันชีวิตรุ่นใหม่ในวัย 34 ปี ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดูแลลูกค้าทั้งในเรื่องสุขภาพและการเงิน ด้วยความตั้งใจนี้ทำให้ธนินนัทธ์ หรือมาร์ค ประสบความสำเร็จในธุรกิจประกันชีวิต ก้าวขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายขาย พร้อมคว้าตำแหน่ง Rookie Insurance Agency Leader of The Year ในงาน 9th Asia Trusted Life Agents & Advisor Awards 2024 (Asia Insurance Review) จัดขึ้นที่ PARKROYAL COLLECTION, Marina Bay ประเทศสิงคโปร์

จุดเริ่มต้นในการเข้าสู่ธุรกิจประกันชีวิต

เข้าสู่ธุรกิจประกันชีวิตมาประมาณ 5 ปี โดยก่อนเข้าสู่ธุรกิจประกันชีวิตทำงานด้านหลักทรัพย์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนให้กับโบรคเกอร์ ประมาณ 7 ปี โดยมีความมุ่งมั่นตั้งใจด้านการเงินมาตั้งแต่เด็ก จุดที่ทำให้สนใจเข้ามาทำธุรกิจประกันชีวิต ศึกษาจากพฤติกรรมของนักลงทุนในหลักทรัพย์ใช้เงินที่จัดสรรมาลงทุนเพียง 10% ของทรัพย์สิน แต่ยังมองหาอีก 90% ที่จะนำไปลงทุนที่ต่างๆ จึงมองเห็นโอกาสที่จะเข้าไปดูแลสินทรัพย์ให้กับลูกค้าได้ครอบคลุม

เป้าหมายในอาชีพตัวแทนประกันชีวิต

ในแต่ละช่วงชีวิตของทุกคน มักจะมีเหตุการณ์สำคัญไม่กี่เหตุการณ์ เช่น เรียนจบ แต่งงาน คลอดลูก เกษียณ ในแต่ละช่วงเกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ประกันชีวิตสามารถไปแทรกในทุกช่วงชีวิตได้ จึงอยากจะสร้างอิมแพคเรื่องประกันชีวิตให้กับทุกคน มีการตั้งเป้าหมายกรมธรรม์ในทีมงานให้ถึง 1 ล้านกรมธรรม์ ภายในปี 2030 รวมถึงการขยายทีมงานเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย

แนวคิดในการทำงาน ก้าวสู่ความสำเร็จ

ทุกครั้งที่ไปเจอลูกค้า สิ่งที่นำเสนอให้กับลูกค้าคือ การวางแผนการเงิน ก่อนที่จะขายผลิตภัณฑ์ใดๆให้ลูกค้า ต้องเข้าใจเป้าหมายของลูกค้า ซื้อเพื่ออะไร ได้อะไร ต้องสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ตั้งแต่ซื้อ เคลม รวมถึงเยี่ยมลูกค้ากรณีเจ็บป่วย ทำให้เกินความคาดหวังของลูกค้า จนเกิดเป็นความประทับใจและความเชื่อใจ รวมถึงทีมงาน ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน  แนวคิดการทำงานของทีม เน้นการฟัง เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าได้อย่างตรงเป้าหมาย

อลิอันซ์ อยุธยา แรงผลักดันสู่ความสำเร็จ

อลิอันซ์ อยุธยา มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างที่ปรึกษาด้านการเงิน จากการจัดกิจกรรมฝึกอบรม นำเสนอเนื้อหาที่จะพัฒนาตัวแทนได้เป็นอย่างดี แคมเปญการแข่งขัน เพื่อผลักดันการทำงานให้ไปถึงเป้าหมาย

เคล็ดลับความสำเร็จ คว้ารางวัล Rookie Insurance Agency Leader of the year 2024

เป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับรางวัลนี้ ถือเป็นรางวัลของทีมงานทุกคน โดยได้เขียนเรื่องราวบอกเล่าการทำงานของทีม ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ประเภท Rookie Insurance agency Leader of the year 2024 จากผู้เข้าชิงจากหลายประเทศในเอเชีย เคล็ดลับความสำเร็จในครั้งนี้ การสร้างทีมงานที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาด้านการเงิน ไม่ได้มองแค่มุมทีมงานหรือลูกค้า แต่มองถึงภาพรวมทั้งหมด ทั้งบริษัท ทีมงานเบื้องหลัง ปลูกฝังทีมงานถึงความสำเร็จแบบองค์รวม สร้างแนวทางการทำงานให้คนในองค์กรทำงานในทิศทางเดียวกัน ทำกิจกรรมในทีม การตั้งเป้าหมายร่วมกัน เป้าหมายคือ การมีกรมธรรม์ในทีมงานให้ถึง 1 ล้านกรมธรรม์ ภายในปี 2030 รวมถึงกิจกรรมเพื่อสังคม จัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านการเงินกับคนที่ขาดแคลนการเงิน ขาดโอกาสการเข้าถึง คนที่มีหนี้สิน ทำมาอย่างสม่ำเสมอตลอด 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ธุรกิจประกันชีวิต

ธุรกิจประกันชีวิตเปรียบเหมือนการปลูกต้นไม้ เริ่มจากหว่านเมล็ด อาจจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะออกผล สำหรับตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่สนใจเข้าสู่ธุรกิจประกันชีวิต ต้องให้เวลากับการทำงาน เอาใจใส่ ทำต่อเนื่องสม่ำเสมอ พัฒนาตัวเอง วางแผนการทำงาน ในช่วงเริ่มต้นให้เวลากับการขายให้มากประมาณ 90% เมื่อเริ่มเติบโต เริ่มวางแผนการสร้างทีม การบริหารงาน ปรับสัดส่วนการขายอยู่ที่ 30% มองภาพรวมกันทำงานแบบทีม ไม่ยึดติดการทำงานแบบเดิมๆ กล้าที่จะลองทำ

อาชีพตัวแทนประกันชีวิต เป็นอาชีพอิสระ อิสระทางความคิด ความก้าวหน้า การทำงาน ขอเพียงแค่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ให้เวลา พัฒนาความรู้ สั่งสมประสบการณ์ เพื่อไปสู่ความสำเร็จได้ตามความตั้งใจ และสิ่งสำคัญคือการได้รับการสนับสนุนจากบริษัทตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการดูแลลูกค้าหลังการขาย ช่วยให้ตัวแทนประกันชีวิตสามารถสร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้อย่างยั่งยืน

“Run For the Healthy World” อนุรักษ์มรดกไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

Page 1 of 29
X

Right Click

No right click