ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสถาบันวิจัยความมั่นคงด้านอาหารพลังงาน และน้ำ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และ สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีเปิดห้องปฏิบัติการแพลตฟอร์มการแปรสภาพวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชและสมุนไพร โดยมี ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะผู้บริหารร่วมพิธี ณ อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนา (RDI) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น อยู่ในกลุ่มสถาบัน Global and Frontier Research University มีนโยบายและยุทธศาสตร์ในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย โดยมุ่งเน้นทำวิจัยตามความต้องการของผู้ใช้งานหรือตามปัญหาของประเทศ (Demand side) เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ใหญ่ที่มีผลกระทบ (Impact) สูงได้ ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และช่วยยกระดับรายได้ของประเทศ
“มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการพัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อรองรับการบริการด้านการวิจัยให้ครอบคลุมทุกศาสตร์สาขา และ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงานวิจัยด้านแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ผักพื้นบ้าน สมุนไพรพื้นถิ่น และปศุสัตว์พื้นเมือง จึงกำหนดให้เปิดแพลตฟอร์มการแปรสภาพวัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชขึ้นในวันนี้”
ขณะที่ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการวิจัยที่มีผลงานดีเด่น เป็นประโยชน์แก่ประชาชน สังคม และประเทศชาติ จึงพัฒนาแพลตฟอร์มการแปรสภาพวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชขึ้น ในห้องปฏิบัติการต้นแบบที่มีขนาดใหญ่และได้รับมาตรฐานตามที่ อย.กำหนด พร้อมเตรียมพัฒนามาตรฐานในระดับสากลต่อไป
“Pain point การแข่งขันด้านผลผลิตทางการเกษตรของไทย ควรแก้ไขให้ตรงจุด คือ เริ่มต้นจากการทำวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่นในวันนี้ได้พยายามสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีฐานมาจากวัตถุดิบทางการเกษตรของภาคอีสาน เชื่อว่าเทคโนโลยีในวันนี้จะช่วยสร้างผลิตภัณฑ์จากพืชที่มีประโยชน์ให้แก่สังคมและชุมชน ยกระดับความสามารถสู่การแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับสากล”
ด้าน ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการแพลตฟอร์มการแปรสภาพวัตถุดิบทางการเกษตร คือ พื้นที่ให้บริการเกษตรกรได้มาเพิ่มมูลค่า และเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มอาหารจากสมุนไพร อาหารเพื่อสุขภาพ ผลผลิตหลายตัวสามารถนำมาอบและบดได้ด้วยมาตรฐานระดับ GMP เป็นการยกระดับการผลิตของเกษตรกร ทั้งยังพร้อมให้บริการนักวิจัย ด้านการค้นคว้า ส่วนของผู้ประกอบการใหม่ ๆ ก็สามารถมาใช้บริการองค์ความรู้และใช้เครื่องมือต่าง ๆ ได้
ขณะเดียวกันห้องปฏิบัติการแห่งนี้ ยังพร้อมเชื่อมโยง บูรณาการการทำงานกับทุกคณะในมหาวิทยาลัย ในการให้บริการด้านต่าง ๆ อาทิ การผลิตผลิตภัณฑ์เป็นแคปซูล ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไปจนถึงการให้บริการเครื่องมือเฉพาะทางอื่น ๆ
อากาศเย็นสบายในช่วงปลายปีแบบนี้ หลายคนอาจกำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหลังลุยงานหนักมาตลอดทั้งปี การท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตในท้องถิ่นนับเป็นการท่องเที่ยวอีกรูปแบบที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นทุกปี และกลายเป็นจุดแข็งสำคัญที่สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการเสริมสร้างสุขภาพ จัดโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสุขภาพขึ้น ณ บ้านโนนสะอาด ตำบลทุ่งโป่ง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อพัฒนารูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อสุขภาพ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการ การเกษตร วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน โดยมี ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ นายกานต์ ทองเสน นายอำเภออุบลรัตน์ ศ. ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการสร้างเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเปิดโครงการ โดยมีนักท่องเที่ยวกว่า 200 คน จากหน่วยงานราชการ เอกชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วมด้วยเมื่อเร็วๆนี้
ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการวันนี้เป็นโครงการที่บูรณาการหลาย ๆ โครงการของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าด้วยกัน สร้างสรรค์เป็นกิจกรรมมากมายเพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้สัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่น่าประทับใจ ทั้งการปลูกผักอินทรีย์ วิถีชีวิตประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว ได้รับประทานอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่น รวมไปถึงพื้นที่จัดงานที่สวยงาม อากาศเย็นสบาย
“เชื่อว่าโครงการที่บูรณาการหลายศาสตร์ในลักษณะนี้จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ย่อมมีการจับจ่ายที่มากขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมที่ดีขึ้น และจะนำไปสู่ความมั่นคงของชาวบ้านในระยะยาว ซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศนั่นเอง”
ขณะที่ นายกานต์ ทองเสน นายอำเภออุบลรัตน์ กล่าวว่า อำเภออุบลรัตน์วางแนวทางพัฒนาขับเคลื่อนอำเภอไว้ 4 ท. ประกอบด้วย ท ท่องเที่ยว มุ่งเน้นการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวให้น่าสนใจ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น 2 ท ท่องธรรม มุ่งเน้นการพัฒนาสถานที่สำคัญทางศาสนา ให้เป็นที่รู้จัก 3 ท ท่องการศึกษาและวัฒนธรรมมีเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถมาศึกษาเรียนรู้แหล่งเรียนรู้ อาทิ ทุ่นลอยน้ำ ท้องฟ้าจําลอง และเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนได้สุดท้าย ท.ท่องสินค้าและบริการ การหาแนวทางส่งเสริมสร้างอาชีพให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น โดยนําการดำเนินการของ 3 ข้อข้างต้น มาเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างสินค้าและบริการ
“วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทุกท่านได้ให้เกียรติเดินทางมาในพื้นที่ของเรา ขอบคุณมหาลัยขอนแก่นที่ได้มีการขับเคลื่อนโครงการนี้ ช่วยให้พี่น้องเราเกิดความรู้ใหม่ ๆ สามารถปรับพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบเพื่อให้เกษตรกรได้นําไปต่อยอดนําไปพัฒนาจากสิ่งเดิมที่เคยทำ”
ด้าน ศ. ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการสร้างเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า กิจกรรมต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นในครั้งนี้ เป็นต้นแบบการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ ทดลองทำด้วยความสนุกสนาน มีการพัฒนาพื้นที่แบ่งตามกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การชมพื้นที่แปลงนาข้าว 5 สี รูปตราสัญลักษณ์ครบรอบ 60 ปีมหาวิทยาลัยขอนแก่น การเรียนรู้พื้นที่แปลงเกษตรอินทรีย์ที่มีพืชพันธุ์มากมายทั้ง ผัก ไม้ผล ไม้เลื้อย ไม้ดอก และพืชสมุนไพรพื้นถิ่น
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังได้รับชมการแสดงฟ้อนรำ พร้อมเรื่องเล่าที่ลานแสดงกิจกรรม ตามด้วยพิธีกรรมเกี่ยวกับพิธีปลงข้าว ความผูกพันของวัฒนธรรม วิถีชีวิตคนอีสาน การหว่านกล้า ปักดำ ลงแขกเกี่ยวข้าว นวดข้าว ตำข้าว และสามารถเดินเยี่ยมชมซุ้มกิจกรรมสาธิตผลผลิตภัณฑ์จากข้าว และ ผลิตภัณฑ์ชุมชน ชมและร่วมทดลองทำเมนูอาหารแปรรูปจากข้าว ข้าวจี่ ข้าวโป่ง ข้าวต้มมัด ข้าวต้มหัวหงอก ขนมจีน ผลิตภัณฑ์จักสานจากฟางข้าว รวมถึงผลิตภัณฑ์ชุมชนจากวัตถุดิบพื้นถิ่นอีกด้วย
ข่าวดี!! สำหรับนักเรียนที่กำลังหาข้อสอบเพื่อเตรียมตัวสำหรับการสอบเก็บคะแนนในห้องเรียน หรือ กำลังมองหาข้อสอบในการเตรียมตัวสอบเข้าครั้งสำคัญ วันนี้นักศึกษา ปี 1 ในวิชา Advanced Computer Programming คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำเว็บไซต์ “XZAM” ให้บริการรวบรวมข้อสอบและเฉลยในเนื้อหาระดับมัธยมศึกษา พร้อมเปิดให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมในการนำเสนอแหล่งข้อสอบอื่นที่น่าสนใจ เพื่อเป็นประโยชน์และเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระบบการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป
รศ.ดร.กานดา สายแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หนึ่งในอาจารย์ที่ปรึกษากล่าวว่า ในทางเทคนิคนักศึกษาทั้ง 3 คน ได้แก่ นายธัญลักษณ์ ศศิวรินทร์กุล, นายธีร์ธวัช บุตรไทย และ นายพุฒิพงศ์ กิติศรีวรพันธุ์ ได้พัฒนาเว็บไซต์ XZAM โดยใช้ React ที่เป็น JavaScript library และ Bootstrap CSS framework เพื่อแสดงส่วนหน้าตาของเว็บไซต์ให้สวยงามและเหมาะสมกับหน้าจอขนาดต่างๆ และใช้ Google Firebase Authentication API เพื่อจัดการการเข้าระบบของผู้ใช้ และ Firebase Cloud Firestore เพื่อเก็บข้อมูลภายในเว็ปไซต์
เป็นเรื่องยากที่จะมีข้อสอบครบทุกวิชาอยู่ในที่เดียว เพราะข้อสอบมีการทำใหม่เรื่อย ๆ เว็บไซต์เราจึงสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยเปิดให้ผู้ใช้งานได้เข้ามาเสนอแหล่งข้อสอบอื่นๆ ที่น่าสนใจผ่านการล็อกอินเพื่อยืนยันตัวตนป้องกันปัญหาการกลั่นแกล้งบนแพลตฟอร์ม โดยไม่ต้องอัปโหลดไฟล์บนเว็บไซต์แต่ใช้วิธีแนบลิงก์ต้นทางข้อสอบและเฉลย ซึ่งสถาบันติวต่างๆ ก็สามารถแนบลิงก์ข้อสอบพร้อมเฉลยเพื่อโฆษณาสถาบันของตนเองได้
ขณะที่ นายธีร์ธวัช บุตรไทย กล่าวว่า ในช่วงที่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย นักเรียนหลายคนต้องค้นหาข้อสอบเพื่อนำมาฝึกทำโจทย์ต่าง ๆ แต่ละวิชาก็จะต้องไปค้นหาจากหลายแหล่ง นี่คือ Pain point ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเว็บไซต์เพื่อรวบรวมข้อสอบรายวิชาต่าง ๆ ไว้ในแหล่งเดียว
สอดคล้องกับ นายพุฒิพงศ์ กิติศรีวรพันธุ์ ที่ระบุว่า ให้นิยามเว็บไซต์นี้ว่าเป็นแหล่งที่รวบรวมข้อสอบและเฉลยที่กระจัดกระจายมาเก็บเป็นคลังข้อสอบไว้ในที่เดียว เพื่อเป็นการประหยัดเวลานักเรียนที่ต้องการฝึกทำข้อสอบ อีกทั้งเว็บไซต์นี้ยังสามารถทำบุ๊กมาร์กข้อสอบที่ต้องการกลับมาอ่านซ้ำได้อีกด้วย
“เนื่องจากเหตุผลด้านลิขสิทธิ์จึงไม่สามารถนำตัวข้อสอบมาเผยแพร่บนแพลตฟอร์มนี้ได้ ข้อสอบบนเว็บไซต์จึงได้มาจากการค้นหาโดยใช้คีย์เวิร์ดและแนบลิงก์ไว้ ซึ่งวิธีการนี้เจ้าของลิขสิทธิ์จะไม่เสียผลประโยชน์”
ส่วนนายธัญลักษณ์ ศศิวรินทร์กุล กล่าวเสริมว่า เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้นักเรียนที่ไม่ได้มีฐานะหรือผู้ที่ศึกษาด้วยตนเองเกิดความลำบากในการหาข้อสอบเพื่อฝึกทำ เว็บไซต์นี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อช่วยนักเรียนเหล่านี้ให้สามารถเข้าถึงข้อสอบพร้อมเฉลยได้อย่างง่ายดาย สะดวก และรวดเร็ว ทั้งยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
ทั้งนี้ ล่าสุด เว็บไซต์สำหรับรวบรวมข้อสอบและเฉลย (XZAM) ได้รับจดแจ้งลิขสิทธิ์แล้ว โดยมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรวบรวมลิงก์ข้อสอบไว้ 4 หมวด ได้แก่ ชีววิทยา, คณิตศาสตร์, เคมี และฟิสิกส์ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปใช้งานได้ที่ https://xzam-26219.web.app