January 21, 2025

เดินหน้าตามนโยบาย “รมว.เอกนัฏ” ปฏิรูปอุตสาหกรรม ตอบสนองทุกความต้องการของเอสเอ็มอี

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขานรับนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” เดินหน้าจับมือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พัฒนาผู้ประกอบการไทยด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ยกระดับการผลิตสู่อุตสาหกรรม 4.0 และ 5.0 พร้อมก้าวเข้าสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน เพิ่มศักยภาพการผลิตและขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ คาดจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 1 ร้อยล้านบาท

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เน้นการปฏิรูปทั้งระบบของภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งปรับปรุงการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมให้สอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ในทุกขั้นตอน เพื่อให้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ซึ่งหากอุตสาหกรรมไทยเข้มแข็ง ก็จะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นในระยะยาว

“กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจยุคใหม่ให้เติมเต็มห่วงโซ่อุตสาหกรรมในปัจจุบัน และมีระบบการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภารกิจที่ตั้งใจเดินหน้าโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ประเทศไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

 

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมทั่วโลกย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสู่อนาคต ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิต และบริการ รวมถึงสามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในยุคดิจิทัล เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการ “ผลัดใบเศรษฐกิจ” ในศตวรรษที่ 21 ให้กับประเทศไทย รวมทั้งมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกภาคส่วน

การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการยกระดับศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและเกิดความเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ด้วยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาคการผลิต ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนำไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และ 5.0 ทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านการพัฒนาต่อยอดกระบวนการผลิต และด้านผลิตภัณฑ์ ในการยกระดับศักยภาพและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ระดับสากล คาดจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 100 ล้านบาท        

 

“ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือและการประสานงานที่มีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนางาน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น”

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความร่วมมือกับดีพร้อมในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในด้านเทคโนโลยีการผลิต โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม และ ส.อ.ท. จะเข้าไปให้การส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขัน การพัฒนาด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนำไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 หรือ อุตสาหกรรม 5.0 อาทิ ด้านการพัฒนาบุคลากร การพัฒนากระบวนการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังร่วมกันให้การสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมและบุคคลทั่วไป ให้มีความตระหนักและสามารถเพิ่มทักษะด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลทางด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม สังคม ชุมชน และบุคคลทั่วไป รวมทั้งยังได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงการ โดยความร่วมมือในครั้งนี้มีระยะเวลารวม 3 ปี โดย โครงการนี้ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. กว่า 16,000 ราย จะเป็นการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับการพัฒนาภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นแบบอย่างให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายอื่น ๆ ใช้เป็นต้นแบบในการยกระดับภาคการผลิตต่อไปในอนาคต

 

“การปรับตัวไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ 5.0 เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยให้เหนือกว่าประเทศคู่แข่ง เนื่องจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้าน ESG หรือการผลิตที่ยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งนี้จะทำให้สินค้าไทยก้าวข้ามกำแพงการกีดกันด้านสิ่งแวดล้อมได้เหนือกว่าประเทศอื่น”

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้าผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยโดยอาศัย "พลังทางอ้อม" ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ด้วยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นผ่านการพัฒนาองค์ความรู้ ส่งเสริมศักยภาพ และเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดสากล ผ่าน “โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นไทยสู่สากล” ประจำปี 2567 เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างอินฟลูเอนเซอร์ในการสร้างภาพลักษณ์ และโชว์สินค้าแฟชั่นของไทยให้เป็นที่รู้จักสู่ตลาดโลก

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยสามารถโน้มน้าวจูงใจให้ประเทศคู่ค้า ผู้สนใจลงทุน ผู้สนใจซื้อสินค้าและบริการ นักท่องเที่ยว หรือผู้หาที่จัดงาน MICE ตัดสินใจเลือกประเทศไทย หรือ สินค้าและบริการของไทยผ่านการส่งสารโดยอาศัย "พลังทางอ้อม" หรือ Soft Power ที่ไม่ใช่การพูดหรือโฆษณาโดยตรง แต่เป็นการสื่อสารว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน น่าใช้ชีวิต คนไทยเป็นคนน่ารัก มีศิลปะและวัฒนธรรม มีความละเอียดอ่อน มีความใส่ใจในสินค้าคุณภาพในทุก ๆ ช่องทางการสื่อสาร อย่างไรก็ดี นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย ช่วงแรกจะเน้นการพัฒนาการสื่อสารพลังทางอ้อมนี้ ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ 1) ละคร/ภาพยนตร์ 2) แฟชั่น 3) อาหาร 4) งาน festival และ 5) กีฬามวยไทย ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายในการ “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ผนวกกับนโยบายการเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือซอฟต์พาวเวอร์ จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น และอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักสำคัญที่ส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย ในด้านการสร้างรายได้และการจ้างงาน

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ตามแนวคิด “Fun & Freedom แฟชั่นไทย ใส่ยังไงก็สนุก” ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติพูดถึงประเทศไทย จึงได้มีแนวคิดในการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มบนฐานของทุนทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว รวมถึงเทคนิคและเครื่องมือการโน้มน้าวและสื่อสาร (Convince & Communication) สร้างกระแสให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักผ่านการสื่อสารพลังทางอ้อมของประเทศไทย อาทิ การสร้างคอนเทนต์ (Viral Content) การเล่าเรื่อง (Storytelling) การสร้างแบรนด์ (Branding) การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media) การใช้บุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิด (Influencer) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงและบูรณาการ Soft Power ข้ามอุตสาหกรรม (Fashion Cross Industries Collaboration) ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างกระแส Soft Power ด้านแฟชั่น เช่น การ Collab กับละคร ซีรีส์ โดยพระเอก นางเอก แต่งกายด้วยชุดและเครื่องประดับแฟชั่นไทย ผ่าน "โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นไทยสู่สากล" โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจกรรม 1) การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้เข้าใจในโจทย์ของซอฟต์พาวเวอร์ที่ประเทศไทยต้องการสื่อสาร เช่น การมีความคิดความคิดริเริ่ม ความเป็นสากล ความทันสมัย ความมีวัฒนธรรม และความละเอียดอ่อน เป็นต้น 2) การส่งเสริมให้เกิดการจับมือด้านธุรกิจระหว่าง Influencer และการใช้ Social Media เพื่อวางระบบการสื่อสารทางอ้อม เร่งขยายการสื่อสารออกไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 3) การจัดงานแสดงศักยภาพและสื่อสารภาพลักษณ์ของการออกแบบและสินค้าแฟชั่นที่สะท้อนภาพลักษณ์ในการดำเนินการตามนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย

ภายในการจัดงานในวันนี้ มีกิจกรรมพิเศษมากมาย อาทิ 1) ปาฐกถา หัวข้อ “Soft Power กับการพัฒนาประเทศไทย” โดย นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ 2) เสวนาหัวข้อ “เปิดมุมมองวิสัยทัศน์ ด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น” โดยนางอัจฉรา อัมพุช ประธาน อนุกรรมการฯ ด้านแฟชั่น 3) เสวนาหัวข้อ “แนวโน้มและทิศทาง Soft Power ในอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย” โดย ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ นายสักกฉัฐ ศิวะบวร นักยุทธศาสตร์เชิงสร้างสรรค์ และตัวแทนผู้ประกอบการเจ้าของแบรนด์แฟชั่นอีก 2 ท่าน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ และเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่ตลาดโลกต่อไป นางสาวณัฏฐิญา กล่าวทิ้งท้าย

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งขับเคลื่อนนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” มุ่งเซฟผู้ประกอบการไทยให้อยู่รอด และแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม พร้อมสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ผลักดันอุตสาหกรรมยุคใหม่ อีกทั้ง ยังได้จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างภาคอุตสาหกรรมไทย–ญี่ปุ่น เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้เติบโตได้ในตลาดสากล ผ่านการต่อยอดธุรกิจ และสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทางการค้า คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,000 ล้านบาท

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบายในการ “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SME ไทย สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย “Save อุตสาหกรรมไทย” เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งหาช่องทางขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตต่อไปได้ในตลาดสากลอย่างมั่นคง เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก

ด้าน นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) มุ่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล ควบคู่ไปกับการสร้างความเท่าเทียม สร้างรายได้ และสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก โดยพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่าง “ดีพร้อม” และ “จังหวัดโทคุชิมะ” ที่จัดขึ้นในวันนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศญี่ปุ่น ที่เริ่มมีความร่วมมือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย และในวันนี้ ดีพร้อมได้มีความร่วมมือและเชื่อมโยงธุรกิจกับจังหวัดโทคุชิมะที่เป็นแหล่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านเครื่องจักร เทคโนโลยีการเกษตร และเกษตรแปรรูป ซึ่งสอดรับกับนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรม เกิดการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเดิมสู่อุตสาหกรรมใหม่ อาทิ เกษตรอุตสาหกรรม เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อาหารแห่งอนาคต ที่ล้วนเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจไทยได้ ซึ่งคาดว่าจากพิธีลงนามฯ ดังกล่าว จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,000 ล้านบาท

ด้านนายโกโตดะ มาซาซูมิ ผู้ว่าราชการจังหวัดโทคุชิมะ กล่าวเสริมว่า จังหวัดโทคุชิมะตั้งอยู่ในภูมิภาคชิโกกุ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เกาะ ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นเกาะที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาก ทำให้จังหวัดโทคุชิมะ มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมเกษตร ประมง และอาหารแปรรูป ตลอดจนอุตสาหกรรมเครื่องจักร ยานยนต์ และแบตเตอรี่ ซึ่งในวันนี้ ได้นำผู้ประกอบการรายใหญ่ของจังหวัดทั้งในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ยานยนต์ และเครื่องจักร หลายรายมาร่วมในกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย–ญี่ปุ่น โดยหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน ตามที่ทั้งสองหน่วยงานมีความตั้งใจจะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่ และทำให้เศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นได้เติบโตควบคู่ไปด้วยกันได้อย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน นายโกโตดะ กล่าวทิ้งท้าย

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” หนุนอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติเป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ นำร่องการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ โดยมอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) จับมือกับภาคเอกชน ผลิตแผ่นป้องกันน้ำท่วมที่ผลิตจากวัสดุคอมโพสิต หรือขยะพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเร่งวิจัย และเตรียมขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ คาดว่าจะสามารถลดความเสียหายจากเหตุอุทกภัยได้กว่า 3.1 พันล้านบาท

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสภาวะโลกร้อนที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นจนเป็นสภาวะโลกเดือดในปัจจุบัน ส่งผลให้ภูมิอากาศทั่วโลกแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากภัยน้ำท่วมอย่างรุนแรง และต่อเนื่องในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินกว่า 3.1 พันล้านบาท ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม ในการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ นำร่องการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เข้าไปส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ เพื่อให้สามารถผลิตอุปกรณ์รองรับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยเฉพาะอุปกรณ์ในด้านการป้องกันภัยจากน้ำท่วม ที่เป็นปัญหาสำคัญของไทย และเกิดขึ้นได้เกือบทุกปี ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุอุทกภัย โดยสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ ลดการนำเข้าเนื่องจากสินค้ามีราคาสูง รวมทั้งยังสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย นอกจากนี้ วัสดุที่นำมาใช้มีทั้งที่เป็นนวัตกรรมจากวัสดุคอมโพสิต และวัสดุเหลือใช้ตามแนวคิด BCG ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ด้าน นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ดำเนินการวิจัย และพัฒนาวัสดุ รวมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานภาคเอกชนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ เพื่อพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม โดยพัฒนาวัสดุกำแพงป้องกันน้ำท่วมผลิตจากนวัตกรรมวัสดุคอมโพสิต หรือเศษขยะพลาสติกเหลือทิ้งนำมาบดขึ้นรูปใหม่ (upcycling Recycle) ตามแนวคิด BCG โดยมีวัสดุทางเลือกจากการวิจัยมีคุณสมบัติที่โดดเด่นในเรื่องความแข็งแรงทนทาน มีน้ำหนักเบา และมีราคาถูกกว่าการนำเข้า รวมทั้งยังช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก และนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ นอกจากนี้ ยังใช้ระบบ KNOCK DOWN ที่สามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว แม่นยํา และปลอดภัย เหมาะสำหรับติดตั้งบริเวณประตูทางเข้าออกของโครงการ หรืออาคาร ทางลงชั้นจอดรถใต้ดิน หน้าบันไดเลื่อน หน้าลิฟต์ และล้อมเครื่องจักรมูลค่ำสูง เป็นต้น อีกทั้ง จะสามารถนำนวัตกรรมนี้ไปถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย นางสาวณัฏฐิญา กล่าวทิ้งท้าย

Page 1 of 6
X

Right Click

No right click